สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
เดิน…เขาอาจเป็นนักเดินป่าไม่กี่คนที่ก้าวย่างมาแล้วถ้วนทั่วทุกขุนเขาในภาคเหนือ และลัดเลาะถึงในเขตแดนเพื่อนบ้านบ้าง แต่นี่ไม่ใช่การเดินอย่างผู้พิชิต ตรงกันข้ามมันเป็นการเดินอย่างนอบน้อมและสมถะ เพื่อผูกมิตรกับธรรมชาติและหมู่บ้านของผู้คนหลากท้องถิ่นหลายวัฒนธรรมซึ่งเขาเชื่อว่าคือสถานที่เก็บซ่อนภูมิปัญญาที่ช่วยให้เรากลับมาเข้าใจตัวเราเอง พร้อมกับช่วยโลกซึ่งกำลังเต็มไปด้วยปัญหา
ต้นไม้…เขาปลูกมาแล้วนับแสนต้น ในทุกที่ที่มีโอกาส มิใช่การปลูกอย่างเลื่อนลอยแต่ปลูกอย่างรู้จริงในกระบวนการของระบบนิเวศ นิสัยและชนิดของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สภาพของดิน แสงแดด ลม ความชื้น และน้ำ ต้นไม้ที่เขาปลูกงอกงามสูงใหญ่ทั่วพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเพียงแผ่นดินว่างเปล่า แต่วันนี้กลับมีสภาพคล้ายกับป่าธรรมชาติ เขายืนยันหนักแน่นว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรที่ปลูกทดแทนได้ในชั่วอายุคนเรา และไม้เป็นวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างบ้านให้มนุษย์อยู่อาศัย
บ้าน…เขากล่าวเสมอว่าคนไทยใช้คำว่า “ปลูกเรือน” ไม่ใช่ “สร้างบ้าน” เพราะว่าเรือนมีชีวิต และบ้านของสถาปนิกอย่างเขาก็เป็นเพียงบ้านไม้หน้าตาเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด แต่เย็นสบายอย่างยิ่ง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีรั้วบ้าน ไม่มีเหล็กดัด ไม่มีมุ้งลวด ถึงมีขโมยเข้าบ้านก็คงไม่ได้อะไรกลับไป เพราะไม่มีสิ่งมีค่าเก็บซ่อนสะสมในบ้านเหมือนบ้านคนอื่นสักอย่าง ยกเว้นเครื่องไม้เครื่องมือสารพัดที่เขาใช้พึ่งตนเองในการสร้างบ้าน ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งทำสวนและทำครัวอย่างมีความสุข
จุลพร นันทพานิช…เกือบจะเรียนไม่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกือบจะตายด้วยไข้มาลาเรีย แต่วันนี้เขาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นจากการสอนวิชาประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยกระบวนการสอนและถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคนรู้จริง จนผลงานของนักศึกษาโดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะในระดับประเทศ
สารคดี…ชวนคุณผู้อ่านค้นหาความหมาย “ลึกๆ” ของความ “เขียว” ในสถาปัตยกรรมแห่งชีวิตของชายผู้นี้
จริง ๆ แล้วสถาปัตยกรรมมีผลต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง
การออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ มีผลต่อจิตใจของมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน สภาพแวดล้อมนั้นก็จะส่งผลต่อความคิดจิตใจของมนุษย์ทันที สถาปัตยกรรมที่ไม่ดีทำให้คนป่วยได้ แต่การออกแบบที่ดีจะทำให้คนไม่ป่วย เรียกว่าจิตวิทยาสภาพแวดล้อม แต่สถาปนิกบ้านเรายังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญมาก
ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราอยู่ในสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนอ่อนแอลง สังเกตเวลาผมพาลูกศิษย์ไปเดินขึ้นเขา ลูกศิษย์ไม่เคยเดินขึ้นเขาตามผมทัน ทั้งที่ผมอายุมากกว่าพ่อของเขาแล้ว แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่แข็งแรง อาจเพราะโตมากับร้านสะดวกซื้อ กินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผมคิดว่าเราต้องตั้งข้อสังเกตแล้วว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นหลังอ่อนแอกว่าคนรุ่นก่อน ผมว่าเชื้อโรคก็ไม่ได้ต่างกัน แต่คนอ่อนแอลง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้อ่อนแอ ต้องกลับมาดูที่สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน มันทำให้คนเป็นอย่างไรก็ได้
เคยมีหมอที่พูดเรื่องระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ว่า ถ้าคนเราเครียดระบบนี้จะทำให้ระบบร่างกายเรารวน ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปรกติ สุขภาพอ่อนแอ เกิดโรคทางอายุรกรรม ในที่สุดก็อาจเป็นมะเร็ง แล้วคิดดูว่าสังคมในเมืองใหญ่ทำให้เราเครียดง่ายขนาดไหน แค่คิดถึงการจราจรติดขัดก็เครียดได้แล้ว
แล้วอะไรในสถาปัตยกรรมปัจจุบันที่ทำให้คนอ่อนแอลง
เรื่องการใช้วัสดุมาก่อนเลย วัสดุแต่ละชนิดมีผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน ยกตัวอย่างว่าทำไมเราใส่เสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์แล้วเรานอนไม่สบาย เพราะมันเกิดไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำที่ผิวหนัง แต่ถ้าเราใส่ผ้าฝ้าย เรานอนสบาย หรือถ้าเราไปนอนบนเตียงที่เป็นโพลีเอสเตอร์ มันก็นอนไม่สบาย ไม่ใช่เพราะว่าร้อนนะ แต่เพราะมีไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำ
เดี๋ยวนี้เขาพบแล้วว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ส่วนใหญ่บ้านอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ถ้าบ้านเราอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง แล้วหลังคาบ้านหรือเสาบ้านใช้เหล็กก่อสร้าง เหล็กก็จะเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใกล้ตัวเรา เบาะๆ ก็อาจอารมณ์ไม่ดี เข้าไปอยู่แล้วหงุดหงิด ถ้าหนักก็อาจเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด เพราะระบบที่เล็กที่สุดคือเซลล์ในร่างกายเราถูกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนจนรวนหมด
แล้วเราอยู่ในบ้านนอนห้องแอร์ทุกวัน วัสดุทุกอย่างในบ้านไม่ว่าจะเป็นเคสคอมพิวเตอร์ พลาสติก ไวนิล กระเบื้องยาง มันปล่อยสารเคมีออกมาในอากาศ สีที่ใช้ทาบ้านอาจมีโลหะหนักอย่างแคดเมียมหรือโคบอลต์สูง สถาปนิกไทยก็ไม่รู้ ถ้าคนขายสีบอกปลอดภัยก็เชื่อแล้วแต่ไม่เคยตรวจสอบอย่างละเอียด บ้านที่ดีก็ควรเป็นบ้านที่ไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์
ส่วนบ้านใครรวยปูหินแกรนิต นี่ยิ่งหนัก เพราะเขาพบว่าหินแกรนิตจะปล่อยเรดอน (radon – ก๊าซที่มีสารกัมมันตรังสี) ออกมา ถ้าบ้านออกแบบการระบายอากาศไม่ดี หรืออยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทอย่างห้องแอร์ อยู่ไปนานๆ ก็กลายเป็นมะเร็งปอดได้ ความจริงวัตถุเกือบทุกอย่างปล่อยเรดอนมากน้อยต่างกัน แต่หินแกรนิตมีเรดอนสูง ต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้มาก ยุโรปเขาห้ามใช้หินแกรนิตมาตกแต่งบ้านแล้ว
ตัวอย่างที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในดินมีเรดอนสูงมาก จนชาวบ้านกลายเป็นโรคมะเร็งปอดสูงติดอันดับของประเทศ ชาวบ้านสร้างบ้านติดพื้นด้วย ทำให้สูดดมเรดอนง่าย ถ้าเป็นสมัยก่อนเราสร้างบ้านแบบยกพื้น โอกาสเป็นจะน้อยลง เพราะอากาศถ่ายเท
ใครรู้บ้างว่าเครื่องปรับอากาศของเราล้างแอร์กันครั้งสุดท้ายเมื่อไร มันมีเชื้อโรคอะไรต่างๆ อยู่ในนั้นเต็มไปหมด เราคิดแต่ว่าเปิดปุ๊บขอให้มีไอเย็นออกมา แล้วมีระบบให้อากาศใหม่เข้ามาในห้องหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มี เพราะมักใช้พฤติกรรมของคนตอนเปิดปิดประตูเอาอากาศใหม่เข้ามาแทน แต่ถ้าคิดถึงความปลอดภัย เราต้องออกแบบให้มีระบบนำอากาศใหม่เข้ามาไว้ก่อน ปัญหาคือเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ก็เลยไม่มีใครทำกัน
ตึกอาคารทุกวันนี้ติดแอร์หมด คนก็ต้องทำงานอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบนี้
เราคิดแต่อยู่ในห้องแอร์ แล้วใช้แอร์แบบประหยัดพลังงานที่สุด มันเป็นระบบปิดแบบตู้เย็นไฮเทค แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์จะเป็นอย่างไร เราไม่ได้คิด มันมีโรคที่เกิดจากการอยู่ในอาคารติดแอร์ เรียกว่า SBS หรือ Sick Building Syndrome แล้ว
คิดดูว่าทำไมมนุษย์ต้องมีเหงื่อ เหงื่อคือการระบายความร้อนและขับยูริกออกมาจากร่างกาย ถ้าเราอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีเหงื่อ ยูริกจะไปไหน ก็ลงไปที่ตับไต แล้วของเสียไม่ได้มียูริกอย่างเดียว มีอีกหลายอย่างที่ร่างกายต้องการขับออก สภาพปรกติทุกวันเราจึงต้องมีเหงื่อซึมๆ แต่คนกลับไม่ชอบเหงื่อ หนีไปอยู่ในห้องแอร์เพราะรู้สึกสบาย แต่พิษไปลงที่ตับไต ทำให้อวัยวะ ๒ อย่างนี้ต้องทำงานหนัก เราจะพบว่าคนเป็นโรคมะเร็งตับกันมากขึ้น แม้จะไม่ใช่คนที่กินเหล้า แล้วเรากินอาหารแบบฝรั่งที่มีแต่ไขมัน เหงื่อก็ไม่ออก นั่งอยู่ทั้งวัน เกิดปรากฏการณ์โรคช็อกโกแลตซีสต์กลายเป็นโรคประจำตัวของสาวออฟฟิซ ผมมีเพื่อนที่เป็นปศุสัตว์เขาบอกว่าแสงแดดจะทำให้สัตว์ติดลูกง่าย ถ้าสังเกตคนทำงานในห้องแอร์มีลูกยาก มันจะเกี่ยวกันหรือเปล่า เรื่องพวกนี้แม้จะยังไม่ได้มีผลสรุปแน่ชัดในทางการแพทย์ แต่ทางระบาดวิทยาเริ่มเห็นผลบางอย่างแล้ว
ผมเชื่อว่าร่างกายของเราคือ โฮโมเซเปียนส์ มันออกแบบมาให้อยู่กลางแจ้ง ไม่ได้ออกแบบมาให้นั่งอยู่ในออฟฟิซจนค่ำ มันเลยเกิดอาการป่วยที่ไม่รู้สาเหตุเพราะเราบิดเบือนตัวเอง
ข้าวของในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ถ้าไม่มีผมก็ไม่ตายนะ มันไม่ใช่ของจำเป็นเลย แต่เราต้องจ่ายพลังงานมโหฬารเพื่อไปสร้างและเปิดห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ขึ้นมาสักแห่ง เขื่อนเดียวก็เอาไม่อยู่ เมื่อเทียบพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ต้องเสียระบบนิเวศป่าไปทั้งระบบ เพื่อตอบสนองความฟุ่มเฟือยของสังคมไทย มันน่าตกใจนะ ผมคิดว่าอนาคตเราลำบากแน่นอน อาจไม่ได้พังโครมทีเดียว แต่เราจะค่อยๆ เผชิญความยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเรื่องสุขภาพของคนที่เป็นโรคและอ่อนแอกันมากขึ้นนี่ค่อนข้างชัดเจน
สถาปนิกบ้านเรามัวแต่ติดกับการคิดเรื่องรูปทรงปรากฏของสถาปัตย์ แต่ไม่ได้มองเนื้อหาจริงๆ ว่าสถาปัตย์ทำงานอย่างไร มันมีทั้งเรื่องของจิตวิทยาและเทคนิค ทำอย่างไรให้คนอยู่แล้วสบายที่สุด จะเปิดช่องรับลม หรือรับแสงแดดอย่างไร ไม่ได้คิด คิดแต่ว่าติดแอร์แล้วปรับอุณหภูมิ ๒๕ องศาเซลเซียส อ้างว่าใช้แอร์ประหยัดไฟนะ
ทำไมสถาปนิกบ้านเราส่วนใหญ่คิดแต่เรื่องการออกแบบตึกให้สวย ๆ
ผมเรียกว่าความเบาปัญญาของคนมีความรู้ สถาปนิกบ้านเราที่คิดฟอร์มเก๋ๆ สวยๆ ก็ลอกแบบมาจากฝรั่งที สิงคโปร์ที ดูจากคนอื่นมา แต่แก่นสารลึกๆ ไม่มี มันเริ่มจากการไม่อยากเป็นตัวเองก่อน เลยผลิตงานได้แค่นี้ คิดแต่เรื่องฟอร์มอย่างเดียว อยากจะเป็นเหมือนสถาปนิกดังๆ ในต่างประเทศให้ได้ ก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ฟอร์มหวือหวาไว้ก่อน แต่สถาปนิกที่คิดหนทางอื่นก็มีไม่น้อยนะครับ
ในอังกฤษเดี๋ยวนี้ ใครทำฟอร์มหวือหวา เขาไม่สนใจแล้ว เขาสนใจว่างานออกแบบนี้เว้นที่ว่างให้กบเขียดมันเดินผ่าน มีระเบียงให้สัตว์อยู่หรือเปล่า ใครคิดแบบนี้ คนอังกฤษจะทึ่งมาก น่าสนใจกว่า เขาหันไปเน้นเรื่องทางนิเวศวิทยาและสังคมกันแล้ว ไม่เห็นแก่นสารว่าต้องไปยึดถือเรื่องฟอร์ม
แต่สถาปนิกไทยบางคนตามไม่ทัน เพราะการเข้าถึงองค์ความรู้อาจมีอะไรบังตา อาจติดกับมายาคติบางอย่าง อาจจะตั้งแต่การแต่งตัวใส่สูทผูกเนกไท ทั้งที่อากาศบ้านเราร้อนมากแต่ทำไมชอบใส่สูทสีดำกัน
อาจารย์เรียนสถาปัตย์มาเหมือนสถาปนิกคนอื่น ๆ ตอนเรียนก็ต้องได้รับอิทธิพลตะวันตก
ตอนผมเรียนก็เป็นแบบนี้ ตอนปี ๔ ปี ๕ หลักสูตรลอกแบบจากสถาบันในตะวันตก ให้นิสิตออกแบบตึกอาคารคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ๆ ผมไม่อยากทำ ในชีวิตผมนึกไม่ออกว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในตึกใหญ่ๆ ขนาดกว่า ๒ หมื่นตารางเมตรได้อย่างไร แต่นิสิตทุกคนต้องทำโจทย์คล้ายๆ กัน ผมไม่อยากเรียน มีปัญหามาก ถึงเช้าวันจันทร์มาทีไร ผมจะบอกอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.เฉลิม สุจริต ว่าผมเรียนไม่ไหวแล้ว ผมไม่เหมาะกับการเรียนที่นี่ รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวมาก อาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นถึงคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ท่านอดทนกับผมมาก อาจารย์จะบอกอะไรที่เป็นปรัชญากับผม เช่น ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ จะสร้างไปทำไม ดูสวนจตุจักร แอร์ก็ไม่ต้องติด ยังขายของดีกว่าอีก
ตอนนั้นผมคิดว่าผมเรียนไม่รอดแล้ว คิดว่าจะกลับไปช่วยพ่อที่บ้าน หรือไม่ก็สมัครทหาร คิดอะไรไม่ออก เป็นทุกข์อยู่ ๒ ปี ยังดีที่ช่วงนั้นได้ไปออกค่ายในอีสาน พ่อมาตายตอนผมอยู่ปี ๔ อีก รู้สึกหนักมาก พอปี ๕ เป็นปีที่ผมสะดุ้งฝันร้าย ฝันนั้นยังติดตัวมาตลอดชีวิต เมื่อไม่กี่ปีนี่เองที่เพิ่งหายสนิท ชีวิตผ่านมากว่า ๒๐ ปียังมีหลับๆ ฝันๆสะดุ้งว่าอยู่ในห้องเรียน ต้องบอกตัวเองผ่านไปแล้ว ถ้าไม่มีอาจารย์เฉลิมดูแล ผมคงไม่รอด อาจารย์ช่วยจนผมจบมาได้
หลังจากผมจบ ๒ ปี อาจารย์ก็เสีย เพื่อนแซวว่าอาจารย์ตายเพราะผม ผมไปงานศพอาจารย์ก็ได้นั่งทบทวนชีวิตตัวเอง รู้สึกภูมิใจที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์เฉลิม
สิ่งที่ได้จากอาจารย์เฉลิม
ทุกวันนี้สิ่งที่ผมพูด ความจริงอาจารย์เฉลิมเป็นคนพูดมาก่อนแล้ว งานออกแบบอาจารย์จะเรียบๆ ง่ายๆ แต่ท่านจะบอกเสมอว่า “มันมากกว่าที่คุณเห็น” มาวันนี้ผมถึงเข้าใจ พอผมตกผลึกความคิดนี้ได้ ก็รู้สึกจริงอย่างที่อาจารย์พูด
ตอนเป็นนิสิต ผมเป็นประธานชมรมค่ายอาสาฯ ผมเอาแบบแปลนไปให้อาจารย์ดู อาจารย์บอกว่าทำไมต้องใช้ซีเมนต์บล็อก จะไปขอซีเมนต์บล็อกจากบริษัทขายวัสดุทำไม ทำไมคุณไม่เอาแค่มีดพร้าขวานไปล่ะ แล้วหาข้าวของแถวนั้นมาทำ ใช้ หิน ดิน ไม้ ไม้ไผ่ ในท้องถิ่น เอาแต่เครื่องมือไปก็พอ ไปง่ายด้วย ไม่ต้องแบก เพราะสมัยก่อนไปทำค่ายทีก็จะไปกันในที่ชนบทไกลๆ อาจารย์จะย้ำเรื่องนี้บ่อยมาก แกบอกว่าทุกอย่างคุณออกแบบทำเองได้หมด เอาไปแต่ลังเครื่องมือนั่นละ และยังแนะให้เราสังเกตดูงานสถาปัตยกรรมในแต่ละท้องถิ่นว่ามีเทคนิคไม่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก เราไม่เข้าใจอะไรเลยสักนิดหนึ่ง ไม่มีวิชาสอนเรื่องนี้ด้วย
แล้วชีวิตช่วงไหนที่อาจารย์หันมาสนใจเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
หลังเรียนจบ ผมไปทำงานกับบริษัทสร้างบ้านจัดสรร ตอนนั้นผมมองว่างานสถาปัตย์ก็เหมือนงานช่าง ก็ไปคุมงานก่อสร้าง นอนอยู่ที่ไซต์งานเลย ช่วงนั้นทำงานหนักมาก แต่ก็ได้ความรู้เรื่องเทคนิคปลูกสร้างบ้าน ทำงานอยู่ปีครึ่งก็รู้สึกเต็มที่กับงานนั้นแล้วก็เลยลาออกมารับจ้างทำโมเดลบ้านให้กับพวกสตูดิโอสถาปนิก ผมทำโมเดลบ้านเก่งมากเพราะมีฝีมือทางช่าง และเป็นงานที่ได้เงินเร็ว พอทำไปสักพักงานเริ่มมากขึ้น ผมก็จ้างคนมาช่วยเลยเริ่มมีเวลาว่าง ตอนออกค่ายสมัยนิสิต ผมไปทางอีสานมามากแล้ว ผมก็อยากเดินทางไปทางภาคเหนือ ผมเดินจากแม่ลาน้อยมาขุนยวม เดินไปตามสันเขา มีแค่กระเป๋าใส่เครื่องมือเหมือนกระเป๋าใส่คีมใบเดียว เสื้อผ้าก็ชุดเดียว ของน้อยมาก ไม่มีเป้นะ
ผมรู้สึกทุกอย่างตื่นตาตื่นใจหมด หมู่บ้านที่ผมไปรถเข้าไม่ถึง ผมไปบ้านลัวะ ยังเป็นบ้านลัวะโบราณ มีกาแล ผมไปคุยกับเขา อยู่บ้านนี้ ๒ วัน บ้านโน้น ๒ วัน
เราเริ่มรู้ว่านี่ละสถาปัตยกรรมที่เราสนใจ ไม่ใช่บ้านจัดสรรหรือแบบที่เราเรียนมา มันเป็นสถาปัตยกรรมในความหมายของเราจริงๆ มันอาจดูโกโรโกโส แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์ควรจะอยู่แบบนี้ มีความรู้สึกลึกๆ เลยว่าใช่ และมันไม่บริโภคทรัพยากรด้วย ผมก็เริ่มเห็นมิติงานในชนบท เริ่มสั่งสมองค์ความรู้มาทีละนิด
ช่วยเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นจากการเดินทาง
ผมไปนอนบ้านอาข่าบนภูเขาในประเทศลาว เขาออกแบบให้มีนกเข้ามาตรงเหนือจุดที่ผมนอน จริงๆ คือที่นอนของพ่อเขา แต่ให้ผมนอนแทน พอตอนเช้านกก็เข้ามาร้องปลุก แต่ช่องที่นกเข้ามาเราจะไม่เห็นจากข้างในบ้านเพราะมันอยู่ข้างบน แต่พอนกร้องเสียงดังได้ยินมาถึงข้างล่าง เป็นสิ่งที่ประทับใจ
อย่างบ้านกะเหรี่ยงดั้งเดิมเขาไม่ปลูกใหญ่ ถ้าพ่อแม่ตายก็ให้รื้อทิ้งเลย ห้ามลูกอยู่ กะเหรี่ยงจะไม่สร้างบ้านใหญ่ๆ ให้ถาวรเกินไป ใช้อยู่พอชั่วอายุของคนรุ่นหนึ่งเท่านั้น มันสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมแบบนี้เราน่าจะนำมาวิวัฒน์กับตัวเองด้วย เป็นบ้านเล็กๆ ไม่ควรยึดถืออะไรไว้เยอะๆ เทียบกับคนกรุงเทพฯ หยุดใหญ่ไม่ได้ ถ้าใครสร้างบ้าน ๔๐ ล้าน อีกคนต้องสร้าง ๘๐ ล้าน
เรื่องการตั้งเรือนตามภูมิศาสตร์ เราก็เริ่มมองเห็น อาข่า ม้ง หรือกะเหรี่ยง ทุกเผ่าจะมีวิธีประดิษฐ์เรื่องนี้แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม อย่างอาข่าจะสร้างหมู่บ้านตามสันเขาที่มีบ่อน้ำ อากาศต้องถ่ายเทดี เขาไม่อยากอยู่ใกล้คนอื่น อยากอยู่ปลอดภัยบนภูเขา เขาจะไม่อยู่ในหุบเขาและไม่อยู่ใกล้แหล่งลำน้ำไหล เพราะถือว่าลำน้ำไหลเป็นผีไม่ดี แต่กะเหรี่ยงชอบอยู่ใกล้แม่น้ำ เพราะถือเป็นปัจจัยยังชีพ อาข่าจะสร้างรั้วรอบหมู่บ้านป้องกันผีหรือสิ่งไม่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน เรือนก็มีทั้งแบบชั้นเดียวกับ ๒ ชั้น อาข่ากับลีซอเป็น ๒ เผ่าเท่านั้นที่อยู่ได้ทั้งเรือนยกพื้นกับติดดิน แต่เผ่าอื่นจะอยู่เรือนแบบใดแบบหนึ่ง ม้งอยู่ติดดิน มูเซออยู่ยกพื้น ไทลื้ออยู่ยกพื้น เป็นวัฒนธรรมของแต่ละเผ่า
บ้านอาข่าถอดชิ้นส่วนบางชิ้นไปสร้างใหม่ได้ เพราะบ้านอาข่าทำด้วยไม้ แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมไม้ไผ่ก็จะรื้อทิ้งเลย เพราะไม้ไผ่จะใช้อยู่ได้แค่ชั่วอายุคน มันผุพังและมีสิ่งหมักหมมง่ายกว่า ขณะที่คนที่อยู่ในที่ราบลุ่ม บ้านเรือนจะทนถาวรที่สุด มั่นคงกว่า ขนาดใหญ่กว่า
ประตูรั้วของทุกเผ่าจะบอกความเชื้อเชิญ ความเอื้ออาทร มีน้ำให้กินที่ประตูรั้ว แต่ประตูรั้วหมู่บ้านในกรุงเทพฯ เป็นยาม เข้มงวด รั้วใหญ่ๆ น่ากลัวๆ คนในเมืองคิดว่านี่คือความปลอดภัย แต่บ้านชาวเขาแต่ละหลังไม่มีรั้วบ้าน
ผมเดินมาเยอะมาก ศึกษาเยอะมาก เข้าไปดูในลาว พม่า จีน สิบสองปันนา เกิดความเข้าใจแล้วนำมาประมวล ผมคิดว่าแบบแผนของทุกเผ่าสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่อย่างสันติสุขทั้งนั้น ตอบรับกับสังคม วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ของเขา ซึ่งแต่ละเผ่ามองภูมิศาสตร์ต่างกันไป แต่ก็ยั่งยืนทั้งหมด ไม่รบกันเอง ไม่เบียดเบียนสรรพชีวิตอื่น วัสดุหลักๆ ก็เป็นไม้ แต่ใช้ไม้ต่างกันไปตามสภาพท้องถิ่นที่แต่ละคนอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องยั่งยืนทั้งนั้น เขาอยู่กันอย่างพอดี แต่ทุกวันนี้เราอยู่กันอย่างไม่พอดี
แล้วอาจารย์กลับมาทำงานสถาปนิกอีกตอนไหน
พอผมแต่งงานก็ทิ้งบริษัทโมเดลให้พวกเด็กเขาทำต่อ ผมย้ายขึ้นมาอยู่บ้านจัดสรรที่ลำพูน ตอนนั้นมาคุมงานก่อสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และงานก่อสร้างในโครงการบ้านจัดสรรที่ผมกับแฟนอยู่ด้วย เดิมสถาปนิกจะปลูกปาล์มขวด ผมบอกเจ้าของบ้านจัดสรรว่าอย่าปลูกเลย ปลูกต้นไม้ท้องถิ่นสวยๆ ดีกว่า หน้าร้อนหรือหน้าฝนก็จะมีดอกไม้ออกดอก เจ้าของเขาเชื่อ ให้ผมดูแลการปลูกต้นไม้ให้ทั้งหมด ๖ หมื่นต้น จากที่เดิมประมาณ ๑๐๐ ไร่ซึ่งเป็นบ่อลูกรัง มีต้นไม้แค่ ๕ ต้น ก็ปรับที่ใส่อินทรียวัตถุลงไป ตอนนี้กลายเป็นป่าใหญ่ เรียกว่าผมได้เห็นจากบ่อลูกรังจนกลายเป็นป่า
ผมได้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้และการปลูกต้นไม้จากการทำงานนี้ คือมีลุงชาวบ้านแถวนั้นเชื้อสายขมุ ชื่อลุงปัน แกมีความรู้เยอะ ผมให้แกพาไปดูต้นไม้ในป่าเบญจพรรณ ผมก็ศึกษาชื่อพื้นเมือง จดบันทึกและเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้จนจำแนกพันธุ์ไม้เป็น แล้วก็ไปเก็บเมล็ดมาเพาะเอามาปลูกในที่โครงการ เดินเข้าป่าลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็ได้ความรู้เรื่องต้นไม้มากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาตอนปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ หมู่บ้านเจ๊ง บ้านอื่นหนีไปหมดเพราะส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ เหลือผมกับแฟนอยู่กันบ้านเดียวในเนื้อที่ ๑๐๐ กว่าไร่ พอหมู่บ้านเจ๊ง ผมไม่มีงานทำก็ต้องดิ้นรนทำอะไรหลายอย่าง ซื้อวัวมาเลี้ยง ซื้อกล้าชะอมมาปลูก ปลูกกระเทียม เป็นเกษตรกรเต็มตัว แล้วก็เป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเดินป่า แต่ผมมาติดมาลาเรีย ป่วยหนัก ไม่มีแรงทำอะไรเลย สุดท้ายต้องขายวัว สวนชะอมก็ล่ม โชคดีได้หมอหม่อง (นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) มาช่วยรักษา เพราะผมเคยไปดูนกกับคุณหมอ ผมป่วยอยู่ครึ่งปี ไปไหนไม่ได้ เงินก็ไม่มี และไม่อยากรบกวนแฟน ก็อาศัยจับกิ้งก่า เขียด วางราวตกปลาบู่ในหนองน้ำมากิน ผมจับกิ้งก่าเป็น ผูกเอ็นแบบคนอีสาน ผมอยู่แบบนี้ราวครึ่งปี
มันเป็นช่วงที่ทำให้ความคิดผมตกผลึก เริ่มมองว่าความจริงชีวิตไม่ต้องสะสมอะไร มีมีดเล่มเดียวเราก็อยู่ได้ กินอะไรก็ได้ ชีวิตมนุษย์แค่นี้ก็พอแล้ว
ช่วงที่ผมเพิ่งหายป่วย ก็พอดีมีเพื่อนที่แนะนำให้พี่ สาธิต กาลวันตวานิช หรือพี่แก่ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทโฆษณาชื่อดัง มาให้ผมช่วยออกแบบบ้านไทลื้อในที่ดินติดริมปิงที่เชียงใหม่ วันที่แกมาหา ผมนุ่งโสร่ง ใส่เสื้อไม่กลัดกระดุม นั่งทอดอาลัยอยู่ว่าชีวิตไม่มีอะไรแล้ว แกคงคิดนะว่าจะให้คนสารรูปชาวบ้านมากๆ นี่ออกแบบให้จริงเหรอ แต่เราก็ไปดูที่ดินกัน พอดีจังหวะที่ไปรถขนดินกำลังจะเอาดินมาถมที่ เพราะตามประสาคนซื้อที่ ต้องถมดินก่อน ผมจำคำอาจารย์เฉลิมที่เคยบอกว่าที่ทางมันเป็นอย่างนั้นมาเป็นพันๆ ปี พยายามอย่าไปเปลี่ยนอะไรมัน ก็บอกพี่แก่ว่าไม่ต้องถม ดินตรงนี้ดีอยู่แล้ว เป็นดินตะกอนที่แม่น้ำพามา ปลูกต้นไม้ง่าย แล้วก็มีลุง ๒ บ้านที่เขาอยู่ข้างที่ดิน ถ้าถมที่ดินสูง ๒ เมตร น้ำก็ไหลไปตกใส่เขาอีก ผมบอกว่าอยากทำบ้านพี่ให้ลุง ๒ บ้านเขาเดินไปมาหาสู่กันได้ พี่ไม่ต้องทำรั้ว แกก็ห้ามรถถมดินที่มาถึงแล้ว
อีก ๑๐ วันผมทำโมเดลบ้านให้แกดู พี่แก่ชอบบ้านไม้โบราณแบบไทลื้อที่มีหลังคาติดกัน ผมก็ดึงหลังคาออกจากกันให้มีช่องว่างเป็นคอร์ตยาร์ดให้แสงลง ผมก็เล่าเป็นฉากๆ ว่า ตอนเช้าถ้าพี่นอนเอียงหน้ามาดูด้านนี้จะเห็นแสงเข้ามาเป็นลำ เหมือนบ้านไม้ที่มีรูแล้วแสงเข้ามาเป็นลำ พอตอนเย็น พระอาทิตย์ตก แสงจะทอดมาที่ชานบ้าน และถ้าทำบ้านเสร็จ ผมจะปลูกต้นไม้เล็กๆ คลุมบ้านให้หมดเลย
พอถึงตอนจะก่อสร้าง ผมบอกแกว่าผมไม่เขียนแบบ แล้วชวนให้มาสร้างบ้านด้วยกัน ไปหาช่าง ไปหาซื้อของกันเอง ผมจะพาพี่ไปหาแป้นเกล็ดที่น่าน หาประตูเก่าที่แม่สอด จะทำให้เราได้ประสบการณ์ แล้วคุณค่าของบ้านนี้จะมากกว่าให้คนอื่นสร้างด้วย พี่แก่ก็ยอมเสียเวลาทุกเสาร์-อาทิตย์ตลอดเวลา ๑ ปี ระหว่างเดินทางไปด้วยกัน แกจะถามโน่นถามนี่ตลอด ผมก็อธิบาย ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ผมต้องทำการบ้านเพื่อตอบคำถามแกตลอด เพราะแกเป็นคนละเอียด เชื่อคนยาก แต่ผมก็อดทนจนทำสำเร็จ
ตอนหลังพี่แก่บอกว่าปีที่ทำบ้านเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิต และแกเป็นคนแรกที่บอกว่า ผมน่าจะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แล้วหลังจากทำบ้านให้พี่แก่เสร็จก็พอดีทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องการเปิดสอนวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์ ยังหาคนสอนไม่ได้ เพื่อนผมเป็นอาจารย์มาเห็นบ้านของพี่แก่ที่ผมออกแบบ เขาก็ใช้เป็นผลงานให้ผมไปสอนหนังสือได้ เพราะโดยปรกติคนจะเป็นอาจารย์ต้องจบปริญญาโท แต่ผมจบแค่ปริญญาตรี
ทราบว่าที่บ้านของคุณสาธิต ปลูกต้นไม้ใหม่เองทั้งหมด
ตอนที่จะปลูกต้นไม้ พี่แก่บอกให้ซื้อต้นไม้ใหญ่เอามาลงเลย ผมบอกไม่เอา จะเพาะเมล็ดปลูกให้ แกก็กลัวว่าเดี๋ยวไม่ทันเห็น ผมเลยชวนพี่แก่ไปเดินป่า บอกว่าไปดูต้นไม้ในป่า แล้วเก็บเมล็ดมาปลูก จะได้เห็นว่ามันโตเร็ว ผมก็พาแกไปนอนในป่า ๑ คืน แกก็มีความสุขมาก ยอมรับเรื่องปลูกต้นไม้โดยเพาะเมล็ด เดี๋ยวนี้ต้นไม้ใหญ่มาก ทุกคนที่มาดูบ้านจะถามว่าไปซื้อต้นไม้จากไหน พอบอกว่าปลูกเอง คนไม่ค่อยเชื่อ เพราะต้นยางนา ต้นตะเคียนใหญ่ เป็นต้นใหญ่ยักษ์หมด
แล้วบ้านพี่แก่ไม่มีรั้ว ผมออกแบบให้ลุง ๒ บ้านยังเดินตามทางเดินเดิมที่เห็นเป็นรอยไว้เลย ผมบอกพี่แก่ให้เชื่อเถอะ แกคงคิดในใจว่าจะไหวเหรอ อยู่มาวันหนึ่งพี่แก่ไม่สบาย คุณลุงบ้านหนึ่งแบกกล้วยมาให้กิน ส่วนลุงอีกคนก็มาเยี่ยม พี่แก่ถึงเห็นจริงตามที่ผมบอกว่ารั้วที่ดีที่สุดก็คือเพื่อนบ้าน
ก่อนจะทำบ้านให้พี่แก่ ผมเคยคิดว่าสถาปัตยกรรมต้องทำด้วยปูนเท่านั้น แต่การทำบ้านนี้ทำให้ผมเริ่มรู้สึกถึงความหมายของการเป็นสถาปนิก รู้ว่าการนำวัสดุธรรมชาติมาทำนี่มันยั่งยืน ยิ่งปลูกต้นไม้เองได้ เราก็เริ่มมองอย่างเชื่อมโยง ผมทำบ้านพี่แก่ ดินก็ไม่ให้ถม รั้วไม่ให้สร้าง ต้นไม้ไม่ให้ล้อมมา เรียกว่าหักความคิดคนเมืองหมดเลย ตอนเรียนเรายังไม่ค่อยรู้อะไร สถาปัตยกรรมต้องปูนนะ บ้านไม้ไม่นับ กระท่อมนี่ยิ่งไม่นับ ระบบคิดเป็นแบบนั้น
ตอนหลังผมยิ่งเห็นงานสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องปรัชญาล้วนๆ มองข้ามเรื่องเทคนิคไปเลย
ถึงตอนนี้คิดว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคืออะไร
ถ้ามีพื้นดินผืนหนึ่งแล้วมีสถาปัตยกรรมสักชิ้นโผล่ขึ้นมา พรมแดนระหว่างสถาปัตยกรรมกับพื้นดินนั้นแทบจะหาไม่เจอ มันเหมือนเป็นสิ่งที่งอกงามมาจากพื้นดินตรงนั้น ไม่มีอะไรขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมตรงนั้น เพราะชาวบ้านไม่ได้คิดว่าทำอย่างไรให้ฟอร์มสวย แต่คิดว่าจะอยู่อย่างไรให้กลมกลืน อยู่อย่างไรให้สบาย วัสดุก็ได้จากท้องถิ่น มันทำให้เกิดอัตลักษณ์บางอย่างขึ้นมา แต่ลองดูทุกวันนี้ บ้านที่นครศรีธรรมราชอาจเหมือนบ้านที่ลำพูน เพราะว่าใช้ปูนยี่ห้อเดียวกัน ใช้เครื่องโม่แบบเดียวกัน ก่อสร้างก็แบบเดียวกัน เลยไม่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ภาพมันเบลอไปหมด เดินออกไปหน้าปากซอยก็มีร้านสะดวกซื้อเหมือนกัน ที่ลำพูนก็มีเหมือนที่นครฯ ทุกอย่างเหมือนกัน
ปัญหาคือเมื่อคนไม่มีอัตลักษณ์ ก็ยืนยันตัวตนไม่ได้ พร้อมจะเป๋ไปเมื่อมีปัจจัยภายนอกมารบกวน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นต้นธารแรกที่ช่วยยืนยันว่าเราเป็นใคร มีรากเหง้า มีประวัติ ฉันเป็นคนไทลื้อนะ เป็นคนแต้จิ๋วนะ แต่ตอนนี้หลายคนไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นใคร พูดเหนือได้ก็ไม่พูด แต่อยากเป็นประชากรโลก พอปัจจัยภายนอกเข้ามาก็เกิดปรากฏการณ์ที่สังคมเราล้มเลย อย่างการบ้าสโมสรฟุตบอล เพราะคนไม่รู้จะยึดอะไร ก็ต้องไปยึดสโมสรฟุตบอล หรือยึดพิธีกรรายงานข่าว ทุกวันนี้เราหลีกหนีจากแก่นสารจริงๆ ไปเรื่อยๆ
แล้วสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนโดยตัวมันเอง เพราะมีทั้งเรื่องสุขภาวะ ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม บริโภคทรัพยากรแต่น้อย การไม่ปล่อยมลภาวะ ไม่บริโภคพลังงานในการแปรรูปและขนส่ง ผมคิดว่ามันยิ่งกว่ากรีน กรีนตามมาตรฐานฝรั่งยังต่ำกว่า เทียบกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ได้เลย
ฝรั่งเรียกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นว่า vernacular มันเป็นคำที่ใช้เรียกประเทศที่ต่ำกว่าตัวเองอย่างอินเดีย แอฟริกา พม่า เขมร ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่เวลาเรียกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในบ้านตัวเองใช้คำว่า domestic ไม่ใช้ vernacular ถ้าบ้านเราใช้คำ vernacular ก็เท่ากับเรายอมรับการหยามหมิ่น ปัญญาเราจะงอกเงยยาก เพราะแค่เริ่มก็ไม่ถูกแล้ว
ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจะเป็นทางออกในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนได้ เป็นการกลับไปหาตัวตนจริงๆ ของเรา แล้วทรัพยากรทางความคิดแบบนี้มีเยอะมากในประเทศ แต่มองไม่เห็นกัน เพราะที่ไหนก็ตามถ้ารถเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่สนใจจะเข้าไปดู เลยพลาดโอกาสเห็นสิ่งมีค่าทางภูมิปัญญา ถ้าต้องเดินกันสักครึ่งวัน ส่วนใหญ่ไม่เอาแล้ว แต่ผมเดินมาก ก็ได้เห็นมาก ผมก็ถอดความมาใช้ พยายามนำมาใช้ทุกช่องทางให้มากที่สุด ลูกค้าไหวแค่ไหนก็เอาแค่นั้น พยายามให้เขาทดลอง
อย่างบ้านชาวบ้าน เขาหันชานมาทางตะวันตกทุกบ้าน เพราะเขาต้องการแดด ไม่มีใครกลัวแดดเลยสักบ้าน เปิดพื้นที่ให้รับแดด เอาไว้ตากของ เป็นเรื่องสุขอนามัย แต่สถาปนิกจะถูกสอนมาว่าทิศตะวันตกไม่ดี กลัวแดดด้านตะวันตกกันมาก แต่ชาวบ้านเขามีวิธีการอยู่กับแดดสารพัดวิธี
ช่วยยกตัวอย่างการนำงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีแนวคิดการออกแบบที่เรียกว่า phenomenon หรือ trace ความจริงงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็น phenomenon ทั้งนั้น เขาจงใจให้เป็นเลย แต่เราไม่เคยคิดตาม
อย่างงานที่ผมชอบใช้ คือการออกแบบความสลัวไว้ในช่องว่างในอาคาร แล้วเอาแสงธรรมชาติตัดเข้าไป ผมจะสร้างความสลัวไว้ก่อน แล้วให้แสงเข้าไปเกิดเป็นลำ เวลาเห็นภาพแบบนี้แล้วเราจะมีความผาสุก ลึกๆ ผมไม่สนใจเรื่องของฟอร์มภายนอก แต่สนใจเรื่องของภายใน ว่าเราใช้ที่ว่างภายในให้เกิดสุขภาวะจากการอยู่กับมันอย่างไร
เวลาทำงานออกแบบ ผมจะไปนอนในพื้นที่ทุกครั้ง เพื่อให้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจริงๆ ผมนอนได้หลากแบบ นอนเปล หรือกางมุ้งได้ทั้งนั้น เราจะเห็น ได้ยินเสียง แล้วเอาปรากฏการณ์มาเป็นข้อมูลในการออกแบบสถาปัตยกรรม อย่างที่เรียกว่า trace ผมเรียกว่าร่องรอย การโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ถือเป็นร่องรอยแรกๆ หรือร่องรอยของการเคลื่อนไหวของมวลอากาศ ทำให้เราวางอาคารในทิศทางแบบนี้
ตัวอย่างกรอบหน้าต่างที่เราวางไว้ในมุมที่เหมาะสมให้เห็นดอยขุนตาล หน้าต่างจะเป็นตัวกลางระหว่างเรากับดอยขุนตาล ช่วยเน้นย้ำให้เห็นดอยขุนตาลเด่นขึ้น แต่ถ้าเรานั่งในที่โล่งๆ แล้วมองดูดอยขุนตาลก็จะเป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นการจัดวางให้เกิดการสื่อสารกับโลกภายนอก
ผมเคยแนะนำให้เจ้าของบ้านหลังหนึ่งปลูกต้นมะม่วง เพราะพอมีต้นมะม่วงก็จะมีไข่มดแดง แล้วนกกางเขนดงจะมาจิกไข่มดแดง ตอนเช้ากับตอนเย็นที่พี่กำลังล้างจาน พี่จะได้ฟังเสียงนกร้อง แล้วพี่ปลูกต้นสาทรนะ เพราะตอนตี ๕ ครึ่ง นกเค้ากู่จะกลับมานอนต้นนี้ แล้วมันจะร้องปลุกพี่ นกจะร้องตี ๕ ครึ่งเสมอ นี่เป็นการสร้างปรากฏการณ์จากความเข้าใจในธรรมชาติ หรือผมให้เจาะหน้าต่างแล้วหันหน้าต่างเตียงนอนมาทางทิศตะวันออก เพราะพอขึ้น ๑๕ ค่ำ ตอน ๓ ทุ่ม พี่จะเห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยอยู่ตรงนี้ พอเกิดขึ้นจริง แกก็ โทร.มาหาตื่นเต้นว่าเห็นพระจันทร์ดวงเบ้อเริ่มเลย
มนุษย์เราพอเห็นปรากฏการณ์แบบนี้จะมีความสุข คนจะเชื่อมโยงความรู้สึกตัวเองเข้ากับธรรมชาติ เพียงแค่เราสังเกตแล้วนำมาประยุกต์กับงานออกแบบ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือเรื่องแบบนี้ ผมพยายามใส่ไว้ในงานออกแบบทุกครั้ง เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใกล้ตัว
สถาปนิกต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้มาก แล้วคิดเรื่องฟอร์มน้อยๆ มนุษย์ก็จะมีความผาสุก ถ้าเราทำได้ มันลึกกว่าคำว่า “สถาปัตยกรรมสีเขียว” มันลงไปถึงจิตวิญญาณทางสถาปัตยกรรมที่คนท้องถิ่นในเอเชียเป็นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน
แสดงว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ใช่การให้คนกลับไปอยู่กระท่อม หรืออยู่เรือนไทย
งานออกแบบที่เอาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ ไม่ใช่การลอกเลียน แต่ต้องถอดความเอาระบบคิดมาใช้ อย่างเรือนไทย ออกแบบผังเรือนเป็นหน่วยๆ มีที่ว่างคือชานแทรกอยู่ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ ชานบ้านยกพื้นใต้ถุนสูงเอาไว้นั่งกินข้าวก็ได้ รับลมเย็นสบายๆ ก็ได้ ไม่ต้องอยู่ในบ้านร้อนๆ ที่ต้องติดแอร์ แล้วถ้าน้ำท่วมมาก็ไม่เป็นไร หรือหลังคาทรงสูงก็ระบายอากาศร้อนออกไปได้เร็ว การใช้วัสดุที่ดูดซับความร้อนน้อยอย่างไม้ หรือเลือกระบบการก่อสร้างที่เป็นชิ้นๆ ถอดออกง่าย เผื่อปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องทุบทิ้งเหมือนตึกคอนกรีต เรื่องพวกนี้เราเอามาวิวัฒน์ได้ ไม่ใช่เอาเฉพาะหน้าตา แต่เอาสาระแบบเรือนไทยมา ยังมีแง่มุมอีกมากที่ใช้ได้ ทำให้เป็นของคนยุคปัจจุบัน เพราะสังคมยุคใหม่ก็ไม่ใช่คนยุคเกษตรกรรมแล้ว
แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำ หรือกลายเป็นการลอกเลียนรูปแบบ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร แล้วไปแก้ที่ปลายเหตุ ติดแอร์ ใช้พลังงาน สถาปนิกไทยไม่ค่อยคิดทางออกแบบนี้
ทราบว่าอาจารย์ทำงานบูรณะบ้านโบราณด้วย
เป็นบ้านของบริษัทอีสต์บอร์เนียวซึ่งเป็นบริษัททำไม้เอกชนอังกฤษสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าของเขาขายให้โรงแรม 137 Pillars House ในตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกกันว่า “บ้านบอร์เนียว” ผมไปออกแบบการบูรณะ โดยค้นคว้าข้อมูลก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วจะบูรณะอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนกับคุณค่าที่มีมานาน ทำอยู่ ๓ ปี ตอนค้นคว้าข้อมูลก็เจอเรื่องสนุกๆ เยอะ ได้ข้อมูลจากเอกสารเก่าที่หอจดหมายเหตุพายัพ ผมทำพรีเซนเทชันให้เจ้าของดูว่าประวัติศาสตร์ของบ้านนี้มีใครมาทำอะไรไว้บ้าง เป็นงานที่ต้องลงรายละเอียดมากเนื่องจากทางโรงแรมจะใส่ฟังก์ชันใหม่เข้าไปในอาคาร ซึ่งจะกระทบกระเทือนกับของเดิมอย่างรุนแรง ผมก็ต้องศึกษาให้ละเอียดที่สุด เพราะต้องคุยกับบริษัทที่มารับจ้างบูรณะ คำตอบเราต้องมีที่มาที่ไป อย่างหน้าต่างลายฉลุไม้เป็นของสกุลช่างคนจีนจากมะละแหม่ง ห้ามรื้อนะ หรือถ้าทำของเข้ามาใหม่จะใช้ไม้หรือกระเบื้องดินเผาก็ต้องให้ดูร่วมสมัยกับของเดิมมากที่สุด และเขาต้องใช้เครื่องมือแบบไหนถึงจะเข้ากับของเดิมเพื่อให้มีรอยเลื่อยไม้หรือ trace คล้ายกัน
คือเราไม่ค่อยคิดกันมาก่อนว่าร่องรอยแต่ละอย่างมาจากเครื่องมืออะไร แต่ผมสนใจและสะสมความรู้เรื่องช่าง เรื่องเครื่องมือพื้นบ้านมาตลอดจากการเดินทางไปตามที่ต่างๆ เรารู้ว่าทางเหนือเขามีแบบแผนเครื่องมือ เช่น ขวานเชียงใหม่ ขวานกวางตุ้ง ขวานวัวแพะ ซึ่งจะไม่เหมือนขวานฝรั่ง หรือการใช้เลื่อยจะมีร่องรอยที่เราเห็นได้ว่าอันนี้ใช้เลื่อยตั้งหรือเลื่อยก๋ง ผมก็ชี้ให้เขาดูว่า “มันมีอะไรมากกว่าที่คุณเห็น” เส้นมันคมไม่เหมือนกัน คนที่เป็นช่างถึงจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน
อย่างมีไม้แกะสลักชิ้นหนึ่ง สถาปนิกเขาจะเอาออกให้ได้ บอกว่าให้ช่างบ้านถวายแกะใหม่ก็ได้ ผมอธิบายว่านี่ไม้สักอายุหลายร้อยปี ถ้าไม้แกะใหม่อายุก็แค่ ๒๕ ปีเท่านั้น แล้วฝีมือแกะใช้สิ่ว ไม่ใช่ฉลุ เป็นฝีมือแบบช่างกวางตุ้งหรือไม่ก็แต้จิ๋ว มันไม่เหมือนกันแน่นอน เราละเอียดพอที่จะเห็นคุณค่าของมันทั้งหมดแล้วหรือยัง
ในการบูรณะผมพยายามรักษาสิ่งเหล่านี้ พยายามคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ให้ได้ เพราะร่องรอยมันเกิดจากเครื่องมือที่ใช้ งานก็จะมีคุณค่ามาก มันเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาให้ลูกหลานมาดูว่าลักษณะสกุลช่างเป็นแบบนี้
งานของผมจะมีรายละเอียดมากกว่าของคนอื่น เพราะผมเอาความรู้ทุกอย่างมาใส่ เรารู้เรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รู้เรื่องพันธุ์ไม้ รู้เรื่องเครื่องมือช่าง ก็เอาความรู้ทุกอย่างมาใช้รวมกัน ทำให้ร่องรอยของบ้านบอร์เนียวถูกบิดเบือนไปน้อยมาก
อย่างไม้ที่ใช้เราต้องระบุเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของไม้ ปรกติสถาปนิกทั่วไปบอกแค่ไม้เนื้อแข็ง แต่ผมจะเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ระบุอย่างละเอียด อย่างไม้เต็ง Shorea obtusa ไม้รัง Shorea siamensis ถ้าไม้สักก็ต้องบอกว่าเอาไม้สักอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี เพราะสารป้องกันปลวกจะยังไม่เกิดถ้าต้นสักอายุน้อยกว่านั้น บางคนบอกไม้สักเหมือนกัน แต่ผมรู้เรื่องต้นไม้ ผมบอกได้ว่าจริงๆ ไม่เหมือนกัน
สถาปนิกบ้านเรามีความรู้เรื่องต้นไม้ดีแค่ไหน
สถาปนิกบ้านเราเลือกต้นไม้ตามพ่อค้าต้นไม้ มีต้นไม้อะไรขายก็สเปกต้นไม้ชนิดนั้น แต่ผมรู้เรื่องการปลูกเพาะเมล็ดให้ต้นไม้โตเร็ว อย่างต้นตาเสือ ปู๋ พันจำ ดงดำ ชุมแสง ไม้ป่าพวกนี้สถาปนิกไทยไม่ค่อยรู้จัก ผมทำงานให้ลูกค้าที่เขาใหญ่ ผมใช้ไม้ป่าซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นทั้งหมด แล้วเป็นไม้ที่เราเก็บกินยอดได้ ทุกอย่างกินได้หมด พนักงานที่อยู่ที่นั่นก็ชอบ แบบนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เรามักมองข้าม
ลูกค้าที่เขาใหญ่มีปัญหาว่าอยากปลูกยางนากับตะเคียนทอง แต่ปลูกมา ๒๐ ปีไม่สำเร็จ ผมก็อธิบายว่าการจะลงยางนากับตะเคียนทองในพื้นที่ร้อนๆ กลางแจ้งเลย มันจะสู้แดดไม่ได้ ต้องปลูกพวกไม้เบิกนำลงไปก่อนให้เกิดร่มเงา แล้วยางนากับตะเคียนทองถึงจะขึ้นได้ แล้วเจ้าของเขาก็อยากปลูกต้นกร่างด้วย กร่างเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลไทร ปลูกเองยังไงก็ไม่ขึ้น ผมอธิบายว่าต้องให้เมล็ดไปผ่านกระบวนการย่อยในกระเพาะของนกก่อน ถึงจะปลูกขึ้น และแนะนำว่าเอาไก่ชนมาขังกรง ให้ลูกกร่างมันกิน แล้วค่อยเอาขี้ไก่มาเพาะ ตอนนี้กำลังทดลองปลูก นี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ไม่มีใครคิด ที่ดินแปลงนี้นกเงือกเคยลงมา ผมวางแผนว่าจะปลูกพืชอาหารที่นกเงือกชอบกิน ชะนีชอบกิน ปลูกไม้สูงๆ ไม่ให้คนไปรบกวน ผมใช้ข้อมูลจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลทำวิจัยไว้
จะเห็นว่างานภูมิสถาปัตย์ทั่วๆ ไป มีแต่ต้นไม้ชนิดซ้ำๆ กันทุกที่ เช่น พญาสัตบรรณ กาสะลอง จิกน้ำ เพราะเป็นชนิดที่มีขายอยู่พื้นๆ ในตลาด สถาปนิกเราไม่สนใจศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทำให้ค่อนข้างตีบตัน
พวกข้าวของเครื่องใช้ที่ท้องถิ่นผลิตเองได้ก็เหมือนกัน เราไม่ใช้ ชอบไปใช้ของฝรั่ง เคยมีเด็กเอามีดของฝรั่งมาให้ ปรากฏว่าสู้มีดพร้าชาวบ้านไม่ได้ แต่แพงกว่าเป็นหลายสิบเท่า เรานิยมซื้อของแบบนี้ มันไม่ช่วยพัฒนาท้องถิ่นเลย
พอได้เป็นอาจารย์แล้วมีวิธีสอนลูกศิษย์อย่างไร
สิ่งที่ผมออกแบบการสอนให้เด็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนี้ คือสิ่งที่ผมอยากเรียนในสมัยก่อน ทุกวันนี้สังคมยอมรับแล้วว่าไม่ต้องออกแบบคอมเพล็กซ์ก็ได้ เพราะจบไปจะมีสักกี่คนได้ทำคอมเพล็กซ์จริงๆ วิชาชีพสถาปัตย์ถูกตีความไปกว้างขึ้น งานชุมชน งานเชิงนิเวศวิทยา งานเชิงวัฒนธรรม พอผมจับประเด็นได้ก็รู้ว่าจะสอนอย่างไร เพราะผมทำงานจริงมาตลอด
ผมจะพาเด็กไปเดินป่า ไปดอยลังกา แม่โถ แม่เงา พาไปดูบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราจะอธิบายให้เขาฟัง เช่นเวลาเดินไปแล้วเราไปนั่งพักใต้ร่มไม้ ผมจะอธิบายว่าก่อนหน้านี้ร่มไม้ไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่พอคุณนั่งใต้ร่มไม้ ร่มไม้กลายเป็นสถาปัตยกรรมทันที เพราะมนุษย์กำหนดความหมายใหม่ของพื้นที่ใต้ร่มไม้ พรมแดนระหว่างเด็กกับธรรมชาติจะเริ่มละลายจากการใช้ชีวิตกลางแจ้ง เรื่องของภายในกับภายนอกหายไป ผมพยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาหลุดออกจากการแบ่งแยกว่าสถาปัตยกรรมต้องทำด้วยปูน ติดกระจก
ธรรมชาติเป็นสถาปัตยกรรม ถ้าเรากำหนดความหมายให้มัน และนี่เป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน เพราะเราไม่ได้ไปเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
แล้วถ้าเราเดิน เราจะไปถึงในที่ที่คนอื่นเข้าไม่ถึง อย่างบ้านกะเหรี่ยงโบราณที่ไม่มีใครเคยเห็น ต้องเดินเข้าไป ๕ วัน ผมไปมาหลายครั้งแล้ว ไม่มีใครคิดว่ายังมีหมู่บ้านแบบนี้ในประเทศไทย ๒๐๐ ปียังเหมือนเดิม เสื้อผ้า บ้านเรือน เปลี่ยนแปลงน้อยมาก ข้าวของเครื่องใช้ยังสวยงามมาก ตอนหลังรายงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของชาวกะเหรี่ยงในลุ่มแม่น้ำเงาชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นงานที่ดีที่สุด ๑ ใน ๕ ของการประชุมทางสถาปัตยกรรม
ผมจะให้เด็กลงพื้นที่ ให้มีประสบการณ์จริงๆ เด็กจะได้เห็นอะไรหลายอย่าง เห็นว่ากะเหรี่ยงอยู่อย่างไร และนำกลับมาสร้างงานด้วยตัวเขาเอง พอผมเริ่มมีชื่อเสียง เคยมีคนถามลูกศิษย์ว่าเรียนกับอาจารย์จุลพรแล้วเคยเดินป่ากับอาจารย์หรือเปล่า ถ้าใครไม่ได้เดินดูเหมือนจะไม่ผ่านหลักสูตร
ผลจากการที่ผมได้มาสอนมันบังคับให้เราต้องเรียบเรียงและพัฒนาความคิดให้เป็นระบบ ได้พบกับความหลากหลายของความคิดคนที่จะต้องโต้ตอบกับเรา เด็ก ๑๐ คนก็ ๑๐ แบบ เพราะพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มาทำอะไรในเรื่องเดียวกัน ก็สนุก มันทำให้เราพัฒนาความคิดเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น
ชีวิตวัยเด็กมีผลให้อาจารย์เป็นอย่างที่เป็นในขณะนี้อย่างไรบ้าง
ตอนเด็กๆ ผมอยู่ที่เกาะสมุย ก๋งของผมเคยรวยมาก มีเรือสำเภา เรียกว่ารวยอันดับ ๑ ของเกาะสมุย แต่ตอนหลังแกเจ๊งหมด ต้องขึ้นไปอยู่บนเขาทำสวนกับย่า ๒ คน ผมไปเจอบันทึกเล็กๆ ของก๋งเขียนไว้ว่า “ชีวิตที่ผ่านมาที่ดีที่สุด คือชีวิตที่อยู่บนเขา ไม่น่าไปเสียเวลากับการออกทะเลเลย เป็นชีวิตที่สุขสงบ ไม่ต้องห่วงว่ารวยหรือจน” เป็นเพียงบันทึกสั้นๆ ที่แกเขียนไว้ มันทำให้ผมได้คิด และผมคลุกคลีกับก๋งตั้งแต่เรียนชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยม ผมสนุกมากกับการอยู่ในสวน ทำให้เรามีทักษะการใช้ชีวิตกลางแจ้ง เดินบนเขา นอนค้างบนเขา มีวันหนึ่งผมเดินไปเห็นลุงคนหนึ่งอยู่กระท่อมคนเดียว ปลูกข้าวโพดยังชีพ มีหมาตัวหนึ่ง มีขนำเล็กๆ ตุ่มน้ำใบหนึ่ง บ้านหลังนิดแต่สร้างอย่างประณีต ผมก็รู้สึกว่าน่าอยู่มากเลย แกมีมีดมีพร้ามีจอบ ทำอะไรเองหมด ผมแอบดูอยู่หลายวัน ตอนหลังก็เลยไปคุยกับแก แกบอกว่าอยู่แบบนี้มีความสุข ไม่ทุกข์ร้อน
ตอนเด็ก เวลาก๋งไม่สบายจะเปิดฟังเทปของท่านพุทธทาสตลอดเวลา ลูกหลานต้องคอยกลับเทปให้ท่านฟัง เราก็ได้ฟังไปด้วย มันมีผลต่อระบบคิดจริงๆ ความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงแท้ บริโภคน้อยๆ ผมรับมาจากคำสอนของท่านพุทธทาส
พอโตขึ้น ผมเรียนอยู่ชั้นปี ๒ ผมเดินทางมากราบท่านพุทธทาสก็เห็นท่านพุทธทาสนั่งอยู่บนม้าหิน มีหมา มีไก่อยู่เต็มไปหมด แล้วกุฏิก็ไม้โทรมๆ ต่างจากพระอาจารย์สมัยนี้มาก ผมได้คุยกับท่านพุทธทาสนิดเดียว แต่ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เราเห็นว่าพระผู้ใหญ่ยังอยู่แบบนี้ อยู่แย่กว่าบ้านผมตอนนี้อีก แล้วมีแต่หนังสือเต็มไปหมด เป็นภาพติดตาฝังใจว่าที่อยู่อาศัยแค่นี้ก็พอแล้ว
ท่านพุทธทาสทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ที่อยู่อาศัยก็เป็นสรรพสิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ต้องผุพังไปตามเวลาที่เหมาะสม คำพูดที่ว่าบ้านต้องทนมากๆ มาจากความไม่เข้าใจความผันแปรของสรรพสิ่งว่าตัวบ้านก็ต้องผุพังไปตามเงื่อนไข แล้วถ้าเราอยู่บนเงื่อนไขนั้นเราก็ไม่ทุกข์กับความแก่ความเสื่อม และจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องงดงาม
ทุกวันนี้ของทุกอย่างต้องทน ไม่อยากแก่ ก็ต้องไปดึงหน้า ใช้สารเคมี ทำสารพัดวิธี แทนที่จะออกกำลังกายให้แข็งแรงก็เปล่า แต่ไปสู่การบริโภคที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก เปิดดูทีวีก็จะเห็นแต่สิ่งที่ตอกย้ำจากภาพบ้านพระเอกนางเอกต้องใหญ่ๆ มีน้ำพุข้างหน้า มีรั้วอัลลอยด์ สังคมไทยก็รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ถ้าใครจะมีบ้านก็อยากมีบ้านแบบนี้บ้าง
แล้วบ้านในความหมายของอาจารย์คืออะไร
ความจริงทุกที่ในโลกเป็นบ้านของผมได้ เพราะผมรู้ว่าช่วยตัวเองได้ ของทุกอย่างในเป้เอามาดัดแปลงได้ ถ้าเฉพาะตัวผม ผมอยู่เพิงได้นะ เวลาเดินทางผมนอนตรงไหนก็ได้ เอาถุงปุ๋ยมารองผมก็นอนได้ แต่ผมสร้างบ้านอยู่เพื่อลูก บ้านผมจะเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้ชีวิต ผมไม่ได้ใช้ชีวิตในตัวบ้านมาก กลางวันผมจะทำงานในสวน ทำงานช่าง ผมอยากให้ลูกเห็นผมทำงาน ก่อฟืนไฟทำกับข้าว เหมือนที่ผมเห็นก๋งใช้ชีวิตบนภูเขา คิดว่าเป็นมรดกที่อยากให้ลูกได้รับไป
ผมจริงจังกับเรื่องทำกับข้าวกินเอง ขณะที่คนทั่วไปมองว่าลำบาก เสียเวลา แต่ผมทำเร็วและเป็นอาหารที่ดีกว่าไปซื้ออาหารที่เราไม่รู้ว่าเขาใช้น้ำมันอะไร ผักผมก็เก็บมาจากรอบบ้าน ถ้าเนื้อสัตว์ ที่นี่เขาเชือดหมูกันเองในชุมชน ตอนเช้าผมไปซื้อในตลาดที่อยู่ห่างไปไม่ไกล ปลาทะเลก็ได้จากน้องที่ส่งมาให้จากทางใต้
ชีวิตในบ้าน ผมเขียนบันทึกประจำวันไว้ทุกอย่าง ค่าใช้จ่าย ต้นไม้ อุณหภูมิ ความชื้น เพื่อติดตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราย้อนกลับมาดูได้ว่าทำไมตอนนั้นเรารู้สึกสบายหรือไม่สบาย ผมได้เรื่องนี้จากก๋งที่บันทึกปูมเรือ
บ้านเป็นเคหสถานที่เพาะบ่มตัวเรา เราอาจทำอะไรไม่ดีบ้างในบางวัน บ้านทำให้เราได้ทบทวนตัวเองทางจิตใจตลอดเวลา จากแต่ละวันที่เราออกไปเผชิญกับเรื่องราวภายนอก ในเรื่องการกันแดดกันฝน มันทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่ความหมายของบ้านลึกกว่านั้น เวลาที่ผมจุดเทียนนั่งทำงาน เงาเทียนจะไปเต้นอยู่บนผนัง มันสวยมาก เกิดความรู้สึกที่ให้เราทบทวนตัวเองได้เยอะ
หลายคนอยากอยู่บ้านแบบในแมกกาซีน แต่บ้านแบบนั้นมันไม่มีชีวิตจริงๆ และคุณไม่มีทางอยู่แบบนั้น หนังสือบ้านทำหน้าที่ขายฝันให้เราว่าสักวันหนึ่งเราจะมีบ้านแบบนั้น
มีเพื่อนของน้อง บ้านอยู่แถวคลองบางกอกน้อย เป็นบ้านแบบเจ้านายสมัยก่อน สวยมาก แต่เขาไม่ค่อยรักษามันก็ผุๆ พังๆ เขามาเจอผมที่เชียงใหม่บอกผมว่าเขาฝันอยากมีบ้านสมัยใหม่เหมือนในแมกกาซีน พอผมลงมากรุงเทพฯ เจอเขาที่บ้านก็ตกใจว่าบ้านเขาสวยมากเลย บอกเขาว่านี่มันมีร่องรอยเก่าแก่ เป็นบ้านข้าราชการเจ้านายสมัย รัชกาลที่ ๕ และก็ยังไม่ได้พังจนเกินไปเพียงแต่เขาไม่ได้รักษา คือมีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และคิดจะกำจัดรากดั้งเดิมของตัวเองทุกอย่าง อยากมีสนามหญ้าโล่งๆ มีบ่อปลาคาร์ป มีห้องลิฟวิงรูมที่ไม่ค่อยได้ใช้ไว้ถ่ายรูป แต่พอใช้ชีวิตอยู่จริงๆ กลับทำตัวไม่ถูก เพราะไม่สอดคล้องกับความคุ้นเคยที่เป็นจริงของวิถีชีวิต
ถ้าเราเข้าใจปรัชญาแบบนี้ คนทั้งประเทศต้องกลับมามองตัวเอง เข้าใจว่าการอยู่แบบธรรมดาๆ มีความงดงามทั้งสิ้น เรามีของดีของเราเอง แต่มักมองไม่เห็น ต้องรอฝรั่งมาบอก
ถึงวันนี้อาจารย์คิดอย่างไรกับงานสถาปนิก
ผมคิดว่ามันเป็นวิชาชีพที่มีพลานุภาพมาก มันช่วยแก้ไขโลกได้ภายในกรอบวิชาชีพนี้ ทุกผลงานที่ผมทำผมได้คืนพื้นที่ทางนิเวศกลับไป คืนต้นไม้กลับไป โดยผ่านกระบวนการทำบ้านให้ลูกค้า ขอเขาว่าอย่าใช้ยาเคมี อย่าไปคุกคามสัตว์
แต่ความอยากเป็นอื่นของคนไทยสูงมาก แถวเขาใหญ่มีคนระดับนำของสังคมไปสร้างบ้านอย่างอิตาลี หรือโปรวองซ์ทางภาคใต้ของฝรั่งเศสที่เหมาะกับภูมิอากาศแบบแล้งๆ ในยุโรป ทั้งที่เขาใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มันแสดงถึงความเบาปัญญา ซึ่งเริ่มจากการอยากเป็นอื่น เราขาดความเข้าใจตัวเอง ไม่มีภูมิเรื่องตัวเองพอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร เราใส่แบบฝรั่ง กินแบบฝรั่งก็กลายเป็นมะเร็ง ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน พอตอนนี้ฝรั่งกลับมาสนใจความเป็นตะวันออก เราก็ตามเขามา ทั้งที่รากเดิมของเราเป็นอยู่แล้ว
ปัญหาของบ้านเรา คือเรื่องรสนิยมและความรู้ ต้องกินอาหารอิตาลีถึงจะมีรสนิยม ต้องมีชีวิตแบบตะวันตกถึงจะมีรสนิยม ฝรั่งบอกว่าเราต้องวางช้อนส้อมแบบนี้ กะละมังไม่ให้ใช้ ครกอย่ามี เขียงไม้มะขาม ดูบ้านนอกใช้ไม่ได้ เราก็เชื่อเขา มาใช้เขียงไม้อัดที่ใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ มาอัดเข้ากันด้วยกาวเรซิน พอคุณสับไปสักพักเรซินก็ออกมาในอาหารคุณทีละนิด เราตามเขาไปโดยไม่ได้ไตร่ตรอง
จริงๆ ทุกคนเป็นสถาปนิกได้ เหมือนกับการทำกับข้าว ทุกคนควรจะทำกับข้าวเอง สร้างบ้านเอง เวลาทำกับข้าวจิตเราก็เป็นกุศลว่าเรากำลังทำกับข้าวให้ลูกกิน ลูกกินไปก็ได้รับสิ่งดีๆ ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน ถ้าทุกคนทำเองก็ทำด้วยกุศลจิต แต่ทุกวันนี้เราจ้างผู้รับเหมา ผู้รับเหมาไปกดราคารายย่อย รายย่อยก็ไปกดต่อ ทำไปก็ด่าพ่อล่อแม่กันไป ดูภายนอกบ้านอาจจะเสร็จแต่อกุศลจิตเต็มไปหมด บ้านก็สวยแต่ทำไมอยู่ไม่สบาย อาจเพราะมันเต็มไปด้วยอกุศลจิตตั้งแต่ตอนสร้างขึ้นมา
ทุกวันนี้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ไปเรื่อยๆ และมีคนจำนวนหนึ่งชอบให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะเขาจะได้ขายของ พวกอุตสาหกรรมชอบให้คนไม่ต้องพึ่งตนเอง เขาจะได้ขายของสำเร็จรูปให้เรากิน ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป บ้านสำเร็จรูป ระบบคิดแบบนี้สุดท้ายก็ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากรากคือเราปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้
ผมเชื่อว่าถ้าคนส่วนใหญ่พึ่งตนเองได้ เราจะพบกับหนทางแห่งความยั่งยืนจริงๆ
ทำไมคนส่วนใหญ่ปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้
มันเริ่มจากมายาคติแท้ๆ แล้วร่างกายเราวิวัฒน์ไปตาม มายาคติบอกว่าต้องอยู่แบบนี้ถึงจะมีรสนิยม พอลองอยู่ดู ร่างกายก็เสพความสบายแบบนั้นตามไปด้วย พอร่างกายวิวัฒน์ไป จะกลับไปอยู่อย่างไม่ปิดกั้นธรรมชาติก็กลายเป็นเรื่องลำบากลำบน แต่ความจริงเราฝึกร่างกายเราได้
ผมไปที่ไหน เดี๋ยวนี้ทุกคนนอนห้องแอร์กันหมดแล้ว หาคนไม่นอนห้องแอร์ยากมาก ไปถามรีสอร์ตทั่วประเทศ อยู่ริมทะเล หนาวจะตาย ยังต้องติดแอร์ ชุมพรหรือเชียงราย เหมือนกันหมด
อาหารก็เป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น แต่เราไม่กินอาหารที่ออกแบบมาสำหรับท้องถิ่นเรา ไปกินของอีกท้องถิ่นหนึ่ง ก็เกิดปัญหา เรื่องอาหารเป็นภูมิปัญญาที่สะสมกันมานาน ทำไมหน้าร้อนต้องกินนี่ ทำไมหน้าหนาวต้องกินนี่ หน้าฝนกินนี่ ธรรมชาติมันออกตามฤดูให้เรากิน ไม่มีนอกฤดู ถ้าเราเก็บตามฤดูกาลมากินเราก็สัมพันธ์กับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม
แม้แต่เรื่องความสะอาด เราก็ต้องสะอาดแบบฝรั่งที่สะอาดจนเกินไป ทำให้เราไม่มีภูมิต้านทาน มีลูกค้ามาเล่าว่าเขาไปค้นเจอในอินเทอร์เน็ตเขียนว่าการมีดินติดซอกเล็บจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน ผมบอกว่าไม่ต้องไปเสียเวลาค้นเรื่องแบบนี้หรอก ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตยากกันไปหมด เพราะต้องตามฝรั่งทุกอย่าง คนเราต้องมีดินติดซอกเล็บบ้าง ดินไม่ได้สกปรก ไม่ใช่คราบน้ำมันเครื่อง แต่คนในเมืองสักนิดเดียวก็ไม่ได้
ทุนนิยม อุตสาหกรรม ไม่ได้ทำให้เราผาสุกจริงๆ เพราะเขาจะไม่ลดการบริโภค มีแต่หาทางขยายผลผลิต ถ้าเรากลับมาดูหน่วยเล็กๆ คือตัวเรา วิถีชีวิตเราว่าจะกินอย่างไร อยู่อย่างไร อย่างขี่จักรยาน บอกว่าฝนตกขี่ไม่ได้ ผมเอาเสื้อฝนคลุมก็ขี่ได้ ไม่เห็นมีปัญหา เรื่องไม่นอนห้องแอร์ทุกคนก็ทำได้ ปัญหาคืออยู่ที่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง
สิ่งที่ผมพูดมาจากความเข้าใจในธรรมชาติจริงๆ และผมพูดอย่างไร ตัวผมเองก็ทำอย่างนั้น อยู่กลางแจ้ง ใช้แรงงาน ผมเป็นแบบนั้น และผมพิสูจน์แล้วว่ามันดีต่อชีวิต