สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ราวกลางปี ๒๕๕๕ ปรากฏข่าวโครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือที่เรียกกันว่า “มักกะสันคอมเพล็กซ์” การศึกษาโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ ๘ ปีก่อนแล้ว จุดประสงค์ของโครงการคือการแสวงหารายได้จากที่ดินในความครอบครองของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ประสบปัญหาการบริหารกิจการและมีหนี้สินก้อนโตสะสมมานับแสนล้านบาท
สำหรับพื้นที่ย่านมักกะสันมีขนาด ๕๑๒ ไร่ เฉพาะที่ดินมีมูลค่าราว ๕.๕ หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้า ศูนย์จัดแสดงสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย มีมูลค่าราว ๓ แสนล้านบาท
ปลายปี ๒๕๕๕ กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ติดตามข่าวและไม่เห็นด้วยเริ่มแลกเปลี่ยนและ “แชร์” ความเห็นกันในสื่อสังคมออนไลน์ จนในที่สุดก็เกิดกระแสความสนใจขยายตัวมากขึ้นจนจัดตั้งเป็นกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” พร้อมกับรณรงค์ลงชื่อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org จนถึงขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับเรื่องนี้วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า ๑๐,๗๐๐ คน
เหตุผลสำคัญของการคัดค้าน “มักกะสันคอมเพล็กซ์” คือการทำลาย “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งทำหน้าที่เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ทั้งที่รู้กันดีว่ากรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างคอนกรีต ส่วนพื้นที่ธรรมชาติเช่นสวนสาธารณะขนาดใหญ่มีอยู่น้อยมาก โดยอัตราส่วนพื้นที่
สีเขียวต่อประชากรกรุงเทพฯ คือ ๓ ตารางเมตรต่อคน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เมืองขนาดใหญ่ควรมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า ๙ ตารางเมตรต่อคน
ส่วนประเด็นของ “พิพิธภัณฑ์” นั้นมาจาก “โรงงานรถไฟมักกะสัน” โรงงานซ่อมบำรุงรถไฟที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๐ และเปิดใช้งานเมื่อปี ๒๔๕๓ ซึ่งนับว่ามีอายุมากกว่า ๑๐๒ ปี จะต้องถูกรื้อทิ้งเพื่อให้พื้นที่แก่การก่อสร้างอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ ทั้งที่อาคารแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็นมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นเมื่อปี ๒๕๔๙
แน่นอนว่าเจ้าของพื้นที่และโครงการคือ ร.ฟ.ท. ย่อมต้องมองประโยชน์ในเชิงตัวเงินและตัวเลขที่ต้องการใช้เพื่อแก้ปัญหาขององค์กรที่พอกพูนมายาวนาน แต่ทางออกของการพัฒนาพื้นที่พร้อมๆ กับการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์อาคารทางประวัติศาสตร์ ย่อมมีวิธีการอันสร้างสรรค์อีกมาก มิได้จำกัดคับแคบเพียงแค่ศูนย์การค้าซึ่งมีอยู่เต็ม ๒ ข้างถนนแทบทุกสายในกรุงเทพฯ
ลองเข้าไปติดตามความคิดความเห็นได้ในเฟซบุ๊ก “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” (www.facebook.com/MakkasanHope)
และหากคุณคิดเห็นเช่นเดียวกันก็ร่วมลงชื่อได้ใน change.org .