ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ในอดีตยังไม่มีชุดว่ายน้ำเป็นทางการ ผู้คนบ้างเปลือยกายหรือนุ่งชุดชั้นในเล่นน้ำตามแต่วัฒนธรรมของชนชาตินั้น ๆ จวบจนศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อการคมนาคมในสหราชอาณาจักรสะดวกขึ้น และตามชายทะเลมีบริการรถอาบน้ำ กิจกรรมพักผ่อนเล่นน้ำที่แพร่หลายขึ้นทำให้เกิดการพัฒนาชุดว่ายน้ำตามมา
๒๓๙๓ ชุดอาบน้ำผู้หญิงสมัยวิกตอเรียน
ยุคซึ่งเคร่งครัดด้านศีลธรรม การแต่งกายของผู้หญิงจึงปกปิดเรือนร่างทั้งหมดด้วยเสื้อขนสัตว์แขนยาว กระโปรงสุ่ม ๒ ชั้น รวมถึงสวมหมวกและรองเท้า ไม่ต่างจากชุดประจำวันเพียงแต่ลดชั้นของผ้าที่สวมให้น้อยลง |
|
๒๔๑๓ ชุดอาบน้ำผู้ชายสมัยวิกตอเรียน
พ.ศ. ๒๔๐๓ ในสหราชอาณาจักรเริ่มห้ามผู้ชายเปลือยกายว่ายน้ำ ราว ๑๐ ปีต่อมาชุดอาบน้ำของผู้ชายจึงถูกผลิตขึ้น มีลักษณะคล้ายชุดชั้นในสมัยนั้น คือเสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้นลายทางแถบขาว-แดง |
|
๒๔๔๘ ชุด silhouette
สตรีในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มสวมเสื้อผ้าเล่นน้ำน้อยชิ้นลง นิยมเสื้อขนสัตว์และผ้าไหม มีทั้งแขนสั้นและแขนกุด มีคอเสื้อแบบชุดกะลาสี สวมหมวกกับกระโปรงเรียบสั้นเลยเข่า พร้อมสวมถุงน่องและรองเท้า |
|
๒๔๕๐ ชุด maillot หรือวันพีซ
แอนเนตต์ เคลเลอร์แมน (Annette Kellerman) นักกีฬาว่ายน้ำชาวออสเตรเลียถูกจับข้อหาอนาจารในรัฐแมสซาชูเซตส์ เนื่องจากว่ายน้ำด้วยชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าชิ้นเดียวแบบแขนกุดขาสั้นต่างจากคนในยุคนั้น ต่อมาฝรั่งเศสได้ตัดเย็บชุดลักษณะดังกล่าวออกขาย |
|
๒๔๖๓ ชุดว่ายน้ำ (swimming suit)
เดิมทีชุดเล่นน้ำต่างๆ ถูกเรียกว่า ชุดอาบน้ำ (bathing suit) จน Jantzen บริษัทผลิตชุดว่ายน้ำในสหรัฐอเมริกาเริ่มประชาสัมพันธ์ด้วยคำว่าชุดว่ายน้ำ (swimsuit) และเปลี่ยนสัญลักษณ์บริษัทเป็นรูปหญิงสาวกระโดดน้ำ คำนี้จึงถูกใช้แพร่หลายแทนที่ |
|
๒๔๗๖ ชุด topper และกางเกงว่ายน้ำ (trunks)
บริษัท BVD จ้าง จอห์นนี ไวส์มูลเลอร์ (Johnny Weissmuller) นักกีฬาว่ายน้ำชื่อดังชาวอเมริกันโฆษณาชุดว่ายน้ำเสื้อกล้ามคอกว้าง-กางเกงขาสั้นที่เรียกว่า topper จนได้รับความนิยม สี่ปีต่อมาผู้ชายก็นิยมสวมเพียงกางเกงว่ายน้ำโดยไม่ปิดส่วนบนของร่างกาย |
|
๒๔๘๙ ชุดบิกินี (bikini)
ลูย เรอาร์ (Louis Réard) วิศวกรชาวฝรั่งเศสตัดเย็บชุดว่ายน้ำสตรีเป็นผ้าเล็กๆ ๒ ชิ้น ปิดหน้าอก เผยแผ่นหลังและสะโพกบางส่วน เดิมไม่มีคนกล้าสวมใส่นอกจากนางแบบที่จ้างมา ก่อนจะได้รับความนิยมในอีกหลายสิบปีต่อมา |
|
๒๔๙๙ ชุด swim briefs
Speedo บริษัทผลิตชุดกีฬาของออสเตรเลียออกแบบชุดว่ายน้ำชายในลักษณะกางเกงชั้นในแบบสั้นจากผ้าไนลอน สำหรับโอลิมปิกเกมส์ ๑๙๕๖ เพื่อลดแรงต้านของน้ำขณะว่ายน้ำ ต่อมาใช้แพร่หลายในกีฬาทางน้ำทั่วไป |
|
๒๕๔๖ ชุดเบอร์กินี (burqini)
อาเฮดา ซาเนตติ (Aheda Zanetti) ผู้ผลิตชุดกีฬาชาวเลบานอน -ออสเตรเลียออกแบบชุดว่ายน้ำสำหรับสตรีมุสลิมจากใยโพลีเอสเตอร์ โดยประยุกต์มาจากบุรกา ผ้าคลุมตั้งแต่หัวจดเท้า ปิดทั้งตัวยกเว้นใบหน้า มือ และข้อเท้า |
|
๒๕๕๑ LZR Racer ชุดว่ายน้ำไฮเทค
Speedo ผลิตชุดว่ายน้ำแบบปิดทั้งตัวจากใยไนลอน สแปนเด็กซ์ และโพลียูรีเทน จนมีน้ำหนักเบา ไม่อมน้ำ โครงชุดช่วยพยุงกล้ามเนื้อทำให้ว่ายได้เร็วและนานขึ้นจนชุดประเภทนี้ถูกห้ามใช้ในการแข่งขันกีฬาหลายรายการ |