นิตยสารสารคดี ฉบับ 228 ประจำเดือนเมษายน 2556 นำเสนอสารคดีจากปกเรื่อง “SMART PATROL RENGER วิทยาการเพื่อ ‘ชีวิต’ ภารกิจผู้พิทักษ์ป่ายุคใหม่” ถ่ายทอดเรื่องราวจากหลืบลึกแห่งพงไพรที่ยากจะหาอ่าน ว่าด้วย ‘ชีวิต’ และ ‘การงาน’ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายุคใหม่ ที่ในภารกิจส่วนงานลาดตระเวน เหล่าผู้พิทักษ์ในชุดลายพรางรูปนกกับต้นไม้ใช่จะพกติดตัวไปแต่สัมภาระยังชีพในป่า เข็มทิศ แผนที่ กับปืนอีกคนละกระบอก หากแต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ‘ยุคใหม่’ ที่ได้รับการพัฒนาสร้างเสริมประสิทธิภาพงานลาดตระเวนด้วยระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ(SMART PATROL) ยังมีหน้าที่สำคัญคือการจดบันทึกข้อมูล เหตุการณ์ จุดสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างในป่า ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยสัตว์ป่า ร่องรอยมนุษย์ ซากสัตว์ ข้อมูลทางนิเวศวิทยาเช่นการมีอยู่ของต้นญวนผึ้ง ไทรสุก โป่งดิน โป่งน้ำ ฯลฯ ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีอันทันสมัยทั้งเครื่องระบุพิกัดภูมิศาสตร์จีพีเอส กล้องถ่ายรูปดิจิทัล กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ เพื่อนำข้อมูลมาปะติดปะต่อ-ประมวลผลด้วยระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แสดงพื้นที่ประสบภัยคุกคาม พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยา สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
และเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของกลุ่มคนหัวใจสีเขียว ฮีโร่ตัวจริงผู้ปิดทองหลังต้นไม้ คุ้มครองป้องภัยผืนป่าแทนคนไทยทั้งชาติ นิตยสารสารคดี ได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “SMART PATROL RENGER ฮีโร่พันธุ์ใหม่หัวใจสีเขียว” ต่อยอดเรื่องราวภารกิจของผู้พิทักษ์ป่า ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำดำเนิน เมื่อพุธที่ 22 พฤษภาคม 2556 เวลา 14.00-16.30 น.
งานนี้เริ่มต้นด้วยการแสดงดนตรีจากวง “Big cat” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
จากนั้นเข้าสู่ช่วงเสวนา ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ฉายภาพความเปลี่ยนของของสภาพป่าไม้และพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ลดจำนวนลงต่อเนื่อง พร้อมยกตัวอย่างคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานอนุรักษ์รุ่นถัดมา ดร.อนรรฆ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งสังกัดอยู่ตามอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ คนกลุ่มนี้คือผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าไม้ ใช้ชีวิตเสี่ยงภัยอยู่กับภยันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิด ผู้ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ พร้อมนิยามความหมายของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ว่าหมายถึงระบบลาดตระเวนเพื่อจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบสำคัญคือมียุทธศาสตร์การวางแผนชัดเจน มีจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่อย่างเพียงพอ มีระบบฝึกอบรมที่เน้นคุณภาพ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีระบบฐานข้อมูลลาดตระเวน ตลอดจนมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับผู้บังคับบัญชา
สมหมาย ขันตรี หัวหน้าชุดลาดตระเวนพิทักษ์ป่า SMART PATROL RENGER อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ถ่ายทอดชีวิตการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากครั้งอดีตที่เคยเดินป่ากันโดยอาศัยประสบการณ์ ความชำนิชำนาญ ขึ้นเขาลงห้วยโดยไม่มีแม้กระทั่งแผนที่นำทางหรือเข็มทิศ จนถึงปัจจุบันมีการนำเครื่องจีพีเอสมาใช้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เปิดเส้นทางใหม่ๆ ไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่เคยมีใครเดินทางไปถึง ทั้งยังสามารถระบุพิกัดตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ต้นไม้ขนาดใหญ่ ร่องรอยสัตว์ป่า ปัจจัยคุกคามเช่นปางพักของพวกลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ได้อย่างชัดเจนแม่นยำ หรือแม้กระทั่งสถิติการเดินป่าในรอบเดือน รอบปี ของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ใครเดินเส้นทางไหน ระยะทางกี่กอโลเมตร ข้อมูลจะถูกจัดเก็บและประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอันทันสมัยก็ได้มาพร้อมกับภาระรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของเจ้าหน้าที่ เมื่อเส้นทางเดินลาดตระเวนได้ถูกขีดลากไปทุกทิศทาง เติมเต็มทั่วทั้งป่า จนเรียกได้ว่าปัจจุบันแทบไม่มีพื้นที่ใดในป่าคลองลาน ป่าแม่วงก์ ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่เคยเดินทางไปถึง ซึ่งสิ่งสำคัญของระบบจึงเป็นความรักในงานที่ทำ ความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสปกป้องผืนป่า
สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ได้ชี้ให้เห็นผลสำเร็จของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในเขตป่าห้วยขาแข้ง ว่าสามารถลดปัจจัยคุกคามลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จำนวนพรานล่าสัตว์ลดลง สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ตัวอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมคือการตามจับพรานที่เข้ามาลักลอบวางยาเบื่อเสือโคร่ง ถูกจับด้วยการทำงานประสานกันระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งทั้ง ๓ เขตต่างมีระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ระบบนี้จึงเป็นความหวังของการพิทักษ์ป่า ควรพัฒนาและขยายผลไปยังผืนป่าอนุรักษ์อื่น ๆ เพื่อเชื่อมผืนป่าใหญ่ที่ถูกแบ่งเขตออกเป็นป่าอนุรักษ์เช่นในผืนป่าตะวันตก ให้กลับมาเชื่อมกันในทางฐานข้อมูลงานลาดตระเวน
ด้าน ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย ได้อธิบายเหตุผลของการสนับสนุนให้มีโครงการฝึกอบรมในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน ว่าผืนป่าทั้งสองแห่งอยู่ติดกับห้วยขาแข้งขึ้นไปทางตอนเหนือ เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีกรบุกรุกน้อยมาก นับเป็นพื้นที่ความหวังของการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง โดยทุกวันนี้ผืนป่าที่เป็นความหวังของการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าจะอยู่ทางเหนือของห้วยขาแข้งขึ้นไปมากกว่าทางใต้ เนื่องจากทางด้านใต้มีเขื่อนขนาดใหญ่สองแห่งคือเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทำให้ผืนป่าใหญ่มีสภาพเหมือนถูกแยกขาดจากกัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตสัตว์ป่า
งานเสวนาดำเนินมาถึงช่วงท้าย ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ว่าแม้ปัจจุบันจะมีการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาช่วยสนับสนุนงานลาดตระเวนพิทักษ์ป่า ทว่าแท้จริงสิ่งสำคัญที่มีความหมายใหญ่หลวง คือหัวจิตหัวใจแกล้วกล้าและความภาคภูมิใจในความเป็นผู้พิทักษ์ป่าของเจ้าหน้าที่ทุกคน ผู้อดทนทำงานอย่างเสียสละ ปฏิบัติภารกิจด้วยตามความรัก ความเชื่อ ความศรัทธาว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง
สิ่งนี้คือความหวังของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา
ขอขอบพระคุณจากใจ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ชมพจน์พงศ์ ฤทธิ์รณศักดิ์
ภาพงานเสวนา (คลิกที่ภาพเพื่ออ่านรายละเอียด)