คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร : รายงาน
แผนที่ตำแหน่งแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ (ออกแบบ และจัดทำโดย สันถวี นิยมทรัพย์)
เมื่อกลางปี ๒๕๕๐ และกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีสำคัญในภาคกลางของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีหลักฐานโบราณวัตถุและร่องรอยแห่งอดีตที่สืบย้อนไปได้นับพันปี ทั้งมีความโดดเด่นและมีคุณค่าสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีระดับนานาชาติก็ว่าได้ เนื่องจากมีหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนข้ามชาติ (ข้ามวัฒนธรรม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอินเดีย และยังเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแหล่งหนึ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านจากสังคมก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สังคมหรือยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลักฐานประเภทหนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ก็คือ เครื่องประดับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า หลักฐานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องประดับที่คนโบราณในแถบถิ่นนี้เมื่อราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้วทำขึ้น (และนำเข้ามาจากที่อื่น) และอาจใช้ประดับร่างกาย มีหลากหลายชนิด เช่น ลูกปัด ต่างหู (ทั้งแบบห้อยติ่งหูและแบบเสียบรูเจาะหู) จี้ กำไล (ทั้งกำไลแขน กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า) แหวน (ทั้งแหวนนิ้วมือและแหวนนิ้วเท้า) และเข็มขัดหรือสายรัดเอว เครื่องประดับชนิดต่าง?ๆ เหล่านี้ยังมีความหลากหลายในด้านรูปทรง ลวดลาย วัสดุ และขนาดอีกด้วย ซึ่งความหลากหลายนี้อาจสัมพันธ์กับวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และสถานภาพทางสังคมของผู้คนแต่ละกลุ่มก็ได้
ที่แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ซึ่งมีอายุเก่าแก่ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือตรงกับยุคเหล็ก (Iron Age) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้าพเจ้าขุดค้นพบเครื่องประดับหลายชนิดและมีจำนวนมากพอสมควร ส่วนมากพบร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์โบราณหรือพื้นที่ฝังศพ แต่เครื่องประดับบางชนิดก็พบทั้งในพื้นที่ฝังศพและในบริบทที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่บ้านเรือน บางชิ้นยังมีร่องรอยผ่านการใช้งานมาแล้ว บางชิ้นแตกหักแต่ก็ยังได้รับการเก็บรักษาดูแลอย่างดีและถูกนำมาใช้งานอีก จากบริบทที่ค้นพบ (แหล่งฝังศพและที่อยู่อาศัย) แสดงว่าเครื่องประดับดังกล่าวมีความสำคัญเชิงพิธีกรรมในอดีต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเครื่องประดับที่พบอาจเป็นทั้งสิ่งของที่ใช้ประดับร่างกายในระหว่างที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ และใช้ในพิธีกรรมเมื่อเจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว
ชิ้นส่วนเครื่องประดับทำจากงาช้าง มีลายแกะสลักทั้งที่เป็นจุดกระจาย เป็นเส้นจุด แฃะเป็นเส้นรอบวงกำไล (ภาพ : บัณฑิต สมประสงค์)
ลูกปัดหินรูปวัว (ภาพ : Alison Carter)
เครื่องประดับที่พบสามารถจำแนกชนิดได้ดังนี้
ลูกปัด นับเป็นเครื่องประดับยอดนิยมอย่างหนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีทั้งที่พบกระจายตามชั้นดินที่เป็นที่อยู่อาศัย และพบร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ แต่ส่วนมากจะพบในบริบทที่เป็นแหล่งฝังศพ และมักพบเป็นกลุ่มกระจุกอยู่ตามลำตัวของผู้ตาย หรืออยู่ในลักษณะที่เรียงกันเป็นเส้นหรือสายสร้อยบริเวณลำคอ ไม่ก็สร้อยข้อเท้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าลูกปัดเหล่านี้ใช้สำหรับการประดับตกแต่งร่างกาย
มีสร้อยลูกปัดเส้นหนึ่งน่าสนใจทีเดียว นั่นก็คือเป็นสร้อยที่รวมเอาลูกปัดหินรูปทรงต่าง?ๆ ร้อยไว้ด้วยกัน จำนวนทั้งหมด ๔๗ ลูก มีทั้งลูกปัดทรงกลม ลูกปัดทรงกระบอก ลูกปัดแบน ลูกปัดทรงกรวยหรือทรงถังเบียร์ ลูกปัดแท่งสี่เหลี่ยม และลูกปัดรูปสัตว์ (น่าจะเป็นวัวและพบเพียง ๑ ลูก) ซึ่งเป็นลูกปัดแบบที่ไม่ค่อยพบ นอกจากนี้ลูกปัดหินเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และแตกหัก ลูกปัดบางลูกเป็นชิ้นส่วนกำไลหินที่แตกหักแล้ว แต่ถูกนำมาเจาะรูร้อยรวมกับลูกปัดอื่น ลักษณะเช่นนี้อาจแสดงว่าลูกปัดเป็นทรัพย์สินที่ทรงค่ามากในสังคมมนุษย์ยุคโน้น เพราะขนาดแตกหักหรือชำรุดแล้วยังถูกเก็บรักษาและนำมาใช้ น่าสังเกตด้วยว่า ลูกปัดหินกลุ่มนี้ทำจากหินทึบแสงและแร่หลายชนิดที่หายากในท้องถิ่น เช่น โมรา โมกุล เซอร์เพนทีน และเนไฟรต์
นอกจากลูกปัดหินแล้ว ข้าพเจ้ายังพบลูกปัดแก้วสีฟ้าอมเขียว และลูกปัดแก้วใส ซึ่งคล้ายกับลูกปัดที่พบในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้วโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นไปได้ว่าลูกปัดแก้วที่พบในแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ผลิตโดยชุมชนโบราณที่เขาสามแก้วก่อนถูกนำเข้ามาที่พรหมทินใต้
ลูกปัดอีกกลุ่มหนึ่งที่พบจากการขุดค้นเป็นลูกปัดทำจากเปลือกหอย ลูกปัดกลุ่มนี้มีขนาดเล็กมาก ถ้าไม่สังเกตดี?ๆ อาจถูกทิ้งไประหว่างการขุดค้น แต่ข้าพเจ้ากำชับให้ทีมงานขุดค้นทำการร่อนดินด้วยตะแกรงถี่ขนาด ๑/๑๖ นิ้ว ซึ่งถี่พอ?ๆ กับตะแกรงร่อนน้ำกะทิ จึงพบลูกปัดดังกล่าว ส่วนมากพบรวมกันเป็นกระจุกบริเวณหน้าอกและลำตัวของผู้ตาย
กำไล มีทั้งกำไลแขน กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น หิน สำริด (โลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก) งาช้าง ดินเผา และเปลือกหอย พบอยู่ในลักษณะสวมติดกับแขน ข้อมือหรือข้อเท้าของผู้ตาย ถ้าเป็นกำไลสำริดก็มักพบเป็นชุด มีหลายวง เช่นแขนข้างหนึ่งมีกำไลสวมอยู่มากถึง ๑๕ วงก็มี ถ้าเป็นกำไลหินมักพบสวมที่แขนหรือข้อมือข้างละวง หรือสวมข้างเดียววงเดียว
มีกรณีพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบก็คือ โครงกระดูกของชายวัยผู้ใหญ่ สวมกำไลงาช้างจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๕ วงที่แขนซ้าย แขนขวามีกำไลทำจากเปลือกหอย ๑ วง นอกจากนี้ในหลุมฝังศพของ
อีกรายยังพบชิ้นส่วนกำไลงาช้างที่มีการแกะสลักลวดลายประณีตสวยงาม ซึ่งไม่ค่อยพบในแหล่งโบราณคดีอื่น?ๆ ในประเทศไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กำไลน่าจะเป็นเครื่องประดับที่คนโบราณใช้มากที่สุด หรือกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องประดับสามัญก็ได้ เนื่องจากพบเป็นจำนวนมากทั้งในหลุมฝังศพและในชั้นดินที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย แต่คงมีการกำหนดหรือรับรู้กันว่ากำไลชนิดใดใช้สำหรับสวมในโอกาสทั่วไป และกำไลชนิดใดใช้สำหรับสวมในพิธีกรรมการฝังศพเท่านั้น เนื่องจากกำไลบางวงมีขนาดเล็กและเบา (อาจใช้ในโอกาสทั่วไปและในพิธีกรรม) กำไลบางวงใหญ่และหนัก (อาจใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพเท่านั้น) ตัวอย่างเช่น กำไลวงหนึ่งหนักถึง ๒๑๔ กรัม หนา ๒.๓ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๙.๘ เซนติเมตร ทำจากเปลือกหอยมือเสือ พบร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ จากขนาดและน้ำหนักสันนิษฐานว่าคงไม่ใช้ในชีวิตประจำวันแน่นอน
แหวน พบไม่มากนัก อาจจะเป็นเครื่องประดับสำหรับคนบางกลุ่ม หรือบางชนชั้น หรือบางเพศที่เป็นผู้ใหญ่โดยเฉพาะ (ยังไม่เคยพบแหวนในแหล่งฝังศพเด็ก) แหวนทั้งหมดที่ข้าพเจ้าขุดค้นได้ล้วนมาจากแหล่งฝังศพและทำด้วยสำริด มีทั้งแหวนนิ้วมือและแหวนนิ้วเท้า พบในลักษณะที่สวมนิ้วมือและนิ้วเท้าของผู้ตาย และสวมเป็นชุด นิ้วหนึ่งอาจมีหลายวง อย่างน้อย ๕ วงขึ้นไป
ต่างหูทำจากหินอ่อน (ภาพ : บัณฑิต สมประสงค์)
กำไลหินอ่อน (ภาพ : ธนิก เลิศชาญฤทธิ์)
ต่างหูหินอ่อน และลูกปัดหินสีเขียว (ภาพ : ธนิก เลิศชาญฤทธิ์)
ต่างหู พบไม่มากนัก แต่อาจมีนัยสำคัญในเชิงเพศสภาพเช่นเดียวกับแหวน นั่นก็คือ ต่างหูอาจเป็นเครื่องประดับในพิธีกรรมเฉพาะกลุ่มบุคคล หรือเฉพาะเพศชายเท่านั้นก็ได้ ต่างหูที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้มีเพียง ๑ คู่ โดยพบร่วมกับโครงกระดูกผู้ชาย (คนเดียวกันกับที่สวมกำไลงาช้างและกำไลเปลือกหอย) บริเวณหูซ้าย ๑ ข้าง และหูขวา ๑ ข้าง เป็นต่างหูรูปวงกลมชนิดห้อยติดหู ทำจากหินอ่อนสีขาวนวล ประเพณีการใช้ต่างหูคล้ายกันนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกมนุษย์เพศชายที่มีต่างหูทำจากหินอ่อนรูปวงกลมฝังอยู่บริเวณหูขวา ส่วนบริเวณใกล้ตำแหน่งหูซ้ายมีต่างหูทำจากแก้วฝังอยู่ด้วย
เครื่องประดับที่กล่าวมาข้างต้นคงเป็นสิ่งของส่วนตัว หรือสมบัติส่วนตัวที่มีความหมายและมีคุณค่าสำหรับผู้ครอบครองในสมัยนั้น และเป็น “สมบัติ”ที่ใครก็อยากมี อาจกล่าวได้ว่าบางคนหรือบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าชุมชน ผู้นำ หรือคนที่มั่งคั่ง ใช้เครื่องประดับในการแสดงอัตลักษณ์และสถานภาพของตัวเอง หรือเป็นไปได้ว่าเครื่องประดับช่วยเสริมสร้างความเป็นตัวตน บารมี และอำนาจของผู้ครอบครองให้โดดเด่นขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้คนในสมัยโบราณจำนวนมากไขว่คว้าหาเครื่องประดับมาครอบครองและสวมใส่แม้ว่าจะได้มายากเย็นแสนเข็ญก็ตาม ดังจะเห็นว่าสิ่งของที่เป็นเครื่องประดับมีหลากหลายประเภท ซึ่งล้วนแต่เป็นประเภทที่เมื่อสวมใส่แล้วมองเห็นได้ง่ายจากภายนอก
นอกจากนี้เครื่องประดับยังทำจากวัสดุหลายชนิด วัสดุหรือวัตถุดิบบางชนิดเป็นของที่นำมาจากต่างถิ่น และหาไม่ได้ในท้องถิ่น เช่น แก้ว หอยทะเล (เช่น หอยมือเสือและหอยกาบขนาดใหญ่) และหินกึ่งอัญมณี (เช่น โมรา โมกุล หินอ่อน และหินตระกูลหยก) วัสดุบางอย่างนอกจากหายากและเป็นของต่างถิ่นแล้ว ยังต้องใช้เทคนิคพิเศษและทักษะฝีมือ “ขั้นเทพ” ในการผลิต เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน (แค่เจาะรูลูกปัดก็นับว่ายากและใช้เวลานานมาก) และเครื่องประดับที่ทำจากสำริด (ซึ่งต้องใช้เทคนิคที่ยุ่งยากในการขึ้นรูปและตกแต่ง) และวัสดุบางอย่างก็ได้มายาก เช่น งาช้าง เป็นต้น
เครื่องประดับโบราณดังกล่าวช่วยให้เราเห็นภาพชีวิตและวัฒนธรรมอีกแง่มุมหนึ่งของผู้คนในอดีตเมื่อราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในดินแดนแถบภาคกลางของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม ว่าเมื่อครั้งกระโน้นผู้คนแถบนี้มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง มีพัฒนาการทางวัฒนธรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการประดับตกแต่งร่างกาย ความงาม หรือสุนทรียะ) และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่แพ้ที่ใดในโลก มีความห่วงหาอาวรณ์ ใส่ใจญาติมิตรและผู้คน หรืออาจคำนึงเรื่องสังคม (social care) มากกว่าเรื่องส่วนตัวด้วยซ้ำไป และเครื่องประดับก็นับเป็นมรดกวัฒนธรรมในฐานะคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ และคุณค่าในเชิงการแลกเปลี่ยนในสังคมครั้งอดีตนานมาแล้วด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ : การขุดค้นในปี ๒๕๕๐ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกรุงเทพประกันภัย และการขุดค้นในปี ๒๕๕๒ ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้