ราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก ได้แบ่งเอกภพออกเป็น ๒ ส่วน คือโลกและสวรรค์ โดยที่โลกประกอบไปด้วย ๔ ธาตุหลัก คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนสวรรค์เป็นที่อยู่ของดวงดาวต่างๆ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในหนังสือ On the Heavens (De Caelo) ของอริสโตเติล อธิบายเอกภพโดยใช้แบบจำลองที่มีโลกเป็นศูนย์กลางและมีดาวเคราะห์โคจรเป็นทรงกลมอยู่เป็นชั้นๆ |
ราว ค.ศ. ๑๕๐๐
Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ เสนอทฤษฎีใหม่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของเอกภพ โดยมีโลกและดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรเป็นบริวารอยู่รอบดวงอาทิตย์
ค.ศ. ๑๖๐๘
Hans Lippershey ช่างทำเลนส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลกล้องแรกของโลก บางตำนานอ้างว่า Jacob Metius และ Zacharias Jansen คือผู้ประดิษฐ์กล้องคนแรก |
ค.ศ. ๑๖๐๙
Galileo Galilei ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นผิวขรุขระของดวงจันทร์ กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์เองนี้ทำให้ได้เห็นสิ่งต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น ข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์ จุดบนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ดาวฤกษ์จำนวนมากในทางช้างเผือก ฯลฯ ซึ่งล้วนขัดต่อคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิล การค้นพบของกาลิเลโอสนับสนุนความคิดของโคเปอร์นิคัส ล้มระบบเอกภพของอริสโตเติลที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง และได้นำโลกเข้าสู่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ |
ค.ศ. ๑๖๑๙
Johannes Kepler นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ค้นพบว่าการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ไม่ได้เป็นวงกลมตามที่โคเปอร์นิคัสเข้าใจ
ค.ศ. ๑๖๑๖
Niccolo Zucchi นักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ออกแบบและประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยให้เห็นแถบสีต่างๆ ที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตรของผิวดาวพฤหัสบดี |
ค.ศ. ๑๖๕๕
Christiaan Huygens นักฟิสิกส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ใช้กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่มีความยาวโฟกัส ๑๑ ฟุต ส่องเห็นวงแหวนรอบดาวเสาร์ซึ่งเขาคิดว่าเป็นแท่งของแข็ง เห็นดวงจันทร์ Titan ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และเห็นดาวพุธโคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ Huygens เชื่อว่าเอกภพมีดาวที่มีสิ่งมีชีวิตรูปร่างเหมือนบนโลก
ค.ศ. ๑๖๖๓
James Gregory นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวสกอต ออกแบบกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่กระจกสะท้อนแสงมีลักษณะโค้งแบบพาราโบลา ภาพที่เห็นจึงปราศจากความคลาดทรงกลม (spherical aberration) |
ค.ศ. ๑๖๖๘
Isaac Newton สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่ใช้กระจกเว้าโฟกัสแสงแทนเลนส์นูน กล้องของนิวตันมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูงในการเห็น เพราะได้รับการออกแบบให้ขจัดความคลาดต่างๆ จึงมีประสิทธิภาพดีกว่ากล้องโทรทรรศน์แบบเก่าๆ ผลงานนี้ทำให้นิวตันได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Royal Society (F.R.S.)
ค.ศ. ๑๖๗๒
Laurent Cassegrain นักบวชชาวฝรั่งเศส สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบ Cassegrain ที่ใช้กระจกเว้ารับแสง แล้วใช้กระจกนูนรับแสงที่สะท้อนจากกระจกเว้าไปผ่านบริเวณใจกลางของกระจกเว้าบานแรก กล้องโทรทรรศน์ Cassegrain นี้ไม่แสดงปรากฏการณ์ความคลาดทรงกลม |
ค.ศ. ๑๖๗๕
พระเจ้า Charles ที่ ๒ แห่งอังกฤษโปรดให้สร้างหอดูดาวแห่งราชสำนักที่เมืองกรีนิช (Royal Observatory, Greenwich) ซึ่งถูกกำหนดให้เส้นแวง (ลองจิจูด) ที่ ๐ องศาผ่าน และให้เวลาที่กรีนิชเป็นเวลามาตรฐานในการเทียบเวลาโลก
ค.ศ. ๑๖๘๕
ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศส บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันที่ ๑๑ ธันวาคม ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี |
ค.ศ. ๑๗๘๑
William Herschel นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อชาติเยอรมัน ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบนิวตันที่ยาว ๖ ฟุต ส่องพบดาวยูเรนัสซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเมื่อ Herschel ใช้กล้องขนาดใหญ่ที่มีความยาวโฟกัส ๔๐ ฟุต เขาก็เห็นดวงจันทร์ Mimas และ Enceladus ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ และเห็น Titania กับ Oberon ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวยูเรนัส เห็นน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคาร พบว่าทางช้างเผือกมีรูปร่างคล้ายจาน ๒ จานประกบกัน และเป็นคนเรียกดาวเคราะห์น้อย
ว่า asteroid การค้นพบของ Herschel ได้ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า กฎแรงโน้มถ่วงและกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันยังเป็นจริง แม้ระบบที่ศึกษานั้นจะอยู่นอกระบบสุริยะ ถึงการค้นพบแต่ละชิ้นจะยิ่งใหญ่ แต่ผลงานที่สำคัญที่สุดของ Herschel คือการพบรังสีอินฟราเรด (infrared radiation) |
ค.ศ. ๑๘๔๕
William Parsons นักดาราศาสตร์ชาวไอร์แลนด์ สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ชื่อ Leviathan โดยใช้กระจกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง ๑.๘๓ เมตร ทำให้ Parsons เห็นโครงสร้างรูปเกลียวของเนบิวลา M51 และด้วยลักษณะเหมือนปูจึงได้ตั้งชื่อว่า Crab Nebula |
ค.ศ. ๑๘๖๓
John Hooker มอบเงินสร้างกล้องโทรทรรศน์ Hooker เป็นกล้องสะท้อนแสงที่มีเลนส์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐๐ นิ้ว บนยอดเขา Wilson ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ต่อมา Albert Michelson ใช้กล้อง Hooker วัดขนาดของดาวฤกษ์ Betelgeuse ได้เป็นครั้งแรก |
ค.ศ. ๑๘๖๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยคณะอาคันตุกะต่างประเทศ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม หน้าพลับพลาที่ประทับ ค่ายหลวงหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ค.ศ. ๑๙๑๕
Albert Einstein คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งนำไปสู่การอธิบายเรื่องความโค้งของอวกาศ กำเนิดของจักรวาล ฯลฯ ต่อมานักดาราศาสตร์ได้สังเกตการเกิดสุริยุปราคา และพบว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ |
ค.ศ. ๑๙๒๙
Edwin Hubble ใช้กล้อง Hooker ส่องเห็นกาแล็กซีแอนโดรเมดาและกาแล็กซีอื่นๆ นอกทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก จึงทำให้โลกรู้ว่าเอกภพมีขนาดกว้างใหญ่กว่าทางช้างเผือกที่เห็น และได้พบเป็นครั้งแรกว่าเอกภพกำลังขยายตัวตลอดเวลา ช่วยยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ |
ค.ศ. ๑๙๓๑
Karl Jansky วิศวกรและนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ได้สร้างอุปกรณ์รับคลื่นวิทยุจากท้องฟ้าที่บริเวณกลางทุ่งนาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และพบว่าบริเวณศูนย์กลางของดาราจักรทางช้างเผือกมีการส่งคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น ๑๔.๖ เมตรออกมามากที่สุด การค้นพบของ Jansky จึงเปิดโลกวิทยาการสาขาใหม่คือ ดาราศาสตร์วิทยุ (Radio Astronomy) จากนั้นผลงานนี้ได้รับการเสริมต่อโดย Grote Reber ซึ่งได้สร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขึ้นเพื่อศึกษาสัญญาณคลื่นวิทยุที่ดาวและดาราจักรต่างๆ ส่งจากอวกาศมายังโลก |
ค.ศ. ๑๙๔๖
Martin Ryle นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายกล้องทำงานประสานกันด้วยเทคนิคการแทรกสอด เพื่อศึกษาดาวที่ส่งคลื่นวิทยุมายังโลก ผลงาน aperture synthesis และ astronomical interferometry ทำให้ Ryle พบ quasar, radio galaxy ฯลฯ และช่วยให้ Ryle ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๗๔ ร่วมกับ Antony Hewish ผู้พบ pulsar นับเป็นรางวัลโนเบลรางวัลแรกที่มอบแก่ผลงานดาราศาสตร์
ค.ศ. ๑๙๔๙
กล้องโทรทรรศน์ Hale ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ George Ellery Hale นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน เริ่มทำงาน กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงนี้มีเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๕.๑ เมตร อยู่บนยอดเขา Palomar ในแคลิฟอร์เนีย ขนาดอันมโหฬารทำให้กล้อง Hale เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น |
ค.ศ. ๑๙๕๗
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Lovell ที่มีจานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒๕๐ ฟุต เพื่อรับคลื่นวิทยุและสามารถบังคับให้หมุนหรือหันทิศได้ เริ่มทำงานที่ Jodrell Bank โดยมี Bernard Lovell เป็นผู้อำนวยการของศูนย์ กล้อง Lovell เป็นอุปกรณ์เดียวในโลกขณะนั้นที่สามารถติดตามสัญญาณจากดาวเทียม Sputnik 1 ของรัสเซียได้ และใช้รับสัญญาณจากดาวเทียม Pioneer 5 รวมถึงวัดระยะทางจากดาวศุกร์และดวงจันทร์ถึงโลก ใช้สังเกต pulsar และวิเคราะห์สัญญาณคลื่นจากมนุษย์ต่างดาวในโครงการ SETI
ค.ศ. ๑๙๕๙
ดาวเทียม Vanguard 2 นำกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก |
ค.ศ. ๑๙๖๓
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arecibo ในเปอร์โตริโกเริ่มทำงาน กล้องประกอบด้วยจานกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๓๐๕ เมตร ความยาวโฟกัส ๒๖๕.๑๑ เมตร และมีพื้นที่รับคลื่น ๗๓,๐๐๐ ตารางเมตร โดยเฉพาะจะรับคลื่นที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๓-๑๐๐ เซนติเมตร ผลงานที่สำคัญของกล้องนี้คือ ได้พบว่าดาวพุธหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา ๕๙ วัน ไม่ใช่ ๘๘ วันดังที่เคยวัด และถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยได้เป็นครั้งแรก รวมถึงให้ Russell Hulse และ Joseph Taylor ใช้ศึกษา pulsar คู่ จนทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๙๓ อีกทั้งได้พบดาวเคราะห์ที่กำลังโคจรรอบ pulsar ด้วย |
ค.ศ. ๑๙๖๖
Raymond Davis Jr. ใช้ถังบรรจุของเหลว tetrachloroethane ปริมาตร ๑๐๐,๐๐๐ แกลลอน ฝังใต้ดินลึกที่ระดับลึก ๑.๕ กิโลเมตร ที่เหมือง Homestake ในรัฐเซาท์ดาโคตา เพื่อตรวจจับอนุภาคนิวทริโนจากดวงอาทิตย์ที่จะพุ่งมาทำปฏิกิริยากับอะตอมของคลอรีน-37 ให้เปลี่ยนเป็นอะตอมของอาร์กอน-37 ผลการศึกษานี้ทำให้ Davis พบว่าอนุภาคนิวทริโนมีมวลและสามารถเปลี่ยนชนิดขณะเดินทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลกได้ การค้นพบของ Davis ทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์ในดาวฤกษ์ยังใช้ได้ Davis เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๒๐๐๒ ในฐานะผู้บุกเบิกวิทยาการด้าน Neutrino Astronomy |
ค.ศ. ๑๙๖๘
กล้องโทรทรรศน์ Whipple ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Fred Whipple ที่ยอดเขา Hopkins ในรัฐแอริโซนา เริ่มทำงาน กล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐ เมตรนี้สามารถรับรังสีแกมมาจากดาวฤกษ์และเนบิวลาได้ กล้องนี้จึงเป็นกล้องที่บุกเบิกวิทยาการดาราศาสตร์รังสีแกมมา (Gamma Ray Astronomy)
ค.ศ. ๑๙๗๕
กล้องโทรทรรศน์ BTA-6 ของรัสเซียซึ่งอยู่บนยอดเขา Pastukhova เริ่มทำงาน เลนส์ของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๖.๐๕ เมตร และเพราะกล้อง Hale มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเพียง ๕.๑ เมตร BTA-6 จึงถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล้องใหม่ ถึงพื้นที่รับคลื่นจะมากถึง ๒๖ ตารางเมตร และรับคลื่นที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๐.๓-๑๐ ไมโครเมตร แต่กล้องก็ทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากล้อง Hale |
ค.ศ. ๑๙๘๐
Very Large Array (VLA) ซึ่งเป็นชุดกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่นำมาเรียงกันเป็นรูปตัวอักษร Y เพื่อให้ทำงานประสานกันที่ Socorro ในรัฐนิวเม็กซิโกเริ่มทำงาน
จานรับคลื่นของแต่ละกล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒.๕ เมตร ใช้ศึกษาดาราจักรที่ปล่อยคลื่นวิทยุ pulsar, quasar, supernova, หลุมดำ รวมถึงรับสัญญาณจากดาวเทียม Voyager 2 ที่ได้เดินทางพ้นระบบสุริยะไปแล้ว
ค.ศ. ๑๙๘๙
ดาวเทียม COBE (Cosmic Background Explorer) ถูกส่งขึ้นอวกาศเพื่อสำรวจ วัด และศึกษาธรรมชาติของรังสีไมโครเวฟที่หลงเหลือหลังการระเบิด Big Bang |
ค.ศ. ๑๙๙๐
กระสวยอวกาศนำกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ขึ้นโคจรรอบโลกที่ระดับความสูง ๕๖๐ กิโลเมตร ทุก ๙๖ นาที เพื่อรับรังสีอัลตราไวโอเลต แสงที่ตาเห็น และรังสีอินฟราเรด กล้อง Hubble เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศกล้องแรกใน ๔ กล้องที่ NASA คาดหวังจะใช้ศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกชนิดจากเทหวัตถุฟากฟ้า ตัวกล้องประกอบด้วยจานรับคลื่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๒.๔ เมตร ความยาวโฟกัส ๕๗.๖ เมตร ประสบความสำเร็จในการหาค่าคงตัว Hubble ซึ่งใช้บอกความเร็วในการขยายตัวของเอกภพรวมถึงอายุของเอกภพด้วย และใช้สังเกตการณ์ขณะดาวหาง Shoemaker-Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในปี ๑๙๙๔ อีกทั้งใช้ศึกษาธรรมชาติของ supernova และการถือกำเนิดของดาวเคราะห์ใน Orion Nebula |
ค.ศ. ๑๙๙๑
NASA ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Compton Gamma Ray ขึ้นสู่อวกาศ กล้องนี้เป็นกล้องลำดับที่ ๒ ของ NASA ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Arthur Holly Compton นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ๑๙๒๗ จากการพบปรากฏการณ์คอมป์ตัน และผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับรังสีแกมมา กล้องโคจรที่ระดับความสูง ๔๕๐ กิโลเมตรเหนือโลก สามารถรับรังสีแกมมาได้ดี และเห็นการระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst) เป็นครั้งแรกเวลาดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาลแตกดับ |
ค.ศ. ๑๙๙๓
กล้องโทรทรรศน์แฝด Keck ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Howard Keck และ W.M. Keck Foundation ที่มอบทุนสร้างกล้อง เริ่มทำงาน ที่ระดับความสูง ๔,๑๔๕ เมตร กล้องอยู่บนยอดเขา Mauna Kea ในฮาวาย กล้อง Keck 1 พร้อมทำงานในปี ๑๙๙๓ และกล้อง Keck 2 ในปี ๑๙๙๖ กล้องทั้งสองมีความยาวโฟกัส ๑๗.๕ เมตรและมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑๐ เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง และใช้รับรังสีอินฟราเรดกับแสงที่ตาเห็น ตัวกล้องมีระบบ adaptive optics เพื่อช่วยลดการบิดเบี้ยวของภาพที่เกิดจากความแปรปรวนของบรรยากาศเหนือกล้อง |
ค.ศ. ๑๙๙๗
กล้องโทรทรรศน์ Hobby-Eberly ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Bill Hobby และ Robert Eberly ที่หอดูดาว McDonald ในเทกซัสเริ่มทำงาน ตัวกล้องประกอบด้วยกระจกหกเหลี่ยม ๙๑ ชิ้น นำมาเรียงกันเป็นรูป mosaic ทำให้เป็นจานใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๙.๒ เมตร การเรียงกระจกลักษณะนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถติดตามและศึกษาดาวดวงหนึ่งๆ ได้นานถึง ๒ ชั่วโมง จึงใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและ supernova |
ค.ศ. ๑๙๙๙
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Chandra X-ray ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ กล้องนี้ตั้งชื่อตามนามของ Subramanyan Chandrasekhar นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันสัญชาติอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๘๓ จากการศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ เป็นกล้องลำดับที่ ๓ ของ NASA ที่ถูกส่งขึ้นโคจรรอบโลกเป็นวงรีที่มีระยะใกล้สุด ๑๖,๐๐๐ กิโลเมตร และไกลสุด ๑๓๗,๐๐๐ กิโลเมตร กระจกของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑.๒ เมตร ความยาวโฟกัส ๑๐ เมตร สามารถรับรังสีเอกซ์จากเทหวัตถุฟากฟ้าได้ ผลงานที่โดดเด่นของกล้องนี้คือ วัดค่าคงตัวของ Hubble ได้ค่า ๗๖.๙ km/s/Mpc เห็นหลุมดำที่กำลังปล่อยรังสีเอกซ์ และเห็น supernova ในกระจุกดาว Cassiopeia
|
ค.ศ. ๒๐๐๑
NASA ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Wilkinson Microwave Anisotropy Probe ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อศึกษารายละเอียด เช่นอุณหภูมิและความยาวคลื่นของรังสีที่หลงเหลือหลังการระเบิด Big Bang ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่า เอกภพมีอายุ ๑๓,๗๐๐ ล้านปี และค่าคงตัว Hubble มีค่าระหว่าง ๖๙.๒-๗๓.๕ km/s/Mpc รวมถึงการได้พบว่า เอกภพประกอบด้วยอนุภาคนิวทริโน ๑๐ % อะตอม ๑๒ % แสง ๑๕ % และสสารมืด ๖๓ %
ค.ศ. ๒๐๐๓
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Lyman Spitzer ผู้เสนอความคิดเรื่องกล้องโทรทรรศน์อวกาศเป็นคนแรก กล้องนี้เป็นกล้องลำดับที่ ๔ ของ NASA ที่ถูกส่งขึ้นอวกาศเพื่อให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีวงโคจรเดียวกับโลก เพื่อศึกษาเทหวัตถุในอวกาศที่ปล่อยรังสีอินฟราเรดซึ่งเป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๓-๑๘๐ ไมโครเมตร เลนส์ของกล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๐.๘๕ เมตร จึงสามารถใช้ศึกษากำเนิดของดาราจักรได้ |
ค.ศ. ๒๐๐๙
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Planck ซึ่งตั้งชื่อตามนามของ Max Planck ผู้พบ
ทฤษฎีควอนตัมและได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๑๘ ถูกส่งขึ้นโคจรรอบโลกเป็นวงรีที่มีระยะใกล้สุดและไกลสุดเท่ากับ ๒๗๐ และ ๑,๑๒๐,๐๐๐ กิโลเมตรตามลำดับ เพื่อศึกษาคลื่น
แม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๑,๓๕๐-๑๐,๐๐๐ ไมโครเมตร จึงเหมาะสำหรับการค้นหาสนามแม่เหล็กในอวกาศระหว่างดาราจักร และสังเกตปรากฏการณ์เลนส์โน้มถ่วง (gravitational lensing) ตามคำทำนายในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์
ค.ศ. ๒๐๑๑
กล้อง Gaia ซึ่งประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ ๒ กล้องจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศให้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันกับดวงอาทิตย์และโลก โดยให้อยู่ห่างจากโลก ๑.๕ ล้านกิโลเมตร เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ความเร็วและตำแหน่งของดาว ๑ หมื่นล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือก |
ค.ศ. ๒๐๑๒
ALMA (Atacama Large Millimeter Array) เป็นโครงการสถานีดารา-ศาสตร์ภาคพื้นดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อศึกษาเอกภพและกำเนิดสิ่งมีชีวิต โดยความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างชุดกล้องโทรทรรศน์วิทยุช่วงคลื่นความถี่เป็นมิลลิเมตร ประกอบด้วยจานรับส่งสัญญาณที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒ เมตร จำนวน ๖๔ กล้อง บนที่สูง ๕,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ในทะเลทราย Atacama ตอนเหนือของประเทศชิลี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๐๑๒ |
ค.ศ. ๒๐๑๓
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ ๐.๖-๒๘ ไมโครเมตร คือรังสีอินฟราเรด ตัวกล้องมีกระจกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๖.๕ เมตร และความยาวโฟกัส ๑๓๑.๔ เมตร และเพื่อให้กล้องทำงานรับรังสีอินฟราเรดได้ดี ระบบทำความเย็นของกล้องจะต้องถูกควบคุมให้อุณหภูมิสูงไม่เกิน -๒๒๐ องศาเซลเซียส NASA คาดหวังว่ากล้องจะสามารถเห็นกำเนิดของดาวฤกษ์ดวงแรกๆ และดาราจักรแรกๆ ของเอกภพได้ |
ค.ศ. ๒๐๑๘
กล้อง European Extremely Large Telescope (E-ELT) ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency-ESA) จะเริ่มทำงานรับแสงที่ตาเห็นและรังสีอินฟราเรด เลนส์กล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๔๒ เมตรจะทำให้ E-ELT เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถศึกษาสสารมืด พลังงานมืด และเห็นหลุมดำที่มีมวลมหาศาลได้ กล้องจะติดตั้งที่ชิลี หรืออาร์เจนตินา หรือหมู่เกาะคานารี หรือโมร็อกโก |