สุทัศน์ ยกส้าน
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
ภาพวาดนางเมดูซาโดย Caravaggio (๑๕๗๑-๑๖๑๐) ศิลปินชาวอิตาลี
วัฒนธรรมความเชื่อของคนโบราณแทบทุกแห่งทั่วโลกมีตำนานหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับงู อาทิชาวอียิปต์ยุคฟาโรห์เชื่อว่า เมื่อสุริยเทพ (Ra) ทรงปรากฏพระองค์เหนือทะเล งูเป็นสัตว์โลกตัวแรกที่ตระหนัก และน้อมรับว่าพระองค์คือเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังยกย่องงูเป็นเทพเจ้าแห่งการต่อสู้ป้องกันตัวด้วย สำหรับพระนางคลีโอพัตรานั้นโปรดงูมากถึงกับมีพระราชเสาวนีย์ให้ช่างทำเครื่องประดับต่าง ๆ ในพระราชวังเป็นรูปงู
ชาวกรีกโบราณนับถืองูว่าเป็นสัตว์พิเศษ สามารถเป็นมิตรทั้งกับเทวดาและซาตาน ชาวกรีกผู้มั่งคั่งยังมักให้จิตรกรวาดภาพปูนเปียกบนผนังเป็นงู ๒ ตัวกำลังสู้กัน ทั้งนี้เพราะคนกรีกนิยมการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจนั่นเอง ในโรงเรียนกรีกก็มีสอนเรื่องงูเป็นวิชาที่เรียกว่า ophiology (มาจากคำกรีก ophis แปลว่างู) เทพนิยายกรีกยังกล่าวถึงงูยักษ์ชื่อ Ophion ว่า เมื่อมันแลบลิ้นเลียหูของ Melampus เขาก็สามารถเข้าใจภาษาของนกและแมลงได้ดี นิทานกรีกยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางเมดูซาผู้มีเส้นผมเป็นงูพิษ และเมื่อนางถูก Perseus สังหารโดยการตัดศีรษะ หยดเลือดที่หลั่งรินได้กลายเป็นงูพิษมากมาย นอกจากนี้เทพนิยายกรีกยังมีเทพ Aesculapius เทพแห่งการรักษาไข้ ตามปรกติพระองค์ทรงถือไม้เท้าที่มีงูเลื้อยพันกัน ต่อมาแพทย์จึงนำไม้เท้างูพันมาเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมแพทย์
ชาวอินเดียก็นับถืองูมาก เพราะเชื่อว่าปราชญ์ Garga ผู้เป็นบิดาของวิชาดาราศาสตร์ได้รับความรู้เรื่องนี้จากงู และทุกปีเมื่อถึงวันที่ ๕ ของเดือน Shravan ชาวอินเดียที่นับถืองูจะจัดงานเฉลิมฉลองชื่อ Naga Panchami โดยนำงูเห่ามาร่ายรำประกอบการบรรเลงปี่ ทั้งที่ในความเป็นจริงหูของงูจะรับเสียงที่มีความถี่ต่ำเท่านั้น ดังนั้นงูจึงไม่ได้ยินเสียงปี่เลย การที่งูวาดลีลาโยกย้ายส่ายตัวนั้นก็เป็นไปตามลักษณะการโยกตัวของคนเป่าปี่ เพราะการโยกตัวทำให้งูสามารถชูตัวได้ ดังนั้นทันทีที่เสียงปี่หยุด และตัวคนเป่าปี่หยุดนิ่ง งูก็จะทรุดตัวไถลไปกับพื้นตามธรรมชาติของมัน ส่วนงูเลี้ยงตามศาสนสถานต่าง ๆ ก็จะได้กินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ในงานนี้เช่นกัน
ชาวแอซเตกก็มีเทพ Quetzalcoatl ผู้รอบรู้ด้านศิลปกรรมกับเกษตรกรรม และเป็นเทพผู้ปกป้องข้าวโพดของชาวแอซเตก ตำนานของชนเผ่านี้ยังอ้างอีกว่า เทพ Quetzalcoatl มีพระวรกายครึ่งนกครึ่งงู แม้แต่ชาวไวกิงก็มีเรื่องเล่าว่างูยักษ์พำนักที่ Midgard อาณาจักรที่อยู่ระหว่างนรกกับสวรรค์ เชื่อว่าเมื่อคนบนโลกตายวิญญาณที่จะไปนรกหรือสวรรค์จะต้องผ่านด่านงูนี้ คัมภีร์ไบเบิลก็มีงู (ซึ่งถือเป็นมารร้าย) ในสวนอีเดน และงูได้หลอกล่อให้ Eve กินผลไม้ต้องห้ามบนต้น Tree of Life ทำให้พระเจ้าพิโรธ จึงทรงขับทั้ง Adam และ Eve ออกจากสวนอีเดน
นอกจากเทพนิยายเรื่องงูบกแล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับงูทะเลก็มีมากเช่นกัน ดังในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางผจญภัยในต่างแดนของชาวยุโรป ทั้งเพื่อล่าอาณานิคมและแสวงหาความรู้ใหม่ นักสำรวจเล่าว่า ในประเทศแอฟริกาใต้ บริเวณแม่น้ำ Orange มีถ้ำที่มีเพชรนิลจินดาซุกซ่อนอยู่ โดยมีงูยักษ์ชื่อ Grootslang เฝ้าอยู่ปากถ้ำ งูนี้มีลำตัวยาว ๑๓ เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวกว้าง ๑ เมตร สำหรับ Hans Egede หมอสอนศาสนาชาวสแกนดิเนเวียก็ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๒๗๗ ว่า ขณะเรือของเขาเดินทางใกล้ถึงเกาะกรีนแลนด์ เขาและลูกเรือได้เห็นงูทะเลที่ยาว ๓-๔ เท่าของลำเรือ
หลังจากที่งูชูคอเหนือผิวน้ำจนศีรษะอยู่สูงเท่าเสากระโดงแล้วก็ดำน้ำหายไป ในอังกฤษมีรายงานการเห็นงูทะเลยักษ์เช่นกัน เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๐ ณ บริเวณปากอ่าว เมือง Gloucester กะลาสี ๒๐ คนได้รายงานการเห็นงูยักษ์ยาว ๑๓ เมตร ศีรษะมีขนาดใหญ่เท่าถังเบียร์ ว่ายน้ำเข้าหาเรือด้วยความเร็ว ๓๐-๔๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง จนเมื่อเข้าใกล้ประมาณ ๑๐ เมตร ความหวาดกลัวทำให้คนบนเรือใช้ปืนยิงป้องกันตัว แต่ก็ทำอะไรงูไม่ได้ หลังจากนั้นงูก็ดำน้ำหายไปโดยไม่สนใจแก้แค้นคนที่มุ่งร้ายมันอีกเลย
ซากกระดูกงู Titanaboa cerrejonensis (ขวา) เปรียบเทียบกับกระดูกงู Anaconda ภาพ : University of Florida News Bureau
ภาพวาดงูยักษ์ในป่าโคลอมเบีย เมื่อ ๕๘ ล้านปีก่อนจากจินตนาการของศิลปิน
ความหมกมุ่นและปักใจเชื่อว่าโลกนี้มีและเคยมีงูยักษ์จริงได้ชักนำให้ Albert Koch ใช้วิธีหลอกลวงประชาชนว่าเขามีหลักฐานงูยักษ์จริง โดยในปี ๒๓๘๘ หนุ่มเยอรมันคนนี้ได้จัดงานแสดงซากกระดูกงูยักษ์ที่ยาวเกือบ ๔๐ เมตรในพิพิธภัณฑ์ที่เบอร์ลิน ซึ่งได้ทำให้ชาวเยอรมันแตกตื่นกันมาก แต่เมื่อ Jeffries Wyman นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้ทดสอบกระดูกฟันของงู ก็พบว่ามันเป็นฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หาใช่ฟันของสัตว์เลื้อยคลานไม่ ส่วนกระดูกงูนั้นแท้จริงเป็นกระดูกวาฬที่ Koch นำมาร้อยเรียงกัน การโชว์ครั้งนั้นจึงทำให้ Koch ถูกจองจำด้วยข้อหาหลอกลวงประชาชน และเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ Peter M’Quhae กัปตันแห่งเรือรบหลวง Daedalus ของอังกฤษ ได้รายงานในหนังสือพิมพ์ London Time ว่า เห็นงูทะเลลำตัวยาว ๒๐ เมตร กว้าง ๑.๕ เมตร ชูศีรษะเหนือผิวน้ำที่ระดับสูง ๑.๕ เมตร ทำให้เห็นคองูมีสีเหลือง-ขาว แล้วงูก็ดำน้ำหายไปอีก ข่าวนี้ทำให้ผู้คนมีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ โดยคนที่เชื่ออ้างว่าผู้เห็นงูเป็นทหาร และเพราะทหารไม่พูดปด ดังนั้นคำอ้างจึงมีน้ำหนัก ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็ให้เหตุผลว่า ผู้เห็นมิใช่นักชีววิทยา จึงไม่มีวิธีสังเกตที่ดี ดังนั้นสิ่งที่อ้างจึงขาดเหตุผลและความน่าเชื่อถือ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดของการไม่เชื่อ เพราะไม่มีหลักฐานเช่นภาพถ่ายหรือโครงกระดูกประกอบคำกล่าวอ้าง
เมื่อถึงวันนี้ ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ Jason J. Head แห่งมหา-วิทยาลัยโทรอนโตในแคนาดาและคณะ ได้รายงานการพบซากฟอสซิลงูเหลือมที่มีลำตัวยาว ๑๒.๘๒ ±๒.๑๘เมตร น้ำหนักตั้งแต่ ๑,๑๓๕-๑,๘๑๕ กิโลกรัม ว่างูนี้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ ๖๐-๕๘ ล้านปีก่อน ในป่าฝนที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบียในอเมริกาใต้
ขนาดมโหฬารของซากฟอสซิลงูทำให้มันเป็นซากกระดูกงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้รับการตั้งชื่อว่า Titanoboa cerrejonensis ซึ่งมาจากคำ Titan ในภาษากรีก แปลว่ายักษ์ และ boa ที่แปลตรง ๆ ว่างูเหลือม ส่วนชื่อหลังนั้นบอกสถานที่พบซากกระดูกงู คือที่เมือง Cerrejo´n ดังนั้นคำแปลของชื่องูตัวนี้คือ งูเหลือมยักษ์แห่งเมือง Cerrejo´n อนึ่ง นอกจากซากงูแล้ว Head ยังพบกระดูกจระเข้และปลาในบริเวณนั้นด้วย ซากเหล่านี้ทำให้เขารู้ว่างูชนิดนี้กินจระเข้และปลาเป็นอาหาร
การพบซากงูนอกจากจะให้ความรู้ด้านชีววิทยาโดยตรงแล้วขนาดของงูยังช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยารู้สภาพดินฟ้าอากาศเมื่อ ๕๘ ล้านปีก่อนด้วย
ในขณะที่โลกร้อนขึ้น ๆ ตลอดเวลาเพราะปรากฏการณ์เรือนกระจก นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหลายคนต่างหันมาสนใจศึกษาสภาพดินฟ้าอากาศในยุคดึกดำบรรพ์ และได้พบว่าในยุคพาลีโอจีน (Paleogene) ราว ๖๕-๔๐ ล้านปีก่อน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบันมาก ข้อสรุปนี้ได้จากการขุดพบซากฟอสซิลจระเข้และต้นปาล์มซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเขตร้อนในบริเวณอาร์กติก ไซบีเรีย และรัฐไวโอมิงของอเมริกา และเมื่อเขานำตัวอย่างอากาศยุคนั้นมาประกอบการพิจารณา ผลการคำนวณแสดงว่าบริเวณขั้วโลก ณ เวลานั้นมีอุณหภูมิสูงถึง ๑๕ องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าอุณหภูมิแถบอาร์กติกสูงปานนั้น อุณหภูมิแถบศูนย์สูตรจะมีค่าสูงเพียงใด
ใครบ้างจะคิดว่า คนที่ตอบคำถามนี้คือ Head และคณะผู้พบซากงูดึกดำบรรพ์ที่ Cerrejo´n ในโคลอมเบีย
ในความเข้าใจของคนทั่วไป เขตร้อนคืออาณาบริเวณที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๓๐ องศาเหนือกับ ๓๐ องศาใต้ บริเวณนี้ประกอบด้วยแผ่นดินที่มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นดินบนโลก ดังนั้นเขตร้อนจึงมีบทบาทมากในการควบคุมสภาวะเรือนกระจกของโลก เพราะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดจำนวนมากยิ่งกว่าบริเวณอื่นใดของโลก โดยเฉพาะสัตว์จำพวก Poikilotherm ซึ่งเป็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่หายใจในอากาศ นักชีววิทยาพบว่าอุณหภูมิร่างกายของมันแปรโดยตรงกับอุณหภูมิแวดล้อม ทั้งนี้เพราะระบบ metabolism ซึ่งสร้างพลังงานโดยการเผาผลาญอาหารต้องทำงานอย่างสมดุลกับสภาพแวดล้อม ทำให้อัตราการสร้างพลังงานขึ้นกับอุณหภูมิ ด้วยเหตุนี้สัตว์จำพวก Poikilotherm เช่นงูขนาดใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในอากาศอบอุ่น ส่วนงูขนาดเล็กก็ต้องอยู่ในบรรยากาศที่เย็น
จากหลักการนี้ Head และคณะจึงสรุปว่า งูยักษ์แห่ง Cerrejo´n ในโคลอมเบียเคยใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ๓๒-๓๓ องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าสูงกว่าที่ได้จากการศึกษาอื่น ๆ ถึง ๗ องศาเซลเซียส และนี้ก็คือการศึกษาแรกของโลกที่ใช้งูวัดอุณหภูมิยุคดึกดำบรรพ์
แต่ก็ใช่จะเป็นคำตอบสุดท้ายของปริศนานี้ เพราะคำถามต่าง ๆ ที่ไม่มีข้อสรุปชัดเจนก็ยังมีอยู่ เช่นกระดูกที่พบบอกขนาดที่แท้จริงของงูหรือไม่ และที่ว่าขนาดของสัตว์แปรโดยตรงกับอุณหภูมิแวดล้อมนั้นจริงที่ระดับความเชื่อมั่นเพียงใด แล้วเหตุใดจึงยังไม่มีการพบซากงูยักษ์ในเขตร้อนอื่น ๆ ของโลกบ้าง เหล่านี้ถือเป็นปริศนาที่ต้องศึกษาหาคำตอบเพิ่มเติมครับ