ปราบดา หยุ่น (www.typhoonbooks.com)
ถ้าจำไม่ผิด คนที่คุยกับผมเรื่องต่อไปนี้คือคุณเป็นเอก รัตนเรือง-ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่รักการอ่านหนังสือ พอๆ กับที่ลุ่มหลงภาพเคลื่อนไหว
คุณเป็นเอกตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมนิตยสารไทยรุ่นใหม่ๆ จึงนิยมใช้ภาษาอังกฤษตั้งชื่อบทความ ชื่อคอลัมน์ หรือเขียนโปรยปกกันนัก ทั้งๆ ที่ฝรั่งไม่สามารถอ่านเนื้อหาได้ และคนไทยโดยทั่วไปยังอ่านภาษาอังกฤษไม่แตกฉาน ต่อให้คิดค้นกลุ่มคำคมๆ ขนาดไหน ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์โดยกว้างมากนัก วัฒนธรรมการใช้ภาษาอังกฤษในนิตยสารไทยจึงดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลเพียงพอ ฝรั่งอ่านต่อไม่ได้ คนไทยไม่รู้จะอ่านไปทำไม
เนื่องจากปลายนิ้วเท้าข้างหนึ่งของผมยังเหยียบอยู่ในเขต “คนร่วมสมัย” (อีกข้างย่ำลงไปใน “มนุษย์ดึกดำบรรพ์”) ผมพอเข้าใจได้ว่าการใช้ภาษาอังกฤษกลายเป็นความเท่ ความทันสมัยอย่างหนึ่งมาหลายพัก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ส่งข้อความถึงกันเป็นภาษาอังกฤษอยู่เสมอ (และเดี๋ยวนี้แถมอุทานเป็นภาษาอังกฤษอีกต่างหาก man!) สื่อปัจจุบันจึงบัญญัติอย่างเงียบๆ (เพราะถ้ามาประกาศกันโฉ่งฉ่าง รับรองโดนกระหน่ำด่าโดยประชาชน “คนรักวัฒนธรรมไทย” ทั้งหลายแหล่แน่นอน) ว่าการไม่ใช้ภาษาอังกฤษคือ “เชยตายห่า”
เมื่อผมยังเด็ก (และคุณเป็นเอกยังเป็นวัยรุ่น) แทบไม่มีนิตยสารไทยเล่มใดตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษเลย หนังสือวัย teen สุด hot ยังชื่อ เธอกับฉัน คอลัมน์ส่วนใหญ่ในนิตยสารต่างๆ มีชื่อเป็นภาษาไทย ชวนให้คนทำต้องขบคิดหลายตลบว่าจะตั้งชื่ออย่างไรให้งาม ได้ความตามเนื้อหาแต่ละคอลัมน์ และแปลกใหม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่ทุกวันนี้ จะตั้งชื่อคอลัมน์แนะนำหนังสือก็เขียนแค่ “Book” ภาพยนตร์ก็ “Movie” เพลงก็ “Music”–เออ ก็ง่ายดี yea!
รวมถึงชื่อรายการโทรทัศน์ ชื่อวงดนตรี ที่ยังมีความพยายามจะคิดเป็นภาษาไทยกันอยู่มากกว่าในปัจจุบัน
ผม (และอันที่จริงคุณเป็นเอกก็ด้วย) เป็นคนใช้ทั้งสองภาษา เนื่องจากเคยมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ภาษาอังกฤษล้วนๆ เป็นระยะเวลานาน วัฒนธรรมนี้จึงไม่ค่อยประหลาดนัก แม้โดยส่วนตัวจะรู้สึกว่าภาษาไทยเป็นภาษาสนุก ควรมีวิวัฒนาการ และจะเติบโตไม่ได้เลย หากคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา พร้อมใจละทิ้งไปหมดเพียงเพราะกลัวเชย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ชอบใช้ภาษาอังกฤษสำหรับบางกรณี ยังอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ นิยมดูหนังเสียงจริงมากกว่าเสียงพากย์ และในแง่ของภาษาศาสตร์ ภาษาอังกฤษก็มีความน่าสนใจให้ทดลองไม่แพ้ภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ
สำหรับผม ภาษาอะไรก็ใช้ไปเถิด ถ้าใช้เป็น
สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดมากกว่าการเห็นภาษาอังกฤษเกลื่อนกลาดตามสื่อไทย คือการใช้มันอย่างผิดๆ ไม่ตรวจตรา ไม่รับผิดชอบ คนไทยหลายคนในแวดวงสื่อมักมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปแบบแปลกๆ หรือมิเช่นนั้นก็กลัวเสียหน้าหากต้องสอบถามความถูกต้องจากผู้ชำนาญ–สำหรับการใช้ภาษา แม้แต่เจ้าของภาษาที่คุ้นลิ้นกับมันมาตั้งแต่เกิด ยังสามารถบกพร่องเลินเล่อสะเพร่าตกหล่น นับประสาอะไรกับคนที่ใช้มันเพียงผิวเผิน ผมคิดว่าถ้าสื่อไทยจะใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ ความอินเตอร์ อย่างน้อยควรจะใช้ให้ถูก หรือพยายามสักหน่อยก็ยังดี
ข้อผิดพลาดเล็กๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในแทบทุกนิตยสาร “อินเทรนด์” คือการหลงลืมพหูพจน์ในจุดที่ควรเป็นพหูพจน์ (แต่ทีที่ไม่รู้จะพหูพจน์ทำไมกลับใช้กันจริง อย่างเช่น “มันส์” เป็นต้น) คอลัมน์ประเภทแนะนำหรือวิจารณ์หนังสือ หนัง เพลง หรืออะไรก็ตาม ควรมีตัวเอสปิดตูดทั้งนั้น (Books, Movies, CDs, Shops, Websites, Restaurants) เว้นเสียแต่ว่านิตยสารของคุณจะแนะนำมันเล่มเดียว เรื่องเดียว แผ่นเดียว แล้วเลิกเลย ชาตินี้ไม่แนะ ไม่นำ ไม่วิจารณ์อะไรอีกแล้ว
แต่หากไม่ประสงค์จะเติมเอสเพราะรักความเป็นเอกพจน์ของเอกบุรุษ ก็เลี่ยงได้เหมือนกัน เพียงเปลี่ยนให้เป็นคำที่ครอบคลุมกว้างๆ โดยไม่ต้องอธิบายว่ามีจำนวนเท่าไรก็สิ้นเรื่อง เช่น แทนที่จะเป็น “Books” ก็เปลี่ยนเป็น “Literature” (แต่จำกัดใช้ได้เฉพาะหมวดวรรณกรรมเท่านั้น) “Movies” เป็น “Film” หรือ “CDs” เป็น “Music”
ไหนๆ จะตรวจสอบ ผมขอหันไปดูนิตยสารไทยที่รายล้อมรอบๆ ตัวเสียหน่อยว่ามีข้อผิดพลาดในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพื่อนำมาประจาน แต่เป็นการยกตัวอย่างความบกพร่องที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ จนเกรงจะกลายเป็นความถูกต้องในสายตาผู้ไม่ชำนาญ เป็นการส่งเสริมให้ใช้ผิดๆ สืบสานกันไปอีกหลายสมัย–การใช้ภาษาอังกฤษผิด ทำให้เหตุผลของการใช้มันในสื่อไทยยิ่งลดน้อยลงไปอีก นอกจากฝรั่งจะไม่อ่าน คนไทยไม่จำเป็นต้องอ่าน แล้วยังเขียนไม่ถูก สรุปแล้วไม่รู้จะใช้กันทำไมให้ยุ่งยาก
ข้อผิดพลาดที่เห็นบ่อยครั้ง รองจากการไม่ปรับคำเป็นพหูพจน์ในที่ที่ควรจะปรับ คือความสับสนในการใช้ “the” กับ “a” นิตยสาร วิทยาจารย์ (นิตยสารของครูโดยครูเพื่อครู) ฉบับเดือนพฤษภาคมปีนี้ โปรยปกว่า “บทบาทผู้กล้าที่จะก้าว–ดร.อดิศัย โพธารามิก” ซึ่งไพเราะเหมาะสมดีอยู่แล้ว ทว่ายังมีแถมภาษาอังกฤษ “The Role of the Brave Man” พ่วงด้วย โดยผิวเผินมันดูปรกติ ไม่ผิดไวยากรณ์ แต่อันที่จริง ถ้าจะให้ถูกแบบสุดๆ ไปเลย ต้องเขียนว่า “The Role of a Brave Man”
“The” เป็นการใช้ที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมันเจาะจงบ่งชี้ว่า “นี่คือ” และ “ที่สุด” (เช่น “the Buddha”) ดังนั้นต้องระมัดระวังหากสิ่งที่ผู้เขียนจะบอกไม่ได้เป็นที่ยอมรับโดยพร้อมเพรียงและมีหนึ่งเดียว ในกรณีนี้ ผมไม่ตั้งข้อสงสัยว่า ดร. อดิศัยเป็น “brave man” แต่ผมเชื่อว่าท่านไม่ใช่ “brave man” เพียงคนเดียวในโลก หรือแม้แต่ในประเทศไทย การเรียกท่านว่า “the Brave Man” จึงไม่ถูกต้องนัก และควรจะเป็น “a Brave Man” ซึ่งแปลว่า “ผู้กล้าคนหนึ่ง” มากกว่า ส่วน “The Role” นั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการเจาะจงพูดถึง “หน้าที่” พิเศษของ ดร. อดิศัย แต่เพียงผู้เดียว
ชื่อตำแหน่งหน้าที่นำหน้าหรือตามหลังชื่อคน ในนิตยสารแฟชั่นนิยมใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย นิตยสาร สุดสัปดาห์ ใช้ “text” แทนคำว่า “เรื่องโดย” “photo” แทนคำว่า “ภาพโดย” “illus” แทนคำว่า “ภาพประกอบโดย” และ “style” แทนคำว่าอะไรไม่ทราบในภาษาไทย แต่เข้าใจว่าคือตำแหน่งของผู้ “ตกแต่ง” รูปลักษณ์ ที่เรียกทับศัพท์กันชินปากว่า “สไตลิสต์” ก่อนหน้านี้ สุดสัปดาห์ เคยใช้ “illustrate” สำหรับผู้ทำภาพประกอบ (ก่อนจะย่อเหลือ “illus”) ซึ่งไม่ค่อยถูกนัก เพราะเป็นคำโดดๆ ไม่บอกใบ้ว่าเขียนไว้ทำไม ควรจะเป็น “illustration” “illustrated by” หรือ “illustrator” เช่นเดียวกับที่ “style” ไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย และควรจะเป็น “styling” “stylist” หรือ “styled by”
นิตยสาร คนรักหนังสือ มีสโลแกนใต้ชื่อว่า “นิตยสารวรรณกรรมทางเลือกใหม่เพื่อการอ่านที่มีคุณภาพ” หรือ “An Alternative Book Magazine for Better Quality Reading” ก่อนอื่น ส่วนที่เป็นภาษาไทยก็ชวนให้สงสัยเล็กน้อยว่าเป็นนิตยสาร “วรรณกรรมทางเลือก” ที่หมายจะสุงสิงเฉพาะกับวรรณกรรมทางเลือก (alternative literature) เท่านั้น หรือหมายความว่าเป็น “นิตยสารทางเลือกที่เกี่ยวกับวรรณกรรม” (ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางเลือกจากอะไร เพราะนิตยสารเกี่ยวกับวรรณกรรมในเมืองไทยใช่ว่าจะมากถึงขั้นมีทางหลัก) แต่ภาษาอังกฤษยิ่งงุนงงกว่า เพราะรวบรวม “book” กับ “magazine” เข้าด้วยกัน อ่านคราวแรกนึกว่าเป็น “หนังสือทางเลือก” (an alternative book) ถ้าจะให้ clear น่าจะอธิบายว่าเป็น “An Alternative Literary Magazine” หรือหากติดคำว่า “book” ก็ควรเป็น “An Alternative Magazine About Books” ส่วนที่ว่า “for Better Quality Reading” ก็ออกจะแปลกและซ้ำซ้อน เพราะ “quality” แปลว่า “คุณภาพ” อยู่แล้ว จึงเขียนเพียง “for Quality Reading” ก็ครบตามความหมายที่ต้องการสื่อ ไม่ต้อง better ก็ได้ ไม่รู้ better จากอะไร
หน้าขายหนังสือย้อนหลังของนิตยสาร HAMBURGER เขียนว่า “HAMBURGER never has an expired date!!!” ซึ่งหมายความว่า “(นิตยสาร) แฮมเบอร์เกอร์ไม่มีวันหมดอายุ !!!” ต้องแก้เป็น “HAMBURGER never has an expiration date!!!” จึงจะถูกต้อง
เมื่อครั้งคุณอุดม แต้พานิช บุกเบิก “เดี่ยวไมโครโฟน” (จนทำให้หลายคนมีวิธีหาเงินเลียนแบบต่อมา a lot!) คำว่า “One Standup Comedy” ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่คำว่า “one” ในที่นี้ไม่มีที่ทางชัดเจน มายืนนำหน้าแถวทำไมก็ไม่รู้ สงสัยหลงมาจากคำว่า “one-night stand” (อาจแปลขำๆ ได้ว่า “หื่นคืนเดียว”) คำว่า “standup comedy” เป็นศัพท์เรียกการแสดงตลกประเภทที่มีคนยืนเล่นสดคนเดียวบนเวที นักแสดงคนนั้นคือ “standup comedian” ซึ่งน่าจะตลกพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมี “one” ให้ตลกกันเข้าไปใหญ่
วันก่อนอยู่ๆ ผมก็ได้ดูรายการโทรทัศน์ชื่อ “You Know Me A Little Go” ทีแรกงงๆ ว่าภาษาอะไรกันแน่ แต่เมื่อพิธีกรตะโกนพร้อมกันเป็นภาษาไทย “คุณรู้จักฉันน้อยเกินไป” หรืออะไรทำนองนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นมุกประเภท “No Car Garden” หรือ “ห้ามรถสวน” และ “snake, snake, fish, fish”–ความผิดทางไวยากรณ์อย่างยิ่งยวดลักษณะนี้ไม่ถือว่าผิด เพราะเป็นอารมณ์ขันทางภาษาเฉพาะเจาะจงสำหรับคนไทย ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่องช่างมัน ต่างจากโปรยปกนิตยสารหรือความพยายามเพิ่มความเท่ ความทันสมัยให้ตัวเอง ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะผู้เขียนคงไม่มีเจตนาให้คนอ่านคิดว่า “wow! ไอ้นี่มันเขียนได้ผิดอย่าง so cool เหลือเกิน”
การใช้ภาษาอังกฤษผิดๆ ปรากฏดาษดื่นเหลือเกินบนแผงหนังสือและตามสื่ออื่นๆ (เช่นวงดนตรีไทยที่เขียนเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ นักเขียนที่ชอบแทรกภาษา English ใน column) และผิดในที่นี้คือผิดจริง ไม่ใช่ตั้งใจให้ผิดหรือผิดแบบทดลอง (ในบางกรณี นักเขียนฝรั่งจงใจเขียนผิดเพื่อล้อเลียนหรือสะท้อนวิธีใช้ภาษาของบางกลุ่มชน) นิตยสารและหนังสือที่ผมหยิบยกขึ้นมาเท่าที่เห็นรอบตัวและเท่าที่นึกขึ้นได้ ไม่ใช่สื่อไร้คุณภาพ ไม่ใช่หนังสือที่ผลิตโดยทีมงานสะเพร่ามักง่าย หากแต่เป็นหนังสือโดยปัญญาชนคนเก่งระดับต้นๆ ของวงการแทบทั้งนั้น ยิ่งเป็นสื่อคุณภาพ ยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องความถูกต้องให้มากขึ้น เพราะผู้รับสารจำนวนมาก “เชื่อ” สื่อที่พวกเขานับถือ
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง นักเขียนไทยสมัยก่อนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและมีความรู้แตกฉานมากกว่ารุ่นนี้หลายเท่า (ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือพวกเขายังแตกฉานด้านภาษาไทยกว่าคนรุ่นนี้อีกด้วย) ทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีอนุญาตให้เราเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมได้แน่นแฟ้นขึ้น ดูหนังฝรั่งบ่อยขึ้น ฟังเพลงฝรั่งมากขึ้น ร้านหนังสือภาษาอังกฤษเยอะขึ้น เด็กเข้าโรงเรียนอินเตอร์พร่ำเพรื่อขึ้น คนไทยทั่วไปใช้ภาษาอังกฤษในบทสนทนาประจำวันมากขึ้น แต่คุณภาพโดยรวมกลับห่างไกลความสมบูรณ์มากขึ้นไปด้วย
ผมไม่ได้แตกฉานทางภาษา ไม่ว่าจะไทยหรืออังกฤษ ต้องตรวจสอบตัวเองด้วยพจนานุกรมหรือผู้รู้กว่าอยู่เสมอ (และขอขอบคุณผู้พิสูจน์อักษรทุกท่านมา ณ ที่นี้) แม้จะพอมีความคล่องแคล่วอยู่บ้างเพราะมีเหตุให้ใช้อยู่เป็นประจำ แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาที่สองที่ผมไม่มั่นใจกับมันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าการเรียนรู้จะใช้มันอย่างถูกต้องไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินเอื้อม โดยเฉพาะสำหรับคนทำงานสื่อ
เป็นที่น่าสงสัยว่า ในประเทศไทยยุคใหม่ที่ผู้นำประเทศเป็นนักเรียนนอก เป็นถึงดอกเตอร์ บนถนนข้าวสารมีฝรั่งเพ่นพ่านนับพันทุกวัน และมีฝรั่งเข้ามาปักหลักทำมาหากินในบริษัทต่าง ๆ มากมาย เหตุใดสื่อที่นิยมใช้ภาษาอังกฤษจึงไม่หาที่ปรึกษาไว้โทรถามยามจำเป็น (ไม่ต้องจ่ายค่าตัวก็ได้ แกล้งทำเป็นสงสัยไปอย่างนั้นแล้ววางหู ตามสไตล์ไทยแลนด์)–ผมพบว่าหลายคนไม่ทำเพราะกลัวเสียหน้า ยิ่งมีใครตำหนิยิ่งจะ angry แต่ในที่สุดแล้วมันไม่คุ้มเมื่อต้องอับอายทวีคูณกับการประจานความบกพร่องของตัวเองในที่สาธารณะ ซ้ำยังเป็นแบบอย่างผิดๆ ให้แก่ผู้ที่ไม่ประสีประสายิ่งกว่าตัวเองไม่ใช่หรือ
นอกจากความบกพร่องของสื่อ การใช้ภาษาอังกฤษผิดแบบขายหน้าระดับชาติก็มีเยอะ อย่างเช่นเมื่อกดโทรศัพท์หาเพื่อนแล้วไม่ติด เสียงสุภาพสตรีท่านหนึ่งจะแปล “ขออภัย หมายเลขที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้” เป็นภาษาอังกฤษว่า “Sorry, the number you dialed cannot be connect.” –Wrong ครับ ! Very wrong! ที่ถูกต้องเติม “-ed” เข้าไปตรงตูด “connect” หน่อยนะครับ เพราะมันตามคำว่า “be” มาติดๆ จึงต้องพูดว่า “The number you dialed cannot be connected.” แล้วต้องอ่านออกเสียงว่า “คอนเน็กเต้ท” ครับ
สังคมไทยจะถูกครอบงำโดยอิทธิพลตะวันตกมากไปหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอีกต่อไปแล้วในความรู้สึกของผม มันเป็นประเด็นที่เก่าแก่นับร้อยปีและล่วงเลยเวลาฟูมฟายหรือแก้ไข (เพลงชาติไทยที่มีการถกเถียงกันหนักหนาว่าควรแตะต้องหรือไม่ ยังเป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นแบบฝรั่ง !)
ในความเป็นจริง เราจะยิ่งก้าวไปสู่ค่านิยมตะวันตกมากกว่าเดิม เด็กวัยรุ่นยุคหน้าจะใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น คนไทยบางกลุ่มจะทำงานระดับอินเตอร์มากขึ้น และการแข่งขันในทุกด้านจะกลายเป็นการแข่งขันระดับสากล ที่ผลจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพมันสมองของบุคลากรมากกว่าชื่อชาติที่พวกเขาอาศัยอยู่
ผมจำไม่ได้ว่าเป็นหนังฝรั่งเรื่องไหน–มีตัวละคร ๒ ตัว คนหนึ่งกำลังจะทำอะไรบางอย่างที่ถูกอีกคนหนึ่งห้ามไม่ให้ทำ (เช่นยิงปืน) เพราะไม่มีความชำนาญเพียงพอ แต่ถึงอย่างนั้นตัวละครที่ไร้ศักยภาพก็ยังดื้อจะทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญอยู่ได้
จนในที่สุด ผู้เชี่ยวชาญเกิดความเห็นใจ เขาเลิกห้ามปราม แล้วเปลี่ยนเป็นสาธิตวิธีทำให้เอง
“If you’re going to do it, do it right.” ถ้านายอยากจะทำนัก ก็ทำให้มันถูกต้อง
I see too. ผมเห็นด้วย