ศรัณย์ ทองปาน
กองบรรณาธิการ วารสาร เมืองโบราณ : รายงาน
บรรยากาศการบรรยายพิเศษที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์)
ช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนเราจะตกอยู่ในยุคสมัยแห่ง “การอนุรักษ์” “ตลาดร้อยปี” “กาแฟโบราณ” “มรดกโลก” ฯลฯ
“อดีต” ดูเหมือนจะมีความหมายกับสังคมปัจจุบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทว่าในความเป็นจริง ไม่มีที่ใดในโลกสามารถเก็บร่องรอยจากอดีต “แช่แข็ง” เอาไว้ได้ทั้งหมด น่าสนใจว่าเมื่อใดที่ต้องเลือกเก็บอดีตไว้เพียงบางเสี้ยว และยอมทิ้งอีกหลาย ๆ ส่วนไป เมื่อนั้นเราอาจได้รู้จักสังคมในยุคสมัยของเราเองมากขึ้นกว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เสียอีก !
เย็นวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2552 ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถนนราชดำเนินกลาง ข้างวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วารสาร เมืองโบราณ และร้านริมขอบฟ้า ร่วมกันจัดการบรรยายพิเศษหัวข้อ “มรดก 2475 : สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” เนื่องในโอกาสปีที่ 77 แห่งการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 โดยนักวิชาการที่ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายได้แก่
อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์หนุ่มนักเขียน นักค้นคว้า และนักกิจกรรมเพื่อย่านชุมชนเก่า จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ชาตรีเริ่มต้นการบรรยายด้วยมุกว่า “ผมชอบคำว่า มรดก 2475 เพราะให้ความรู้สึกในลักษณะว่า…เจ้าของตายแล้ว” ก่อนจะเสนอว่าการที่จะอธิบายสิ่งก่อสร้างภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคคณะราษฎร (พ.ศ.2475-ราว พ.ศ. 2490) โดยอ้างอิงกับรูปแบบทางประวัติศาสตร์ศิลปะเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถทำให้เข้าใจการก่อกำเนิดของอาคารเหล่านั้นได้ และยิ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยว่าเหตุใดรูปแบบดังกล่าวจึงเสื่อมความนิยม หรือแม้กระทั่งถูกรื้อถอนไปในสมัยต่อมา
เขายกตัวอย่างเทียบเคียงให้เห็นชัดเจน ระหว่างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยกับศาลาเฉลิมกรุง ลำพังเมื่อพิจารณาด้วยสไตล์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะล้วน ๆ จะเห็นว่าทั้งสองแห่งเป็นอาคารแบบเดียวกัน ร่วมยุคสมัยเดียวกัน แต่เหตุใดศาลาเฉลิมกรุงกลับยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า (ปัจจุบันคือเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์) ขณะที่ศาลาเฉลิมไทยกลับต้องถูกทุบทำลายลงไปตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน
“เราจะไม่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ถ้าใช้แนวคิดกระแสหลัก หากแต่ถ้ามองบริบททางการเมืองจะสามารถบอกได้ว่า เพราะโรงหนังเฉลิมกรุงนั้นรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อฉลอง 150 ปีพระนคร ซึ่งแม้จะเปิดทำการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ก็ถือว่าเป็นพระราชดำริของพระองค์ ส่วนโรงหนังเฉลิมไทยนั้นสร้างขึ้นโดยคณะราษฎร
“ด้วยอุดมการณ์ 2 ชุดที่แตกต่างกันนี้ แม้หน้าตาสิ่งก่อสร้างทั้งสองจะเหมือนกัน แต่ก็ถูกให้ความหมายคนละเรื่องไปเลย ผมคิดว่าสองสิ่งนี้เป็นการต่อสู้กันทางความคิด ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ คณะเจ้ากับคณะราษฎร แนวคิดอนุรักษนิยมกับแนวคิดเสรีนิยม…” อาจารย์ชาตรีกล่าว
แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวมิได้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ข้างเดียว ทุกฝ่าย (อาจมีมากกว่าสอง) ผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายถอย ตามเงื่อนไขสภาวการณ์ทางสังคมและการเมือง
ในช่วง 15 ปีแรกภายหลังการ “อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้แย่งชิงหรือ “รื้อสร้าง” ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของ “ระบอบเก่า” คือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลายครั้งหลายคราว
ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่สนามหลวงซึ่งเคยเป็น “ทุ่งพระเมรุ” เฉพาะในการพิธีศพของเจ้านายระดับสูงและพระมหากษัตริย์ มาใช้จัดงานฌาปนกิจศพตำรวจทหารฝ่ายรัฐบาล ๑๗ นายที่เสียชีวิตในกรณีปราบกบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 และนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขน อันเป็นตำบลสมรภูมิสำคัญ
หรือการที่คณะราษฎรเลือกหยิบเอาพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางมาสร้างเป็น “เมกะโปรเจ็กต์” เพื่อเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าของประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่การขยายถนน ตัดต้นมะฮอกกานีที่ปลูกไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตรงสี่แยกถนนดินสอ ตลอดจนสร้างโรงแรม (เช่นรัตนโกสินทร์และสุริยานนท์) โรงภาพยนตร์ (ศาลาเฉลิมไทย) ห้างสรรพสินค้า (ตึกไทยนิยม) และอาคารพาณิชย์คอนกรีตที่ “ทันสมัย” ขึ้นทั้งสองฝั่งถนน
กระบวนการเหล่านี้ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ของระบอบใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญ และหลักหกประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
รูปลักษณ์ของรัฐธรรมนูญที่แสดงเป็นเล่มสมุดไทยวางบนพานแว่นฟ้ากลายเป็นภาพติดตาของคนทั่วไป จนถูกนำไปผลิตซ้ำแม้ในวัด เช่น ตามหน้าบัน หรือลวดลายไม้แกะสลักต่าง ๆ เช่นที่อาจารย์ชาตรีหยิบยกตัวอย่างมาให้ชมจากวัดหลายแห่งในจังหวัดลำปาง เช่น วัดปงสนุกเหนือ วัดปงหอศาล วัดปงสนุก
ส่วนจำนวน 6 อันหมายถึงหลักหกประการนั้นก็ถูกสอดแทรกไว้ในงานสถาปัตยกรรมของรัฐในระหว่างยุคนี้หลายแห่ง เช่นหน้าต่าง 6 บานบนโดมของ “ตึกโดม” มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ที่พบมากคือแถวเสา ๖ ต้น เช่นที่มุขหน้าตึกกระทรวงยุติธรรม และมุขหน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) ทว่า ที่แปลกพิเศษไปกว่าแห่งอื่น ๆ คือยอดเจดีย์วัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) ซึ่งมีปล้องไฉน 6 ชั้น ขัดกับขนบของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่นิยมจำนวนเลขคี่โดยสิ้นเชิง
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศูนย์กลางของถนนราชดำเนินกลาง สัญลักษณ์ความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
โรงแรมรัตนโกสินทร์สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสากลร่วมยุค นำเสนอประเทศไทยในฐานะอารยประเทศทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจ (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อแกนนำของคณะราษฎรไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งล้วนเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกมรสุมการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศเล่นงานจนต้องหลุดพ้นจากตำแหน่ง และต้องใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างแดนตราบจนถึงแก่อสัญกรรม
ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของยุคคณะราษฎร
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และอย่างที่ว่า “ทีใครทีมัน” งานสถาปัตยกรรมก็หวนคืนสู่การรื้อฟื้นคุณค่าดั้งเดิมอีกครา
หลังคาเรียบ หรือ “หลังคาตัด” ที่เคยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยของตึกรามบ้านช่องยุคคณะราษฎร ถูกยกเอาหลังคาจั่ว “ทรงไทย” มาวางซ้อนทับ และกลายเป็น “เอกลักษณ์ไทย” ที่จะขาดเสียมิได้ในงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (มาจนถึงบัดนี้)
พร้อม ๆ กันนั้นก็เกิดกระบวนการลดทอนคุณค่าและความหมายของการอภิวัฒน์ โดยมีตัวละครสำคัญอันได้แก่ “หม่อมพี่-หม่อมน้อง” ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
แบบร่างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ (ที่มา : หนังสือ สถาปนิกสยาม พื้นฐาน บทบาท ผลงาน และแนวคิด (พ.ศ.2475-2537) โดย ผุสดี ทิพทัส)
อาคารกระทรวงยุติธรรม (ศาลฎีกาหลังเดิม) สังเกตเสา 6 ต้นทางด้านหน้าบันไดที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้อง กับหลักหกประการของคณะราษฎร (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ถูกนิยามว่าเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่อีกทีก็ถึงกับเป็นความล้าหลังที่น่าเย้ยหยัน เพราะ ม.ร.ว. เสนีย์ยืนยันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยแล้ว ดังปรากฏหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
แม้จนอีกหลายสิบปีต่อมา ในปาฐกถาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2525 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ใช้คารมคมคายอันมีชื่อเสียงเชือดเฉือนงานศิลปกรรมยุคคณะราษฎรว่า
“สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้…ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับเป็นนักเรียนนอก กลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊…ท่านเรียนวิชาอื่น ไม่ใช่สนใจศิลปะ ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าใจอะไรได้…”
ด้วยแรงสนับสนุนจาก “กระแสหลัก” เช่นนี้ จึงไม่พึงแปลกใจที่อาคารในยุคคณะราษฎรจะค่อย ๆ ถูกลดทอนความสำคัญ หรือถึงขั้นถูกรื้อทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่มีเสียงคัดค้านใด ๆ จากสังคม
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียง “อนุสาวรีย์หลักสี่” แท่งปูนกลางถนนที่ไม่มีใครรู้ที่มาหรือความหมาย ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อลงเพื่อเปิดมุมมองให้แก่โบราณสถานยุคต้นรัตนโกสินทร์ เมรุวัดไตรมิตรวิทยาราม ฌาปนสถานคอนกรีตทรงเมรุแห่งแรกเพื่อการเผาศพสามัญชนอย่างมิดชิด จำต้องหลีกทางให้แก่มหามณฑปที่ผิดสัดผิดส่วน กับทั้งตัววัดเองและทุกอาคารในปริมณฑล
อาจารย์ชาตรีปิดท้ายการบรรยายครั้งนี้ด้วยการบอกเล่าถึงกรณีล่าสุดที่ยังไม่มีทางออก คือโครงการรื้ออาคารกระทรวงยุติธรรมหลังเก่า (อาคารศาลฎีกา) ที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎรเพื่อระลึกถึงการได้มาซึ่ง “เอกราชสมบูรณ์” ในทางการศาล โดยสิ่งที่จะมาแทนที่คืออาคารทรงไทยขนาดมโหฬารประดับช่อฟ้าใบระกาครบชุด
โครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มกำลัง ท่ามกลางเสียงคัดค้านแผ่วเบาจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลมรดกวัฒนธรรมของชาติ
ซึ่งยืนยันว่าแม้อาคารหลังนี้จะยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย แต่โดยอายุและประวัติความเป็นมาก็ถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง…
ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสนใจทางวิชาการในประเด็นว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ มีบทความทางวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร เมืองโบราณ วารสาร ฟ้าเดียวกัน วารสาร อ่าน นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม และ จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ หนังสือ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม : สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม ของอาจารย์ชาตรี ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ สาขาศิลปะและวรรณกรรม ประจำปี พ.ศ.2550 นอกจากนั้นอาจารย์ยังมีบทบาทสนับสนุนการอนุรักษ์ย่านเก่าและสถาปัตยกรรมเมือง เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนหวั่งหลี และล่าสุดคือการคัดค้านการรื้ออาคารศาลฎีกา ริมสนามหลวง
|