teandyou@hotmail.com
ความสนุกอย่างหนึ่งในการอ่านหนังสือ ครอบครัวในความหมายใหม่ : การค้นหาวิถีชีวิตแบบใหม่ ของ อลิซาเบธ เบคเกอร์นส์เฮม๑ ว่าด้วยนิยามของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ก็คือบรรดาตัวอย่างครอบครัวสุดซับซ้อนที่ผู้เขียนสรรหามาอธิบาย เช่นชายหญิงคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานจนมีลูก ๓ คน วันหนึ่งเมื่อต้องนำลูกเข้าโรงเรียนก็มีปัญหาว่าจะใช้นามสกุลอะไร พวกเขาตกลงกันว่าให้ลูกสาว ๒ คนใช้นามสกุลแม่ ส่วนลูกชายใช้นามสกุลพ่อ แต่แล้วเมื่อชายหญิงคู่นี้หย่ากัน ฝ่ายแม่ก็ไปโรงเรียนเพื่อเปลี่ยนนามสกุลของลูกชายให้มาใช้นามสกุลตัวเอง ฝ่ายพ่อเมื่อรู้เรื่องเข้าก็โกรธ จึงไปเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิม แต่เมื่อแม่รู้เข้าก็ไม่พอใจอีก ดังนั้นในระหว่างรอคำตัดสินของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เด็กคนนี้ก็เลยไม่มีนามสกุลซะเลย !
หรือในอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ แอนดรูว์ เจ. เฌอลิน ที่ถูกอ้างในหนังสือเล่มเดียวกัน บรรยายว่า “เมื่อบิลอายุ ๑๐ ขวบ พ่อแม่ของเขาแยกกันอยู่และหย่าร้าง…๔ ปีต่อมาแม่ของเขาแต่งงานใหม่ และบิลมีพ่อเลี้ยงเพิ่มเข้ามาในครอบครัวของเขา เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี บิลจากบ้านเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หลังเรียนจบ เขาและแฟนสาวย้ายมาอยู่ด้วยกัน อีกปีครึ่งหลังจากนั้นพวกเขาแต่งงานกันและไม่นานต่อมาก็มีลูก…การแต่งงานเริ่มไม่ราบรื่น ในที่สุดบิลและภรรยาก็หย่าขาดจากกัน โดยภรรยาเป็นฝ่ายได้สิทธิในการปกครองดูแลลูก สามปีต่อมาบิลแต่งงานใหม่กับผู้หญิงที่มีลูกติดจากการแต่งงานครั้งก่อน และพวกเขามีลูกด้วยกันอีก ๑ คน ชีวิตการแต่งงานครั้งนี้ของบิลยาวนาน ๓๕ ปี จนกระทั่งเขาเสียชีวิต”
อะไรจะวุ่นวายขนาดนั้น ! แต่นี่คือชีวิตจริง และที่สำคัญผลวิจัยของเฌอลินนั้นตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๒…ขนาดเมื่อ ๑๗ ปีก่อนยังมีตัวอย่างที่วุ่นวายขนาดนี้ นับประสาอะไรกับในปัจจุบันล่ะครับ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงไม่ค่อยประหลาดใจนักที่ในช่วงหลัง ๆ เราจะเห็นเนื้อเรื่องในละครเกาหลีทำนองว่า “ฉันกับเธอรักกัน แต่แย่แล้วละ สืบไปสืบมา ฉันกับเธอดันเป็นพี่น้องกันซะงั้น” หรือล่าสุดก็ได้เห็นในละครออนไลน์เรื่อง Web Therapy๒ ที่มีคนไข้หนุ่มสาวมาปรึกษาจิตแพทย์ว่า “ผมพบกับเธอเพราะเราซื้อขายของกันทางอีเบย์ แล้วเราก็คบกันมา ๖ เดือนแล้ว แต่ตอนหลังเพิ่งมารู้ว่าเราเป็นพี่น้องกัน เพราะสมัยก่อนพ่อของผมหาเงินด้วยการขายสเปิร์ม ส่วนแม่ของเธอในสมัยสาว ๆ นั้นก็เป็นเลสเบียนที่อยากมีลูก เธอก็เลยไปธนาคารสเปิร์ม…พวกเราก็เลยเป็นพี่น้องกันทางอ้อม และตอนนี้เราไม่กล้านอนด้วยกันเลยครับ”
ความวุ่นวายของนิยามคำว่าครอบครัวในปัจจุบันนั้น จะมองให้ตลกก็ได้ จะมองให้เศร้าก็ได้ แต่ที่เป็นจริง ๆ ก็คือมันไม่เหมือนนิยามในอดีตที่มีแต่พ่อ-แม่-ลูก (หรืออาจเติมลุง-ป้า-น้า-อา-ปู่-ย่า-ตา-ยาย-อาก๋ง-อาม่า) อีกแล้ว และหากเรายังเชื่อกันอยู่ว่าครอบครัวคือรากฐานสำคัญของสังคมและประเทศชาติ การค้นหาความหมายของครอบครัวแบบใหม่ก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ต้องสำรวจกันต่อไป
In Love We Trust หนังจีนปี ๒๐๐๗ ที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเบอร์ลินน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งให้เราฉุกคิดถึงครอบครัวแบบใหม่ เรื่องมีอยู่ว่า เซี่ยวลู่ กับ เหมยจู๋ เคยแต่งงานและมีลูกด้วยกันคือ เหอเหอ แต่ปัจจุบันทั้งสองหย่ากันและมีครอบครัวใหม่เรียบร้อยแล้ว เซี่ยวลู่แต่งงานใหม่กับสาวรุ่นที่ชื่อ ต่งฟาน ส่วนเหมยจู๋มีสามีใหม่ชื่อ เหล่าเซี่ย เธอเป็นฝ่ายหอบลูกมาอยู่ด้วยและไม่ขอความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้นจากสามีเก่า
การหย่ากันในเมืองจีนนั้นมีสูงมากในระยะหลัง ๆ จึงเป็นเรื่องปรกติสำหรับเซี่ยวลู่และเหมยจู๋ ทั้งสองกำลังสร้างครอบครัวของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และแทบไม่ติดต่อกันเลย จนกระทั่งพบว่าเหอเหอนั้นป่วยหนัก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย แล้วหัวใจคนเป็นแม่น่ะหรือจะหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ นั่งมองลูกตายจากไป
ถ้าเป็นนางเอกหนังเรื่อง Dancer in the Dark๓ เธอก็จะทำงานเก็บเงิน ยอมตาบอด และแม้กระทั่งยอมตายเพื่อให้ลูกมีเงินไปรักษาดวงตาแทน ไม่ต้องห่วง เหมยจู๋ยังไม่ต้องทำถึงขั้นตาย วันหนึ่งคุณหมอทักขึ้นมาว่า “คุณมีลูกอีกคนรึเปล่า เพราะการปลูกถ่ายไขสันหลังของพี่น้องนั้นมีโอกาสสูงมากที่จะประสบความสำเร็จ” ว่าแล้วเหมยจู๋ก็เลยคิดขึ้นมาว่า ฉันจะตั้งท้องน้องสาวให้เหอเหอก็แล้วกัน เพื่อจะได้เอาไขสันหลังของเด็กคนนี้มาช่วยชีวิตเหอเหอ นั่นย่อมหมายความว่า เหมยจู๋จะต้องกลับมากล่อมให้เซี่ยวลู่กลับมามีลูกกับตัวเอง !
มันเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยชีวิตเหอเหอ แต่ขณะเดียวกันมันก็นำไปสู่คำถามใหม่ ๆ มากมาย ตั้งแต่ทั้งสองคนจะทำอย่างไรให้เด็กคนนี้เกิดมา ? (ไปลองผสมเทียมหรือจะมีเซ็กซ์กันจริง ๆ) แล้วภรรยาและสามีใหม่ของแต่ละฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร ? แล้วลูกที่เกิดมาใหม่นี้จะได้รับความรักหรือไม่ ในเมื่อการปฏิสนธิมีเป้าหมายเดียวคือต้องการอวัยวะ ? แล้วใครจะเลี้ยงเด็กคนใหม่นี้ ? เด็กคนใหม่นี้จะเรียกใครเป็นพ่อ ? และหากมองในแง่ศีลธรรม มันเป็นเรื่องถูกหรือผิดกันแน่กับการมีเซ็กซ์เพื่อสร้างอีกชีวิตเพื่อช่วยคนที่เรารัก ?
ที่สำคัญคือ เมื่อจีนยังใช้นโยบายลูกคนเดียวต่อ ๑ ครอบครัว ก็หมายความว่าหากเซี่ยวลู่ (หรือเหมยจู๋) รับเด็กที่กำลังจะเกิดมาใหม่นี้เป็นลูกประจำบ้าน ต่งฟาน (หรือเหล่าเซี่ย) ก็จะหมดสิทธิ์มีลูกของตัวเองไปด้วย เพราะเด็กคนใหม่นี้ได้ไปแทนที่สิทธิในการมีลูกประจำครอบครัวไปซะแล้ว หากต่งฟานหรือเหล่าเซี่ยอยากมีลูกที่มาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองจริง ๆ หนทางเดียวที่ทำได้ก็คือไปแต่งงานกับคนอื่น
จริงอยู่ที่หนังมีพล็อตเรื่องแข็งแรงมาก แต่เอาเข้าจริงก็เป็นหนังที่เน้นตัวละครมากกว่าพล็อต หรือที่เรียกกันว่า character study หนังเดินหน้าสำรวจตัวละครและคำถามที่พวกเขาต้องเจออย่างเป็นลำดับขั้นตอนจนรู้สึกได้ว่าคนทำหนังนั้นใจเย็นมาก จุดมุ่งหมายของหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าสุดท้ายเหอเหอจะตายหรือไม่ แม้กระทั่งจนจบเรื่องก็ยังไม่แน่ใจว่าความพยายามในการปฏิสนธิจะสำเร็จบ้างไหม แต่สิ่งที่สำเร็จแน่ ๆ คือการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทั้ง ๔ คนนี้มีการเสียสละอันยิ่งใหญ่อย่างไร หนังจึงเต็มไปด้วยฉากที่น่าจดจำ เช่นเหมยจู๋บอกเหล่าเซี่ยว่า เรื่องลูกของเธอคงลากให้ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ลงนรกแน่ ๆ ดังนั้นเธอจะไม่แปลกใจหรือถือโทษเลยหากเหล่าเซี่ยตัดสินใจหย่าขาดจากเธอ ณ เวลานั้น หรือฉากที่ต่งฟานผู้ถูกนำเสนอว่าเป็นนางร้ายมาตลอด อยากไปดูน้ำหน้าเหอเหอที่ป่วยว่าเป็นจริงอย่างไร ครั้นพอเธอไปก็ได้แต่อึ้งและค่อย ๆ ตระหนักเสียทีว่าตัวเองถูกลากให้มาเป็นผู้ร่วมกุมชะตากรรมของเด็กคนนี้ไปซะแล้ว รวมทั้งมีฉากน่าขันและขมขื่น เช่นตอนที่เซี่ยวลู่ซึ่งตอนกลางวันต้องไปโรงพยาบาลเพื่อบริจาคน้ำเชื้อ ตอนกลางคืนต้องกลับมานอนกับต่งฟาน แต่ด้วยวัยของเขาและเรื่องกลุ้มใจต่าง ๆ นานาก็แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของความเป็นชายในแบบที่เขาไม่คิดฝันว่าจะได้เจอมาก่อน
สิ่งที่ช่วยให้โครงเรื่องมีมิติในการตั้งคำถามมากขึ้นก็คือ ลักษณะของเมืองและอาชีพของตัวละคร ผู้กำกับจงใจถ่ายภาพมุมต่าง ๆ ของเมืองจนเรียกได้ว่าเมืองเป็นตัวละครที่ ๖ ของเรื่องเลยก็ว่าได้ (แม้กระทั่งภาพแรกของหนังก็ยังเป็นภาพแทนสายตาของผู้โดยสารรถแท็กซี่ที่ขับหาอพาร์ตเมนต์) เหตุการณ์ใน In Love We Trust นั้นเกิดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง แต่ผู้กำกับจงใจหลีกเลี่ยงสถานที่สำคัญหรือสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง แล้วเลือกถ่ายแต่บริเวณแฟลตที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแทน ในโลกโลกาภิวัตน์ เมืองทุก ๆ เมืองค่อย ๆ ถูกทำให้เป็นเมืองที่เหมือนกัน ปักกิ่งใน In Love We Trust ก็เช่นเดียวกัน มันไม่ได้ต่างอะไรจากเมืองอื่น ๆ ที่สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ไป
ความน่าสนใจก็คือการที่เราต้องเห็นตัวละครคนจีนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความสัมพันธ์แบบใหม่ ๆ ในเมืองหลวงของจีนแบบใหม่ และถ้าปักกิ่งในหนังเรื่องนี้กลายเป็นเมืองสากลที่คลับคล้ายกับเมืองอื่น ๆ ทั่วไป ก็ยิ่งย้ำให้เห็นว่าปัญหาครอบครัวสุดยุ่งเหยิงใน In Love We Trust นี้มิได้เป็นแค่เรื่องของคนจีนเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องสากลที่เกิดขึ้นได้ในทุกมุมโลก เราอาจจะโยนปักกิ่งในหนังเรื่องนี้ทิ้งแล้วเปลี่ยนฉากเป็นนิวยอร์ก โตเกียว ลอนดอน กรุงเทพฯ ก็ได้ทั้งสิ้น ที่พ้องกันโดยไม่ได้นัดหมายก็คือ My Sister’s Keeper๔ หนังฮอลลีวูดที่ฉายในอเมริกาปีนี้ก็มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับ In Love We Trust เช่นกัน โดย คาเมรอน ดิแอซ รับบทเป็นคุณแม่ลูกสอง ลูกสาวคนแรกป่วยหนัก ส่วนลูกสาวคนที่ ๒ เป็นเด็กอายุ ๑๑ ขวบที่มีหน้าที่ต้องบริจาคสิ่งต่าง ๆ ให้พี่สาว ตั้งแต่เลือด ไขสันหลัง สเต็มเซลล์ จนราวกับแม่ตั้งท้องเธอขึ้นมาแค่เพื่อช่วยลูกสาวคนแรกเท่านั้น และเมื่อแม่บังคับให้เธอบริจาคไตให้แก่พี่สาว เธอจึงตัดสินใจยื่นฟ้องพ่อแม่ตัวเอง (เห็นไหมว่าครอบครัวสมัยใหม่วุ่นวายกันขนาดไหน !)
ส่วนอาชีพของตัวละครนั้นก็ถูกกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับโลกโลกาภิวัตน์อย่างจงใจ (จนเกินไปรึเปล่า) สามีเก่าทำงานเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้าง ซึ่งดูเหมือนตึกที่เขากำลังสร้างอยู่ก็ไม่มีวี่แววจะเสร็จเสียที ฝ่ายภรรยาก็ทำงานเป็นเซลส์ขายอพาร์ตเมนต์ คล้าย ๆ แอนเนตต์ เบนิง ในหนัง American Beauty และเธอก็ขายบ้านไม่ได้เสียทีเช่นกัน การสร้างตึกและการขายบ้านก็คล้ายคลึงกับสภาพครอบครัวที่ทั้งสองกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งยังหาจุดลงตัวไม่ได้ หนำซ้ำหนังยังโยงให้ฉากไคลแมกซ์เกิดขึ้นในอพาร์ตเมนต์โล่ง ๆ ฝ่ายสามีใหม่ทำอาชีพอะไรไม่สำคัญ เพราะดูเหมือนเขาทิ้งทุกอย่างแล้วทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านเพื่อดูแลลูกเลี้ยง ส่วนภรรยาใหม่นั้นหนังออกแบบให้เธอเป็นแอร์โฮสเตส อาชีพโลกาภิวัตน์ที่ต้องบินไปบินมาหาจุดลงไม่ได้เช่นกัน ตัวละครนี้น่าสนใจมาก ๆ ตรงที่เธอยังเป็นสาวอายุ ๒๐ กว่า ๆ เธอเป็นเหมือนตัวแทนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีความฝันแบบชนชั้นกลางรุ่นเดียวกัน คือมีเงิน มีผัว มีลูก แฮปปี้เอนดิ้ง แต่การไขว่คว้าหาอุดมคติของเธอก็สั่นคลอนอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้
หวังเสี่ยวซ่วย
In Love We Trust เป็นผลงานของหวังเสี่ยวซ่วย ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังสำคัญกลุ่ม “ผู้กำกับภาพยนตร์จีนรุ่นที่ ๖“ ลักษณะเด่นของกลุ่มนี้คือเป็นคนทำหนังจีนรุ่นกลางที่ได้รับชื่อเสียงและคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังดัง ๆ ระดับโลก แต่ได้รับความนิยมในประเทศจีนระดับเล็กน้อย เนื้อหาภาพยนตร์ส่วนใหญ่พูดถึงสังคมร่วมสมัย ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับผู้กำกับภาพยนตร์จีนรุ่นที่ ๕ อย่างจางอี้โหมวหรือเฉินข่ายเกอ ที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะในระยะหลัง ๆ ผู้กำกับรุ่นใหญ่เหล่านี้หันมาทำหนังฟอร์มยักษ์ และเพิกเฉยกับการวิพากษ์ชีวิตร่วมสมัยของคนจีนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด
In Love We Trust เป็นหนังอารมณ์กลางๆ ที่มีความจงใจต่างๆ นานามากไปนิด แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นงานที่ยังสื่อสารกับคนวงกว้างได้อยู่ นี่เป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวของหวังเสี่ยวซ่วย เพราะคนทำหนังรุ่น ๖ คนอื่นนั้นมีความแตกต่างออกไป เช่น เจี่ยจางเคอ (เจ้าของงานอย่าง The World, Still Life) เป็นพวกมีสุนทรียศาสตร์สูงจนคนดูทั่วไปเข้าถึงยาก ส่วนโหลวเย่ (Summer Palace, Spring Fever) เป็นหนุ่มโรแมนติกที่มักทำหนังล่อแหลมจนโดนทางการแบนอยู่บ่อย ๆ
หนังของหวังเสี่ยวซ่วยเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตั้งคำถามและสำรวจปัญหา พยายามใช้สไตล์ไม่ง่ายและไม่ยาก แต่ไม่ได้ให้คำตอบหรือหนทางคลี่คลายว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สาเหตุที่ไม่มีคำตอบก็อาจเป็นเพราะสังคมยังไม่มีคำตอบ และการหาบทสรุปให้กับประเด็นอย่างนี้ก็อาจเป็นเรื่องฝันเฟื่องเลื่อนลอยจนทำให้คนดูสบายใจ ถ้าปัญหาของตัวละครได้รับการแก้ไขอย่างสำเร็จเสร็จสิ้น ผู้ชมก็เดินออกจากโรงหนังโดยไม่ต้องเก็บอะไรมาครุ่นคิดมากนัก ซึ่งจะทำให้ความคิดที่พยายามสื่อสารสะดุดลงหรือถึงขั้นหายสาบสูญหลังจากหนังจบลง
ขอขอบคุณ : คุณปรีดา อัครจันทโชติ ช่วยถอดเสียงทับศัพท์ภาษาจีนของชื่อตัวละครและชื่อผู้กำกับภาพยนตร์
๑ ครอบครัวในความหมายใหม่ : การค้นหาวิถีชีวิตแบบใหม่ เขียนโดย อลิซาเบธ เบคเกอร์นส์เฮม แปลโดย วารุณี ภูริสินสิทธิ์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๕๐
๒ Web Therapy เป็นละครสั้นออนไลน์ที่มี ลิซา คุดโรว์ สาวฮาจากซีรีส์ Friends มารับบทเป็นจิตแพทย์สุดขี้เกียจที่ให้เวลาคนไข้ระบายความทุกข์เพียง ๓ นาที แถมในระหว่างนั้นเธอยังชอบตัดบทพวกเขาอีกด้วย ใครสนใจดูได้ฟรี ๆ ที่ www.lstudio.com หรือ www.youtube.com โดยค้นหาว่า web therapy
๓ Dancer in the Dark หนังเพลงสุดรันทดของผู้กำกับ ลาร์ส วอน ทรีเยร์ นำแสดงและประพันธ์บทเพลงโดย บียอร์ก
๔ My Sister’s Keeper กำกับโดย นิก คาสซาเวทีส์ นำแสดงโดย คาเมรอน ดิแอซ และหนูน้อย อบิเกล เบรสลิน เข้าฉายในอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา