ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
ช็อต : ภาพที่เกิดจากการถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มถ่ายไปจนหยุดการเดินกล้อง
๓๖ : จำนวนมาตรฐานของช็อตใน ๑ ม้วนฟิล์มกล้องถ่ายรูปคือ ๓๖ รูป
“บางอย่างพอไม่มีรูปแล้ว ก็เหมือนมันไม่เคยมีอยู่จริงเลย”
> เป็นประโยคจากภาพยนตร์เรื่อง 36 ที่ถูกใช้เป็นหลักในการประชาสัมพันธ์ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับภาพยนตร์ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ถ่ายทำเพียง ๓๖ ช็อต เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ทราย หญิงสาวที่ทำงานจัดหาสถานที่ให้กับกองถ่ายหนัง กับ อุ้ม ชายหนุ่มอาชีพกำกับศิลป์ที่เคยทำงานด้วยกันช่วงสั้น ๆ จุดเปลี่ยนของภาพยนตร์เกิดจากฮาร์ดดิสก์แบบพกพาซึ่งใช้เก็บภาพนิ่งพังลง และนำไปสู่ประเด็นร่วมสมัยอันว่าด้วยรอยต่อของเครื่องช่วยบันทึกภาพที่เปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มสู่ยุคดิจิทัลซึ่งล้วนมีผลกับความทรงจำของผู้คนแตกต่างกัน…
> หนังเล็ก ๆ ความยาวเพียงชั่วโมงเศษ ๆ เรื่องนี้สร้างความแปลกใจให้หลายคนในปีที่ผ่านมา เพราะนวพลเลือกจัดจำหน่าย-ฉายหนังด้วยวิธีต่างไปจากกระบวนการปรกติ แทนที่จะนำไปเสนอกับผู้จัดจำหน่ายเพื่อฉายทั่วประเทศ เขากลับเปิดให้จองบัตรทางอีเมล ประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง ทั้งทำโปสเตอร์ สร้างหน้าเพจบนเฟซบุ๊ก แจกของแถมสำหรับผู้จองบัตร และเริ่มฉายครั้งแรกที่หอศิลป์กรุงเทพฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมพูดคุยซักถามอย่างเป็นกันเอง ตามมาด้วยการฉายแบบวงจำกัดเช่นนี้อีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่เพียงไม่ขาดทุน ตัวหนังยังได้รับการพูดถึงเป็นกระแสแบบปากต่อปากบนโลกออนไลน์ จนทำกำไรคืนทุนได้ตั้งแต่รอบแรก ๆ ที่ฉายเสียด้วย
> 36 คว้ารางวัลจากหลายเทศกาลหนัง เช่น รางวัล New Currents Award (ผู้กำกับหน้าใหม่) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในเทศกาล ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Kayan จากประเทศเลบานอน และรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยครั้งที่ ๓
> นวพลจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างชื่อจากการทำหนังสั้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียน เช่น ฝรั่งเศส (๒๕๕๒ – รองชนะเลิศรางวัล รัตน์ เปสตันยี งานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ ๑๓), เชอรี่เป็นลูกครึ่งเกาหลี (๒๕๕๓ – ชนะเลิศรางวัล รัตน์ เปสตันยี งานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ ๑๔) งานของเขามักถ่ายแบบเรียบง่าย เคลื่อนกล้องและตัดต่อไม่มาก มักหยิบยกประเด็นเล็ก ๆ ที่หลายคนนึกไม่ถึงหากก็สื่อสารกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาไม่น้อยคือ มั่นใจว่าคนไทยเกิน ๑ ล้านคนเกลียดเมธาวี (๒๕๕๓) หนังสั้นตอนหนึ่งที่เขากำกับให้รายการบันทึกกรรม ซึ่งสะท้อนปัญหาในสังคมออนไลน์ผ่านเหตุการณ์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
> ด้วยอายุ ๒๙ ปี นวพลมีผลงานมาแล้วหลากหลายด้าน เขาเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ เขียนคอลัมน์ในนิตยสาร a day มีพ็อกเกตบุ๊กตีพิมพ์หลายเล่ม ด้านกิจกรรมเขาร่วมกับ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เพื่อนนักวิจารณ์ภาพยนตร์ตั้งกลุ่ม Third Class Citizen จัดรายการวิทยุออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นชุมชนให้แก่ผู้คนในแวดวงหนังสั้น และจัดฉายหนังในโอกาสต่าง ๆ รับงานประชาสัมพันธ์ให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง เป็นอาจารย์พิเศษในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเขายังมีงานในเชิงพาณิชย์ทั้งในฐานะคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (๒๕๕๒) Top Secret วัยรุ่นพันล้าน (๒๕๕๔) และ 14 ตอนหนึ่งจากเรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน (๒๕๕๕) กำกับภาพยนตร์ขนาดสั้นในรายการโทรทัศน์ และกำกับมิวสิกวิดีโอ
> นวพลคลุกคลีอยู่ทั้งแวดวงหนังอิสระและหนังพาณิชย์ที่เขาเองเรียกง่าย ๆ ว่าหนัง “อินดี้” กับหนัง “แมส” การเลือกฉายหนังด้วยวิธีคิดใหม่ ๆ ของเขาจึงไม่ใช่เพียงแค่การหวังผลลัพธ์ทางรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า การหาพื้นที่ตรงกลางให้วงการภาพยนตร์ไทยอีกทางหนึ่ง ทั้งในแง่การสร้างรายได้ และทลายกรอบที่เคยมีในวงการภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์เรื่อง 36 คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
ถ้าย้อนไปจริง ๆ ก็ตั้งแต่ตอนผมไปเทศกาลหนังที่เบอร์ลินแล้วครับ โฮสเทล ที่ผมไปพักจะมีบอร์ดสำหรับเขียนนัดหมายกัน มีข้อความหนึ่งที่แอนดรูว์เขียนถึงอเล็กซ์ว่า “Alex, I left your memory at the counter, take care” มันคือเมโมรีการ์ดนั่นแหละ แต่ผมรู้สึกกับคำคำนี้ “ฉันทิ้งความทรงจำไว้ที่เคาน์เตอร์นะ” แต่ตอนนั้นยังคิดอะไรต่อไม่ได้มากเท่าไหร่ แค่ชอบประโยคนี้ แล้วมันเป็นช่วงที่คนยังไม่ได้มีฮาร์ดดิสก์ ไม่ได้มีทัมบ์ไดรฟ์เยอะขนาดนี้ เวลาผ่านไปหลายปีผมก็ยังคิดถึงประโยคนี้อยู่ จนช่วงหลังมีของพวกนี้เยอะขึ้น ฮาร์ดดิสก์มี ๕-๖ ลูกเพราะต้องใช้ตัดต่องาน มีรูปดิจิทัลเก็บไว้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ก็รู้สึกกับมันมากขึ้น ผมเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ยังไม่มีใครเล่น ก็ลองทำดูดีกว่า แต่ผมไม่อยากทำเป็นประเด็นซีเรียส ถ้าคนอื่นทำอาจจะโยงกับประวัติศาสตร์ แต่ผมอยากเล่าด้วยท่าทีของหนังรัก ทำแบบนี้อาจจะเข้ากับผมมากกว่า
ฟิล์มกับดิจิทัลในมุมมองของคุณต่างกันอย่างไร
จริง ๆ มันก็แค่สื่อบันทึก ฟิล์มอาจจะดีตรงที่เป็นรูปธรรมกว่า ถ้าเราอัดมาเราอาจทำหาย หรือบ้านไฟไหม้ น้ำท่วมแล้วเสียไป แต่ดิจิทัลแค่วางอยู่ดี ๆ วันหนึ่งก็อาจไปเลย แผ่นเจ๊งก็เจ๊งเลย ไม่มีสาเหตุอะไรทั้งนั้น เปราะบางมาก แล้วเดี๋ยวนี้เราก็ถ่ายรูปดิจิทัลกันซึ่งมันคือการฝากความทรงจำ คือเวลาเราถ่ายน่ะเราจำไม่ได้หรอก เราก็แชะ ๆ ๆ ๆ เรารู้สึกอุ่นใจที่ถ่ายกี่ครั้งก็ได้ แล้วเราก็ฝากความทรงจำไว้ในนี้ เพราะฉะนั้นจะมีหลายครั้งที่แบบ…“รูปนี้เราถ่ายด้วยเหรอวะ ทำไมเราถ่ายรูปนี้” เรื่องนี้น่าสนใจ มันเป็นพฤติกรรมของยุคดิจิทัลด้วยที่คนมีวิธีคิด มีวิธีถ่ายรูปแบบนี้
ถ้าเป็นฟิล์มคนจะถ่ายรูปน้อย และตั้งใจถ่ายกว่านี้ ?
ใช่ครับ ตอนเป็นฟิล์มมันแพงไงครับ ม้วนละ ๖๐-๗๐ บาท ค่าล้างก็รูปละ ๓ บาท มันเลยห้ามมั่ว ห้ามถ่ายเล่น คนถ่ายจะเล็งเยอะมาก การถ่ายรูปมีเหตุผล มีความสำคัญมาก การที่เราเล็งนานขนาดนั้นจะช่วยให้เราจำได้ว่าทำไมเราต้องกดถ่ายภาพนี้ ในขณะที่ดิจิทัล “เออ รูปนี้สวยดี แชะ”…จบ ผ่านไปไม่กี่วันก็จำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำเราถ่ายรูปนี้ทำไม
ใน 36 คุณอุทิศยุคสมัยให้กับฟิล์มด้วย
เพราะผมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของทั้งสองอย่าง ผมรู้สึกว่ารุ่นผมอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของทุกอย่างเลย อย่างโรงเรียนปีที่ผมเรียนจบจะมีสระว่ายน้ำ ห้องเรียนจะติดแอร์ ผมจะอยู่ทันยุคที่ถ่ายรูปด้วยฟิล์ม ทันยุคดิจิทัลมาแรก ๆ ผมซื้อกล้องดิจิทัลเร็วมากตั้งแต่ตอน ม. ๖ ตอนนั้นไม่มีใครมี ผมซื้อรุ่น A20 จนตอนนี้มีถึงรุ่น A80 แล้ว ตอนนั้นยังเป็นยุคที่ทุกคนสงสัยว่านี่คืออะไร ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ ผมรู้สึกและเห็นมันทั้งสองฝั่งครับ เมื่อเวลาเปลี่ยนไปเราก็ไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก ฟิล์มก็จะหายไป เหลือแต่ยุคดิจิทัล ผมเองตอนนี้ก็อยู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่า แล้วเราจะดำรงความทรงจำที่เปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มมาอยู่ในยุคนี้ได้อย่างไรแค่นั้นเอง
แล้วเราจะดำรงความทรงจำอยู่ในยุคดิจิทัลที่มีภาพหรือข้อมูลจำนวนมากแบบนี้อย่างไร
บางอย่างที่เราจำได้มันจะจำได้ มันจะไม่ขึ้นอยู่กับสื่อ มันขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกกับสิ่งนั้นมากแค่ไหน ความทรงจำของคนขึ้นอยู่ที่ตัวคนเอง เพียงแต่ถ้าอยู่ในยุคฟิล์มเราอาจจะจำมันได้เยอะกว่า ในชีวิตของคนคนหนึ่งสิ่งต่าง ๆ เข้ามาหาเราเยอะมาก ข่าวบางข่าวเข้ามา มาเร็วไปเร็วมาก สุดท้ายคนเราก็จำอะไรไม่ได้หมด เราก็จะจำในสิ่งที่เราอยากจำอยู่ดี ต่อให้มีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม
36 ใช้ทุนสร้างและกระบวนการทำงานทุนต่ำแบบนี้ได้อย่างไร
หนังเรื่องนี้ใช้เงินไปประมาณ ๘ แสนบาทครับ คือตอนแรกผมให้ค่าตัวทีมงานต่ำกว่ามาตรฐาน แต่พอฉายที่โรง House RCA ได้กำไรแล้ว ผมก็ให้เพิ่มด้วยอัตราค่าแรงที่ผมเพิ่มไปอีกเท่าหนึ่งจากของเดิม เพราะผมรู้สึกว่าคนทำหนังอินดี้ไม่ควรเหนื่อยกันขนาดนี้ ไม่อยากจะ “เออ ช่วย ๆ กันหน่อย” มันพอแล้ว เราทำหนังฉายเก็บเงิน ไปกดค่าแรงมาก ๆ มันก็ไม่แฟร์ พอได้ส่วนนี้แล้ว ผมแบ่งให้คุณเพิ่มในฐานะที่คุณช่วยผมตั้งแต่แรก ผมอยากให้คนทำงานมีกำลังใจมากขึ้น คือตอนเริ่มถ่ายทำผมรู้ว่าผมให้เขาน้อย ก็ใช้เขาน้อย ประชุมไม่กี่วันก็ลุยเลย อย่างที่บอกว่านี่คือการทำให้มันเล็ก แต่ทำแบบนี้ก็จะเหนื่อยเพราะตำแหน่งอะไรที่ไม่มีคนทำผมก็จะทำเองทั้งหมด
ทำไมคุณถึงเลือกวิธีการจัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ด้วยตนเอง
ได้แนวคิดมาจากต่างประเทศครับ ตอนที่ผมไปเทศกาลหนังที่เบอร์ลินก็ไปเจอกลุ่มฝรั่งที่เขาบอก “โอ้ เราจัดจำหน่ายเองนะ” ตอนนั้นยูทูปก็ยังไม่บูมขนาดนี้ วิธีการของเขาจะแรง ๆ เช่น หนังผีก็จะมีการสุ่มโทร. ไปตามบ้านคน ตอนนั้นผมก็ฟัง ๆ ไว้แต่คิดว่าคงจะไม่ใช้วิธีแรง ๆ แบบนั้น มันแค่ทำให้รู้ว่ามีวิธีการอื่นในการเข้าถึงคนดูอยู่นะ ถ้าทำออกมาดีก็อาจจะเวิร์กนะ
ทำไมคุณถึงเลือกไปฉายสถานที่อื่นนอกโรงภาพยนตร์ก่อน
คิดตามกำลังที่เรามีครับ ลืมไปได้เลยเรื่องโรงหลัก…ยาก ก็เริ่มแบบง่าย ๆ ก่อนดีกว่า อย่างซื้อโลเกชั่นสยาม คนดูมาได้ชัวร์ ผมก็คิดว่าให้มาง่ายก่อนน่าจะดีกว่า คือผมไม่เชื่อว่าหนังเราเป็นหนังดีแล้วเราฉายท่าพระ ฉายสมุทรปราการ ฉายสำโรงก็ได้ โอ…ใครจะไปดู แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ถ้าจะจัดฉายที่ไหนต้องใกล้ สะดวก พาหนะควรจะไปถึง มันคือการเข้าหาคนดูไปในตัว เราอยากให้เขามาดูงานเรา เราก็เดินไปหาเขาก็ได้นะสักครึ่งทาง ผมก็เลือกหอศิลป์กรุงเทพฯ ห้องเล็กหน่อย คนดูคงไม่ว่ากัน เพราะเราทำให้หนังฟอร์มเล็กอยู่แล้ว เขาคงไม่ได้คาดหวังว่าทำไมไม่มี Honeymoon Seat ผมคิดว่าถ้าเราสื่อสารกันดี ๆ มันไม่มีปัญหาครับ 36 มันตอบตรงนี้ ถ้าเราไปบอกเขาว่าหนังเราคือหนังทางเลือกสุดยิ่งใหญ่ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นประดิษฐกรรม มันจะเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ เรารู้สึกว่าหนังเราไม่ได้ยากมาก จริง ๆ ก็ทำให้หนังมีปัญหาเหมือนกันเพราะบางคนก็บอกว่าหนังเบาไป ทำไมไม่เห็นลึกซึ้ง แต่สำหรับคนที่ดูหนังแมสมาก ๆ เขาก็รู้สึกว่ามันอินดี้อยู่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนดูหนังกลาง ๆ ที่ดูหนังที่เฮาส์ ที่ลิโด แล้วเขาโอเคกับสิ่งเหล่านี้ ก็พยายามสื่อสารว่าเนื้อหนังเป็นแบบนี้นะครับ เราไม่ได้ปิดป้ายเทศกาลหนัง ไม่ได้รางวัลปาล์มทองคำ คือมันไม่มีโอกาสจะได้ด้วยเพราะเราฉายรอบแรกที่นี่ เพราะเราอยากให้หนังมันออกนอกวงจรของหนังอิสระดู ที่ปรกติต้องไปเปิดตัวที่เทศกาลก่อน
ผมรู้สึกว่าหนังไปวนอยู่เทศกาลต่างประเทศตั้งปีกว่าจะกลับมาฉายที่เมืองไทย ส่วนตัวหนังที่ผมทำค่อนข้างเป็นไทย มันจะพูดกับคนไทยได้มากกว่าคนต่างประเทศ เวลาผมทำหนังสั้นฉายต่างประเทศจะรู้เลยพอหนังพูดมาก ๆ ฉากที่เห็นว่าตลกมาก ๆ คนดูที่นั่นไม่ตลกเลย ก็เลยอยากให้คนไทยดูก่อน เพราะเป็นหนังที่คนไทยจะเข้าใจมากกว่า ช่วงนั้นมีเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิซติดต่อมาพอดี แต่ผมระบุวันฉาย 36 ที่เมืองไทยไปแล้ว ทางเวนิซยังไม่ได้ดูแต่เขาบอกว่าถ้าคุณฉายที่เมืองไทยก่อนคุณจะฉายกับเราไม่ได้แล้วนะ ผมก็ฉาย จบ. (หัวเราะ) เพราะถ้าไม่ตัดสินใจฉายเดี๋ยวมันจะกลับไปวงจรเดิมน่ะครับ คือไม่ได้ทดลองลักษณะการฉายในรูปแบบใหม่ ๆ ก็จะเป็นคำถามที่คาใจครับว่าเราทำแบบนี้ได้หรือเปล่า ในเมื่อจั่วหัวมาอย่างนี้แล้วจะดีจะชั่วก็ค่อยว่ากันไป
คุณได้ศึกษามาก่อนหรือเปล่าว่าระบบการฉายปรกติทั่วไปไม่เหมาะกับหนังของคุณอย่างไร
คือผมคิดเล็กอยู่แล้วครับ คือตอนที่ผมทำไม่ได้คิดว่าจะเป็นหนังยาวนะครับ แค่ ๕๐ นาที ทำไปทำมายาวก็ปล่อยเลยตามเลย แต่ผมอยากทำเหมือน SMEs คือง่าย ๆ คอนโทรลได้ทั้งหมด เพราะว่าผมไม่มีกำลังพิมพ์ฟิล์มหรือทำ DCP๑ ได้ คือลืมไปได้เลย เพราะไม่มีเงิน ผมทำให้เล็กดีกว่า แล้วมันจะไม่เหนื่อยด้วย เพราะแค่ติดต่ออะไรก็เหนื่อยแล้ว พอไปโรงใหญ่ก็คงมีกฎระเบียบเยอะกว่านั้น ผมก็เลยเอาง่าย ๆ จัดฉายในวงที่ผมพอจะทำได้ แล้วฉายให้ดีในแบบเล็ก ๆ ของเรา ซึ่งก็เป็นหลักการตอนทำหนังด้วยคือทำในขนาดที่มันเล็ก ๆ
ในนิยามของคุณ คุณมักบอกว่าหนังแมสกับหนังอินดี้ จริง ๆ แล้วไม่ได้ต่างกันมาก
ไม่ได้ต่างครับ แค่เป็นไปตามเนื้อหา เหมือนเขียนหนังสือเครียดคนอ่านน้อย เขียนหนังสือสนุกตลกมากคนก็อ่านเยอะ สำหรับผมเป็นธรรมชาติคนอยู่แล้ว และคนดูแต่ละที่ก็จะมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน คนจะชอบตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ! ทำไมหนังอินดี้เรื่องนี้ในอเมริกาคนดูเยอะล่ะ ? แต่พอไปเทียบกับสัดส่วนจริงก็จะไม่เยอะ คนดูหนังแบบ Transformers เยอะกว่าหนังของฮาเนเก๒ อยู่แล้ว มันโคตรปรกติ เพียงแต่มันมีจำนวนคนที่ทำให้หนังแบบฮานาเกได้เงินกลับมา เหมือนอเมริกามีกรุงเทพฯ ๗ ที่ แต่เรามีกรุงเทพฯ ๑ ที่ ซึ่งพอมีกรุงเทพฯ ๗ ที่แบบนั้น ก็ฉายวนไปเรื่อยได้ ๆ คนก็ให้การตอบรับดี มันก็จะคืนทุนจนทำหนังแบบนั้นได้ พูดง่าย ๆ คนทั่วไปชอบบันเทิงมากกว่าเครียด แต่หนังมันก็ควรจะมีเนื้อหาที่หลากหลาย
ไม่ว่าเราจะทำเนื้อหาแบบไหน ในมุมของคุณหนังแบบนั้นก็ควรจะมีพื้นที่ของมันให้อยู่รอดได้
คือเนื้อหาบางประเภทเราจะรู้กันอยู่แล้วว่าคนจะไม่สนใจมาก มันโทษคนดูไม่ได้ว่า “ทำไมไม่มาดู ?” อย่างเราทำ 36 เรารู้อยู่ว่าเนื้อหาหลักของหนังมันเล็ก ก็ต้องหาทางให้คนกลุ่มที่สนใจประเด็นนี้มาดูหนังเราทั้งหมด มันไม่ใช่แบบ “ป้าทำไมไม่มาดูหนังผมครับ…” ป้ามาดูหลับชัวร์ ป้าไม่มาดูน่ะดีแล้ว แต่ถ้าป้าอยากลองก็โอเค้ ผมไม่ถึงขั้นกีดกันบอกว่าหนังผมดูยาก ผมพยายามจะละลายพวกเส้นกลางครับ ทุกวันนี้แบ่งเขตแบ่งแดนกันแล้วมันน่าเบื่อ หนังอะไรมันก็คือหนังน่ะ (หัวเราะ) มันแค่คุณสนใจจะดูเรื่องนั้นหรือเปล่า ทำออกมาแล้วหนังคุณเวิร์กหรือเปล่า อินดี้กับแมสก็แค่เนื้อหาคนละประเภทแค่นั้นเอง
คนมักตัดสินไปก่อนแล้วว่าหนังอะไรดูง่ายหรือดูยาก
ใช่ครับ เช่นหนังไปฉายลิโด คนมักตัดสินไปก่อนว่า “โอ หนังเข้าโรงเดียว…ดูยากชัวร์” เอ่อ…ปาดังเบซาร์ ๓ ก็ไม่ได้ดูยากขนาดนั้นนะแต่ในขณะเดียวกันก็ควรให้สิทธิ์คนดูด้วยว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร เรื่องไหนดูแล้วหลับก็ต้องหลับแหละ ไม่ใช่ “โอ้ย โง่ ดูไม่รู้เรื่องเอง”…เขาง่วงอาจจะเป็นความผิดของมึงก็ได้นะ (หัวเราะ) มึงอาจจะทำห่วยก็ได้นะ ไปโทษเขาทำไม คนชอบมากเกลียดมากก็ปน ๆ กันไป มันแค่ว่าดูแล้วเรารู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ว่าฉันชอบไอ้นี่ แล้วต้องไปชอบไอ้นั่นด้วย ไม่ใช่ว่าฉันต้องชอบเพราะเพื่อนชอบ ฉันต้องชอบเพราะได้รางวัลที่เมืองคานส์ คุณจะชอบ ATM เออรัก เออเร่อ ก็ได้ คุณจะฟัง บ๊อบ ดีแลน แล้วคุณจะชอบเพลงของกามิกาเซ่ก็ได้ การที่เราไปตั้งขีดตั้งเกณฑ์มันเหนื่อยเปล่า ๆ มันปิดโลกเราเองโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ชอบมันก็ไม่ชอบ ไม่จำเป็นต้องไปบอก “ไอ้พวกที่ชอบแบบนี้ไม่รู้มันคิดอะไรของมัน” มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น
จากการได้ร่วมงานเขียนบทกับ GTH ซึ่งเป็นบริษัทผู้สร้างหนังไทยอันดับต้น ๆ ได้ประสบการณ์อะไรบ้าง
ผมได้จากที่นี่เยอะเลยครับ แต่ก่อนคิดแบบเด็ก ๆ กลัวว่าจะโดนครอบงำ ทั้งที่ก็ไม่เคยเข้าไปทำ คนนอกก็พูดกันไป…ก็ลองดูแล้วกัน พอเข้าไปทำเขาไม่ได้สอนด้วยความสัมพันธ์แบบเด็กฝึกงานกับนายจ้าง ไม่ได้ปล่อยทิ้งขว้าง พวกวิธีคิดสื่อสารกับคนก็ได้จากที่นี่เยอะ อย่างการตัดตัวอย่างหนังแบบไหนที่คนดูเข้าใจ คนดูไม่เข้าใจ มันก็นำมาใช้ได้ 36 คือส่วนผสมระหว่างแมสกับอินดี้ ผมถ่ายทำ ๓๖ ช็อต แต่ตัวเนื้อเรื่องก็อยากให้สื่อสารได้กับทั้งสองฝั่ง ผมพยายามทำให้ฝั่งแมสทำความเข้าใจฝั่งอินดี้ด้วย และอยากทำให้ฝั่งอินดี้ทำความเข้าใจฝั่งแมสด้วยว่า มันไม่ได้ต่างกัน มันไม่ได้ ๒ โลกขนาดนั้นครับ มันก็เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ว่าพอเราไปตีกรอบก็ดูคนละทิศคนละทางคนละที่ ดูเป็นฝั่งตรงข้ามกัน
ด้วยความที่การถ่ายทำหนังยุคปัจจุบัน ถ่ายทำด้วยดิจิทัล ทำง่าย ดูเหมือนไม่ได้ใช้ความพยายาม คุณจะตอบคำถามคนที่มองแบบนี้อย่างไร
แล้วแต่คนเลยครับ หนังสำหรับผมนะ ณ ศตวรรษนี้ ๕ นาทีใน YouTube ก็ใช่แล้ว ผมขี้เกียจไปจำกัดแล้วว่าตกลงหนังคืออะไร เหมือนกับคำว่าศิลปะคืออะไร ผมแค่รู้สึกว่ามันคือภาพเคลื่อนไหว ถ้าแบ่งอย่างนั้นเราก็ต้องแบ่งอีกว่าหนังทดลองใช่หนังไหม ? ผมไม่สนใจว่าระหว่างทางคุณพากเพียรมายังไง โปรดักชันจะห่วยขนาดไหน ดูแล้วเราตลกมากก็จบ พูดตามตรงความสนใจของคนยุคนี้ไม่ได้อยู่กับหนังแล้วครับ มันมีความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่คนมีความสุขกับการดูคลิป ๕ นาที เทคโนโลยีมันเปลี่ยน ฐานอำนาจในการทำหนังก็เปลี่ยนด้วย ผมมีไอโฟนก็ถ่ายได้แล้ว อัดเสียงก็ไม่แย่ดีกว่ากล้องสมัยก่อนที่ผมมีอีก หนังบางเรื่องต้องการงานสร้างที่ดีให้เข้ากับเรื่อง แต่สิ่งที่คนดูสนใจมากกว่าคือ “เรื่อง” หนังจะพูดอะไร สุดท้ายคนเราดูหนังเพื่อจะได้กลับไปคิด เราดู Transformers ก็ตั้งคำถามแล้วว่ามันจะยิงกันทำไม กับไอ้คลิปบ้า ๆ บอ ๆ ตลกมากคนกดดู ๆ ๆ คุณค่ามันไม่ต่างกันนะครับ คือหนังไม่ได้วัดด้วยเรื่องโปรดักชัน สำหรับผมทำเล็กได้ แต่อย่าทำให้เละ มันอยู่ที่ว่าเราทำให้เล็กแล้วมันโอเคหรือเปล่า ดูที่เนื้อหาดีกว่า
ในบันทึกกรรมตอน มั่นใจว่าคนไทยเกิน ๑ ล้านคนเกลียดเมธาวี กับตอนหนึ่งใน รัก 7 ปี ดี 7 หน ซึ่งคุณเขียนบทมีประเด็นเกี่ยวกับสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทำไมถึงสนใจเรื่องนี้มากนัก
ผมเป็นคนเล่นเฟซบุ๊กเยอะอยู่แล้ว ก็จะได้เห็นอะไรเยอะพอสมควร อย่างใน เมธาวีฯ ก็จะเป็นช่วงการเมืองตูมตาม มีความเห็นเต็มไปหมด ไม่รู้แล้วอะไรจริงไม่จริง ผมว่าโลกเรามีอะไรใหม่ ๆ เพราะเทคโนโลยี ยุคที่เหมือนเราจะไม่มีอะไรแล้วอยู่ดี ๆ มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาแล้วคนก็เปลี่ยน หรือมีมือถือเข้ามา มีเฟซบุ๊กเข้ามาความสัมพันธ์คนก็เปลี่ยน เออ…มันแจ๋วดีที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เอาเข้าจริงมันคือโลกปัจจุบันที่เดี๋ยวนี้คนติดต่อกันแบบนี้หมดแล้ว คนใช้ไอโฟนกันหมดแล้ว มันน่าสนใจดีที่เห็นพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่มันพัฒนา
คุณมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์สมัยใหม่ที่มีความเห็นเต็มไปหมด และมีทั้งจริงและไม่จริง หรือการแสดงความเห็นทั้งชื่นชมและด่าทอคนที่เราไม่รู้จักอย่างไร
ถ้าเรื่องความเห็นหลากหลายในเฟซบุ๊ก แง่หนึ่งมันก็ดีที่เราได้เห็นรอบ ๆ ด้านก่อนตัดสินใจ แต่สุดท้ายแล้วผมว่าคนเราต้องเชื่ออะไรสักอย่างอยู่แล้วครับ มันจะไม่มีกลาง ๆ อาจจะไม่สุด แต่ก็จะเอียงไปทางนี้ คนเราอยู่ได้ด้วยความเชื่อประมาณนึงครับ กว่าจะตัดสินใจเราอาจประมวลข้อมูลจาก ๑๐๐ ข้อมูลมาแล้ว แต่…๑. เราต้องดูและฟังคนอื่นด้วย ๒. เขาคิดไม่เหมือนเรา ก็ไม่ผิดนะครับ โลกมันมีปัญหาทุกวันนี้เพราะมึงคิดไม่เหมือนกู มึงคือคนผิด ถ้าพบว่าความคิดที่เราเชื่อมันไม่ใช่ มันไม่ได้หน้าแตกถ้าเราจะเปลี่ยน เราไม่จำเป็นต้องยึดสิ่งนั้นไว้ เพราะเราก็แค่เปลี่ยนให้มันดีขึ้น แค่นั้นเอง เชื่อสิ่งใหม่ก็ได้ ไม่ต้องยึดติด โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะอยู่กับสิ่งเดิมได้อย่างไร…อาจได้นะ แต่จะอยู่ยากหน่อย เพราะวิธีคิดต่าง ๆ เปลี่ยนไปหมดแล้ว
อย่างคลิปไวรัล๔ ในอินเทอร์เน็ต คุณคิดว่าจะยังได้รับความนิยมไปอีกนานไหม
ผมว่าคนจะทันขึ้นนะครับ มันมีความคิดที่ผิด ๆ อยู่ว่าไวรัลจะต้องตูมตาม แต่จริง ๆ คลิปไวรัลที่ดังก็คือมีเนื้อหาที่ดีครับ แล้วมันจะดังเอง ไม่ใช่ไปหลอกว่าไอ้นี่โวยวายจะไปชกคน แต่จริง ๆ เป็นชกปลอม ตีหัวหลอกคนแป๊บเดียวก็จบแล้ว ซึ่งก็กลับมาหลักการง่าย ๆ ของดีคนก็ชอบดู
เห็นว่าผลงานใหม่ของคุณ The Year of June ก็จะเป็นหนังเกี่ยวกับทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียอีกแบบหนึ่ง ทวิตเตอร์มีอะไรที่น่าสนใจ
ผมสนใจจังหวะการอ่านทวิตเตอร์ มันจะเร็วมาก ๆ และเป็นเหมือน fragment ย่อย ๆ ให้เราต้องประกอบกันเป็นภาพรวมอีกทีในหัว ซึ่งคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นอะไรแบบนั้นครับ
ในงานที่คุณกำกับจะมีบรรยากาศที่ถ่ายทำแบบสารคดีพอสมควร คุณได้รับอิทธิพลจากอะไร
เบื้องต้นผมชอบหนังที่ดูจริง ดูธรรมชาติ ช่วงหนึ่งผมชอบดูหนังสั้นของพี่เจ้ยที่อัดเสียงคนคุยกันที่ไหนไม่รู้มาผสมกับภาพ พอโตขึ้นผมจะชอบหนังของพี่น้องดาร์เดนน์ ๕ และชอบดูหนังสารคดี หลัง ๆ ผมสนใจดูหนังสารคดีมากกว่าหนังทั่วไป เพราะได้เห็นความเป็นมนุษย์แบบเต็ม ๆ ได้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ที่มันดูจริง ที่บอกว่าดูจริง เพราะมันผ่านการคิด ผ่านการตัดต่อ ความจริงมันไม่จริง เพียงแต่ดูจริงแค่นั้นเอง เพราะคนทำจะเป็นคนเลือกช็อต เอาช็อตนี้ดีกว่า เลือกช็อตนี้ดูตลกดี คนทำจะเลือกให้เราหันหัวไปทางไหนเท่านั้นเอง เพียงแต่เราได้เห็นประเด็นที่หลากหลาย ได้เห็นคนหลาย ๆ แบบที่น่าสนใจ
คุณกำลังจะบอกว่าหนังสารคดีไม่ใช่ความจริง
อะไรที่ผ่านการตัดต่อ ก็มีความไม่จริงทั้งนั้นแหละครับ ต่อให้เป็นรูปถ่ายถ้าเราคร็อปภาพมันก็ไม่จริงเลย สมมุติ (ชี้ไปที่ช่างภาพ) เขาถ่ายผมแล้วคร็อปภาพผมเหลือแค่นี้ (ชี้บริเวณวงหน้า) แล้วบอกว่าที่นี่คือโตเกียวก็ได้ เพราะคนอื่นไม่เห็นว่าที่นี่คือที่ไหน มันก็ไม่จริงแล้ว มันมีเรื่องนอกเฟรม มีเรื่องอยู่นอกฟุตเทจที่เราไม่ได้เอามาใช้อีกเยอะ ดูแล้วก็ต้องคิด ยิ่งเป็นคนทำหนังเองเราต้องมีธรรมชาติที่จะไม่เชื่อ…อยู่ดี ๆ ดนตรีตรงนี้ก็ขึ้นเพื่อเร้าอารมณ์ ทั้งที่คนที่เราถ่ายเขาอาจจะไม่มีอารมณ์ก็เป็นไปได้ มาดูแล้วเขาอาจจะบอก “เฮ้ย ! กูไม่ได้เศร้าขนาดนั้น”
กับสื่อในปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้ชมควรรู้เท่าทันมากขึ้นไหม
โลกมันเปลี่ยนไป เทคนิคต่าง ๆ การนำเสนอก็เต็มไปหมด เราก็ต้องรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง ผมว่ายุคนี้อันตราย มันมีคลิปจริงคลิปปลอม เป็นยุคที่คนควรจะรู้ เหมือนเดี๋ยวนี้ดูคลิปวิดีโอที่บอกว่าเป็นเรื่องจริง ดูทีสองทีก็รู้แล้วว่าไม่จริง อะไรทำให้ดรามาเพื่อเรียกเรตติ้ง อะไรใส่เพลง หรือถ่ายหลบ หรืออย่างแอบไปเยี่ยมบ้านดารา แล้วเสียงไมค์ไร้สายดังมาก แล้วบอกเซอร์ไพรส์ มันไม่เซอร์ไพรส์อีกแล้ว
คุณเริ่มสนใจการกำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ตอนไหน
ช่วง ม. ปลายครับ บ้านน้าจะมีวิดีโอเยอะ มีหลาย ๆ แบบตั้งแต่ฮอลลีวูดสุด ๆ อย่าง Jurassic Park ไปจนแบบ The Crying Game เรนจ์มันกว้างมาก ผมก็ได้ดูและชอบจนอยากทำหนัง แต่ตอนเรียนตัดสินใจเข้าคณะอักษรศาสตร์ เพราะคิดว่าเดี๋ยวเรียนนิเทศฯ ตกงานแน่เลย ภาษายังไงก็ใช้ได้อยู่แล้ว เพราะสมัยนั้นแก๊งพี่แฟนฉันก็ยังไม่มา สมัยก่อนผมรู้สึกว่าคนทำหนังจะต้องเป็นแบบพี่ต้อม (เป็นเอก) พี่อุ๋ย (นนทรีย์) ต้องทำโฆษณามาก่อนเป็นสิบ ๆ ปี รู้สึกว่ามันเข้ายากมาก แต่ดีครับที่ได้เข้าอักษรฯ เพราะผมรู้สึกว่าหนังดีมันอยู่ที่บท อักษรฯ เวลาสอนจะสอนเรื่องศิลปะ มนุษยศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ปรัชญา ซึ่งเป็นสิ่งที่เอามาใช้ได้ในบท เพราะสุดท้ายบทหนังก็เกี่ยวกับมนุษย์อยู่ดี สมมุติเราเรียนวิชาปรัชญามันก็จะสอนให้เราฟังทั้งสองฝ่าย ตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่…ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง เป็นหลักการเดียวกับการทำให้หนังมันใกล้เคียงความเป็นจริง ไม่ใช่ไอ้นี่ขาวไอ้นี่ดำ ไอ้นั่นเลวไอ้นี่ดี
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือหนังของคุณมักเป็นหนังที่ต้องกับรสนิยมคนเมือง
ผมชอบเมืองเพราะการปะทะกันระหว่างคน ระหว่างวัฒนธรรมมันจะเยอะ เรื่องเล่าจะเยอะมาก อย่างตอนที่ไปนิวยอร์ก ผมจะชอบ ผมรู้สึกได้ว่านิวยอร์กไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวเลย เป็นเมืองไว้อยู่ ซึมซับความแตกต่างทางวัฒนธรรมแล้วเราจะสนุกกว่า ด้วยความที่ชีวิตในนิวยอร์กมันแข่งกันมาก ๆ ทำให้คนเผยด้านต่าง ๆ ออกมาเยอะไปหมด ต่างจังหวัดก็อาจมีเรื่องเล่าเยอะ แต่ผมไม่เคยอยู่ต่างจังหวัดผมคงตอบไม่ได้ ผมเล่าในสิ่งที่ผมรู้แค่นั้นครับ ไม่ได้ถึงขั้นว่าผมจะทำหนังคนเมืองอะไรขนาดนั้น ความรู้ผมอยู่ที่นี่ ผมก็ทำหนังเกี่ยวกับที่นี่
คุณทำงานหลากหลายบทบาทมาก มีวิธีบริหารชีวิตอย่างไรเพื่อทำในสิ่งที่คุณรักพร้อมกับเลี้ยงตัวเองไปด้วย
ก็ต้องพยายามจัดสรรเวลา คือมันจะมีงาน ๒ แบบ คืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างแรงกล้า อย่างงานเขียนบทหนังยาว ผมจะเขียนบทหนังยาว ๒ เรื่องพร้อม ๆ กันไม่ได้เลย มันต้องใช้สมาธิอย่างมาก และใช้เวลาในการประคอง แต่ถ้าทำบทหนังยาว ๑ เรื่องกับทำหนังสั้นหรืองานสอนควบคู่กันไปอย่างนั้นทำได้ ผมไม่ค่อยปฏิเสธงานพาณิชย์เท่าไหร่ ต้องกลับมาที่โลกความเป็นจริงว่าเอาเข้าจริงทำหนังอิสระมันก็ไม่ได้อยู่ได้
แต่ 36 ก็เป็นหนังที่ได้รับผลตอบรับดีด้านรายได้
ด้วยความที่บ้านผมไม่ได้รวยมาก ผมเลยอยากลองทำ 36 ว่าไหนดูสิมันจะทำได้จริงไหม มันควรมีหนังอินดี้ที่มีรายได้กลับมาหรือเราได้อะไรกลับมาจากมันบ้าง เราก็ต้องคิดว่าครึ่งหนึ่งของงานที่เรารักมันต้องมีครึ่งหนึ่งเป็นเงินด้วย ปรกติศิลปินที่ทำงานศิลปะมักมีงานที่เป็นรายได้ของเขาเองอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ออกไปในบทสัมภาษณ์ไง คือคุณอ่านบทสัมภาษณ์แล้วอย่าโดนบทสัมภาษณ์หลอก ภาพมันฝันมาก ซึ่งบางคนเขาพูดเท่ ๆ ได้ เพราะก่อนหน้าเขาเหนื่อยมาเป็นสิบปีแล้ว แต่บทสัมภาษณ์มันไม่ได้ครอบคลุมสิ่งที่เขาผ่านมาครับ หรือบ้านเขาอาจรวยมากซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรเพราะเขามีความสามารถสร้างผลงานได้ ตัวคนอ่านเองที่ต้องเข้าใจว่า “อ๋อ มันเป็นแบบนี้” นอกเฟรมเป็นแบบนี้ เราต้องค่อย ๆ มองหาเอง
จากที่คุยกันคุณบอกว่าเป็นคนที่เกิดมาในยุคเปลี่ยนผ่าน คิดว่าภาวะแบบนี้สอนอะไรคุณ หรือทำให้คุณเป็นคนอย่างไร
มันสอนให้ผมปรับตัวและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงครับ เวลามีอะไรเปลี่ยนแปลงผมจะเหวอทุกครั้งแหละ แต่สุดท้ายผมก็จะอยู่กับมันได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งความเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขัดขืนก็เป็นทุกข์ก็เอาเป็นว่าหาทางอยู่กับมันให้ได้
ขอขอบคุณ : โรงภาพยนตร์ House RCA สำหรับความเอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์
เชิงอรรถ :
๑. Digital Cinema Package (DCP) คือ กระบวนการฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิทัลไม่ใช้ฟิล์ม แต่จะบีบอัด และเข้ารหัสข้อมูลทั้งภาพและเสียงลงฮาร์ดดิสก์ และฉายผ่านเครื่องฉาย DLP Projector
๒. มิคาเอล ฮาเนเก (Michael Haneke) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวออสเตรีย เคยได้รับ
ปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสถึง ๒ ครั้งจาก
ผลงานเรื่อง The White Ribbon (๒๕๕๒) และ Amour (๒๕๕๕) งานของฮาเนเกเน้นการ
วิพากษ์สังคมยุคใหม่ของยุโรป ขณะเดียวกันก็โดดเด่นด้านการสร้างบรรยากาศที่เย็นชา
และสถานการณ์ที่ทารุณจิตใจผู้ชม
๓. ปาดังเบซาร์ ผลงานกำกับภาพยนตร์โดย ต้องปอง จันทรางกูร ซึ่งเคยได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาบทจาก Asian Cinema Fund ในเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
ว่าด้วยเรื่องราวของสองพี่น้องที่ไม่ได้เจอหน้ากันมานาน และต้องกลับมาเจอกันเพื่อพา
ศพแม่ที่เสียชีวิตเดินทางกลับยังบ้านเกิด ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา
๔. คลิปไวรัล (Viral Video) คลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมจากการแชร์ผ่านอินเทอร์เน็ตใน
ช่องทางต่าง ๆ คล้ายการสร้างกระแสแบบปากต่อปากในอดีต คลิปวิดีโอเหล่านี้มีหลาย
รูปแบบ แต่ที่นิยมทำกันคือคลิปวิดีโอแนวตลกขบขัน
๕. ฌอง ลุค และปิแอร์ ดาร์เดนน์ สองพี่น้องผู้กำกับหนังชาวเบลเยียม มีพื้นเพจากการ
ผลิตงานสารคดี ก่อนจะมาสร้างชื่อในฐานะคนทำหนังแนวสมจริงยุคใหม่ มักนำเสนอชีวิต
ปากกัดตีนถีบของเยาวชนที่เป็นคนชั้นล่างหาเช้ากินค่ำในยุโรป