สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org
เรื่องราวและบทเรียนจากเกมกระดาน
พระเจ้า ! มันใกล้เข้ามาแล้ว
พวกเราอุตส่าห์แยกย้ายกันไปคนละมุมเมือง สอบปากคำผู้ต้องสงสัย ๓ คนอย่างไม่ลดราวาศอก เค้นเบาะแสมาแลกเปลี่ยนกันจนมั่นใจว่าใครเป็นตัวการร่ายมนตร์ดำเรียกปีศาจขึ้นมาฆ่าชาวเมืองอย่างเลือดเย็นไปทีละคนแล้วเชียว ยัยแม่มดบ้านั่นดันร่ายเวท เรียกอสูรดันวิชออกมาจากโลกปีศาจ ขวางทางข้ากับนางเสียฉิบ จะหนีก็กลัวมันวิ่งทัน จะสู้ก็กลัวโดนคำสาปอีกชุดจนฟั่นเฟือน สติข้าแทบไม่เหลือกับเนื้อกับตัว แยกโลกจริงโลกหลอนไม่ออก มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผีห่าซาตาน
เข้าตาจน เลือดขึ้นหน้า สงสัยต้องวิ่งไปเอาดาบที่แม่ชีทำตกไว้มาป้องกันตัว เหลียวไปข้างหลังเห็นโจนักสืบเอกวิ่งควงปืน ๒ มือเข้ามา ต้องมาช่วยข้าแน่ๆ ว่าแต่ปืนลูกซองนั่นมันยิงได้ไกลแค่ไหนกันนะ
ภาวนาอย่างเดียวขออย่าให้เดกซเตอร์ตายก่อนที่พวกเราจะหนีอสูรดันวิชไปเจอกันที่จุดนัดพบ จุดที่เราจะจัดการยัยแม่มดให้สิ้นซาก เดกซเตอร์บอกข้าว่าเขาเป็นนักมายากลเอก วิ่งลงหีบแล้วไปโผล่ที่ไหนก็ได้ในพริบตา
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เขาลงหีบทันด้วยเถิด…
Mansions of Madness บอร์ดเกมแนวผจญภัยที่เจ๋งที่สุดเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก หยิบเอาโลกเร้นลับจากจินตนาการของ เอช. พี. เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft) นักเขียนชาวอเมริกันสมัยต้นศตวรรษที่ ๒๐ ผู้โด่งดังมาเนรมิตเป็นบอร์ดเกมแสนสนุกและสุดหลอน นอกจากจะได้ลุ้นตัวโก่งเกือบทุกตาแล้ว คนเล่นยังอาจได้พบกับ “ด้านมืด” ของเพื่อนๆ ที่ไม่เคยคาดคิดว่ามี
สรุปอย่างกว้างที่สุด บอร์ดเกมแนวผจญภัยนั้นต่างจากบอร์ดเกมแนวกลยุทธ์ตรงที่เน้น “เรื่องราว” และการไข “ปริศนา” อะไรสักอย่างมากกว่าการจัดการทรัพยากรและ/หรือรุกรานดินแดนของผู้เล่นคนอื่น ความสนุกของบอร์ดเกมแนวผจญภัยอยู่ที่การค่อยๆ คลี่คลายเรื่องราวและไขปริศนา ไม่ต่างจากเวลาอ่านนิยายลึกลับหรือหนังสือนักสืบชั้นดี
Mansions of Madness เล่นได้ระหว่าง ๒-๕ คน ผู้เล่นแบ่งออกเป็น ๒ ฝั่ง คือ คนคุมผี (keeper) ๑ คน ที่เหลือเป็นนักสำรวจ (investigator) ที่ช่วยกันเล่น ก่อนเล่นต้องตกลงร่วมกันก่อนว่าจะเลือกเรื่องอะไร แต่ละเรื่องมาพร้อมกับแผนที่เฉพาะ (ประกอบชิ้นส่วนทีละห้อง) นักสำรวจมีหน้าที่ประกอบแผนที่ เสร็จแล้วคนคุมผีจะเลือกโครงเรื่องและเป้าหมายของตัวเอง วางไพ่เบาะแส ไพ่สิ่งของ และไพ่อุปสรรคต่างๆ ลงในห้องต่างๆ บนแผนที่โดยไม่ให้ทีมนักสำรวจรู้
กติกานี้แปลว่า ณ ตอนเริ่มเกมจะมีคนคุมผีคนเดียวที่รู้ว่าเป้าหมายของเขาในเรื่องนี้คืออะไร เช่น “ปลุกผีขึ้นมาจากหลุม” หรือ “ฆ่านักสำรวจ ๑ คน” ทำได้เมื่อไรประกาศชัยชนะได้ทันที นอกจากนี้ยังรู้เงื่อนไขชัยชนะของทีมนักสำรวจด้วย เช่น “หนีออกจากบ้านผีสิงพร้อมด้วยคัมภีร์มนตร์ดำ”
หน้าที่ของทีมนักสำรวจคือค้นหาให้ได้ว่าเงื่อนไขชัยชนะของตัวเองคืออะไร ผ่านการสำรวจห้องต่างๆ ควานหาเบาะแส (เปิดไพ่ในห้อง) และตีความว่าต้องทำอะไรต่อ เช่น ไพ่เบาะแส “คุณสังเกตว่าหัวของศพร่างนี้ซีดเย็นเป็นน้ำแข็ง…” อาจบ่งบอกว่านักสำรวจควรเดินไปห้อง “ตู้เย็น” เพื่อหาเบาะแสชิ้นต่อไป หน้าที่ของคนคุมผีคือพยายามบรรลุเป้าหมายของตัวเอง พร้อมกีดกันไม่ให้นักสำรวจไขปริศนาได้สำเร็จ ส่วนใหญ่ด้วยการร่ายเวทปลุกภูตผีปีศาจนานาชนิดขึ้นมาระราน รวมทั้งใช้ไพ่หลอนประสาทหลายรูปแบบ
นักสำรวจแต่ละคนมีประวัติสั้นๆ ความสามารถพิเศษ และอาวุธหรืออุปกรณ์อื่นติดตัว ความสามารถของแต่ละคนแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ความแข็งแรงทางกายกับความแข็งแรงทางจิต ค่าสำคัญคือ “พลังชีวิต”(health) กับ “พลังสติ” (sanity) บางคนแข็งแรงมากแต่ขวัญอ่อน สู้ปีศาจเก่งแต่เสี่ยงโดนคนคุมผีหลอกหลอนให้เสียสติได้ง่าย เพราะถ้าพลังสติเหลือต่ำมาก คนคุมผีก็จะใช้ไพ่หลอนขั้นรุนแรงได้ ตั้งแต่การสั่งให้นักสำรวจขโมยของของเพื่อนที่ยืนติดกัน จนถึงสาปให้นักสำรวจกลายเป็นพวกเดียวกับผี บ้าคลั่งกราดยิงเพื่อน หรือบีบให้ฆ่าตัวตาย !
Mansions of Madness ใช้ลูกเต๋า ๑๐ หน้า (เลข ๑-๑๐) เป็นกลไกหลัก นักสำรวจจะโยนเต๋าลูกนี้หลายครั้งในแต่ละตา เช่น ทันทีที่เจอผีก็ต้อง “ทดสอบสติ” ด้วยการโยนเต๋า ถ้าได้ค่าสูงกว่าค่า “ความแข็งแกร่งทางจิตใจ” (willpower) ของตัวเองแปลว่าสอบตก ถูกผีหลอก ต้องเอาเบี้ย “หลอน” ไปวางบนไพ่ตัวละคร เท่ากับพลังสติเริ่มติดลบ ยิ่งติดลบมากคนคุมผียิ่งใช้ไพ่หลอนรุนแรงได้มาก ส่วนการต่อสู้กับปีศาจก็ต้องทอยเต๋าเหมือนกัน คนคุมผีจะเปิดไพ่ต่อสู้จนถึงใบที่ตรงกับอาวุธ (หรือมือเปล่า) ที่นักสำรวจเลือกใช้ แล้วให้ทดสอบค่าอะไรก็ตามบนไพ่ เช่น “ทดสอบความแข็งแรง” หรือ “ทดสอบความแม่นปืน” ต้องโยนเต๋าให้ได้เท่ากับค่านั้นๆ ของตัวเองหรือต่ำกว่าจึงจะถือว่าผ่าน ดังนั้นค่าประจำตัวยิ่งสูงยิ่งดี
นักสำรวจต้องพยายามครองสติให้อยู่กับตัวและร่วมมือกันสำรวจแผนที่โดยใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด แต่ก่อนเล่น การเลือกทีมนักสำรวจที่มีทั้ง “คนแข็งแรง” (ซึ่งมักจะขวัญอ่อน) กับ “คนสติปัญญาดี” (ซึ่งมักจะอ่อนแอ) ก็สำคัญ เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้หรือหนีปีศาจ เกมนี้ยังมีปริศนาเหมือนตัวต่อจิกซอว์ให้แก้ ไม่ต้องโยนเต๋าแต่ใช้ค่า “ความฉลาด” (intelligence) ของนักสำรวจ ค่านี้ยิ่งสูงยิ่งมีโอกาสแก้ปริศนาได้เร็ว
จุดอ่อนของบอร์ดเกมแนวผจญภัยทั่วไปคือเล่นซ้ำได้ไม่กี่ครั้ง เพราะเรื่องราวถูกกำหนดมาตายตัวล่วงหน้า พอเล่นจบก็จะพบคำเฉลยเหมือนหนังสือหน้าสุดท้าย แต่ Mansions of Madness ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ด้วยการมีเรื่องราวให้เลือกผจญภัย ๑๐ กว่าเรื่อง และแต่ละเรื่องคนคุมผียังเลือกได้อีกด้วยว่าอยากให้โครงเรื่องหลักและบทสรุปเป็นอย่างไร (ส่วนใหญ่มี ๓ ตัวเลือก) ฉะนั้นจึงเท่ากับว่ามีเรื่องราวทั้งหมดให้เลือกหลายสิบเรื่อง เล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่เบื่อ แถมยังมีภาคเสริมทยอยออกมาเรื่อยๆ
นอกจาก Mansions of Madness จะสนุกแบบเล่นไปผวาไป เกมนี้ยังโดดเด่นในแง่ศิลปะที่ทำออกมาได้สวยงามมาก ตัวเล่นทั้งปีศาจและนักสำรวจ รวมถึงห้องทุกห้องล้วนวาดรายละเอียดมากมาย สมกับที่ออกแบบโดย คอรีย์ โคเนสกา (Corey Konieczka) นักออกแบบเกมมือหนึ่งประจำบริษัทแฟนตาซีไฟลต์ (Fantasy Flight) บริษัทบอร์ดเกมแนวผจญภัยที่ใหญ่และขายดีที่สุดในโลก
ความน่าทึ่งของเกมนี้อีกอย่างคือ กลไกเกมถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนขวัญสั่นประสาทเหมือนกับตอนอ่านเรื่องสั้นของเลิฟคราฟต์ได้อย่างดีเยี่ยม (แต่คนคุมผีก็จะต้อง “เหี้ยม” ด้วย) คือความกลัวจะค่อยๆ คืบคลานขึ้นมาตามสันหลังคนอ่านอย่างเงียบเชียบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผีก็โผล่มาให้ตกใจสะดุ้งโหยง
ถึงที่สุดแล้วใครบ้างจะไม่อยากลองเล่นเกมที่มีคนเขียนแนะนำวิธีเอาตัวรอดไว้ว่า “โอเคนะเกมนี้ถ้าคุณจะตาย แต่ถ้าจะตายอยู่แล้ว รีบตายเร็วๆ เลยดีกว่า เพื่อไม่ให้คนคุมผีใช้ร่างกายที่อ่อนแอปวกเปียกของคุณเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายสามานย์ของเขา”