ร้านหนังสือที่รัก
หนุ่ม หนังสือเดินทาง
หน้าร้านที่มีสไตล์เฉพาะตัว
ที่ซิดนีย์มีย่านย่านหนึ่งที่เหมาะกับการไปเดินเล่นมากในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ย่านนี้มีชื่อว่า “Glebe” แต่หลายคนนิยมเรียกมันว่า ย่านโบฮีเมียน (Bohemian) เนื่องจากมีคาเฟ่และร้านอาหารเล็กๆ แต่เท่อยู่มาก นอกจากนี้ยังมีแกลเลอรี มีตลาดนัดวันหยุดที่ขายงานศิลปะ ขายเสื้อผ้าสไตล์เรโทร รวมทั้งขายแผ่นเสียงที่คุณภาพของเสียงยังใสแจ๋ว และที่สำคัญยังมีร้านหนังสือ
ร้านหนังสือที่ว่ามีมากกว่า ๑ ร้านและร้านหนึ่งที่มีความสำคัญจนถูกขนานนามว่าเป็น “Sydney institution” ซึ่งเปรียบเหมือนสถาบันหรือตักศิลาของนักอ่านก็คือร้านที่ชื่อ “Gleebooks” ตั้งอยู่ตรงข้ามกับทางเข้าตลาดนัดพอดิบพอดี Gleebooks เปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๕ โดยช่วงแรกขายหนังสือมือสองเป็นหลัก ที่ผ่านมาธุรกิจไปได้ดีจนขยายร้านไปอีกหลายสาขาทั่วซิดนีย์ โดยแต่ละสาขาขายหนังสือแตกต่างกัน เฉพาะที่ย่าน Glebe นั้นก็มีอยู่แล้ว ๒ สาขา คือสาขาแรกที่ขายหนังสือมือสองและหนังสือเด็ก กับอีกสาขาตรงตลาดนัดศิลปะซึ่งขายหนังสือใหม่ และสาขานี้นี่เองที่เป็นเหมือน “flagship store” เนื่องจากใหญ่ที่สุด ผนวกกับมีพื้นที่ชั้น ๒ เพื่อจัดกิจกรรม ทำให้มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในร้านหนังสือร้านนี้ ส่งผลให้ร้านกลายเป็น Sydney institution
คำว่า Sydney institution นั้นเป็นตำแหน่งที่นักอ่านมอบให้ แปลตรงตัวหมายถึงสถาบันของซิดนีย์ ซึ่งให้นัยเหมือนอะไรสักอย่างประจำเมืองที่ต้องบูชา ทว่าในความเป็นจริงนี่เป็นคำเปรียบเปรยที่หมายความว่าหากคุณรักหนังสือจริง Gleebooks คือสถานที่ที่ต้องไป หาไม่แล้วถือว่าคุณยังเข้าไม่ถึงบรรยากาศของการอ่านและรสชาติของร้านหนังสือ เปรียบไปก็เหมือนสำนักดาบของพวกนักรบที่หากไม่ผ่านสำนักนี้ก็ยังท่องยุทธภพไม่ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้น Gleebooks ทำมากกว่าแค่สรรหาหนังสือเข้าร้านมาตลอด
กล่าวคือ Gleebooks ทำกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำเพราะเหตุผลทางธุรกิจและทำเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านโดยรวมให้เข้มแข็ง สิ่งที่ Gleebooks ทำคือการเปิดตัวหนังสือ การจัดเสวนาโดยเชิญนักเขียนทั้งจากในและต่างประเทศมาร่วม ทุกวันเสาร์มีกิจกรรมคลับของคนรักหนังสือ ขณะที่เสาร์แรกของแต่ละเดือนยังมีทอล์กโชว์แบบ “stand-up comedy” ซึ่งผู้ที่มาโชว์มีทั้งนักพูดชื่อดังและผู้ที่ต้องการแสดงออกเพื่อรอวันฉายแสง กิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าร่วมได้ฟรี หลายครั้งยังมีไวน์ให้ดื่มและชีสรสดีให้กิน บางงานเก็บค่าเข้าร่วมบ้างแต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับสาระความบันเทิงที่ได้รับ ทั้งนี้เมื่อร้านทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำและทำมานานก็เป็นที่รู้กันว่านี่คือสถานที่สำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมสิ่งนี้เองทำให้ร้านได้ตำแหน่ง Sydney institution มาครอง นี่ยังไม่นับรางวัล Australian Bookseller of the Year อีก ๔ ครั้ง (ในปี ค.ศ.๑๙๙๕, ๑๙๙๗, ๑๙๙๙ และ ๒๐๐๐) และรางวัล Australian Independent Bookseller of the Year อีก ๑ สมัยในปี ค.ศ. ๒๐๐๘
การจัดกิจกรรมทำให้ร้านเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับก็จริง อย่างไรก็ดี Gleebooks ก็ไม่เคยลืมการคัดสรรหนังสือและการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในเวลาปรกติซึ่งเป็นทั้งหัวใจและจิตวิญญาณของธุรกิจ สำคัญกว่านั้นร้านยังตระหนักเสมอว่าโลกกำลังเปลี่ยนทั้งยังพร้อมที่จะปรับตัวและสู้อย่างเท่าทัน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักในร้านหนังสืออิสระทั้งหลาย
บรรยากาศชั้นล่างห้อมล้อมไปด้วยหนังสือ
หนังสือทีลูกค้าสั่งไว้แต่ยังไม่มารับ
วารสารที่ทางร้านทำขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวของหนังสือใส่กล่องไว้ให้หยิบฟรี
ป้ายบอกประเภทและที่อยู่ของหนังสือในหมวดต่างๆ
หนังสือในร้าน Gleebooks นั้นครอบคลุมหลากหลายประเภท โดยมีป้ายซึ่งตั้งใจล้อเลียนป้ายทางหลวงบอกหมวดหมู่และที่ตั้งไว้ชัดเจน หนังสือออกใหม่ถูกวางไว้บนโต๊ะกลางซึ่งเห็นได้ทันทีเมื่อเดินเข้าร้าน ขณะที่หนังสือที่ถูกสั่งซื้อก็มีการคัดแยกเตรียมส่งอยู่หลังเคาน์เตอร์ ที่ผ่านมา Gleebooks มีจุดเด่นมากในความรอบรู้เรื่องหนังสือ ทุกคนในร้านถูกย้ำให้ทำหน้าที่ “bookseller” ที่แนะนำลูกค้าได้ว่าหนังสือเล่มไหนเป็นอย่างไร มากกว่าเป็น “sales people” ที่ขายของไปวันๆ อีกทั้งร้านได้แจ้งข่าวพร้อมแนะนำและรีวิวหนังสือให้ลูกค้าได้ทราบผ่านวารสารของร้านมาตลอด แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลเปลี่ยน โดยคนอ่านหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วยตัวเองได้มากขึ้น เจ้าของร้าน
Gleebooks บอกว่าร้านก็ต้องปรับตัวเช่นกันแต่มีข้อแม้ว่าขอปรับให้อยู่ในจุดที่เห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. ๒๐๑๑ หนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald เคยสัมภาษณ์เกี่ยวกับการปรับตัวที่ว่า ครั้งนั้น เดวิด กอนต์ (David Gaunt) หนึ่งในเจ้าของร้านเปิดเผยว่า โดยพื้นฐานร้านไม่กังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีนำมา เนื่องจาก Gleebooks อยู่มานานและมีรากฐานที่มั่นคง
ยิ่งกว่านั้นร้านหนังสืออิสระในออสเตรเลียมีส่วนแบ่งในตลาดหนังสือถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปัจจุบันในอเมริกามี ๙ เปอร์เซ็นต์ และอังกฤษมีแค่ ๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่ยังไม่นับว่าตลาดหนังสือดิจิทัลในออสเตรเลียยังเล็กมากเมื่อเทียบกับอเมริกา อย่างไรก็ดีกอนต์เปิดเผยว่าเขาตระหนักดีถึงการมีอยู่ของ www.amazon.com หรือ www.bookdepository.com รวมทั้งอุปกรณ์การอ่านอื่นๆ ทั้งไอแพด (iPad) และคินเดิล (Kindle) แผนการของ Gleebooks ก็คือพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อแข่งกับเทคโนโลยีดังกล่าว ทว่าก็ขอแข่งแค่ระดับหนึ่ง
การปรับตัวที่ว่าไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่เพื่อขายดีวีดี แต่กอนต์เปิดเผยว่า Gleebooks ได้เปิดเว็บไซต์เพื่อติดต่อแจ้งข่าวและให้ลูกค้าซื้อขายออนไลน์ได้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๖ แล้ว นอกจากนี้ร้านยังมีโครงการที่จะนำเครื่อง “print on demand” จากอเมริกามาไว้ที่ร้านด้วย โดยเครื่องดังกล่าวอนุญาตให้ร้านเชื่อมกับฐานข้อมูล จากนั้นก็สั่งพิมพ์หนังสือที่หาไม่ได้หรือไม่มีอยู่ในสต๊อกออกมาได้ทันที ทั้งนี้กอนต์บอกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำให้ร้านมีหนังสืออีกมหาศาลและทำให้สามารถสู้กับอีบุ๊ก (e-book) ได้อย่างเหมาะสม
โดยรวมนั้นกอนต์บอกว่าแนวทางของ Gleebooks ต่อจากนี้คือการแข่งกับโลกออนไลน์ด้วยการขายอีบุ๊กกับขายหนังสือที่ทำจากกระดาษเป็นเล่มๆ ไปพร้อมกัน เขาย้ำว่าร้านหนังสือนั้นจำเป็นต้องสร้างเสน่ห์ให้ตัวเอง ซึ่งถึงทุกวันนี้ Gleebooks ก็ได้ทำทุกอย่างที่ร้านหนังสือดีๆ ควรทำแล้ว ทั้งมีเว็บไซต์ มีวารสารเพื่อส่งข่าวถึงลูกค้านับหมื่น มีกิจกรรมที่เชื่อมกับชุมชน รวมทั้งกำลังจะมีเครื่อง print on demand
กอนต์บอกว่าสาเหตุที่ Gleebooks อยู่มาได้นั้นเพราะมีคนดีๆ อยากสนับสนุนธุรกิจของคนในชุมชน ซึ่งหากร้านอยากให้พวกเขาสนับสนุนต่อไปก็ต้องสร้างทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้เขาเหล่านั้นด้วย เมื่อทำได้แล้วก็ไม่น่าจะต้องกลัวอะไร เขาว่าหากที่สุดแล้วร้านหนังสืออิสระเป็นธุรกิจที่อยู่ไม่ได้จริง Gleebooks นี่แหละจะเป็นร้านสุดท้ายที่จะหายไป ซึ่งจากที่ไปเห็นมาโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นมีอยู่สูงทีเดียว