เรื่อง: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ: วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

วูบหนึ่งขณะลุยฝ่าเข้าไปในดงไม้แน่นทึบมองหาทางออกไม่พบ “บะกาโบ้” ต้องหยิบมีดพร้าคู่ใจออกมาร่ายรำกรีดกรายฟาดฟันกิ่งไม้ที่ขวางทางอยู่ทุกชั่วขณะ  “ผู้ติดตาม” อย่างเราได้แต่แอบรำพึงอยู่ในห้วงลึกของหัวใจว่าใครกันที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิตเสี่ยงภัยเยี่ยงนี้ กับแสงอาทิตย์ที่อ่อนราลงทุกทีกับเรี่ยวแรงที่โถมลงจนแทบหมดสิ้นทุกย่างก้าว กับทางเดินคดเคี้ยวในป่า สถานที่ซึ่งพิกัดบอกทางดูราวสิ่งสมมุติ  หมู่เถาวัลย์น้อยใหญ่ แขนขาของต้นไม้เหมือนคอยฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวเดินต่อ ไม่เกี่ยวแขนขา ก็ต้องกระหวัดเข้ากับเป้สะพายหลัง ขาตั้งกล้อง หรืออะไรสักอย่างหนึ่ง

ท่ามกลางความอึมครึมกลางหมู่พงรกครึ้มที่รัดล้อมอยู่รอบด้าน สถิติการเดินทางหรือข้อมูลสัตว์ป่าที่สู้อุตส่าห์บันทึกมาด้วยเครื่องจีพีเอสแทบไร้สิ้นความหมาย ภาพถ่ายต้นไม้ใบไม้ที่อยากนำออกมาอวดคนข้างนอกก็เหมือนกัน มันแทบไร้ค่าตราบใดที่เรายังหาทางออกจากที่นี่ไม่สำเร็จ

ในความเงียบสงัดบนทางเดินรกชัฏอันไม่รู้อนาคต หนทางข้างหน้ากลับเปิดโล่งพ้นพันธนาการแห่งต้นไม้ สิ้นสุดบททดสอบไปอีกบทหนึ่ง สิบชีวิตหลุดออกจากแดนสนธยา

บนลานกว้างข้างลำธารพอใช้ประทังชีวิตอย่างน่าพึงใจในค่ำนี้ หัวหน้าชุดลาดตระเวนออกคำสั่ง ปลดสัมภาระลงจากบ่า กำชับให้ทุกคนช่วยกันหุงหาอาหารก่อนสิ้นแสง

สิ้นสุดการรอนแรมอีกวันของหน่วยลาดตระเวน “สมาร์ตพาโทรลเรนเจอร์” นักรบต้นไม้แห่งอุทยานแห่งชาติคลองลาน ผู้คุ้มครองสัตว์ป่า ผู้พิทักษ์ธรรมชาติที่ไม่เคยป่าวร้องบอกใคร

 

Smart Patrol Ranger วิทยาการเพื่อ “ชีวิต” ภารกิจผู้พิทักษ์ป่ายุคใหม่ภารกิจ !

จากหัวน้ำตกคลองลาน ปีกซ้ายของจังหวัดกำแพงเพชร มองย้อนแสงตะวันกลับไปในมุมก้ม ๔๕ องศาจะเห็นจุดตั้งต้นลาดตระเวนวันนี้ — อาคารสำนักงานอุทยานแห่งชาติคลองลาน บ้านพักนักท่องเที่ยว สนามหญ้าสีเขียวแทรกตัวอยู่ในเขตหุบเขาแคบ  ลำห้วยสายเล็กไหลแยกจากน้ำตกคลองลาน เขาทางซ้ายมือมีรูปทรงตรงตามชื่อว่าเขาหัวช้าง ตรงข้ามกันคือเขาแหลม  ดวงตะวันทอแสงมาจากหลังเขาลูกนี้

หลังเคารพธงชาติ แผนที่เดินป่าถูกม้วนเก็บไว้กลางหลังของ บะกาโบ้ มณีกัณฑ์ริยะ ปกาเกอะญอร่างสันทัดผู้จะพูดเท่าที่จำเป็น  แผนที่นี้ถูกตีตารางเป็นช่องกริด (grid) มาตราส่วนในแต่ละกริดเท่ากับ ๑ กิโลเมตร

“จากเหนือลงใต้เราจะเดินป่าประมาณ ๑๕ กิโลเมตร” สมหมาย ขันตรี หัวหน้าชุดลาดตระเวนหันมาบอกเรา  ระยะทางเท่านั้นกับเวลา ๓ วันในป่าดูไม่น่าหนักใจ  คงพูดอย่างนั้นได้เต็มปากหากความจริงไม่ปรากฏเอาภายหลังว่า ระยะทางคลาดเคลื่อนไปไม่น้อย พี่สมหมายบอกเราอย่างคนเข้าใจสภาพทางภูมิศาสตร์ของผืนป่าว่า พิกัดบนหน้ากระดาษอันราบเรียบใช้บอกระยะทางอย่างแม่นยำไม่ได้  เนินเขาสูงสลับสล้าง ทางเดินสูง ๆ ต่ำ ๆ อย่างคลื่นใต้น้ำจะบวกเพิ่มระยะทางเข้าไปอีกหลายกิโลเมตร

หลังทบทวนเส้นทางเดินลาดตระเวนเสร็จเป็นครั้งสุดท้าย ชายฉกรรจ์ ๘ คน ในนาม “สมาร์ตพาโทรลเรนเจอร์” (Smart Patrol Ranger) หรือเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สายตรวจส่วนกลางของอุทยานแห่งชาติคลองลาน ก็ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจส่วนงานป้องกันและปราบปรามอีกครั้งหนึ่ง

ในมือแต่ละคนถือกระบอกปืน กลางหลังคือสัมภาระยังชีพในป่า เครื่องแบบที่แยกพวกเขาออกจากเจ้าหน้าที่ทหารคือชุดลายพรางรูปนกกับต้นไม้ ลวดลายที่หากไม่เข้ามาสังเกตใกล้ ๆ ก็คงไม่เห็น  กับอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสังเกตคือเครื่องบันทึกพิกัดภูมิศาสตร์–จีพีเอส รวมทั้งใบรายงานผลการลาดตระเวนซึ่งเนื้อในแบ่งออกเป็นแบบฟอร์มรายงานถึงสัตว์ที่พบ ความผิดปรกติของสัตว์ เช่น สัตว์ป่วย สัตว์ตาย ซากสัตว์ รหัสซาก ปัจจัยด้านนิเวศวิทยา รวมถึงจุดสังเกตในป่าที่ลงรายละเอียดถึงตำแหน่งโป่งดิน โป่งน้ำ ต้นยวนผึ้ง รังผึ้งร้าง ต้นไทร ผลสุก-ไม่สุก-ไม่มีผล ฯลฯ  มิพักต้องพูดถึงอีกหนึ่งภารกิจในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่เพิ่งเสร็จเรียบร้อยไปก่อนหน้านี้

ข้อมูลที่ได้จะถูกรวบรวมนำมาจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ตามหลักการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ “สมาร์ตพาโทรล” (Smart Patrol) โดยมีโปรแกรมมิสต์ (MIST-Management Information System) เป็นโปรแกรมช่วยจัดเก็บข้อมูลจากการลาดตระเวน แล้วประมวลผลออกมาในรูปของตัวเลข แผนที่เส้นทางการเดินลาดตระเวน และปัจจัยคุกคาม  ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลนี้ได้ถูกนำมาใช้พัฒนาการลาดตระเวนในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศต่าง ๆ แล้วทั้งในทวีปแอฟริกาและในภูมิภาคเอเชีย

ป่ากว้าง

ลึกเข้าไปในไพรพนา แสงทองของดวงอาทิตย์ที่กำลังเจิดจ้าก็ถูกบดบัง อุณหภูมิลดต่ำอย่างรู้สึกได้

ร่องรอยสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่พบอยู่ไม่ไกลจากหัวน้ำตกคลองลานเป็นรอยตีนสัตว์กีบคู่

“ขอบดินยังชื้นอยู่ คงเพิ่งเมื่อคืนหรือเมื่อเช้า” พี่สมหมาย หัวหน้าชุดลาดตระเวนวัย ๔๔ ปีผู้รอบรู้เรื่องราวในป่า อยู่กับป่ากินกับป่ามาเกือบครึ่งชีวิตบอกขึ้นมา

รอยตีนสัตว์กีบคู่บนพื้นดินไม่ผิดจากรอยตีนเก้ง ลักษณะคล้ายกีบหมูแต่ยาวกว่า  พี่สมหมายบอกว่าเก้งตัวนี้น่าจะมีขนาดเกือบ ๓๐ กิโลกรัม

“แต่แยกไม่ออกว่าตัวผู้หรือตัวเมีย” บุญเสริม ช่อพิพฤกษ์ มือกล้องดิจิทัลก้มตัวลงเก็บภาพ  ด้าน สมเอ๋ จะพอเช หนุ่มชาวปกาเกอะญอก้มหน้าบันทึกข้อมูลลงเครื่องจีพีเอส เขาระบุพิกัดตำแหน่งที่พบรอยตีนเก้งลงไป  ค่ำนี้เขายังต้องเขียนข้อมูลที่บันทึกไว้ลงในใบรายงานการลาดตระเวนอย่างละเอียดอีกครั้ง

“ไม่เคยมีใครพบรอยเก้งตรงนี้ ต้องบันทึกลงจีพีเอสไว้” สมเอ๋บอกเรียบง่าย

คณะผู้พิทักษ์ป่าออกเดินทางต่อไป  ผืนป่ารอบนอกยังพอมีช่องเดินป่าให้เห็น  เรื่องเล่าในป่ายังมีให้ฟังไม่ขาดช่วง…ไม่นานมานี้เองเพิ่งมีนักท่องเที่ยวหลงป่าและถูกพบในสภาพอิดโรยเหลือประมาณด้วยไม่ได้กินอาหาร เพียงดื่มน้ำประทังชีวิต

พะชอแฮ ชอบพนา ผู้พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรลเลือดปกาเกอะญอเล่าว่า

“นักท่องเที่ยว ๒ คน เดินป่าลึกเข้ามาโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เกิดหลงติดอยู่ในป่า ๒ วัน ทั้งที่แถวนั้นอยู่ไม่ห่างจากปากทางออกเลย  เราออกเดินแกะรอยจนมาเจอเศษกระดาษที่เขาทิ้งข้อความวางไว้เป็นโน้ตบอกว่าจะเดินตามร่องคลองลงไป  สุดท้ายเราไปพบเขาหมดสภาพอยู่ใกล้เขตหมู่บ้านเก่าของปกาเกอะญอ อีกวันไม่พบท่าจะแย่”

พื้นที่แถบชายป่าคลองลานเคยเป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ จนเมื่อป่าคลองลานถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในช่วงปี ๒๕๒๕ จึงมีการเคลื่อนย้ายคนกลุ่มชาติพันธุ์นี้ออกนอกพื้นที่ถิ่นฐาน วันนี้แถวหมู่บ้านแห่งเดิมยังมีร่องรอยของพืชอาหารหลงเหลืออยู่ให้เห็น

เราเดินทางต่อไปตามเส้นทางสายหลัก ผ่านรอยก่อไฟข้างธารน้ำที่ทิ้งไว้เพียงเถ้าถ่านของปล้องไผ่  สันนิษฐานว่าคงมีใครแอบก่อไฟเผาปลากิน ซึ่งผิดจากระเบียบของอุทยาน

ตลอด ๒ ข้างทางในช่วงต้นยังพอมองเห็นเส้นทางเดินตัดป่า เป็นรอยทางที่ชาวบ้านใช้เข้ามาเก็บผักหาปลา ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอนุโลมให้ชาวบ้านเข้ามาหาของป่าได้ตามสมควร

เราเดินข้ามลำธาร ผ่านจอมปลวกขนาดใหญ่ ถึงต้นยางที่มีลำต้นขนาด ๒ คนโอบ กลางลำต้นถูกขุดลึกเข้าไปเป็นช่องโพรงขนาดหัวคนพอมุดเข้าไปได้ ซ้ำร้ายยังโดนเผาจนดำเป็นตอตะโก

หัวหน้าชุดลาดตระเวนตะโกนเรียกพะชอแฮ ชายร่างโย่งที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “เตี้ย” ให้เป็นผู้อธิบาย

“นี่คือต้นยางที่เนื้อไม้มีน้ำมัน เมื่อเจาะลำต้นออกเป็นโพรง กะขนาดไม่ให้โค่นแล้วจุดไฟใส่โพรงกลางลำต้นไว้ ประคองให้ลุกไหม้อยู่สัก ๕ นาทีก็จะเริ่มมีน้ำมันไหลลงมาขังยังช่องโพรงนี้ สมัยก่อนใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดไฟหรือไม่ก็เอาไปยาเรือ  ต้นนี้น่าจะอายุเป็นร้อยปี ถูกเผาเอาน้ำมันแล้วหลายรอบ”

ภาพยางป่าชวนให้นึกถึงต้นยางนาตามหัวไร่ปลายนาในท้องทุ่งเขตชนบทที่อาจเคยหยัดรากในพื้นที่ของพงไพรจนเกิดการขยับขยายของชุมชน  ต้นไม้ถูกถางเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมคงทิ้งไว้เพียงต้นยางอันเป็นอนุสรณ์พอให้รู้ว่าพื้นที่แถบนั้นเคยเป็นป่ามาก่อน

ลึกเข้าไปในป่าหลังน้ำตกไม่ห่างจากตำแหน่งที่พบต้นยางก็มาถึงเจดีย์ดิน ในพื้นที่ซึ่งแทบทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยใบไผ่หล่นเกลื่อนกลาด

เจดีย์ดินเป็นกองดินขนาดใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า ๓๐ เมตร สันนิษฐานว่ามีคนขุดดินรอบข้างเอามาถมไว้ตรงกลางเป็นเนินสูง  ชาวบ้านชายป่าคิดว่าเจดีย์ดินคงเป็นหลุมฝังศพของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาก่อน

กลางป่าดงรกทึบที่บรรยากาศรอบด้านแลดูเหมือนกันไปทั้งหมด สายตาของคนช่างสังเกตสังกาและผ่านงานบุกป่ามาอย่างช่ำชองแล้วเท่านั้นที่จะแยกเจดีย์ดินออกจากเนินดินสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปอย่างดาษดื่นได้

พี่สมหมายเล่าว่า บะกาโบ้เป็นผู้พบเจดีย์ดินนี้

“อาจเป็นหลุมศพของนักรบที่เดินทัพผ่าน” ชายหัวหน้าหน่วยลาดตระเวนหมายถึงสงครามยุคกรุงศรีอยุธยาซึ่งป่าคลองลานเป็นเส้นทางเดินตัดทะลุไปออกพม่าได้

ไม่ห่างจากเจดีย์ดินผืนดินแถบนั้นเต็มไปด้วยหลุมบ่อทรงสี่เหลี่ยมขนาดพอคนลงไปยืนได้ทั้งตัว

พี่สมหมายเล่าว่า หลุมลึกอันเป็นปริศนาก็น่าจะมีคนมาขุดไว้ น่าจะเป็นคนที่รู้ว่าป่าคลองลานมีสมบัติซ่อนอยู่จำพวกเครื่องสังคโลกและของโบราณที่ดูแล้วไม่น่าใช่สมบัติปกาเกอะญอ

“พวกที่ขุดได้เล่าให้ฟังว่า เหมือนมีเชื้อถ่านสีดำ ๆ โรยตามลงไป เจ้าของคงจงใจทำสัญลักษณ์เอาไว้ให้กลับมาตามเจอ”

คณะผู้เดินป่าทิ้งรอยอดีตที่สถิตข้ามกาลเวลานี้ไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าต่อไปตามทางตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

เราเดินผ่านต้นยวนผึ้ง ผ่านต้นไม้ที่มีร่องรอยตอกทอยขึ้นไปตีผึ้งป่ายังอยู่ตามลำต้น จากนั้นผ่านจอมปลวกสีส้มอิฐขรึมขลังอลังการตั้งอยู่กลางดงไผ่

จุดสังเกตทั้งหมดถูกสมเอ๋บันทึกลงเครื่องจีพีเอสอย่างเคร่งครัดไม่ตกหล่น เช่นเดียวกับบุญเสริมที่คอยเก็บบันทึกภาพตามอย่างละเอียด

 

คณะผู้พิทักษ์ป่า

เว้นจากนักเขียนและช่างภาพ คณะของเราประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในนาม “สมาร์ตพาโทรลเรนเจอร์” ๘ คน

ครึ่งหนึ่งมีชาติพันธุ์ปกาเกอะญออันประกอบด้วยบะกาโบ้ สมเอ๋ พะชอแฮ และ เลาะเชอพอ วารีคีรี

ภายใต้ท่วงทีอันเป็นมิตรเรียบง่าย หรือกระทั่งขี้อายนั้นแฝงไว้ด้วยความชำนาญป่าอย่างหาตัวจับยาก ก็แน่ละ บรรพบุรุษของเขามีชีวิตอยู่ในป่าและพวกเขาเองนั้นก็ยังมีวิถีประจำวันแนบแน่นอยู่กับภูเขาป่าดง

ส่วนเจ้าหน้าที่คนไทยซึ่งในที่นี้หมายถึงคนไทยในเขตพื้นราบ พื้นเพเป็นคนแถบชายป่าคลองลาน  นอกจากพี่สมหมายกับบุญเสริมแล้ว ยังมีพี่ประสิทธิ์ โตวัด และพี่ประพันธ์ เถาโพธิ์

ขบวนแถวตอนนำโดยบะกาโบ้ ผู้ช่ำชองชีวิตในป่ามากกว่าใคร อย่างพูดได้ว่าการ “ผจญไพร” นั้นฝังอยู่ในสายเลือดของเขา

บะกาโบ้รับตำแหน่ง “สเกาต์หน้า” ออกเดินนำตำแหน่งหัวขบวน ซึ่งนอกจากต้องคอยนำทางตามแผนที่และเครื่องจีพีเอสแล้วยังต้องคอยสอดส่องระแวดระวังภัย

ทุกย่างก้าวในป่าที่เต็มไปด้วยภยันตราย ไม่ว่าทั้งจากสัตว์ร้ายหรือผู้ลักลอบ  ไม่ผิดหากจะบอกว่าบะกาโบ้คือผู้ออกรับก่อนเพื่อน

แถวตอนเรียงหนึ่งตามมาด้วยพี่ประสิทธิ์ พี่สมหมาย ผู้เขียน และช่างภาพ สารคดี ถัดมาคือพะชอแฮ สมเอ๋ บุญเสริม เลาะเชอพอ แล้วปิดท้ายขบวนด้วยพี่ประพันธ์ รองหัวหน้าชุดลาดตระเวนรับตำแหน่ง “สเกาต์หลัง”

เราออกเดินทางจาก “ต้นสังกัด” ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้ง แปดคน ตัดเข้าป่าหลังเทือกเขาน้ำตกคลองลาน แล้วมุ่งตามทางที่ทอดลงทางใต้ ตั้งเป้าหมายที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติคลองลานที่ คล. ๑ หรือ “หน่วยพิทักษ์ฯ คลองแม่พืช” ซึ่งอยู่ห่างออกไปในระยะทางเดินเท้า ๒ คืน ๓ วัน

อุทยานแห่งชาติคลองลานเป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตกตอนบน ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เป็นรัฐกันชนหรือป่าหน้าด่านของผืนป่าตะวันตกที่ตอนใต้จดเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (จังหวัดนครสวรรค์) ทางเหนือและตะวันตกติดอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า (จังหวัดตากและกำแพงเพชร) ส่วนตะวันออกติดเขตชุมชนหมู่บ้านอำเภอคลองลาน (จังหวัดกำแพงเพชร)

ป่าคลองลานโดดเด่นในสายตานักอนุรักษ์เพราะอยู่ไม่ห่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกและตะวันออก อันเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ซึ่งทั้งหมดล้วนเชื่อมกันเป็นป่าผืนใหญ่

๒๑-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย

ตัวแทนรัฐบาลไทยและอีก ๑๓ ประเทศได้ร่วมลงนามความร่วมมือในการเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งระดับโลก (The Global Tiger Recovery Program) ในงานประชุม International Tiger Conservation Forum

หลังจากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายกำหนดให้มี “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม” ขึ้นในเขต “อุทยานพี่อุทยานน้อง” ของผืนป่าตะวันตก คือป่าแม่วงก์-คลองลาน (อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน)

ตอนนั้นประชากรเสือโคร่งถูกคุกคามจนหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์  ประเมินว่าทั่วโลกมีเสือโคร่งอยู่เพียง ๓,๕๐๐ ตัว

ดร. รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของป่าแม่วงก์คลองลานว่า

“เสือโคร่งนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่อาศัยกว้างใหญ่และแหล่งอาหารเพียงพอที่จะรองรับประชากรเสือโคร่งได้  จากหลักฐานทางวิชาการและผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ระบบนิเวศในป่าแม่วงก์คลองลานมีศักยภาพในการเป็น ‘บ้าน’ เป็นแหล่งหากินสำคัญของเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง จึงถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อการกระจายและเพิ่มประชากรเสือโคร่ง รวมถึงเป็นพื้นที่รองรับความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ

เพราะการคืนเสือโคร่งให้ป่าสัมพันธ์กับหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้โครงการฟื้นฟูเสือโคร่งฯ ครอบคลุมการทำงานถึง ๓ ด้าน ได้แก่ ๑. งานวิจัยการกระจายและประชากรของเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ๒. งานสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือสมาร์ตพาโทรล และ ๓. งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์สัตว์ป่า”

ในส่วนของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพอันเป็นปัจจัยข้อหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเสือโคร่งได้เกิดขึ้นใน “พื้นที่ต้นแบบ” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ แล้ว

ในช่วงดังกล่าววงการอนุรักษ์ของหลายประเทศทั่วโลกได้พูดถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ โดยเฉพาะ “จิส” หรือเทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS-Geographic Information System) และข้อมูลด้านวิชาการสัตว์ป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเดิมที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ คือ “ระบบการลาดตระเวน”

ซึ่งการลาดตระเวน “แผนใหม่” หรือที่เรียกว่า “ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพก้าวทันและใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นได้

นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ต้องพรั่งพร้อมไปด้วยวิทยาการแห่งการเดินลาดตระเวนป่าแผนใหม่  รู้จัก “จดบันทึก” และ “จัดเก็บข้อมูล” โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้

สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเล่าถึงการดำเนินงานในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งให้ฟังว่า

“โดยเนื้อแท้ของงานลาดตระเวนป่า คือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า ต้นไม้ ซึ่งเราถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานในพื้นที่อนุรักษ์  ที่ผ่านมาการลาดตระเวนยังไม่มีการพึ่งพาเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่เดินป่าในลักษณะตามมีตามเกิด อุปกรณ์ที่ติดตัวมีเพียงเข็มทิศและแผนที่เท่านั้น  แต่วันนี้วิทยาการของโลกก้าวหน้าไปมาก  พรานที่ถูกจับได้ยังมีทั้งวิทยุ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องจีพีเอส  ดังนั้นถ้าเราคิดจะต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรป่าไม้ก็จำเป็นต้องพัฒนาระบบการลาดตระเวนขึ้นใหม่ ‘สมาร์ตพาโทรล’ จึงเข้ามา

“คำนี้จะมีความหมายอย่างไรก็ตาม แต่เราเรียกว่า ‘ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ’ ที่มีการคำนึงถึงคุณภาพในหลายมิติ”

หัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งยกตัวอย่างมิติแรกคือคุณภาพของคน หมายถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องแข็งแกร่ง อดทน มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ดำรงชีวิตในป่าได้ และใช้อาวุธปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มิติต่อมาเป็นเรื่องอุปกรณ์ สมัยก่อนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าพกพาเพียงเข็มทิศ แผนที่ ถึงวันนี้เรามีเครื่องจีพีเอส กล้องดิจิทัล มีรูปแบบการเก็บข้อมูลที่พร้อมจะป้อนลงสู่โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลให้ผู้บริหารเขตอนุรักษ์ฯ วางแผนและตัดสินใจสำหรับการลาดตระเวนครั้งหน้า

แต่การพัฒนาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสู่ความเป็นผู้พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรลนั้นใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย มีกำแพงที่ต้องข้ามตั้งอยู่ในการฝึกฝน ทั้งการเคี่ยวกรำด้านสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งการฝึกใช้เครื่องมือต่าง ๆ และเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์อันนับว่าเป็นของใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ต้องพัฒนาเทคนิคการลาดตระเวนในการตรวจค้น-จับกุม การใช้และบำรุงรักษาอาวุธปืน ศึกษากฎหมายเรื่องความผิดและอัตราโทษตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ไปจนถึงการใช้เครื่องจีพีเอสแสดงพิกัดหมุดหมาย การจำแนกร่องรอยสัตว์ป่า การใช้วิทยุสื่อสาร ทำความเข้าใจและจดบันทึกแบบฟอร์มลาดตระเวน การใช้กล้องดิจิทัลเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ สภาพพื้นที่ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่น่าสนใจ ฯลฯ

“วันนี้เรากำลังพูดถึงระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะการบริหารจัดการป่าไม้เป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบ บอกพิกัดตำแหน่ง บอกได้ว่าเจ้าหน้าที่เดินป่าครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดแล้วหรือยัง หรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ลาดตระเวน ‘เข้ม’ แค่ไหน หากพบปัจจัยคุกคามระหว่างลาด-ตระเวน เช่น เจอปางพักของพรานป่า เจอร่องรอยที่น่าจะมีคนเข้ามาทำผิดกฎหมายก็บันทึกไว้ถึงลักษณะของร่องรอยที่พบ วันเวลา ตำแหน่งสถานที่ทางพิกัดภูมิศาสตร์ เพื่อนำมาประมวลผลอย่างเป็นระบบให้คนทั้งโลกเข้าใจ เพราะนี่คือสถิติ เป็นวิทยาศาสตร์ที่มากกว่าคำพูดบอกเล่า” สมโภชน์กล่าว

ภาระงานที่ซับซ้อนมากขึ้นของผู้พิทักษ์ป่าแลกมาด้วยข้อมูลที่ได้จากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพอันประกอบไปด้วย

๑. สถานที่ วันเวลาในการลาดตระเวน
๒. ข้อมูลสัตว์ป่า พบตัว หรือพบร่องรอย รวมถึงข้อมูลที่ผิดปรกติต่าง ๆ เช่น สัตว์ป่วย สัตว์ตาย
๓. กิจกรรมความเคลื่อนไหวของมนุษย์ เช่น การล่าสัตว์ ทำไม้จับปลา เก็บหาของป่า ปลอกกระสุนปืน ปางพัก ยานพาหนะ
๔. กิจกรรมบังคับใช้กฎหมาย เช่น การเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกรูปถ่าย ทำประวัติ และจับกุม
๕. ศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน บันทึกจำนวนวันและระยะทางของการลาดตระเวนต่อคนหรือแม้ลาดตระเวนแล้วไม่พบสิ่งใดในระยะทาง ๕๐๐ เมตร ก็ยังต้องบันทึกว่า “ไม่พบอะไร”

ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพสร้างความแตกต่างให้ภารกิจลาดตระเวนป่าแบบเดิม เช่นเมื่อประมวลผลแล้วพบว่า พื้นที่ใดในป่ามีกระทิงชุกชุม และมี “ปัจจัยคุกคาม” อยู่ใกล้ ก็จัดให้เพิ่มความเข้มของการลาดตระเวนเข้าไปตรงจุดนั้น หรือส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปลอบดักจับกุมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ข้อมูลเชิงสถิติยังชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๒ จำนวนบ้านพักพราน ห้างยิงสัตว์ ซากสัตว์ขนาดใหญ่ที่ถูกมนุษย์ล่าซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “ปัจจัยคุกคาม” ในห้วยขาแข้งมีปริมาณลดลง

สมโภชน์ยังกล่าวถึงข้อแตกต่างก่อนหลังการมาถึงของสมาร์ตพาโทรลว่า

“สมัยก่อนเราเดินโดยไม่ใช้เครื่องจีพีเอส มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่รู้ตำแหน่งชัดเจนของสัตว์ป่า คนอื่นไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ได้แต่กะเอาจากแผนที่ที่บอกไว้หยาบ ๆ จนเมื่อมีการใช้ระบบสมาร์ตพาโทรล ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บจะชัดเจน และทั้งหมดมีผลเกื้อกูลต่อกัน ทำให้เราวางแผนจัดการลาดตระเวนได้ง่ายขึ้น”

เมื่อระบบ “นำร่อง” ของสมาร์ตพาโทรลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเริ่มลงหลักปักฐานอย่างได้ผล ก็เริ่มมีการขยายผลไปยังพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ที่อยู่ติดกัน เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง

ปี ๒๕๕๔ ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้ไม่มากก็น้อย

สมโภชน์เล่าว่า “ช่วงรอยต่อปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ที่ห้วยขาแข้งมีซากเสือโคร่งถูกเบื่อยาตายไป ๔ ตัว  เราเชิญสัตวแพทย์ของกรมฯ เข้ามาพิสูจน์พบว่าเป็นการเบื่อยาจริง  ทั้งที่การล่าสัตว์ด้วยวิธีนี้หายไปจากป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ไม่คิดว่ามันจะย้อนกลับมาอีก เรื่องนี้ทำให้เรากังวล วางแผนอย่างเป็นระบบ เอาข้อมูลการลาดตระเวนทั้งหมดมาวาง ดูว่าสถานการณ์มันเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร เมื่อพบว่าเกิดขึ้นตรงบริเวณรอยต่อของ ๓ พื้นที่อนุรักษ์ คือ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่ฯ และอุ้มผาง ก็เรียกเจ้าหน้าที่จากแต่ละหน่วยงานมาพูดคุยกัน ปรึกษาว่าจะวางแผนงานลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองพื้นที่กันอย่างไร  เราพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งอาวุธ การข่าว อาหาร ปรากฏว่าการจะตามจับผู้ลักลอบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่มันกว้างขวาง เกิดเหตุต่อเนื่องกันในหลายจังหวัด ตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี  ในป่าที่ไม่มีรั้วกั้น พรานจะเข้าออกทางไหนก็ได้  แต่พอเรามาจับข้อมูลจากระบบลาดตระเวนก็พอรู้ว่าเขาน่าจะเดินป่าจากทางไหน อย่างไร  เราใช้เวลาประมาณ ๔ เดือนจึงตามตัวเจอในป่า มีการยิงปะทะกัน ซึ่งเราจับไม่ได้ในขณะนั้น เขาหนีรอดจากห้วยขาแข้งออกทุ่งใหญ่ฯ  พรานพวกนี้เก่ง แฝงตัวในป่าได้อย่างแนบเนียนเพราะเคยเป็นคนพื้นที่มาก่อน  จากทุ่งใหญ่ฯ เขาหนีไปอุ้มผาง  ตอนนั้นภารกิจของพวกเราคือการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ  เรามีสายข่าวและทำงานกับชุมชน ที่สุดก็ได้รับแจ้งว่าพบบุคคลต้องสงสัย เพราะทางไปอุ้มผางจะต้องผ่านเส้นทางถนน ผ่านชุมชนหมู่บ้านในเขตป่าเขา จนเราตามจับตัวได้ในที่สุด”

นับเป็นความโชคดีที่ในยุคนั้นทั้งสามพื้นที่อนุรักษ์ต่างใช้ระบบลาดตระเวนเดียวกัน จึงนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกันได้ จึงดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบทำผิดกฎหมายได้ในท้ายที่สุด

จากโครงการนำร่องที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอันเป็น “พื้นที่ต้นแบบ” อีกความฝันของคนทำงานพิทักษ์ป่าคือการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้อย่างพรักพร้อมเท่าเทียมกันในเขตอนุรักษ์ฯ ทั้งผืนป่าตะวันตก รวมถึงผืนป่าในทุกภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงป่าอนุรักษ์ที่ได้รับการตีเส้นแบ่งออกตามเขตจังหวัด-ธารน้ำ-ภูเขา เข้ารวมเป็นผืนป่าใหญ่ผืนเดียวกัน

ซึ่งอุทยานแห่งชาติคลองลาน-แม่วงก์คือหนึ่งพื้นที่ที่ได้เริ่มทำตามความฝันนั้น

 

ทางสามแพร่งในป่ามะค่า ๒ ไร่

“พักกลางวันที่นี่” พี่สมหมายบอกเมื่อถึงทางสามแพร่ง จุดนั้นบะกาโบ้นั่งรออยู่ก่อนแล้วเหมือนคะเนไว้ล่วงหน้า

ทางสามแพร่งในป่าขนาบด้วยธารน้ำใสกับภูผาเป็นกำแพงสูงใหญ่ตามธรรมชาติ

เครื่องจีพีเอสบอกระยะทาง ๕.๘ กิโลเมตร พร้อมระบุความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ ๓๖๐ เมตร ขณะที่จุดเริ่มต้นตรงที่ทำการอุทยานฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐ กว่าเมตรเท่านั้น

อาหารมื้อแรกในป่าเป็นข้าวห่อใส่ถุงพลาสติก ล้อมวงกินบนใบตอง ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนก็เทอาหารราดลงบนใบตองนั้นเอง

เราพักล้างหน้าล้างตา ดื่มน้ำกลั่นจากธรรมชาติในลำธารที่พี่สมหมายบอกว่าสะอาดกว่าน้ำโพลาลิส “ผ่านการฆ่าเชื้อจากแสงอาทิตย์แล้ว”

การลาดตระเวณในภาคบ่ายเป็นไปอย่างทรหด เกือบทั้งหมดเป็นการเดินขึ้นเขาซึ่งเรียกร้องพละกำลังอย่างมหาศาล

เราหยุดถ่ายภาพร่องรอยสัตว์ป่าตามรายทาง ทั้งรอยตีนเก้ง ขี้เก้ง รอยกรงเล็บหมีควาย ปลักเลนที่มีหมูป่าลงเล่นจนเละเทะเป็นแอ่งกระทะ เป็นรอยใหม่เมื่อไม่นานเพราะน้ำยังขุ่นอยู่ และถ่ายภาพดอกไม้ใบไม้หลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งสังเกตเห็นโคนไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่แตกปริออกเป็นร่องลึกเหมือนถูกผ่า และมี “ทอย” ซ่อนอยู่ในร่องนั้น

เราลุยฝ่าดงไม้ซึ่งแน่นขนัดสูงเทียมเอวเพื่อมาถึงต้นมะค่าใหญ่ เจ้าของสมญา “มะค่า ๒ ไร่” ด้วยเรือนยอดและพุ่มไม้แผ่ออกเป็นร่มใหญ่เบื้องบน

ต้นมะค่าตรงหน้าเราวัดขนาดรอบลำต้นได้ ๙.๔ เมตร และมีน้ำยางไหลจากคาคบลงมาจดโคนต้น

ผู้เขียนเงยหน้าชมความตระหง่านงามของต้นไม้ยักษ์ที่กิ่งเพียงข้างหนึ่งยังมีขนาดใหญ่กว่าต้นไม้อื่น

ยามนั้นสมเอ๋ไต่เถาวัลย์ขึ้นไปตามลำต้น นั่งพักผ่อนอยู่บนนั้นเนิ่นนาน

บุญเสริมมือจีพีเอสเล่าว่า ภาพถ่ายต้นมะค่านี้เคยคว้ารางวัลรองชนะเลิศการประกวดต้นมะค่าใหญ่ ส่วนมะค่าที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปอยู่ในป่าจังหวัดอุทัยธานี

“แต่ผมคิดว่ามะค่าที่นี่เจ๋งกว่า เพราะมะค่าที่อุทัยฯ ถูกเลื่อยไปแล้วครึ่งต้น แล้วมีคนเอาเหล็กไปดึงไว้” บุญเสริมพูดอย่างนั้นด้วยความภูมิใจ

เราออกเดินลุยฝ่ายไปในพงต้นไม้ตามฟังก์ชั่น “GO TO” ของเครื่องจีพีเอสนำทาง

ตกบ่าย ๓ โมงกว่า ทุกคนรู้ว่าในป่านี้อีกไม่นานพระอาทิตยจะราแสงลง ราตรีจะมาเยือนอย่างรวดเร็ว ทุกคนเร่งฝีเท้ามุ่งไปในทิศทางลงเขา มองหาแหล่งน้ำและลานพักตั้งแคมป์ บางคนเก็บลูกส้านใหญ่ที่ให้รสเปรี้ยวเตรียมไว้ปรุงอาหาร พี่สมหมายเด็ดดีปลากั้งรสขมๆ หวานๆ เอามากินเล่นเป็นสมุนไพร

เส้นทางลาดตระเวณก่อนถึงที่พักแรมนั้นวิบากสุดๆ ทั้งเหนียงเหนอะ ชื้นแฉะ ขนาบไปตามลำห้วยสายเล็กที่ ๒ ข้างเป็นดินเลนสลับกับกรวดหินทิ่มเท้า ป่ารอบด้านรกเรื้อและเต็มไปด้วยเถาวัลย์ ไม่มีพื้นราบกว้างพอสำหรับตั้งแคมป์ได้ บะกาโบ้กับพี่ประสิทธิ์ต้องช่วยกันใช้มีดคู่กายฟาดฟันกิ่งไม้ที่กีดขวางไปตลอดทาง

เบื้องหน้าคือป่ารกเรื้อที่ยากจะฟันฝ่าไป ทั้งเถาวัลย์น้อยใหญ่ แขนขาต้นไม้คอยฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวเดินต่อ

สัมภาระหนักอึ้งบนบ่า กระบอกปืนที่ใครหลายคนบอกว่า “ไม่เคยชั่งดูสักที” มวลของเหล่านี้เพิ่มน้ำหนักขึ้นทุกทีที่ก้าว

 

เสือโคร่งและสหายสัตว์ดารา

รัตติกาลมาเยือนอย่างรวดเร็ว  หิ่งห้อยส่งแสงนิ่งนานกว่าจะกะพริบสักครั้งหนึ่ง  เสี้ยวจันทร์ข้างขึ้นเผยดวงออกมาในความมืดทางทิศตะวันตก รับกับดาว ๒-๓ ดวงที่ไม่รู้สังกัดกลุ่มดาวอะไร คงเห็นเพียงจุดแสงลอดช่องไม้ ส่งแสงสงบ คล้ายแสงหิ่งห้อยในป่าใหญ่

กลางวงล้อมรอบกองไฟ เงาคนทาบลงบนกอไผ่ข้างต้นเสลาคู่

“โชคดีที่ทำสมาร์ตพาโทรล ทำให้รู้ว่าป่าแม่วงก์-คลองลานยังมีเสือโคร่ง และเสือโคร่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด” พี่สมหมายพูดถึงผลจากภารกิจติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) อีกมิติใหม่ของการทำงาน

การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งในเขตป่าแม่วงก์-คลองลานเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ หลังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานเคยพบร่องรอยเสือโคร่งในป่านี้

ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด

ดร. รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้ให้ข้อมูลถึงการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าว่า “การติดกล้องจะช่วยสำรวจการกระจายและการใช้พื้นที่ของสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก การสำรวจครั้งนี้เน้นเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง เก็บข้อมูลร่องรอยของสัตว์ป่าจากการปรากฏ-ไม่ปรากฏทุก ๆ ๑๐๐ เมตรในกริดสำรวจขนาด ๒๕๖ ตารางกิโลเมตรหรือมีขนาดเท่ากับพื้นที่หากินของเสือโคร่งเพศผู้ (จากข้อมูลงานวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) ทั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-อุทยานแห่งชาติคลองลานจำนวน ๙ กริด จากทั้งหมด ๑๐๔ กริด ทั่วผืนป่าตะวันตก”

ต้นปี ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลานได้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเทคนิคการวิจัยสัตว์ป่าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อเพิ่มความเข้าใจด้านงานวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ป่า

เหล่าผู้พิทักษ์ได้เรียนรู้เทคนิคการจำแนกร่องรอยและการทำเครื่องหมายจากพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ป่า ทั้งรอยตีน รอยคุ้ย รอยพ่นฉี่ของเสือโคร่ง รวมทั้งฝึกเก็บข้อมูลประชากรเหยื่อของเสือโคร่งโดยวิธีนับกองมูล

ปัจจุบันงานสำรวจประชากรและการกระจายตัวของเสือโคร่งยังไม่มีวิธีใดที่จะประเมินจำนวนประชากรเสือโคร่งได้อย่างแม่นยำเท่ากับการใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าแล้วนำมาพิจารณาหาความแตกต่างของลวดลายบนตัวเสือ ซึ่งแต่ละตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างคล้ายลายนิ้วมือมนุษย์

จุดติดตั้งกล้องมีทั้งสิ้น ๗๘ จุดกระจายทั่วเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน อุทยานพี่อุทยานน้องแห่งผืนป่า
ตะวันตกที่มีเพียงลำคลองขลุงแบ่งกั้น  และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของ ๒ อุทยานนั้นก็เปรียบดั่งพี่น้องกัน คอยช่วยออกตระเวนติดตั้งกล้องอย่างไร้เส้นแบ่งแดนในป่า

พี่สมหมายถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะคนแบกกล้องตะลอนหาพื้นที่ติดตั้งไปทั่วทั้งป่าว่า

“เราเลือกที่ตั้งกล้องให้แต่ละจุดอยู่ห่างกัน ๓-๔ กิโลเมตร  ตามทางด่านสัตว์ และตามความถี่ของร่องรอยเสือโคร่งที่พบ ทั้งรอยตีน รอยคุ้ย รอยพ่นฉี่หรือที่เรียกว่า สเปรย์  อย่างรอยฉี่พวกเราก็ต้องใช้จมูกสูดดมเอาตามโคนต้นไม้ว่าตรงไหนมีรอยฉี่แล้วเราก็วางกล้องไว้ ๒ ตัวต่อ ๑ จุด เพื่อให้ถ่ายภาพเสือโคร่งได้ทั้งด้านซ้ายและขวา เตรียมเอาไว้ทั้งกล้องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว  เราวางกล้องไว้ในป่าประมาณ ๒ เดือนแล้วค่อยเคลื่อนย้าย  ระหว่างนั้นก็คอยเข้ามาสำรวจตรวจสอบการทำงาน เก็บการ์ดบันทึกภาพ เปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก ๆ ครึ่งเดือน”

ในบรรยากาศรอบด้านอันเป็นป่าลึก ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นกลางวง

“ตอนติดตั้งกล้องต้องเทสต์ คลานล่อเป้าเหมือนเสือ” เสียงพี่ประสิทธิ์ผ่านเข้ามาในเปลวไฟกลางวง  เขากล่าวถึงการคลานเลียนแบบเสือให้กล้องลั่นชัตเตอร์เพื่อทดสอบ ตรวจดูมุมกล้องว่าได้ไหม ลำแสงอินฟาเรดทำงานเป็นปรกติหรือไม่

ซึ่งบ่อยครั้งที่ภาพที่ถ่ายติดมาเป็นพรานป่าหรือบุคคลต้องสงสัย แต่โดยมากมักติดอยู่ในช่วงหัวไหล่ ไม่ค่อยเห็นหน้าพราน

กล้องดักถ่ายภาพจะถูกติดตั้งตามโคนต้นไม้ในระดับความสูงประมาณ ๔๕ เซนติเมตรจากโคนต้น  ลำแสงอินฟาเรดจะคอยควบคุมให้กลไกภายในกล้องให้ลั่นชัตเตอร์เมื่อสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต  หรือแม้บางสิ่งไร้ชีวิตเกิดวูบไหว เช่นใบไม้ดอกไม้ที่ปลิดปลิว กล้องก็ลั่นชัตเตอร์เองเหมือนกัน

“มันทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้น” พี่ประสิทธิ์บอกอย่างนั้น

แล้วเจ้าหน้าที่ต่างเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าหมูหริ่งนั้นเปรียบดั่ง “ดาราหน้ากล้อง”

“มีติดมาทุกที ในเมโมรีกล้องแทบทุกตัว”

“เจอไฟวิ่งเข้าหาไฟ เจอกล้องวิ่งเข้าใส่กล้อง บางทีขี้โชว์หน้ากล้องเลย”

“พวกลิงนี่ยิ่งแล้วใหญ่ ปีนลงจากต้นไม้ ตีลังกาม้วนหน้า ม้วนหลัง ส่งจูบ พวกมันคงสงสัยว่าเครื่องอะไรในป่า” หลายเสียงพูดถึงเหตุการณ์ในป่าดง

ดวงไฟอินฟาเรดหน้ากล้องนั้นเล็กเหมือนปลายธูป จุดแดงเรื่อไม่แจ่มจ้าแต่ก็สร้างความฉงนให้กับหมู่สัตว์ป่าได้อย่างน่าข้องใจ

“ครั้งหนึ่งเคยถ่ายติดกระทิง  มันเดินมาจด ๆ จ้อง ๆ แล้วก็วิ่งพรวดไป”

จนบัดนี้ยังไม่มีใครเข้าใจในความหมายของกระทิงตัวนั้น

อีกหนึ่งเหตุการณ์ลึกลับที่สร้างความน่าขนลุกขนพองให้กับเหล่าผู้พิทักษ์ป่าอย่างเป็นปริศนาคาใจมาจนถึงเดี๋ยวนี้คือพฤติกรรมอันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของสัตว์ผู้ล่าที่ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งจุดสูงสุดของพีระมิดห่วงโซ่อาหาร เจ้าป่าที่ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืช

ครั้งหนึ่ง วิชา ผลารักษ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คณะของเขาออกเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพไปตามเส้นทางสายโมโกจู ยอดเขาสูงสุดในเขตแม่วงก์ตอนเหนือ รอยต่อป่าคลองลาน แล้วรุ่งเช้ากลับมีเรื่องให้ต้องเดินย้อนกลับทางเก่า

บนเส้นทางทุรกันดารที่กลุ่มชายฉกรรจ์เพิ่งเดินผ่านไปเมื่อวาน ปรากฏรอยตีนเสือโคร่งทาบทับอยู่ทั่วไปตามรอยเท้าของพวกเขาอย่างไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใดเจ้าป่าจึงมาอยู่ใกล้คณะของเขาขนาดนี้

“บางทีคงเป็นสัตว์เจ้าสำอาง ป่ารกเสือโคร่งจะไม่ไป เขาจะชอบเดินตามทางโล่งเตียน” อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สิ่งมีชีวิต ๒ สายพันธุ์เดินทับรอยกันตามความเห็นพี่วิชา

ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้คล้ายกับที่พี่สมหมายเคยประสบมากับตัว

คืนหนึ่งเขาตั้งแคมป์ติดหาดทรายริมน้ำ ก่อนค่ำออกตรวจการณ์ดูตามริมน้ำเห็นว่าไม่มีอะไร ถึงเช้าวันใหม่กลับมีรอยตีนเสือ

“เออ เขาไม่ทำร้ายเรา”

เรื่องชวนขำขันก็มี เหมือนอย่างกรณีที่ชาวบ้านแถบรอยต่อป่าคลองลานด้านติดกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้ากล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแอบพาเสือมาปล่อยให้กินควายของชาวบ้านซึ่งเลี้ยงต้อนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอุทยาน จนหลายครั้งเกิดกรณีพิพาทกับเจ้าหน้าที่

“ผมถามทีเถอะครับ…ที่เขาว่าเจ้าหน้าที่คลองลานแอบเอาเสือเข้ามาปล่อย กะให้กินควายของชาวบ้านนั้นจริงหรือเปล่าครับ ?” พี่สมหมายพูดขึงขังเลียนอย่างเสียงชาวบ้านคนพูด

เมื่อชาวบ้านเริ่มรับรู้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลานออกติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า และมีข่าวออกมาว่าป่าคลองลานนั้นมีเสือโคร่งอยู่อาศัย ก็พอดีเกิดเหตุเสือโคร่งออกกินควายที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงไว้อยู่ในเขตอุทยาน เลยพากันคิดว่าเจ้าหน้าที่อุทยานเอาเสือโคร่งมาปล่อยกะให้ลอบกินควายของชาวบ้านเป็นการไล่ที่

“ผมถามทีเถอะครับ เสือโคร่งตัวละกี่บาท ถึงจะซื้อไปปล่อยไล่กินควายของชาวบ้านได้”

ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เมื่อคนติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพถูกกล่าวหาว่าเป็นคนปล่อยเสือ

ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเสือโคร่งล่าควายอาจเป็นตัวเดียวกับที่รอนแรมมาไกลจากป่าห้วยขาแข้ง

นับจากวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าได้บันทึกภาพของเสือโคร่งรหัส HKT 178 ไว้ได้ครั้งแรกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  ถึงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕เสือโคร่งตัวเดิมก็ได้ย้ายตำแหน่งขยายอาณาเขตมาหากินในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์  จนวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ กล้องในเขตป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานก็จับภาพมันไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

จากฐานข้อมูลประชากรเสือโคร่งในป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ฯ ซึ่งจัดทำโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำร่วมกับ WCS ประเทศไทย ผนวกกับข้อมูลเสือโคร่งล่าสุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน พบว่าลวดลายบนลำตัวของเสือโคร่งทั้งสามภาพนี้ เป็นเสือโคร่งตัวเดียวกัน นับเป็นเสือโคร่งที่มีการเดินทางค่อนข้างไกล วัดระยะจากจุดแรกที่จับภาพได้ถึงจุดสุดท้ายประมาณ ๖๐ กิโลเมตร

ด้าน ดร. รุ้งนภา พูลจำปา ให้ความเห็นถึงการปรากฏตัวของ “เสือโคร่ง ๓ ป่าอนุรักษ์” ว่า

“มันอาจอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และกำลังหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างอาณาจักรของตัวเอง  ป่าห้วยขาแข้งอาจมีเจ้าถิ่นอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องออกหาพื้นที่ใหม่  การดำรงอยู่ของเสือโคร่งสักตัวนั่นหมายความว่าเรารักษาผืนป่าไว้ได้ เพราะเสือโคร่งมีอาณาเขตครอบครองที่กว้างขวาง  ครอบคลุมพื้นที่หากินของสัตว์ป่าหลายชนิด  การได้พบเสือโคร่งตัวนี้ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญเรื่องความต่อเนื่องของผืนป่า เพราะแสดงให้เห็นว่าสัตว์ป่ายังเดินทางไปมาในผืนป่าขนาดใหญ่ไร้พรมแดนได้”

หากป่าถูกทำลายหรือถูกลดขนาดลงด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เสือโคร่งจะเป็นสัตว์ป่าชนิดแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ  หน้าที่สำคัญของเสือโคร่งในระบบนิเวศคือการควบคุมประชากรสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป  และแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพในการล่า แต่สัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่งมักเป็นสัตว์ตัวที่เป็นโรคหรืออ่อนแอ จึงเท่ากับเสือโคร่งมีบทบาทสำคัญต่อความยั่งยืนของสรรพชีวิตชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และต่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่แข็งแรง

การให้ความสำคัญและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งจึงเป็นกุศโลบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า  และคงไม่ผิดหากจะบอกว่าเสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ปลายปี ๒๕๕๕ กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลานได้ทำหน้าที่มาครบถ้วนเต็มประสิทธิภาพ และถูกเก็บออกจากป่าเรียบร้อยแล้วในเวลานี้

ผลการศึกษาพบภาพถ่ายสัตว์ป่าชุกชุมสารพัดชนิด แบ่งออกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน ๓๓ ชนิด ประกอบด้วยเสือโคร่ง ๑๐ ตัวและลูกอ่อน ๒ ตัว  สัตว์ผู้ล่าชนิดอื่น เช่น เสือดาว เสือไฟ

สัตว์ที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่ง ได้แก่ กวางป่า กระทิง เก้ง หมูป่า

สัตว์ป่าสงวน ๔ ชนิด คือ สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน รวมทั้งสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เช่น ช้าง หมีควาย ลิงเสน หมูหริ่ง หมาใน ชะมดแผงหางปล้อง

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ป่าแม่วงก์-คลองลานนี้ยังอุดมสมบูรณ์

 

ชีวิต !

“เมื่อคืนมีอะไรผิดปรกติมั้ย” นักเขียนถามพี่สมหมายในรุ่งวันใหม่ที่อากาศกำลังเย็นจัด

“ไม่มี” ชายในชุดเครื่องแบบกล่าวเว้นวรรคแล้วเหมือนนึกบางอย่างขึ้นมาได้

“อ๋อ มี คือพวกมันอยู่เวรกัน ๔ คน”

“…”

ตกดึกอากาศยิ่งหนาวจัด บางคนนอนไม่หลับ ลุกขึ้นมาต้มกาแฟ อยู่พูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ยามซึ่งปรกติจะอยู่กันกะละ
๒ คน และต้องผลัดเปลี่ยนกันทุก ๆ ๒ ชั่วโมง

ก่อนออกเดินทางเราเผาทำลายขยะในป่าทุกชิ้นแล้วใช้ใบตองคลุมทับ ควันสีขาวลอยปกคลุมส่งให้ป่าแถบนั้นดูลึกลับยิ่งขึ้น

อากาศยามเช้าตรู่ยังชื้นอยู่อย่างรู้สึกได้

กว่า ๑ ชั่วโมงผ่านไปในการเดินเลาะเลียบไปตามลำห้วย  ในช่วงที่หนทางข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางบังคับ ลำห้วยคดโค้งทำให้เราต้องเดินลงน้ำเป็นว่าเล่น เราปีนข้ามโขดหินใหญ่ ข้ามขอนไม้จนมาถึง “จุดไทรย้อย”

ที่นั่นเครื่องจีพีเอสยังคงทำหน้าที่แสดงระยะทางมาถึงจุดไทรย้อยเท่ากับ ๑๓.๔ กิโลเมตร  และใช้เวลาเดินทางเบ็ดเสร็จ ๘ ชั่วโมง ๑๓ นาที อันนับเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนที่ไม่นับรวมช่วงที่มีการหยุดพักแต่อย่างใด

จุดไทรย้อยเป็นหมุดหมายสำคัญจุดหนึ่งของเส้นทางลาดตระเวนป่าคลองลาน รู้จักค้นพบมานานตั้งแต่ก่อนจะมีสมาร์ตพาโทรล

ณ ที่ตรงนี้ผู้เขียนขอให้พี่สมหมายช่วยสรุปเส้นทางในระยะที่ผ่านมา

หัวหน้าคณะสมาร์ตพาโทรลเล่าว่า สภาพป่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นป่าเบญจพรรณผสมกับป่าดิบแล้ง  ตรงจุดไทรย้อยเป็นป่าดิบแล้งที่มีต้นเต่าร้างขึ้นระบัดอยู่ในชั้นพื้นล่าง  ต้นเต่าร้างชอบขึ้นในพื้นที่มีความชุ่มชื้นสูง  ส่วนที่ผ่านมาตอนขึ้นเขาจะมีป่าไผ่กระจายปะปนอยู่ในป่าเบญจพรรณ  พื้นที่โดยรวมยังไม่นับว่าสูงชันเท่าไหร่

ป่าคลองลานสูงไล่ระดับจากด้านขวาไปซ้าย หรือจากเขตหมู่บ้านชายป่าลึกเข้าไปทางทิศตะวันตก หากโดยภาพรวมเราเดินทางมุ่งจากเหนือลงใต้

จะว่าไปหากนับว่าคลองลานเป็น “ป่าหน้าด่าน-ป่ากันชน” ของผืนป่าตะวันตกตอนบน พวกเราก็กำลังเดินเลาะไปตามรอบนอกของป่าขอบชั้น “กำแพง” ของป่ากันชนอยู่นั่นเอง

ในด้านการทำเวลา คณะของเราใช้เวลาเดินป่าราว ๘ ชั่วโมง ได้ระยะทางกว่า ๑๓ กิโลเมตร ตกชั่วโมงละ ๑ กิโลเมตรกว่าซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติ

ที่จุดไทรย้อยนี้ยังเป็นจุดแรกที่คณะสมาร์ตพาโทรลกางแผนที่เดินป่าออกดู หลังถูกม้วนเก็บอยู่กลางหลังบะกาโบ้มาตั้งแต่เริ่ม  ก่อนนี้คณะของเราอาศัยเพียงความชำนิชำนาญไพร ผสมรวมกับฟังก์ชันที่ใช้นำทางไปสู่จุดหมาย “GO TO” ในอุปกรณ์ทันสมัยอย่างเครื่องจีพีเอส

ทุกคนมุงล้อมแผนที่เดินป่า ซึ่งแสดงพิกัดตำแหน่งบอกว่าเราเดินมาได้ครึ่งทางแล้วในตอนนี้

ออกเดินทางจากจุดไทรย้อย ผ่านกลุ่มเห็ดสีส้มเรียงซ้อนเป็นชั้น ๆ บนต้นไม้  บุญเสริมตรงเข้าถ่ายรูปในทันที กลุ่มเห็ดเหล่านี้งดงามจนมีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดได้

หมุดหมายต่อไปคือน้ำตกแม่พืชน้อย รูปร่างคล้ายน้ำตกคลองลานย่อส่วน สายน้ำสูง ๕๐ เมตรไหลหล่นลงมาจากหน้าผาใกล้เคียงกับตำแหน่งที่พวกเราเพิ่งไต่กันลงมา ละอองฝอยโปรยปรายเข้ากับแสงอาทิตย์ สองสิ่งช่วยกันถักทอสายรุ้ง เป็นภาพที่งดงามที่สุดในรอบวัน  หลายคนมุ่งตรงถ่ายภาพที่มีรุ้งโค้งงามทอดอยู่เป็นฉากหลัง และถือโอกาสนี้หยุดพักเติมน้ำ

ตรงโคนน้ำตกอันมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ พี่สมหมายนึกถึงเรื่องราวในอดีตครั้งหนึ่งขึ้นมาได้ เป็นเรื่องของภยันตรายระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่

“ผมเกือบตายอยู่ที่คลองน้ำไหล ตอนนั้นออกไปเก็บการ์ดกล้อง ต้องปีนเขา ขึ้นข้ามผา แล้วไต่ข้ามน้ำใกล้หัวน้ำตก  พอเดินไปได้ถึงครึ่งหนึ่งแล้วตั้งท่าจะกระโดด ปรากฏกิ่งไม้ที่โดดไปเกาะเกิดโน้มหัก  ผาตรงนั้นสูงพอกับน้ำตกแม่พืชน้อย”

เพื่อนร่วมทางต่างตกตะลึงกับภาพแห่งชีวิตที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า  ชั่วไม่นานบะกาโบ้รีบวิ่งลงไปรอด้านล่างของน้ำตก คิดในใจอยู่ว่าไอ้สมหมายคงไม่รอดแล้ว

ก่อนน้ำไหลลงจากหน้าผา มีแอ่งน้ำที่ผิวหน้าเรียบนิ่ง แต่เบื้องลึกหมุนวน  สมหมายทิ้งร่างลงตรงนั้น พร้อมด้วยเป้สะพายหลังและกระบอกปืน

ทั้งเป้ทั้งคนบุ๋มหายจมลงใต้น้ำ

“ถ้าร่วงด้านล่างละไม่รอดแน่”

พี่สมหมายถ่ายทอดเรื่องราวในป่าดงที่พานพบมากับตัว

“โชคดีที่ตกลงในแอ่งนั้น แล้วในเป้มีผ้ายางกับถุงพลาสติก ผูกมัดแน่นอยู่เป็นฟองน้ำ เหมือนสุญญากาศคงกระชากเป้เราขึ้นพุ่งพรวดขึ้น”

ชายกลางคนคว้าหมับเข้ากับก้อนหิน รอดชีวิตอย่างเฉียดฉิว

ทั้งที่ตอนนั้นบะกาโบ้ลงไปดักข้างล่างหน้าผาแล้ว

“ดีไม่ถูกปั่นจนเละเสียก่อน” บุญเสริมที่ร่วมอยู่ในคณะเดินป่ากล่าว เมื่อรู้ว่ารุ่นพี่รอดชีวิตมาได้

“มองไม่เห็นตัวเลย” บะกาโบ้ชายปกาเกอะญอเสริม

เหตุการณ์คราวนั้นคลี่คลายผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ก็สอนให้รู้ว่าทุกวินาทีในป่าลึกเต็มไปด้วยภยันตราย ทั้งจากผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย พิษภัยของสัตว์ป่า ไม่เว้นกระทั่งอุบัติเหตุ

 

หมา

เหตุการณ์ที่พิสูจน์ว่าทุกคนคือเพื่อนตายอย่างไม่มีความขลาดกลัวต่อภยันตรายหรือเห็นแก่ตัวต่อกันบังเกิดขึ้นในตกบ่ายของวันนั้น

หลังพิชิต “เขาสนามบิน” อันมีลักษณะเป็นสันเขาทอดตัวยาวกลางภูเขาดงไผ่ ณ ความสูงระดับ ๓๗๐ เมตร พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแคนดิเดตสร้างรันเวย์ให้เครื่องบินทหารลงจอด  ตอนนั้นเรากำลังผ่อนคลายอยู่กับเส้นทางสายหลังเขาที่งวดใกล้ปลายทางของเราเข้าไปทุกที เพียงหาที่ตั้งพักแรมอีกคืนหนึ่งเท่านั้น

ข้างลำธารน้ำใสที่ไหลเซาะผ่านโตรกหิน พื้นดินเต็มไปด้วยใบไผ่ จู่ ๆ พี่สมหมายปลดกระเป๋าลงจากบ่า ทั้งพี่ประสิทธิ์และบะกาโบ้

พักแรมกันตรงนี้ ? ผู้เขียนนึกในใจเช่นนั้น แต่มันจะไม่เร็วเกินไปหรือ ?

เพิ่งบ่าย ๓ โมง

ในชั่วเวลาไม่นาน ภาพที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าก็ทำให้หลุดพูดบางสิ่งออกมา เป็นเสียงลมปากได้ยินอย่างแผ่วเบาที่สุด

“หมา”

มีหมายืนอยู่ตัวหนึ่งบนเนินเขาเบื้องหน้า โผล่หัวออกมาจากซุ้มกอไผ่…

เกือบ ๒ วันเต็มในป่า กับมากที่สุดคือร่องตีนสิ่งมีชีวิต หมาสีน้ำตาลแดงกลับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่พบ ทั้งเห็นตัวเคลื่อนไหว-ได้ยินเสียง

นับเป็นเรื่องผิดปรกติที่มาเจอสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เข้ากลางป่า  สัตว์ซึ่งโดยลักษณะตามธรรมชาติต้องดำเนินชีวิตอยู่อย่างใกล้ชิดมนุษย์

พี่สมหมายหันมาสบตาในสีหน้าคาดเดาไม่ถูกว่าคิดอะไร แล้วในความเงียบที่สุดของความเงียบ จนราวกับเพียงได้ยินเสียงหัวใจเต้นของแต่ละฝ่าย  พี่สมหมาย พี่ประสิทธิ์ และบะกาโบ้ทะยานพรวดไปยังตำแหน่งยอดเนินเขา แล้วหมาน้อยตัวนั้นก็ร้องขึ้นอย่างโหยหวนที่สุด

“โฮ่งงง” เป็นเสียงเห่าที่ไม่เคยได้ยิน น้ำเสียงเย็นวาบเข้าไปในหัวใจ ในความสงัดเสียงนั้นดังไปในคุ้งป่า

“โฮ่งงง โฮ่งง โฮ่งง” เสียงเห่าดังลากยาวขึ้นทำลายข้อสงสัยในเวลานั้น

นี่ยังไม่ใช่เวลาตั้งแคมป์ ?  มีบางสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้นแล้ว ?

หรือมันเห่าเตือนนายของมัน ?

เหตุการณ์ระทึกติดตามมาด้วยภาพผู้พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรลท้ายขบวนที่เดินตามหลังเรามาพากันปลดเป้ลงจากบ่าแล้วพุ่งพรวดผ่านเราไป ทิ้งไว้เพียงผู้เขียนและช่างภาพในความตื่นตะลึง

สองผู้ติดตามได้แต่เดินตามหลังไปห่าง ๆ อย่างระแวดระวังต่อภัยอันตรายเป็นที่สุด

นี่มันเรื่องอะไร ?

กองกำลังกระจายกันออกไปในทุกทิศ  บนยอดเนินนั้นไม่มีใครอยู่แล้ว

หลังความเงียบอันทรมาน  ในที่สุดทุกคนเริ่มกลับมารวมตัวอีกครั้งหนึ่ง

ไม่พบสิ่งผิดปรกติ ไม่มีพวกลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์กระทำผิดกฎหมาย และไม่มีเสียงปืนดังขึ้นแม้เพียงนัดหนึ่ง

พลันผู้เขียนมองย้อนกลับไปยังกองสัมภาระข้างลำธาร มีร่างชายชุดแดงยืนอยู่

“เสื้อแดง เสื้อแดง” แล้วหันมาพูดอย่างแผ่วเบาที่สุด
“ตรงไหน ?” พี่สมหมายตะลึงถาม
“กระเป๋า ตรงร่องน้ำ” ช่างภาพช่วยสื่อความอีกแรง
“ไปรึยัง”
“ยัง ยังอยู่”
หรือถูกตลบหลังเข้าให้แล้ว ?
ฉับพลันทันใดมีแต่เสียงสวบสาบของฝีเท้าบนพื้นทิวป่าไผ่
“โน่นน่ะ อยู่ในร่อง”
“กระเป๋านั่น เสื้อแดง”
“โฮ่งงงง โฮ่งง ๆ ๆ” เสียงหมาตัวเดิมร้องก้องอย่างตกใจ
บรรยากาศเหมือนช่วงไคลแมกซ์ในภาพยนตร์เสียงเห่าดังย้ำชัด ถี่และหนักมากขึ้น
“เฮอะ” แล้วน้ำเสียงแปลกเล็ดลอดมา
“โฮ่ยย ไม่เรียกเราเลย”
“โธ่เอ้ย น่าจะเรียกกันบ้าง”
“ป้าดโธ่ !”
“ฮ่ะฮ่ะ”

เหตุการณ์กลับกลายเป็นเจ้าของหมาคือเจ้าหน้าที่จากหน่วยควบคุมไฟป่าที่มีสำนักตั้งอยู่ในป่าแถบนี้  ชายเจ้าหน้าที่ออกเดินสำรวจแนวกันไฟถึงธารน้ำใสแล้วแวะงัดหาปู

“ตอนวิ่งไปพี่ยังไม่เห็นหมาใช่มั้ย ?” ผู้เขียนถามพี่สมหมายและใครต่อใครเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสงบลง

“ไม่ เห็นหมาก่อน แต่ไม่ได้ดู ไม่ได้มอง คิดว่าต้องมีคนอยู่หลังเขา”

“พอบะกาโบ้ชี้เราก็พุ่งตัวออกไปเลย”

บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนพบคนลักลอบเข้าป่ามาทำผิดกฎหมาย แล้วพาหมาติดตามมาด้วย

“เผื่อช่วยหาสัตว์ แล้วก็เผื่อดูทาง อย่างมูเซอจะเอาหมาออกหน้านำมาก่อน”

“เรานึกว่าต้องมีคน เพราะปรกติหมาจะนำหน้ามา ครั้งนี้เราก็ว่าอย่างนั้น”

ผืนป่ากว้างใหญ่ การตามจับผู้ลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้อาจไม่ต่างจากการหาเส้นด้ายในป่า

ซึ่งแท้จริงนั่นอาจเป็นเพียงสิ่งสุดท้ายที่อยากพบ เพราะการเดินป่าอย่างไร้ร่องรอยมนุษย์ ผู้ลักลอบ อาจหมายความว่าการทำงานอย่างอุทิศตนเพื่อปกปักรักษาป่าไม้เป็นไปได้ด้วยดี ถึงขั้นไม่มีใครคิดบุกรุกแผ้วพาน

 

เรื่องเล่าในป่า

“เมื่อก่อนเราเดินเหมือนไร้จุดหมาย ไม่มีการจดบันทึก  คนข้างนอกไม่รู้ว่าหรอกเราเข้ามาเดินจริงหรือเปล่า  บางคนหาว่าพวกเราเข้ามาหลับ” พี่สมหมายเอ่ยขึ้นในวงล้อมรอบกองไฟหลังผ่านพ้นบททดสอบไปอีกบทหนึ่ง

แสงไฟในป่าดูอย่างไรก็ไม่เบื่อ โชติช่วงในความมืดรอบด้าน

“ถึงวันนี้ไม่มีใครพูดอย่างนั้นแล้ว”

ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทุกก้าวต่อก้าวคือสถิติ ทุกข้อมูลจะถูกบันทึกลงเครื่องจีพีเอสทั้งเส้นทางลาดตระเวน พิกัดสถานที่ วันเวลา จนถึงข้อมูลสัตว์ป่า ร่องรอยที่พบ

ข้อมูลภาคสนามทั้งหมดจะถูกตรวจสอบ แล้วป้อนลงโปรแกรมมิสต์ในคอมพิวเตอร์ ประมวลผลในรูปของแผนที่และตัวเลขที่เข้าใจง่าย

“บางทีหัวหน้าอุทยานฯ กางแผนที่เดินป่าแล้วสุ่มขีดลากเส้นทางใหม่ บอกให้ไปสำรวจในที่ไม่เคยไป  ไปถึงปรากฏว่าเป็นเหว” บุญเสริมมือจีพีเอสของคณะเล่า

การลาดตระเวนแผนใหม่ทำให้พวกเขาได้ค้นพบเส้นทางใหม่ที่ไม่มีใครเคยเหยียบย่างไปถึง

“ครั้งหนึ่งผมเดินไปเจอป่ากระชาย งามอย่าบอกใคร บนเขามันขึ้นอยู่ทั่วไปหมด ถ่ายรูปมาเป็นกระชายล้วน หัวมันเป็นนิ้วโป้งยาว ๆ ไม่เหมือนกระชายบ้าน มันสูง มันงาม แล้วมันขึ้นมาเต็มผืน ๑ หรือ ๒ ไร่”

พี่สมหมายบอกกับลูกทีมให้เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “เขากระชาย”

“ถ้ามีโอกาสผ่านไปก็จะแวะ”

การได้พบเจอธรรมชาติอันพิสุทธิ์กลางป่าดงเร้นลึกย่อมช่วยทำให้รู้สึกหายเหนื่อยได้บ้าง  แต่บางครั้งความรับผิดชอบอันแน่นหนักก็เร่งให้ต้องออกเดินลาดตระเวนป่าแม้ยามกลางคืน อย่างกรณีที่มืดแล้วยังไม่ถึงที่หมายตามที่ตั้งใจ หรืออาจด้วยเครื่องจีพีเอสนำทางไปยังพื้นที่ซึ่งเดินต่อไปไม่ได้ อย่างหุบเขา หน้าผาชัน จนต้องเดินทางต่อในความมืด

“เขาให้เดิน ๓-๔ วัน ช้าจะไม่ทันกาล ยังไม่ถึงที่หมายยังไงก็ต้องไป” ใครบางคนบอก

“หรือบางครั้งไม่มีแหล่งน้ำ ติดอยู่บนเขาสูง จะไม่ลงไปหาน้ำก็ไม่ได้ ไม่มีน้ำกิน” บุญเสริมให้ความเห็นบ้าง ซึ่งหลายคนเคยต้องอาศัยผ้ายางฟลายชีตรองน้ำฝนกินประทังชีวิตมาแล้ว

การเดินป่ายามค่ำย่อมเสี่ยงต่อสัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ ตลอดจนอันตรายจากในป่าดงพงพีอันมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ก็มีโอกาสจับกุมผู้ลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์ได้มาก ซึ่งพี่สมหมายเป็นผู้นำความคิดในด้านนี้

“เรามองไม่เห็นเขา เขาก็มองไม่เห็นเรา บางทีฉายไฟส่องเดินมาเจอกันเอาง่าย ๆ”

ถามว่าเจอกันแล้วอย่างไร ?

“ทีแรกเขาอาจจะสงสัยว่าเราเป็นพวกส่องสัตว์ เพราะพวกสัตว์จะออกหากินตอนค่ำ แล้วก็ตะลุมบอนกันสักตั้งหนึ่ง ถีบได้ถีบ ทุบได้ทุบ ล้มแล้วก็คลุกกัน ล็อก บางครั้งไล่จับพวกเดียวกันก็มี ต้องร้องบอกนี่กู นี่กูเอง”

ครั้งหนึ่งเขาเคยเดินนำลูกทีมออกลาดตระเวนป่า แล้วตั้งแคมป์พักแรมในลักษณะของการดักซุ่ม

เขาผูกเปลนอนอยู่ตรงโคนต้นไม้ ใกล้ทางลงเขาที่เมื่อตอนกลางวันคณะของเขาเพิ่งไล่ตามจับมูเซอที่แอบเข้ามาตัดเอาหวาย  ตกดึกได้ยินเสียงปัง ! ปัง !  เหมือนมีคนลอบยิงลิงลมอยู่ใกล้ ๆ จึงรีบชวนเพื่อนออกไปซุ่มดักเพื่อจับกุม รอให้พวกลักลอบเดินลงมา ปรากฏเพื่อนเกิดใจร้อนขึ้นมากลับส่องไฟไปหา

“พอเห็นกันเข้าเท่านั้น ลูกปงลูกปืนหล่นกระจาย สุดท้าย (พวกลักลอบ) ทิ้งปืนหนีเข้าป่า  เช้ามาถึงได้เห็นตรงที่ลุยเข้าไปกันเมื่อคืน ไม่รู้ว่าเป็นหนามหรืออะไร แต่กลางวันไม่กล้าลุยเข้าไปก็แล้วกัน” สิ้นคำนั้นเรียกหัวเราะฮาครืน

ถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ มีเด็กน้อยออกเดินตามหาพ่อชายป่าพบเจ้าหน้าที่สมาร์ตพาโทรลก็ตรงเข้าถามว่าเห็นพ่อบ้างไหม  ครั้นย้อนถามว่าพ่อมาทำอะไร ? เด็กก็ตอบอย่างพาซื่อว่าพ่อเข้ามาส่องสัตว์

“ผู้ใหญ่ปรกติถูกจับ เขาจะบอก ‘เพิ่งมาครั้งแรกเลยนะเนี่ย เพื่อนชวนมา’ สุดแท้แต่จะพรรณนาให้เราใจอ่อน”

 

เมือง

“จะให้บู๊อย่างเดียวมันไม่ได้เพราะชาวบ้านเขาต้องอยู่กับป่า เข้าหามวลชนด้วยดีกว่าปราบปรามอยู่ในเขตป่าอย่างเดียว” พี่สมหมายพูดถึงอีกหนึ่งภารกิจของผู้พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรล “การที่เราเข้าถึงเด็ก ๆ มันช่วยได้เยอะ ตอนเช้าเราถึงเข้าโรงเรียน ตอนบ่ายออกชุมชน ไปเก็บข้อมูลแบบสำรวจ ซึ่งบางครั้งเด็กให้ข้อมูลดีกว่าคนโตอีก เพราะเด็กพูดตามจริง คนโตโกหกเรา”

ครั้งหนึ่งเขาถามเด็กแถบชายป่าคลองลานว่าเคยกินเนื้อสัตว์ป่าหรือเปล่า

“เด็กบอกว่า เคยกิน เมื่อวานนี้พ่อยังเอามาให้กินอยู่เลย  ถามว่าเนื้อกระรอกอร่อยมั้ย เด็กบอกอร่อย อ้าว ! ผู้ใหญ่เอามาให้เด็กกิน มันเป็นข้อมูลตรง”

ภารกิจในเขตป่าจึงดำเนินไปพร้อมหน้าที่ภาระในเขตเมือง ซึ่งก็เป็นไปตาม “หัวข้อสำคัญประการที่ ๓” ของโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน คือการประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้กับชุมชนรอบพื้นที่

“การได้เข้าชุมชนมาก ๆ ทำให้เรารู้ว่า การล่าสัตว์ลดลงไหม  เราทำ ๒ อย่างควบคู่กันไปมันน่าจะช่วยลด” พี่สมหมายกล่าวอย่างมีหวัง

ในพื้นที่ชุมชนติดชายป่าอันได้แก่ชาวบ้านในเขต ๖ หมู่บ้านที่พบว่ายังมีการลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์ กับเด็กนักเรียนใน ๘ โรงเรียนติดเขตอุทยานฯ จึงได้เข้าร่วมโครงการ “สื่อความหมาย” ซึ่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรลส่วนหนึ่งได้วางอาวุธและอุปกรณ์ไฮเทคมาให้ความรู้และความบันเทิงในกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์นี้

“พี่เสือ” “พี่หมี” “พี่กวาง” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภายใต้ชุดตัวการ์ตูนต่าง ๆ จะพาเล่นเกม เช่น เกมทางรอดของเสือ เกมสายใยธรรมชาติ มีกิจกรรมเผยแพร่เรื่องราวในป่าเร้นลึกเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ที่ ๒ ฝ่ายเหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด

สำหรับพี่สมหมาย ขันตรี หลายครั้งที่ผู้เขียนสัมผัสได้ว่ายอดนักรบคลองลานคนนี้เป็นคนโรแมนติกอ่อนหวาน โดยเฉพาะยามเขาเหม่อมองเข้าไปในกองไฟ

นี่คือชายผู้ร่วมตั้งวงดนตรี “Big Cat” โดยเขารับตำแหน่งนักร้องนำและแต่งเพลง

วงดนตรี “แมวใหญ่” ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนันทนาการ อันเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวในป่าให้กับโรงเรียนและชุมชนอีกทาง เป็นวงบอยแบนด์อันประกอบขึ้นจากการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน  งานนี้ผู้พิทักษ์ป่าวางปืนลงชั่วคราว หันมาจับไมโครโฟน ดีดกีตาร์

รอบวงขอให้พี่สมหมายช่วยถ่ายทอดบทเพลงให้ผู้ติดตาม ๒ คนฟัง

เสียงเพลงนั้นดังขึ้นในความมืดกลางป่าที่มีแต่เสียงแมลงกลางคืนกรีดปีก ไม่มีดนตรี ไม่มีกีตาร์ หากแต่ว่าเพราะจับใจ

…สายลมหนาวโบกโบย ผ่านมา มองผืนป่า แสนไกลสุดสายตา ไพรพนากว้างไกลสุดขอบฟ้า อีกมากมาย สัตว์ป่าและพืชพรรณ…

เพลง “ช่องเย็น” เนื้อหาแนวเพลงเพื่อชีวิต เล่าถึงสภาพพื้นที่ของช่องเย็นซึ่งอยู่ในเขตป่าแม่วงก์ตรงรอยต่อป่าคลองลาน อุณหภูมิหนาวเย็นตลอดทั้งปี

อีกบทเพลงชื่อ “น้ำตกคลองลาน” จังหวะออกไปในทางลูกทุ่งสามช่า

เสียงนั้นมาแล้ว

…ไปกับพี่ไหมเจ้าตาหวาน น้ำตกคลองลาน เคยเห็นหรือเปล่า บ้านพี่อยู่ที่คลองลาน อยากชวนตาหวาน ไปดูหนุ่มสาว สงกรานต์เขาเล่นสนุก อย่างมีความสุข ต้องมาเที่ยวคลองลาน…”

นักรบต้นไม้ผู้ปกป้องสัตว์ป่ากลายเป็นนักร้องเสียงหวานในพริบตา ลองนึกดูว่าจะครึกครื้นคึกคักและครบครันสักเพียงใด หากได้เครื่องดนตรีเล่นประกอบสมบูรณ์เพลง

เรานั่งฟังสารพัดเหตุการณ์ในป่าพง ฟังเพลงสดในพื้นที่ชายขอบป่า อีกไม่นานภารกิจของผู้พิทักษ์ก็จะสิ้นสุดลงเป็นการชั่วคราว

ภารกิจของนักรบคลองลานที่ครั้งหนึ่ง ดร. อนรรฆ พัฒนพิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์กรสนับสนุนระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพแห่งแรกในประเทศไทยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเคยบอกเอาไว้ว่า ภารกิจนี้จะไม่มีทางสำเร็จ ไม่มีวันเป็นจริง ไม่ว่าจะพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์เทคโนโลยีสูงล้ำสักปานใด…หากไม่สามารถดึง “หัวจิตหัวใจ” แห่งความเป็นผู้พิทักษ์ป่าของมนุษย์ขึ้นมาได้

 

อีกบททดสอบ

หม้อสนามดำเมี่ยมถูกเก็บเข้ากระเป๋าสะพายหลัง เช่นเดียวกับสัมภาระยังชีพในป่าเพื่อเตรียมออกลาดตระเวนในช่วงสุดท้าย

รุ่งเช้าของวันใหม่ เราช่วยกันเก็บกวาดพื้นที่พักแรมให้คงสภาพเดิมของป่ามากที่สุด

ปลายทางคือที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติคลองลานที่ คล. ๑ หรือหน่วยพิทักษ์ฯ คลองแม่พืช  ที่นั่นจะมีรถยนต์มารอรับพวกเรากลับยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน ต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่สมาร์ตพาโทรลเรนเจอร์ทั้งแปดคน อันถือเป็นการสิ้นสุดการทำงานในครั้งนี้

เครื่องจีพีเอสบอกระยะเข้าใกล้ ๒๓ กิโลเมตรเข้าไปทุกทีแล้ว

จากที่ตั้งแคมป์ เราเดินผ่านป่าเบญจพรรณอันมีสภาพโดยรอบเป็นดงไผ่ มาถึงลำธารน้ำใสไหลแรง เป็นสายน้ำจากป่าอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ลึกเข้าไป  สายน้ำนี้ใกล้จะไหลออกสู่เขตเมืองเต็มแก่แล้ว ตรงจุดนี้เราต้องตัดสินใจว่าจะเดินลุยข้ามฝั่งน้ำ หรือเดินตัดเขาเข้าป่าทึบเพื่อมุ่งสู่จุดหมาย

“ข้ามคลองไป” ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้น

“ไม่ข้ามไม่ได้เหรอ” มีเสียงย้อนตามมา

“แล้วจะให้มุดทรายใต้น้ำข้ามคลองไปหรือไง” สุดท้ายเราก็ต้องยอมเปียกกันตั้งแต่ยังเช้าอยู่

หลังข้ามลำธารและโขดหิน มีเพียงเส้นทางป่าอันราบเรียบรออยู่เท่านั้น  ทางเดิน ๒ ข้างเป็นกอไผ่ระบัดกระจัดกระจาย เรือนยอดรกครึ้มปกคลุมให้ร่มเงา  บรรยากาศยามนั้นเงียบนิ่ง แต่แล้วกลับได้ยินเสียงเครื่องยนต์แว่ว

ใกล้ปลายทางเข้าไปทุกที

พุ่มไม้ชายป่ารออยู่ข้างหน้า

แล้วเมื่อแสงอาทิตย์ลูกใหญ่สาดเข้ามา สารพัดเหตุการณ์ในผืนป่าจะผ่านไป

เพื่อรอรับภารกิจครั้งใหม่ของผู้พิทักษ์ป่าสมาร์ตพาโทรล

ขอขอบคุณ

  • ดร. รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติ
  • คลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
  • ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
  • คุณธวัชชัย เพชระบูรณิน อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
  • คุณสุระชัย โภคะมณี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
  • พี่สมหมาย ขันตรี และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์