อ่านเมือง
เรื่อง : สุดารา สุจฉายา
ภาพประกอบ : นันทวัน วาตะ
“แกะนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้
อันมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คน และพลวัตของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ”

อ่านเมือง - สร้างเด็กรักถิ่นกับโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาเมืองแกลง จังหวัดระยอง หรือที่ชาวบ้านในอดีตเรียกว่า สามย่าน เป็นชุมทางค้าขายซึ่งเชื่อมโยงผู้คนหลายพื้นที่ ทั้งทางเหนือ ทางใต้ และทางตะวันตกของเมืองระยองได้ ด้วยมีแม่น้ำประแสร์ไหลผ่านกลางชุมชนเมือง จึงเป็นจุดจอดเรือขนส่งสินค้าได้โดยสะดวก มีดินดำน้ำชุ่มเป็นแหล่งทำการเกษตร ปลูกข้าวมาแต่อดีต กระทั่งเมืองแกลงเข้าสู่กระแสการพัฒนาสมัยใหม่ ภาครัฐสนับสนุนให้ปลูกยางพารา แกลงจึงเป็นพื้นที่ทำสวนยางแหล่งใหญ่ เกิดโรงงานแปรรูปยางขึ้นหลายแห่งในพื้นที่ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเมืองต่อมา โดยเฉพาะแม่น้ำประแสร์ที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมและแหล่งอาหารให้แก่ชุมชนก็เสื่อมสภาพ น้ำเน่าเสีย กุ้งหอยปูปลาลดจำนวนลงอย่างมาก รายได้ของชาวประมงถดถอยอัตคัดลง…

“เราไม่ได้บอกให้คุณต้องกลับบ้าน แต่เรามีปัญหากับระบบการศึกษาปัจจุบัน เพราะการศึกษาไม่ทำให้คนใช้ถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นตัวเลือกในการใช้ชีวิต เราเริ่มคิดแล้วว่าความยั่งยืนของเมืองอยู่ตรงไหน ถ้าเราทิ้งบ้าน สุดท้ายเกิดที่ดินรกร้างว่างเปล่า เมื่อมีนักลงทุนจากที่อื่นเข้ามา เขาไม่เข้าใจรากเหง้า…ไม่เข้าใจอะไรเลย ฉะนั้นเขาจะทำอะไรก็ได้ให้ได้เงิน เราพบว่าท้องนาหลายที่ถูกเปลี่ยนเป็นรีสอร์ต เป็นโรงแรมม่านรูด มันเป็นการลงทุนที่ผิดฝาผิดตัว เราจึงอยากสร้างโรงเรียนที่มีการจัดหลักสูตรเอง และสิ่งที่จะประกาศความอหังการของเราก็คือชื่อโรงเรียน นั่นคือ “อยู่เมืองแกลงวิทยา”

สมชาย จริยเจริญ ชาวเมืองแกลงโดยกำเนิดกล่าว เขาลงสมัครการเมืองท้องถิ่นเพราะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและการโยกย้ายออกจากพื้นที่ของคนแกลง จนเมื่อได้เป็นนายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลงแล้วจึงพยายามผลักดันโครงการฟื้นฟูเมืองหลายโครงการขึ้น รวมทั้งริเริ่มนโยบายการศึกษาที่เหมาะกับท้องถิ่นนั่นคือโรงเรียน “อยู่เมืองแกลงวิทยา”

 

ภารกิจสร้าง “ครู”

ใครจะคิดว่าก่อนสร้างโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาได้มีการตระเตรียมแนวคิดและการจัดการมาก่อนหน้าถึง ๓-๔ ปีแล้ว ด้วยสายตาที่มองการณ์ไกลของนายกเทศมนตรีท่านนี้ซึ่งเห็นว่าเทศบาลต้องเตรียมองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองแกลงไว้ให้เด็ก เพื่อเด็กจะได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ของบ้านเมืองตนเอง และผู้ที่นายกเทศมนตรีเปรียบว่าเป็นเสมือน “ท่อเคเบิล” ลำเลียงความรู้ไปสู่สมองของเด็กๆ นั้นหาใช่ “ครู” ตามระบบที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน แต่ต้องเป็น “ครูเหนือครู” และต้องไม่จบครู เพราะ

“ผมคิดว่าครูส่วนใหญ่มักติดกรอบ การเรียนครูก็ถูกครอบมาแล้วชั้นหนึ่งโดยคุณไม่รู้ตัว ผมจึงอยากได้คนจบปริญญาตรี คณะอะไรก็ได้ มาเป็นบุคลากรช่วยสอนของเทศบาล ซึ่งตอนนี้มีอยู่ ๔ คน เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนผมให้เขาค้นคว้าหาข้อมูลของเมืองแกลง…ของเทศบาล เช่น เรามีแม่น้ำอะไร มีวัดอะไร เทศบาลมีขยะเท่าไร เรากำลังทำอะไร แล้วนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับแกลงไปเล่าให้เด็กตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตเทศบาลฟัง เราเข้าไปสอนตามโรงเรียนประถม บูรณาการเรื่องท้องถิ่นไว้ในวิชาสิ่งแวดล้อมบ้าง วิชาประวัติศาสตร์บ้าง เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีโรงเรียนของเราเอง ซึ่งทางโรงเรียนเหล่านั้นก็ให้ความร่วมมือบรรจุองค์ความรู้นี้เป็น
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่เรียน มีคะแนนซึ่งให้คุณให้โทษกับเด็กด้วย อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นข้อมูลของบ้านเมืองในหัวของเด็กๆ เมื่อเขาจากไปเรียนยังที่อื่นๆ”

แม้ในระยะแรกจะประสบอุปสรรคจากความไม่เข้าใจของส่วนราชการจังหวัดเกี่ยวกับการบรรจุบุคลากรครูทางเลือก แต่ทางเทศบาลก็หาช่องทางจนผ่านมาได้ และนำมาสู่การเกิดโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา สำหรับประชาคมเมืองแกลงแล้วนี่คือส่วนหนึ่งของการวางรากฐานการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองอย่างยั่งยืน

“เราจะใช้เรื่องราวของบ้านเมืองแทรกเข้าไปให้เด็กได้รู้ด้วยวิธีการที่สนุกๆ สร้างบรรยากาศให้เด็กรักโรงเรียน เพราะหากเด็กยังไม่รักโรงเรียน เด็กจะไปรักบ้านเมืองของตน จะรักชาติได้อย่างไร ปีแรกเราจะรับตั้งแต่อนุบาลถึงแค่ประถม ๑ รับชั้นละ ๒๐ กว่าคน โดยรับเด็กในเขตพื้นที่รับผิดชอบก่อน เด็กนอกเขตให้โอกาสทีหลัง
และเปิดรับปีละแค่ ๑ ชั้น เพราะเราไม่ได้ต้องการผลสัมฤทธิ์เร็ว ให้เป็นก้าวต่อก้าว แล้วเราต้องทบทวนหลักคิด ทบทวนความสามารถของบุคลากรของเราด้วย หลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาฯ ให้เราเอามาเป็นหลักสูตรข้างเคียง เอาหลักสูตรท้องถิ่นของเราเป็นหลักสูตรแกนกลางแทน ในเมื่อเราใช้เงินท้องถิ่นเป็นคนสร้าง คนท้องถิ่นก็ต้องคิดเอง ถ้าถามว่าเทศบาลไม่ทำแล้วใครจะทำ เทศบาลเท่ากับ “บ้าน” ของเรา บ้านก็คือประชาชนในพื้นที่ เทศบาลไม่ใช่ราชการ เพราะสูงสุดขององค์กรนี้คือชาวบ้านที่ถูกเลือกขึ้นมา ดังนั้นบ้านของเรา เราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”

 

กว่าจะเป็น “อยู่เมืองแกลงวิทยา”

การมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตของชาวเมืองแกลง หาได้เพิ่งเกิดขึ้นจากโครงการสร้างโรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น แต่ได้มีพัฒนาการทางความคิดและการลงไม้ลงมือกระทำนับตั้งแต่ สมชาย จริยเจริญ เข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลงสมัยแรกในปี ๒๕๔๔

ไม่ว่าโครงการพัฒนาแกลงให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ โดยร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษาสภาพภูมิอากาศ การจัดระบบขนส่งสาธารณะชุมชน หรือ ข.ส.ม.ก. (ขนส่งเมืองแกลง) ด้วยรถรางที่ไม่คิดค่าบริการ เป็นบริการขนส่งที่ปลอดภัยซึ่งทางเทศบาลยินดีลงทุนให้แก่ประชาชนเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันจากพาหนะส่วนบุคคลลง และช่วยให้การจราจรในพื้นที่มีความคล่องตัวขึ้น การคัดแยกขยะและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากโรงเรียนต่างๆ เพื่อปลูกฝังให้ชาวแกลงรู้จักแยกขยะ ทั้งยังรณรงค์และออกกฎหมายให้ห้างร้าน ครัวเรือน ติดตั้งถังดักจับไขมันจากเศษอาหารก่อนปล่อยทิ้งลงแหล่งน้ำ เทศบาลยังเป็นผู้รับซื้อไขมันจากบ่อดักนำมาทำเป็นแท่งไขมันอัดก้อนที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ด้วยระบบต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เมืองแกลงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงวันละ ๒๐๐ กิโลกรัม ลดปริมาณขยะจากประมาณ ๗ ล้านกิโลกรัมเมื่อปี
๒๕๔๙ ให้เหลือประมาณ ๖ ล้านกิโลกรัมในปี ๒๕๕๒ และสร้างรายได้จากการขายปุ๋ยมูลสัตว์ น้ำจุลินทรีย์ และเชื้อเพลิงก้อนไขมันอีกด้วย

เทศบาลยังชักชวนให้ประชาชนหันกลับมาทำนาและรณรงค์ให้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองในครัวเรือน ตลอดจนทำเกษตรเมืองตามที่ว่างเปล่า ทำให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลง และที่สำคัญเกิดจิตสำนึกรู้ค่าและรักธรรมชาติมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้จะไม่ปรากฏผลสำเร็จเลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวเมืองแกลงซึ่งได้ตระหนักแล้วว่าโครงการต่างๆ นี้ เป็นการฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่และให้ชาวเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี แผนการสร้างโรงเรียนเพื่อบ่มเพาะลูกหลานชาวแกลงให้รักบ้านเมืองจึงได้รับการขานรับอย่างดี

“ระบบการศึกษาไทยเป็นเหมือนกับการตัดเสื้อฟรีไซส์ให้ทุกคนใส่เสื้อเหมือนกันหมด ฉะนั้นเมื่อจบระดับอุดมศึกษาไม่เข้าโรงงานก็ไปเข้าภาคบริการ…จะมีค่านิยมอะไรก็ได้ เพราะการสอนของบ้านเราคือสอนให้คนทิ้งบ้านทิ้งถิ่น ประชากรผู้สูงอายุจึงมีจำนวนมาก ขณะที่ประชากรวัยหนุ่มสาวเหลือนิดเดียวในถิ่นฐานบ้านเกิด เด็กที่เรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาจะต้องจำชื่อบ้านเมืองของเขาไปตลอดชีวิต ที่สำคัญไม่ใช่แค่มีชีวิตอาศัยอยู่เมืองแกลงเท่านั้น แต่เมืองแกลงได้ให้ชีวิตความเป็นอยู่กับตัวเขา รวมถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยซ้ำ…”

คงไม่นานเกินรอที่จะได้เห็น “มรรคผล” จากเยาวชนตัวน้อยที่เกิดจากการลงไม้ลงมือกระทำ ภายใต้สำนึกรักมาตุภูมิว่าจะนำความสุขมาสู่ชาวเมืองแกลง…เมืองเล็กๆ บนชายฝั่งทะเลตะวันออกได้อย่างยั่งยืนเพียงไร และหวังอย่างยิ่งว่า “แกลง” จะเป็นแรงกระเพื่อมไปถึงผู้บริหารท้องถิ่นแห่งอื่นๆ ได้ตระหนักว่าภายใต้อำนาจที่มีอยู่บนพื้นที่เล็กๆ หากมุ่ง “ทำ” เพื่อบ้านและท้องถิ่นแล้ว ย่อมได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านเช่นกัน