เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ patwajee@gmail.com
ภาพประกอบ : จัน-เจ้า-ค่ะ
เมื่อปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขออกมารณรงค์ให้คนหันมาใช้ส้วมแบบนั่งห้อยขาแทนส้วมนั่งยองอย่างคึกคัก โดยให้เหตุผลว่าส้วมแบบหลังทำให้ข้อเข่าเสื่อม
ผู้เขียนเห็นว่านโยบายนี้เป็นเรื่องดีหากอ้างถึงความสะดวกสบายและสุขอนามัยอื่นๆ แต่การอ้างว่าการใช้ส้วมนั่งยองคือสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นการเหมารวม ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ท่านั่งที่แท้จริงมีประโยชน์กลายเป็นผู้ร้าย
ย้อนกลับไปในอดีตท่านั่งยองเป็นท่านั่งสำหรับการขับถ่ายของคนทั่วโลกก่อนที่วัฒนธรรมส้วมโถนั่งแบบตะวันตกจะมาเยือนเมื่อประมาณร้อยปีมานี้เอง จุดเด่นของท่านั่งยองต่อระบบการขับถ่ายก็คือการกดนวดลำไส้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าท่าโยคะดั้งเดิมที่มีมานับพันปีและได้รับการพิสูจน์ว่าดีต่อการขับถ่ายล้วนเป็นท่าที่ช่วยกดนวดลำไส้ทั้งสิ้น เช่น ท่าคีมที่นั่งยืดขาทั้งสองไปข้างหน้าแล้วก้มตัวลงจนกล้ามเนื้อต้นขาแนบไปกับหน้าท้อง ท่างูที่แนบต้นขาและหน้าท้องไปกับพื้นและแอ่นกระดูกสันหลังช่วงบน
ในตำราแพทย์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร (Gastroenterology) ของ เฮนรี แอล. บอกกัส (Henry L. Bockus) เขียนไว้ว่า ท่านั่งขับถ่ายในอุดมคติคือท่านั่งยอง ด้วยต้นขาที่แนบไปกับ
หน้าท้อง ช่องว่างในช่องท้องจะหดลง แรงดันภายในท้องจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงกระตุ้นการขับถ่าย
เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่บ้านเรากำลังรณรงค์ให้เปลี่ยนส้วมนั่งยองมาเป็นส้วมโถนั่ง ในดินแดนตะวันตกต้นกำเนิดของส้วมชักโครกเริ่มหันกลับคืนสู่สามัญด้วยการปรับเปลี่ยนจากส้วมโถนั่งมาเป็นส้วมนั่งยองกันบ้างแล้ว
จดหมายข่าวกินดีอยู่ดี (Wellness Letter) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ฉบับมกราคม ค.ศ. ๒๐๑๒ ตีพิมพ์ผลการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า การนั่งยองขับถ่ายช่วยลดอาการท้องผูก เช่น ผลการศึกษาในประเทศอิสราเอลเมื่อปี ๒๕๔๖ พบว่ากลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๗-๖๖ ปีที่ใช้ส้วมนั่งยองใช้เวลาขับถ่ายและใช้แรงเบ่งน้อยกว่าการใช้ส้วมแบบโถนั่ง และผลการศึกษาในประเทศอิหร่านเมื่อปี ๒๕๔๕ พบว่าการขับถ่ายจะสมบูรณ์ (สุด) กว่าเมื่อใช้ส้วมนั่งยอง และการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าการใช้แรงเบ่งจากช่องท้องจะน้อยกว่าเมื่อนั่งยอง และมีคำแนะนำว่าในการขับถ่ายควรใช้แรงเบ่งให้น้อย
ทั้งนี้ ดร.สตีเวน จาคอบสัน แพทย์โรคทางเดินอาหารซึ่งเป็นบรรณาธิการร่วมของ จดหมายข่าวฯ สรุปจากการศึกษาดังกล่าวว่า การนั่งยองช่วยยืดมุมระหว่างสำไส้ใหญ่ส่วนปลายกับทวารหนัก ทำให้เกิดการผ่อนคลายและการขับถ่ายที่สมบูรณ์ ซึ่งในทางทฤษฎีการขับถ่ายท่านั่งยองช่วยเรื่องท้องผูกและริดสีดวงได้บ้าง
ขณะนี้มีผู้ที่เห็นประโยชน์จากการนั่งยองขับถ่ายประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า “squatty potty” เป็นตัวช่วยสำหรับคนที่มีส้วมแบบโถนั่งแต่อยากนั่งยองออกมา เจ้าอุปกรณ์นี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ดูแล้วคุณเองก็ทำได้ด้วยการนำม้านั่งเตี้ยๆ มาวางรองเท้าขณะนั่งอยู่บนโถส้วม โดยกะให้แนวกระดูกสันหลังและแนวกระดูกต้นขาอยู่ในมุม ๓๕ องศา
จะว่าไปท่านั่งขับถ่ายเป็นแค่เพียงปัจจัยหนึ่งของการขับถ่ายที่สมบูรณ์และลดปัญหาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและโรคข้อเข่าเสื่อมที่ดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ปัจจัยสำคัญและเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคืออาหารการกินและความรู้สึกนึกคิด
ในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อ หัวใจอึ แนะนำการดำรงชีวิต ให้อึอย่างมีความสุข ผู้เขียนคือศาสตราจารย์ซึจิเคะ อิซุเคะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอึที่ศึกษาไฟเบอร์ในอึของชาวอินเดียนแดงโบราณพบว่าอึของชาวอินเดียนแดงโบราณมีลำต้นข้าวสาลี ขนนก และเมล็ดพืชปะปนอยู่ โดยแต่ละครั้งชาวอินเดียนแดงจะอึประมาณ ๘๐๐ กรัม และในจำนวนนี้มีไฟเบอร์ถึง ๑๕๐ กรัม และในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพาคนญี่ปุ่นยังกินอาหารที่มีใยอาหารกันมาก ทหารญี่ปุ่นจึงอึครั้งละ ๔๐๐ กรัม ขณะที่ทหารอเมริกันซึ่งกินเนื้อและขนมปังอึครั้งละ ๑๐๐ กรัม ดังนั้นเมื่อทหารอเมริกันออกตรวจสนามรบพบอึเป็นจำนวนมาก จึงเข้าใจผิดคิดว่ามีทหารญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากแล้วล่าถอยไป
ห้าสิบปีหลังสงครามปริมาณอึของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป เพราะชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินเปลี่ยนไปตามฝรั่งทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์น้อยลง หลังสงครามคนญี่ปุ่นอึลดลงเหลือวันละ ๒๗ กรัม และปัจจุบันเหลือน้อยเพียงแค่ ๑๒ กรัมเท่านั้น ทั้งๆ ที่อึที่ดีสำหรับผู้ชายควรมีจำนวน ๓๐๐ กรัม และผู้หญิง ๒๐๐ กรัม
…แล้วคุณล่ะอึวันละกี่กรัม
ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระบบขับถ่าย ใน หัวใจอึฯ บอกว่า ลำไส้คิดเป็นและถือเป็นสมองที่ ๒ นั่นคือสมองมีหน้าที่ดูแลจิตใจ ลำไส้มีหน้าที่ดูแลร่างกาย สมองและลำไส้สนิทกันมากและส่งผลกระทบต่อกัน จะเห็นว่าตอนตื่นเต้นจะท้องเสีย เวลายุ่งจะท้องผูก คนที่มีสภาพลำไส้ดีสมองก็ดี มีความมุ่งมั่น นิสัยร่าเริง กุญแจสำหรับชีวิตที่มีสุขภาพดีคือลำไส้ แต่ว่าลำไส้สบายดีเท่านั้นยังไม่พอ ถ้าสมองไม่มีพลัง รู้สึกท้อแท้ใจง่าย ก็ทำให้ลำไส้ไม่มีพลังทันที
ผู้เขียน หัวใจอึฯ สรุปว่า “สังคมที่ไม่สนใจอึ ทำลายญี่ปุ่น” …น่าจะทำลายคนทั้งโลกนั่นแหละ…หนทางสู่การสร้างอึที่ดีซึ่งนำไปสู่สังคมที่ดีก็คือการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ด้านอาหาร กินอาหารไฟเบอร์ ผัก มัน ถั่ว ข้าว เห็ด สาหร่าย และปลาให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มแบคทีเรียดีต่อลำไส้ ควบคุมหรืองดอาหารไขมันสัตว์หรือโปรตีนสัตว์เพื่อลดการผลิตแบคทีเรียไม่ดี และที่สำคัญอย่าลืมคิดดีด้วย •
นี่คือตัวอย่างวงจรอึใน ๑ วันที่จะนำมาสู่ชีวิตที่มีความสุข…ตื่นเช้าดื่มน้ำ ๑ แก้ว—กินอาหารเช้าดีๆ—เมื่อท้องทำงานให้อึทันที—ใช้มือลูบท้องเป็นรูปตัวโอท้องจะทำงานดีขึ้น—ช่วงสายให้ยืดหลังและเดินอย่างกระฉับกระเฉง—บางทีต้องหาโอกาสขึ้น-ลงบันไดเพื่อออกกำลังเพิ่มขึ้น—ช่วงอาหารเที่ยงให้นึกถึงอึที่ดีในตอนเช้าและเลือกเมนูอาหารที่สมดุล—เคี้ยวอาหารดีๆ—ช่วงบ่ายแม้คุยเรื่องต่างๆ อยู่ให้ไปห้องน้ำทันทีที่อยากอึ—ทำงานที่ไม่เครียด—ช่วงเย็นหลังเลิกงานทำสิ่งที่ตัวเองชอบและสนุก—หาเวลาว่างให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน—ช่วงเย็นเลือกอาหารมื้อเย็นที่ดีที่สุดในเมนูและให้นึกถึงอึในตอนเช้าและกลางวันไว้—ช่วงค่ำทำให้ร่าง กายอบอุ่นและผ่อนคลาย—นอนเร็วๆ อย่านอนดึก |