ปราบดา หยุ่น (www.typhoonbooks.com)
ผมสนใจนักวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่ในเชิงพิศวาส และไม่ใช่ในเชิงอาชีพ หนังฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องอาจจะเสนอภาพนักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ดูโก้หรู กระทั่งบางคนถึงขั้นเรียกได้ว่าเซ็กซี่ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงและท่ามกลางหลอดทดลองของห้องแล็บมืดทึบ นักวิทยาศาสตร์น้อยคนนักที่จะมีทีท่าน่าหลงใหลจากภาพลักษณ์ภายนอก เช่นเดียวกับที่จะมีโสเภณีกี่คนหน้าตาเหมือน จูเลีย โรเบิร์ตส์ จะมีนักโบราณคดีกี่คนเท่เท่า แฮร์ริสัน ฟอร์ด
ผมสนใจนักวิทยาศาสตร์ตรงความมุ่งมั่นหมกมุ่นกับความสนใจของพวกเขา ความหมกมุ่นที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนละเลยหรือหลงลืมการขับเคลื่อนของสังคมรอบข้าง พวกเขามักไม่ใส่ใจกับแฟชั่น ไม่ประสีประสากับการไหลเวียนของกระแสนิยมด้านต่างๆ ไม่รู้ว่าช่วงนี้ละครเรื่องไหนกำลังดัง ไม่ฟังเพลงชุดใหม่เอี่ยมของวงดนตรีที่กำลังครองใจแฟนเพลงในนาทีนี้ ไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับสินค้าล่าสุดที่สร้างความฮือฮาในบรรดามนุษย์บริโภคนิยม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นทาสของ “ระบบ” ไปโดยปริยาย
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดว่าเขาอยากขบคิดจนสามารถล่วงรู้ระบบการสร้างจักรวาลของพระเจ้า เขาไม่สนใจปรากฏการณ์เล็กๆ น้อยๆ มากเท่ากับสิ่งที่ก่อร่างบันดาลทุกอย่างขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอย่างไอน์สไตน์จะไม่ค่อยไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าเพื่อหาซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นถ่ายรูประดับ ๕๐ ล้านพิกเซล คมชัดกว่าโลกจริง หรือไม่เคยนั่งแช่ก้นบนโซฟาอย่างใจจดใจจ่อเพื่อรอดูรายการรีอัลลิตีทีวี การครุ่นคิดเพื่อจะเข้าใจ “ความจริง” เกี่ยวกับจักรวาลและธรรมชาติ ก็น่าจะอยู่คนละชั้นกับพฤติกรรมมั่วสุมเสพสื่อบันเทิงอย่างหน้ามืดตามัวของมนุษย์ยุคใหม่ทั่วไป
ผมสนใจนักวิทยาศาสตร์ตรงการใช้ชีวิตแบบแน่วแน่อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังระดับอมตะอย่างไอน์สไตน์ หรือคนดังน้อยกว่าแต่น่าสนใจพอๆ กัน อย่าง ริชาร์ด ไฟยน์แมน (Richard Feynman) เคิร์ท เกอเดิล (Kurt Godel) หรือนักเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่าง เอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) หรือ ไบรอัน กรีน (Brian Greene) ทั้งหมดล้วนยากจะจัดอยู่ในหมวดชาย “เมโทรเซ็กชวล” เพราะหากผมเผ้าไม่กระเซอะกระเซิงเหมือนผมของไอน์สไตน์ ทุกคนต่างก็ดูธรรมดาสามัญถึงขั้นสมถะติดดินเสียยิ่งกว่าพระวัดป่า เรื่องจิปาถะในชีวิตที่เล็ดลอดอยู่นอกบ่วงของห้วงความคิด เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์แทบไม่ระแคะระคายหรือแม้แต่จะชำเลืองมอง พวกเขาอาจจะมีทฤษฎีไขข้อสงสัยว่าเหตุใดแอปเปิลจึงหล่นจากต้นลงสู่พื้นดิน แต่อย่าซักถามว่าผลิตภัณฑ์ล่าสุดจากบริษัทแอปเปิลคืออะไร
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์น้อยคนจะแสดงตนว่าสนใจการบ้านการเมือง แต่ความสนใจและความเป็นอยู่ค่อนข้างแยกแยะพวกเขาออกจากความเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ในสังคมธุรกิจ ไอน์สไตน์เองจัดว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่ออกเสียงวิพากษ์ระบบทุนนิยมอยู่เสมอเมื่อเขายังมีชีวิต ความลึกลับและปริศนาต่างๆ ของจักรวาลที่รอคอยการถูกเปิดโปง ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับความแปรเปลี่ยนของพฤติกรรมการบริโภค กระแสนิยม และแฟชั่น “ความจริง” ที่นักวิทยาศาสตร์เพียรแสวงหา เผชิญหน้าพวกเขาอยู่ทุกยุคสมัย นักวิทยาศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้อง “อินเทรนด์” ไม่ต้องตามคนอื่นไปนั่งร้านอาหารสุดฮิปที่เพิ่งเปิดบริการสดๆ ร้อนๆ ไม่ต้องพยายามแกะเนื้อเพลงแร็ปของเอมิเน็ม เพราะสิ่งเหล่านั้นคงไม่ค่อยช่วยนำทางพวกเขาไปสู่กุญแจไขความลับของธรรมชาติได้เร็วขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการปะทะความเข้าใจใหม่ๆ จึงอยู่เหนือคำจำกัดความทางการเมืองอย่าง “นักอนุรักษ์” หรือ “นักปฏิวัติ” (คนอย่าง คาร์ล มาร์กซ์ แม้จะสำคัญตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ และพยายามผสานทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา แต่ในที่สุดแล้วมาร์กซ์ไม่จัดเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง เพราะเขายึดติดกับปรัชญาของตัวเองอย่างเหนียวแน่น มากกว่าจะใช้วิธีลองผิดลองถูกของนักวิทยาศาสตร์) และทำให้นักวิทยาศาสตร์มักอึดอัดกับการแบ่งแยกและข้อแม้ทางการเมืองอยู่เสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่ใส่ใจศาสนา ไม่งมงายไปกับข้อบังคับทางศีลธรรม หรือความเชื่อที่สืบสานเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ หลายคนไม่ซาบซึ้งอะไรกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ที่ดูเหมือนจะสลักสำคัญหนักหนาต่อการมีชีวิตของคนทั่วไป การหัวเราะก็เป็นวิทยาศาสตร์ การร้องไห้ก็เป็นวิทยาศาสตร์ เจ็บป่วยก็เป็นวิทยาศาสตร์ ตายก็เป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างล้วนเป็น “ปฏิกิริยา” ที่มีเหตุและผลรองรับตามสูตร นักวิทยาศาสตร์จึงเสี่ยงต่อการถูกสังคมตัดสินว่าเย็นชา ไม่แยแสใคร ไม่อ่อนโยน ไม่อ่อนไหว ไม่โรแมนติก และไม่มีความศรัทธาในเรื่องจิตวิญญาณ
เพราะการตั้งคำถามกับทุกอย่างคือหนทางสู่การพบเจอ “ความเข้าใจ” ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครเข้าใจ นักวิทยาศาสตร์ที่ดีและที่มีผลงานประดับโลกจึงมักต้องเป็น “non-conformist” หรือ “ผู้ไม่ทำตามขนบ” ที่ดีด้วย การเอาแต่เดินตามรอยเท้าคนอื่น มีแต่จะนำพวกเขาไปสู่ที่ที่ถูกเหยียบย่ำมาก่อนแล้วเท่านั้น
ผมสนใจนักวิทยาศาสตร์ตรงความ “หลุดสมัย” และ “แตกขนบ” อย่างแท้จริง
ศิลปิน หรือผู้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ มักได้รับเสียงสรรเสริญและเหยียดหยามจากสังคมว่าเป็นพวก “หลุดโลก” หรือ “แปลกแยก” แต่ผมกลับคิดว่านักวิทยาศาสตร์ประหลาดกว่า นักวิทยาศาสตร์ต่างหากที่ตัดขาดทางความคิดและความรู้สึกจากข้อตกลงพื้นฐานทางสังคมมนุษย์ ศิลปินยังมีสิทธิ์ร้องไห้ขี้มูกโป่งจากการดูฉากกินใจในหนังอย่าง ไททานิก แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นฮาร์ดคอร์ พวกเขาจะตระหนักเสมอว่าภาพที่เห็นเป็นเพียงการแสดงที่ปรากฏบนจอโดยการเคลื่อนไหวอย่างยิบถี่ของเครื่องฉายหนัง และหากจะร้องไห้ ก็น่าจะเป็นเพราะเสียดายค่าตั๋วมากกว่า
ศิลปินมักต้องการสื่อความรู้สึกนึกคิดของเขาให้โลกเห็นและยอมรับ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์แทบไม่เคยคิดถึงคำว่า “ตัวตน” การศึกษา ค้นคว้า และทดลองของพวกเขา ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างไรกับความเป็น “ปัจเจก” งานของพวกเขายิ่งใหญ่กว่านั้นมากนัก คำพูดฟูมฟายของศิลปินคงฟังดูไร้สาระและคล้ายเด็กทารกเรียกร้องความสนใจ หากโลกปราศจากกฎและระบบทางวิทยาศาสตร์ ศิลปินจะเอาอะไรมาประกาศ “สร้าง” ตัวตน
ศิลปินยังเต็มไปด้วยพฤติกรรมการสร้างภาพ และเปี่ยมไปด้วยความเชื่อและปรัชญางมงาย ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ข้องแวะกับอะไรเลย พวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อไตร่ตรอง ทดลอง และบันทึก เมื่อถึงคราวตายก็ตาย หากไม่สามารถค้นพบหรือแต่งตั้งทฤษฎีใหม่ๆ ให้แก่โลก เขาหรือเธอก็จะถูกลืมโดยสิ้นเชิง ไม่ต่างจากคนตัวเล็กอื่นๆ ในสังคม–นักวิทยาศาสตร์น้อยคนจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์อย่าง ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) และไอน์สไตน์ ซึ่งหมายความว่านักวิทยาศาสตร์น้อยคนนักที่จะมีคนจำนวนมากยอมรับว่า “เท่” หรือ “เจ๋ง” พวกเขามักโดนนินทาลับหลังว่า “เชย” “เฉิ่ม” “ทื่อ” โดยรวมๆ จัดเป็นมนุษย์ประเภท “น่าเบื่อยกกำลังสอง”
แต่นั่นแปลว่าพวกเขาคือ “ขบถ” ของจริง
ผมเห็นว่านั่นคือความเท่ที่ยากจะเทียมทานของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่การศึกษาคำว่า “existence” หรือ “การมีอยู่” ในจักรวาลและธรรมชาติ
ผมเองค่อนข้างห่างไกลคำว่าเท่ เพราะหากต้องวิเคราะห์ตัวเอง ผมคงต้องถูกจัดอยู่ในมนุษย์ใกล้ๆ มนุษย์ประเภทศิลปินมากกว่า ผมถูกดึงดูดโดยศิลปะง่ายดายกว่าโดยตัวเลข สัญลักษณ์ และสมการ ผมมักอยากไปดูหนังเพื่อความบันเทิง มากกว่าจะอยากนั่งผสมสารเคมีอยู่ในห้องแล็บ และผมยังติดการจ้องมองตัวเองในกระจกเพื่อสำรวจทรงผมหรือปรับแต่งปลายเสื้อ ยังไม่สามารถปล่อยปละละเลยภาพลักษณ์ของตัวเองถึงขั้นไม่เปลี่ยนกางเกงในเป็นเวลาหลายเดือน ถึงแม้จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ลดปริมาณการบริโภคความบันเทิงลงทุกวัน แต่ผมก็ติดอยู่ในเครือข่ายหรือหยากไย่ของกระแสนิยมที่คอยวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวและการตัดสินใจของผมอยู่เสมอ และผมก็ยังยอมให้บางระบบบังคับชี้นำ ผมยัง “เลือกเฟ้น” รายละเอียดของความเป็นอยู่ประจำวันจากตัวเลือกที่ถูกหยิบยื่นโดยระบบที่แสร้งอย่างแนบเนียนให้รู้สึกเหมือนกับว่ามนุษย์มี “อิสระ” ในการเลือก ผมยังกินเพราะรสชาติ มากกว่าจะกินเพราะคุณประโยชน์ของสิ่งที่กิน และยังดื่มเพื่อความคึกคะนอง มากกว่าเพียงเพื่อดับกระหาย
แม้ในบางเวลาผมจะแอบสร้างความเชื่อให้ตัวเองว่าพฤติกรรมของผม “แตกต่าง” จากพฤติกรรมกระแสหลัก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น พฤติกรรมกระแสหลักหรือกระแสรองก็ยังจัดว่าอยู่ในการเคลื่อนแบบกระแสที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่ดี
ไม่เท่เหมือนการเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์แน่นอน
มนุษย์ที่สามารถให้ความสนใจเฉพาะปัจจัยพื้นฐานหลักๆ ของธรรมชาติ การมีชีวิต และการอยู่รอด คือมนุษย์ที่เท่มากในความรู้สึกของผม และผมละอายใจทุกนาทีที่ระลึกได้ว่าตัวเองทำเช่นนั้นไม่ได้–เหตุใดผมจึงต้องสนใจงานดีไซน์ เหตุใดผมจึงต้องเสาะแสวงหาอัลบัมเพลงใหม่ๆ มาฟัง ทำไมผมต้องแยกแยะว่ากางเกงตัวนี้สวยกว่าตัวนั้น หรือยาสีฟันยี่ห้อนี้มีความหวานน้อยกว่ายี่ห้อนั้น ทำไมผมต้องดูหนังแล้วตัดสินว่าเรื่องไหนดีเรื่องไหนห่วย ทำไมผมต้องจัดอันดับว่าร้านอาหารร้านไหนอร่อย ทำไมผมต้องเลือกกลิ่นน้ำยาดับกลิ่นว่าการไม่มีกลิ่นแบบไหนเป็นกลิ่นที่ผมชอบที่สุด ทำไมผมต้องเขียนหนังสือที่ทั้งฟูมฟายและซ้ำซาก สื่อเพียงเรื่องต่างๆ ที่นักเขียนมากมายเขียนมาแล้วและเขียนได้ดีกว่าผมไม่รู้กี่เท่า
ไม่รู้ว่าทำไม รู้แต่ว่าอันที่จริง เหล่านั้นล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากขนบสมมุติของมนุษย์ทั้งสิ้น และไม่มีความ “จำเป็น” ที่แท้ต่อการมีชีวิตเท่าไรนัก
ทำไมผมไม่พยายามทำในสิ่งที่มีความหมายจริงๆ เช่น ฝึกการหายใจเข้าออกให้ถูกต้อง หรือศึกษาลักษณะของดินในบริเวณที่ผมอาศัยอยู่ (ซึ่งหาดินยากพอสมควร) เวลาในแต่ละวันกลับหมดไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พัวพันเวียนวนกับความสนใจที่ถูกสร้างโดยสังคมมนุษย์–เมื่อสักครู่นี้ผมนั่งดูทีวี หมดเวลาใช้ชีวิตไปประมาณครึ่งชั่วโมง ทำไมผมจึงทำอย่างนั้น ทำไมผมจึงต้องดูทีวี
เปล่า ผมไม่คิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ และไม่ได้คิดว่านักวิทยาศาสตร์เป็นมนุษย์ประเภทที่ประเสริฐที่สุด ผมเพียงชื่นชมพฤติกรรมภายนอกของพวกเขา และเห็นความเท่ในการ “ไม่ใส่ใจ” อย่างแท้จริงกับรายละเอียดเลอะเทอะทั้งหลายแห่งยุคสมัย
ผมเห็นรูปไอน์สไตน์มานาน ทั้งบนโปสเตอร์ติดผนังห้อง และบนสื่ออื่นๆ นับไม่ถ้วน ชายผมยาวยุ่งเหยิงไม่เคยปรากฏตัวแตกต่างกันมากนักในแต่ละวาระ เสื้อผ้าธรรมดาๆ หนาวหน่อยก็ใส่เสื้อกั๊ก สวมหมวก บางทีมีอารมณ์ตามกระแสเล็กน้อย เช่นคาบไปป์ นักวิทยาศาสตร์ชื่ออื่นที่ผมพอจะรู้จักก็เช่นเดียวกัน ภายนอกดูธรรมดา หรือแหย่ขาไปในทางเชยๆ ผมอยากปล่อยปละละเลยได้อย่างนั้นบ้าง
เป็นไปได้ที่เมื่อต้องใช้สมองขบคิดอย่างสลับซับซ้อนอยู่แล้ว รายละเอียดภายนอกของชีวิตด้านอื่นของนักวิทยาศาสตร์จึงต้องเรียบง่าย ซื่อๆ ตรงไปตรงมา เป็นการสร้างสมดุลโดยธรรมชาติ มนุษย์ที่ใช้สมองน้อยอย่างเราๆ จึงหมดเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ต้องใช้สมองเอาเสียเลย เช่นจะเปลี่ยนริงโทนของโทรศัพท์มือถือเป็นเพลงอะไรดี หรือวันหยุดเดือนหน้าจะไปเที่ยวที่ไหน
คุณรู้หรือไม่ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เป็นของเหลว เช่นน้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องดื่มรสชาติสังเคราะห์ มีส่วนผสมเป็นน้ำเปล่าเกินกว่าครึ่ง แปลว่าแต่ละครั้งที่คุณจ่ายเงินเป็นร้อยเป็นพันบาทเพื่อซื้อน้ำหอมแบรนด์เนมตามห้าง เงินกว่าครึ่งของคุณเสียไปกับการซื้อน้ำเปล่าที่คุณสามารถไปตักได้ฟรีเป็นโอ่งๆ จากคลองข้างบ้าน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วคุณจะทำอย่างไร
ใช่ คุณจะซื้อมันต่อไป และยอมควักเงินเพิ่มเมื่อสินค้าที่คุณชอบขึ้นราคา
เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เราจึงยอมโง่และยอมตกเป็นทาสของการหลอกลวงโดยพวกเรากันเอง
ไม่ค่อยเท่ แต่ทำอย่างไรได้
ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสรรเสริญจากศิลปินหลายคน เพราะคำพูดอันโด่งดังที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงบ่อยที่สุดคำพูดหนึ่ง นั่นคือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (“Imagination is more important than knowledge.”) และสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจความหมายอย่างกระจ่างแท้ จะทึกทักเอาว่าไอน์สไตน์เข้าข้าง “จินตนาการ” มากกว่า “ความรู้” แล้วป่าวประกาศอย่างภาคภูมิใจในทำนอง “เห็นไหม แม้แต่นักฟิสิกส์คนสำคัญที่สุดในโลกยังบอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะฉะนั้นรู้น้อยก็ไม่เห็นจะหนักหัวใคร”–โมเมให้ไอน์สไตน์เป็นพวกตัวเองไปเสียอย่างนั้น
จินตนาการสำคัญเพราะมันสามารถนำไปสู่ความรู้ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากเกิดขึ้นเพราะจินตนาการ วิธีสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ที่สำเร็จมากที่สุดวิธีหนึ่งคือจินตนาการสิ่งที่แปลกประหลาดจนเกินจะเป็นจริงได้ แล้วพยายามพิสูจน์หรือทดลองจนจินตนาการนั้นเป็นจริงขึ้นมาจริงๆ สิ่งประดิษฐ์ไม่น้อยที่มีอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ที่แต่งโดยศิลปินผู้ไม่มีอะไรมากไปกว่าจินตนาการ
ทว่า “ความรู้” คือปลายทางสำคัญที่คนอย่างไอน์สไตน์ตรากตรำค้นหาทุกเมื่อเชื่อวัน และในความหมายของไอน์สไตน์ จินตนาการคือกุญแจสำคัญสู่ความรู้ ไม่ใช่สักแต่ว่าจินตนาการเพ้อเจ้อไปเรื่อยเปื่อยก็พอแล้ว สาเหตุที่จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะการใช้ “ความรู้” มักมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ได้ ต่างจากจินตนาการที่เปิดกว้างกว่า เพราะยังไม่มีความรู้ใดมากำหนดแน่ชัด
ผมชอบจินตนาการและถนัดใช้มันมากกว่าความรู้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเท่–บนโลกนี้ผมเพียงเป็นมนุษย์ผู้ทำหน้าที่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์ และในความเชื่อแบบเข้าข้างตัวเอง ผมคิดว่าหน้าที่แบบของผม แม้จะไม่ตรงไปตรงมา ไม่ซื่อ ไม่เชย ไม่หลุดยุคสมัย ไม่แตกขนบ เหมือนหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ถือเป็นรายละเอียดในกลไกที่เรียกว่าธรรมชาติเหมือนกัน
เสียแต่ว่าไม่เท่เท่า
ในบทสนทนากับ รพินทรนาถ ฐากูร นักประพันธ์และกวีคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย ไอน์สไตน์พูดถึงความไม่แน่นอนในการตัดสินอะไรอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งถือเป็นความเห็นแปลกประหลาดจากปากของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักฟิสิกส์อย่างไอน์สไตน์ เพราะจุดหมายสำคัญในการขบคิดของเขาคือการค้นหาทฤษฎีที่จะสามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลได้ และนั่นหมายความว่าต้องเป็นทฤษฎีที่ “แน่นอน”
“ประสบการณ์สำคัญๆ ทุกอย่างในชีวิตของเราล้วนมีความไม่แน่นอนเสมอ รวมถึงปฏิกิริยาที่เรามีต่องานศิลปะ ไม่ว่าจะในยุโรปหรือเอเชีย กระทั่งดอกไม้สีแดงที่ผมเห็นบนโต๊ะของคุณดอกนั้น อาจจะไม่ได้เป็นดอกไม้สีแดงดอกเดียวกันสำหรับผมกับคุณก็ได้” (“The same uncertainty will always be about everything fundamental in our experience, in our reaction to art, whether in Europe or Asia. Even the red flower I see before me on your table may not be the same to you and me.”)
ในความเห็นนั้นมีทั้งจินตนาการและความรู้ผสานกันอยู่อย่างกลมกลืน
และไม่ว่าผมจะพยายามถ่ายทอดความเท่ของนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์และพรรคพวกโดยตัวหนังสือและด้วยลูกเล่นของอาชีพนักเขียนอย่างไร
ก็ยังไม่เท่เท่าการ “คิด” และ “เป็น” อย่างนั้นจริง