สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์    บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

เทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ระเบิดเวลาทางประวัติศาสตร์ลูกหนึ่งจากยุคล่าอาณานิคมเริ่มทำงาน  ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้นอกจากเล่นน้ำ คนไทยจำนวนมากยังต้องแบ่งสมาธิมาติดตามการถ่ายทอดสด  “การฟังแถลงการณ์ทางวาจา” (oral hearing) ณ วังสันติภาพ ประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นที่ทำการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ระหว่าง ๑๕-๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ ในคดีที่กัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ เพื่อหาข้อยุติในความหมายของคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ของตัวปราสาทหรือที่รู้จักกันดีว่า “พื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร”

สำหรับคนไทยรุ่นใหม่ แม้จะฟังแถลงการณ์ทางวาจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่นี่ก็ถือเป็น “เรื่องใหม่” และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเห็นรัฐที่ตนเองสังกัดต้อง “ขึ้นศาลโลก” ทว่าสำหรับคนที่เกิดทันปี ๒๕๐๕ ซึ่งวันนี้เลขอายุของพวกเขาเลยวัยกลางคนไปไกล นี่เป็น “เรื่องเก่า” เป็นระเบิดเวลาลูกเดิม

การปัดฝุ่นคดีนี้ทำให้พวกเขาหวนกลับไปคิดถึงวันเวลาที่รัฐบาลไทยรณรงค์ “บริจาค ๑ บาท” เป็นค่าทนาย ต่อสู้คดีนี้ในศาลโลกก่อนแพ้คดีด้วยคะแนน ๙ ต่อ ๓ ต้องส่งคืนตัวปราสาทให้กัมพูชาโดยทิ้งปมเรื่อง “พื้นที่รอบปราสาท” เอาไว้

ระเบิดเวลาลูกนี้เองที่ทำให้ “คดีปราสาทพระวิหาร” กลับสู่ศาลโลกอีกครั้ง

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย ๗๑ ปี คือหนึ่งใน “คนรุ่นเก่า” จากปี ๒๕๐๕ ซึ่งโชคชะตาทำให้ต้องกลับมาเกี่ยวพันกับคดีนี้อีก ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด

ย้อนกลับไปปี ๒๕๐๕ เขาคือนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งผู้เคยบริจาคเงิน ๑ บาทช่วยรัฐบาลไทย และมีโอกาสเรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายแพ่งกับคณาจารย์ผู้เป็นทีมทนายทำคดีนี้โดยตรง  จากนั้นเขาได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขากฎหมายที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พ่วงด้วยปริญญาโทสาขากฎหมายทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อีกใบหนึ่ง  ก่อนได้รับตำแหน่งเป็นอัยการพิเศษประจำกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุด) ต่อมาได้ลาออกจากราชการมาเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี ๒๕๒๙-๒๕๓๑  ปลายปี ๒๕๓๙ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับปี ๒๕๔๐  ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก ระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๔๙  หลังจากนั้นเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาจนถึงปัจจุบัน

ปี ๒๕๕๑ เขากลับมาเกี่ยวข้องกับคดีปราสาทพระวิหารอีกครั้ง แต่คราวนี้ในฐานะนักวิชาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา (Our Boundaries-Our ASEAN Neighbors) โดยรับผิดชอบวิจัยเรื่อง “ศาลโลก-ศาลประจำอนุญาโตตุลาการกับข้อพิพาทระหว่างประเทศ”

ด้านปฏิบัติการเขาเป็นหนึ่งใน “คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ” มีหน้าที่พิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีให้แก่ทีมทนายที่จะไปสู้คดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกโดยตรง

สารคดี ขอให้อาจารย์พนัสซึ่ง “คลุกวงใน” เล่าความเป็นมาของ “ศาลโลก” และวิเคราะห์ “รูปคดี” หลังไทยและกัมพูชาแถลงการณ์ด้วยวาจาเสร็จสิ้น เพื่อที่เรา (คนไทย) จะได้เตรียมพร้อมตั้งรับคำพิพากษาศาลโลกที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้อย่าง “รู้ทัน” และ “เข้าใจ” สถานการณ์มากที่สุด

ช่วงที่ศาลโลกพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารในปี ๒๕๐๕ อาจารย์ทำอะไรอยู่ครับ
กัมพูชาฟ้องไทยปี ๒๕๐๒ ตอนนั้นผมเพิ่งเข้าธรรมศาสตร์ปีแรก  พอมีคำตัดสินในปี ๒๕๐๕ ผมกำลังจะจบปริญญาตรี ผมบริจาคเงินบาทเดียวช่วยรัฐบาลจ้างทนาย ถ้ามากกว่านี้ก็ไม่ไหว ไม่มีเงิน (หัวเราะ)  แต่ผมไม่ตกยุคแน่ ๆ เพราะอาจารย์สอนกฎหมายผมตอนนั้น คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ พล.ท.สุข เปรุนาวิน เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ทั้งสองท่านเป็นทนายและที่ปรึกษาทนายฝ่ายไทยในคดีนี้ทั้งคู่  ตอนนั้นอาจารย์สุขสอนกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง (Public International Law) ส่วนอาจารย์หม่อมเสนีย์สอนกฎหมายแพ่ง (Civil Law) ทั้งสองท่านนำประสบการณ์ตรงจากศาลโลกมาเล่าให้นักศึกษาฟังในห้องเรียน ผมก็ได้ซึมซับจากตรงนั้น

ในคดีการตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหารครั้งล่าสุด ทราบว่าอาจารย์ก็มีส่วนช่วยด้วย
ที่กระทรวงการต่างประเทศเขาจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ” สำหรับเป็นที่ปรึกษาเมื่อรัฐบาลไทยไปทำสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือเข้าร่วมภาคีระหว่างประเทศ  คดีปราสาทพระวิหารเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทางกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ ก็มองว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่ช่วยดู  คณะกรรมการฯ ชุดนี้มี ๓๐ กว่าคน ประเภทแรกคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประเภทที่ ๒ กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง ผมเป็นกรรมการประเภทกระทรวงแต่งตั้ง  จริง ๆ ที่ผ่านมาผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคดีนี้ หรือถ้าต้องพูดจะไม่อ้างอิงข้อมูลที่มี เพราะไม่มีคนทราบว่าผมเป็นกรรมการ

คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักศาลโลก ขอเริ่มจากคำถามง่าย ๆ ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ “ศาลโลก” (International Court of Justice-ICJ) มีที่มาอย่างไร
ที่มาของศาลโลกสืบกลับไปไกลได้ถึง “การประชุมสันติภาพครั้งที่ ๑” (The First Peace Conference) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งริเริ่มโดยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ในปี ๒๔๔๒ เพื่อแสวงหาวิธีที่เป็นภววิสัย (objective) มากที่สุดเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชากรโลกจะได้รับประโยชน์จากการมีสันติภาพที่แท้จริง และเหนือสิ่งอื่นใดเพื่อจำกัดการพัฒนาการเสริมกำลังอาวุธซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น  ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ๑ ในตัวแทนจาก ๒๖ รัฐ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จฯ เข้าร่วมประชุมด้วยพระองค์เอง

การประชุมสันติภาพอีกครั้งเกิดขึ้นในปี ๒๔๕๐  ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีการตั้ง “ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration-PCA)” ขึ้นตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี” (The Convention for the Pacific Settlement of International Disputes, ๑๘๙๙) เพื่อเป็นกลไกรักษาสันติภาพของโลก ซึ่งจะเป็นรากฐานของศาลโลกในเวลาต่อมา

ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ หรือ PCA ทำงานอย่างไรเหมือนศาลโลกที่เรารู้จักในยุคนี้หรือไม่
PCA เป็นองค์กรที่แปลก เพราะชื่อ “ศาล” แต่ไม่ทำหน้าที่ศาล ทำหน้าที่แต่งตั้ง “อนุญาโตตุลาการ” เพื่อตัดสินข้อพิพาทตามที่คู่กรณีร้องขอ  PCA เริ่มทำงานตั้งแต่ปี ๒๔๕๕  ผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการมาจากรายชื่อนักกฎหมายซึ่งชาติภาคีสมาชิกเสนอชื่อเข้ามาประเทศละ ๔ คน เรียกว่า “หมู่ประจำชาติ” (National Group) แต่ละคนมีวาระ ๖ ปี  เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีสมาชิก รายชื่อเหล่านี้จะถูกศาลหยิบยกขึ้นมาให้เลือกเพื่อเป็นคนกลางตัดสินข้อพิพาท  คู่กรณีจะเสนอคนที่เป็นฝ่ายตนขึ้นมาอยู่ร่วมในคณะอนุญาโตตุลาการนี้ได้ แล้วแต่ว่าต้องการอนุญาโตตุลาการกี่คน  สมมุติต้องการ ๓ คนอาจให้คู่กรณีเลือกจากคนที่อยู่ในรายชื่อหมู่ประจำชาติมาฝ่ายละคน  ส่วนคนสุดท้ายที่จะทำหน้าที่ประธานต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งบางกรณีใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้คนสุดท้ายเพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน

ทุกวันนี้ PCA ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ นอกจากหมู่ประจำชาติ ประเทศภาคีสมาชิกจะส่งชื่อ “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ด้านต่าง ๆ ให้ PCA ด้วย เผื่อมีกรณีพิพาทในเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ  ตอนนี้ผมมีชื่อในกลุ่ม “พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนอกจากกลุ่มประจำชาติ ๔ ท่านของไทย ผมเองก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการได้หากมีกรณีพิพาทและมีการเสนอชื่อจากฝ่ายไทย  คนไทยอีกท่านที่เคยมีชื่อเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกับผมคือ ดร. สุรพล สุดารา จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บุกเบิกเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย แต่น่าเสียดายว่าท่านเสียชีวิตแล้ว  ส่วน “หมู่ประจำชาติ” ของไทย ๔ ท่าน ซึ่งมีชื่อใน PCA ชุดปัจจุบัน คือ ศ. ดร. อรุณ ภาณุพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ศ. สรรเสริญ ไกรจิตติ คณะกรรมการกฤษฎีกา นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ และนายสุจินดา ยงสุนทร อดีตเอกอัครราชทูต

ถ้ามีอนุญาโตตุลาการแล้ว ทำไมภายหลังต้องตั้ง “ศาลโลก” ขึ้นมาอีก
ต้องอธิบายก่อนว่า “ศาลโลก” หรือ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ทำหน้าที่รักษาสันติภาพ ระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีแทน “ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ” (Permanent Court of International Justice-PCIJ) หรือ “ศาลโลกเดิม” ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑

เหตุที่ต้องก่อตั้ง PCIJ ขึ้นมาในตอนนั้นเนื่องจากกลไกของ PCA ต้องรอให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอม เรื่องจึงเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้  ระหว่างประชุมสันติภาพครั้งที่ ๒ รัฐภาคีส่วนหนึ่งจึงเรียกร้องให้ตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถาวรซึ่งมีอำนาจบังคับระงับข้อพิพาท  แต่เรื่องนี้มาสำเร็จในปี ๒๔๖๓ พร้อมกับการก่อตั้ง “สันนิบาตชาติ” (League of Nations)  อย่างไรก็ตาม PCIJ ไม่ถือเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสันนิบาตชาติ แต่จะดำเนินงานภายใต้การดูแลของสันนิบาตชาติเท่านั้น  PCIJ จะนำเรื่อง “เขตอำนาจศาล” เข้ามาใช้บังคับกับรัฐภาคีที่แถลงยอมรับเขตอำนาจศาลล่วงหน้า ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ทำให้รัฐผู้ถูกฟ้องถูกดำเนินคดีทันที หากชาติคู่ความยื่นฟ้องโดยไม่ต้องให้ความยินยอมเฉพาะกรณีแบบการใช้กรอบอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามรัฐภาคีสมาชิกสันนิบาตชาติไม่ถือว่าเป็นรัฐภาคีของ PCIJ โดยอัตโนมัติ  ส่วนผู้พิพากษา PCIJ ได้รับการเลือกโดยสมัชชาใหญ่สันนิบาตชาติและสภาสันนิบาตชาติ  PCIJ ทำหน้าที่อยู่จนถึงปี ๒๔๘๘ โดยในความเป็นจริงหยุดชะงักลงตั้งแต่มีสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว และในปี ๒๔๘๙ ก็ถูกยุบไปเพื่อตั้ง “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) แห่งใหม่ที่เรารู้จักกันดีว่า “ศาลโลก”

ศาลโลกสืบทอดภารกิจของ PCIJ มีสถานะเป็น ๑ ใน ๖องค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ตั้งขึ้นตามกฎบัตรสหประชาชาติที่ประเทศภาคีลงนามในปี ๒๔๘๘  แต่มีความต่างกับ PCIJ คือ รัฐภาคีสมาชิกองค์การสหประชาชาติทุกประเทศต้องเป็นภาคีของธรรมนูญศาลโลก (ICJ Statute) ขณะที่ PCIJ ไม่มีผู้พิพากษาประจำ ศาลโลกมีผู้พิพากษาประจำ ๑๕ คนซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) แต่ละท่านมีวาระดำรงตำแหน่ง ๙ ปี  และเพื่อรักษาความต่อเนื่อง ทุก ๓ ปีจะมีการเลือกผู้พิพากษาใหม่ ๑ ใน ๓ แทนที่หมดวาระไป ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้พิพากษาคือ “กลุ่มนักกฎหมายแห่งชาติ” หรือ “หมู่ประจำชาติ” ซึ่งมีชื่อใน PCA โดยจะมีสิทธิ์เสนอได้ไม่เกิน ๔ คน และห้ามเสนอผู้ที่มีสัญชาติเดียวกับตนเกิน ๒ คน  รายชื่อผู้พิพากษาเหล่านี้จะถูกส่งให้ UNGA และ UNSC คัดเลือกโดยลงมติพร้อมกันทั้งสองหน่วยงาน  ผู้ที่ได้รับเลือกต้องได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดจากทั้งสองหน่วยงานเช่น สมัชชาใหญ่ฯ มีสมาชิก ๑๙๐ ประเทศ มาประชุม ๑๕๐ ประเทศ เวลานับคะแนนต้องนับจำนวนรัฐภาคีสมาชิกเต็มทั้ง ๑๙๐ ประเทศ ผู้ที่ได้รับเลือกต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐภาคีทั้งหมดคือเกินกึ่งหนึ่งของ ๑๙๐ ประเทศไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของ ๑๕๐ รัฐที่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมประชุมลงมติ ระบบนี้เรียกว่า “absolute majority” หลังจากนั้นคณะผู้พิพากษาจะเลือกกันเองด้วยการลงคะแนนลับเพื่อตั้งประธานและรองประธานศาล โดยประธานจะมีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานของศาล มีธรรมเนียมในการออกนั่งบัลลังก์คือผู้อาวุโสสูงสุดจะนั่งถัดจากประธานและรองประธาน ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งคนล่าสุดจะนั่งเป็นคนสุดท้ายของแถวทั้งสองข้าง แต่ในการวินิจฉัยคดีผู้พิพากษาทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน