เรื่อง : ธิติ มีแต้ม นักศึกษาปี ๓ สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
In Coffin Productions present
God Beheading Libel Ritual 2005 Celebrating the hell flames of Eastern Blasphemies ขอนำคุณเข้าสู่พิธีชุมนุมตัดคอพระเจ้าครั้งใหม่ของปี ๒๐๐๕ สถานที่ประหาร / The Rock Pub ถนนราชเทวี วันประหาร / วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ประตูนรกเปิดเวลา / บ่ายสามโมงตรง ราคาบัตรสู่พิธีกรรม / ๓๕๐ บาท
|
ข้อความข้างต้น คือส่วนหนึ่งในโปสเตอร์ที่เอกเพื่อนของผมโยนให้ดูแล้วถามว่า “มึงจะไปไหม” ผมกวาดตาเล็งแลโปสเตอร์ที่อยู่ในมือ นอกจากข้อความที่ว่ามา ยังมีชื่อวงดนตรีเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ตัวหนังสือออกแบบอย่างประณีตบรรจง แลดูคล้ายประกอบขึ้นจากหยดเลือดกับหนามอันแหลมคม นอกจากนั้นยังมีภาพไม้กางเขนและดาวกลับหัว มีศีรษะพระเยซูที่ถูกตัดอยู่ตรงกลางภาพดาวกลับหัวนั้นด้วย ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นภาพปีศาจตัวสีแดงลักษณะครึ่งคนครึ่งสัตว์ยืนแยกเขี้ยว บนหัวมีเขาโง้งแหลม มีปีกคล้ายปีกค้างคาวแต่ใหญ่กว่าหลายเท่า มือขวาถือขวานสองคม มือซ้ายถือศีรษะพระเยซูที่ถูกตัดออก
“ลูซิเฟอร์ไง” ไอ้เอกบอกเมื่อเห็นคิ้วผมขมวด
“อ๋อ…ซาตาน” นึกในใจว่าเคยเห็นในภาพยนตร์อยู่บ่อยๆ ผมก้มลงอ่านรายละเอียดในโปสเตอร์นั้นอีกครั้ง ลังเลอยู่ชั่วครู่เพราะไม่แน่ใจว่ามันคืองานอะไรกันแน่ มีอยู่จริงหรือ ก่อนตอบตกลงว่าไป
ก่อนนี้ดนตรีที่เราฟังหรือได้ยินบ่อยๆ มักจะเป็นพ็อปหรือร็อกทั่วไป เบาบ้างหนักบ้าง มีแดนซ์กับหมอลำปะปนพอครึกครื้น ให้ได้ส่ายเอวกันตามประสา
เปรียบไปแล้ว การฟังดนตรีตามกระแสที่มีให้ได้ยินกันอยู่ทั่วไปก็คงเหมือนเดินอยู่ในเมืองที่มีเรื่องราวแสนจะธรรมดา ทั้งเรื่องรัก อกหัก หรือให้กำลังใจ มีอยู่แค่นั้น แต่ทันทีที่ดนตรีซึ่งวงการเพลงใต้ดินเรียกกันว่า เมทัล (Metal) กระแทกเข้ามาในโสตประสาท ก็ราวกับว่าเมืองทั้งเมืองที่เดินอยู่ดีๆ เมื่อครู่ตกอยู่ท่ามกลางสงคราม เสียงกีตาร์ไฟฟ้าคล้ายเสียงร้องโหยหวนของคนที่วิ่งหนีกลัวตาย เสียงกลองที่ดังรัวเร็วเหมือนปืนกลที่ยิงสาดไม่ขาดสาย
“เพลงอะไรน่ะ ฟังไม่เห็นรู้เรื่องเลย ปวดหัว อ้วกจะแตก” เพื่อนผู้หญิงข้างๆ ผมคนหนึ่งบ่นหลังจากที่ไอ้เอกเปิดเพลง “พันธุ์” นั้นให้ฟัง
“ปิดเถอะ หรือไม่ก็กลับไปฟังที่บ้านเถอะนะ” เธอคนเดิมขอร้อง
วันงานคอนเสิร์ต
บ่ายสามโมงตรง ผมกับเพื่อนมายืนอยู่หน้า “The Rock Pub” บนถนนราชเทวี ข้างสะพานหัวช้าง แดดไม่ร้อนเท่าไรเพราะฝนเพิ่งจะหยุดตกได้ไม่เกิน ๑๐ นาที ด้านหน้าผับเต็มแน่นไปด้วยบรรดาสาวกซาตาน (เขาเรียกกันอย่างนั้น) ประเมินคร่าวๆ ราว ๒๐๐ คน มีทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่นั่งกันเป็นกลุ่มๆ เพื่อรอเข้าสู่คอนเสิร์ต
ภาพที่เห็นทำให้อดนึกในใจไม่ได้ว่าผมมาอยู่ผิดที่ผิดทางหรือเปล่า เพราะบรรดาสาวกต่างสวมใส่เสื้อผ้าสีดำทั้งชุด บนอกเสื้อมีภาพไม้กางเขนและดาวกลับหัว แค่นั้นไม่พอ บางคนยังทาเล็บและทาตาเป็นสีดำ ใส่ท็อปบูตเหมือนทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยิ่งกว่านั้นบางคนยังมีโซ่เส้นใหญ่พาดหน้าอก พร้อมตับกระสุนปืนกลหัวแหลมคาดเป็นเข็มขัด ผมหันไปดูเพื่อน มันก็แต่งชุดดำเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีอุปกรณ์อะไรอย่างที่ว่ามานั้น มีแค่สร้อยรูปหัวกะโหลกแขวนคออยู่อย่างเดียว ส่วนตัวผมแตกต่างที่สุดแล้วเพราะใส่กางเกงยีนกับเสื้อยืดสีน้ำเงินธรรมดาๆ
ไม่ถึง ๕ นาที บรรดาสาวกต่างลุกจากที่นั่งเข้าคิวส่งตั๋วให้ผู้ชายตัวใหญ่เหมือนนักมวยปล้ำที่ยืนรับตั๋วอยู่หน้าประตูทางเข้า ผมกับเพื่อนจึงลุกขึ้นเดินไปเข้าคิวตามคนอื่นๆ
ภายในงาน นอกจากจะมีแสงไฟที่ติดๆ ดับๆ กับบรรดาสาวกที่ยืนเบียดกันแน่นแล้ว ยังมีเวทีเล็กๆ กับเครื่องดนตรีอย่าง กลองชุด กีตาร์ และกีตาร์เบส วางอยู่ ด้านบนมีป้ายผ้าผืนใหญ่ติดอยู่ เขียนคำว่า Beheading ที่แปลว่าการตัดคอนั่นเอง
เสียงใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า “เซอร์เรนเดอร์ ออฟ ดิวีนิตี้” (Surrender of Divinity) ไม่ถึงนาทีก็มีชายสามคนเดินออกมาจากข้างเวทีพร้อมกับเสียงเฮของบรรดาสาวก ทั้งสามคนใส่ชุดดำและมีตับกระสุนปืนพาดตัวไว้ ทาหน้าเป็นสีขาวทั้งหน้า ทาปากดำ ดูเหมือนแวมไพร์อย่างไรอย่างนั้น
“Hi my dominion fuck religion” เสียงสบถสำรากอันบาดหูของมือเบสและนักร้องนำที่ขนานนามกันว่า อเวจี ปลุกเร้าเหล่าสาวกให้ร้องรับอย่างโหยหวน พร้อมยกมือทำสัญลักษณ์ดวงตาปีศาจคล้ายสัญลักษณ์แฟนพันธุ์แท้ และแล้วดนตรีที่มีกลิ่นอายสงครามและความตายก็เริ่มปะทุขึ้น สาวกทั้งหมดพากันโยกหัวชนิดไม่กลัวว่าจะหลุดจากบ่า ด้านหน้าเวที สาวกอีกจำนวนหนึ่งกระโดดกระแทกใส่กันอย่างรุนแรง มีบางคนขึ้นไปยืนบนเวทีแล้วชูมือส่งสัญญาณบอกเพื่อนที่อยู่ด้านล่าง ก่อนจะโยนตัวลงมาให้เพื่อนๆ รับแล้วแบกส่งต่อๆ กันไปทั่วงาน ใครตัวเล็กหน่อยก็อยู่ข้างบนได้นานหน่อย ใครที่ตัวใหญ่ขึ้นได้ไม่ทันไรก็ต้องหล่นลงมาเพราะเพื่อนที่อยู่ด้านล่างแบกไม่ไหว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหมดสนุกแต่อย่างใด ยังคงเมามันอย่างบ้าคลั่ง !!!
บางอย่างที่คนนอกไม่รู้เกี่ยวกับ “สาวก”
“มันเป็นความพอใจส่วนตัว”
คือคำตอบสั้นๆ ที่สันต์ หนุ่มวัย ๒๘ ปีผู้อยู่ในคอนเสิร์ต บอกกับผมหลังดนตรีเลิก แต่มิใช่แค่นั้น ! ความอัดอั้นตันใจของเขาที่ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำบอกเล่าที่พรั่งพรูออกมาทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องหันเข้าหาดนตรีแนวนี้
“ฟังมาเป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่แผ่นเสียงแล้วมาเป็นเทป เมื่อก่อนก็ฟังทั่วไป พ็อป ร็อก พอนานเข้าๆ เราก็สังเกตว่าทำไมเนื้อหาเพลงมันเหมือนเดิม คือมันซ้ำซาก มีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ มันยังไม่มีเนื้อหาที่พูดถึงสังคมหรืออะไรที่ต่างออกไป ก็เลยเบื่อ จากนั้นก็เริ่มหันมาฟังแนวที่หนักขึ้น พอมีแนวใต้ดินอย่าง พราย ปฐมพร หรืออย่าง ดอนผีบิน ที่เป็นใต้ดินยุคแรกๆ มาเล่น ลองฟังดูก็รู้สึกว่านี่แหละที่เราต้องการ เนื้อหามันคนละเรื่องกับเพลงทั่วไปเลยนะ อย่างพรายนี่พูดแรงมาก ด่าสังคมกันตรงๆ หรือดอนผีบินก็จะเป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติหรือปรัชญาไปเลย แล้วดนตรีมันเร้าใจกว่ากัน ฟังแล้วไม่เบื่อ
“ผมว่าเวลาฟังเพลง มันดูออกนะว่าคนทำเพลงให้เราฟัง ใครจริงใจ ใครหน้าเงิน เพลงใต้ดินนี่ไม่มีการเข้าค่ายใหญ่ๆ หรือแม้การโปรโมตทางวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ไม่มีเลย เพราะพวกนายทุนอ้างว่าเพลงมันหนักไป คนฟังน้อย ยอดขายก็น้อย ทำไปก็ขาดทุน ผมเลยไม่ชอบอะไรที่เป็นธุรกิจ เพลงทุกวันนี้ส่วนใหญ่ทำไปเพื่อธุรกิจ”
สันต์เล่าอย่างซีเรียส เขาเงียบไปพักหนึ่ง คนอื่นๆ ยังนั่งสังสรรค์กันอยู่หน้าเดอะร็อกผับ ใกล้โพล้เพล้เต็มที บนถนนราชเทวีการจราจรดูจะยิ่งสาหัส
เขาส่ายหน้าก่อนจะยกเบียร์กระป๋องในมือกรอกลงคอแล้วเล่าต่อว่า
“ผมเบื่อ…เบื่อสังคมที่มีแต่คนใส่หน้ากากเข้าหากัน แล้วไอ้เพลงที่ฟังอยู่นี้มันก็พูดถึงสันดานมนุษย์ตรงๆ สันดานอย่างที่พระเจ้าหรือใครก็ช่วยไม่ได้ และทำนองมันเร้าใจกว่า เราได้ปลดปล่อย
“ส่วนที่ใส่เสื้อผ้ากันแบบนี้มันก็เป็นแค่สัญลักษณ์สื่อถึงกันเท่านั้นว่าเราพวกเดียวกันนะ เป็นธรรมดาที่ต้องมีคนอื่นมองว่าบ้า ผมไม่สนหรอก คนที่ฟังแนวนี้ทุกคนก็ไม่มีใครสนหรอกว่าใครจะมองอย่างไร เออใช่ มันดูน่ากลัวจริง มันดำทั้งชุด มันมีหนามมีอะไรต่ออะไร แต่เราก็ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใครนี่ แล้วดูไอ้พวกใส่สูทผูกเนกไทเถอะ คิดเหรอว่าแต่งตัวกันดีๆ แบบนั้นแล้วมันจะไม่หลอกลวง คือถ้ามันทำดีจริง แล้วทำไมสังคมทุกวันนี้มันยังอุบาทว์ล่ะ คิดดูแล้วกัน พวกผมก็แค่คนธรรมดาๆ เท่านั้น”
คำพูดของสันต์ทำให้ผมเริ่มเข้าใจบางอย่างขึ้นมารางๆ เป็นไปได้ว่าเพลงที่พวกเขาฟังนั้นมันให้อะไรมากกว่าเพลงในกระแสที่เราฟังๆ กันอยู่ทั่วไป คำพูดของเขาทำให้ผมย้อนนึกถึงบรรยากาศคอนเสิร์ตที่เพิ่งจบลงไป และอดนึกแปลกใจไม่ได้…ดนตรีที่รุนแรงอย่างนั้น ภาพคนดูคอนเสิร์ตกระโดดกระแทกใส่กันแรงๆ แบบนั้น แต่ทำไมถึงไม่มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นแม้สักน้อย
ข้อสงสัยนี้กระจ่างขึ้นเมื่อเอฟ เด็กหนุ่มวัย ๑๘ ปี หนึ่งในสาวกผู้คลั่งไคล้บอกว่า
“พวกเรามาฟังเพลง มาดูการโชว์ฝีมือทางดนตรีครับ ไม่ได้จะมาต่อยตีกัน เพลงมันทำให้เราได้ระบายออก มีโยกหัว มีกระแทกกัน มันเป็นการโชว์ความสะใจมากกว่า ใครเจ็บเราก็ช่วยกันดูแล เคยมีเพื่อนผมไหล่หลุด พวกพี่ๆ เขาก็ช่วยกันเอาออกไปนั่งพัก เรื่องทะเลาะวิวาทไม่มี เราไม่มีเรื่องแบบนั้นอยู่ในหัวเลย สนุกกับดนตรีดีกว่า”
มีเจ็บตัวนิดหน่อยแต่ไม่เจ็บใจ นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่เคยมีเรื่องแค้นเคืองกันเลย ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าตอนนี้ พวกเขายังคงนั่งเล่นนั่งคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้องตามประสาคนคอเดียวกัน
เสร็จธุระ ผมกับเพื่อนก็เรียกแท็กซี่กลับไปพักผ่อนที่หอด้านหลังมหาวิทยาลัย เพราะเหนื่อยและเมื่อยคอเต็มที !!!
เปิดห้องเพื่อน สำรวจความเป็นสาวก
บางที การแสดงออกอย่างที่ผมได้เห็นที่เดอะร็อกผับเมื่อครู่ อาจเป็นเพียงแค่ความมันความสะใจชั่วครู่ชั่วคราว แต่สำหรับเพื่อนผมไม่ใช่แน่
แม้ความเหนื่อยล้ายังคงคุกคาม แต่เมื่อเปิดห้องของเพื่อนเข้าไป ความสงสัยใคร่รู้จากภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็ถ่างตาผมเอาไว้ไม่ให้หลับ ห้องทั้งห้องปิดด้วยกระดาษสีดำมืด แถมดวงไฟที่ทั่วไปจะเป็นหลอดนีออน เพื่อนผมก็จัดการเปลี่ยนเป็นแบบเกลียว พลังแสงแค่ ๔๐ วัตต์ ดูสลัวๆ ชวนสยอง !!!
ผนังด้านหนึ่งมีโปสเตอร์ของวงดนตรีต่างประเทศแปะอยู่ ในภาพเป็นรูปชาย ๕ คนกำลังบูชายัญหญิงสาวเปลือย แต่ผนังอีกด้านนั้นน่าสนใจกว่า ผ้าผืนหนึ่งกว้างยาวประมาณ ๑ เมตร มีรูปดาวและไม้กางเขนกลับหัว ตรงกลางมีรูปศีรษะพระเยซูที่ถูกตัด เหมือนโปสเตอร์คอนเสิร์ตที่ผมไป แม้แต่ภาพสกรีนเซฟเวอร์ในคอมพิวเตอร์ของมันก็ยังเป็นภาพซาตานที่เราเคยเห็นบ่อยๆ
“มึงเป็นไรมากไหมเนี่ย เป็นสาวกด้วยหรือเปล่า” ผมชวนมันคุย
“เอ้า…แล้วเดือดร้อนใครหรือเปล่าล่ะ งั้นพวกที่บ้าดูบอลหรือบ้าวงดีทูบีก็เป็นสาวกเหมือนกันสิ คนเราชอบไม่เหมือนกัน อย่าคิดมาก” มันสวนผมกลับทันที
“นี่ยังน้อย” มันหยิบปกซีดีวงต่างประเทศให้ผมดูแผ่นหนึ่ง ภาพที่เห็นเป็นรูปคนตายด้วยปืนลูกซองที่ยิงกรอกปากตัวเอง
“นักร้องนำฆ่าตัวตาย มือกีตาร์มาเห็น เลยถ่ายลงปกอัลบัมต่อมา” มันบอกผม
ผมนึกในใจว่าไอ้เอกมันจะทำอะไรถึงขนาดนั้นไหม แต่เหมือนมันรู้ว่าผมคิดอะไร มันบอกว่าในไทยอย่างเก่งก็แค่ไม่ศรัทธาศาสนา ไม่ถึงกับเผาโบสถ์เหมือนที่นอร์เวย์หรอก
“ส่วนพระที่ถูกฆ่าตายที่ภาคใต้นั้น คงไม่เกี่ยวกับดนตรีแนวนี้นะ” มันย้ำอีกครั้งก่อนจะเดินเข้าห้องน้ำไป
การพูดการจาของมันใครมาได้ยินเข้าอาจดูรุนแรง แต่จริงๆ แล้วอารมณ์มันก็ปรกติเหมือนคนทั่วไป บางครั้งผมยังเห็นมันอ่านการ์ตูนขายหัวเราะ ดูไปแล้วเรื่องความคลั่งไคล้ดนตรีของมันนั้นแทบจะมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำถ้าไม่ได้รู้จักกันจริงๆ แต่ที่สังเกตได้อย่างหนึ่งก็คือ โดยปรกติเอกจะไม่เชื่อเรื่องอะไรง่ายๆ แม้แต่ในห้องเรียนมันก็เถียงกับอาจารย์อยู่ออกบ่อย และไม่ใช่เถียงแบบไม่มีเหตุผลด้วย แต่ทำไมเอกถึงหลงใหลไปกับดนตรีแนวนี้ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากรู้
“เหมือนเจอผู้หญิงสวย แล้วเราคิดว่าคนนี้ใช่สำหรับเรา อย่างอื่นไม่สนใจแล้ว” เสียงมันลอดออกมาจากประตูห้องน้ำ ทำให้ผมเลิกถาม
สายพันธุ์ “แบล็กเมทัล”
เสียงเพลงจากด้านมืด
ในวงการเพลงใต้ดินนั้น ว่ากันว่าแนวดนตรีมีหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่มีเหมือนๆ กัน คือเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นขบถต่อสังคม ที่แรงที่สุดก็เห็นจะได้แก่ แบล็กเมทัล (Black Metal) ที่มีเนื้อหาต่อต้านศาสนา และในแง่ดนตรีเอง วงการเพลงใต้ดินก็ถือว่าแนวดนตรีแบบแบล็กเมทัลนั้นรุนแรงที่สุดแล้ว จังหวะของมันรัวเร็วราวกับจรวดขีปนาวุธที่ถูกปล่อยออกจากปากกระบอกปืน เสียงร้องแผดคำรามแหลมสูงไม่เหมือนเสียงคน ส่วนดนตรียังมีเสียงของเครื่องดนตรีออร์เคสตร้า เช่น เปียโน ไวโอลิน ผสานอยู่ด้วย แต่คงไม่ได้เล่นแบบบีโทเฟ่นหรือโมสาร์ตแน่นอน เพราะเครื่องดนตรีเหล่านี้จะถูกกระทำแรงๆ เพื่อให้เกิดเสียง ไม่นุ่มนวลเหมือนที่เคยฟัง
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้คุยกับคนที่เล่นดนตรีแนวแบล็กเมทัลซึ่งในบ้านเราหาตัวคนเล่นดนตรีแนวนี้ได้ยากเหลือเกิน ก่อนที่จะได้พบกับเขา ผมนึกเอาเองว่านักดนตรีแนวนี้น่าจะเป็นพวกที่มีท่าทีก้าวร้าวรุนแรง แต่เมื่อเจอตัวจริงก็พบว่าไม่ใช่อย่างที่คิดเลย
คนที่ผมได้คุยด้วยนั้นมีความเป็นมิตรมอบให้ตั้งแต่ผมหย่อนก้นลงนั่งแล้ว เขาคือ วาทยกร อติพยัคฆ์ หรือ อาร์ต ชายหนุ่มวัย ๓๒ ปี ร่างสูงใหญ่ไว้เคราหนาทึบ มือกีตาร์วงเซอร์เรนเดอร์ ออฟ ดิวีนิตี้ ที่เล่นในคอนเสิร์ต God Beheading วันนั้น แถมยังเป็นคนจัดงานเองเสียด้วย
“เริ่มแรกของผมก็คือฟังพวกร็อกพวกเฮฟวี่มาตั้งแต่สมัยเรียน ก็ฟังมาเรื่อยแล้วก็ชอบไง ส่วนใหญ่ก็เป็นวงต่างประเทศทั้งนั้น วันหนึ่งอยากเล่นเองเลยชวนเพื่อนตั้งวง”
แล้วทำไมถึงเข้ามาอยู่ในวงการใต้ดินที่เล่นแนวแบล็กเมทัลได้ ?
อาร์ตหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ ก่อนเล่าว่าเขาฟังไล่มาเรื่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงแบล็กเมทัลที่รู้สึกเลยว่ามีเนื้อหาและปรัชญาตรงใจอยู่หลายอย่าง ทำให้เขาเข้าถึงแบล็กเมทัลมากกว่าอย่างอื่น
“แบล็กเมทัลมันเป็นเรื่องของการแอนตี้ศาสนาอะไรพวกนี้ อย่างผม ผมเชื่อว่าศาสนาไม่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ มันเป็นแค่สิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ ซึ่งจริงๆ แล้วผมเชื่อว่ามนุษย์เรายืนอยู่ได้ด้วยตัวเราเอง แก่นของแบล็กเมทัลมันอยู่ตรงนั้นครับ โดยที่ใช้ซาตานเป็นเหมือนกับไอดอล (idol) นำเรา อะไรประมาณนั้น ในแง่เนื้อหาแล้ว เมื่อก่อนจะมีแค่เรื่องซาตาน ปีศาจ ด้านมืด แต่เดี๋ยวนี้มันมีเรื่องการทำลายล้างและอะไรหลายๆ อย่างเพิ่มเข้ามา
“สำหรับผม ผมมองว่าซาตานมีมาก่อนอารยธรรมของทุกที่ เป็นเรื่องนามธรรมมากกว่าแค่จะบอกว่ามีหัวเป็นแพะ แต่งตัวแบบนี้แล้วต้องมากราบไหว้ ผมว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายมากกว่า อย่างการทำสงครามกับศาสนา ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อะไรประมาณนั้น
“ถามว่าทำไมต้องแต่งหน้าทาปาก ก็เพราะเราเป็นปีศาจ แบล็กเมทัลมันมีลักษณะแบบอนุรักษนิยม ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก เหมือนคนสะพายย่ามลากแตะไปกู้เงินธนาคาร คือมันมีกรอบของมันครับ”
แล้วคนนอกที่เขามองมาแล้วไม่ชอบล่ะ ?
อาร์ตบอกว่าคงเพราะความคิดแอนตี้ศาสนานี่แหละที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไม่ชอบ
“บ้านเราไม่มีใครชอบหรอก เขานับถือศาสนาอยู่ดีๆ ก็ไปด่าเขา แต่จริงๆ แล้วมันมีแนวคิดซ่อนอยู่ คือคุณควรจะเชื่อตัวเองก่อนจะไปเชื่อใคร คนที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนา ไม่ได้หมายความว่าเขาเลว บางคนทำการทำงานดีๆ ก็มี ในขณะเดียวกัน พวกที่มีศาสนาแต่ฆ่ากันเอง เป็นพระยังเอากับศพ หั่นศพได้ก็ยังมี
“เรื่องสังคมทุกวันนี้ มันแล้วแต่นะ ผมว่ามันต่างคนต่างอยู่ก็ได้ครับ คือไม่ยุ่งเกี่ยวกันก็ได้ อย่างผมชอบที่จะอยู่วงการนี้ ผมไม่ได้คิดที่จะเอาเงินเอาทอง ผมทำเพราะความชอบ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ชอบวงการนี้ก็ไม่ต้องยุ่งกัน แล้วผมว่ามันตลกที่จะมานั่งเรียกหาความดีความงามอะไรพวกนั้น ผมว่ามันคงไม่มีแล้วละ แต่มันก็ยังอยู่กันได้”
แล้วเรื่องเนื้อหาและท่วงทำนองที่รุนแรง มันจะมีผลกับการใช้ชีวิตด้วยหรือเปล่า ? อาร์ตมองว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น แต่เขาเชื่อว่าคนเราทุกคนมีบางอย่างข้างในที่อยากจะแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นใคร มันสามารถที่จะระเบิดได้ทุกคน
“เพียงแต่ว่าเราเอาความรู้สึกตรงนั้นมาทำเป็นดนตรีอย่างนี้ แทนที่เราจะไปฆ่าคนจริงๆ เราหมั่นไส้ใคร รู้สึกแรงๆ กับใคร เราก็เอามาใส่ในดนตรีทำให้มันเป็นศิลปะเสีย เหมือนเราเอาด้านมืดในใจคนมาทำเป็นดนตรีแทน แล้วมันน่าแปลก ดนตรีแนวนี้มันรุนแรงก็จริง แต่ไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่พวกเรา เหมือนคนฟังแนวนี้เขารู้กันนะครับ ไอ้พวกที่ตีกันมันไม่ได้ฟังดนตรี มันไม่ได้สนใจว่าเพลงเขาพูดถึงอะไร ก็ตีกันซะ
“ในชีวิตจริงกับในการแสดงดนตรี สำหรับผมมันค่อนข้างจะสวนทางกันนะ ผมมีลูกอายุเพิ่ง ๙ เดือน ผมก็ใช้ชีวิตปรกติครับ มีความรัก มีเสียใจ มีผิดหวัง แต่เวลาผมอยู่บนเวทีผมก็เปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นคนโชว์งานศิลปะทางดนตรีก็แค่นั้น”
มาถึงเรื่องความคิดต่อต้านศาสนา ผมไม่ลืมที่จะถามว่าอะไรทำให้เขาคิดเช่นนั้น
“มันหลายอย่าง พูดยากครับ มันเป็นความเชื่อส่วนตัว เรื่องศาสนาเรื่องอะไรเนี่ย ในแนวปรัชญาจริงๆ ในเรื่องการละวาง หลุดพ้นอะไรแบบนั้น ผมยังรู้สึกดีกว่า แต่ผมว่าสมัยนี้มันกลายเป็นธุรกิจเกือบหมดแล้วละ มันไม่มีเหตุผลเลยแถมยังถูกยัดเยียดให้ด้วย เคยเจอไหม ที่มีคนมากดกริ่งหน้าบ้านแล้วก็มาท่องไบเบิลให้ฟัง พยายามจะพาเราไปเข้าโบสถ์ให้ได้ มันรบกวนกันมากเกินไป”
มาถึงคำถามสุดท้าย ผมถามเขาว่าแล้วพวกวัยรุ่นที่ฟังเพลงแนวนี้ล่ะ ถ้าเขาเอาความรุนแรงเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตจริงจะทำอย่างไร
สิ้นคำถาม ลมวูบใหม่พัดมาเย็นบาดเนื้อ ถ้าเป็นมีดคงเลือดออกไปแล้ว
อาร์ตหยิบบุหรี่มวนที่เท่าไรจำไม่ได้ รู้แต่เขาสูบมวนต่อมวน
“เครียดหรือ ?”
เขายิ้มเล็กน้อยก่อนจะตอบคำถามที่ทิ้งค้างไว้
“ผมต้องถามก่อนว่า ผมต้องรับผิดชอบคนพวกนี้ด้วยหรือเปล่า ถ้าเขาเห็นผมมีอิทธิพลต่อเขามาก ผมก็คงต้องรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครแหกไปทำอะไรไม่ดีนะ ผมว่ามันไม่เกี่ยวหรอกว่าใครจะรุนแรงใครจะเลวเพราะฟังเพลงแบบนี้ เอาเข้าจริงทุกวันนี้มันมีเรื่องเลวร้ายเยอะแยะไป อย่างเด็กผู้หญิงวัยรุ่น ม. ๒-ม. ๓ ไม่ได้ฟังแนวนี้เลยแต่ดันไปขายตัว แบบนั้นก็มี คือมันมีเลวกันได้ทุกเรื่องนะครับผมว่า”
ก่อนที่ผมจะกล่าวขอบคุณเขา อาร์ตก็โพล่งขึ้นมาว่า “นี่ผมจะโดนเขาด่าไหมเนี่ย” เพื่อนที่นั่งฟังอยู่ตั้งแต่ต้นบอกแกมแหย่เล่นว่า “เดี๋ยวก็รู้เองแหละพี่” ส่วนผมได้แต่ยิ้ม
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด จะพอทำให้เข้าใจในความแปลกแยกทางดนตรีและความคิดของพวกเขาได้หรือไม่ ผมคงไม่อาจจะสรุป
แต่ถ้าไม่พอ ยังมีอีกคนที่จะอธิบายเพิ่มได้…
ดนตรีเมทัลกับระดับของความรุนแรง
“ดนตรีก็คือดนตรีครับ ถึงแม้ว่าดนตรีเมทัลจะหนักหน่วงและสื่อถึงด้านมืด ความรุนแรง แต่มันก็มีขอบเขต ไม่ใช่ฟังแล้วต้องไปทุบหัวพ่อแม่ใคร ไม่ได้เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงกับคุกกับตะรางอย่างไร้เหตุผลหรอก ไอ้ที่นอกเหนือไปกว่านั้นมันอยู่ที่สันดานคน”
ประโยคสั้นๆ นี้มาจากบทความหนึ่งในนิตยสาร มาเนีย (MANIA) นิตยสารว่าด้วยเพลงเมทัลและวงการเพลงใต้ดินในไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “ริน Heretic” ชื่อจริงของเขาคือ นรินทร์ ชาญประณีต ผู้ก่อตั้งวง Heretic Angel วงใต้ดินวงแรกๆ ที่เล่นแนวเมทัลและเขียนวิจารณ์เพลงมากว่า ๑๐ ปี ปัจจุบันเขายังคงคลุกคลีอยู่ในวงการบ้างไม่ถึงกับหายหน้าหายตาไป บทวิเคราะห์ความรุนแรงของดนตรีเมทัลที่เขาเขียนไว้ น่าจะทำให้เราเห็นเบื้องลึกเบื้องหลังของเพลงแนวนี้ขึ้นมาบ้าง
“สื่อทางดนตรีเป็นสื่อทางเลือกหนึ่งที่สามารถมีอิทธิพลชักนำผู้คนได้ โดยเฉพาะเยาวชนที่ยังมองโลกไม่กว้างพอ สังคมโดยมากจึงมองว่าดนตรีที่เล่นกันหนักหน่วง มีเนื้อหารุนแรง ไม่มีอะไรน่าพิสมัยในดนตรีประเภทนี้ มีแต่ความเคียดแค้น ก้าวร้าว สื่อบางส่วนตั้งเป้ามองดนตรีประเภทนี้เป็นแรงกระตุ้นของความรุนแรงในครอบครัวและสังคม”
จริงเท็จแค่ไหน นรินทร์จำแนกไว้อย่างนี้
เรื่องบุคลิกและอุปนิสัย
“จากการที่ได้พบปะกับขาเมทัลมามากมายหลายชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกันระหว่างคนฟังประเภทนี้กับคนที่ไม่ได้ฟัง แน่นอนคนที่ฟังเมทัลมีความบ้าระห่ำมากกว่า แต่ไม่ได้แสดงออกถึงความก้าวร้าวโดยนิสัย ก็มีบ้างซึ่งเป็นส่วนน้อย แต่ไม่มีที่ไปอาละวาด ไล่ฆ่าหรือข่มขืนใครหรอก คนส่วนมากมักมองว่าพวกนี้ดูเถื่อน มีอีโก้สูง แต่คุณลองเข้าไปคุยกับพวกเขาดู จะรู้ว่าพวกเขาก็อยากเป็นมิตรเหมือนคนธรรมดาทั่วไป นี่คือคนฟังดนตรีไม่ใช่ซุ้มมือปืนหรือแก๊งโจร”
เรื่องของเสียงดนตรี
“เสียงกระตุ้นมีผลต่อกิจกรรมและอารมณ์ของมนุษย์ ลองเปิดทีวีหาช่องมวยคู่เด็ดๆ ลองปิดเสียงดูและเปิดเสียงดูเทียบกัน สังเกตได้เลยว่าอรรถรสในการชมมันต่างกันแน่นอน เปิดเสียงก็มันกว่า แล้วมองกลับมาที่ดนตรีเมทัล กว่าจะทำออกมาเป็นเพลงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้ฝีมือและความสามารถมากพอควร แน่นอนอารมณ์มันเกิดแต่คงไม่รุนแรงถึงขนาดเดินไปถีบหน้าใครหรือจุดไฟเผาตัวเองหรอก บางคนได้ยินดนตรีเมทัล โอ๊ย… เดินหนี ปวดหัว หนวกหู รับไม่ได้ แต่นี่เสียงดนตรีนะครับไม่ใช่เครื่อง Jack Hammer ที่กำลังขุดถนนนะ”
เนื้อหา
“มาดูกันที่เนื้อหา เพลงจำพวกนี้ไม่มีเนื้อหาที่พูดกันเรื่องสวยๆ งามๆ หรอก มีแต่เรื่องเซ็กซ์ ฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม ความรุนแรงและลัทธิความเชื่อ ผลสรุปจากการทำวิจัยออกมาว่าคนฟังจำเรื่องฆาตกรรมได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุด เห็นและรับรู้กันได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่ไม่ได้หมายความว่ามาจากการฟังเพลงเมทัลแล้วไปฆ่ากัน นั่นมันมาจากปัญหายาเสพติดหรือปัญหาส่วนตัวมากกว่า คนฟังเมทัลไม่ใช่คนหัวอ่อนนะครับ เชื่อได้เลยว่าหัวแข็งกันทุกคน เพลงมันแค่สะท้อนความจริงออกมาอย่างเปิดเผยและชี้ให้เห็นว่าโลกมนุษย์เป็นยังไง ไม่ได้ทำมาเพื่อล้างสมองใคร”
ความต่างในวงการเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ผมนึกว่าวงการเพลงใต้ดินจะคิดเหมือนๆ กัน กระทั่งได้มาเจอกับคนที่มีทัศนคติต่างออกไป
สมศักดิ์ แก้วทิตย์ วัย ๓๖ ปี คนกลางในสามพี่น้องตระกูลแก้วทิตย์ มือกลองแห่งวงดอนผีบิน วงดนตรีเมทัลจากเมืองน่าน วงใต้ดินวงแรกๆ ของเมืองไทย ทั้งยังเป็นวงใต้ดินวงแรกที่มีซีดีขายในต่างประเทศด้วย พร้อมๆ ไปกับการเป็นนักดนตรี พวกเขายังทำงานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร และได้เสนอปรัชญาบางอย่างผ่านบทเพลงของพวกเขา
สมศักดิ์มองว่าคนที่จะมาฟังเพลงใต้ดินหรือ underground ได้ ต้องผ่านการฟังเพลงทั่วไปมาก่อน แล้วเบื่อ จึงอยากจะฟังอะไรที่มันจริงจังขึ้นบ้าง หนักหน่อย โหดหน่อย ตรงไปตรงมา
“ทุกวันนี้ภาพของ underground ในสายตาของคนทั่วไป คือพวกวิปริต มีแต่พวกโหดๆ ประมาณว่าหน้าปกอัลบัมเป็นผู้หญิงหุ่นดี หน้าเละเทะ นอนแก้ผ้าแล้วเอาเลื่อยเลื่อยหว่างขาตัวเอง สไตล์ฝรั่ง ซึ่งเมื่อก่อนบ้านเราไม่มี วันนี้เราเอาของเขามาเต็มๆ แต่วัฒนธรรมบ้านเรากับฝรั่งมันต่างกัน ผมว่าสักวันตำรวจต้องลงมากวาดล้างแน่ วันนั้นชาวเมทัลตัวจริงอาจจะหนีหัวซุกหัวซุนก็ได้ แต่ก็ภาวนาไม่ให้เป็นเช่นนั้น
“จริงๆ แล้ว underground ไม่ได้หมายถึงพวกโหดอย่างเดียว มีแนวอื่นด้วย ความสวยงามมันมีอยู่ ผมเลยอยากจะหนีจากจุดนี้เหมือนกัน เพราะดนตรีของผมมีความสวยงาม”
ที่เขาว่ามานี้คือทัศนคติที่มีต่อวงการเดียวกัน ส่วนเรื่องการทำดนตรีเขาบอกว่า
“ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องราวของชีวิตคนบนเส้นทางฝัน ที่ต้องสู้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีอะไรที่จะได้มาอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะชีวิตที่ยังจมอยู่ในโคลน เมื่อมีความฝันก็ต้องสู้กันยันฉากสุดท้าย ไม่ว่าจะด้วยความอับจน ด้วยโรคภัย สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย ไม่สวยงาม แต่นรกก็มีจริง มีให้เห็นเป็นประจำ อยู่ที่ว่าจะมองรึเปล่า
“จริงอยู่ที่คนเราควรมองในสิ่งที่สวยงาม แต่ว่าสำหรับเรา เมื่อไปเจอหลายสิ่งหลายอย่างที่เลวร้าย เรากลับไปสนใจในสิ่งนั้นมากกว่า และรู้สึกว่ามันเข้ากับดนตรีของเราได้ดี ถึงแม้จะพูดแต่สิ่งเลวร้ายในชีวิต แต่ในบทเพลงของเราก็แฝงไปด้วยการให้กำลังใจอยู่ลึกๆ ที่จะให้สรรพสิ่งพ้นทุกข์”
ยังมีอีกคนที่แสดงทัศนคติต่างออกไปเช่นกัน เขาชื่อ แบต หรือ ฐิรัตน์ วุฑฒิโกวิทย์ สมาชิกวง Zany Zone วงน้องใหม่ที่เพิ่งจะลงตามรุ่นพี่มาอยู่ใต้ดิน เขาบอกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนฟังหรือทำเพลง อย่าได้เอาอีโก้ในแนวเพลงที่คุณชอบมาเป็นกำแพงแบ่งแยกมิตรภาพของความเป็นเพื่อนที่ชอบดนตรีด้วยกัน ที่สำคัญคุณต้องไม่ดูถูกกันและกัน ด้วยเหตุผลหรืออิทธิพลต่างๆ ที่ได้รับมาจากฝรั่ง
“ถ้าคุณเป็นคนทำเพลง ขอให้ซื่อสัตย์กับตัวคุณเอง และถ้าเป็นไปได้ ในความคิดส่วนตัวผมนะ อยากให้คนทำเพลงมีจิตสำนึกที่ใฝ่สูงหน่อย เพราะเราเป็นมนุษย์”
สิ่งที่แบตฝากไว้ อาจทำให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว ในวงการนี้ไม่ได้มีแค่ดนตรีด้านมืดเสมอไป เขายังต้องการจะทลายกำแพงที่ทำให้คนแตกแยกทางดนตรีลง และเปิดใจรับความต่างให้มากขึ้น
คำถามคือเมื่อไรเล่าที่เพื่อนผู้ชอบเสียงเพลงเหมือนกันจะเข้าใจ
v อดีตคนดนตรีนอกรีต
“ดื่มเลือดจากนมมารร้าย หล่อเลี้ยงอารมณ์ไฟ อารมณ์ที่ไม่เกรงกลัว มหันตภัยใดๆ ร้องกู่ ร้องดังยังฟ้า โกรธแค้นทุกอย่างขวางตา ระเบิดออกมาถึงรากถึงวิญญาณ มันจึงบรรลัย ฆ่ามัน ฆ่ามัน ฆ่ามัน ทำลายมัน ฆ่ามัน…
เราคือตัวตน ที่ปะปนในทุกคน สุขสันต์ยามค่ำคืน พวกเราตื่นพร้อมหน้ากัน อยากทำสิ่งใด ไม่มีใครมาขัดขวาง ท่ามกลางแสงสีนวล ชวนระเริง ดั่งเป็นเพลิงบังเกิดในอุรา ดูหน้าตาทุกคนเปลี่ยนไป เราคือปีศาจ เราคือปีศาจ เราคือปีศาจ…”
ข้างต้นคือส่วนหนึ่งในบทเพลงที่มีชื่อว่า “ปีศาจ” ในอดีต คนแต่งเพลงนี้เคยถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีต แต่ในวงการเพลงใต้ดิน คนชื่อ พราย ปฐมพร ยังถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ถึงแม้วันนี้เขาจะไม่ได้เล่นดนตรีแล้วก็ตาม แต่บทเพลงของเขาที่มีเนื้อหาค่อนไปในทางขบถ ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่รุ่นน้องที่เพิ่งจะเดินตามรอยมา
วันนี้ดูเหมือนเขาจะสงบลงและเข้าใจอะไรมากขึ้น อาจเป็นเพราะวัยที่ล่วงผ่านมาถึง ๔๔ ปี เขาพูดถึงวัยรุ่นที่สนใจดนตรีว่า
“เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องการจะทำอะไรที่ใหม่ ซึ่งความใหม่นั้นมันก็มีผลมาจากตะวันตก ผมเองก็ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากตะวันตก เพราะว่าเขาจะมีความคิดด้านดนตรีซับซ้อน แต่ความจริงมันก็ไปตามกระแสตลอด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้ แต่ว่าอย่างน้อยๆ คนซึ่งอาจจะทั้งชีวิตแต่งเพลงออกมาไม่มีใครฟังเลย หรืออาจจะมีคนฟังแค่เพลงเดียว ความรู้สึกของคนที่ทำเพลงเขาก็รู้ว่ามันช่างงดงามเหลือเกิน มันดีมาก อย่างน้อยๆ มันก็ได้พิสูจน์อะไรบางอย่างว่ามันไม่ใช่กระแส มันเป็นบางอย่างที่มีค่ากับตัวเอง
“อย่างเมื่อก่อนผมคิดว่าตัวเองเป็นขยะ ไม่มีใครชอบ มีแต่คนเกลียดด้วย แต่เดี๋ยวนี้พอขยะมันมากเข้าๆ เออ…บางชิ้นมันก็มีค่าสำหรับคนอื่นนะ คือผมเนี่ยไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมีค่าขนาดนี้ แต่เขาทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีค่ามากขึ้น มันก็เป็นกำลังใจ เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ สิ่งที่ผมพบก็คือ ศิลปินทุกคนที่ทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะแขนงไหนๆ เหตุผลที่เราไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะจิตใจเรานั่นเอง คิดแต่ว่าเราแต่งเพลงห่วย ทำอะไรก็มีแต่คนว่าอย่างนั้น เมื่อก่อนผมคิดยังไงก็คิดไม่ออก ทำไมแม่งไม่ฟังเพลงกูวะ ทำไมแม่งเกลียดกูวะ
“วันนี้ จิตใจผมรับรู้ว่าผมทำได้แล้ว ผมผ่านตรงนั้นมาแล้ว ผมตอนนั้นก็เหมือนน้องๆ หลายคนตอนนี้ที่ยังไม่ผ่าน ไม่ผ่านอะไร ไม่ผ่านจิตตัวเองว่าตัวเรามีค่า เขาทำได้แล้วแต่เขายังรู้สึกหดหู่อยู่ เขาไม่ข้ามความเศร้ามา เหมือนเพื่อนผมที่พอเสียคนรักไป มีอย่างเดียวก็คือ กูจะขับรถให้แม่งชนให้แม่งตาย ให้น้ำตากูเป็นสายเลือด ให้โลกจดจำว่าความรักกูนี่ยิ่งใหญ่ แต่มันจะมีค่าอะไรถ้าเราไม่ข้ามตรงนั้น ทีนี้เราจะข้ามตรงนั้นได้ยังไง นี่แหละคือปัญหา เราต้องหาให้เจอ ผมอยากบอกว่า เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะหามันเจอได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรี คุณเป็นอะไรก็ได้ คุณสามารถหาเจอได้”
ถึงแม้คนที่รักในเพลงใต้ดินจะถูกมองว่านอกรีต ป่าเถื่อน หรืออะไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริง นี่ก็คืออีกมุมหนึ่งในโลกของดนตรีที่กำลังสื่อสารกับสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่สังคมส่วนใหญ่นั้นอาจยังขาดความเข้าใจและไม่รู้จักทำใจให้กว้างพอ
หรือแท้จริงแล้ว ด้วยสังคมหรืออะไรก็ตาม ทำให้เราไม่อาจแม้แต่จะทำเช่นนั้นได้ ?
ขอขอบคุณ :
เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ วาทยกร อติพยัคฆ์ นรินทร์ ชาญประณีต สมศักดิ์ แก้วทิตย์ ฐิรัตน์ วุฑฒิโกวิทย์ พราย ปฐมพร สันต์ และเอฟ
www.blackmetal.com
ข้อมูลประกอบ :
นิตยสาร MANIA, Metal, Starpics, The Quiet storm
ซีดีเพลง ดอนผีบิน, พราย ปฐมพร, Heretic Angel, Mayhem, Surrender of Divinity, Zany Zone
www.metalthai.com