นักเขียน พรชนก บัวสุข
ช่างภาพ นันทวัฒน์ สกุลวัฒน์
ผลงานจากงานค่ายสารคดี ครั้งที่ 9

คุณลุงสอนวิธีการจำแนกลักษณะของเกลือ เกลือเม็ด(ซ้าย) เกลือป่น (ขวา)

“ฮิเดโกะ เรือผมไปแล้วนะ สงสัยจะกลับอู่ไปแล้ว” ทหารญี่ปุ่นกล่าวกับหญิงสาว หลังจากเดินไปที่ที่เรือของกองทัพของเขาเคยจอดอยู่แล้วพบเพียงความว่างเปล่า

“ทำไมเงียบจังคะ ผู้คนไปไหนกันหมด”

“ไม่ต้องกลัวนะ” โกโบริปลอบอังศุมาลินหญิงคนรักของเขาและพยุงพาเธอออกไปจากตรงนั้น
หวอออออออออ..

เสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอค่อยๆจางหายไปก่อนจะถูกแทนที่ด้วยสีดำ ภาพสีปรากฏขึ้นอีกครั้งแต่ทว่าเป็นภาพชายแก่คนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนเรือ

อังศุมาลินที่วิ่งกระหืดกระหอบ นั่งลงตรงท่าเรือไม้ เมื่อเห็นว่ามีเรือจอดเทียบท่าอยู่ลำหนึ่งจึงเอ่ยถาม “ลุงมีเรือข้ามฝากไหม”

ใช่แล้ว…ฉันกำลังดูละครเรื่องคู่กรรมเวอร์ชั่นที่มีเบิร์ด ธงไชยรับบทเป็นโกโบริและกวาง กมลชนก รับบทอังศุมาลิน ที่สร้างขึ้นในปี 2533  หลังจากได้ฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนสวนสมเด็จย่าในวันที่ว่าแถวนี้มีหนังและละครมาถ่ายทำหลายเรื่อง ประกอบกับจากการพูดคุยกับคุณกิตติเจ้าของโกดังเกลือซึ่งตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำที่เล่าให้ฟังว่าเรื่องคู่กรรมก็เคยมาใช้ท่าเรือของโกดังเป็นสถานที่ถ่ายทำ เมื่อกลับถึงบ้านฉันไม่รีรอ เปิดดูละครเรื่องดังกล่าวที่ดูไปกว่า 38 ตอนจึงได้พบฉากที่คุณกิตติเล่าให้ฟัง

ฉันกดหยุดคลิปวีดีโอที่รับชมผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดัง Youtube เพื่อดูสิ่งที่ปรากฏในฉากดังกล่าวอย่างชัดเจน

ในสายวันหนึ่งฉันกลับมาที่นี่อีกครั้ง ฉันยืนอยู่ริมแม่น้ำพูดคุยกับคุณกิตติซึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนตรงนี้เคยเป็นที่ขนส่งเกลือขึ้นเรือ ฉันหันหลังให้ท้องฟ้าแสนสดใสในวันนั้น เหนือประตูที่ฉันเดินออกมามีป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงที่มีตัวอักษรทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาไทยกำกับไว้ว่าที่แห่งนี้คือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกลือแหลมทอง”

ฉันเดินกลับไปยังริมแม่น้ำอีกครั้งพลางมองหาบางสิ่ง

“ตอนนี้ไม่มีแล้ว ท่าเรือถูกรื้อไปแล้ว” ประโยคบอกเล่าของคุณกิตติ มคะปุนโญ ผู้จัดการเครือแหลมทอง วัย 58 ปีดังขึ้นราวกับรับรู้ได้ว่าฉันกำลังมองหาสิ่งใดอยู่

เราเดินออกจากโกดังเกลือเพื่อไปยังอาคารไม้อีกแห่งที่ตั้งอยู่ติดกันที่เรียกได้ว่าเป็นทั้งบ้านและออฟฟิศ คุณกิตติได้เล่าให้ฟังว่าอาคารหลังนี้เคยเป็นที่พักของเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 5 มาก่อน  บันไดที่พาเราขึ้นไปยังชั้นสองนั้นบ่งบอกได้ถึงความเก่าแก่โดยปราศจากตัวเลขกำกับบอกอายุของสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

“ตอนแรกโกดังเกลือมีอีกคนสร้างขึ้นมาชื่อร้าน แบเทียมเกี่ย” คุณกิตติเล่าถึงจุดเริ่มต้นซึ่งนำพาชีวิตของเขามาสู่การเป็นผู้จัดการเครือแหลมทองในปัจจุบันว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเจ้าของคนก่อนหน้านี้

ทำมาสักพักหนึ่งก็สนใจที่จะไปทำธุรกิจอื่น คุณพ่อของคุณกิตติซึ่งเคยทำธุรกิจส่งออกพืชไร่จึงมาเซ้งต่อ โดยเน้นไปที่การส่งออกต่างประเทศ โดยคุณกิตติกล่าวเสริมว่า “เกลือเมืองไทยนั้นส่งออกได้เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประเทศที่สั่งซื้อก็คือ สิงคโปร์,มาเลเซีย และบรูไน เนื่องจากส่งไปขายไกลๆนั้นไม่คุ้มค่าขนส่ง”

สิบปีต่อมา เมื่อคุณกิตติจบการศึกษาชั้น มศ.5 คุณพ่อจึงชักชวนให้มาช่วยกิจการซึ่งในช่วงแรกก็ต้องอาศัยการเรียนรู้จากลูกน้องซึ่งอยู่มานาน ถึงแม้ว่าจะเซ้งต่อโกดังแต่ลูกจ้างที่เคยทำก็ยังทำงานที่นี่เหมือนเดิมซึ่งลูกจ้างเก่าจะมีความรู้เรื่องกระบวนการต่างๆ คุณกิตติเล่าว่าในตอนแรกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกลือทะเลและเกลือสินเธาว์เป็นอย่างไร พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมถึงความแตกต่างของเกลือทั้งสองประเภทว่าเกลือสินเธาว์จะมีทางภาคอีสานเพราะเคยเป็นทะเลมาก่อน  เมื่อเวลาผ่านไปโลกมีการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งเกลือแทรกซึมอยู่ใต้ดินจึงต้องเจาะเพื่อดูดน้ำเกลือขึ้นมา เกลือสินเธาว์นั้นจะมีความบริสุทธิ์กว่าเกลือทะเล ส่วนเกลือทะเลส่วนใหญ่จะได้มาจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม โดยเริ่มจากการแบ่งที่นาเป็นล็อกๆ 3-4ล็อก จากนั้นปล่อยน้ำทะเลเข้ามา เมื่อช่องไหนที่น้ำทะเลแห้งก็จะน้ำรวมกับล็อกอื่นๆ จนในที่สุดจะรวมกันเป็นกองสูงๆกองเดียวที่มีความเข้มข้นของเกลือมากที่สุด จากนั้นก็จะเก็บไว้ในยุ้งและส่งมาที่โกดังเกลือแห่งนี้ทางเรือ

โกดังเกลือ หรือจะเรียกว่าโรงโม่เกลือก็ได้เช่นกัน มีหน้าที่หลักๆคือการโม่เกลือ เมื่อเกลือจากนาเกลือซึ่งเป็นเกลือทะเลถูกส่งมาถึงที่นี่จะอยู่ในสภาพเกลือที่เป็นเม็ดๆ ต้องนำผ่านกระบวนการโม่ให้กลายเป็นเกลือป่นก่อน เมื่อเกลือเม็ดเหล่านั้นถูกนำขึ้นจากท่าเรือก็จะถูกส่งขึ้นมาตามสายพานเพื่อชำระล้างให้สะอาดด้วยน้ำก่อนจะถูกส่งต่อไปยังเครื่องโม่ ในการโม่ต้องมีผสมน้ำลงไปด้วย ตามธรรมชาติเมื่อเกลือผสมน้ำจะเกิดการละลายฉันจึงเกิดความสงสัย เมื่อถามคุณกิตติจึงได้คำตอบที่ช่วยไขข้อข้องใจนี้ได้คือเมื่อเกลือผสมกับน้ำแรกๆก็จะเกิดการละลายแต่เมื่อเครื่องโม่หมุนไปเรื่อยๆจะเกิดการอิ่มตัว เนื่องจากความเค็มของน้ำกับความเค็มของเกลือนั้นเท่ากัน หลังจากผ่านกระบวนการโม่จนกลายเป็นเกลือป่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกลือจะถูกส่งผ่านสายพานมาพักไว้ก่อนจะถูกวัตถุสีขาวทำจากพลาสติกมีรูหลายอันติดอยู่บนแผ่นไม้สูงเรียงกันอยู่หลายอันเรียกว่า”กระพ้อ” ซึ่งจะตักเกลือขึ้นมามีรูปเพื่อให้น้ำสะเด็ดออก จากนั้นก็จะถูกนำมาพักไว้ในยุ้งใช้เวลา 3-4 วันเกลือก็จะแห้ง นำไปบรรจุถุงส่งขายได้

ลุงกิตติ นั่งรำลึกความหลังกับโต๊ะทำงานตัวเดิมในมุมเดิมๆ

ที่แห่งนี้ อดีตกับปัจจุบันได้มาเชื่อมโยงกันด้วยคำบอกเล่าของผู้อาวุโสทั้งสอง

ภาชนะบรรจุเกลือไว้ลำเลียง ที่ยังเหลืออยู่บนสายพาน

ใบรายการสั่งซื้อเกลือในอดีต

เจ้านายและลูกน้องระลึกความหลังครั้งที่โรงเกลือนี้ยังรุ่งเรือง

ไม้ไผ่สาน บุ้งกี๋ยุคแรก สำหรับให้คนงานตักเกลือเข้ากระสอบเสื่อ

โรงเกลือแหลมทอง อาคารไม้ชั้นเดียวเก่าคร่ำคร่า ที่ในอดีตเคยรุ่งเรืองและเป็นที่เลี้ยงชีพของประชาชนในแถบนี้

เมื่อการดำเนินกิจการเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณกิตติเริ่มชำนาญในการประกอบธุรกิจเกลือก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นระบบการโม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยิ่งเมื่อวิวัฒนาการการผลิตถุงก้าวหน้าได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในการบรรจุเกลือมาเป็นถุงพลาสติกสานซึ่งมีประสิทธิภาพในการบรรจุเกลือมากกว่ากระสอบเสื่อ จากบางส่วนของการพัฒนาสิ่งต่างๆในการดำเนินธุรกิจแสดงให้เห็นว่าคุณกิตติใส่ใจในรายละเอียดของทุกๆขั้นตอนของการทำเกลือ

“ในตอนนั้นเกลือก็ส่งออกได้มาก ก็วุ่นแต่หาของ หาเกลือมาป้อนให้โม่ บางครั้งมันก็ไม่ทันแต่ตอนนั้นก็มีโรงงานอีกหลายโรงก็ไม่ซื้อเกลือเขา ให้เขาช่วยทำก็มี เมื่อก่อนการคมนาคมทางน้ำมันยังสะดวกกว่า เช่น ในคลองดาวคะนองเรือลำใหญ่ยังสามารถเข้าไปบรรทุกเกลือออกมาเพื่อส่งออกต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้เข้าไม่ได้แล้วเนื่องจากน้ำท่วมอะไรต่างๆ รัฐบาลก็เลยสร้างเขื่อนกั้น การทำถนนเข้าไปทำให้เจริญขึ้น การคมนาคมมันเปลี่ยนไป สมัยก่อนเกลือจะมาได้ทางน้ำทางเดียวเท่านั้น พอมาบนบกได้เขาก็ไปตั้งโรงเกลือแถวสมุทรสาคร สมุทรสงครามก็มี แต่ก็ยังต้องตั้งริมคลองอยู่ หากมีถนนตัดผ่านนาเกลือเขาก็จะใช้รถบรรทุก”  โรงเกลือแกลมทองตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่แม้ว่าจะมีทางเข้ามาถึงตัวโรงงาน ทว่าถนนนั้นแคบเกินกว่ารถบรรทุกจะแล่นเข้ามาได้ ครั้งจะขนเกลือออกไปไว้ตรงหน้าสวนสมเด็จย่าก็คงลำบากเช่นกัน

เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ การติดต่อสื่อสารก็มีความสะดวกยิ่งขึ้นเช่นกัน จากที่เคยใช้โทรเลข โทรสารก็หันมาใช้อีเมล์ คุณกิตติเล่าพาเราย้อนไปเมื่อครั้งการติดต่อสื่อสารยังทำได้ยากว่า “แต่ก่อนต้องให้คนงานนั่งเรือไปดูว่าเกลือจะถูกส่งมาที่โรงงานได้เมื่อไร”

เมื่อถามถึงการติดต่อสั่งซื้อและการจัดส่งสินค้าในการทำธุรกิจกับต่างประเทศในสมัยก่อนนั้นคุณกิตติได้อธิบายให้ฟังว่าการจ่ายเงินเพื่อรับสินค้าจะมี 2 ระบบด้วยกัน ได้แก่ ระบบ LC (Letter of Credit) ทั้งผู้ซื้อกับผู้ชายจะทำการชำระและรับเงินโดยผ่านทางธนาคาร ส่วนอีกระบบที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจลูกค้าก็คือ ระบบขายตั๋วให้ธนาคาร  เมื่อตกลงซื้อขายกับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายส่งของ จากนั้นก็นำใบของบริษัทเรือส่งให้ธนาคาร ทางธนาคารก็จะไปดำเนินการเก็บเงินจากอีกฝ่าย เมื่อเก็บเงินได้ ผู้ขายก็สามารถรับเงินได้ทันที หรือหากจะรับเงินก่อนก็สามารถทำได้แต่ต้องเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากเป็นลูกค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันมานานหลานสิบปีย่อมมีความเชื่อใจกัน การแลกเปลี่ยนนั้นจะง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเพราะการทำแลกเปลี่ยนโดยผ่านระบบต่างๆมีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวต้องเสียค่าทำเนียม

ในการคิดราคาค่าขนส่งแล้วแต่จะตกลงกันซึ่งมี 2 แบบ คือ ราคา FOB (Free On Board) เป็นการคิดราคาโดยไม่รวมค่าขนส่งและค่าประกัน เมื่อสินค้าไปถึงปลายทางต้องจ่ายเงินก่อนจึงจะรับสินค้าได้ และอีกรูปแบบหนึ่งคือ ราคา CIF (Cost,Insurance and Frieght) เป็นการคิดราคาโดยรวมทั้งค่าประกันและค่าขนส่งไปกับราคาสินค้า

การกำหนดราคาของเกลือนั้นเป็นไปตามกลไกตลาด “แต่ช่วงหลังๆ หลายอย่างไม่ค่อยอำนวยราคาเกลือมันพุ่งสูงจาก 500-600 บาทต่อตัน เป็น 2,000 บาทต่อตัน ลูกค้าจึงหันไปซื้อจากจีนแดง เวียดนามหรืออินเดียซึ่งในขณะนั้นขายเกลือราคา 800-1,200 บาทต่อตัน ราคามันห่างกัน สู้กันไม่ได้ แม้ว่าการขนส่งของเราจะราคาถูกกว่า มีท่าเรือเยอะกว่า คิดแล้วก็ยังไม่คุ้ม” คุณกิตติพูดถึงราคาที่เพิ่มขึ้นสูงของเกลือซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่น

เมื่อยี่สิบปีที่แล้วธุรกิจของคุณกิตติได้รับผลกระทบจากทั้งการพัฒนาของการคมนาคมที่ทำให้การขนส่งทางเรือลดน้อยลงเพราะความนิยมการขนส่งทางบกที่สะดวกกว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาเกลือของไทยสูงขึ้นลูกค้าจึงหันไปซื้อกับผู้ค้าประเทศอื่น แต่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบมากที่สุดเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งก็คือ สภาพอากาศนั่นเอง คุณกิตติได้เล่าว่า “มีช่วงหนึ่ง เขาเรียกว่าฝนพันปี ฝนตกมาก มากจนเกลือทำไม่ได้ เป็นอย่างนั้นอยู่ 2-3 ปี เกลือไม่มีก็ต้องสั่งจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้การส่งออกชะงัก บริษัท ไทยอาซาฮี โซดาไฟ จำกัด โรงงานอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เกลือในการทำอุตสาหกรรมผลิตโซดาไฟก็ต้องสั่งเกลือจากต่างประเทศมาใช้เช่นกัน ในขณะที่ลูกค้าต่างประเทศในตอนนั้นก็สั่งซื้อจากประเทศอื่น “ทำให้เราส่งเกลือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะส่งให้ใคร เพราะเขาไม่ซื้อ” คุณกิตติกล่าวพร้อมกับเล่าถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การดำเนินธุรกิจของเขาซบเซาลงในเวลาต่อมาอันเนื่องมาจากราคาเกลือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทอาซาฮีตัดสินใจทุ่มงบ 1,000กว่าล้านบาทในการก่อตั้งโรงงานผลิตเกลือที่โคราช เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและจำหน่ายอย่างเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “เกลือปรุงทิพย์”นั่นเอง

แม้ว่าเกลือของบริษัทอาซาฮีจะเป็นเกลือสินเธาว์ซึ่งเป็นเกลือคนละชนิดกันกับเกลือทะเลหรือเกลือสมุทรที่คุณกิตติทำการส่งออกในตอนนั้น โรงงานอื่นๆก็หันไปซื้อเกลือจากบริษัทอาซาฮี และด้วยความได้เปรียบที่คุณกิตติกล่าวถึงว่า “เขาขอ BOI (ย่อมาจาก Board of Investment คือหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนที่จะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ) ยังไงเขาก็ขายถูกกว่าเรา เวลาส่งออกก็ได้งดเว้นภาษี เพราะฉะนั้นก็ Dump ราคาได้ (การขายสินค้าในตลาดต่างประเทศในราคาต่ำกว่ามูลค่าปกติ) ผมมีลูกค้าถ้าจะซื้อจากเขาไปส่งออกก็ไม่ได้ เขาขายในประเทศ 3 บาท  ต่างประเทศ 1.50 บาท เราจะไปแข่งอะไรกับเขา”

นอกจากนี้ก็ยังประสบปัญหาในการหาคนงาน ด้วยความที่เกลือนั้นกัดทำให้ไม่ค่อยมีคนที่อยากทำงานที่ต้องคลุกคลีอยู่กับเกลือ “แต่คนเป็นแผลเอามาจุ่มน้ำเกลือแปบเดียวก็หาย ฮ่าๆ” คุณกิตติกล่าวถึงข้อดีของเกลือแบบติดตลก

หาได้ยาก ใช่ว่าจะไม่มี

ในปัจจุบันโกดังเกลือแห่งนี้เหลือเพียง คุณลุงทอง ชายวัย 74 ปีที่เป็นคนงานเก่าแก่อยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งคุณลุงทองยังดูแข็งแรงดีเล่าให้ฟังว่าลุงทำงานมาตั้งแต่สมัยก่อนที่คุณพ่อของคุณกิตติจะเข้ามาเซ้งกิจการ “ลุงอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2514 ตอนนั้นโม่เกลือ ส่งออกเกลือ ตอนนี้ก็สั่งเกลือมาไว้ ไม่เยอะหรอก รับเกลือมาจากมหาชัย แม่กลอง แต่ก่อนมีสะพานส่งมาทางเรือ เดี๋ยวนี้ทางเรือก็ไม่มีแล้ว”

นอกจากการการโม่เกลือ ส่งออกเกลือ สั่งเกลือมาเก็บไว้ในโกดังเพื่อขายให้คนที่ต้องการสั่งซื้อซึ่งมีทั้งลูกค้าเก่าและคนในละแวกนี้แล้ว ยังมีการส่งออกน้ำเกลือไปยังต่างประเทศ “เพราะอินเดียทำไม่เป็นหรือยังไม่ทำก็ไม่รู้” คุณกิตติก็พูดถึงกระบวนการทำน้ำเกลือต่อ “เอาเกลือไปผสมน้ำหรือเอาน้ำจากนาเกลือก็ได้ แต่ต้องวัดดีกรีให้ถึง ประมาณ 20-28 ซึ่งนำไปใช้ทำน้ำเต้าหู้ให้กลายเป็นก้อน บริษัทที่มาสั่งไปก็นำไปขายโรงงานที่ผลิตเต้าหู้ก้อนอีกที”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป คุณลุงทองผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ ณ โกดังเกลือแห่งนี้มาเนิ่นนาน เล่าถึงความแตกต่างของอดีตกับปัจจุบันที่คุณลุงเห็นให้ฉันฟังว่า “มันก็เหมือนกัน แค่ตอนนี้มันไม่มีงานทำเท่านั้นเอง เพื่อนลุงคนอื่นๆออกไปหมดแล้ว แต่ลุงยังอยู่เพราะเถ้าแก่ (คุณกิตติ) เขาขอให้อยู่ เพราะลุงเป็นคนเก่าแก่ ลุงอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็อยู่เป็นเพื่อนเขา สิบกว่าปีแล้วนับตั้งแต่กิจการของโกดังแห่งนี้หยุดชะงักก็เหลือลุงอยู่คนเดียว แต่ก่อนมีคนงานเยอะ ยุ้งฉางที่เห็นเป็นช่องๆนี่ก็มีเกลือเต็มเลย คนงานมี 20-30 คน แต่ก่อนเดินเครื่องทุกวัน ตอนนี้เครื่องมันตายหมดแล้ว มันเป็นมอเตอร์ มันช็อตหมดแล้ว” คุณลุงทองเล่าพลางพาฉันเดินดูภายในตัวโรงงานที่แทบไม่เห็นว่าเครื่องจักรต่างๆนั้นทำจากไม้เนื่องจากตอนนี้ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นหนาราวกับถูกผ้าห่มห่อหุ้มไว้ แต่ภาพที่ฉันมองเห็นในคำพูดของคุณลุงทองทำให้ฉันแน่ใจว่าในความคิดของคุณลุงทองภาพเหล่านั้นยังคงชัดเจนและปราศจากการห่อหุ้มด้วยฝุ่นดังภาพที่ฉันมองเห็นตรงหน้า

ด้วยความที่อยากเห็นภาพในความทรงจำนั้นในแบบเดียวกับที่คุณลุงทองเห็นฉันจึงเอ่ยถามถึงภาพถ่ายในอดีตของโกดังแห่งนี้จากคุณกิตติ คำตอบที่ได้มาทำให้จิตนาการฉันยังคงทำงานในการประมวลภาพในอดีตต่อไป คุณกิตติแนะนำให้ลองไปสอบถามจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในวัดอนงคารามซึ่งมีข้อมูลประวัติสถานที่แห่งนี้และได้มีการเก็บอุปกรณ์ในโรงงานบางส่วนไว้

“นี่โรงงานก็ใหญ่แต่ไม่รู้จะทำอะไร ทำอะไรไม่ได้ รถเข้าไม่ได้ ถ้ารถเข้ามาได้โรงงานก็ไม่รู้จะอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) ที่ริมน้ำเขาจะเอาคืนหรือเปล่า ตอนนี้ก็อาศัยถ่ายหนัง พอไม่รู้จะทำอะไรมันก็กลายเป็นอนุรักษ์ไว้ เดี๋ยวก็มีคนมาชม” คุณกิตติกล่าวเมื่อฉันถามถึงอนาคตของสถานที่แห่งนี้ พร้อมยังบอกอีกกว่าด้วยความเก่า ผุพังของไม้ในส่วนที่เป็นโรงงาน อีกไม่นานคงต้องรื้อก่อนที่มันจะถล่มลงมาอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

แม้ว่าจะไม่มีภาพถ่ายของที่แห่งนี้ ภาพยนตร์อาจช่วยให้ฉันได้สัมผัสกับบรรยากาศในอดีตของที่นี่จึงถามถึงภาพยนตร์ที่เคยมาใช้โกดังเกลือเป็นสถานที่ถ่ายทำ “เมื่อไม่นานมานี้ก็มีละครเรื่องลูกทาส(ยังไม่ออกอากาศ) มีผู้กำกับมาดูเยอะแยะ ฝรั่งเศสก็มีมาเนรมิตโรงงานเป็นโรงงานผลิตยาบ้าก็มี สมัยที่เวียดนามยังรบกันอยู่ ตอนนั้นก็มีมาถ่ายหนังแถวนี้เยอะ จัดฉากเป็นเวียดนาม เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วก็มีมาถ่ายเรื่อง Good Morning Vietnam  ตอนนั้นมีสะพานสมบูรณ์กว่านี้เยอะ ที่ฮิตๆในสมัยนั้นก็เรื่องคู่กรรมที่เบิร์ด ธงไชยกับกวาง กมลชนกเล่น ฉากพระเอกพานางเอกหนีระเบิดลงเรือเขาก็มาถ่ายที่ท่าเรือที่นี่”

แม้ว่าคุณกิตติจะบอกว่าไปเปิดดูหนังหรือละครที่เคยใช้ที่แห่งนี้ถ่ายทำก็ยากที่จะดูออกว่าเป็นที่นี่แต่ฉันก็พยายามหามาชมจนได้

ฉันกดปุ่มหยุด กดเลื่อนย้อนกลับและกดเล่นซ้ำไปซ้ำมาเพื่อดูท่าเรือในฉากนั้น

… ท่าเรือที่ในตอนนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

เรื่องราวที่ฟังจากคำบอกเล่าของคุณกิตติและคุณลุงทองในวันนี้ รวมถึงภาพต่างๆของโรงเกลือที่ฉันได้เห็นในวันนี้ถูกตราตรึงไว้ในความทรงจำของฉันเรียบร้อยแล้ว แต่ก็อดที่จะหยิบกล้องมาถ่ายภาพเหล่านั้นเก็บไว้ดูไม่ได้ ก่อนลากลับฉันจึงบอกกับคุณกิตติและคุณลุงทองว่า

“เดี๋ยวหนูจะอัดภาพที่ถ่ายในวันนี้มาให้นะคะ คุณลุงจะได้มีเก็บไว้. . ”

เก็บไว้เป็นหลักฐานช่วยให้การเล่าเรื่องราวในความทรงจำ

เพื่อให้ผู้ที่ได้รับฟังเห็นภาพนั้นชัดเจนเช่นเดียวกับภาพที่เขาทั้งคู่เคยเห็นในอดีต

…ผ่านไปหนึ่งวินาทีจากนี้ ทุกอย่างก็คงกลายเป็นอดีตแล้ว . . .