วันชัย ตัน / ภาพประกอบ : DIN-HIN
คุณจะทำสีหน้าอย่างไรดี หากมีวันหนึ่งมีคนมาบอกว่า คนที่ชื่อและนามสกุลเหมือนคุณตายไปแล้ว
ไม่ใช่ตายไปแล้วจากความทรงจำของใครบางคน แต่ตายไปแล้วจริง ๆ
ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ เมื่อนายลาล บิฮารี ชาวอินเดีย ไปที่ทำการอำเภอ เพื่อขอเอกสารสำคัญ เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอกู้เงินธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งให้ทราบถึงการตายของเขาเอง พร้อมทั้งยื่นใบมรณบัตร ให้เขาดูเป็นการยืนยัน
นายบิฮารีงงมาก เพราะเจ้าหน้าที่ผู้นั้นรู้จักเขาดี และเพิ่งไปดื่มน้ำชามาด้วยกัน เมื่อไม่นานมานี้
ในประเทศอินเดีย หากคนที่ยังไม่ตาย แต่มีการออกใบมรณบัตรว่าตายไปแล้ว คนผู้นั้นอาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต เพื่อพิสูจน์ว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เพราะกระบวนการพิสูจน์ในศาล เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียเวลานานมาก แต่นายลาล บิฮารี โชคดีที่ไม่ต้องรอจนถึงเวลาใกล้ตายจริง ๆ เพื่อพิสูจน์ความจริง เพราะเขาใช้เวลาเพียง ๑๙ ปี ในการพิสูจน์ว่าเขายังมีชีวิตอยู่
ปมปริศนาของเรื่องนี้ อยู่ที่ผลจากการตายของเขา เพราะที่นาส่วนของบิฮารีที่เป็นมรดกตกทอดมา ได้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของลุงเขาโดยอัตโนมัติ
ในประเทศอินเดียที่มีประชากร ๑ พันล้านคน มีการออกใบมรณบัตร ให้กับคนที่ไม่ตายจำนวนมาก เพื่อแย่งชิงที่ดินกัน จากปัญหาการขาดแคลนที่ดินอย่างรุนแรง ที่ดินอันน้อยนิดของครอบครัวที่ตกทอดกันมา ก็จะถูกแบ่งย่อยให้กับทายาทลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นยิ่งมีทายาทน้อยเท่าไร คนที่เหลืออยู่ก็ได้เปรียบมากขึ้น
การใช้กลอุบายดังกล่าว ยังได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เห็นแก่ได้ อย่างกรณีของ บิฮารี ลุงของเขาต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ ไปราว ๑,๑๐๐ บาท เพื่อปลอมแปลงการมรณกรรมของบิฮารี
บิฮารีเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เวลาเขียนชื่อของเขานั้น ต้องมีวงเล็บต่อท้ายว่า “ตาย ” ด้วยความโกรธแค้น และอารมณ์ขัน และที่ผ่านมาเขาพยามยามทำทุกอย่าง เพื่อจะให้รัฐบาลรับรู้การมีชีวิตอยู่ของเขา เขาพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ถูกจับ วิ่งเต้นตั้งบริษัท ฟ้องร้องคนโน้นคนนี้ อะไรก็ได้ที่จะทำให้ชื่อที่แท้จริงของเขา ปรากฏอย่างเปิดเผย
ในปี ๒๕๓๗ ความพยายามของเขาก็สัมฤทธิ์ผล ชื่อของเขาปรากฎขึ้นอย่างถูกต้องอีกครั้ง เขากลับคืนชีพขึ้นมาใหม่ในทางกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง และโฉนดที่ดินของเขา ก็ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เมื่อบิฮารีเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านของเขา ญาติของบิฮารีเข้ามาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เขารู้สึกดีมาก ๆ ที่ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
บิฮารีได้ก่อตั้งสมาคมไร้ชีวิต เพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกทำให้ตายทางกฎหมาย อาทิ
แอนซาร์ อาห์เหม็ด อายุ ๔๘ อาศัยอยู่กับมารดาม่าย เขาถูกระบุว่าเสียชีวิตในปี ๒๕๒๔ และพี่ชายของเขายึดเอานาข้าวผืนเล็กของครอบครัวไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศาลสูงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ปกครอง เดินทางไปสอบสวนคดีนี้อย่างรวดเร็ว และอาห์เม็ดก็กลับมามีชีวิต ในทางกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ส่วนพี่ชายของเขาถูกดำเนินคดี
เรื่องนี้เห็นทีจะตรงข้ามกับเมืองไทย เพราะหากนายบิฮารีมาตั้งสาขาสมาคมไร้ชีวิตขึ้นที่นี่ สมาชิกสมาคมก็คงจะไร้ชีวิตกันจริงๆ เพราะยิ่งใกล้เวลาเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีคนตาย (เพราะไข้โป้ง) กันหนาตา