มิติคู่ขนาน
บัญชา ธนบุญสมบัติ
buncha2509@gmail.com, www.facebook.com/buncha2509

ฟ้าผ่าเกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในบรรยากาศ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมฆฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้ยังอาจเกิดในพายุฝุ่น พายุหิมะ และฝุ่นควันในการระเบิดของภูเขาไฟ รวมทั้งเมฆนิมโบสเตรตัส (กรณีสุดท้ายนี้เกิดยากมากๆ) บทความนี้เชิญชวนคุณผู้อ่านชมรูปแบบต่างๆ ของฟ้าผ่าที่น่ารู้จักไว้โดยใช้ภาพและคำอธิบายสั้นๆ โดยย่อดังนี้


๑. ฟ้าผ่าแบบแตกกิ่งก้านสาขา (forked lightning)
ภาพฟ้าผ่าแบบนี้น่าจะอยู่ในใจของคนส่วนใหญ่  แนวเส้นหลักคือเส้นทางที่ประจุไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างจุดเริ่มต้นเช่นฐานเมฆ กับจุดสิ้นสุดที่ฟ้าผ่าเช่นพื้นดิน  ส่วนกิ่งก้านสาขาที่แตกแขนงออกไป คือเส้นทางที่ประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่แต่ไปไม่ถึงจุดสิ้นสุด


๒. ฟ้าแลบ (sheet lightning)
หากสายฟ้าอยู่ในก้อนเมฆหรือถูกเมฆบดบัง เราก็จะมองเห็นเพียงแค่แสงสว่างวาบเท่านั้น

๓. ฟ้าผ่าจากเมฆสู่เมฆ (cloud-to-cloud lightning)
หากประจุไฟฟ้าถูกปลดปล่อยจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง สายฟ้าก็จะเป็นสะพานเชื่อมเมฆ ๒ ก้อนนั้น ดูเผินๆ จะเหมือนเส้นฟ้าผ่าลอยอยู่กลางอากาศ

๔. ฟ้าผ่าจากเมฆสู่อากาศ (cloud-to-air lightning)

เกิดจากประจุไฟฟ้าถูกปลดปล่อยจากเมฆสู่อากาศ โดยส่วนใหญ่เป็นประจุไฟฟ้าบวกที่ออกจากบริเวณด้านบนของเมฆฝนฟ้าคะนอง (ส่วนด้านล่างก็อาจเกิดขึ้นได้บ้าง) ฟ้าผ่าแบบนี้มักมีพลังงานน้อยกว่าฟ้าผ่าจากเมฆสู่พื้นดิน

๕. ฟ้าผ่าแบบบวก (positive lightning)
เกิดจากประจุไฟฟ้าบวกถูกปลดปล่อยจากยอดเมฆลงสู่พื้นดิน ฟ้าผ่าแบบนี้อาจผ่าลงจุดที่อยู่ห่างไกลจากเมฆออกไปได้หลายกิโลเมตร

๖. ฟ้าผ่าพุ่งขึ้น (upward lightning)
เกิดจากประจุไฟฟ้าบวกพุ่งออกจากเสา ยอดตึก กังหันลม หรือโครงสร้างที่มีความสูง มักเกิดภายหลังจากเกิดฟ้าผ่าแบบบวกนำมาก่อน โดยฟ้าผ่าแบบบวกจะทำให้สนามไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ประจุไฟฟ้าบวกเคลื่อนที่สูงขึ้นไปตามเสา (หรือโครงสร้างอื่นๆ ที่กล่าวมา) ได้ง่ายยิ่งขึ้น

๗. ฟ้าผ่าความร้อน (heat lightning)
หากฟ้าผ่าอยู่ไกลออกไปมาก เราจะไม่ได้ยินเสียง แต่อาจเห็นแสงสีส้มๆ แดงๆ เนื่องจากโมเลกุลของอากาศและฝุ่นละอองกระเจิงแสงสีอื่นไปในทิศทางอื่นเกือบทั้งหมด

๘. ฟ้าผ่าแบบริบบิ้น (ribbon lightning)
เส้นสายฟ้าที่เราเห็นเป็นเส้นเดียวนั้น แท้จริงแล้วมีประจุไฟฟ้าวิ่งลง-วิ่งขึ้นหลายรอบในเส้นเดียวกัน เนื่องจากอากาศบริเวณเส้นดังกล่าวแตกตัวเป็นประจุ ทำให้มีความต้านทานไฟฟ้าต่ำกว่าอากาศโดยรอบอย่างมาก

หากมีลมพัดแรงในแนวระดับก็จะทำให้อากาศที่แตกตัวและเส้นสายฟ้าขยับไปตามทิศทางลมด้วย ผลคือเราจะเห็นเส้นฟ้าผ่าเป็นแถบกว้างหรือมีหลายเส้นขนานกัน

๙. ฟ้าผ่าแบบลูกปัด (bead lightning)
เส้นสายฟ้าในฟ้าผ่าแบบนี้มีลักษณะขาดเป็นท่อนๆ ทำให้ดูคล้ายลูกปัดซึ่งร้อยอยู่กับเส้นเชือก  มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น beaded lightning  chain lightning  pearl-neclace lightning เป็นต้น

๑๐. ไฟของเซนต์เอลโม (Saint Elmo’s Fire)
ในเมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งเติบโตเต็มที่ ประจุไฟฟ้าบวกส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณยอดเมฆ ส่วนประจุไฟฟ้าลบจะอยู่บริเวณฐานเมฆ  ประจุไฟฟ้าลบที่ฐานเมฆจะเหนี่ยวนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ต่ำกว่าให้มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก ดังนั้นที่ปลายเสาธงของเรือจะมีประจุไฟฟ้าบวกมาออกันอยู่จำนวนมาก

หากประจุไฟฟ้าดังกล่าวถูกปลดปล่อยออกมาก็จะเห็นแสงสว่างสีฟ้าหรือสีฟ้าอมม่วงเกิดขึ้น เรียกว่า ไฟของเซนต์เอลโม (ฝรั่งถือกันว่าเซนต์เอลโมเป็นนักบุญผู้ปกป้องนักเดินเรือ)

น่ารู้ด้วยว่าปลายปีกเครื่องบินก็เกิดปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน

๑๑. ฟ้าผ่าแบบลูกกลม (ball lightning)
มีรายงานและเกร็ดเรื่องเล่าจำนวนมากกล่าวถึงลูกทรงกลมสว่างซึ่งพบทั้งในและนอกบ้าน บ้างก็ว่าลูกกลมนี้มีขนาด ๒-๓ เซนติเมตร บ้างว่าใหญ่พอๆ กับลูกบาสเกตบอล  ลูกกลมนี้ดูเหมือนจะไม่มีความร้อน แต่หากไปสัมผัสเข้าก็ทำให้สิ่งนั้นไหม้ได้

ปรากฏการณ์นี้ยังคงเป็นปริศนาในทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีใดเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ที่มาภาพ :
๑. Myname’s TaRay, สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ
๒. http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fa/Sheet_Lightning_over_Mt_Wellington.jpg
๓. ขนบพรรณ บัวอุไร (Ant), สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ
๔. http://ffden-2.phys.uaf.edu/212_spring2005.web.dir/Danny_Dominick/cloud-air%20ltg2.jpg
๕. http://environment.nationalgeographic.com/wallpaper/environment/photos/
lightning-cloud-ground/cloud-ground-lightning13
๖. Tom A. Warner, http://www.ztresearch.com/gallery/upwardlightning/
images/small/lgs0346hr_2.jpg
๗. http://en.wikipedia.org/wiki/File:Heat_Lightning_-_100613.jpg
๘. http://webecoist.momtastic.com/wp-content/uploads/2009/08/09Lightning.jpg
๙. http://media-3.web.britannica.com/eb-media/64/27064-050-B020C1DD.jpg
๑๐. C.Donald Ahrens and Perry Samson, Extreme Weather & Climate, International Edition หน้า ๓๒๕
๑๑. http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/97/Ball_lightning.png

ประตูทะลุมิติ
ขอแนะนำเรื่อง Lightning ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Lightning