เรื่องและภาพ : พ่อนก  www.doublenature.net

สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีระบบสังคมอันซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยมีมดนางพญาเป็นศูนย์กลางควบคุมระบบชีวิตทั้งอาณาจักร และมีมดวรรณะต่างๆ ช่วยกันทำภารกิจที่แตกต่างกันไป  เมื่อกลุ่มเด็กๆ ซึ่งสนใจธรรมชาติเป็นทุนเดิมกลับมาสนใจศึกษามดอย่างจริงจัง คงเป็นเพราะกลไกการสร้างอาณาจักรของมดตัวเล็กๆ นั้นน่าติดตามสังเกตการณ์ และองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัยมดไม่จำกัดเฉพาะแค่ด้านชีววิทยาเท่านั้น ยังต่อยอดไปถึงแวดวงปัญญาประดิษฐ์ เช่น เรื่อง ant colony optimization ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมการหาอาหารในเส้นทางที่สั้นที่สุดของมดได้รับการนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการด้านต่างๆ

หากเราดูองค์ความรู้ต้นทางกลับพบว่ามดในประเทศไทยซึ่งค้นพบแล้วมีอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ชนิด แต่ระบุชนิดได้เพียง ๓๐๐ ชนิดเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก  ในขณะที่ทั่วโลกมีมดที่จำแนกชนิดแล้วประมาณ ๑๕,๐๐๐ ชนิด  นี่อาจเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ทำให้ผมเป็นสุขขึ้นมาทุกครั้งเมื่อเห็นกลุ่มเด็กๆ สนใจสำรวจศึกษามด

ธรรมชาติบนธรรมชาติ

ความสนใจของผมให้ความสำคัญอยู่ที่ธรรมชาติการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กๆ ที่รักธรรมชาติซึ่งกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นและเริ่มมีพัฒนาการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยผมค่อยๆ ถอยห่างจากการมีส่วนร่วมในการละเล่นเรียนรู้ของลูก มาเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์และเอื้ออำนวย

เมื่อ “ดล” กับ “แอม” เด็กชายชอบมดมาบรรจบพบเจอกันในสังคมเครือข่ายเฟซบุ๊กบนหน้าเพจกลุ่มสนใจมด  ด้วยเป็นวัยรุ่นรุ่นราวคราวเดียวกัน ดลและแอมได้นัดหมายเพื่อไปสำรวจมดกันครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์มด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และต่อจากนั้นจึงนัดกันเดินทางไปสำรวจมดที่เมืองกาญจน์ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์การเดินทางโดยรถไฟตามลำพังของเด็ก ๒ คน  แม้ผมจะอยากติดตามไปสังเกตการณ์พวกเขา แต่ในหลายโอกาสที่เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ต่อมาผมชวนดลไปเที่ยวที่บ้านของแอมซึ่งเขามักเปรยให้เราฟังบ่อยๆ ว่า “แถวบ้านผมไม่มีธรรมชาติหลงเหลือไว้แม้ตารางนิ้วเดียว”  บ้านแอมอยู่ในซอยสลับซับซ้อนแถววงเวียน ๒๒ กรกฎาคม บนถนนเยาวราช แต่เขาก็มีห้องไว้เพาะเลี้ยงมดและสัตว์อื่นๆ ที่สนใจ  หลังจากนั้นดลก็ชวนแอมมาสำรวจมดในทุ่งรกร้างหลังบ้านดลบ้าง  แอมมีใจรักธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่านก หนอน แมลง กบ เขียด กิ้งก่า ฯลฯ แม้สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เป็นใจนัก แอมจึงมักดั้นด้นไปถึงพื้นที่ธรรมชาติด้วยตัวเอง

เด็กชายทั้งสองมีกิจกรรมสำรวจศึกษามดในทุ่งหลังบ้านร่วมกันและพบมดหลากหลายชนิด ณ ที่แห่งนี้

เมื่อดลบันทึกเกี่ยวกับมด

“มดเป็นแมลงที่ผมเคยสนใจมาตั้งแต่เด็ก จนถึงตอนนี้ผมกลับมาสนใจมันอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งจากการเลี้ยง ดูพฤติกรรม และการสำรวจในธรรมชาติ  มดเป็นแมลงที่อยู่กันเป็นสังคมที่น่าสนใจมาก  แมลงกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันแบบสังคมวรรณะ โดยมีมดนางพญาเพียงตัวเดียวเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทำหน้าที่ออกไข่และสั่งงานมดงานตัวอื่นๆ ให้ทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อน หาอาหาร ขุดสร้างรังจนเป็นรังมดทั้งรัง  เมื่อมดนางพญาบินขึ้นไปผสมพันธุ์กับมดตัวผู้สำเร็จก็จะหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับวางไข่และทำรังในอนาคต  เมื่อมดนางพญาวางไข่ออกมาจำนวนหนึ่ง มันจะเฝ้าดูแลไข่จนเกิดเป็นมดงานชุดแรก มดงานเหล่านี้จะคอยหาอาหารและดูแลไข่และตัวอ่อนชุดต่อๆ ไป  จนกระทั่งจำนวนประชากรในรังมีมากพอก็จะเริ่มวางไข่มดนางพญาและมดตัวผู้เพื่อขยายพันธุ์และสร้างรังใหม่  นี่เป็นเพียงวงจรการขยายพันธุ์โดยย่อของอาณาจักรมด ซึ่งผมมีโอกาสศึกษาและทดลองเลี้ยง ทำให้ผมได้เห็นรายละเอียดในพฤติกรรมของมัน ทั้งการวางไข่ การเลี้ยงดูตัวอ่อนแต่ละตัวที่ต้องใช้ความอ่อนโยนละเอียดอ่อนมาก จนถึงพฤติกรรมการล่าเหยื่อที่เต็มไปด้วยความดุร้าย ทั้งหมดรวมกันอยู่ในสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ  นี่อาจเป็นแค่เรื่องราวเล็กๆ ในธรรมชาติ แต่หากเพียงเราลองให้เวลาศึกษาเฝ้าดูมด เราจะพบกับอาณาจักรมดที่ไม่เล็กอย่างที่คิด”

การเลี้ยงมดของแอม

“ผมเริ่มเลี้ยงมดจากนางพญามดตัวเดียวในหลอดทดลอง ใส่สำลีชุบน้ำไว้ที่ก้นหลอด ใส่นางพญาลงไป และอุดสำลีปิดปากหลอดไว้ นำหลอดทดลองไปไว้ในที่มืดๆ ให้มันถูกรบกวนน้อยที่สุด ไม่นานจะพบไข่มดเล็กๆ และต่อจากนั้นประมาณ ๑-๒ เดือนจะเริ่มเห็นมดงานเดินไปเดินมาในหลอดจึงค่อยเริ่มให้อาหาร  เมื่อมีมดงานเพิ่มขึ้นประมาณ ๑๐ ตัวจึงย้ายลงไปเลี้ยงในกล่องเปิดโดยทาพาราฟินออยล์รอบขอบกล่องกันมดหนี เลี้ยงไปสักพักจนได้จำนวนมด ๙๐-๒๐๐ ตัวก็ย้ายลงไปเลี้ยงในรังปูนขนาด ๒๐ x๓๐ เซนติเมตร  ต่อจากนี้มดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนขยายรังใหม่ได้อีก  ถ้ามีแหล่งอาหารสมบูรณ์ มดนางพญาจะมีอายุได้ถึง ๑๐ ปี มดนางพญาต้องการอาหารประเภทโปรตีนเป็นพิเศษ ส่วนมดงานต้องการอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต  ในระยะแรกมดนางพญาจะกินไข่หรือหนอนของตัวเอง…เป็นเรื่องปรกติ  มดงานชุดแรกจะมีขนาดเล็กทำหน้าที่ดูแลไข่และหาอาหารบ้าง และเมื่อมีอาหารสมบูรณ์มากขึ้นก็จะมีมดงานขนาดใหญ่ขึ้น  มดนางพญาแต่ละสายพันธุ์เลือกพื้นที่สร้างรังแตกต่างกัน เช่น มดแม่เป้งสร้างรังบนต้นไม้ มดแมลงมันจะขุดดินสร้างรัง  ถ้ามดนางพญาตายมดทั้งรังก็จะตายหมด เนื่องจากมดนางพญาจะสร้างฟีโรโมนออกมาควบคุมพฤติกรรมและสื่อสารกับมดทุกตัวให้ทำหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน”

มดวิทยา

มดวิทยา (Myrmecology) เป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษารวบรวมวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับมด  เนื่องจากการศึกษาหรือวิจัย ตลอดจนการสำรวจมดในประเทศไทยไม่ค่อยมีมาในอดีต ทำให้เราอาจรู้จักมดน้อยไป  ในขณะที่ต่างประเทศมีนักมดวิทยาบุกเบิกศึกษาชีวิตมดอย่างจริงจังมาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๗๔ และคาดการณ์ว่ายังมีมดอีกมากมายหลายชนิดที่รอการค้นพบและตั้งชื่อ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ใหม่ๆ จากอาณาจักรมด  ขณะที่สังคมเมืองพยายามกำจัดมดออกไปจากวิถีประจำวัน และหลงลืมไปแล้วว่าเรายังต้องอาศัยพึ่งพาใช้บริการจากระบบนิเวศในธรรมชาติ โดยมดเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญ  ความสะดวกสบายบางอย่างในวิถีสมัยใหม่ที่เราอาศัยอยู่ก็ได้มาจากการศึกษาวิจัยมด

เมื่อกลุ่มเด็กรวมตัวกันสนใจสำรวจศึกษามด แม้จะมิใช่โครงงานศึกษาโดยตรงหรือจะหวังไปถึงการพึ่งพาประโยชน์จากมด แต่นี่เป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กๆ จะได้ซึมซับและเข้าใจถึงระบบธรรมชาติอันละเอียดอ่อนและซับซ้อน