เรื่อง : นางสาวปาริสุทธิ์ สัมมา
ภาพ : ช่างภาพ นายธนัตถ์ เจริญผล
งานค่ายสารคดี ครั้งที่ 9

ที่มุมนึงของชุมชนคลองสาน มีร้านชาร้านเก่าแก่ร้านหนึ่ง เมื่อเราก้าวเข้าไป เราก็ได้พบกับคุณยายคนนี้ พร้อมถังสังกะสีมากมายที่บรรจุใบชาคุณภาพที่นำเข้าจากประเทศจีน
คุณยายเล่าว่าร้านนี้มีความเก่าแก่มาก อุปกรณ์ที่ใช้เป็นของโบราณเช่นเดียวกับตาชั้งตัวนี้ ชาที่นี่มีตั้งแต่คุณภาพธรรมดาจนไปถึงคุณภาพสูงที่ร้านค้าในสมัยทุนนิยมหลายที่นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นชาสำเร็จรูปชื่อดังในสมัยนี้

พี่คนนี้ได้แสดงให้ดูถึงใบชาที่ก่อนผ่านการอบ และอบแล้วว่ามีสีต่างกันอย่างไร โดยรสชาติที่ชาที่อบแล้วจะมีรสกลมกล่อมและหอมนุ่มกว่า

ใบชาที่ได้จะนำมาใส่น้ำร้อน กะเวลาให้พอเหมาะจนใบชาเปื่อยยุ้ยพอดี

“จะมีอะไรที่จะทำให้คนติดใจได้?”

ย่ำฝีเท้าไปตามทางที่สองข้างทางสร้างด้วยสิ่งก่อสร้างที่บอกความต่างในยุคสมัยตั้งแต่อาคารบ้านเรือนคอนกรีตที่สูงตระหง่านตา ไปจนถึงบ้านไม้เก่าแก่โบราณอายุนับร้อยปีตั้งอยู่ในระแวกเดียวกัน ราวจะบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ช้านานของหมู่บ้านในระแวกแห่งนี้

ในเขตฝั่งธนบุรี เพียงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาเมื่อลงจากสะพาน….. ขับรถต่อไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร จะพบกับทางแยกประปรายทางซ้ายมือ เป็นทางเข้าสู่ชุมชนเก่าแก่คู่จังหวัดธนบุรีในอดีตกาล

คุณป้าท่านหนึ่งซึ่งกำลังจัดแจงของอยู่ภายในร้าน กลิ่นหอมที่โชยมาแตะจมูก ชวนให้คนไม่คุ้นถิ่นสองคนที่ผ่านมาต้องหันกลับตามไปยังที่มาของกลิ่นนั้น

“กลิ่นชา”

กลิ่นของใบชาร้านนี้ยวนใจเกินกว่าจะเดินผ่านไปเฉยๆ และเมื่อเป็นดังเช่นนั้น บทสนทนาสั้นๆจึงเกิดขึ้น ระหว่างผู้มาเยือนสองคนกับคุณป้าที่ท่าทางใจดีและเอื้อไมตรีในร้านชาแห่งนี้

การสนทนากับคุณป้าเป็นไปด้วยบรรยากาศสบายๆ เคล้ากลิ่นใบชาที่ลอยคลุ้งมาจนทั่วทุกช่องว่างภายในร้าน คุณป้าอาลี ปานงาม เล่าว่าร้านนี้เปิดมานานกว่า 50 ปีแล้ว

“ทำมาตั้งแต่สมัยแฟนอายุสามสิบแล้วตอนนั้นป้าอายุสิบแปดน่ะ จนป่านนี้ก็หกสิบกว่าแล้ว” คุณป้ากล่าว

เมื่อกวาดมองด้วยสายตาไปรอบๆภายในร้านที่เต็มไปด้วยของมากมาย มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเด่นชัด นั่นก็คือ กระป๋องสังกะสี ที่วางเรียงรายอยู่ทางด้านหลังของแท่นโต๊ะไม้หน้าร้าน โดยที่ถังแต่ละถังมีตัวอักษรสีแดงที่เป็นภาษาจีนกำกับอยู่ทุกๆกระป๋อง รูปทรงของถังเป็นรูปทรงที่แปลก คุณน้าสุรินทร์ แซ่ตัน ซึ่งเป็นผู้สืบทอดรุ่นลูก บอกว่าเป็นการทำแบบพิเศษ คือใช้การพับแผ่นสังกะสีทำเป็นถังขึ้นมา ไม่เหมือนกับถังสังกะสีทั่วไปในสมัยนี้ ที่จะใช้สังกะสีที่เป็นแผ่นมาต่อเชื่อมกันแทน

คุณป้าเล่าให้ฟังว่าถังในแต่ละถัง มีใบชาที่เป็นคุณภาพที่ต่างกันใส่อยู่ ไว้จำหน่ายให้ลูกค้า ด้วยคุณภาพที่ต่างกัน ราคาของใบชาจึงต่างกัน ซึ่งหากสังเกตดีๆจะเห็นตัวเลขจางๆกำกับถังแต่ละถัง แต่ที่แปลกคือวิธีการเขียนที่แตกต่างจากอักษรหน้าถัง ซึ่งคุณป้าบอกภายหลังว่าคือราคาขายของใบชา โดยมีราคาตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไปจนถึงหลักร้อย เกือบทุกถังมีเลขกำกับอย่างนี้ไว้

“ใบชาที่ห่อละ 20 บาท จะเป็นชาเกรดต่ำสุด” คุณป้าพูดพร้อมชี้ไปที่กระป๋องสังกะสีใบหนึ่งที่มีตัวเลขกำกับราคาข้างต้น

คุณป้าอาลียังเล่าเสริมต่ออีกว่า ใบชาที่จำหน่ายห่อละ 20 บาท ซึ่วคือใบชาคุณภาพต่ำสุดของร้าน จะเป็นใบชาชนิดเดียวกันกับที่บริษัทผลิตน้ำชารายใหญ่ส่วนใหญ่นำไปทำน้ำชาบรรจุพร้อมดื่มส่วนใหญ่ที่ขายกัน และเป็นชาไทย แต่ถ้าเป็นแบบห่อละ 70 บาท จะเป็นใบชาจีนล้วน

“ชาจีนจะให้รสชาติที่เข้มกว่าส่วนชาไทยจะให้สีเข้มกว่า” คุณป้าให้ความรู้แก่เราเพิ่ม

ในร้านมีทั้งชาไทยที่มาจากไทย และชาจีนที่ถูกขนส่งมาจากจีนทางเรือบรรทุกสินค้าเข้าที่ท่าเรือคลองเตย

และถ้าหากใครติดใจรสชาติของชาจีน ต้องการที่จะดื่มชาจีนในคุณภาพที่สูงขึ้นไป ที่ร้านคุณป้าก็มีจำหน่ายให้ได้ลิ้มลอง โดยนอกจากจากความอร่อยที่เพิ่มขึ้นในชาแต่ละระดับคุณภาพแล้ว ยังมีความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันด้วย โดยใบชาจีนที่มีคุณภาพสูงหากใช้เพียงเล็กน้อยก็สามารถชงน้ำชาให้เข้มข้นได้แล้ว

หากพูดถึงในยุคสมัยนี้ที่ผู้คนนิยมความสะดวกสบาย ‘เครื่องดื่มสำเร็จรูป’คงเป็นตัวเลือกหลักในการเลือกซื้อหาทาน และหนึ่งในนั้นก็เป็น ‘ชา’ ที่กำลังฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่ได้รับข้อมูลคุณประโยชน์ของชาที่มีอยู่มากมาย ทั้งในเรื่องความสวยความงาม ที่กล่าวว่า ‘ชา’มี ‘สารต้านอนุมูลอิสระ’ ที่สามารถช่วยป้องกันการแก่ก่อนวัยได้ และประโยชน์ในด้ายอื่นๆ เช่น การช่วยทำให้รู้สึกระปรี้กระเปร่า ช่วยบำรุงสายตา ช่วยระบบการย่อยอาหาร และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งด้วย

น้ำแรกของใบชาจะถูกเททิ้งไปก่อน เพราะน้ำแรกยังไม่สามารถดึงรสชาติที่แท้จริงของชาออกมาได้

การชงชาอาจทำในกาดินเผาขนาดเล็กเพื่อง่ายต่อการเท และนี่ก็เป็นน้ำที่สองของชาซึ่งให้รสชาติกลมกล่อมกำลังดี

ชาถ้วยเล็กถ้วยนี้เต็มไปด้วยรสชาติอันกลมกล่อม และยังมีสรรคุณแก้กระหาย แก้ง่วง ยังช่วยต้านโรคที่เกิดจากอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย

คุณน้าสุรินทร์ เดินเข้ามาบอกพวกเราว่าจะให้ดูเตาอบใบชาเก่าแก่ ที่ทางร้านเคยใช้ในสมัยแรกๆของร้าน คุณน้าเปิดประตูห้องๆหนึ่ง เผยให้เห็นเตาสีดำๆซึ่งก็คือตู้อบใบชาเก่านั่นเอง แม้ปัจจุบันทางร้านจะเปลี่ยนเป็นเตาอบไฟฟ้าแล้ว แต่ก็ยังคงเก็บเตาอบเก่าไว้ตามเดิม

หลังจากที่คุณน้าสุรินทร์เปิดประตูห้องให้ดูเตาอบเก่าและชี้ให้ดูเตาอบไฟฟ้าใหม่ คุณน้ายังหยิบกระด้งใบใหญ่ อายุกว่าร้อยปีมาให้ดู เป็นกระด้งที่มีความเก่าแก่และมีความแข็งแรง ทำมาจากหวายครอบครัวคุณน้าใช้ในกับร้านมานานตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงทุกวันนี้

กระด้งเก่าอายุกว่าร้อยปีดึงความสนใจของพวกเราอยู่สักพัก พวกเราก็กลับมาสนใจใบชาต่อเมื่อคุณน้าได้ใช้ถาดตักใบชาที่ผ่านการอบและไม่ผ่านการอบออกมาให้ได้เราดู และเปรียบเทียบกัน ซึ่งเมื่อเราสังเกตใบชาทั้งสองแบบแล้วจะเห็นว่า สีของใบชาที่ผ่านการอบจะมีสีเข้มกว่าใบชาที่ยังไม่ผ่านการอบ คุณน้ายังบอกเพิ่มอีกว่า นอกจากสีที่ต่างกันแล้ว ยังมีความแตกต่างระหว่างกันของใบชาสองแบบนี้อีกอย่างหนึ่งด้วยคือรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ระหว่างที่การถ่ายภาพเก็บรายละเอียดความแตกต่างของใบชาที่ผ่านการอบและยังไม่ผ่านการอบ คุณน้าได้ชวนให้เราหันไปสนใจกับสิ่งใหม่ คือ ‘น้ำชา’ ที่คุณน้าเพิ่งชงเสร็จใหม่ๆเพื่อให้พวกเราได้ชิมนั่นเอง

เมื่อมือได้สัมผัสความร้อนที่พอประมาณที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังสัมผัสบางอย่างที่เพิ่งผ่านความร้อนมาไม่นาน ค่อยๆยกขึ้นทีละระดับจนถึงปลายจมูก กลิ่นของชาที่ลอยผ่านจมูก ให้ความรู้สึกแผ่ปกคลุม เบาบาง และผ่อนคลายลงได้อย่างดี หากใครได้ลิ้มลองในสถานกาณ์เช่นนี้จะรู้ว่า แม้เพียงความเหนื่อยล้าเล็กน้อย ก็จะสามารถหาย และผ่อนคลายลงไปได้อย่างดีที่สุด

คุณน้าสุรินทร์จัดการต้มน้ำอีกครั้ง เมื่อเดือดจึงรินใส่ถ้วยชงชาใบที่โดดเด่นอยู่ตรงกลางถาดซึ่งข้างในมีใบชาชุดเดิมจากการชงครั้งที่แล้วอยู่ คุณน้าค่อยๆขยับฝาสักพักพื่อให้ใบชากับน้ำผสมกันจนพอเหมาะ แล้วรินใส่ถ้วยชากระเบื้องเล็กๆสามถ้วยที่อยู่รอบๆในถาดใบนั้น คุณน้าชงชาด้วยความเชี่ยวชาญ

“กินแต่ละน้ำรสชาติมันจะไม่เหมือนกันนะ ถ้าน้ำแรกๆมันก็จะอีกรสนึงนะ ถ้าน้ำสองน้ำสามมันก็จะอร่อยขึ้น น้ำสี่น้ำห้ามันก็จะจืดลง”

คุณน้าสุรินทร์เล่าให้ฟังว่าว่ามันเป็นธรรมเนียมปกติที่จะเทน้ำแรกทิ้ง เพราะเหมือนเป็นการล้างสิ่งสกปรกที่มากับใบชาออกไป แต่ถ้าจะกินก็ดื่มก็ดื่มได้ แต่ปกติก็จะไม่ทานกัน ส่วนชาชุดใหม่ที่เรากำลังจะชิมกันนั้นแม้จะเป็นชาชนิดและคุณภาพเดียวกับใบชาชุดก่อนที่เราได้ชิมไป แต่มีความพิเศษที่ต่างไป ซึ่งพอคุณน้าบอกเราแล้ว ยิ่งทวีความอยากลิ้มลองขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

“ถ้าคุณกินตัวนี้นะ จะไม่เหมือนตัวก่อนเลย รสชาติมันจะอีกแบบนึง เพราะตัวจะนี้ผ่านการอบจากในตู้ออกมา มันจะกลิ่นหอม หอมควันไฟด้วย”

เมื่อคำว่า ‘หอมควันไฟ’ ลอดเข้ามาสะดุดหู มือและหน้าก็พร้อมใจหันไปหยิบถ้วยใบที่ใกล้มือที่สุดมาชิมทันที พร้อมด้วยตระหนักได้ว่าถ้วยแรกที่ชิมไปยังไม่ใช่ชาจากใบชาที่ผ่านการอบ หากแต่เป็นชาถ้วยที่อยู่ตรงหน้านี้

“ระวังร้อนนะ มันยังร้อนอยู่” คุณน้าเตือนเมื่อเห็นท่าทีฉับพลันของเด็กวัยรุ่นใจเร็ว

ไอความอุ่นจนร้อนได้แผ่เข้ามาสู่อุ้งมือ เป็นความร้อนที่พอดีๆ ไม่ร้อนจนเกินไป เมื่อดึงถ้วยใบนั้นนั้นเข้ามาใกล้ริมฝีปาก และบรรจงเป่าให้ไอร้อนนั้นคลาย ส่วนไอร้อนที่ลอยสูงขึ้นก็ลอยเข้ามาเตะจมูกนั้น ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่ากลิ่นของชาถ้วยนี้แปลกไป คุณน้าบอกว่านั่นคือกลิ่นของควันไฟ และเราก็รู้สึกได้ถึงสิ่งนั้นจริงๆ

รสชาติที่ผ่านเข้าไปภายในปากของชาถ้วยนี้นั้นต่างจากที่เคยดื่ม ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ความคิดหนึ่งโลดแล่นเข้ามาในห้วงความคิด

‘เพียงชาแค่เพียงถ้วยหนึ่ง สามารถบอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวที่มาของตัวมันเองได้มากมายขนาดนี้ ทำให้ได้เห็นถึงมุมในการดื่มชาถ้วยหนึ่ง บางทีไม่ใช่แค่กินใส่ท้องกลืนลงไป แต่รายละเอียดเล็กน้อยที่รับรู้ ทำให้รู้สึกเหมือนมีคนคนหนึ่งกำลังถ่ายทอดเรื่องราว และบอกเล่าที่มาของเขาให้เราฟัง ‘

พี่คนนั้นเขารักและภูมิใจกับร้านแห่งนี้ของเขามาก แม้จะไม่ได้โด่งดังมากมาก แต่เขาก็รักษาคุณภาพของชาชั้นเลิศเรื่อยมา

เมื่อเดินถัดไปจากร้านชาอีกหน่อยก็พบร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมีน้ำบริการลูกค้า ซึ่งทำจากชาที่ซื้อมาจากร้านชาที่ได้กล่าวไว้ โดยนำใบชามาต้มกับใบเตยจนได้ชากลิ่นหอมที่ดับกระหายได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามถัดไปเพียงไม่ไกล เราก็พบร้านขายชาอีกร้านหนึ่ง ซึ่งชาก็ไม่ได้ซื้อจากร้านชาในหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะชาสำเร็จรูปสมัยนี้สะดวกและหาง่ายกว่ามาก และจากการที่เดินถามชาวบ้านทั่วๆไปในชุมชนนี้ ก็พบว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ซื้อชาแห่งนี้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้เรารู้ว่าถึงแม้จะวัตถุดิบเดียวกันแต่หากปราศจากการเพิ่มมูลค่าและการโฆษณาก็คงจะอยู่ได้เพียงในชุมชนเล็กๆเท่านั้น

เราเดินออกมาจากร้านชา “ตั้งเมี้ยไก่” ร้านใบชาแห่งเดียวในชุมชนสวนสมเด็จย่าแห่งนี้ พร้อมกับความผ่อนคลายและสิ่งที่ยังคงอยู่ในความรู้สึก คือกลิ่นและรสชาติของชาถ้วยนั้น

เท้าสองคู่ของผู้มาเยือนจากต่างถิ่นก้าวเดินออกมาจากร้านชา ทิ้งร่องรอยกลิ่นความของความหอมที่ยังเหลือตราตรึงอยู่ในใจ

เมื่อเดินมาถัดมาจากร้านชา ‘ตั้งเมี้ยไก่’ เพียงไม่กี่แถวตึก ก็ถึงร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง ท้องก็เกิดอาการเรียกร้องวัตถุดิบสร้างพลังงานขึ้นมาทันที ฝีเท้าเดินตามท้องมากกว่าความคิด จนมาหยุดอยู่ที่หน้าเตาก๋วยเตี๋ยว จัดการสั่งรายการอาหารที่ชอบสั่งทานอยู่ประจำ หลังจากนั้นก็มองหาที่นั่งว่างเพื่อพักขาและพักกายรอเย็นตาโฟ ชามร้อน น้องบริกรคนหนึ่งเดินมาประชิดโต๊ะและวางแก้วน้ำเย็นบนโต๊ะ ตาโปรยสายตาเหลือบไปสังเกตสิ่งที่อยู่ในแก้ว นั่นคือน้ำแข็งละเอียดที่จมอยู่ในน้ำที่เป็นสีน้ำตาล

ด้วยความคิดที่ยังตราตรึงติดใจอยู่ มือก็ไม่รีรอที่จะหยิบน้ำแก้วนั้นขึ้นมาให้ลิ้นได้สัมผัส ถึงได้หายข้อกังขาใจ ด้วยพบว่ามันคือน้ำชา ดังที่คาดไว้ในชั่วขณะที่เห็นสีน้ำตาลของน้ำในแก้ว

แต่เมื่อลิ้นได้สัมผัสกับรสชาตินั่นคือ กลับได้รู้สึกถึงความแตกต่างของรสชาติของชาในร้านก๋วยเตี๋ยวแก้วนี้กับชาที่เพิ่งได้ชิมมาเมื่อไม่ถึงชั่วโมงก่อน ตรงที่กลิ่นที่ชาในบริการพร้อมก๋วยเตี๋ยวในร้านนี้มีกลิ่นหอมเตะจมูกและเป็นเอกลักษณ์ที่วินาทีแรกที่สัมผัสจมูกก็รู้ได้ว่าเป็นกลิ่นหอมของ ใบเตย ที่เคล้ามากับรสชาติที่โดดเด่นของน้ำชา….

ห้วงความรู้สึกที่ยังคงหลงเหลือปรากฎนึกถึงร้านที่เพิ่งไปเยือนมา เมื่อสอบถามคุณน้าคนสวยที่ร้านก๋วยเตี๋ยว จึงรู้ว่าน้ำชาที่บริการลูกค้าในร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้ ได้มีการผสมสูตรตามแบบที่สืบต่อกันมาโดยใช้ส่วนผสมเพิ่มคือใบเตย และวัตถุดิบหลักก็คือใบชา ที่เป็นใบชาที่มาจากร้าน ‘ตั้งเมียไก่’นั่นเอง

หากโลกนี้จะมีอะไรที่เกี่ยวเนื่องต่อกัน ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ และคน ก็สามารถเชื่อมโยงต่อกันได้จริงๆ ความคิดครู่นึงวิ่งเข้ามาในหัวถึงบทสัมภาษณ์ที่เพิ่งสัมภาษณ์และพูดคุยกับคุณป้าอาลีร้านขายใบชา ‘ตั้งเมี๊ยไก่’ คุณป้าบอกมาในตอนหนึ่งว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อจะมาจากที่อื่น มาไกลๆก็มี ส่วนคนในชุมชนระแวกนี้จะไม่ค่อยมีมาซื้อทาน เมื่อลองสอบถามคนในชุมชนดูก็ได้ความเช่นนั้นจริงๆ

แต่สิ่งที่เมื่อได้มานั่งในร้านก๋วยเตี๋ยว และได้เห็นส่วนเล็กๆในมุมหนึ่งผ่านตรงนี้ ก็คือ ‘น้ำชา’ ที่ทำจากใบชา จากร้านแห่งเดียวในชุมชนแห่งนี้ อาจจะได้ถูกส่งผ่านการลิ้มรสลิ้มลองแนบเคล้าเคียงไปกับน้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ ให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้ลิ้มรสอยู่ทุกวัน ณ ที่แห่งนี้แล้วก็เป็นได้..

บุคคลอ้างอิง
คุณป้าอาลี ปานงาม อายุ 65 ปี
คุณน้าสุรินทร์ แซ่ตัน อายุ 46 ปี
[ร้านตั้งเมี้ยไก่ ซอยสมเด็จเจ้าพระยา1]

ร้านในเรื่อง
ร้านชา’ตั้งเมี๊ยไก่’ ซอยสมเด็จเจ้าพระยา1
ร้านก๋วยเตี๋ยว ‘เจ๊อ้วน’ ซอยสมเด็จเจ้าพระยา1