เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ
เรื่องมันเริ่มจากวันที่เขานั่งอยู่ในรถเบนซ์ 170V ปี ๑๙๕๒ ที่พ่อไปขอซื้อมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังในรถ (ที่มีรถอีกคันลากไป) ในวันนั้น ทำให้เด็กหนุ่มอายุ ๑๗ ปี หันมาสนใจรถโบราณและเข้าสู่วงการนี้อย่างจริงจัง
วันนี้ นอกจากงานข้าราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังแล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยอีกด้วย นับเป็นคณะกรรมการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุด
“ไม่รู้จะบอกยังไงว่าทำไมถึงชอบ มันเริ่มจากความสนใจ สมัยเด็กๆ เพื่อนๆ เก็บตังค์ซื้อการ์ตูน เราเก็บตังค์แล้วซื้อหนังสือรถโบราณชื่อ คลาสสิคคาร์ ออกรายเดือน ตอนนั้นยังคิดว่าเมืองไทยคงไม่มีรถแบบนี้ มันสวยมาก เลยคิดว่าคงเป็นของที่หายากมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง ประมาณ ๑๐ ปีก่อน คุณพ่อพาไปบ้านคุณสุทัศน์ ม่วงศิริ ซึ่งเป็นเจ้านาย พาไปดูรถเบนซ์ 170V รถรุ่นนี้ในเมืองไทยมีน้อยมาก ผมยังจำบรรยากาศตอนนั้นได้เลย พ่อกับน้องชายนั่งข้างหน้า ผมนั่งข้างหลังในรถเบนซ์สีดำคันนั้น โดยมีรถกระบะลากอยู่ข้างหน้า แล้วพ่อก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า สมัยหนุ่มๆ ท่านเคยใช้รถรุ่นนี้ ช่วงตุลา ๑๙ คุณพ่อขึ้นไปไฮด์ปาร์กและร่วมเดินขบวนทุกวัน แต่วันหนึ่งรถเกิดเสียอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย พ่อก็นั่งซ่อมรถอยู่ตรงนั้นเป็นวันเลย ทำให้ไม่ได้ไป พอฟังข่าววิทยุจึงรู้ว่ามีการยิงกันขึ้น คุณพ่อไม่ถูกยิงในวันนั้นเพราะรถคันนี้ช่วยชีวิตไว้ มันก็กลายเป็นความผูกพัน
“ผมเริ่มทำงานอายุประมาณ ๑๗ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แล้วก็เริ่มเล่นรถมาตั้งแต่ตอนนั้น เก็บเงินได้นิดหน่อยก็เอามาซื้อรถโบราณ สมัยนั้นรถยังไม่แพงมาก เริ่มทำเอง ซ่อมเอง โดยไม่มีความรู้มาก่อน ปีสองปีแรก ผมเสียรถไปเลย รื้อทิ้งอยู่ ๒-๓ คัน แต่หลังจากนั้นมาก็มีความชำนาญขึ้น เพราะรู้กลไกของรถโบราณหมดแล้ว ไม่เคยเสียรถอีกเลย บางคันถูกรื้อมาจนเละ เราก็ประกอบกลับได้หมด
“รถโบราณสอนให้เรารู้กระบวนการในการทำงานหนึ่งชิ้นตั้งแต่ต้นจนจบ บางคันตอนเอามาน่ะเป็นซากเลย แต่เรายืนอยู่ข้างรถแล้วนึกออกว่าสภาพที่สวยที่สุดของมันเป็นอย่างไร (ภาษารถเรียกว่า Mint Condition) และเรามีวิธีทำขึ้นมาไหม ถ้าเรานึกภาพมินต์ของรถคันนี้ออก ก็มาถามตัวเองว่าชอบไหม ถ้าใช่ เอาเลย ซื้อ
“ผมซื้อรถโบราณมาในราคาหลักหมื่นหลักแสน ไม่ได้แพงอะไร บางคันมาเป็นซาก วัดราคาอะไรไม่ได้เลย แต่พอทำเสร็จแล้ว ราคาค่อนข้างสูง ผมทำมาทั้งหมด ๑๐ คันแล้ว ทำเองทั้งหมด พอได้รถมาเราต้องวางแผนตั้งแต่เรื่องคน อุปกรณ์ อะไหล่ ความสนุกอยู่ตรงที่เราได้เสาะหาว่าร้านไหนมีอะไหล่ที่เราต้องการ รถบางคัน ทั่วโลกมีอยู่ร้านเดียวที่ขายอะไหล่ที่ใช้กับรถยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ ส่วนเรื่องคนก็เริ่มตั้งแต่จะเอาช่างเคาะคนไหนดี หาช่างสีที่ไหน จากนั้นก็หาคน หาของ ตามที่วางตารางงานเอาไว้ ผมมีความสุขเวลาที่ได้เห็นงานค่อยๆ เดินไปตามขั้นตอนที่วางไว้ ระหว่างทางก็จะมีอุปสรรคบ้าง อย่างเรื่องช่าง เพราะช่างส่วนใหญ่ที่ทำรถโบราณจะไม่ใช่ช่างซ่อมรถทั่วไป แต่เป็นศิลปิน บางคนไม่เมาซ่อมไม่ได้ พอเมามากๆ ก็ทำไม่ได้ เราก็ต้องหาทางทำให้เขามีวินัยมากขึ้น บางคนชอบทำรถแบบบุก ทำรวดเดียวไม่หลับไม่นอน ขอให้รถเสร็จ ซึ่งงานจะไม่มีคุณภาพ เราก็ต้องหาทางให้เขาใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำ รถถึงจะออกมาสมบูรณ์ ความสนุกของการเล่นรถโบราณก็อยู่ตรงนี้ ได้วางแผน ได้เห็นแผนเป็นไปตามที่เราคิดไว้ ผมมีความสุขกับการซ่อมมากกว่าการขับเสียอีก
“ผมมองว่าการได้รถมาเหมือนเจอเนื้อคู่ ตอนขับรถ คนอื่นอาจจะสอดส่องมองสาวข้างๆ แต่ผมจะมองรถ มองไปเรื่อย ดูว่าจะเจอเนื้อคู่หรือเปล่า พอเจอปุ๊บก็ต้องถามหาเจ้าของ ดูว่ามีใครรู้จักกับเจ้าของรถคันนั้นบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่รู้จักจริงๆ ก็ต้องใจกล้าหน่อย ขอเข้าไปชมบ้าง ส่วนมากถ้าไม่เคยรู้จักกันมาเลย เขาจะไม่ยอมขายง่ายๆ ต้องใช้เวลาเป็นปี แวะเวียนไปพูดคุยทำความรู้จักกัน ผู้ใหญ่ยุคนั้นเขารักรถมาก รถบางคันอย่างเช่น E-type Jaguar Series I ปี ๑๙๖๔ ซึ่ง Series I ในโลกก็มีจำกัดอยู่แล้ว แต่ของปี ๑๙๖๔ เป็นสเปกพิเศษ ยิ่งมีน้อยมาก เราก็จะรู้เลยว่าคนที่ใช้รถรุ่นนี้ต้องเป็นคนที่รักรถมาก เวลาเขาคุยกับเรา ถ้าเขาเห็นว่าเรารักรถมากเขาก็อาจจะยอมขาย แต่ถ้าเห็นว่าเราเป็นเหมือนพ่อค้า เขาก็ไม่ขาย
“กระจกมองหลังของรถผมจะเป็นส่วนที่เก่าที่สุด เพราะจะไม่เปลี่ยนเลย ผมถือว่าอดีตที่ผ่านมาของรถคันนี้มันอยู่ในนั้น มีเรื่องราวที่เจ้าของรถผูกพันและเล่าให้เราฟัง ผมมีรถเบนซ์รุ่น 300 ปี ๑๙๕๒ เป็นรถของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ได้มายังมีหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นวางอยู่ท้ายรถ บัตรเชิญงานที่ท่านเคยไปก็อยู่ในนั้น รถแต่ละคันแม้จะเหลือแต่ซาก แต่มันก็ผ่านเรื่องราวมาเยอะมาก เหมือนคนที่มีวิญญาณ แต่ร่างกายภายนอกหมดสภาพ เราก็เอามาดูแลซ่อมแซมให้กลับไปใกล้เคียงของเดิมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เวลาเราขับไปให้เจ้าของเก่าเขาดู เขาก็จะยิ้ม คือเราไม่ทำให้เขาผิดหวัง ไม่เสียดายที่ขายให้เรามา
“ถามว่าอนุรักษ์แล้วได้อะไร ก็คงเหมือนกับเราอนุรักษ์วัดโบราณ รถโบราณบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของอดีต ศิลปะที่อยู่บนรถโบราณเห็นได้ชัดเจนกว่ารถสมัยใหม่ มันสวยกว่า แต่ทุกวันนี้รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนงานอนุรักษ์รถโบราณเท่าที่ควร ทำให้รถเก่าๆ ที่มีคุณค่าล้มหายตายจากไปจำนวนมาก คนในวงการรถที่เล่นมา ๑๐ กว่าปีขึ้นไป จ ะรู้ว่าในเมืองไทยมีรถที่ฝรั่งอ้าปากค้าง เรามีรถโบราณมูลค่าหลายสิบล้านอยู่ในเมืองไทย รถพวกนี้ฝรั่งซื้อกลับไปหมด
“ปัจจุบันรัฐบาลคิดภาษีป้ายวงกลมตามความจุกระบอกสูบ คือ ซีซี ซีซียิ่งสูงยิ่งแพง รถยนต์สมัยก่อนใช้เครื่องยนต์ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ซีซี ซึ่งทุกวันนี้ส่วนใหญ่เจ้าของไม่ค่อยได้เอาไปขับ จอดอยู่เฉยๆ แต่รัฐก็คิดภาษีโดยใช้หลักการเดียวกับรถยนต์สมัยใหม่ ทำให้รถโบราณจำนวนมากอยู่นอกระบบ คือไม่ได้ต่อทะเบียน เพราะค่าต่อทะเบียนสูงมาก รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเพราะคิดว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย อยากให้มองว่ารถโบราณเป็นเรื่องของการอนุรักษ์จริงๆ บางคนรายได้ไม่ได้มากอะไร แต่ก็มีรถโบราณเพราะเขาต้องการอนุรักษ์ เก็บหอมรอมริบทำไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐสนับสนุนบ้างก็น่าจะดี
“รถในเมืองไทยที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไปส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ คือหนีภาษี รัฐก็ไม่ได้ภาษีจากรถพวกนี้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้กลับมาอยู่ในระบบ ทางสมาคมอนุรักษ์รถโบราณคุยกันว่า เราจะทำเรื่องเสนอขอออกแผ่นป้ายของรถโบราณเป็น “รถยนต์เพื่อการอนุรักษ์” (Historic Plate) ขับได้เฉพาะก่อนเวลาพระอาทิตย์ตกเหมือนรถป้ายแดง ซึ่งทั่วโลกเขาทำแบบนี้ เมืองนอก เรื่องภาษีป้ายวงกลมสำหรับรถโบราณเขาไม่เก็บเงินเลยด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเป็นงานอนุรักษ์ เขาถึงมีรถคลาสสิกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น วิธีนี้จะทำให้รถโบราณที่จอดอยู่ในบ้าน หลบอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ รอวันผุพัง ได้กลับเข้าสู่ระบบ รัฐเองก็จะมีรายได้จากภาษี
“สมาชิกของสมาคมรถโบราณฯ อายุเฉลี่ย ๔๐ ปีขึ้นไป ๓๐ ปลายๆ นี่น้อยมาก ถือเป็นเรื่องดีที่เราได้ไปสมาคมกับผู้ใหญ่ เวลาเจอผู้ใหญ่ ทุกคนจะบอกว่า นี่ลูกศิษย์ ผมก็ยินดี มีอาจารย์หลายคน นอกจากเรื่องรถแล้ว เรื่องอื่นๆ เราก็คุยกันได้ เขาก็ได้รู้ว่าคนอายุ ๒๗-๒๘ ใช้ชีวิตยังไง เราก็รู้ว่าคนรุ่นพ่อเขาใช้ชีวิตกันยังไง ไปไหนก็ไปด้วยกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยลดลง ผมมีเพื่อนหลายกลุ่มทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คบเด็กก็สนุก คบคนแก่ก็สนุก”