Green News
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ : ถ่ายภาพ

ดอกดวงสีเขียวอ่อนกลางภาพคือริ้วแพรไลเคนกลุ่มทนทานสูง

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญอะไรกลับได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างน่าสนใจอีกครั้ง

เมื่อราและสาหร่ายอยู่ด้วยกันบนต้นไม้กลายเป็นหุ้นส่วนชีวิต สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เรียกว่าไลเคนนี้จึงได้รับความสนใจจากเด็กๆ ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศในย่านบ้านเกิดของตัวเอง

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ในรูปแบบที่นำเด็กๆ มาเข้าค่ายฝึกอบรม แล้วออกสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชนย่านพัทยาจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ แล้ว  นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ชาวพัทยาในนามกลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ นำโดยนายสัตวแพทย์สุกิจ บ่ายคล้อย ได้ออกสำรวจต้นไม้ในป่าชายเลนปากคลองนาเกลือและคลองนกยาง ป่าชายเลนผืนสุดท้ายของเมืองพัทยา ซึ่งขณะนั้นได้รับการปรับสภาพเป็นคลองระบายน้ำ นับจำนวนต้นไม้ในป่าชายเลนได้ถึง ๑,๐๒๓ ต้น  ถัดมาปี ๒๕๕๓ กลุ่มนักอนุรักษ์ร่วมโครงการนักสืบชายหาด มูลนิธิโลกสีเขียวสำรวจสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในอ่าวนาเกลือ พบสิ่งมีชีวิตในหาดเลนและป่าชายเลนผืนสุดท้ายนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งปลาตีน นกยาง ปูก้ามดาบ หอยจุ๊บแจง หอยเสียบ หอยสังข์หนาม ดอกไม้ทะเลทองหยิบ ฯลฯ

ปี ๒๕๕๕ เหล่านักอนุรักษ์เปลี่ยนมาสำรวจไลเคน สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เกาะอยู่บนเปลือกไม้ ตามโครงการนักสืบสายลม มูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อนำการพบไลเคนมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ลงพื้นที่ ๒๔ จุดของอ่าวนาเกลือและเมืองพัทยา  ผลตรวจสุขภาพชุมชนผ่านไลเคนพบว่า แถบบางละมุง อ่างเก็บน้ำห้วยลึก รีสอร์ตในเขตพัทยาเหนือ เขาพระตำหนัก และพื้นที่อีกหลายแห่งมีสภาพอากาศเข้าขั้นแย่และพอใช้

ปี ๒๕๕๖ โครงการนักสืบสายลมยังคงได้รับการสานต่อโดยกลุ่มนักอนุรักษ์และผู้นำเยาวชนท้องถิ่น  แม้ไม่มีทีมงานจากมูลนิธิโลกสีเขียวเป็นพี่เลี้ยง แต่ประสบการณ์และทักษะการตรวจคุณภาพอากาศผ่านไลเคนก็ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดสู่แกนนำเยาวชนท้องถิ่น  ปีนี้นักสืบสายลมออกสำรวจไลเคนในถนนสายหลักสี่สายของเมืองพัทยา ได้แก่ ถนนพัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และถนนเลียบชายหาด

เด็กๆ ราว ๔๐ คนแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กระจายกำลังไปตามพื้นที่รับผิดชอบ ในมือถือแว่นขยาย สมุดจด ปากกา สายวัดขนาดต้นไม้ และหนังสือคู่มือสำรวจไลเคน พร้อมด้วยหูตาอันว่องไว ประสาทสัมผัสที่พร้อมรับรู้สิ่งใหม่

ธนดา ใจแก้ว หรือน้องมิน นักเรียนชั้น ม.๒ ซึ่งพื้นเพเป็นคนมุกดาหาร เข้ามาเรียนหนังสือที่เมืองชลฯ ตั้งแต่ชั้น ป.๕ และสังกัดชมรมสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนเมืองพัทยา ๓ (วัดสว่างฟ้าพฤฒาราม) เล่าให้ฟังว่า ก่อนนี้ตัวเองไม่เคยรู้จักไลเคน ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากราและสาหร่ายอาศัยอยู่ด้วยกัน พื้นที่ไหนมีไลเคนมาก หลากหลายชนิด แสดงว่าบริเวณนั้นอากาศดี เพราะไลเคนอ่อนไหวต่อมลภาวะ ถ้าอากาศไม่ดีไลเคนจะตาย

น้องมินเล่าว่า “วันแรกออกสำรวจไลเคนที่วัดช่องลม ใกล้โรงเรียนบางละมุง เจอไลเคนชนิดไฝพระอินทร์ ไฝหน้าขาว แป้ง-มณโฑ ซึ่งเป็นไลเคนกลุ่มทนทาน และทนทานสูง แสดงว่าคุณภาพอากาศที่วัดช่องลมไม่ดีเท่าไร  วันที่ ๒ ไปเขาไม้แก้วซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ มีไลเคนกลุ่มอากาศดีอยู่คือผักกาดหน่อฟอง และมีไลเคนกลุ่มทนทานคือ โดรายากิกับแป้งมณโฑ”

น้องมินเล่าต่ออีกว่า “ส่วนวันสุดท้ายนี้เราพบว่าอากาศแย่ที่สุด เพราะกลุ่มของหนูสำรวจไม่พบไลเคนเลย”

ไม้ใหญ่ภายในวัดช่องลม เมืองพัทยาถูกเด็กๆ กลุ่มนักสืบสายลมวัดขนาดลำต้น และสำรวจหาไลเคน

ปื้นสีขาวคือหัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็งและสีเขียวคือแป้งมณโฑ

ในช่วงท้ายของกิจกรรมค่าย ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์หน้าชั้น  ตัวแทนจากกลุ่มสำรวจถนนพัทยากลางนำเสนอว่า “หลังจากกลุ่มของเราลงจากรถที่ถนนพัทยากลางก็เจอแต่ต้นซากุระเมืองไทยตลอดทั้งสาย แต่ไม่มีไลเคนอยู่เลยค่ะ”

เด็กๆ สอบถามชื่อต้นไม้ที่พบจากวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วได้คำตอบว่าคือต้นซากุระเมืองไทย ซึ่งแท้จริงก็คือต้นชมพูพันธุ์ทิพย์

“บนต้นซากุระเมืองไทยไม่มีไลเคน ในชุมชนก็ไม่มี พื้นที่ว่างสองข้างทางก็มีแต่ขยะ มีรอยขีดเขียนตามผนัง” ตัวแทนอีกคนหนึ่งของกลุ่มเสริม

ช่วงจังหวะนั้นเองผู้ดำเนินรายการได้โอกาสเล่าแทรกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเมืองพัทยาว่า สมัยก่อนทั่วเมืองพัทยาทั้งถนนสายเหนือ กลาง ใต้ มีต้นประดู่ปลูกเป็นแนวยาวสองฟากถนน แต่ตอนนี้ถูกตัดโค่นจนลดจำนวนลงไปมาก

ด้าน อนันต์ธนา มงคลศิริ หนึ่งในพี่เลี้ยงค่ายที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ติดต่อกันมาเล่าว่า “กลุ่มผมออกสำรวจถนนพัทยาใต้ทางฝั่งขวา ตลอดทั้งสายมีต้นไม้แค่สองต้น เป็นต้นมะม่วงใหญ่หนึ่งต้นหน้าร้านเช่ารถ  พอเด็กๆ เห็นแล้วเหมือนเจอโอเอซิส คือรีบวิ่งไปหา เพราะอากาศร้อนจัดเหลือเกิน แต่ก็ไม่พบไลเคน  กับอีกต้นเป็นมะยมไม่ใหญ่นัก แต่กลับมีไลเคนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลายเส้น และหัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็ง พ้นจากสองต้นนี้กลุ่มเราต้องกรำแดดอยู่นาน แทบไม่เจอต้นไม้เลย”

ผลการสำรวจถนนสี่สายหลักของเมืองพัทยาระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ พบว่า ถนนพัทยาเหนือความยาว ๑.๙ กิโลเมตร พบต้นไม้ ๕๔ ต้น มีไลเคนไฝพระอินทร์เพียงหนึ่งชนิด ประเมินสภาพอากาศว่าอยู่ในขั้นแย่มาก

ถนนพัทยากลางความยาว ๑.๘ กิโลเมตร พบต้นไม้ ๓๖ ต้น ไม่พบไลเคน ประเมินสภาพอากาศว่ามีปัญหามลภาวะรุนแรง

ถนนพัทยาใต้ความยาว ๒.๕ กิโลเมตร พบต้นไม้ ๒๕ ต้น พบไลเคนชนิดไฝพระอินทร์ หัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็ง ริ้วแพร ลายเส้น แม้มีไลเคนหลายชนิดแต่ก็อยู่ในกลุ่มทนทาน และทนทานสูง ประเมินสภาพอากาศว่าอยู่ในขั้นแย่

ถนนเลียบชายหาดความยาว ๓ กิโลเมตร พบต้นไม้ ๒๖ ต้น แต่ไม่พบไลเคน ประเมินว่ามีปัญหามลภาวะรุนแรงหรือมีสาเหตุอื่น

แม้สภาพอากาศเมืองพัทยาจากการประเมินโดยใช้ไลเคนเป็นดัชนีชี้วัดจะพบว่าเมืองท่องเที่ยวสำคัญทางชายทะเลตะวันออกนี้กำลังมีปัญหามลภาวะ  แต่ในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพัทยาไม่ไกลอย่างบนเขาไม้แก้วอันเป็นพื้นที่อนุรักษ์มีต้นไม้ร่มครื้ม ยังพบว่ามีไลเคนกลุ่มอากาศดีอยู่คือผักกาดหน่อฟอง พอเป็นความหวังว่าในอนาคตหากผู้คนในชุมชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ไลเคนที่บ่งบอกถึงคุณภาพอากาศที่ดี น่าอยู่อาศัยจะค่อยๆ กลับคืนสู่เมืองพัทยา และเป็นอีกหนึ่งมรดกที่ชาวพัทยาจะมอบให้แก่ลูกหลานต่อไป