เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช,  วิจิตต์ แซ่เฮ้ง


๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ ๒๔

จุดเริ่มต้นคือเส้นชัย

สี่นาฬิกา พระอาทิตย์ยังไม่ทันเบิกฟ้า ผมพบตัวเองปะปนอยู่ท่ามกลางฝูงชนร่วมหมื่นคนบนเกาะรัตนโกสินทร์

ภารกิจในการเขียนสารคดีเรื่องวิ่งมาราธอนพาผมมาอยู่ท่ามกลางเหล่านักวิ่งที่นี่  พร้อมทีมช่างภาพ สารคดี กระจายกำลังกันไปตลอดระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร

คนที่ไม่เคยสัมผัสรายการวิ่งมาราธอนมาก่อนไม่เชื่อสายตา ว่าก่อนรุ่งสางอันเป็นเวลาที่ตามปรกติของชีวิตประจำวันน่าจะซุกกายอยู่ใต้ผ้าห่มจะมีผู้คนออกมารวมตัวกันกลางถนนมากมายถึงเพียงนี้

ณ สถานที่อันเป็นเหย้าของงานวิ่งมาราธอน นักวิ่งแต่ละคนล้วนมีปลายทาง

เส้นชัย หรือมวลอากาศอันลอยคว้างอยู่ระหว่างสองเสาสุดปลายทางวิ่ง

แท้จริงนั้นคือจุดเริ่มต้น

ในงานวิ่งมาราธอน ทุกคนออกวิ่งสุดกำลังเพื่อกลับมายังตำแหน่งเดิม

 

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖, ไบเทคฮาล์ฟมาราธอน

ก้าวแรก

นักวิ่งคนหนึ่งบอก หากอยากให้ใครสักคนวิ่ง ชวนมาเที่ยวงานวิ่งมาราธอนสักครั้ง แล้วที่เหลือบรรยากาศงานวิ่งจะชักนำคนผู้นั้นให้รู้สึกอยากวิ่งขึ้นมาเอง

ผมพบว่าคำกล่าวนี้มีเค้าลางความจริง

หลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาราธอนครั้งแรก สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ ๒๔ (๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) และจอมบึงมาราธอน (๒๐ มกราคม ๒๕๕๖) ความรู้สึกที่มีต่อการวิ่งมาราธอนของ “คนนอก” อย่างผมเริ่มเปลี่ยนไป

จากไม่เคยไยดีการวิ่งสักเท่าไหร่ แต่แล้วหลายเหตุการณ์ในงานวิ่งก็ได้เริ่มทำหน้าที่ของมัน

ที่จุดสตาร์ต (start) ซึ่งกลายเป็นเส้นชัย (finish) หลังปล่อยตัว ภาพนักวิ่งทะยานเข้าเส้นชัยใต้นาฬิกาดิจิทัลเรือนใหญ่กระแทกใจผม

ผมเห็นนักวิ่งบางคนเข้าเส้นชัยทั้งน้ำตา บางคนหัวเราะร่า บางคนชูกำปั้นขึ้นฟ้าอย่างสะใจ บางคนเหมือนหมดสภาพไปแล้ว แต่พอเข้าใกล้เส้นชัย มองเห็นปลายทางกลับระเบิดพลังฮึด  พอผ่านเส้นแบ่งแห่งความเป็นผู้ชนะก็เริ่มมองหาตารางงานวิ่งมาราธอนครั้งต่อไป

ผมได้สัมผัสว่าในสนามวิ่งมาราธอน ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียม ทุกคนต่างออกวิ่งด้วยสองขาหนึ่งใจ  ถึงปลายทางแล้วรวมกลุ่มกันส่งเสียงดังเอิกเกริก อวดโอ่ถึงความสำเร็จ สถิติที่ไม่เป็นไปดั่งคาดหวัง  บางคนเล่าว่าเกือบตายและถอดใจไปแล้วในช่วงกิโลเมตรท้าย ๆ แต่ตัดสินใจกัดฟันสู้ต่อ

แม้ยังไม่เข้าใจเหตุผลแน่ชัด มนต์ใดเสกเป่าให้พวกเขาต้องซอยเท้ามากมายขนาดนี้ ?

ผมซื้อกางเกงวิ่งตัวจิ๋วจากซุ้มขายอุปกรณ์กีฬาข้างงานวิ่งจอมบึงมาราธอน ขนาดสั้นเต่อถึงโคนขา มีกระเป๋าหลังพอเก็บของ

สองสัปดาห์ผ่านไป ผมลงแข่งรายการไบเทคฮาล์ฟมาราธอน ระยะทางไม่เท่าไหร่ แค่ไมโครมาราธอน ๔ กิโลเมตร แต่เป็นครั้งแรกที่ผมมีหมายเลขติดอกเสื้อ

ราตรีก่อนแข่งเนิ่นนาน ข่มตานอนไม่หลับ

ก่อนฟ้าสางบรรยากาศหน้าไบเทคบางนาคึกคัก แสงสีตื่นตระการตา  ผู้จัดตั้งเวทีขนาดใหญ่ไว้หน้าอาคารแสดงสินค้าเพื่อมอบถ้วยรางวัล รายล้อมด้วยซุ้มอาหารให้บริการฟรีสำหรับนักวิ่ง และซุ้มขายอุปกรณ์กีฬาพวกถุงเท้า รองเท้า เสื้อกล้าม กางเกงวิ่ง

พิธีการดำเนินไปตามหลักมาตรฐานของงานวิ่งมาราธอน  ระยะไกลกว่าปล่อยตัวก่อน  งานนี้ไกลที่สุดคือฮาล์ฟมาราธอน ๒๑.๑ กิโลเมตร ปล่อยตัวเวลาตี ๕

แล้วจึงตามด้วยมินิมาราธอน ๑๒ กิโลเมตรในอีก ๔๕ นาที

ไมโครมาราธอน ๔ กิโลเมตร เวลา ๐๖.๐๐ น.

ปิดท้ายขบวนด้วยเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ๐๖.๐๕ น.

ตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกาดิจิทัลเรือนใหญ่ขยับ  กรรมการทยอยปล่อยตัวนักวิ่งเข้าสมรภูมิทางเรียบริมถนนบางนา-ตราด  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรช่องซ้ายสุดเอาไว้

ตัวเลขกระชั้นขยับเข้าใกล้เวลาของรุ่นไมโครมาราธอน  นักวิ่งอ่อนซ้อมสะกดความกลัวด้วยการแทรกตัวมายืนแถวหน้า  กระสับกระส่ายทั้งที่พยายามทำสมาธิ

แล้วชั่วไม่กี่วินาทีก่อนก้าววิ่ง ใกล้ถึงเวลานับถอยหลัง ทุกคนในที่นั้นต่างก็ได้ยินเสียงโฆษกโพล่งดัง ๆ ผ่านความมืดสุดท้ายของราตรีนั้นเอง

“หน้าที่ของพวกคุณคือผ่านครึ่งทางแรกไปให้ได้ แล้วที่เหลือคุณจะลอยเข้าเส้นชัย”

คำคนหลังไมก์ใกล้เคียงความรู้สึกจริง  ตลอดทางวิ่ง ๔ กิโลเมตรเกือบเป็นเช่นนั้น

ครึ่งทางแรกเราจะรู้สึกใจสั่น ขาอ่อนแรง โดยเฉพาะตอนถูกวิ่งแซงไปทีละคนคือช่วงสุ่มเสี่ยงสูญเสียความมั่นใจ นาทีนั้นไม่ว่าใครต่างก็วิ่งแซงเราไปได้ทั้งนั้น

ครั้นผ่านพ้นช่วงวัดใจ ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป

ให้ก้าวต่อก้าว ลมหายใจต่อลมหายใจ

เราจะรู้สึกเหมือนลอยเข้าเส้นชัยใน ๕๐๐ เมตรสุดท้าย

ก้าวแรกของนักวิ่งหน้าใหม่ผ่านไปแล้ว !

 

๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖, สวนลุมพินี

วิ่งบำบัดโรค

สวนลุมพินีกลางมหานครนอกจากเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ แล้วยังเป็นสนามซ้อมมาราธอนที่ดีอีกแห่งหนึ่ง

ถนนลาดยางรอบสวนมีระยะทางประมาณ ๒.๕๔๓ กิโลเมตร ถ้าวิ่งครบสี่รอบก็ใกล้เคียงระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตรของมินิมาราธอน ง่ายต่อการจดบันทึกและเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับการวิ่งในแต่ละรอบ

แน่นอน ทุกเช้าและเย็นจะมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ว่ารำกระบี่กระบอง ไทเก๊ก ชี่กง ขี่จักรยาน รวมทั้งการวิ่งเพื่อสุขภาพด้วย

คงไม่ผิดนักหรอกหากจะบอกว่าหลายคนพบชีวิตใหม่ที่นี่

เช่นเดียวกับเหล่านักวิ่งหลายคนที่ซ่อนความเจ็บป่วยในอดีตไว้

คุณกรัยวิทย์ ไกรเลิศวานิชพงศ์ อายุ ๕๐ ปี เป็นชายร่างท้วมที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗  หมอบอกให้ออกกำลังกายแต่เขาปฏิเสธ กระทั่งเกิดเหตุไม่คาดฝัน เขาเล่าว่า “มีอยู่วันหนึ่งเลิกงานแล้วผมยังไปกินเลี้ยงที่บ้านเพื่อนต่อ  จู่ ๆ เกิดปวดท้อง เดินไปถึงห้องน้ำแล้วจะเปิดสวิตช์ไฟ มองเห็นแต่กลับกดสวิตช์ไม่ได้ แล้วผมก็หงายหลังล้มตึงไปเลย”

เพื่อนรีบนำตัวเขาส่งโรงพยาบาล ทว่าหมอตรวจไม่พบสิ่งผิดปรกติ เพียงโรคเบาหวานและความดันที่มีมาก่อน

“เพื่อนบอกถ้าผมยังไม่ออกกำลังกาย ต่อไปจะไม่ยอมกินอะไรด้วยแล้ว  แต่ถึงเพิ่งรอดชีวิตจากความตายผมก็ยังขี้เกียจ อีก ๒ เดือนค่อยเริ่มออกกำลังกาย”

การออกกำลังกายที่ฟิตเนส คุณกรัยวิทย์ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๑ ชั่วโมงเต็ม จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาวิ่งในหมู่บ้านแค่สวมรองเท้าแล้วก็ออกสตาร์ตได้

ถึงกลางปี ๒๕๕๕ การวิ่งออกกำลังกายของคุณกรัยวิทย์เริ่มเข้าระบบเป็นรูปเป็นร่างเมื่อเข้าร่วมโครงการ “วิ่ง…สู่ชีวิตใหม่” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รู้จักท่าวิ่งที่ถูกต้อง รู้วิธีลงน้ำหนักเท้าเพื่อลดอาการบาดเจ็บ

การวิ่งประจำสม่ำเสมอทำให้น้ำหนัก ๙๐ กว่ากิโลกรัมลดลงเหลือเพียง ๗๒ กิโลกรัมใน ๗-๘ เดือน ทั้งที่เขากินอาหารตามปรกติและไม่ได้กินยาลดน้ำหนัก

“เรื่องอาหารการกินตอนนี้ผมกินได้ทุกอย่าง ทั้งที่คนป่วยเป็นเบาหวานจะต้องถูกสั่งห้ามโน่นห้ามนี่  เพราะสิ่งที่กินเข้าไปจะถูกเผาผลาญในการวิ่ง ถูกขับออกเป็นเหงื่อ”

ถามว่าถึงตอนนี้เขาชอบการวิ่งแล้วหรือไม่ ชายร่างท้วมที่น้ำหนักลดลงไปมากแล้วบอกว่า

“บางครั้งก็เบื่อนะ ผมเชื่อว่าทุกคนติดสบาย แต่เราต้องรู้จักบังคับตัวเอง ไม่อย่างนั้นโรคจะกลับมา  ผมยังชัดเจนว่าการวิ่งคือทางออกที่ดีที่สุด  ทุกวันนี้ผมไม่กินยา  วิ่งออกกำลังกายจนเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ปรกติ ไม่มีอาการอะไร ส่วนความดันยังสูงอยู่เล็กน้อยเท่านั้น”

คุณวีระชัย ธูสรานนท์ เป็นอีกคนที่ชีวิตพลิกผันไปเพราะการวิ่ง  ชายวัย ๕๒ ปีเป็นภูมิแพ้ขั้นรุนแรงมาตั้งแต่วัยรุ่น

“ผมเคยเป็นหวัดทั้งปี  ไปอยู่ที่ไหนก็ต้องมองหาร้านขายยา  อย่างละอองฝนหรือควันรถยนต์ก็ทำให้ผมแพ้ได้  อาการแพ้คือมีน้ำมูกไหล  ผมต้องพกแอคติเฟดติดตัวตลอดเวลา  ในกระเป๋าเต็มไปด้วยยาจนคนรอบข้างล้อว่าผมเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้าน”

นอกเหนือจากโรคภูมิแพ้แก้ไม่หาย ชายร่างสันทัดยังป่วยด้วยโรคผิวหนังคล้ายระบบน้ำเหลืองมีปัญหา

“หมอบอกว่าผมเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งรักษายากมาก และให้ผมทำใจ”

อาการของโรคคือมีตุ่มน้ำใส ๆ ผุดตามผิวหนัง หมอต้องรักษาด้วยการคว้านเนื้อเน่า ๆ เสีย ๆ ทิ้ง แล้วขูดซ้ำจนเลือดไหลซิบ  อาการของคุณวีระชัยเกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งที่มือ แขน ขา หนักที่สุดคือฝ่าเท้า เพราะทำให้ต้องเดินกระย่องกระแย่ง

ด้านตัวยารักษาโรค เขาต้องกินยาในกลุ่มสเตียรอยด์เช้าเย็น รวมทั้งยาควบคุมการทำงานของหัวใจ  เขารู้ว่ายาเหล่านี้กินมากไปก็ไม่ดีเพราะมีผลให้กระดูกผุ  ทว่าหากหยุดยาแม้เพียงช่วงสั้น ๆ อาการของโรคจะสำแดงทันที แต่เมื่อกินยาแผลจะยุบและแห้งลงได้

“ผมอยู่ได้ด้วยฤทธิ์ยา ต้องกินยาเยอะมาก  ร่างกายเคยชินถึงขนาดยาประเภทที่กินแล้วง่วงทำอะไรผมไม่ได้”

คุณวีระชัยเริ่มหาวันว่างออกกำลังกายที่สวนลุมพินีด้วยการเล่นเวตเทรนนิง แต่เกิดเล่นบาร์คู่ผิดท่า สะบักหลังได้รับบาดเจ็บ  จบชีวิตการเป็นนักเล่นเวตไว้แค่นั้น

ช่วงนั้นราวปี ๒๕๔๖ รุ่นน้องที่คุณวีระชัยรู้จักมาวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมฯ เป็นประจำทุกเย็นชักชวนให้เขาวิ่ง  แม้จะรู้สึกว่าตัวเองวิ่งไม่ไหว และผลจากการทดลองวิ่งวันแรกคือระยะทางเพียง ๔๐๐-๕๐๐ เมตรก็เหนื่อยหอบ แต่เมื่อถึงวันที่ ๒ รุ่นน้องบอกให้เขาลองวิ่งอีก ปรากฏเขาวิ่งได้ระยะทางมากขึ้น

คุณวีระชัยเล่าว่า “ผมวิ่งครบหนึ่งรอบสวนลุมฯ ดีใจมาก  ผมวิ่งไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องความเร็วอะไรทั้งสิ้น  หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมพยายามวิ่งเพิ่มระยะทาง  วิ่งผ่านสองรอบไปถึงรอบสามแล้วรู้สึกมีอาการอย่างที่รุ่นน้องบอกว่าขาจะเริ่มตึง แต่พอผ่านไปได้ก็เหมือนไม่มีอะไรมาฉุดเราไว้ ถึงจะเมื่อยล้า แต่ก็รู้สึกว่าเส้นเริ่มคลาย วิ่งต่อไปได้อีก”

ช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มสังเกตว่าผดผื่นภูมิแพ้ตามแข้งขาหายไป จนภรรยาทักว่า “ขาของพ่อดีขึ้นนะ ไม่รู้ว่าแผลหายไปไหน อาการหวัดน้ำมูกไหลก็ไม่มีให้เห็น”

จากการวิ่งอย่างสม่ำเสมอ เพราะความปลาบปลื้มที่วิ่งระยะทางไกลรอบสวนลุมพินีได้ กลับส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นเป็นลำดับ จนปัจจุบันผดผื่นตามร่างกายคุณวีระชัยแทบไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว

“ถ้าช่วงไหนมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ผมจะออกจากบ้านไปหาที่วิ่งเบา ๆ  พอได้เหงื่อแล้วอาการผิดปรกติจะหายไป  คนที่เป็นโรคภูมิแพ้น่าจะใช้วิธีเดียวกันกับผมได้ แต่ขอให้อดทน อย่าใจร้อน  เริ่มวิ่งแบบสบาย ๆ แล้วหมั่นสังเกตตัวเอง  อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น

“ตราบใดที่เรายังเดินได้ ผมเชื่อว่าเรามีสิทธิ์หายจากโรค เพราะออกวิ่ง  แต่ถ้าคุณเดินได้แล้วไม่อยากวิ่ง คุณคงต้องเป็นโรคภูมิแพ้อย่างนี้ไปตลอดชีวิต”

 

๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔, กลุ่ม ปตท. มาราธอน

สัมพันธภาพบนก้าววิ่ง

“ผมไม่ค่อยชอบชวนใครให้มาวิ่ง แต่ชอบทำให้เห็นมากกว่า  เวลาไปวิ่งต่างจังหวัดผมจะไปคนเดียว พักโรงแรมถูก ๆ หรือไม่ก็นอนฟรีที่วัดหรือโรงเรียนที่ผู้จัดงานวิ่งเตรียมไว้ให้  วันหนึ่งผมจะไปวิ่งที่ระยอง ตั้งใจจะชวนพ่อกับแม่ไปเที่ยวบ้าง  มารู้เอาทีหลังว่า อ้าว พ่อจะวิ่งด้วย”

ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) เริ่มต้นเล่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ

“จริง ๆ ผมไม่ได้สนิทกับพ่อมาก  ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนตอนผมยังเด็กมาก ๆ เราเคยคุยกันบ่อย  พ่อจะตอบคำถามผมเรื่องข่าวเรื่องการเมืองทั้งในและต่างประเทศ สารคดีวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ผมคุยกับพ่อเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ ป. ๔ ป. ๕ แต่พอผมโตเป็นวัยรุ่นเริ่มรู้มาก ผมก็เริ่มเถียงพ่อ ก็เลยเริ่มคุยกันน้อยลง  พอดีได้ทุน พสวท. ต้องย้ายออกจากบ้านไปเรียนตั้งแต่จบ ม. ต้น โอกาสคุยกันเลยน้อยลงไปอีก”

คุณพ่อของ ดร. ชุมพล ชื่อ วันชัย ครุฑแก้ว เป็นข้าราชการครูบำนาญ หลังเกษียณอายุราชการก็ใช้ชีวิตอยู่บ้าน ดูแลสวนมานานเป็นสิบปี

เพิ่งเมื่อ ๒ ปีมานี้ที่คันดินรอบบ่อปลากลายเป็นสนามซ้อมวิ่งมาราธอนของชายชราอายุ ๗๖

ดร. ชุมพลถ่ายทอดว่า ระหว่างที่ได้ทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น โทร.กลับบ้านครั้งใดก็จะคุยกับแม่เป็นหลัก แม่เคยเล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า “พ่อที่ปรกติเป็นคนนอนหัวค่ำจะมาคอยดูข่าวพยากรณ์อากาศต่างประเทศทุกวัน เพื่อจะดูว่าที่ญี่ปุ่นหนาวไหม” นึกถึงคำพูดนี้ทีไรน้ำตาไหลทุกที

ผ่าน ๗ ปีที่ญี่ปุ่น หนุ่มนักเรียนนอกเดินทางกลับเมืองไทย และเข้าทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เนคเทค  เขาเริ่มวิ่งในงานกีฬาภายในองค์กร รู้สึกชอบการวิ่งจึงเริ่มซ้อมเพื่อลงแข่งมินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอนตามลำดับ

การวิ่งมาราธอนเหมือนมีมนต์เสน่ห์อะไรบางอย่าง เสกเป่าให้ผู้เข้าร่วมอยากเอาชนะในระยะทางที่มากขึ้น

แน่นอนทุกสิ่งนั้นอยู่ในสายตาพ่อผู้ชรา

ครูวันชัยบอกว่า เห็นดอกเตอร์วิ่งแล้วอะไร ๆ ก็ดี ทั้งหน้าที่การงาน สุขภาพกาย อารมณ์

ปลายปี ๒๕๕๔ ใกล้งานวิ่งกลุ่ม ปตท. มาราธอน อดีตครูประชาบาลซุ่มซ้อมอยู่บนคันดินริมบ่อปลา ขณะที่ดอกเตอร์จากเนคเทคกลายเป็นโค้ชวิ่งส่วนตัวให้พ่อ  ดร. ชุมพลบอกว่า “เรื่องวิ่งพ่อเชื่อผม ว่าจะต้องซ้อมวิ่งอย่างไร ใส่รองเท้าแบบไหน  แต่ผมก็ไม่ได้แนะนำอะไรมาก แค่บอกว่าพ่ออย่าซ้อมหนักติดกัน ๒ วัน ให้ร่างกายพักฟื้นบ้างจะยิ่งแข็งแรง”

งานวิ่งที่สวนสมุนไพร จ.ระยอง เดินทางมาถึง  ตลอดระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ดร. ชุมพลวิ่งเคียงไปกับพ่อ  ก้าวต่อก้าวของสองพ่อลูกช่วยกันเผาผลาญระยะทางที่เหลือจนถึงเส้นชัยในเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง

ผ่านไปอีกหนึ่งก้าวของลูกชายที่ผ่านสนามวิ่งมาแล้วอย่างโชกโชน  แต่สำหรับพ่อที่มีอายุถึง ๗๔ ปี การวิ่งครั้งนี้พิสูจน์ศักยภาพบางอย่างของมนุษย์

“เพื่อนดูสถิติแล้วสงสัย ทำไมมึงวิ่งช้า ผมตอบไปว่าผมวิ่งกับพ่อ  การวิ่งช้า ๆ สำหรับนักวิ่งบางคนอาจเป็นเรื่องไม่ถนัดแถมยังต้องช้าให้เท่ากับคนอื่นด้วย แต่สำหรับผมถือว่านี่เป็นการซ้อมที่ดีมาก  นับแต่นั้นมาถ้ามีโอกาสผมจะพาพ่อไป  ทุกครั้งที่พ่อวิ่งผมจะวิ่งไปกับท่าน  ผมรู้หมดว่าพ่อชอบวิ่งแบบไหน คอยสังเกตดูอาการต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเหนื่อยล้า

“สำหรับผมการวิ่งให้ทุกอย่าง กลายเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต  การวิ่งทำให้ผมกลับมาสนิทกับพ่ออีกครั้ง”

 

๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔, อ่าวดงตาลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน

วิ่งเพื่อความเป็นเลิศ ?

ผมติดตามอ่านบล็อกของนักวิ่งหญิงคนหนึ่ง สะดุดในมุมชีวิตของนักศึกษาปริญญาเอกและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์

องค์อร รัตนนาถถาวร เริ่มวิ่งอย่างจริงจังมานาน ๓ ปี  เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อการเรียนมีอุปสรรคปัญหา หนังสือฮาวทูเล่มหนึ่งบอกว่า หากอยากพบชีวิตใหม่ให้เริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย

เธอเลือกวิธีที่ง่าย คือลงจากคอนโดฯ ไปวิ่งวันละครึ่งชั่วโมงที่ยิมข้างล่าง  เธอเล่าว่า “วิ่งแล้วโล่งโปร่ง กลับมาทำงานต่อได้”

การวิ่งติดต่อกัน ๓๐-๔๐ นาทีช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา  สารแห่งความสุขนี้ทำให้เธออยากจะวิ่งต่อ จนต้องเพิ่มเวลาจากครึ่งชั่วโมงเป็น ๔๐ นาที ๕๐ นาที จนถึง ๑ ชั่วโมง

เมื่อวิ่งติดต่อกันถึง ๑ ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก เธอก็หันมาวิ่งเพิ่มความเร็วในเวลาเท่าเดิม

จากซ้อมวิ่งคนเดียวเพียงลำพัง ก็ตัดสินใจก้าวออกจากห้องยิมฟิตเนสอันเย็นฉ่ำมาร่วมรายการวิ่งมินิมาราธอน  ครั้งแรกทำเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๑๐ นาที  เวลาระดับนี้ภาษานักวิ่งเรียกว่าเพส (pace) ๘ คือทำความเร็วเฉลี่ย ๗ นาทีต่อ ๑ กิโลเมตร

เธอเล่าว่า “วิ่งสนามจริงเหนื่อยกว่าวิ่งบนลู่  แต่แทบทุกคนจะทำเวลาได้ดีขึ้น เพราะบรรยากาศในสนามพาเราไป  ที่นี่เรามีเพื่อนวิ่ง มีคู่แข่งขัน วิ่งแล้วเหนื่อยก็ยังเกาะกลุ่มกันไปได้”

นักวิ่งเมื่อได้สัมผัสบรรยากาศงานวิ่งมาราธอนจะรู้สึกติดใจ  พลังจากการได้พบปะผู้คนหัวใจเดียวกันทำให้มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก  การวิ่งเป็นกีฬาที่ผู้ร่วมแข่งขันคนอื่น ๆ ไม่ใช่คู่ต่อสู้ แต่เป็นเพื่อนเป็นสหาย  ทุกคนมีคู่ต่อสู้คนเดียวกัน คือระยะทางไกลที่ต้องพยายามเอาชนะฝ่าฟันไปให้ได้

ที่งานวิ่งมาราธอนทุกคนจึงส่งยิ้มให้แก่กัน ยิ้มประเภทที่รู้ว่าคุณเจ็บฉันก็เจ็บ พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอยู่

มนต์ขลังของการวิ่งยังทำให้ทุกคนอยากลงสนามในระยะทางที่มากขึ้น  เมื่อผ่านมินิฯ แล้วก็อยากพิชิตฮาล์ฟฯ ผ่านฮาล์ฟฯ แล้วก็ขอลองมาราธอน

คุณองค์อรเล่าว่า “ที่งานกรุงเทพมาราธอน ทุกคนต้องวิ่งบนสะพานพระราม ๘  บนนั้นนักวิ่งทุกคนจะได้วิ่งร่วมเส้นทางเดียวกัน แต่เมื่อลงจากสะพานถึงแยกวิสุทธิกษัตริย์ พวกมินิฯ จะเลี้ยวไปทางขวา ฮาล์ฟฯ กับมาราธอนเลี้ยวมาทางซ้าย  จังหวะนั้นคุณป้าแก่ ๆ หรือผู้หญิงที่วิ่งเลี้ยวซ้ายเท่เหลือเกินในสายตาเรา รู้สึกว่าเขาเก่งจัง ทำได้ยังไง  เห็นแล้วก็เริ่มตั้งปณิธานว่าในอีก ๑ ปีข้างหน้าเราจะต้องเลี้ยวซ้ายบ้างให้ได้”

นักวิ่งสาวเล่าฉายสายตาแห่งความหวัง ทั้งที่นั่นเป็นเหตุการณ์ในอดีต

ช่วงติดวิ่งทุกคนจะอยากวิ่งทุกวัน อยากลงแข่งทุกสัปดาห์
เฝ้ารอพระอาทิตย์ฉายแสงจ้าเพื่อเริ่มต้นวันใหม่  ตั้งเป้าว่างานวิ่งครั้งต่อไปจะต้องทำเวลาดีขึ้น

หลังผ่านมินิมาราธอนหกครั้ง คุณองค์อรวิ่งได้เพส ๖ เป็นครั้งแรก  การวิ่ง ๑๐ กิโลเมตรในเวลาต่ำกว่า ๑ ชั่วโมงเป็นเป้าหมายขั้นต้นของนักวิ่งสมัครเล่นทั่วไป

ถึงตอนนี้คุณองค์อรติดวิ่งจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว  การวิ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต  ตารางชีวิตเต็มไปด้วยรายละเอียดเรื่องวิ่ง  เบื้องต้นเธอเพิ่มเวลานอนจาก ๖ เป็น ๗ ชั่วโมงเพื่อให้ตื่นขึ้นมาวิ่งได้อย่างมีความสุขสดใส  ให้ความสำคัญกับการกินอาหารครบทั้งสามมื้อ  เมื่อมีเวลาว่างจากงานก็เข้าเว็บบอร์ดติดตามสังคมนักวิ่ง  หลังเลิกงานวิ่งวันละ ๒ ชั่วโมง เสร็จแล้วโอ้เอ้ให้ร่างกายกำซาบเอนดอร์ฟินที่หลั่งออกมา  ก่อนเข้านอนเธออ่านบทความเรื่องวิ่ง อ่านนิตยสารสำหรับนักวิ่ง และเขียนบล็อกเรื่องวิ่งอีก ๒ ชั่วโมง

เป้าหมายต่อไปคือฮาล์ฟมาราธอน เธอป้อนข้อมูลลงโปรแกรม SmartCoach ในเว็บไซต์ Runner’s world ให้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผลตารางซ้อมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนในเวลา ๑๕ สัปดาห์  โปรแกรม SmartCoach จะสร้างแผนการฝึกซ้อมจากศักยภาพดั้งเดิมของแต่ละคน โดยคำนวณจากอายุ และระยะทางสะสมของแต่ละสัปดาห์ที่เคยทำได้

ตารางซ้อมวิ่งที่ได้แนะนำว่าเธอต้องซ้อมวิ่งวันละกี่กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ยเท่าไหร่ เพื่อเพิ่มศักยภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการวิ่งฮาล์ฟมาราธอน  ตลอดสัปดาห์ตารางซ้อมวิ่งจะมีรูปแบบคล้าย “ฟันปลา” คือวิ่งเบาสลับวิ่งหนัก  แล้วบวกเพิ่มระยะทางเข้าไปอีกร้อยละ ๑๐ ของระยะทางเดิม  ตัวอย่างของตารางซ้อมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนของคุณองค์อรออกมาเป็นดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑
——————————————–
พฤหัสบดี    วิ่งเทมโป (tempo) ๘ กิโลเมตร
ศุกร์    วิ่งเบา ๓ กิโลเมตร
อาทิตย์    วิ่งยาว ๑๓ กิโลเมตร
——————————————-
รวม ๒๔ กิโลเมตร

สัปดาห์ที่ ๒
——————————————–
อังคาร    วิ่งเบา ๔ กิโลเมตร
พฤหัสบดี    วิ่งสปีดเวิร์ก (speedwork) ๗ กิโลเมตร
ศุกร์    วิ่งเบา ๓ กิโลเมตร
อาทิตย์    วิ่งยาว ๑๓ กิโลเมตร
——————————————–
รวม ๒๗ กิโลเมตร

เส้นแบ่งระหว่างการวิ่งเพื่อสุขภาพกับการวิ่งแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ หรือพิสูจน์ศักยภาพตัวเองอาจอยู่ตรงนี้  ในการวิ่งเพื่อสุขภาพ การวิ่งเป็นประจำเพียงครั้งละ ๓๐ นาทีก็เพียงพอแล้ว  แต่ก็อย่างที่บอกเมื่อได้ลองวิ่งจนติด คนที่เสพติดการวิ่งแล้วรู้ดีว่าตัวเองจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น

ตามตารางซ้อมวิ่งของคุณองค์อรจะเห็นการ “วิ่งเบา” และ “วิ่งหนัก” ซึ่งการวิ่งหนักมีรูปแบบหลากหลาย ทั้ง “วิ่งยาว” ซึ่งหมายถึงการวิ่งด้วยความเร็วที่พูดคุยได้สบาย แต่ระยะทางไกล “เทมโป” หมายถึงการวิ่งด้วยความเร็วต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ  ระหว่างการวิ่งสามารถครองลมหายใจได้ไม่แตกส่ำ พูดคุยได้เล็กน้อย

และวิ่ง “สปีดเวิร์ก” เป็นการวิ่งหนักที่สุด ใช้วิธี “ลงคอร์ต” ในลู่วิ่งมาตรฐานรอบสนามกีฬา ๔๐๐ เมตร

นักวิ่งจะวิ่งเป็นช่วงซ้ำ ๆ เช่น วิ่งทำความเร็วรอบหนึ่งในระยะทาง ๔๐๐ เมตร แล้ววิ่งเหยาะ ๆ ต่ออีก ๑๐๐ เมตร ทำซ้ำกันอย่างนี้ ๑๐ ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อ ท่วงท่า และประสาทสั่งการเคยชินกับการใช้ความเร็ว ปอด หัวใจ และหลอดเลือด ปรับตัวให้แบกรับความเหนื่อยหอบได้ดีขึ้น

คุณองค์อรชอบคำพูดของ วินซ์ ลอมบาร์ดี (Vince Lombardi) โค้ชอเมริกันฟุตบอลคนนี้บอกว่า “winning is habit” ชัยชนะคืออุปนิสัย

หมายความว่าชัยชนะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วขณะที่คุณพุ่งเข้าสู่เส้นชัย และไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาที่คุณแซงคู่แข่งขัน แต่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดแล้ว

วินซ์บอกว่าให้ระวังความคิดเพราะจะกลายเป็นความเชื่อ ให้ระวังความเชื่อเพราะจะกลายเป็นคำพูด ให้ระวังคำพูดเพราะจะกลายเป็นนิสัย ให้ระวังนิสัยเพราะจะกลายเป็นตัวตน

หากคุณต้องการเป็นผู้ชนะจึงให้เริ่มต้นที่ความคิดก่อนเป็นอันดับแรก

เช่นกันกับการวิ่งระยะไกล ชัยชนะก่อตัวขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เราคิดว่าเย็นนี้จะซ้อมให้ครบระยะตามตารางซ้อม พฤติกรรมของนักวิ่งจะค่อย ๆ เติมเต็มตารางซ้อมวิ่งเข้าไปทีละวัน  สิ่งนี้เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องรอถึงวันแข่ง เพียงเราทุ่มเทซ้อมตามตารางจนสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้นักวิ่งจึงมีความสุขตลอดเวลา ไม่ต้องสนเลยว่าถึงวันงานจะเข้าถึงเส้นชัยในอันดับที่เท่าไหร่

๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ อ่าวดงตาล จังหวัดชลบุรี วันไร้แดด อุณหภูมิเย็นสบาย มีลมทะเลพัดมาให้ความสดชื่นเป็นระยะ

แม้เส้นทางอ่าวดงตาลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทางวิ่งสุดโหดเพราะเต็มไปด้วยเนินเขา บางช่วงยังมีถนนเก่าจนผุ แต่ก็มีทิวทัศน์น่าทึ่งจนได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางวิ่ง “สวยโหด”

ที่นี่คุณองค์อรผ่านฮาล์ฟมาราธอนแรกของตัวเองไปได้ด้วยเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ๑๑ นาที เป็นเวลาที่น่าพอใจ สอดคล้องกับการฝึกซ้อมตามตารางวิ่งอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลา ๑๕ สัปดาห์

เมื่อพิชิตฮาล์ฟแล้วเธอก็วางมาราธอนเป็นเป้าหมายลำดับถัดไป

ช่วงนั้นนักวิ่งสาวได้รับคำแนะนำให้รู้จัก “โค้ช” คืออาจารย์สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักกีฬาวิ่งมาราธอนทีมชาติ  น่าแปลกที่โค้ชไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนต้องวิ่งไกลถึงประเภทมาราธอน ยิ่งนักวิ่งมือใหม่ยิ่งไม่ควรหักโหม  อาจารย์แนะนำให้ค่อย ๆ ฝึกซ้อมอย่างต่ำ ๓ ปี ให้ร่างกายแข็งแรงทนทานรับความเจ็บปวดได้ดีเสียก่อน

“เราวิ่งมาไม่ถึงปี พรรษายังไม่แก่กล้า มารู้ทีหลังว่าท่าวิ่งเราก็ยังไม่ถูกต้อง  ซ้อมหนักก็เจ็บเอ็นข้อเท้า จนเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่  นี่ต้องไม่ใช่ชีวิตของคนวิ่งได้ ๑๐-๒๐ กิโลเมตร”

โค้ชสถาวรบอกว่าการวิ่งคือชีวิต  ไม่ได้เป็นนักวิ่งกันเพียง ๒ หรือ ๔ ชั่วโมงในสนาม  การวิ่งจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราให้กลายเป็นนักวิ่งตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน

คุณองค์อรเริ่มตระหนักว่าการวิ่งไม่ต้องเร่งรีบ แท้จริงเธออยากวิ่งไปตลอดชีวิต วิ่งจนอายุ ๖๐  นี่เพิ่งจะวิ่งมา ๓ ปีเท่านั้น  เธอเล่าว่า “เราจะซ้อมหนักแล้วเจ็บไปเพื่ออะไร  เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้คือตอนเดินลงบันไดแล้วรู้สึกว่านี่คือการลงบันไดของอาม่าแก่ ๆ  ตอนนั้นสภาพแย่มาก เรียกว่านักวิ่งกระดูกยุง  กระย่องกระแย่งลงบันไดเพราะมันตึงมันเจ็บไปหมดทุกส่วน  ใครมาเห็นคงไม่รู้ว่าเราน่ะนักวิ่งฮาล์ฟมาราธอนนะ”

สำหรับมาราธอน แน่นอนนักวิ่งทุกคนอยากก้าวไปถึงจุดนั้น แต่นั่นไม่ใช่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียวของการวิ่ง

คุณองค์อรให้ความเห็นว่า “การวิ่ง ๑๐ กิโลเมตรสนุกตรงที่เราได้เอาชนะความอยากสบายของตัวเอง เพราะการวิ่งระยะนี้เราต้องเหนื่อยหอบตลอดเวลา ส่วนการวิ่ง ๒๑.๑ กิโลเมตรสนุกตรงที่ได้วิ่งกึ่งหอบกึ่งสบาย แต่ต้องประคองความเร็วนี้ให้ได้ตลอดระยะทาง  จากเดิมที่เคยซ้อมแบบทนเจ็บ ถึงเจ็บก็จะไม่หยุดวิ่ง ตอนนี้ปรัชญาการวิ่งคือทำอย่างไรให้วิ่งแล้วไม่บาดเจ็บ เพราะเราตั้งใจจะวิ่งไปอีกนาน  เพราะสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือความสุขจากการวิ่ง”

 

๙ มิถุนายน ๒๕๕๖, ลากูน่า ภูเก็ตมาราธอน
ที่สุดแห่งศักยภาพ

ทุกปีในวันเกิด คุณวันชัย ครุฑแก้ว จะบริจาคเงินให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อกิจกรรมการกุศล  แต่ในปี ๒๕๕๖ ที่อายุจะครบ ๗๖ ปี อดีตครูประชาบาลคนนี้อยากทำอะไรมากกว่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อ ๒ ปีก่อน คุณวันชัยเริ่มต้นวิ่งที่สวนหน้าบ้าน  ด้วยพื้นฐานของการเป็นคนทำงานหนัก นอกเหนือจากงานสอนหนังสือแล้วยังดูแลสวน ขุดบ่อปลา ยกคันดิน สาดโคลน ทำให้ชายชราอายุ ๗๔ ปีลงแข่งขันมินิมาราธอนได้หลังซ้อมวิ่งจริงจังเพียง ๓ เดือน และวิ่งฮาล์ฟมาราธอนสำเร็จในอีก ๑ ปีต่อมา  จากนั้นยังลงแข่งในระยะฮาล์ฟมาราธอนต่อเนื่องอีกมากกว่าหกครั้งในระยะเวลา ๔ เดือน ใกล้ถึงวันเกิดอายุ ๗๖ ปี คุณวันชัยคิดถึงการวิ่งมาราธอน

ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ลูกชาย เล่าให้ฟังว่า “ความจริงในการซ้อมวิ่งเองที่บ้าน พ่อไม่เคยวิ่งได้เกิน ๑๐ กิโลเมตรเลย  แต่กลับทำสำเร็จตามเป้าหมายถึงเส้นชัยทุกครั้งที่ลงแข่งฮาล์ฟมาราธอนระยะ ๒๑.๑ กิโลเมตร  ผมรู้สึกได้เลยว่ากำลังใจจากกลุ่มนักวิ่งในงานวิ่งเป็นแรงเชียร์ที่สำคัญสำหรับพ่อ”

เมื่อคุณวันชัยคิดท้าทายศักยภาพตนเองแม้อายุถึง ๗๖ ปีด้วยการฝึกซ้อมเพื่อลงแข่งมาราธอนเป็นครั้งแรก ดร. ชุมพลจึงติดต่อกับผู้จัดงานลากูน่า ภูเก็ตมาราธอน ขอให้ช่วยจัดเตรียมเหรียญพิเศษหากพ่อวิ่งได้ครบระยะมาราธอนในเวลา ๗.๕ หรือ ๘ ชั่วโมง เหรียญนี้ก็จะได้รับการประมูลเพื่อมอบเงินแก่กิจกรรมการกุศล เป็นกุศโลบายสร้างแรงผลักดันให้พ่อเข้าถึงเส้นชัย

ระหว่างการซ้อมร่วมกันของสองพ่อลูก  พ่อใช้เวลาเกิน ๗ ชั่วโมงทำระยะทางสูงสุดได้ ๓๕ กิโลเมตร จึงยังน่าห่วงสำหรับระยะมาราธอนในสนามแข่งที่มีทางลาดชัน ว่าพ่อจะทำได้สำเร็จหรือไม่

รศ.ดร.กฤษฎา เกิดดี อาจารย์สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มวิ่งประจำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ และพิชิตมาราธอนมาแล้วครั้งหนึ่ง อธิบายความยากลำบากของการวิ่งมาราธอนให้ฟังจากประสบการณ์ของตนว่า “จากที่เคยอยากรู้ว่าการวิ่งมินิมาราธอนนั้นเหนื่อยแค่ไหน  แล้วถ้าเพิ่มเป็นสองเท่าจากมินิมาราธอนขึ้นไปฮาล์ฟ-มาราธอนล่ะจะเหนื่อยเป็นสองเท่าหรือเปล่า  ผมพบว่าการเพิ่มจาก ๑๐ กิโลเมตรเป็น ๒๑.๑ กิโลเมตรนั้นอาจจะเหนื่อยขึ้นเป็นสองเท่า แต่จากฮาล์ฟมาราธอนไปฟูลมาราธอนมันไม่ใช่สองเท่าแล้ว เพราะยิ่งระยะทางมากขึ้นเท่าไหร่มันจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ”

นักวิ่งมาราธอนหลายคนยังเผชิญประสบการณ์โหดร่วมกัน  นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะวิ่งชนกำแพง” ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังกิโลเมตรที่ ๓๕ นักวิ่งจะรู้สึกเหมือนกับว่ามีโซ่โยงเรือเดินสมุทรมาลากขาไว้  อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่า พลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ถูกใช้จนหมดเกลี้ยงแล้ว ไม่ว่าพลังงานจากไกลโคลเจนที่สะสมในตับและกล้ามเนื้อ จนทำให้ร่างกายต้องหันไปพึ่งพลังงานจากน้ำตาลที่มีอยู่จำกัด และต้องสำรองไว้ให้สมองใช้งาน ใช้ไปไม่นานก็ถูกตัดสวิตช์  สุดท้ายก็ต้องเผาผลาญเอาพลังงานจากกล้ามเนื้อ

เมื่อถึงภาวะวิ่งชนกำแพง นักวิ่งมาราธอนจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง วาดขาตุปัดตุเป๋ สีหน้าเหยเกเหมือนจะเป็นลมหมดสติ

ภาวะวิ่งชนกำแพงเป็นสิ่งที่นักวิ่งมาราธอนหวาดกลัว เช่นเดียวกับการเผชิญกับ “ปีศาจกิโลเมตรที่ ๓๕” สภาวการณ์ระหว่างการแข่งขันที่นักวิ่งจะรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องตัดสินใจ  เบื้องลึกของจิตใจพร่ำถามว่าต้องการไปต่อจริงหรือ เรามาทำอะไรอยู่ที่นี่

๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ ลากูน่า ภูเก็ตมาราธอน ลมทะเลพัดรวยรื่น

สองพ่อลูกวิ่งขนาบเคียงคู่กันเหมือนดังเช่นการวิ่งทุกครั้งที่ผ่านมา

ผ่านครึ่งระยะทางจนมาถึงกิโลเมตรที่ ๓๒ ร่างกายพ่อโหมหนักจนต้องนั่งพักเพราะเวียนหัว ก่อนจะอาเจียนอาหารทั้งหมดที่กินก่อนหน้านั้น

ถึงกิโลเมตรที่ ๓๔ ตะคริวเข้ากัดกินแข้งขาจนต้องเดินเขยกอยู่ครึ่งชั่วโมง ลูกต้องนวดขาให้และพร่ำถามว่าพ่อจะไปต่อไหวหรือเปล่า อยากขอขึ้นรถพยาบาลหรือไม่  พ่อตอบปฏิเสธแล้วฝืนวิ่งต่อไป ไม่ยอมขึ้นรถ ในที่สุดตะคริวก็หาย

กิโลเมตรที่ ๓๕-๔๒ บังเกิดสิ่งที่ไม่เคยประสบมาก่อน ดร.ชุมพลเล่าว่า “พ่อเหมือนจะหลับตาวิ่ง เหมือนหมดสติแต่ว่ายังวิ่งอยู่  รู้สึกกังวลมาก แต่พ่อยังยืนยันจะวิ่งต่อ  ช่วงนั้นผมต้องชวนคุยไปตลอดทาง คุยเรื่องไร้สาระ คอยถามนั่นถามนี่ให้พ่อพูด เช็กตลอดว่าพ่อยังมีสติดีรึเปล่า”

ผ่านกิโลเมตรที่ ๔๒ เข้าสู่ช่วง ๑๙๕ เมตรสุดท้าย พละกำลังกลับคืนทั้งสองคน  คุณวันชัยวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยรอยยิ้ม
อย่างมีความสุขท่ามกลางกำลังใจจากกองเชียร์  ทำเวลาในการวิ่งมาราธอนครั้งนี้เกือบ ๘ ชั่วโมง

การยิ้มอย่างมีความสุขแม้เข้าสู่เส้นชัยเป็นคนสุดท้ายคือสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของการวิ่งมาราธอน  หรือแม้จะตอบคำถามใครต่อใครไม่ได้เลยว่าเข้าเส้นชัยเป็นคนที่เท่าไหร่  หรือแม้รู้ว่าเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ ๘๐๐ กว่า  นักวิ่งมาราธอนก็ยังมีความสุข เพราะนี่คือกีฬาแห่งชัยชนะ  แถบแพรปลายทางกั้นขวางรอนักวิ่งทุกคน  ไม่ว่าเข้าคนแรกหรือคนสุดท้าย ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค  ได้สัมผัสถึงความเป็นผู้ชนะทั้งสิ้น  แม้เข้าอันดับท้ายสุดก็ปลื้มปีติไม่ต่างจากผู้เข้าเส้นชัยอันดับแรก

 

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ บึงบอระเพ็ดมาราธอน
เริ่มใหม่

เรื่องที่ดูว่าไม่ได้สลักสำคัญอย่างการรอคอยพระอาทิตย์ขึ้นเลื่อนสลับผ่านหมู่ก้อนเมฆ กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมเข้าเสียแล้ว

ความพึงพอใจยังบังเกิดเมื่อรู้ว่าขณะที่เรากำลังอาบน้ำด้วยเหงื่อ คนอื่นไม่ได้ออกมาวิ่งข้างนอกอย่างเรา

คนที่ไม่ได้วิ่งไม่รู้หรอกว่าการวิ่งนั้นสนุกอย่างไร  คนไม่วิ่งไม่มีทางเข้าใจว่าระหว่างลงคอร์ตวิ่งรอบสนามกีฬาซ้อมเพื่อเพิ่มความเร็ว ถึงช่วงเข้าโค้งทุกครั้งมันสนุกเป็นพิเศษ เพราะจะมีแรงเหวี่ยงลึกลับมาคอยฉุดให้เราพุ่งผ่านหัวโค้งนั้นไปได้

มัวริซ กรีน (Maurice Greene) อดีตมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก เจ้าของสถิติโลกวิ่ง ๑๐๐ เมตร ในเวลา ๙.๗๙ วินาทีเคยบอกไว้ว่า ทุกเช้าในแอฟริกาละมั่งจะตื่นขึ้น มันรู้ว่าจะต้องเร็วกว่าสิงโต ไม่เช่นนั้นจะอยู่รอดไม่ได้  เช่นเดียวกันทุกเช้าสิงโตจะตื่นขึ้น มันรู้ว่าจะต้องเร็วกว่าละมั่งตัวที่ช้าที่สุด ไม่เช่นนั้นจะอดตาย  ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นละมั่งหรือสิงโต เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนขึ้นเราควรจะเคลื่อนไหว

กลางเดือนกรกฎาคม งานวิ่งภูธรบึงบอระเพ็ดมาราธอน นครสวรรค์ ผมยืนปะปนอยู่กับกลุ่มนักวิ่งริมบึงใหญ่ บนอกเสื้อคือแผ่นป้ายบอกช่วงอายุ ลำดับที่แข่งขัน และสัญลักษณ์แทนประเภทฮาล์ฟมาราธอน ๒๑.๑ กิโลเมตร

เพิ่งตี ๔ ตี ๕ พระอาทิตย์ยังไม่พ้นเส้นขอบฟ้า สิ้นเสียงสัญญาณปล่อยตัวเหมือนฝูงผึ้งกรูออกจากรัง

เหล่านักวิ่งพุ่งไปข้างหน้าด้วยกัน แยกย้ายกัน และรู้ว่าจะกลับมาพบกันที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ในหมู่คนนับร้อยนับพัน บางคนวิ่งเพื่อสุขภาพ บางคนวิ่งเพื่อตามหาจิตวิญญาณบางอย่าง บางคนวิ่งเพื่อลบเลือนความทรงจำของชีวิต ขณะที่บางคนตามเพื่อนมาวิ่ง ไม่ได้คิดอะไร

บางคนเล่าว่าเริ่มวิ่งโดยไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันจะดีกับเรา เพียงแต่วิ่งเพราะเรารู้สึกดีกับมัน

บางคนวิ่งเพื่อล่ารางวัล งานนี้ต้องได้อะไรติดมือ

ในบรรดานักวิ่งที่มีวัตถุประสงค์หลากหลาย ผมอยู่ตรงกลางของกลุ่มคนเหล่านี้

ในวงการนักวิ่งมาราธอน มีคำกล่าวปลุกปลอบว่าเหตุที่คนทั่วไปวิ่งมาราธอนไม่ได้ มิใช่เพราะเขาทำไม่ได้ แต่เพราะเขาไม่เคยเชื่อว่าตัวเองทำได้ต่างหาก

ในหมู่นักวิ่งหัวใจเดียวกัน เราจะยิ้มให้กัน ยิ้มประเภทที่คุณเจ็บฉันเจ็บ

ท้าทายตัวเองด้วยการออกมาวิ่ง และชวนคนที่คุณรักออกมาวิ่งด้วย

เอกสารประกอบการเขียน
กฤษฎา บานชื่น. คู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน, แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๑.
คามิน คมนีย์. เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.
อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม. วิ่งสู่ชีวิตใหม่. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน, แก้ไขปรับปรุงและพิมพ์ซ้ำครั้งที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๕๔๓.
Murakami, Haruki. What I talk about when I talk about running (เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง นพดล เวชสวัสดิ์ แปล). กรุงเทพฯ : กำมะหยี่, ๒๕๕๒.

ขอขอบคุณ
คุณองค์อร รัตนนาถถาวร, ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว, อาจารย์สถาวร
จันทร์ผ่องศรี, คุณทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์, รศ.ดร.กฤษฎา เกิดดี, คุณรักชนก
ไชยรัตน์, คุณสุเทพ รุ่งโรจน์กิตติกุล ชมรมบางขุนเทียน, คุณกฤช เหลือลมัย
เฟซบุ๊ก “เรื่องวิ่ง เรื่องกล้วย”
เฟซบุ๊ก “บันทึกสองเท้า”
oorrunningblog.blogspot.com