สุเจน กรรพฤทธิ์ รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง     ถ่ายภาพ

“Siamese King’s Tomb to be Destroyed”
(สุสานกษัตริย์สยามกำลังจะถูกทำลาย)

www.irrawaddi.org
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕

นับตั้งแต่กลางปี ๒๕๕๕ เมื่อนิตยสาร IRRAWADDI สื่อพม่าพลัดถิ่นซึ่งมีฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ รายงานข่าวโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่นอกเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งต้องรื้อสุสานเก่าชื่อ “ลินซินกอน” (Lin Zin Kon) เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า หลังพม่าเปิดประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยว  เรื่องนี้ก็ตกเป็นข่าวในสื่อไทยเป็นระยะ

สุสานแห่งนี้คงโดนรื้อไปแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะ “ลินซินกอน” (แปลเป็นไทยว่า “โคกล้านช้าง”) เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่มัคคุเทศก์ที่นำนักท่องเที่ยวไทยไปเยี่ยมเยือนอดีตเมืองหลวงเก่าพม่า  มีคำเล่าลือในหมู่คนท้องถิ่นมานานแล้วว่าที่นี่มีสถูปองค์หนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์รองสุดท้าย  มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (แต่งในปี ๒๓๗๒ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ๖๒ ปี) ระบุว่าพระองค์ถูกนำตัวมายังอังวะพร้อมเชลยชาวอยุธยา ก่อน “สิ้นพระชนม์ในสมณเพศที่กรุงอังวะ”

ดังนั้นสถูปที่สุสานลินซินกอนจึงเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไทยไม่ควรพลาด

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนไปดูหนังสือพิมพ์รายวันไทยในปี ๒๕๓๘ จะพบว่ากรณีนี้เป็นข่าวใหญ่พอสมควร ทั้งหมดเริ่มจากบทความ “สุสานกษัตริย์ไทย ?” (A Thai King’s Tomb ?) ของ ดร. ทินเมืองจี (Dr. Tin Maung Kyi) ในนิตยสาร Today ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ ในบทความนำเสนอ “ภาพวาดกษัตริย์สยาม” จาก British Commonwealth Library โดยระบุว่าน่าจะเป็น “พระเจ้าอุทุมพร” และพูดถึงสถูปแห่งหนึ่งในสุสานลินซินกอนที่คาดว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์พร้อมภาพวาดองค์สถูป

เรื่องนี้ถูกนำมาขยายผลโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยท่านหนึ่ง มีการส่งเรื่องไปยังกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ครั้งนั้นกรมศิลปากรดำเนินการส่งทีมนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ไปสำรวจสถานที่ ก่อนเรื่องจะเงียบหายไปโดยไม่มีบทสรุปให้แก่สาธารณชน

เจ็ดปีต่อมา (๒๕๔๕) อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากร ซึ่งเมื่อปี ๒๕๓๘ เคยรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรและทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง เขียนบทความเรื่อง “สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรที่สหภาพพม่า” ลงนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ โดย “วิเคราะห์” และ “วิพากษ์” หลักฐานที่ ดร. ทินเมืองจี เสนอในบทความ “สุสานกษัตริย์ไทย” ว่า

“มีที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่น ๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องขึ้นมาใหม่ โดยมิได้เจาะลึกเข้าสู่ส่วนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริง ๆ  เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน การอ้างอิงเรื่องที่มาจึงมีลักษณะคลุมเครือ ซ่อนเร้นปิดบังเป็นบางครั้ง มีการอ้างเอกสารหลายเรื่องทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น และบางเรื่องก็น่าจะรู้จักแต่ชื่อเอกสาร โดยมิได้ทราบเนื้อหาภายในเอกสารนั้นอย่างแท้จริง”

อาจารย์พิเศษวิเคราะห์ลักษณะสถูปที่สุสานลินซินกอนว่า “เป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย” ก่อนสรุปว่าการค้นพบดังกล่าว “ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอ”

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามในใจของผู้ที่ต้องการพิสูจน์อยู่ตลอดมา

สถูปที่สุสานลินซินกอนกลายเป็นข่าวอีกครั้งในปี ๒๕๕๕ เมื่อมีแนวโน้มว่าสถูปกำลังจะถูกรื้อ

ช่วงต้นปี ๒๕๕๖ ชาวไทยผู้สนใจเรื่องนี้กลุ่มหนึ่งจึงร่วมกันหาทางพิสูจน์  มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองมัณฑะเลย์ จัดทำโครงการ “Joint development of Thai government and Myanmar government for fact finding Archaeological of the stupa believed to be that of King Udumbara (Dok Dua)” อันถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า โดยทีมงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการและนักอนุรักษ์ ทีมงานจากสมาคมสถาปนิกสยาม และ มิคกี้ ฮาร์ท (Myint Hsan Heart) นักวิชาการอิสระชาวพม่า ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการติดต่อประสานงาน หลังเกาะติดเรื่องนี้มานานนับทศวรรษ

การขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบว่าสถูปที่เคยเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรนั้น ที่จริงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเจดีย์ประธานขนาดใหญ่องค์หนึ่ง  การขุดค้นยังพบว่าหนึ่งในเจดีย์รายรอบเจดีย์ประธานนั้นบรรจุโบราณวัตถุที่น่าสนใจไว้ อาทิ ภาชนะคล้ายที่บรรจุอัฐิประดับกระจกสีวางบนพานแว่นฟ้า อัฐิมนุษย์ห่อไว้ในผ้าที่คาดว่าเป็นจีวรพระสงฆ์  ชิ้นส่วนที่คาดว่าเป็นรัดประคด (เข็มขัดพระสงฆ์) เป็นต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีเหตุการณ์ “กรุแตก” ที่วัดปากป่า (Pak Pa) วัดที่เชื่อกันว่าพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรเคยจำพรรษาในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ  มีการค้นพบพระพุทธรูป ๖๗ องค์ ผอบบรรจุพระหยกและฟันมนุษย์ซึ่งคาดว่าน่าจะนำมาจากบริเวณที่มีการขุดค้นดังกล่าว  มิคกี้ ฮาร์ท ระบุว่าจากหลักฐานเหล่านี้ทำให้เขาเชื่อมั่นมากขึ้นว่านี่คือการค้นพบพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบและมีโบราณวัตถุใหม่ ๆ ให้ศึกษา อาจารย์พิเศษยังคงยืนยันว่าไม่มีหลักฐานทางวิชาการมากพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร

ไม่ว่าจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้เป็นที่สนใจของสังคมไทยพอสมควร  ด้วยคนไทยต่างเคยเรียนและจดจำ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” เรื่อง “เสียกรุงครั้งที่ ๒” ในปี ๒๓๑๐ ได้เป็นอย่างดี  ท่ามกลางกระแส “อาเซียนฟีเวอร์”  จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราจะฉวยใช้ความตื่นตัวจากการค้นพบครั้งนี้มาแปรเป็น “โอกาส” เพื่อทำให้คนไทยสนุกกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในฐานะ “วิทยาศาสตร์สังคม” อันหมายถึงการค้นหาความจริงในอดีต  ด้วยหลักฐานที่ค้นพบและการวิเคราะห์ด้วยหลักวิชาการ

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราจะหาทางออกจากกับดัก “ชาตินิยม” ในแบบเรียน หันมาทบทวนประวัติศาสตร์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ อีกครั้ง ในฐานะ “สงครามระหว่างรัฐโบราณ” ที่ผู้ชนะต้องทำลายเมือง กวาดต้อนผู้คนจากผู้แพ้ตามธรรมเนียม “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” และสงครามดังกล่าวมิใช่สงครามระหว่าง “ประเทศไทย” กับ “ประเทศพม่า” ในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในยุคปัจจุบันแต่อย่างใด

เพื่อที่สังคมไทยจะใช้สร้อยประโยคที่ว่า “เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ได้อย่างไม่ขัดเขินเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

“ภาพวาดกษัตริย์สยาม” เอกสารโบราณจาก British Commonwealth Library ที่ถูกนำมาอ้างเป็นครั้งแรกใปี ๒๕๓๘ โดย ดร.ทินเมืองจี เพื่อสนับสนุนว่าสถูปในบริเวณสุสานลินซินกอนนั้นเป็นของพระเจ้าอุทุมพร โดยมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้ไม่เห็นด้วยว่าเดิมคำบรรยายภาพนั้นไม่น่าจะยาวอย่างที่เห็น

แผนที่เมืองมัณฑะเลย์โบราณของพม่าซึ่งระบุตำแหน่งของสุสานลินซินกอน (มุมซ้ายบน)
วัตถุโบราณที่คาดว่าน่าจะเป็น “พระโกศ” บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร

พระพุทธรูปที่เพิ่งค้นพบจากเหตุการณ์เจดีย์ถล่มในวัดปากป่า (Pak Pa) ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรเคยจำพรรษา มิคกี้ ฮาร์ท สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบอยุธยาและคาดว่ามีพระราชลัญจกรด้านหลังซึ่งเขาถอดความได้ว่า “เจ้าฟ้าอุทุม” ในขณะที่อาจารย์พิเศษมองว่าเป็นการจินตนาการมากกว่า

สนับสนุน

มิคกี้ ฮาร์ท (Myint Hsan Heart)
นักวิชาการอิสระชาวพม่า

>>   มีหลักฐานชั้นต้นสองชิ้นคือ พระราชพงศาวดารฉบับคองบอง และ สมุดพม่า สนับสนุนว่าบริเวณสุสานลินซินกอนเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร

>>   ผลการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าพื้นที่ขุดค้นน่าจะเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร อาทิ พระพุทธรูปแบบอยุธยา ร่องรอยจีวร รัดประคด (เข็มขัดพระสงฆ์) รวมถึงรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

>>   การขุดค้นครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับวงการประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยและพม่า ทั้งยังจะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต่อไปในอนาคต

คนพม่าเรียกพระเจ้าอุทุมพรว่า “อุทุม” เวลาเรียกพระสงฆ์ คนพม่ามักใส่คำนำหน้าว่า ‘อู’ จาก ‘อุทุม’จึงเป็น ‘อูทุม’  โดยรู้จักในฐานะพระผู้ใหญ่  ส่วนนักประวัติศาสตร์พม่ารู้จักในพระนาม ‘เจ้าฟ้าดอกเดื่อ’ ทุกวันนี้ยังปรากฏ ‘วัดมะเดื่อ’ ที่พระองค์เคยจำพรรษา อยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองอังวะ

“เรื่องสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร เดิมประชาชนที่อยู่รอบสุสานลินซินกอนไม่ทราบตำแหน่งที่แน่นอน จนปี ๒๕๓๘ นักประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่งหลังอ่านบทความ ดร. ทินเมืองจี แล้วไปถามหาสุสานพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นนักประวัติศาสตร์ไทยกับพม่าก็ไปด้วยกันจนไปเห็นสถูปองค์หนึ่งคล้ายพระโกศของไทยจึงคิดว่าต้องใช่ หลังจากนั้นสถูปนี้ก็จะถูกบอกว่าเป็นสถูปพระเจ้าอุทุมพร

“ผมเริ่มทำธุรกิจทัวร์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ รู้จักสุสานลินซินกอนจากหลวงพ่อที่วัดตองเลซึ่งดูแลพื้นที่บริเวณนั้น หลวงพ่อบอกว่าที่นั่นเป็นสุสานพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมัยท่านยังเป็นเณรก็โดนห้ามไม่ให้เล่นในบริเวณนั้น พอทำทัวร์ผมต้องศึกษาเพิ่ม  แรก ๆ ไม่เชื่อเพราะสถูปอยู่ในพื้นที่รกร้าง ที่ปรากฏน่าจะเป็น ‘เสามณฑล’ แสดงอาณาเขต นอกจากนี้ยังมีการฝังศพทับซ้อนในพื้นที่หลายครั้งซึ่งมีทั้งคนต่างชาติและชาวพม่า ที่ผ่านมาผมพยายามหาคนเข้าไปดายหญ้าบริเวณนั้น อยากทำให้สะอาดเพราะผมมีความเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่าต้องมีอะไรที่นั่น

“เมื่อมีโครงการรื้อสุสาน พอมีคนแจ้งมา ผมจึงพยายามประสานขอขุดค้นโดยติดต่อกระทรวงการต่างประเทศไทยและได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานนักวิชาการพม่าให้มาร่วมงานกัน  อย่างน้อยเป็นการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ เพราะมีหลักฐานสองชิ้นที่พูดถึงเรื่องนี้คือ พระราชพงศาวดารราชวงศ์คองบอง ที่บันทึกกว้าง ๆ ว่าพระเจ้าอุทุมพรสิ้นพระชนม์ในสมณเพศที่เมืองอมรปุระในรัชกาลพระเจ้าปะดุง อีกชิ้นคือ นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท (เอกสารบันทึกราชตำหนัก หรือ สมุดพม่า) เขียนโดยราชเลขาจอว์เทง พระราชนัดดา (หลาน) พระเจ้าปะดุง ปัจจุบันเอกสารชิ้นนี้ถูกเก็บที่ British Commonwealth Library กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และถูกอ้างถึงในบทความที่เขียนในปี ๒๔๓๗ (รัชกาลที่ ๕) โดยมีคำบรรยายบันทึกที่ตั้งสถูปพระเจ้าอุทุมพร แต่บอกว่าคนในรูปคือ ‘พระเจ้าเอกทัศน์’ ซึ่งทำให้ผมไม่แน่ใจ แต่เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องพระเจ้าอุทุมพรแน่  เอกสารนี้ยังบอกว่าพระเจ้าปะดุงจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพยิ่งใหญ่เท่ากับกษัตริย์องค์หนึ่ง ณ สุสานล้านช้าง

“เมื่อมีการขุดค้นเราพบหลักฐานสนับสนุนจำนวนมาก สถูปที่เราเคยสนใจมี ‘ปูรณฆฏะ’ (ลวดลายรูปหม้อน้ำ มีดอกบัวหลวงโผล่พ้นปากหม้อน้ำ เป็นสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา) นั่นหมายถึงสร้างถวายพระพุทธเจ้า มันจึงไม่ใช่ พอขุดบริเวณใกล้เคียงก็พบเจดีย์องค์ใหญ่มีร่องรอยกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเจดีย์รายองค์เล็ก ๆ สี่มุม เจดีย์รายด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขุดพบภาชนะปิดทองประดับกระจกสี มีฝาไม้ วางบนพาน เปิดออกพบผ้าที่น่าจะเป็นจีวรพระสงฆ์ เพราะปรากฏชิ้นส่วนรัดประคดที่ยังไหม้ไฟไม่หมดหลงเหลืออยู่บางส่วนและพบกระดูกในห่อ  นี่น่าจะเป็นพระสงฆ์องค์สำคัญ  ภาชนะน่าจะเป็นพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ  ของเหล่านี้น่าจะพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกับที่ เอกสารบันทึกราชตำหนัก ระบุ  ตอนนี้ผมพยายามหาจารึกให้เจอซึ่งจะเล่าเรื่องเจดีย์อย่างชัดเจน ที่น่าสงสัยคือเราไม่เจอฟันมนุษย์ทั้งที่สมัยนั้นการฌาปนกิจน่าจะใช้ไฟที่ไม่แรงนักซึ่งจะทำให้เหลือกระดูกที่เป็นชิ้นสำคัญจำนวนมาก ซึ่งน่าแปลกว่าไม่มีฟันเหลือ จึงน่าจะมีการแยกออกไปบูชาที่อื่น

“รูปแบบทางศิลปะของเจดีย์และบริเวณที่ขุดค้นก็น่าสนใจ คือสร้างในรูปแบบเดียวกับอัฐิเจดีย์กษัตริย์พม่าสมัยคองบอง อาทิ อัฐิเจดีย์พระเจ้าปะดุง ตรงกลางทำเป็นเจดีย์ถวายพระพุทธเจ้า มีเจดีย์รายสำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ ตอนนี้จากหลักฐานที่พบเหล่านี้น่าจะเป็นพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเจอจารึกย่อม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  ด้วยในประเพณีพม่าเมื่อมีการสร้างเจดีย์จะมีการจารึกเรื่องราวไว้ทุกครั้ง ตอนนี้เราพยายามขุดค้นโดยรอบซึ่งคาดว่าอาจเป็นวัดที่พระองค์จำพรรษาเป็นแห่งสุดท้ายก็เป็นได้

“ในช่วงใกล้เคียงกันยังเกิดกรณีเจดีย์องค์หนึ่งถล่มลงในวัดปากป่า (Pak Pa) ที่ พงศาวดารราชวงศ์คองบอง ระบุว่าพระเจ้าอุทุมพรเคยจำพรรษาสมัยที่ย้ายเมืองหลวงไปกรุงอมระปุระ มีการค้นพบพระพุทธรูปทองคำ
เงิน มรกต ๖๗ องค์ มีรูปแบบทางพุทธศิลป์ไม่ใช่พม่า น่าจะเป็นของไทย พบผอบบรรจุฟันมนุษย์และพระมรกตองค์เล็กไว้ด้วยกัน ที่สำคัญคือที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีสิ่งคล้ายพระราชลัญจกรเป็นตราราชสีห์ไม่มีหัว เมื่อลองถอดลายเส้นพบว่าน่าจะเขียนเป็นภาษาไทยว่า ‘เจ้าฟ้าอุทุมพร’ น่าสนใจว่าตราลักษณะนี้กษัตริย์พม่ามีใช้มาตั้งแต่โบราณแล้ว

“เชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับวงการประวัติศาสตร์โบราณคดี ส่วนคำถามที่ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพม่าหรือไม่ ก็น่าคิดว่าถ้าพม่าเองอยากทำอยู่แล้ว เขาจะมีโครงการรื้อถอนสถูปบริเวณนี้เพื่ออะไร ลงมือพัฒนาพื้นที่เองเลยน่าจะดีกว่า  ผมอยากเสนอให้ผู้ที่ยังมีข้อสงสัยเข้าไปดูและอธิบายหลักฐานที่ค้นพบ เพียงแต่ตอนนี้ขอโอกาสในการอธิบายถึงสิ่งที่เรากำลังทำ  ในระยะยาวเรามีโครงการบูรณะเจดีย์ ทำพื้นที่บริเวณขุดค้น ๑๐ ไร่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ในอนาคตจะทำพิพิธภัณฑ์รวบรวมของที่เกี่ยวข้องกับประเพณีอยุธยา-พม่า  ตั้งมูลนิธิเพื่อศึกษาชุมชนโยเดียรอบสุสาน  ตอนนี้มีผู้ศรัทธาทั้งคนไทยและพม่า บริจาคงบประมาณดำเนินการแล้วราว ๑๐๐ ล้านบาท  โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับความสัมพันธ์ไทย-พม่าในระยะยาวอย่างแน่นอน”

คัดค้าน

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมศิลปากร

>>   หลักฐานที่บ่งชี้ว่าสถูปในสุสานลินซินกอนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรไม่มีความน่าเชื่อถือและขัดแย้งกันเองกับหลักฐานพม่าอื่น ๆ

>>   แนวคิดเรื่องการตามหาสถูปพระบรมอัฐิน่าจะมาจากพระนิพนธ์ เที่ยวเมืองพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ไม่ได้นำมาทั้งหมด และยังถูกเบี่ยงเบนไปในทิศทางอื่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นการ
รับใช้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟูในพม่า

>>   หลักฐานที่ค้นพบใหม่ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าเป็นพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร  เรื่องนี้ควรยุติตั้งแต่ค้นพบว่าสถูปที่สงสัยกันมานานมิใช่ที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ แต่ทีมขุดค้นยังไปขุดเจดีย์องค์อื่นแทนแล้วพยายามยืนยันว่าใช่

ปี ๒๕๓๘ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหงท่านหนึ่งไปเที่ยวพม่า บอกว่าพบเจดีย์พระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร  เรื่องนี้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีการทำหนังสือถึงคุณชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เรื่องก็มาที่กรมศิลปากร  ขณะนั้นผมรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร จึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและเอกสาร อาจารย์ท่านนั้นเปิดเผยว่าได้เค้าเรื่องจากบทความ ดร. ทินเมืองจี ในนิตยสารเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยวชื่อ ทูเดย์ มาทราบภายหลังว่าดอกเตอร์ท่านนี้เป็นนายแพทย์เกษียณจากมหาวิทยาลัยแพทย์เมืองมัณฑะเลย์ ไม่ใช่ดอกเตอร์ทางประวัติศาสตร์

“ในบทความ ดร. ทินเมืองจี มีข้อน่าสงสัยถึงที่มาของหลักฐานที่จะชี้ว่าสถูปหรือบริเวณดังกล่าวเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ มีการอ้างเอกสารโบราณ โดยชิ้นที่เป็นปัญหาคือ สมุดพม่า (Parabike, folded pages) ที่เล่าว่าก่อนสวรรคตพระเจ้าอุทุมพรทรงบรรยายความเศร้าโศก
ช่วงเสียกรุงบันทึกลงใน สมุดพม่า เล่มนี้เป็นภาษามอญ  ต่อมามีเชื้อพระวงศ์ไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม ช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐  หลักฐานนี้คือหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นประวัติศาสตร์อยุธยาจากปากคำของเชลยศึกอยุธยาหลายคนที่ราชสำนักพม่าบันทึกไว้  ความตอนนี้แสดงว่า ดร. ทินเมืองจี มิใช่นักวิชาการที่แท้จริง เพราะความตอนนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มบทโศกให้แก่พระเจ้าอุทุมพร ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการกล่าวถึงแม้แต่น้อยในหนังสือเล่มนี้

“หลักฐานอีกชิ้นที่ยังตรวจสอบไม่ได้คือ ‘ภาพเขียนในสมุดพม่าโบราณ’ เท่าที่อ่านบทความของ ดร. ทินเมืองจี คำบรรยายใต้ภาพไม่ได้ยาวอย่างที่มีการอ้างในปัจจุบัน  จากหนังสืออ้างอิงท้ายบทความทำให้ทราบว่าเขาเอามาจากบทความที่เขียนในปี ๒๔๓๗ (สมัยรัชกาลที่ ๕) วิเคราะห์ภาพบุคคลในฉลองพระองค์กษัตริย์ที่มีคำบรรยายว่า ‘พระเจ้าเอกทัศน์’ ว่าควรเป็นภาพพระเจ้าอุทุมพรมากกว่า  ผมพอวินิจฉัยได้ว่าสมัยนั้นนักประวัติศาสตร์พม่าทราบดีจากพงศาวดารพม่าเองว่าพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จสวรรคตที่กรุงศรีอยุธยา คำบรรยายใต้ภาพนั้นจึงขัดแย้งกับสิ่งที่บันทึกในพงศาวดารพม่า  เพราะมีการระบุชัดเจนว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ในสมณเพศขณะเสด็จสวรรคตที่อังวะ ถ้าใช่ ทำไมยังทรงเครื่องกษัตริย์อยู่ น่าสงสัยว่าภาพนี้ไม่น่าเกี่ยวข้องกับพื้นที่สถูปที่มีการขุดค้นแม้แต่น้อย

“ส่วนหลักฐานที่เป็นคำบอกเล่าของคนในพื้นที่รอบสุสานว่าที่นั่นมีสถูปองค์หนึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ ‘พระเจ้าแผ่นดินนอกราชบัลลังก์’ องค์หนึ่ง ซึ่ง ดร. ทินเมืองจี มีความเห็นว่าหมายถึงพระเจ้าอุทุมพร เพราะสถูปองค์นั้นไม่เหมือนกับสถูปทั่วไปของพม่า น่าจะเป็นศิลปะไทยมากกว่า  ผมได้เคยทำบันทึกชี้แจงว่าเป็นสถูปฝีมือช่างพม่าอย่างชัดเจนไปแล้ว โดยการชี้ให้เห็นรายละเอียดของลวดลายบนสถูปว่าเป็นศิลปะพม่า

“เรื่องนี้ถ้าเราลองไปดูหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ๒๕๓๔ เล่าเรื่องพระองค์เสด็จพม่าเมื่อปี ๒๔๗๙ เพื่อค้นหาสถูปศิลปะไทย อันจะแสดงหลักฐานว่าเป็นสถูปพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร แต่ก็ไม่พบ ซ้ำทรงชี้ว่าต้องไปตามหาที่เมืองสะกาย ฝั่งตรงข้ามเมืองอังวะตามที่มีบันทึกใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แต่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้กลับไม่ถูกอ้างโดย ดร. ทินเมืองจี แต่อย่างใด  การที่เขาไม่ได้อ้างถึง เที่ยวเมืองพม่า ที่น่าจะเป็นต้นความคิดการตามหาสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร ทั้งที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับ ไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ที่เขาอ้างนั้น น่าจะต้องการแสดงว่าตนเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้

“ปี ๒๕๕๕ เรื่องนี้ดังอีกหลังจากทางการของเมืองมัณฑะเลย์มีโครงการจะรื้อสุสาน ที่เขาจะรื้อเพราะไม่เห็นความสำคัญ  คนไทยกลุ่มหนึ่งก็โวยวาย เป็นหัวหน้าสถาปนิก ยกประเด็นจากปี ๒๕๓๘ ขึ้นมาอีกในปี ๒๕๕๖  ผมไม่ทราบว่ามีอะไรเบื้องหลังหรือไม่ แต่เรื่องก็ถูกส่งมากระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรอีก มีการประชุมกันเรื่องนี้ ผมก็เล่าให้ผู้เกี่ยวข้องฟัง แต่ไม่รู้ว่าเขาจะทำอย่างไร ต่อมาก็ปรากฏว่ามีการส่งอาสาสมัครไปขุดค้น มีรายงานออกมา ได้อ่านแล้วก็มีการประชุมอีกครั้ง

“กรณีหลักฐานใหม่ เรื่องนี้ไปไกลมาก จากรายงานการขุดค้นสถูปที่ผมได้อ่าน สถูปที่เชื่อว่าใช่ก็ไม่พบอะไรเลย ซึ่งตามที่ควรเป็นก็คือเรื่องจบได้แล้ว แต่กลับไปขุดเจดีย์รายรอบเจดีย์ประธานใกล้กัน พอพบวัตถุที่หน้าตาคล้ายบาตรพระสงฆ์แต่เปิดฝาไม่ได้ ก็อ้างว่าน่าจะใช่เจดีย์องค์นี้แหละ  จะขอให้กรมศิลปากรตรวจสอบ  ผมก็บอกว่าผู้ขุดค้นไปตกลงกับพม่าเองแล้วจะให้กรมศิลปากรไปได้อย่างไร  การขุดค้นทางโบราณคดีเราต้องรู้ขอบเขตเครื่องมือที่มีอยู่ การขุดค้นมิใช่เครื่องมือที่จะเอาไปพิสูจน์ว่าเป็นกระดูกของใคร  อย่าทำเลย…อายเขา ไม่ใช่เอะอะขุดค้น ๆ  ในรายงานยังบอกว่าเจอกระดูกนอกภาชนะชิ้นนี้ด้วย ก่อนจะบอกว่าเจอในภาชนะ  ผมยังมองว่าถ้าเป็นพระบรมอัฐิจริงก็ต้องอยู่ในเจดีย์องค์ประธาน จะอ้างว่าสร้างแบบกษัตริย์พม่าก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่ใช่กษัตริย์พม่า

“ส่วนหลักฐานที่พบในวัดปากป่า คือพระพุทธรูป ๖๗ องค์ที่อ้างว่าเป็นศิลปะอยุธยานั้น ก็มีข้อคัดค้านคือ จำนวนมากเป็นปางขัดสมาธิเพชรที่อยุธยาไม่นิยมทำ แต่พม่านิยม  ฝีมือที่เห็นก็ไม่ใช่ช่างชั้นครู อาจเป็นศิลปะล้านนา ล้านช้างก็ได้  ส่วนการพบฟันซี่หนึ่งในผอบพร้อมพระพุทธรูปหยกก็ยังยากที่จะบอกว่าเป็นของพระเจ้าอุทุมพร  ส่วนเรื่องฟันที่ว่าไม่เจอในพื้นที่ขุดค้น ในรายงานนั้นก็ระบุว่าพบในพื้นที่ขุดค้น แต่ภายหลังก็บอกว่าพบที่วัดปากป่า ก็น่าแปลก

ส่วนที่มีการถอดลายเส้นจากสิ่งที่เชื่อว่าเป็นตราพระราชลัญจกรบนฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นชื่อ ‘เจ้าฟ้าอุทุมพร’ ผมก็มองว่าไปไกลมาก ถ้าคิดจะโกหกกันจริง ๆ ก็ควรจะรู้ด้วยว่าตัวหนังสือแบบที่อ้างว่าเป็นหลักฐานนั้น สมัยอยุธยามิได้มีลักษณะอย่างที่นำมาแสดง  ในอดีตกษัตริย์อยุธยาไม่ใช้ของแบบนี้  ชื่อกษัตริย์อยุธยาจำนวนมากก็เป็นชื่อที่คนรุ่นเราเรียกโดยได้จากหลักฐานประเภทตำนาน พงศาวดาร ฯลฯ  เราไม่รู้ว่าในยุคนั้นพระนามที่แท้จริงเป็นอย่างไร ชื่ออุทุมพรนี่ก็ได้มาจาก
หลักฐานประเภทตำนาน

“เป็นไปได้ว่าตำนานเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรในตำแหน่งปัจจุบันนั้น ต้นเรื่องคือบทความ ดร. ทินเมืองจี ในปี ๒๕๓๘  นิตยสารที่ตีพิมพ์บทความก็เป็นนิตยสารเพื่อการท่องเที่ยว  ปีต่อมาคือ ๒๕๓๙ เป็นปีท่องเที่ยวพม่า  เรื่องนี้จึงอาจเป็นไปเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว  อัฐิที่เจอล่าสุดจึงอาจเป็นพระบรมอัฐิกษัตริย์ล้านช้าง ล้านนาก็ได้ หรือจะเป็นของคนพื้นเมืองพม่ารุ่นหลังก็ได้ เพราะไม่ได้มีแต่ชาวโยเดียเท่านั้นที่อาศัยอยู่แถบนั้น  ถ้าอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่ามีการขอตัวเชื้อพระวงศ์จากอาณาจักรต่าง ๆ มาไว้ที่ราชสำนักพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง แล้วส่งกลับไปครองราชย์ที่เมืองเดิมเมื่อมีคำขอมา  คำบอกเล่าที่ว่าเป็นสุสานอดีตกษัตริย์จึงยากมาก
ที่จะระบุตัวว่าคือใคร

“ตอนนี้คำบอกเล่าได้เปลี่ยนจาก ‘อดีตกษัตริย์พระองค์หนึ่ง’ กลายเป็น ‘พระเจ้าอุทุมพร’ ไปแล้ว ยิ่งมีปัจจัยของการท่องเที่ยวเข้ามา เรื่องนี้เราจะหาหลักฐานคำบอกเล่าที่บริสุทธิ์ยากแล้ว ไปขอเขาขุด ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ มัณฑะเลย์ ผมก็ให้ขุด แต่เป็นการติดต่อกับทางการท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลางที่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้  ขอนักวิชาการ เขาก็ส่งใครมาไม่รู้สองคนมาดู ๆ แล้วก็ไป เสนอโครงการเข้าไปเขาก็พิจารณา  ผมให้คะแนนความเป็นไปได้
เรื่องนี้น้อยมาก เต็ม ๑ ให้ ๐.๐๐๐๑  ตอนนี้เป็นเรื่องทางธุรกิจแล้ว ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ  เราต้องอ่านข่าวอย่างมีวิจารณญาณ  ถ้าอยากไปเที่ยวผมไม่ค้าน  ถ้ามีเงินที่จะไปได้ ผมเสนอให้ไปดูของดีที่เมืองพุกามหรือที่เที่ยวที่น่าพักผ่อนจริง ๆ ดีกว่า ไปดูของจริงกันเถอะ  หรือถ้าจะศึกษาจริง ๆ ทำเรื่องชุมชนโยเดียแถบนั้นจะดีกว่าหรือไม่”

.

  • ขอขอบคุณ : คุณธีรภาพ โลหิตกุล, คุณอรินทร์ เจียจันทร์พงษ์