ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
|
“แผนการเลิกจากอินเทอร์เน็ตเพื่อหวังจะค้นหานายพอลตัวจริงและสัมผัสกับโลกความเป็นจริง แต่ทั้งพอลและโลกเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตไปแล้ว พูดไม่ได้เลยว่าชีวิตผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อปราศจากอินเทอร์เน็ต แต่มันไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริง” พอล มิลเลอร์บล็อกเกอร์และ บรรณาธิการอาวุโส The Verge.comผู้ทดลองหยุดใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลา ๑ ปี |
เว็บไซต์ Internet World Stats ประมาณว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า ๒,๔๐๐ ล้านคน ส่วนผลสำรวจของบริษัทวิจัย eMarketer ชี้ว่าคนอเมริกันใช้อินเทอร์เน็ตถึง ๙๘ เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ ๓๐ ชั่วโมง ไม่น่าแปลกที่สถิติเช่นนี้จะทำให้มีคนไม่น้อยแสดงความกังวลว่าอินเทอร์เน็ตจะครอบงำกิจกรรมอื่น ๆ ของคนเราจนเกินพอดี
พอล มิลเลอร์ หนุ่มอเมริกันวัย ๒๖ ปี บล็อกเกอร์ชื่อดังและบรรณาธิการอาวุโสของเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยี The Verge (ร่วมเขียนบล็อก This Is My Next ให้แก่ The Verge จนได้รับการยกให้เป็นบล็อกแห่งปี ๒๕๕๔ จากนิตยสาร TIME) ก็เริ่มรู้สึกคล้าย ๆ กันนั้น มิลเลอร์ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเมื่ออายุ ๑๒ ปี เริ่มหารายได้จากอินเทอร์เน็ตในอีก ๒ ปีต่อมา และเปลี่ยนจากงานเด็กส่งหนังสือพิมพ์เป็นคนออกแบบเว็บไซต์ งานในระยะหลังเขาต้องอยู่หน้าจอ เช็กข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา วงจรชีวิตเช่นนี้รบกวนการทำโครงการที่วาดหวังไว้หลายอย่าง เขาจึงประกาศทำการทดลองตั้งแต่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลา ๑ ปี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ตโฟน หรือกิจกรรมใด ๆ ที่ข้องเกี่ยวกับมัน
เกร็ดจากบันทึกของมิลเลอร์มีดังนี้
- เวลาว่างที่มากขึ้น มิลเลอร์มีโอกาสอ่านหนังสือ ฟังหนังสือเสียงที่ตั้งใจไว้ เขียนร่างแรกนิยาย (แม้จะทำได้เพียงครึ่งหนึ่งจากที่ตั้งเป้าไว้ก็ตาม) เข้าอบรมหลักสูตรพิเศษในมหาวิทยาลัย ขี่จักรยาน นอกจากนี้น้ำหนักยังลดโดยไม่ได้พยายามอะไรเลย และมีเวลาพูดคุยกับเพื่อน ทำกิจกรรมอยู่กับครอบครัว
- เรียนรู้บางสิ่งที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต จากเดิมที่เคยกังวลว่าจะเดินทางอย่างไรโดยปราศจาก Google Maps เขาพบว่าเพียงซื้อแผนที่จากร้านมาใช้ก็ได้ การขึ้นเครื่องบินก็ไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต และพบว่าการไม่ต้องไหลตามวัฒนธรรมในอินเทอร์เน็ต แล้วหาไอเดียจากวรรณกรรมเก่า ๆ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้จากในบล็อกใด
- อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เมื่อต้องเขียนงานส่ง มิลเลอร์จะค้นคว้าข้อมูลจากนิตยสารและห้องสมุด พิมพ์ข้อมูลแบบออฟไลน์ใส่ลงทัมป์ไดรฟ์ หรือส่งผ่านทางไปรษณีย์ หากต้องการติดต่อสัมภาษณ์ใคร เขาจะค้นหาหมายเลขจากโทรศัพท์มือถือ หรือให้เพื่อนร่วมงานช่วย เขาพบว่าไม่มีปัญหาในการเขียนงานส่งมากนัก ตกข่าวไปบ้างก็ไม่เป็นไร แม้ว่าแต่ก่อนจะตื่นตัวมากถ้าไม่ทันข่าวสารใหม่ ๆ แบบนาทีต่อนาที
- สุดท้ายก็ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตามยิ่งอยู่ในการทดลองนานมากขึ้น เขาก็พบว่าการมีอินเทอร์เน็ตนั้นดีกว่าไม่มีแน่ ๆ มันกลายเป็นการสื่อสารหลักไปแล้ว เขาตระหนักในวันที่ไม่มีใครโทรศัพท์หาเขาเลยสักคนว่า “ข้อเขียนมากมายดูแคลนแนวคิดผิด ๆ อย่างการมีเพื่อนทางเฟซบุ๊ก แต่ผมกล้าพูดนะว่ามีเพื่อนทางเฟซบุ๊กก็ดีกว่าไม่มีใครเลย” เพราะได้พลาดข่าวสารของเพื่อนสนิทหลายคน ปัญหาการติดเน็ตจึงไม่ใช่ความผิด แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเขาเองต่างหาก
มิลเลอร์จบบทสรุปได้น่าประทับใจ ขณะอยู่รัฐโคโลราโดกับ เคไซอาห์ หลานสาว ๕ ขวบที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร แต่เธอสไกป์กับตายายเป็นประจำ และเข้าใจผิดว่าอาอย่างเขาติดต่อผ่านสไกป์ไม่ได้มาร่วมปีเพราะไม่อยากคุยกับเธอ มิลเลอร์จึงเขียนแผนผังอธิบายความหมายของอินเทอร์เน็ตให้หลานสาวเข้าใจ และบอกว่าอีกไม่นานเขาจะกลับไปใช้งานแล้ว
“เมื่อผมกลับไปต่อเน็ตใหม่ อาจใช้มันได้ไม่เข้าท่า ฆ่าเวลา เวิ่นเว้อ หรือคลิกลิงก์ไม่เป็นสาระ อาจไม่มีเวลาอ่าน ครุ่นคิด หรือเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นหิ้ง…ถึงยังไงก็แล้วแต่ผมก็จะเล่นเน็ต”
|
หลังกลับมาใช้อินเทอร์เน็ตใน ๑ ปีต่อมา
|