ชลธร วงศ์รัศมี : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
“รับผิดชอบชีวิต ผลิตยาคุณภาพ” คือสโลแกนขององค์การเภสัชกรรม แต่ใครจะรู้บ้างว่าหน่วยงานที่ถือหุ้นองค์การเภสัชกรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มคือกระทรวงการคลัง และในอนาคตหน่วยงานที่สูบฉีดยาให้ไหลเวียนไปต่อชีวิตคนไทยทั้งประเทศหน่วยงานนี้ ยังมีสิทธิ์พลิกผันไปสู่การแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงประชาชนเผลอกะพริบตา
แม้จะยังไม่ถึงวันนั้น แต่วันนี้พันธกิจการรับผิดชอบชีวิตและผลิตยาคุณภาพก็แนบชิดกับพันธกิจทางธุรกิจอย่างแยกไม่ออก อย่างน้อยข่าวกรอบเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็สะท้อนความจริงข้อนี้ได้ดี เมื่อองค์การเภสัชกรรมเดินมาถึงจุดตัดครั้งท้าทาย กรณี “ยาโคลพิโดเกรล” หรือ “ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจและสมอง” ซึ่งเป็นยาบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรที่รู้จักกันในชื่อว่า “ยา CL” (compulsory licensing) ใกล้หมดจากคลังยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหลือเพียง ๕ แสนเม็ด เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่คนไข้ได้อีกราว ๒ สัปดาห์
ปัญหาการขาดแคลนยาครั้งนี้ทำให้คำว่า CL ยา คืนสู่ความสนใจของคนไทยอีกครั้ง
ประเทศไทยเคยมีการ CL หรือการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ซึ่งช่วยให้ไทยนำเข้าหรือผลิตยาราคาถูกจาก
แหล่งอื่นได้ จากที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทยาผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเท่านั้น การ CL ครั้งประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกกล่าวขวัญถึงความกล้าของกระทรวงสาธารณสุขไทยเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในปี ๒๕๕๐ ทำให้ยาหลายตัว ทั้งยาโรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ ราคาถูกลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทว่าหลังจากนั้นไทยก็ไม่มีการ CL อีกเลย มีแต่การจ่อคิวรอยกเลิก
ย้อนกลับไปในช่วงที่ นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เขาคือหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่สนองตอบนโยบาย CL ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นขุนพลหลักในการจัดหายาราคาถูก และส่งเสริมการวิจัย-การผลิตยาในประเทศแทนการนำเข้ายาติดสิทธิบัตรที่มีราคาแพง จนกอบกู้ยอดขายยาขององค์การเภสัชกรรมให้สูงขึ้นแตะหมื่นล้านเป็นครั้งแรก นำรายได้เข้ารัฐมากขึ้นปีละเกือบ ๑ พันล้าน และต่อชีวิตให้ผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทยาข้ามชาติยอดขายตกไปเป็นมูลค่าใกล้เคียงกัน
กลางปี ๒๕๕๖ นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมด้วยข้อหาทุจริตในการจัดซื้อยาพาราเซตามอล การฮั้วประมูลงบสร้างโรงงานยา และการ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง” ของนักการเมือง ซึ่งเขาอธิบายเรื่องเหล่านี้ด้วยคำง่าย ๆ น้อยคำ จนเราต้องทวนคำถามซ้ำซึ่งเขาย้ำว่า “ไม่ทุจริตนะชี้แจงง่าย ตอบง่าย ถ้าทุจริตละตอบยาก”
ทว่าองค์การเภสัชกรรมไม่ใช่สนามแรกที่นายแพทย์วิทิตเคยบุกบั่นสร้างผลงานไว้ ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จัก (หรือดังมาก่อน) ในนาม “หมอบ้านแพ้ว” หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่คิดนอกกรอบและกล้าหาญริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ อย่างถึงลูกถึงคน และหากย้อนทวนถึงเมื่อครั้งเริ่มออกเดินทางในวิชาชีพแพทย์ เขาคือ “ลูกไม้” ที่กระจัดพลัดพรายจากไม้ใหญ่ “ชมรมแพทย์ชนบท” เป็นหมอบ้านนอกที่วิสัยทัศน์หอบเขาขึ้นที่สูงก่อนกระแสแห่งความผันผวนจะพัดเขาคืนสู่สามัญ
สารคดี ฉบับนี้จะพาไปคุยกับ “หมอบ้านนอก” ที่เข้าใจเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับธุรกิจได้ดีเหลือเกิน
คุณหมอคิดว่า “ยา” มีสถานะเหมือนสินค้าบริโภคทั่วไปไหม
พิเศษกว่า เรื่องยาเป็นสองด้านที่ค่อนข้างจะตอบยากนะครับ มันมีเรื่องธุรกิจ เรื่องชีวิต และเรื่องจริยธรรมด้วย ผมเชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์กับสิทธิของการได้รับการรักษา แม้ว่าในโลกนี้มีความเหลื่อมล้ำกันเยอะ ทุนนิยมมีวิธีคิดเรื่องยาในแบบธุรกิจ สังคมนิยมก็มองเรื่องสิทธิ ผมว่าเรื่องยาเป็นพื้นฐานปัจจัย ๔ ที่มนุษย์ทุกคนควรจะต้องเข้าถึงได้ ยกเว้นประเทศนั้นไม่มีกฎ ไม่มีอะไรคุ้มครองความเป็นมนุษย์
การขายยาขององค์การเภสัชกรรมมุ่งเป้าเรื่องกำไรมากน้อยแค่ไหน
จริง ๆ เป้าหลักคือผลิตยาให้เพียงพอตอบสนองต่อโรงพยาบาลของรัฐเป็นหลักก่อน แล้วก็มุ่งเป้าไปในเรื่องการเข้าถึงยาของคนไข้กลุ่มต่าง ๆ กับราคาที่สมเหตุสมผล สุดท้ายเรื่องกำไรก็ยังเป็นสิ่งที่เราต้องดูแลเพราะว่ากระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจน กระทรวงการคลังถือหุ้นองค์การเภสัชกรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขามีส่วนชี้ว่าเราต้องได้กำไรนะ ปีนี้น่าจะแค่นั้น ปีนั้นน่าจะแค่นี้ ยอดขายแค่นั้นแค่นี้ ต้องวางเป้าเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ก็ต้อง
รับผิดชอบสังคมเยอะ ๆ ไปด้วยกันสองด้าน
ตอนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม คุณหมอมีหลักในการทำงานอย่างไรบ้าง
ผมก็คิดว่าองค์การเภสัชกรรมเป็นธุรกิจของรัฐ ผมมองเรื่องลูกค้าว่าทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด แต่เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมผลิตยาจำนวนมาก แล้วระบบต่าง ๆ ค่อนข้างจะมีอายุมายาวนาน เพราะฉะนั้นช่วงแรก ๆ การตอบสนองความพึงพอใจลูกค้าค่อนข้างมีขีดจำกัดอยู่ แต่เราก็ทำให้ดีที่สุดนะครับ งานหนักเอาเบาสู้ทุกอย่าง ยอดขายเราถึงได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก ๕ พันล้านบาทขึ้นไป ๑-๑.๒ หมื่นล้านบาทในช่วง ๓-๔ ปี
ลูกค้าขององค์การเภสัชกรรมคือใคร
กลุ่มที่ซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมมาก ๆ คือโรงพยาบาลรัฐ เพื่อนำยาไปจ่ายให้คนไข้ที่ใช้หลักประกันสุขภาพ เช่น กลุ่มคนไข้ที่ใช้บัตรทองหรือประกันสังคม เนื่องจากระบบนี้จะจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายหัว หัวละราว ๆ ๑,๐๐๐ กว่าบาท เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลต้องเลือกยาคุณภาพดี แต่ราคาต้องประหยัดที่สุด แต่ในโรงพยาบาลของรัฐก็ยังมีกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินเอง เขาก็มีสิทธิ์ขอใช้ยาที่แพงขึ้น ก็คละกัน ส่วนอีกประเภทคือข้าราชการที่กรมบัญชีกลางดูแลอยู่ ณ ขณะนี้เริ่มเข้มงวดกับบัญชียามากขึ้น นี่เป็นโรงพยาบาลรัฐครับ แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนคืออิสระตามนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรมขายยาให้ทุกกลุ่ม ถือว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่เมื่อเทียบกับบริษัทหรือแหล่งยาในประเทศด้วยกัน
จำเป็นไหมที่โรงพยาบาลรัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น
กฎไม่ได้บังคับจริงจังครับ เขามีสิทธิ์เลือก แต่หลักเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐกำหนดไว้ว่าต้องเลือกยาคุณภาพดีราคาถูก ก็ต้องแข่งขันกัน แต่โรงพยาบาลรัฐอาจจะเห็นว่า รัฐซื้อรัฐมีความสบายใจกว่าด้วย เขาเลยเลือกเรา
ทุกวันนี้องค์การเภสัชกรรมขายยาที่ผลิตเองในประเทศหรือต่างประเทศมากกว่ากัน
ถ้านับจำนวนเม็ด จำนวนโดส ยาในประเทศมากกว่าแน่นอน แต่ถ้านับปริมาณ นับมูลค่า ต่างประเทศมากกว่า เพราะของเขาเม็ดหนึ่ง ๆ แพงมาก เม็ดเดียวเป็นร้อยเป็นพัน ไม่กี่เม็ดก็เป็นร้อยล้านพันล้านแล้ว ในประเทศเราพาราเซตามอลเม็ดละ ๑๐ กว่าสตางค์ ใช้กันไม่รู้กี่ร้อยล้านเม็ด
ยอดขายขององค์การเภสัชกรรมเพิ่มขึ้นจาก ๕ พันล้านเป็น ๑-๑.๒ หมื่นล้านบาทได้อย่างไร ในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีที่คุณหมอเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
รายได้หลัก ๆ มาจากการที่เราขายยาได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยาที่เคยติดสิทธิบัตรมาก่อน แล้วองค์การเภสัชกรรมประกาศ CL ยุติการผูกขาด และนำยาชื่อสามัญที่ราคาถูกกว่าเข้ามาแข่งขัน พอยาราคาถูกลง สปสช. และโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็มีกำลังซื้อยาของเราไปใส่ไว้ในบัญชียาพื้นฐานมากขึ้น จากเดิมที่ยาเหล่านี้ราคาแพงมากจนกองทุนของหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ไม่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ยังมียอดซื้อจากกลุ่มผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคโลหิตจางทาลัสซีเมียซึ่งต้องการยาที่ดีและคุ้มครองโดยหลักประกันสุขภาพ
ความแตกต่างของยาติดสิทธิบัตรกับยาชื่อสามัญคืออะไร
ยาที่ติดสิทธิบัตรคือยาวิจัยใหม่ ๆ ซึ่งเพิ่งออกมาสู่ท้องตลาดครับ เรียกได้อีกอย่างว่ายาต้นแบบ (original) เรามีกฎหมายคุ้มครองการผลิตยาประเภทนี้ไม่ให้ใครทำลอกเลียนหรือเลียนแบบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ๒๐ ปี ระหว่าง ๒๐ ปีนี้บริษัทที่ผลิตยาต้นแบบก็ผูกขาดยาตัวนี้อยู่เจ้าเดียว ส่วนยาชื่อสามัญคือยาที่เกิดจากหลังหมดสิทธิบัตรแล้ว เราสามารถทำ ลอกเลียนแบบสูตรเคมี ฤทธิ์ ของยาต้นแบบได้ ซึ่งราคามักจะถูกกว่ายาต้นแบบมาก