งานภาพชมเชย จากค่ายสารคดี ครั้งที่ 9
วรัตถา คงศิลธรรม : เขียน
พิมพกานต์ จำรัสโรมรัน : ภาพ

“เกลือแหลมทอง” เสน่ห์วันวานของรสเค็ม

ท่ามกลางคอนโดหรูที่ตั้งเรียงรายริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หรือที่เราเรียกว่า “ฝั่งธนบุรี” ยังมีพื้นที่เล็กๆอย่าง “ชุมชนสมเด็จย่า” ที่ไม่ได้กลืนหายไปกับความทันสมัยของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของโรงเกลือแหลมทอง อดีตโรงงานเกลือเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5

“เฮียเจี่ย” หรือ “กิตติ มคะปุญโญ” ชายผิวขาว รูปร่างสูงใหญ่ เจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด เกลือแหลมทอง เล่าให้เราฟังว่า กิจการโรงเกลือแห่งนี้ทำมากว่า 60 ปี เดิมทีโรงเกลือเป็นของผู้อื่น แต่เจ้าของกิจการเดิมสนใจไปทำธุรกิจอื่นแทน พ่อของตนจึงขอเซ้งกิจการและเข้ามาบริหารงานต่อ

เดิมธุรกิจโรงเกลือนี้ส่งขายภายในประเทศเท่านั้น แต่พอพ่อได้เข้ามาบริหารกิจการ ก็เริ่มวางแผนทำการค้าติดต่อกับต่างประเทศเพื่อส่งเกลือไปขายยังต่างประเทศอีกด้วย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน เป็นต้น

หลังจากนั้น เมื่อเฮียเจี่ยเรียนจบมัธยมศึกษา ก็เริ่มเข้ามาช่วยดูแลกิจการ จนอายุได้เพียง 27 ปี พ่อได้มอบหมายกิจการโรงเกลือทั้งหมด ให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของเขา นับตั้งแต่นั้น เฮียเจี่ยก็ก้าวขึ้นมาสู่ผู้บริหารโรงงานอย่างเต็มตัว

โรงเกลือแหลมทอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 300 ตารางวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านชุมชนสมเด็จย่า เขตคลองสาน ซึ่งเกลือที่นำมาจำหน่าย จะเป็นเกลือเม็ดที่รับซื้อมาจากชาวบ้านจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร โดยการซื้อขายสินค้าทั้งหมดจะใช้เรือเป็นยานพาหนะหลักในการขนส่ง

ถัดจากการรับซื้อ โรงงานจะนำเกลือทั้งหมดมาเข้าเครื่องโม่ เพื่อบดเป็นเกลือละเอียดแล้วมาบรรจุใส่กระสอบกระจายสินค้าออกไปขาย เกลือชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “เกลือสมุทร” เป็นเกลือที่ทำมาจากน้ำทะเล สิ่งพิเศษสำหรับเกลือชนิดนี้ คือ มีสารไอโอดีนรวมอยู่ในตัวมันเอง สารไอโอดีนจะช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก ช่วยพัฒนาไอคิวในเด็ก และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายโดยเฉพาะระบบสมองและประสาท

ส่วน “เกลือสินเธาว์” ที่มีแหล่งผลิตอยู่ที่ภาคอีสานของไทย จะแตกต่างจากเกลือสมุทร ตรงที่เกลือสินเธาว์ทำมาจากน้ำใต้ดิน จากนั้นจะนำมาต้ม หรือถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะนำไปเข้าเครื่องจักรเพื่ออบแห้ง และจะเพิ่มสารไอโอดีนเข้าไปในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต เพื่อให้ได้คุณค่าทางสารอาหารเหมือนเกลือสมุทรอีกด้วย

“วิธีการทำเกลือสมุทร สมมุติบริเวณใกล้ๆเป็นน้ำทะเล เขาก็แบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ คล้ายๆนาข้าว แล้วก็จะปล่อยน้ำเข้ามา มีสักสี่แปลง พอปล่อยน้ำเข้ามาสักพักหนึ่ง น้ำก็จะงวดจากสี่เหลือสอง พอน้ำเข้มข้นขึ้น น้ำจะลดลงจากสองเหลือหนึ่ง เหลือหนึ่งก็จะปล่อยตรงนี้เป็นเกลือเป็นภูเขาเล็กที่เห็นในโทรทัศน์ แล้วก็มารวมกัน เสร็จแล้วก็เก็บเข้ายุ้ง หาบเข้าไปเก็บในยุ้ง”









หากทวนเข็มนาฬิกากลับไปในปี 2520 ถึง 2524 ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของโรงเกลือแห่งนี้ เพราะเป็นช่วงที่เกลือส่งออกได้ดีที่สุด ซึ่งทำให้เฮียเจี่ยภูมิใจและดีใจมากๆ เพราะโดยปกติจะส่งออกเพียงวันละ 400 ตัน แต่ในยุคนั้นส่งได้วันละมากกว่า 1,000 ตัน (1 ตันมีค่าเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม) เมื่อลองคูณตัวเลขเข้าไป ดวงตาเราถึงกับเบิกกว้างกับปริมาณเกลือที่ส่งออกในแต่ละวัน

ด้านคนงานภายในโรงเกลือ จะมีทั้งหมด 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายควบคุมเครื่องโม่ มีประมาณ 4 คน แต่ละคนจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป คนที่หนึ่งจะต้องดูในส่วนเกลือเม็ดที่จะนำมาป้อนเข้าเครื่องโม่ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของคนที่สอง ต้องคอยส่งเกลือเข้าเครื่องโม่ ถัดมาคนที่สาม คอยตรวจและดูแลการทำงานของเครื่องโม่ เพราะบางทีจะเกิดการติดขัดขณะเครื่องทำงาน และคนสุดท้ายดูแลในส่วนของการจัดเก็บเกลือในยุ้ง และคนงานอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายบรรจุเกลือ มีอยู่ประมาณ 12 คน หากวันใดจะต้องส่งเกลือลงเรือ จำนวนคนงานจะสูงถึง 40-50 คนเลยทีเดียว

จากนั้นเราได้คุยกันถึงผลกำไรของกิจการในอดีต สีหน้าของเขาเริ่มเปลี่ยนไปทันที ดวงตามีแววเศร้าหมอง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2540 หรือที่เราเรียกกันว่า “ภาวะฟองสบู่แตก” ภาวะที่ราคาข้าวของสินค้ามีราคาสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง จนเกิดอุปสงค์เทียมจากการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นวงจร ส่งผลกระทบให้ผลประกอบการเริ่มชะลอตัว มีขายบ้างและหยุดขายบ้าง จนกระทั่งมาถึงปี 2544 โรงงานจำเป็นต้องเลิกกิจการแบบถาวร ด้วยสาเหตุหลัก คือ สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนของประเทศไทย จึงทำให้ผลิตเกลือได้ปริมาณน้อยลง และมีราคาแพงขึ้นตามลำดับ

“พักหลังดินฟ้าอากาศมันไม่แน่นอน ซึ่งเป็นตัวสำคัญเลย เพราะว่าถ้าฝนตกก็จะทำไม่ได้ มีนาเมษาฝนตก ก็เลยทำให้เกลือน้อยลง ราคาก็แพงขึ้น ปกติคิดเป็นเกวียนหนึ่งสมัยก่อนตกประมาณ 500-600 บาท ตอนนี้ตกอยู่ที่ 3,000 บาท ทำให้เมืองนอกก็จะหันไปใช้เกลืออินเดีย ตอนนี้เลยไม่ได้ทำแล้ว”

อีกทั้งหากจะนำเกลือมาเข้าเครื่องโม่เพื่อบดให้ละเอียด ยังจำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่สูง ดังนั้นการโม่แต่ละครั้งจำเป็นต้องโม่ครั้งละจำนวนมากๆ ถ้าเกลือมีจำนวนน้อย จะไม่คุ้มทุนเช่นกัน

“ปัจจุบันโรงเกลือในกรุงเทพก็เหลือแค่ 2-3 ที่เอง ที่แน่ใจมีที่หนึ่งอยู่แถวดาวคะนอง”

เฮียเจี่ย ยังเล่าเสริมให้เราฟังว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนเขตร้อนชื้น แต่ประเทศอินเดียพื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบสูง จึงทำให้ประเทศอินเดียสามารถทำนาเกลือได้ดีและมีผลผลิตที่แน่นอนกว่าประเทศไทย

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่ง เนื่องจากถนนปากซอยทางเข้าจนถึงโรงเกลือ เป็นเพียงถนนคอนกรีตสายเล็กๆ ซึ่งรถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาถึงได้ จึงทำให้การคมนาคมทางบก มีความลำบากต่อการขนส่งสินค้าไปขายยังที่ต่างๆ

ด้วยทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำเจ้าพระยา เราจึงอยากรู้ว่า อนาคตเขามีการวางแผนแปรเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่จะสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลหรือไม่ เขาตอบกลับมาทันใดว่ามี แต่ทั้งหมดนี้ยังติดปัญหาเรื่องการเดินทาง เพราะถนนมีขนาดเล็ก รถไม่สามารถเข้ามาถึงได้

“ตรงนี้รถเข้ามาไม่ได้เลย อย่างเก่งก็ปิกอัพ ต่อให้ทำคอนโดก็ไม่มีคนซื้อ เพราะทางเข้ามันไม่มี เคยลองคุยกันเหมือนกันว่าจะทำภัตตาคาร หรือไม่ก็โฮมสเตย์ แต่คิดสองอย่างแล้ว ระยะทางจากถนนมาที่นี่มันไกลมาก ถ้าเดินทางมาลำบาก เลยยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไร และถึงแม้การทำโฮมสเตย์จะได้บรรยากาศดี แต่ว่ากลางคืนที่นี่มืดมาก กลัวว่าฝรั่งจะเดินไม่ถึงจะมีการปล้นจี้กัน แต่ถ้าวันหนึ่งรถสามารถเข้าได้ก็คงทำเป็นแค่ที่พักสินค้าก็พอแล้ว เท่าที่คิดนะ”

แม้ว่ากิจการโรงเกลือแห่งนี้จะหยุดไปแบบไม่มีวันหวนคืนกลับมา แต่เครื่องมือและอุปกรณ์โบราณต่างๆ เจ้าของกิจการผู้นี้ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น ที่โกยเกลือ หรือที่เรียกว่า “สกี” ซึ่งมีลักษณะคล้ายคราดที่ใช้ในการทำสวน ในอดีตสกีจะทำมาจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันจะนิยมทำจากสแตนเลสกันหมดเสียแล้ว หรือจะเป็น “กระพ้ง” อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับใส่เกลือเพื่อให้คนงานแบกขึ้นจากเรือ ซึ่งจะทำมาจากไม้ไผ่เช่นกัน และมีลักษณะคล้ายถังสี่เหลี่ยมทรงสูง ปากบาน มีหูจับ

ส่วนที่เห็นจะน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ “สายพาน” ที่ใช้สำหรับลำเลียงเกลือจากโกดังเกลือไปยังห้องโม่ โดยปกติสายพานจะทำมาจากสแตนเลส แต่โรงเกลือแห่งนี้สายพานจะทำมาจากไม้ทั้งสิ้น ซึ่งการประดิษฐ์สายพานนี้ เกิดจากการดูและศึกษาจากโรงเกลืออื่น แล้วนำมาออกแบบ ดัดแปลงและแต่งเติม จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาของตนเอง

“สายพานพวกนี้ทำมาจากไม้หมด จริงๆมันทำจากเหล็ก แต่เหล็กมันผุง่าย พอโดนเกลือจะเป็นสนิมหมดเลย เกลือมันกัด เราก็เลยคิดเปลี่ยนให้ทำมาจากไม้ มีไม่กี่โรง ส่วนมากเป็นเหล็ก”

นอกจากนี้ ภายในโรงเกลือยังมี “เครื่องโม่เกลือ” ที่ทำมาจากอิฐ ซึ่งนำเข้ามาจากเมืองจีน และมียุ้งเก็บเกลือ ซึ่งทำมาจากไม้ยางพาราและไม้ตะเคียน สามารถบรรจุเกลือได้สูงสุดถึง 35 ตันทีเดียว

ก่อนจากกันเฮียเจี่ยได้พูดทิ้งท้ายกับเราว่า “บางทีก็อยากให้มันกลับมาเหมือนเดิมเหมือนกันนะ เพราะอยากดูเครื่องจักรมันกลับมาวิ่งอีกรอบ” พร้อมแววตาอาวรณ์ให้ความหลังที่เลยผ่าน