บรรพ์ โกศัลวัฒน์ : เขียน
ภูริพรรธน์ เลิศปัญญาโรจน์ : ภาพ

'บ้านเก่า วิถีหาย' ความในใจของคุณยายบ้านคลองสาน

ใจกลางมหานครที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า ตึกแถวแบบโบราณกลายเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก และอีกไม่นานคงจะทยอยหายไป จนเหลือแค่เพียงในความทรงจำเท่านั้น

พระปรางค์วัดพิชัยญาติ หรือวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร ตั้งตระหง่านเฝ้ามองบ้านเรือนในชุมชนถูกรื้อออก และแทนที่ด้วยทาวเฮ้าส์ที่งอกเงยขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆในชุมชนแห่งนี้

เด็กก็ยังเป็นเด็กวันยังค่ำ เรายังเห็นเด็กวิ่งเล่นกันสนุกสนาน ไม่ว่าจะเกิดในคฤหาสงดงามใหญ่โต หรือเกิดในห้องแถวไม้อายุเก่าแก่กว่า 50 ปี เมื่อโตไปเด็กเหล่านี้จะซึมซับวิถีชีวิตที่ตนได้สัมผัสมา และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดวิถีของสังคมต่อไป

โรงเกลือเก่าถูกปิดลง ท่าเรือถึงถูกปิดไป เส้นทางขนส่งขาด กิจการบริเวณนั้นจึงชะงักและยกเลิกไปจนหมดสิ้น เหลือแค่ซากของความรุ่งเรืองในอดีตที่รอเวลาผุพัง

” ทุกวันนี้วิถีชีวิตในอดีตมีอยู่มากน้อยแค่ไหน สังเกตได้จากสภาพบ้านเรือนในปัจจุบัน…สำหรับที่นี่ก็อย่างที่เห็นสภาพมันทรุดโทรมลงมาก “

เพลินทิพย์ ไสยวิริยะ คุณยายวัย 86 ปี เกริ่นเข้าบทสนทนากับผู้เขียน ด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา ราบเรียบ แฝงเร้นไว้ด้วยความรู้สึกรวดร้าวเกินกว่าจะพรรณนา ในฐานะหญิงชราผู้อาศัยในย่านคลองสานมาชั่วชีวิต เห็นการเปลี่ยนแปลงและก้าวผ่านของยุคสมัย จนเรียกได้ว่าเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็น ‘คลองสาน’

ปัจจุบันยายเพลินอาศัยอยู่ในบ้านไม้สองชั้น หลังคามุงกระเบื้องดูไม่ผิดจากบ้านไม้ทั่วไป ต่างแต่ว่าบ้านไม้สามัญหลังนี้ได้ซ้อนเร้นเรื่องราวและความน่าสนใจไว้มากกว่าบ้านเก่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ “บ้านหลังนี้เป็นมากกว่าบ้าน แต่เสมือนมรดกทางวัฒนธรรมที่พระบรมราชชนนีได้ฝากให้ตนได้ดูแล”

ในฐานะหลานสะใภ้ในพระบรมราชชนนี ผู้ได้เห็นวิถีชีวิตและบ้านเรือนที่ตนรักค่อยๆ เลือนหายไป วันนี้ยายเพลินจึงถือโอกาสย้อนภาพครั้นอดีตให้กลับมาอีกครั้ง…

” ถ้าอยากสัมผัสวิถีชีวิตย่านคลองสาน เดินเที่ยวอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะจะไม่เห็นอะไรนอกจากบ้านไม้เก่าคร่ำคร่า” ยายเพลินเปิดอัลบั้มภาพเก่าย่านคลองสานที่ถูกส่งต่อมาหลายชั่วอายุคน พร้อมเล่าให้ฟังว่า คนส่วนมากจะรู้เพียงว่า ย่านนี้อดีตเป็นนิวาสถานเดิมของพระบรมราชชนนี แต่ทว่าถ้าจะเข้าใจเบื้องลึกย่านคลองสานให้แจ่มแจ้ง ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้งผืนดินแถบนี้ถูกพระราชทานให้แก่ขุนนางตระกูลบุนนาค สายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัต บุนนาค) หรือที่คนสมัยนั้นรู้จักในนาม ‘สมเด็จพระยาองค์น้อย เจ้ากรมพระคลังสินค้า’

“ทัต บุนนาค คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ย่านคลองสานอย่างแท้จริง” ด้วยเหตุที่สมเด็จพระยาองค์น้อย รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้ากรมพระคลังสินค้า ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนี้ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วยท่านฟื้นชุมชนเก่าไร้ความโดดเด่น ให้กลายเป็นชุมชนย่านการค้าที่สำคัญ สร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านกันถ้วนหน้า

อีกทั้งภูมิประเทศที่เอื้อต่อการสัญจรทางเรือ ทำให้เรือสินค้าของชาวต่างชาติแวะเวียนเข้าออกไม่เคยขาดสาย ดูได้จากท่าเทียบเรือที่เรียงรายนับเฉพาะท่าเรือข้ามฟากก็มีถึง 5 ท่า ตั้งแต่ ท่าปากคลอง วัดอนงคาราม (บริเวณใต้สะพานพุทธในปัจจุบัน) ท่าทางฟากใต้ข้ามไปรษณีย์ ท่าข้างมัสยิดกูวติลอิสลาม ท่าละแวกหมู่บ้านแขก และท่าตึกขาวข้ามไปท่าราชวงศ์

ยายเพลิน หยิบภาพถ่ายคู่กับชาวต่างชาติให้ผู้เขียนดูแล้วเล่าว่า สมัยนั้นท้องน้ำริมฝั่งคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาจับจองพื้นที่ตั้งรกรากประกอบกิจการน้อยใหญ่ ส่วนชาวบ้านที่อยู่มาก่อนถือโอกาสนี้เปิดกิจการค้าขาย สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำส่งลูกหลานให้อยู่ดีกินดีมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อผู้คนเริ่มมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม การตั้งบ้านเรือนเริ่มแบ่งออกเป็นย่านตึกแดงและตึกขาว โดยชื่อมีที่มาจากลักษณะอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ปรากฏในชุมชน

สำหรับย่านตึกแดง…ยายเพลินยอมรับว่า ตนผูกพันมากเป็นพิเศษ สมัยยายเพลินยังเด็กแถบนี้ เป็นเสมือนสนามวิ่งเล่นขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ปากคลองวัดอนงคารามจนจดมัสยิดกูวติลอิสลาม เขตบ้านเดิมของพระยาวรพงศ์พิพัฒน์(แย้ม บุนนาค) ยายเพลินล้วนรู้จักดีกว่าใคร

ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้ชาวจีนไหหลำเข้ามาประกอบอาชีพค้าของป่า โรงถ่านก้อน และโรงทำเตาอั้งโล่ แต่ดูเหมือนว่าสนามเด็กของยายเพลินจะเป็นเพียงความทรงจำสีจางๆ เพราะ กิจการที่พูดมาทั้งหมดทุกวันนี้ ทุกแห่งได้ปิดกิจการไปหมดแล้ว

ถ้าจะเหลืออยู่ให้เห็นก็มีเพียง โรงน้ำปลา ข้างศาลกวนอูของตระกูลจีนฮกเกี้ยน ซึ่งบรรพบุรุษเดินทางมาจากแผ่นดินใหญ่ ได้กว้านซื้อบ้านเรือนไทยและเก๋งจีน อาศัยประกอบอาชีพเกี่ยวกับ น้ำปลา สืบมาถึงปัจจุบัน

ถัดจากย่านคนจีนละแวกมัสยิดกูวติลอิสลามเป็นหมู่บ้านพ่อค้ามุสลิมที่เดินทางมาจากรัฐไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย สังเกตได้จากบ้านเรือนรูปทรงมะลิลาที่พอหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

บ้านพ่อค้ามุสลิมจากรัฐไทรบุรีจะแตกต่างจากบ้านพ่อค้ามุสลิมอินเดีย(แขกเทศ)อย่างสิ้นเชิง ยายเพลิน ขยายความว่า บ้านของกลุ่มแขกเทศที่นำโดย ฮัจยี อาลี อะหะหมัด นานา หรือเสมียนอาลี ต้นตระกูลนานา จากตำบลแรนเดอร์ ประเทศอินเดีย ที่เข้ามาเปิดห้างจำหน่ายผ้าทอดิ้นทองบริเวณตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงามแต่ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายแบบอินเดีย ตึกแถวเรียงราย 2 ข้างทางมุ่งสู่ถนนท่าแขก บ้านเรือนมีลักษณะเป็นตึกปนไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้าส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัย กลางถนนเป็นตึกแถวชั้นเดียว มีโรงวัว และแท๊งค์โลหะเก็บน้ำในเดือนสิบสอง ไว้ดื่มใช้ตลอดทั้งปี…

ต่อมาพ่อค้าชาวมุสลิมมีจำนวนมากขึ้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) จึงสั่งให้ปรับปรุงตึกแดงริมน้ำที่เคยใช้เป็นสำนักงานพระคลังสินค้าเดิม ยกให้เป็นสถานสอนศาสนา ชาวไทรบุรีและชาวแรนเดอร์ได้ร่วมใจกันสร้างมัสยิดใหม่ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งทรุดโทรมและคับแคบไปแล้ว มัสยิดแห่งนี้มีชื่อว่า มัสยิดกูวติลอิสลาม(สุเหร่าตึกแดง)

“เมื่อก่อนขายแค่ส้มตำยังอยู่ได้ มีเงินเก็บ“หลังจากตลาดในชุมชนถูกรื้อถอนออกไปสร้างตึกแถว ทำให้การค้าขายซบเซา ผู้คนน้อยลดลง ทำให้การทำมาหากินยากลำบากขึ้น ผู้คนพากันย้ายออกไปทำงานข้างนอก ทิ้งเหล่าคนเถ้าคนแก่ไว้คอยเฝ้ารำลึกถึงความรุ่งเรืองในอดีตของชุมชนแห่งนี้


บ้านริมน้ำที่อดีตเป็นทางโหลดของขึ้นจากเรือ โกดังมากมายกลายเป็นโกดังร้าง เพราะกิจการหลายแห่งที่ทยอยปิดตัวลง ความเจริญที่รุกคืบเข้ามาค่อยกลืนกินกิจการเล็กๆให้หายไปจากชุมชนแห่งนี้


พอเพียงก็เพียงพอ รอยยิ้มของชาวคลองสานที่มีให้ผู้มาเยือน เป็นเครื่องพิสูจน์ความสงบสุขของชุมชนแห่งนี้ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เน้นความเรียบง่ายและพอเพียงเป็นเสมือนกำแพงคอยป้องกันไม่ให้ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ถูกแสงสีของมหานครกลืนกิน


การเปลี่ยนแปลงกำลังจู่โจมชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าในทางดีหรือทางร้ายก็ล้วนมีราคาที่ต้องแลกมา เหมือนกับกำแพงที่เต็มไปด้วยคำทักทายหลากหลายภาษาอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ กำลังถูกฉาบปิดเพื่อปรับปรุงอาคารเก่าแห่งนี้ให้ดูทันสมัยขึ้น

“ทุกๆเย็นชาวมุสลิมในย่านนี้จะมาร่วมกลุ่มกันที่สุเหร่าเรือนลูกไม้หลังเล็ก เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา” คำบอกจากผู้ใหญ่สมัยครั้งยายเพลินยังเด็ก แถบมัสยิดหลังนี้อดีตเป็นลานย้อมผ้า เดิมย้อมมะเกลือ ยุคต่อมาย้อมคราม เป็นอาชีพยอดนิยมที่ชาวจีนผู้เช่าพักอาศัยย่านตึกแขกรับจ้างทำ

ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีรอบนอก ” ทุกวันนี้แม้จะมีวิถีชีวิตแบบอิสลามให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเกินกว่าจะน่าสนใจ” ยายเพลินทิ้งท้าย

สำหรับย่านตึกขาวบริเวณโดยรอบมีโกดังน้อยใหญ่ ยายเพลินสันนิษฐานว่าอดีตเป็นโรงฉางข้าวตั้งแต่รัชกาลที่5 แต่ไม่ใช่โกดังที่เห็นทุกวันนี้ ด้วยโกดังทุกวันนี้บริษัทเซ่งกี่เป็นเจ้าของ สร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โกดังเซ่งกี่ ชาวบ้านมักเรียกติดปากว่า ‘โรงหนังวัว หนังควาย’ ภายนอกอาคารเป็นลานกว้างกรรมกรชาวจีนใช้ล้างและตากหางวัวหางควาย

อาชีพเด่นในชุมชนย่านตึกขาวมีความคล้ายย่านตึกแดง ได้แก่ โรงชัน โรงเกลือ โกดังข้าว โกดังน้ำตาล ลานมะเกลือ และคราม ผู้ที่ทันได้เห็นพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตเล่าต่อกันมาว่าส่วนใหญ่เป็นตึกเก่าโบราณ มีเรือนไทยรายล้อมโกดัง กำแพงหนาขนาดเดินได้สบาย แต่ปัจจุบันไม่เหลือสิ่งก่อสร้างเหล่านี้แล้ว

เมื่อผู้เขียนสอบถามถึงจุดคาบเกี่ยวระหว่างคลองสานยุคอดีตกับปัจจุบัน ยายเพลินเห็นว่า จุดเปลี่ยนจริงๆ เริ่มต้นมาจากโครงการก่อสร้างถนนรองรับสะพานพุทธยอดฟ้าใน พ.ศ.2475 ทำให้มีถนนตัดผ่านชุมชนย่านตึกขาวจดริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเหล่านี้ล้วนเป็นโครงการขยายการขนส่งจากฝั่งพระนครมาสู่ฝั่งธนบุรีทั้งสิ้น

ตั้งแต่นั้นมาถนนเส้นนี้คับคั่งไปด้วยรถประจำทาง ความเจริญเข้ามา ชุมชนขนาดเล็กเริ่มขยายตัวก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด เกิดไฟไหม้ในชุมชนแทบทุกปี ผู้อาศัยดั่งเดิมอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ อาคารพาณิชย์เข้ามาแทนที่บ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้หรือผุพังไปตามกาลเวลา ผู้คนจากแหล่งอื่นทยอยเข้ามาอยู่ในชุมชนปะปนกับผู้ที่เคยอาศัยอยู่แต่เดิม

“ยายกล้าพูดได้เลยว่า คนรุ่นยายที่ยังอยู่ในแถบนี้แทบจะไม่เหลือ” ย่านคลองสานเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ชุมทางรถประจำทางจากที่เคยคับคั่งเริ่มหมดไป ตลาดสมเด็จเจ้าพระยาจากที่เคยพลุกพล่านเริ่มซบเซา จนปิดกิจการไปตามๆกัน

ปัจจุบันวิถีชีวิตในชุมชนกลายเป็นเพียงแหล่งพักอาศัยในสังคมเมือง มีเฉพาะร้านค้าที่จำเป็นสำหรับชุมชน คนในชุมชนส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกจ้างหาเช้ากินค่ำ ขณะที่ริมแม่น้ำยังคงมีโรงงาน โรงเกลือ โรงเก็บสินค้าอยู่บ้าง แต่ได้ปิดกิจการไปหมดแล้ว..

สำหรับยายเพลินแล้ว ทุกวันนี้วิถีชีวิตผู้คนในอดีตมีอยู่มากน้อยแค่ไหน สังเกตได้จากสภาพบ้านเรือนในปัจจุบัน…สำหรับที่นี่ก็อย่างที่เห็น สภาพมันทรุดโทรม ท่าเรือ บ้านเรือน ที่มีอยู่มากมาย ถูกทิ้งร้างไปพร้อมกับวิถีในอดีต ถ้าจะเหลือคงมีแต่เพียงความทรงจำที่แจ่มชัดของคุณยายแห่งบ้านคลองสานผู้นี้

……………………..