ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9
ณัฐกานต์ อมาตยกุล : เขียน

ฐานะมาศ เถลิงสุข : ภาพ

อาคารโบราณที่ทางโรงพยาบาลต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้

เมืองในสวน

กระรอกวิ่งขึ้นลงฉับไวอยู่ตามลำต้นไม้ที่คดโค้งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พวกมันอาจได้ยินข่าวลือเรื่องการทวงคืนพื้นที่ธรรมชาติในเมืองมาบ้างจากการสนทนากันของแพทย์ ผู้ป่วย และญาติๆ กระนั้น เรื่องเหล่านั้นดูห่างไกลเหลือเกิน กระรอกรับรู้เพียงกลิ่นหญ้าเขียวที่เพิ่งตัดใหม่ระเหยขึ้นมาเตะจมูกที่กำลังขยับฟุดฟิด ไอแดดตอนสายส่องลอดมาตามระเบียงอาคารผู้ป่วยกระทบใบไม้เขียวชอุ่ม ชุ่มน้ำฝนเดือนหก

ในวันนี้ที่กรุงเทพมหานครป่วยกระเสาะกระแสะเหมือนผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จนปอดดำชำรุด หายใจไม่ค่อยคล่อง บางครั้งก็ไอมีเสมหะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางบรรดาตึกสูงในเขตปทุมวัน เขตที่มีถนนที่คับคั่งอยู่รายรอบ ได้เขียนใบสั่งยาที่ชื่อว่า “โครงการ 1873 โรงพยาบาลในสวน” ขึ้นมาป้อนให้กับกรุงเทพมหานครเป็นสำรับแรก

รายงานการวิจัย Asian Green City Index ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2011 แสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 39 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 3.3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น (2007) น้อยกว่าเมืองใหญ่อย่างโตเกียว 10 ตารางเมตรต่อคน และเทียบกันไม่ได้เลยกับสิงคโปร์ ประเทศที่คนไทยมักบอกว่าเล็กกะจิดริด” แต่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรสูงถึง 66 ตารางเมตรต่อคน เมื่อตัวเลขน่าตกใจขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่กลุ่มรณรงค์ขอพื้นที่สีเขียวบริเวณมักกะสันจะนำข้อมูลดังกล่าวมาอ้างอิงต่อสาธารณะ เพื่อกระตุ้นเตือนให้พวกเขาใส่ใจการมีพื้นที่ของต้นไม้มากกว่านี้ แทนที่จะสนใจแต่ห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ แต่ถึงอย่างไร กระแสเรียกร้องสวนสาธารณะก็ไม่ใช่แค่คำตอบเดียวที่เราควรให้ความสำคัญ

ธรรมชาติที่พรั่งพรูอยู่ในเมืองเกาะเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่นโยบายเมืองสวนสาธารณะ (Garden City) หรือเมืองในสวน (City in a Garden) เป็นนโยบายที่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้กำหนดแนวทางในการพัฒนาเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 พวกเขาเริ่มเปิดศักราชสีเขียวกันด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างแข็งขัน นับแต่นั้นมา การปลูกตึกก็ขนานไปกับการปลูกต้นไม้มาในทุกย่างก้าวของการพัฒนา

กระรอกที่อาศัยอยู่ในสวนตามทางเดิน แล้วมีผู้คนที่นำอาหารมาให้พวกมันกิน

สวนท่ามกลางทางเดินที่เชื่อมกันระหว่างตึกของโรงพยาบาล

สวนเล็กๆ ของเมือง

คำว่า เมืองในสวน อาจดูเป็นเรื่องห่างไกลเกินไปสำหรับกรุงเทพฯในวันนี้ เพราะฉะนั้นการเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ อย่าง โรงพยาบาลในสวน น่าจะเป็นสิ่งที่พอสร้างความหวังได้อยู่บ้าง กลุ่มคำ ในสวน มีนัยยะของการมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมอาณาบริเวณโรงพยาบาล มิใช่เพียงองค์ประกอบเล็กๆ เพื่อความสวยงามเท่านั้น

ผังแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ของสภากาชาดไทย ปี 2555 – 2567 ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอาคารของสภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งเป้าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบันร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งหมด ให้กลายเป็นร้อยละ 28 ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลในการสร้างพื้นที่โรงพยาบาลสีเขียวซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 30 ผังแม่บทดังกล่าวเป็นเหมือนเวชภัณฑ์รักษาโรค กระนั้นผู้ที่เป็นส่วนสำคัญในการคิดค้นตัวยาไม่ใช่หมอ แต่เป็นภูมิสถาปนิกอย่างอาจารย์จามรี อาระยานิมิตสกุลและทีมงาน ซึ่งใช้แนวคิดภูมิทัศน์เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย (Healing Landscape) เป็นทิศทางหลักในการออกแบบ

การใช้สวนเพื่อการบำบัดรักษามีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ทั้งในอารยธรรมกรีกและโรมัน ซึ่งมักสร้างสวนไว้ในบริเวณอาคารบำบัดรักษาผู้ป่วย อีกทั้งยังใช้พืชที่ปลูกในนั้นมาเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาด้วย แต่สำหรับโลกสมัยใหม่ ความคิดเรื่องสวนเพื่อการบำบัดเพิ่งจะได้รับความสนใจในวงการแพทย์เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง ศาสตราจารย์โรเจอร์ อุลริช อาจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมทำการวิจัยพบว่า เพียงแค่ผู้ป่วยได้สัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้นระหว่างการฟื้นตัว อาการของพวกเขาก็จะดีขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง แถมไม่ต้องใช้ยามากเหมือนกรณีทั่วๆ ไป

“ผังเมื่อเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว เขาได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนนั้น จะต้องมีบรรยากาศที่ดีให้คนไข้ได้พักผ่อน มีศาลา สวน คูน้ำป้องกันน้ำท่วม เป็นบรรยากาศที่เราอยากได้ตอนนี้เลย ผังแม่บทส่วนนี้ก็เหมือนกับการไปรื้อฟื้นแนวคิดตรงนั้นกลับมา” อาจารย์จามรีได้เท้าความให้ฟังเพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางโรงพยาบาลได้ตระหนักดีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอยู่แล้ว แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไปและการให้บริการที่ขยายออกไปมากขึ้น จึงมีการสร้างอาคารต่างๆ มากมายขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ป่วย และค่อยๆ กินพื้นที่สีเขียวไปทีละน้อย

ในผังแม่บทฉบับใหม่แสดงให้เห็นว่า เมื่อการก่อสร้างอาคารหลังใหญ่เสร็จสมบูรณ์ และมีการเคลื่อนย้ายแผนกต่างๆ ให้ไปใช้พื้นที่ในทางสูงแทน ก็จะมีการดำเนินการรื้อถอนอาคารเล็กๆ ขนาด 3-4 ชั้น อายุประมาณ 40 ปี จำนวน 4 อาคารออกไป กวาดพื้นที่ดังกล่าวให้โล่ง พร้อมสำหรับการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตสีเขียวแผ่ไพศาลขนาดเท่าสนามฟุตบอล และประกาศเจตจำนงชัดเจนว่าจะไม่มีการปลูกสร้างอาคารใดอีกในบริเวณดังกล่าว สวนทางกับกระแสการสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำเงินในเขตปทุมวัน

ในวันนี้โรงพยาบาลตระหนักถึงการมีอยู่ของใบไม้สีเขียวมากกว่าใบธนบัตรสีเทาหม่น เจ้าของพื้นที่อย่างสภากาชาด เมินคำว่า พื้นที่ทำเลทอง แล้วลงมือปลูกต้นไม้ขึ้นมาแทน เพราะแนวคิดนี้เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ป่วย ผู้มาเยี่ยมไข้ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และนิสิต ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็อาศัยอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเสมือนบ้านของพวกเขา

“เมื่อเราพูดถึงพื้นที่สีเขียว เรามองประโยชน์ต่อคนที่ใช้งาน พร้อมๆ กับสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น นก เต่า ตะพาบน้ำ กระรอก เป็นการเอื้อเฟื้อต่อสัตว์ที่อยู่อาศัยในเมืองด้วย” คำพูดดังกล่าวของอาจารย์ยังเตือนให้เรานึกถึงสมาชิกอื่นๆ ในบ้านหลังนี้ ที่เราอาจมองข้ามไปเพราะชอบแบ่งแยกระหว่างเมืองกับป่าออกจากกัน

หอพักนิสิตชายในสภาพเก่าแก่กำลังจะถูกรื้อถอน เพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่สีเขียว ถ้าตึกสูงที่กำลังสร้างใหม่เสร็จสมบูรณ์

อาจารย์จามรี อาระยานิมิตสกุล จากคณะสถาปัตย์ ผู้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ

ก้าวแรกสู่สวนสวย

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 เดือนที่ต้นไม้ปลูกใหม่ได้เริงระบำในสายฝนบริเวณลานจอดรถอาคารแพทยพัฒน์ หอพักแพทย์และหอพักพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 1873 ก็จัดงานปลูกบ้านสีเขียวนี้โดยร่วมกับกลุ่ม BIG TREE กลุ่มที่คนรักต้นไม้รู้จักกันดี นอกจากต้นไม้ปลูกใหม่เหล่านี้ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของปฏิบัติการตามผังแม่บท ก็ยังมีการปรับปรุงพื้นที่โล่งใกล้อาคาร อปร. โดยย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ซึ่งเดิมอยู่ในอาคารของคณะแพทยศาสตร์ออกมาไว้ภายนอก เปิดพื้นที่โล่งเป็นสนามหญ้าและปลูกต้นลีลาวดีขนาบสองข้างนำสายตา ถือเป็นก้าวเล็กๆ เมื่อเทียบกับรายละเอียดโครงการทั้งหมด

“การปลูกต้นไม้เป็นแค่เรื่องเดียว แต่พื้นที่สีเขียวมีอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง”

อาจารย์จามรีเสนอแนะให้มีการนำน้ำทิ้งจากหอพักที่บำบัดแล้วมารดน้ำต้นไม้แทนที่จะนำน้ำประปาซึ่งสะอาดดื่มได้มารดอย่างฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ การจัดการบำบัดขยะซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรม ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่ควรบรรจุควบคู่ไปในการจัดการของโรงพยาบาล นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่พื้นที่เท่านั้นที่ต้องเขียว แต่คนก็ต้องมีหัวใจสีเขียวด้วย การเรียกร้องพื้นที่สีเขียวต้องมาพร้อมกับจิตสำนึกที่พร้อมจะรักษาความเขียวนั้นร่วมกัน

การเป็นพื้นที่สีเขียวยังรวมไปถึงการออกแบบอาคารให้สอดรับกับทิศทางของลม การเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมไปปลูกตามทางสัญจร และการออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับน้ำได้ดี

สืบสิริ ศรีธัญรัตน์ ภูมิสถาปนิกหนุ่ม หนึ่งในทีมงานผู้ออกแบบ ได้เล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่า โดยทั่วไปพื้นที่ผิวดินตามธรรมชาติจะซึมซับน้ำฝนได้มากถึงร้อยละ 80 ในขณะที่พื้นที่เขตเมืองซึ่งหลายส่วนถูกปกคลุมด้วยคอนกรีตและวัสดุอื่นๆ จะมีความสามารถในการรองรับน้ำเหลือเพียงร้อยละ 20 ปล่อยให้น้ำที่เหลือปริมาณมหาศาลเป็นภาระของท่อระบายน้ำที่มีจำนวนจำกัด และเมื่อไม่เพียงพอก็ทำให้น้ำท่วมขังอยู่บ่อยครั้ง ในแง่นี้พื้นที่เปิดโล่งที่จะเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นอกจากจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่เพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับเมือง ยังเป็นจุดสำคัญที่จะลดภาระในการรองรับน้ำฝนเหล่านี้ให้ลงมาอยู่ในผืนดิน

พื้นที่ซึมซับน้ำนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสนามหญ้าเสมอไป แม้แต่ลานจอดรถก็อาจมีการเปลี่ยนจากลานปูนมาใช้วัสดุบล็อกหญ้า ประโยชน์ใช้สอยยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นแต่อย่างใด

แทนที่จะไปท่วมขังอยู่ตามถนนจนถูกคนก่นด่า น้ำฝนเหล่านั้นก็กลายมาเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เติบโตงอกงาม ผลิดอกสะพรั่งจนเราต้องแหงนหน้าชม

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ที่กำลังจะถูกย้ายไปไว้ที่อื่นภายในโรงพยาบาล เพราะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว

ผายปอด-ผ่าตัดหัวใจใหม่ให้คนเมือง

พื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อาจเป็นพื้นที่เล็กๆ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร ยิ่งเมื่อเทียบกับสวนสาธารณะที่มีอยู่แล้วทั้งหลายก็อาจไม่ได้โดดเด่นเป็นพระเอกนางเอกกู้ความเขียวคืนสู่สังคม แต่เมื่อพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในเขตที่มีที่ดินราคาแพงเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ แถมยังอยู่ในเขตที่ตึกเบียดแทรกกันจนแทบไม่มีที่ปลูกต้นไม้ และการจราจรคับคั่งที่มาพร้อมกับหมอกควัน การมีพื้นที่สีเขียวสักผืนหนึ่งเท่าสนามฟุตบอลก็เป็นส่วนที่ช่วยเยียวยาปอดให้กรุงเทพฯ ได้เปรียบดังการปฐมพยาบาลยามฉุกเฉิน ยามที่พื้นที่สีเขียวต่อคนมีอัตราต่ำในระดับเรี่ยดิน – หรือเรี่ยพื้นคอนกรีต..

การเรียกร้องพื้นที่สีเขียวโดยโครงการรณรงค์ต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ดีที่ควรสนับสนุน แต่ก็คลอนแคลนไปกับคำครหาว่าเป็นเพียงกระแสลมที่พัดเอาโรคเห่อระบาดในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง ในทางตรงข้าม การที่องค์กรใหญ่ๆ องค์กรใดออกมาปฏิวัติการใช้สอยพื้นที่ของตัวเองอย่างเด็ดขาดเป็นตัวอย่างให้กับสังคม อาจมีพลังมากกว่าสุนทรพจน์สีเขียวบนเวทีใดๆ

ในอนาคต หากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถบรรลุภารกิจในผังแม่บทได้ครบถ้วน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงเป็นสิ่งที่สายตาคนเมืองไม่อาจมองข้ามไปได้ เราอาจได้ย้อนทบทวนการใช้ประโยชน์พื้นที่ทำเลทองอย่างรอบคอบมากขึ้น และนี่อาจเป็นการผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่

ครั้งนี้จะเป็นการผ่าตัดหัวใจให้เป็นสีเขียว การผ่าตัดหัวใจที่ไม่เจ็บปวด และสภากาชาดไทยไม่จำเป็นต้องให้เลือดสำรอง