งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9 พรชนก บัวสุข : เขียน
นันทวัฒน์ สกุลวัฒน์ : ภาพ
|
||
“มาเที่ยวคลองบางหลวงกันเหรอ?” เสียงคุณป้าเอ่ยทักต้อนรับการมาเยือนของผู้มาเยือนสามชีวิตที่เพิ่งก้าวขึ้นบนรถสองแถวคันสีแดงที่จอดรอรับผู้โดยสารอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 สังเกตจากมือที่ถือถุงหลายถุงทำให้เราคิดว่าคุณป้าน่าจะเพิ่งกลับมาจากการไปจ่ายตลาดซื้อของเข้าบ้านและจากคำทักทายที่แนบรอยยิ้มพิมพ์ใจมาด้วยของคุณป้าทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าคุณป้าน่าจะอาศัยอยู่ในละแวกนี้
ฉันและเพื่อนพร้อมใจกันส่งรอยยิ้มกลับไปแทนคำตอบ
“ไม่เห็นจะมีอะไรเลย” คำพูดของคุณป้าที่ตอบกลับมาถือเป็นจุดสิ้นสุดของบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอันแสนสั้น
เสียงเครื่องยนต์ของยานพาหนะสีแดงที่เรานั่งมาเงียบลงบ่งบอกให้รู้ว่าสุดสายแล้ว
ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงที่หมาย…ชุมชนหลวงบางหลวง
เข็มยาวและเข็มสั้นบนหน้าปัดนาฬิกาเดินมาบรรจบชี้ไปยังเลขสิบสอง โดยไมได้นัดหมายฉันและเพื่อนมองหาร้านอาหารที่อยู่ใกล้กับจุดที่เรายืนอยู่ ไม่ทันไรสายตาของฉันก็ไปสะดุดกับข้าวเหนียวมะม่วงที่ถูกจัดอย่างดีวางไว้บนโฟมหลายกล่องวางเรียงรายอยู่ในตู้กระจกใส ติดกันกับตู้ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นตู้กระจกใสที่ภายในมีเครื่องในต่างๆอยู่ในชาม มองทะลุไปจะเห็นหม้อที่บรรจุน้ำสีน้ำตาลที่กำลังเดือดปุดๆ ควันลอยฟุ้ง กลิ่นเครื่องเทศพะโล้หอมหวนชวนรับประทานลอยมาปะทะจมูกเข้าราวกับว่าเป็นการเอ่ยเชิญชวนให้เราเคลื่อนกายย้ายเข้าไปหาที่นั่งภายในร้าน และแน่นอนว่าพวกเราไม่มีทางปฏิเสธ ร้านก๋วยจั๊บสูตรโบราณที่มีทั้งโต๊ะสำหรับนั่งทานที่ตั้งไว้ภายในร้านหรือถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศริมน้ำนั่งชมทิวทัศน์ริมฝั่งคลองมองเรือแล่นผ่านไปมาโต๊ะบริเวณที่ติดกับริมน้ำถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เราเลือกนั่งริมน้ำ ชาวต่างชาติที่โดยสารเรือหางยาวแล่นผ่านไปล้วนส่งยิ้มหรือไม่ก็โบกไม้โบกมือทักทายเรา บ้างก็ยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพริมน้ำ
กลิ่นหอมลอยใกล้เข้ามา ก๋วยจั๊บสามชามถูกยกมาวางบนโต๊ะ โดยไม่ต้องมีสัญญาณปล่อยตัวใดๆเราต่างพร้อมใจหยิบช้อนตักชิมน้ำซุป ประสาทรับรสของฉันสัมผัสได้ถึงรสชาติกลมกล่มกำลังดี กลิ่นเครื่องเทศที่บ่งบอกได้ถึงความเข้มข้นของเครื่องเทศที่ใช้ทำน้ำซุป เราก้มหน้าก้มหน้าทานต่อโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรุงรสใดๆมาเพิ่มเติมความอร่อย
“ที่ฝรั่งมาดูก็มาดูที่นี่แหละ” เสียงหนึ่งลอยมาจากโต๊ะที่นั่งอยู่ด้านหลังขณะที่เรากำลังรับประทานก๋วยจั๊บกันอย่างเอร็ดอร่อย
“ฝรั่งนี่เก่งเนอะ เราคนไทยยังไม่รู้เลย” เสียงที่สองลอยมาจากทิศทางใกล้กันกับเสียงแรก เมื่อหันหลังไปก็พบว่าเสียงดังกล่าวเป็นเสียงของกลุ่มคุณป้าสามคนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างหลัง ดูจากการแต่งกายและกระเป๋าหนังสีดำเงาวับที่วางอยู่บนตักคุณป้าคนหนึ่งทำให้เราอนุมานได้ว่าคุณมาทั้งสามน่าจะเดินทางมาเพื่อเที่ยวชมชุมชนคลองบางหลวงเช่นเดียวกันกับเรา
เราเดินข้ามสะพานปูนที่แบ่งออกเป็นสองเลน เลนหนึ่งเป็นขั้นบันไดสำหรับเดิน ส่วนอีกเลนหนึ่งเป็นทางลาดสำหรับรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานซึ่งสามารถเดินได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเลนใดสะพานนี้ก็นำพาเราข้ามแม่น้ำไปยังปลายทางเดียวกัน…อีกฝากฝั่งของคลองบางหลวง
ชุมชนคลองบางหลวงแห่งนี้มีมากว่าร้อยปีแล้ว แต่ก่อนไม่ได้เรียกว่าคลองบางหลวงเนื่องจากข้าราชบริพารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาศัยอยู่แถวนี้จำนวนมาก ชาวบ้านผ่านไปมาจึงเรียกว่าคลองบางข้าหลวง
ริมฝั่งคลองทั้งสองข้างเป็นบ้านของชาวบ้านที่อยู่ติดริมคลองซึ่งล้วนแต่เป็นบ้านไม้ สุดปลายสะพานเลี้ยงซ้ายเราเดินผ่านของชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ พื้นหน้าบ้านก็เป็นพื้นไม้ยังคงไว้ซึ่งความเก่าแก่ดั่งเดิมไว้ไม่ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนให้สะดวกสบายหรือเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงวิธีชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่ายๆสบายๆ ปราศจากความเร่งรีบวุ่นวายแม้ว่าจะเป็นชุมชนที่อยู่ในเมืองใหญ่บางบ้านก็ปลูกต้นไม้ริมระเบียง บ้างก็สร้างพื้นที่สำหรับนั่งเล่นยื่นต่อออกไปริมน้ำ แม้การประดับตกแต่งหน้าบ้านจะแตกต่างกันไปตามความชอบและความพอใจของเจ้าของ(หน้า)บ้านนั้นๆ แต่สิ่งที่แทบทุกบ้านมีห้อยไว้ไม่ข้างประตูบ้านก็ห้อยไว้ตรงริมระเบียงเหมือนกันก็คือถุงที่มีทั้งขนาดเล็กใหญ่ที่บนถึงมีตัวเลขกำกับไว้ ภายในถุงหรือแม้แต่กระป๋องบางบ้านก็มีวางไว้บรรจุสิ่งที่ดูละม้ายคล้ายขนมแป้งทอดกรอบที่ในวัยเด็กหลายคนชื่นชอบซื้อมาเพื่อแกะเอาของแถมที่อยู่ในซอง วัตถุคล้ายขนมที่อยู่ในถุงใสๆมีทั้งสีแดง เขียว เหลือง บางบ้านก็มีสีส้ม สีม่วงด้วย บางถุงก็มีหลากหลายสีปะปนกันล้วนแต่มีสีสันสดใสดึงดูดใจ
“ต้องไม่ใช่แค่ห้อยไว้ประดับบ้านแน่ๆ” ฉันคิดในใจ
ฉันเดินไปเรื่อยๆ มองลงไปในน้ำเห็นมาสวายหลายตัวกำลังยื้อแย่งชิงวัตถุสีสันสวยคล้ายขนมนั้น ภาพหญิงสาวหนึ่งกำลังโยนวัตถุสีสวยลงไปให้น้ำเพื่อให้อาหารปลาเฉลยคำถามในใจนั้น
ฉันเดินมาถึงบ้านหลังหนึ่งที่มีคุณยายนั่งอยู่ริมระเบียง ไม่ใกล้ไม่ใกล้จากตรงที่คุณยายนั่งอยู่มีอาหารสีสวยอัดแน่นอยู่ในถุงพลาสติกใส ฉันซื้อมาสามถุง ด้วยความสงสัยจึงเอ่ยถามคุณยายว่าทำทุกบ้านถึงต้องมีติดไว้ราวเป็นสิ่งจำเป็นทีต้องมีติดบ้านไว้ก็ได้รับคำตอบว่าผู้ที่มาเที่ยวชมแถวนี้มักมาให้อาหารปลา เนื่องจากในบริเวณนี้เป็นเขตที่ห้ามจับปลาจึงทำให้มีปลาสวายจำนวนมาก ฉันมองลงไปในน้ำเห็นปลาสวายตัวหนึ่ง สีที่อ่อนของปลาสวายเผือกตัวนั้นทำให้มันโดดเด่นกว่าปลาตัวอื่นในน้ำ ฉันโปรยอาหารปลาลงไปในน้ำเล็งตำแหน่งที่ปลาสวายเผือกตัวนั้นอยู่
ปลาสวายเผือกไม่สนใจอาหารที่ฉันโปรยลงไป แม้จะอยู่ใกล้ตัวมันมากที่สุด ก่อนอาหารชิ้นนั้นจะถูกปลาตัวอื่นๆรุมแย่งชิงปะทะกันอย่างดุเดือดเพื่อให้ได้มันมา
เดินมาเรื่อยๆจนเกือบสุดทางเจอบ้านหลังหนึ่งที่มีป้ายติดไว้ว่า “บ้านศิลปิน (Artist’s House)” การถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านใครเหมือนเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ฉันมองเข้าไปในบ้านที่เปิดประตูทุกบานไว้ราวกับว่าพร้อมจะต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างเต็มใจ เราถือวิสาสะก้าวเข้าไปในบ้านได้ยินเสียงเพลงดนตรีไทยบรรเลงเปิดอยู่ในระดับที่ไม่เบาแต่ก็ไม่ดัง มองสำรวจภายในบ้านพบผู้มาเยือนชาวต่างชาตินั่งอยู่ที่โต๊ะใกล้กับประตูอีกบานหนึ่งกำลังจิบเครื่องดื่มอย่างสบายอารมณ์ เราจึงเดินไปที่เคาท์เตอร์ที่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีพี่น้อยเป็นคนจำหน่าย เครื่องดื่มที่นี่มีให้เลือกหลากหลายทั้งแบบร้อนแบบเย็น มีตั้งแต่ชา กาแฟ โกโก้ไปจนถึงน้ำผลไม้ ก่อนเดินทางมาที่นี่ได้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนคลองบางหลวงซึ่งบางเว็บไซต์ก็เรียกว่าตลาดน้ำคลองบางหลวงแต่เมื่อเดินทางมาถึงกลับไม่พบตลาดน้ำแต่อย่างใด
“มันไม่ใช่ตลาดน้ำ บางคนเข้าใจว่าเป็นตลาดน้ำแต่หากมาถามคนในพื้นที่จริงๆ เราจะบอกว่าไม่ใช่ตลาดน้ำ ทุกคนที่มาจะคาดหวังว่ามันจะมีของกินของขายเยอะแยะ แตกต่างจากที่คาดหวังอย่างสิ้นเชิง วันธรรมดาก็จะเงียบอย่างนี้แหละ เหมือนที่นี้ขายความเงียบไปแล้ว” พี่น้อยตอบข้อสงสัยของเราขณะกำลังชงโกโก้ “จะว่าไปในหนังสือก็เจอหลายเล่มนะ เขาเขียนว่าตลาดน้ำ” พี่รุ่ง นักแสดงที่คลุกคลีอยู่กับหุ่นละครเล็กมากว่าสิบปีกำลังนั่งทำหน้ากากหุ่นอยู่ริมระเบียงบ้านส่งเสียงเข้ามาร่วมวงสนทนา
“มันไม่ใช่ตลาดน้ำด้วยซ้ำ เป็นแค่ชุมชนเล็กๆ ชุมชนคลองบางหลวงหรือที่ภาษาราชการเขาเรียกว่าคลองบางกอกน้อย” พี่น้อยกล่าวพร้อมยกโกโก้ที่ชงเสร็จมาวางบนเคาท์เตอร์
“บ้านศิลปิน” บ้านริมน้ำทรงมนิลาสองชั้นหลังนี้มีอายุกว่าร้อยปี เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นของตระกูลรักสำหรวจ กว่าจะมาเป็นบ้านศิลปินอย่างที่เห็นอย่างทุกวันนี้ได้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์ชุมพล อักพันธานนท์ ผู้เป็นนักสร้าง นักซ่อม นักเขียนที่ผ่านมาพบบ้านหลังนี้ก็เกิดความชื่นชอบจึงขอซื้อต่อจากคุณนายประไพ รักสำหรวจ หลังจากนั้นก็ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้านหลังนี้และได้เปิดเป็นบ้านศิลปินมาได้ประมาณ 4 ปีแล้วซึ่งปีนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 5
สิ่งหนึ่งในบ้านหลังนี้ที่สะดุดตาอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้ามาในบ้านก็คือ บริเวณตรงกลางบ้านมีองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุกว่า300ปี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมทรงจอมแห มีการก่ออิฐปูน ย่อมุมไม้สามสิบสองอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยา เจดีย์องค์นี้เป็นหนึ่งในสี่องค์ที่แสดงอาณาเขตของวัดกำแพงบางจาก
“ตรงนี้ว่างไหมครับ”
“ว่างค่ะ นั่งได้” เมื่อได้รับของตอบชายที่บนเสื้อด้านหลังของเขามีข้อความเขียนไว้ว่า “Klong Guru”ก็หันไปสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่เขาพามาด้วย
ชาวต่างชาติพ่อ ลูกชายและลูกสาววางกล่องกินข้าวลงนั่งร่วมโต๊ะกับเรา ส่วนผู้เป็นแม่และลูกสาวอีกคนได้นั่งโต๊ะสำหรับนั่งสองใกล้กันกับโต๊ะของเรา จากการพูดคุยกับชายผู้สวมเสื้อ Klong Guru หรือพพี่วิศนุซึ่งทำงานอยู่ที่โรงแรมอนันตรากรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ ผู้ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ร่วมเดินทางพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมที่ต่างๆ ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกของการมาชุมชนหลวงบางหลวงให้เราฟังว่าเขาอดแปลกใจไม่ได้ว่า “เอ๊ะ ที่นี่มันกรุงเทพฯหรือเนี่ย มีอย่างนี้ด้วยเหรอ” จากนั้นก็เกิดความประทับในใจชุมชนริมคลองที่ตั้งอยู่ในเมืองกรุงแห่งนี้จึงได้นำไปจัดไว้ในโปรแกรมทริปเที่ยวชมคลองของทางโรงแรม
“ได้ดูวิถีชีวิตที่อยู่ริมคลอง สถานที่ที่อยู่ตรงนี้มีความน่าสนใจเพราะว่าได้ดูหุ่นละครเล็กด้วย โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็ชอบที่นี่ ได้รับความสุขกับไปกันทุกคน” พี่วิศนุยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อเขาถามเด็กหญิงลูกสาวคนโตของครอบครัวที่เขาพามาเที่ยวในวันนี้ว่าเธอชอบอะไรที่นี่ เด็กหญิงชาวสวิตเซอร์แลนด์ตอบกลับมาว่าเธอชอบที่บ้านและสิ่งก่อสร้างที่นี่อยู่บนน้ำเพราะที่บ้านของเธอไม่มีอะไรแบบนี้ หลังจากนั้นจึงขอตัวไปทานมื้อกลางวันประจวบเหมาะกับไซมอนผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่รับประทานมื้อกลางวันเสร็จพอดีจึงเอ่ยถามถึงความรู้สึกของการมาเที่ยวที่ชุมชนคลองบางหลวง “ที่นี่แปลกใหม่มากสำหรับพวกเราซึ่งแน่นอนว่าเป็นความแปลกที่เป็นไปในทางที่ดี ผู้คนที่นี่สุภาพมากๆ พวกเขาดีกับเราและลูกๆของเรา ที่นี่เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากๆเพราะยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งถ้ามีโอกาสเขาและครอบครัวจะกลับมาที่นี่อีกครั้ง” เมื่อพูดจบเขาก็หันไปพูดคุยกับฮานะลูกสาวคนโตเป็นภาษาสวีดิชก่อนจะหันมาแปลงคำตอบภาษาสวีดิชนั้นเป็นภาษาอังกฤษให้ฉันฟังว่า “เธอก็อยากกลับมาที่นี่อีกเช่นกัน”
“กราบสวัสดีแขกผู้มีเกียรติที่มาเยือนบ้านศิลปินของเราในวันนี้นะครับ ในระหว่างนี้จับจองที่นั่งกันก่อน..”
เสียงพิธีกรดังลอยมาจากอีกด้านหนึ่งของบ้านที่ถูกจัดไว้สำหรับเป็นพื้นที่ที่ใช้ในชมการแสดงหุ่นละครเล็กที่มีการแสดงเวลาบ่ายสองโมงทุกวันยกเว้นวันพุธ ในวันนี้เสนอในตอนหนุมานจับนางเบญจกาย
ก่อนจะเริ่มทำการแสดงทุกครั้งต้องมีการไหว้ครูก่อนเพื่อความเป็นศิริมงคลและเพื่อให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่น จากนั้นก็จะมีการนำหุ่นมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด หุ่นบางตัวก็หยอกล้อเล่นกับผู้ชม
หนุมานออดอ้อนจนคุณป้าคนหนึ่งควักธนบัตรสีม่วงมายื่นให้เป็นรางวัลซึ่งเป็นคุณป้าคนเดียวกันกับที่ฉันเห็นที่ร้านก๋วยจั๊บเมื่อตอนเที่ยง คุณป้ายกไอแพดขึ้นมาถ่ายภาพการแสดงเป็นระยะ ครอบครัวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวก็ตื่นเต้นและถ่ายรูปการแสดงอย่างสนุกสนานจนอดแปลกใจไม่ได้ว่าพวกเขาสามารถเข้าใจเรื่องราวที่ใช้ในการแสดงหรือไม่จากการสอบถามพี่วิศนุจึงได้ทราบคำตอบว่า “ได้มีการช่วยแปลให้ฟังบ้างระหว่างที่ชมการแสดง แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือการได้มองเห็นภาพ”
การแสดงหุ่นละครเล็กที่บ้านศิลปินนั้นเพิ่งมีเมื่อสองปีก่อน พี่ตี๋หรือจตุพร นิลโท ผู้เป็นทั้งพิธีกรและนักแสดงของละครหุ่นละครเล็กคณะคำนายพูดถึงกิจกรรมต่างๆของที่นี่ให้พวกเราฟังว่าเมื่อก่อนนี้มีการสอนศิลปะและการทำจิวเวอรี่ให้แก่ผู้ที่สนใจ แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ถูกเอาออกไปเนื่องจากขาดบุคลากรในสอน
การชมละครที่นี่จะมีตารางการแสดงตลอดทั้งเดือนว่าเรื่องใดจะแสดงวันใดซึ่งในวันเสาร์อาทิตย์นั้นจะมีความพิเศษกว่าวันธรรมดาเพราะเป็นวันหยุดซึ่งคนมักมาเที่ยวกันเป็นครอบครัวจึงมีการแสดงชุดพิเศษ เช่น คนเชิดหุ่นปะทะคนเชิดโขนหรืออาจเพิ่มการแสดงจากหนึ่งชุดเป็นสองชุด นอกจากนี้ในวันเสาร์และอาทิตย์ยังเปิดสอนการแสดงให้แก่ผู้ที่สนใจฟรีเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการสืบการศิลปวัฒนธรรมของไทยให้ดำรงไว้แก่คนรุ่นใหม่ซึ่งพี่ตี๋ได้กล่าวว่า “ก็อยากให้เด็กๆมีกิจกรรมทำ สอนท่าง่ายๆให้เขาได้มีการต่อยอด” นอกจากนี้ที่นี่ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นการเพ้นท์หน้ากากหุ่น การระบายสีตุ๊กตา ปูนปลาสเตอร์ การทำภาพพิมพ์ หรือสำหรับผู้ที่สนใจภาพศิลปะชั้นบนของบ้านก็สามารถขึ้นไปชมผลงานศิลปะจากศิลปินหลากหลายคนมีทั้งภาพจิตรกรรมและภาพถ่ายซึ่งหากสนใจสามารถติดต่อขอซื้อได้ เมื่อชมละคร เพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆแล้วสามารถซื้อของฝากที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปได้อีกด้วย ของที่ระลึกที่มีจะหน่ายก็มีหลากหลายอย่างตั้งแต่โปสการ์ดที่มีภาพสวยๆประกอบข้อความคำคมแฝงข้อคิด พวงกุญแจ กระปุกออมสิน สมุดวาดภาพและหนังสือหลายปกให้เลือกหยิบติดไม้ติดกลับไปอ่านที่บ้าน
“ไม่อยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ลืมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ไม่อยากให้ลืมว่าความเป็นไทยของเราคืออะไร ไม่ต้องมาเล่นเหมือนเรา มาเชิดเหมือนเรา แต่ขอให้คุณชมแล้วรู้ว่านี่คือศิลปะของไทยที่มันดีงาม ยังคงมีอยู่ ไม่อยากให้ศิลปะมันอยู่ในตู้” การมาบ้านศิลปินในครั้งนี้นอกจากพวกเราจะได้ของฝากกลับไปฝากคนรู้จักแล้วยังได้คำพูดแฝงข้อคิดของพี่ตี๋ที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่กลับไปอีกด้วย
บทสนทนาจบลงแต่เครื่องเล่นเพลงยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป นับตั้งแต่ที่พวกเราก้าวเข้ามาในบ้านหลังนี้เสียงเพลงที่เปิดตลอดเวลาราวกับเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบฉากความประทับใจของทุกชีวิตที่ได้ย่างกรายก้าวเข้ามาในบ้านหลังนี้
“อย่าร้องเพลงด้วยปากเพราะเราจัดให้ความเงียบเป็นเพลงเพราะสุดๆของทุกคน” เมื่อเดินสำรวจรอบๆบ้านแม้จะพบข้อความนี้ปรากฏอยู่บนกระดาษที่ติดไว้บนผนัง แต่ความคิดฉันกลับส่งเสียงร้องประกอบท่วงทำนองเพลงไทยสากลบรรเลงโดยใช้ขิมไร้ซึ่งเสียงร้อง
“ให้เธอสัมผัสความคิดที่ฉันทิ้งไว้
อาจไม่เห็นได้ด้วยตา
ฉันจะฝากเอาไว้ อยู่ในพื้นดินและท้องฟ้า”
ในขณะที่สมองอีกส่วนก็สั่งการให้มือบรรจงถ่ายทอดความรู้สึกลงในสมุดเยี่ยม
“มันเป็นความคิดที่กระซิบว่า…”
“สัญญาว่าจะกลับมาที่นี่อีก”
ประโยคสุดท้ายถูกแปลงจากความรู้สึกกลั่นออกมาเป็นตัวอักษรผ่านหมึกสีดำที่ค่อยๆไหลแทรกซึมลงบนหน้ากระดาษ