งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9
ธีรพงษ์ โชคสถิตย์ : เขียน
กิตติธัช โพธิวิจิตร : ภาพ
|
||
ก้าวแรก สำคัญเสมอ
“คุณเคยไปเที่ยวที่ไหนบ้าง?” คำตอบของคำถามนี้ง่ายมาก วัด ห้างสรรพสินค้า ทะเล และตลาดนัด วนกันไปวนกันมา “คุณรู้สึกบ้างไหม?” คุณเที่ยวเป็น วัฏจักร วนเวียนไปมาอยู่กับตัวเลือกไม่กี่ตัวเลือก อาจจะมีแตกต่างไปบ้างในบ้างครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาหาตัวเลือกเหล่านี้อีกครั้ง
วันนี้ผมจะพาคุณหลุดออกจากกรอบที่ครอบงำความคิดคุณไว้ “ไม่! ผมจะไม่พาคุณไปปั่นจักรยานชมเมือง เพราะสิ่งนี้กำลังจะเป็น สิ่ง ต่อไปที่เข้าไปอยู่ในวัฏจักร คิดอะไรไม่ออก ไปปั่นจักรยาน” แต่ผมจะพาคุณไปใช้ชีวิตให้ช้าลง ไปมองสิ่งต่าง ๆ ให้นานขึ้น และรู้สึกให้ลึกขึ้น “คิดถูกแล้วครับ เราจะเดินเที่ยวย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยาวไปถึงวัดราชบพิธฯ” ย่านเก่าของเราแต่ก่อน เรื่องเล่ามากมายที่ถูกกล่าวขานถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเกิดขึ้นที่นี้ ย่านที่เคยเป็นและยังคงเป็น จุดกำเนิดและแตกหักของเหตุการณ์สำคัญ ๆ ย่านเดียวที่ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจมากมายไม่รู้จบ
และเพื่อตอบรับกับกระแสมาแรงแซงโค้งแห่งปี “กรุงเทพฯเมืองหนังสือโลก” ผมจะพาคุณไปพบกับสถานที่พิเศษเสมอสำหรับผม ที่ผมต้องแวะทุกครั้งที่เดินผ่านมาย่านนี้ “ร้านหนังสืออิสระ ร้านหนังสือของแท้ที่พบได้ในชาตินี้” ร้านเหล่านี้ไม่มีสาขา ทุกร้านมี “วิถี” เฉพาะตัวในแต่ละร้านที่ไม่ซ้ำแบบใครและไม่มีใครเหมือน คุณจะได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ร้านหนังสือมีอะไรเยอะกว่าคำว่า “ยานอนหลับ” เยอะมากนัก
“เอาล่ะ!” ได้เวลาออกเดินทางแล้ว ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น สายลมแห่งการเดินทางกำลังพัดหนมุน เวลาเดินไปไม่เคยคอยใคร จังหวะชีวิตร้องเรียกคุณอยู่ เปิดตาเปิดใจให้กว้าง หยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมา ผมหวังว่าเมื่อตะวันลับขอบฟ้าคุณจะได้พบ “ร้านขายยา” ที่เหมาะกับคุณ
ร้านหนังสือเดินทาง จุดนัดพบของคนเดินทาง
ร้านหนังสือเล็ก ๆ ขนาดหนึ่งคูหาที่หลบซ่อนตัวอยู่บนถนนพระสุเมรุ ของพี่ หนุ่ม อำนาจ รัตนมณี คือจุดหมายแรกของวันนี้ ถ้าเดินเข้ามาทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เดินช้า ๆ ชมวิวไปสักพัก ไม่นานก็จะถึงร้าน “ร้านหนังสือที่เรียกเหล่านักเดินทางทั้งหลาย ให้แวะเวียนเข้าไป มิอาจจะเดินผ่านไปเฉย ๆ ได้อย่างแน่นอน”
“ขึ้นชื่อว่าร้านหนังสือเดินทาง ผู้คนก็ต่างเดินทาง แล้วใยร้านจะเดินทางบ้างไม่ได้” เริ่มแรกเดิมทีร้านหนังสือเดินทางตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์เป็น จุดหมาย และ ระหว่างทาง ที่ควรแวะหากมีโอกาสผ่านถนนเส้นนี้ แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา 4 ปีต่อมา พี่หนุ่มตัดสินใจปิดร้านหนังสือฯ บนถนนพระอาทิตย์ลงเนื่องจากปัญหาทางการเงิน—ได้เวลาออกเดินทาง ผ่านไปไม่ถึงปี ร้านหนังสือเดินทาง—เดินทางกลับมาหานักเดินทางอีกครั้ง บนถนนพระสุเมรุด้วยความรักที่มีต่อร้านหนังสือฯของพี่หนุ่ม ล้วน ๆ ถ้าถามพี่หนุ่มว่า อนาคตร้านหนังสือฯจะออกเดินทางอีกไหม? “อีก 10 ปี พี่คิดว่าร้านหนังสือเดินทางยังคงอยู่ แต่จะอยู่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ”
หนังสือเดินทาง—Possport เป็นชื่อที่มาจากความตั้งใจของพี่หนุ่ม ที่ตั้งใจจะขายหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว “แต่คำว่า เดินทาง ไม่ได้จำกัดหนังสือท่องเที่ยวอย่างเดียว ยังนิยามไปในถึงหนังสือปรัชญาหรือวรรณกรรมดี ๆ ที่อ่านแล้วรู้สึกว่า ฉันต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หรือฉันอยากไปเห็นอะไรที่แตกต่างบ้าง ก็เป็นการเดินทางอีกทางหนึ่ง เช่นกันครับ”
“สองเท้าก้าวเข้ามา อย่ารอช้า” ที่หน้าร้านเสาทั้งสองข้างของร้าน (ผมทราบภายหลังว่า เป็นประตูบานพับ) เรียงรายไปด้วยโปสการ์ดทำมือสวย ๆ มากมาย และถ้าสังเกตให้ดีภายในร้านจะมีกระดานรับฝากข่าว ประกาศหาเพื่อนเที่ยวเนปาล จดหมายฝากถึงนักเขียนในดวงใจ ประกาศรับสมัครงาน สิ่งนี้พี่หนุ่มตั้งใจให้เป็น เว็บบอร์ด “สำหรับเด็กที่โตมากับ มือถือกด ตึ๊ก ตึ่ก ตึ๊ก ตึ่ก โดยเฉพาะ” ด้านในร้าน คุณสามารถสั่งกาแฟและชาขึ้นไปนั่งรับประทานบนชั้นสองของร้านได้ พิเศษสำหรับชา ที่นี่มีชาให้เลือกเป็นชั้น ๆ “ผมแนะนำ หลับตาจิ้มเลยครับ คุณจะรู้สึกเหมือนได้เดินทางไปชิมชา ณ ดินแดนอันไกลโพ้น” และที่ชั้นสองของร้าน คุณจะพบกับภาพถ่ายของนักเดินทางจากทั่วโลก ที่นำภาพของตนมาอัดกรอบฝากพี่หนุ่มขาย ชิมชาเพลิน ๆ อ่านหนังสือวางแผนการเดินทางครั้งหน้า ชมภาพถ่ายสวย ๆ จากทั่วโลก “แค่นี้ก็สุขล้นเกินจะบรรยายแล้วครับ”
ก้าวที่มั่นคง บน ถนนราชดำเนิน
ในประเทศไทย จะมีถนนสายไหนที่ยิ่งใหญ่เท่าถนนสายนี้? ถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์(อำนาจ)บ่อยครั้ง และถูกกล่าวถึงบนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน เป็นที่สังเกตว่า “งานเฉลิมฉลองตระการตา กับสมรภูมิเลือดเพื่อแย่งชิงอำนาจ” เคยเกิดขึ้นบนถนนสายเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบัน สถานที่เชิงสัญลักษณ์มากมายถูกสร้างขึ้นบนถนนสายนี้ ใช่แล้วครับ เรากำลังเดินอยู่บนถนน “ราชดำเนิน”
ถนนราชดำเนิน “ฉากแห่งความศิวิไลซ์” ประกอบด้วยถนนสามสาย คือ ราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน ตลอดแนวถนนพาดผ่านคลองสำคัญสามสาย คือ คลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมถนนทั้งสามสายให้ต่อเนื่องเป็นสายเดียวกันด้วย สะพานผ่านพิภพลีลา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสะพานมัฆวานรังสรรค์ เชื่อมศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสองแห่งเข้าด้วยกัน คือ พระบรมมหาราชวัง และพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต “ถนนที่สวยงามและเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน”
ส่วนระหว่างกลางถนนที่ผมกำลังเดินอยู่นั่น จะเริ่มกล่าวถึง ณ บัดนี้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างโดย รัฐบาลคณะราษฎร เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย สถาปัตยกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อแสดงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ แต่สัญลักษณ์ครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา เพราะเป็นการแสดงอำนาจ รัฐ(คณะราษฎร) โดยตรง ในสมัยนั่น อาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลางถูกออกแบบใหม่ด้วย “สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย” ซึ่งต่างกับสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง (ในปัจจุบัน สถาปัตยกรรมลักษณะนี้ ยังพบเห็นได้บ้างบนถนนราชดำเนิน) เพื่อสื่อถึงนัยแห่งความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มิใช่กษัตริย์อีกต่อไป และถนนราชดำเนินก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง
ในปัจจุบันถึงวันนี้ ถนนสายนี้ถูกพลัดเปลี่ยนมือผู้เล่นอีกครั้ง คราวนี้อำนาจตกไปอยู่กับ “กลุ่มคนชั้นกลาง” ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจมากขึ้น เป็นที่มาของเหตุการณ์พลังประชาชนที่เป็นข่าวไปทั่วโลก 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์การรวมตัวเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยอีกหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั้งในปัจจุบันก็ยังมีให้พบเห็น ถนนราชดำเนินถูกใช้เพื่อแสดงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง ในรูปแบบของเวทีเพื่อแสดงพลัง การต่อสู้ ต่อรอง และเรียกร้องความต้องการต่าง ๆ อันเป็นที่มาของ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” บริเวณหัวมุมของสี่แยกคอกหัวถัดจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ไกลนัก สถาปัตยกรรมชิ้นใหม่จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำอีกแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนินสายนี้
ริมขอบฟ้า อยู่ตรงไหน?
ริมขอบฟ้า—“ไม่ว่าเราจะร่ำเรียน จะอ่านหนังสือมากเท่าไร ความรู้ก็ไม่มีวันหมด เปรียบเสมือนริมขอบฟ้า ที่มองหาเท่าไร ไล่ตามขอบฟ้าไปเท่าไร ก็ไม่มีวันตามหาขอบฟ้าเจอ ต้องค้นหาไปเรื่อย ๆ ”
ร้าน หนังสือริมขอบฟ้าตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยรูปแบบอาคารกระจกชั้นเดียวทรงเว้าเข้าขนานไปกับวงเวียน ร้านหนังสือแห่งนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์หนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกได้ว่า
“ถ้ามาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วไม่ได้แวะร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถือว่ามาไม่ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
“รู้เรื่องเมืองไทย” นโยบายของร้านริมขอบฟ้า ที่พี่ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร นักออกแบบสิ่งพิมพ์/ทีมงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิกประจำร้าน บอกกับผมเมื่อเราเริ่มสนทนากัน จากนโยบายข้างต้นทำให้หนังสือในร้านส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับ “เมืองไทยอันเป็นที่รักหยิ่งของเรา” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ สารคดี ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม กลอน วรรณกรรมไทย นับได้ว่าเป็นร้านหนังสือที่มีความเป็น ปัจเจก ในตัวเองที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยเอาไว้อย่างครบถ้วน
พิเศษสำหรับมุมหนังสือแนะนำประจำเดือน ถ้าคุณเข้าในร้านทั่วไปมุมหนังสือแนะนำคือมุมหนังสือใหม่หรือหนังสือขายดี แต่ที่นี้ไม่ใช่มุมหนังสือแนะนำจะเปลี่ยนไปตามหัวข้อที่ทางร้านกำหนดขึ้นในแต่ละเดือน พี่ต้นอธิบายว่า “เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะเป็นมุมประวัติศาสตร์ทางการเมือง ก็จะไปค้นหนังสือทางการเมืองที่เราสามารถค้นมาได้ เอามารวมไว้ที่มุมนี้ บางครั้งต้องสั่งหนังสือพิเศษเข้ามาโดยเฉพาะก็มี”
และพิเศษที่สุด ทุกเดือนร้านหนังสือแห่งนี้จะมีการจัดเวที เสวนา ขึ้น พี่ต้นจะทำหน้าที่เลือกหัวข้อที่จะใช้ในการเสวนา โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องจากตัวอักษรไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น พี่ต้นเล่าให้ฟังว่า “ครั้งล่าสุด สังคมกำลังสนใจเรื่องพระพิฆเนศ เราเลยจัดกิจกรรมไหว้พระพิฆเนศขึ้นมา สนุกมาก เป็นการไหว้พระพิฆเนศอย่างเต็มรูปแบบของอินเดีย มีการเชิญพราหมณ์มาทำพิธี คนให้ความสนใจกันเยอะมาก” เรื่องราวสนุก ๆ แบบนี้เกิดขึ้นที่ร้านทุกเดือน “สงสัย ผมต้องคอยตามข่าวของร้านให้ดี ๆ ซะแล้ว”
สุดท้าย ถ้าคุณอยากรู้เรื่องราวของผืนแผ่นดินที่คุณยืนอยู่มากยิ่งขึ้น อย่าลืมแวะมาที่ร้านหนังสือหัวมุมถนนแห่งนี้ รับรองว่า คุณจะได้พบกับ ฟากฟ้าที่กว้างใหญ่ และ ริบขอบฟ้าอันไพศาล อย่างแน่นอน
เดินจงกรม เดินช้า ๆ อย่างมีสติ
ย่านเสาชิงช้า เป็นย่านที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ และเป็นย่านที่คุณจะเห็นพระพุทธรูปตั้งโชว์อยู่หน้าร้านตลอดสองฟากถนน และจะเป็นย่านที่คุณคิดถึงตัวเองมากที่สุดด้วย
สำหรับหรับผม ย่านนี้ คือ ความสงบที่มีเสียง เพราะทุกขณะที่ผมก้าวเดิน หูผมจะได้ยินเสียงวุ่นวายของการใช้ชีวิต แต่ดวงตากลับมองเห็นพระพุทธรูปผู้สงบนิ่งทั้งกายและใจ แล้วสมองผมก็จะเริ่มคิด “คิดถึงการกระทำที่ผ่านมาของผม จดจำทุกการกระทำดี และตระหนักทุกการกระทำไม่ดี” ผมชอบที่จะเดินช้าลงอีกสักนิด เพื่อที่จะเฝ้าสมองพระพุทธรูปได้นานขึ้นอีกหน่อย “แล้วคุณละครับ ย่านนี้จะทำให้คุณ เดินเร็วขึ้นหรือช้าลง?”
จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ผมพบว่า การขายเครื่องสังฆภัณฑ์บริเวณย่านเสาชิงช้า มีมานานมากกว่า 100 ปี เริ่มตั้งแต่บริเวณประตูสำราญราษฎร์(ประตูผี) ต่อมาเมื่อการค้าขายดีขึ้น ก็เริ่มมีการขยับขยายกิจการมาเรื่อย ๆ ตามสองฟากของถนนบำรุงเมือง จนมาถึงบริเวณ สี่กั๊กเสาชิงช้า ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มีโรงหล่อพระและอุตสาหกรรมขนาดย่อม บริเวณด้านหลังตึกแถวที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้า เชื่อมโยงกันระหว่าง แหล่งผลิต กับ แหล่งค้าขาย สิ่งนี้คือ “ความฉลาดของคนโบราณ หรือ ความล้ำของเด็กวัยรุ่น” ที่เมื่อผลิตสินค้าเสร็จก็ไม่ต้องขนส่งไปที่ไหนไกล ยกมาส่งที่หน้าร้านพร้อมขายได้เลย เป็นการสะดวกทั้งผู้ขายและผู้ผลิต หรือลูกค้าที่ต้องการสินค้าสั่งทำพิเศษ ก็สามารถติดต่อแหล่งผลิตได้ทันที
ขณะที่คุณและผมกำลังเดินบนถนนบำรุงเมือง เห็นการค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์มากมายตลอดสองฟากถนน และนับพระพุทธรูปได้หลายร้อยองค์นั่น ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า “การที่กิจการสังฆภัณฑ์เจริญรุ่งเรืองมากขนาดนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก คนไทยยังนับถือพุทธศาสนา และผีสางเทวดากันอย่างเหนียวแน่น”
เดินไปด้วยกัน โตไปด้วยกัน รักโลกไปด้วยกัน
“แล้วคุณจะหลงรัก สวนเงินมีมา” ร้านสีเขียวสด ร้านหนึ่งที่กล้าที่จะยืนหยัดตัวเองขึ้นมาท่ามกลางสีดำมากกมายที่โลกทุนนิยมสร้างขึ้น ด้วยแนวคิด “ผู้ประกอบการสังคม” ธุรกิจที่เอื้อในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สร้างจุดเปลี่ยนให้กับสังคม สำหรับที่นี่ อาหารกาย อาหารสมอง และอาหารใจคือหนึ่งเดียวกัน
อย่าตกใจถ้าที่นี่จะขาย หนังสือที่มองไปข้างหน้า อาหารที่ปลอดสารพิษ และสินค้าชุมชนจากมือชาวบ้านของจริง ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในอาคารพานิชหลังหนึ่งบนถนนเฟื่องนครภายใต้ชื่อ “ร้าน สวนเงินมีมา” ที่นี่ผมมีนัดผู้คุยกับ พี่มิ วรนุช ชูเรืองสุข บรรณาธิการ คนสวย ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา สำนักพิมพ์ที่ต้องการให้สังคมเกิดการตระหนัก หันมาทบทวนตัวเอง และเริ่มคลีคลายปัญหาที่เกิดจากโลกทุนนิยม “ที่นี่เราให้พื้นที่สำหรับหนังสือของเราแค่ชั้นเดียว นอกนั่นเราพยายามคัดหนังสืออื่น ๆ ที่เราคิดว่าให้สาระ มีประโยชน์ หนังสือบอกอะไรบางอย่างกันคนอ่าน”
ร้านหนังสือ ที่ไม่ได้ขายหนังสือ “คนที่เข้ามาเพื่อที่จะอ่านหนังสือ ไม่ว่าเขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ พี่เชื่อว่าเขาต้องได้อะไรกลับไป เพราะทุกช่วงเวลาที่เขาอยู่ในร้าน สายตาของเขาจะต้องมองเห็นหนังสือ แล้วสักวันหนึ่งเขาจะหยิบหนังสือเหล่านั่นขึ้นมาเปิดอ่าน แต่แค่เรายังไม่ใจกว้างพอที่จะให้เขายืมกลับไปอ่านที่บ้าน”
หลังจากที่รู้จักสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ลำดับต่อไปพี่มิแนะนำให้ผมรู้จักกับ พื้นที่ขนาดกำลังพอดีของสวนเงินมีมา ที่เปิดรับสินค้าชุมชน “เราทำผ้าฝ้ายที่น่าน เรามองว่าที่น่านยังมีแหล่งปลูกฝ้าย ยังมีคุณป้าที่มีผีมือในการทำผ้าฝ้ายลายพื้นเมือง แต่ไม่มีงานให้เขาทำ เราเลยยืนมือเข้าไปช่วยเหลือเขาในตรงนั่น โดยให้เขาผลิตผ้าฝ้าย 100% มาขายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน” ยกตัวอย่างการนำสินค้าจากชุมชนชิ้นหนึ่งมาขาย ต้องมีการเช็คต้นทางที่มาที่ไปของสินค้า ต้องมาจากธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีสารเคมีมาเจือปน มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านจริง ๆ และกำไรที่ได้จะกลับคืนสู่ชุมชนจริง ๆ พี่นิบอกชัดเจนว่า “ไม่ใช่สินค้าอะไรก็ได้ ที่จะมาขายที่นี่”
ร้านค้าของธรรมชาติ “คนเราไม่จำเป็นต้อง … อย่างบ้านเราอาหารเยอะแยะ เราไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด พืชผลก็มีสีอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องใส่สีผสมอาหาร เราไม่จำเป็นต้องแต่งรสแต่งกลิ่น” นี่คือสิ่งที่ร้านเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่ ที่อาจหาญต่อกรกับโลกแห่งทุนนิยมเพื่อโลกสีเขียวใบนี้ “แล้วคุณล่ะ พร้อมจะทำอะไรเพื่อโลกนี้บ้าง?”
วรรคทอง บนถนนเฟื่องนคร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามกับ ร้านสวนเงินมีมาและร้านหนังสือศึกษิตสยาม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างเสร็จในปี 2413 เป็นวัดที่มหาสีมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ จึงพระราชทานนามว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” แปลว่า “วัดซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างและเป็นวัดซึ่งมีมหาสีมาตั้งอยู่”
ที่หน้าประตูทางเข้าวัดแกะสลักเป็นรูปทหารถือปืนเรียกว่า “นายทวารบาล” ซึ่งถ้าสังเกตประตูแต่ละบานจะพบว่าเครื่องแต่งกายของนายทวารบาลจะแตกต่างกันออกไป
เมื่อเดินข้ามธรณีประตูวัดเข้าไปนั่น จะพบกับสถาปัตยกรรมของวัดที่แปลกตาคล้ายวัดพระปฐมเจดีย์ มีการจัดวางพระบรมหาเจดีย์องค์ของเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด มี พระอุโบสถอยู่ทางทิศเหนือ พระวิหารอยู่ทางทิศใต้ และพระวิหารทิศตะวันออก พระวิหารทิศตะวันตก เป็นทางเข้าออกพระระเบียง ทั้งหมดประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อันโดดเด่นและงดงาม
พระอุโบสถและพระวิหารมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นอาคารทรงจัตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น รูปทรงภายนอกเป็นแบบไทย แต่ข้างในเป็นแบบยุโรปสมัยโกธิค เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ผนังด้านในเป็นลายดอกไม้ร่วงสีทองบนพื้นสีน้ำเงิน “ข้างนอกคุณเที่ยวเมืองไทย ข้างในคุณเที่ยวยุโรป”
“เมื่อแสงแดดสีทองยามเช้าส่องมากระทบ คงเป็นภาพที่สวยงามจับใจ เสียดายที่ไม่ได้มาตอนเช้า”
ร้านหนังสือในตำนาน
ผมคิดมาโดยตลอดว่าจะเล่าตรง(จุด)ไหนของร้านหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยพลังชีวิตของผู้คนมากมาย ตรง(จุด)ไหนที่คู่ควรที่จะเล่าเพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจร้านหนังสือ ตัวเล็กแต่ใจใหญ่ และตรง(จุด)ไหนที่ทำให้ผู้คนไม่ลืม “ศึกษิตเสวนา(เฟสบุ๊คทางปัญญา)” ที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา
ท่ามกลางไฟที่เร้าร้อนของคนหนุ่มสาว ความคิดอิสระของนิสิตนักศึกษา และความอึดอัดภายใต้ระบอบเผด็จการ ได้กำเนิดสถานที่ “ก่อหวอด” ทางปัญญาที่มีแนวคิดว่า “แม้เธอจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ก็ขอให้กล้าพูดและจริงใจต่อความคิดเห็นของตัวเธอเอง ยึดถือเหตุและผล มีความกล้าทางจริยธรรม” ด้วยเหตุนี้เองร้านหนังสือ “ศึกษิตสยาม” จึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2510 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่นานนัก
“ศึกษิตสยาม” เป็นคำที่ น.ม.ส.(พระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส) แปลมาจากคำว่า “Educated” หมายถึง ผู้คงแก่เรียนแห่งสยาม ที่ ส.ศิวรักษ์(สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ผู้ก่อตั้งร้านนำมาเชื่อมโยงถึงความเป็น ปัญญาชนสยาม ของผู้คนที่จะเข้ามาในร้านหนังสือของเขาบนห้องแถวสี่ชั้นริมถนนพระรามสี่แขวนสามย่านแห่งนี้
ในเวลาไม่กี่อึดใจหลังการเปิดร้านหนังสือ ศึกษิตเสวนา ก็เกิดขึ้นตามมาโดยทันที เวทีเสวนาและอภิปรายประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เข้มข้นโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ผ่านการเขียน การอ่าน การแสดงความคิดเห็น จนกระทั้งลงมือเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นแหล่งกำเนิดนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งเริ่มแรกของสำนักงานบรรณาธิการวารสาร “อนาคต” มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งทุกสิ่งล้วนต้องการสร้างประเทศไทย ที่ดีขึ้น และดีกว่าทุกวันนี้
ในปัจจุบัน ศึกษิตสยามไม่ได้อยู่ที่สามย่านอีกต่อไป แต่ย้ายมาอยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงข้ามวัดราชบพิชฯ
คงไม่มีเหตุอื่นใดที่ต้องกล่าวนอกจาก “ลองไปเยี่ยมเยือน ร้านหนังสือในตำนาน ร้านนี้สักครั้งหนึ่งเถิด”
ก้าวสุดท้าย เศร้าเสมอ
วันนี้ผมเริ่มเดินทางตั้งแต่ ร้านหนังสือเดินทาง ผ่านถนนราชดำเนินกลาง แวะร้านริมขอบฟ้า เดินชมพระพุทธรูปที่เสาชิงช้า เลี้ยวเข้าร้านสวนเงินมีมา ชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของวัดราชบพิธฯ และอ่านประวัติศาสตร์บทหนึ่งของร้านศึกษิตสยาม
คุณค่าของการเดินทางในวันนี้ผม ผมได้รับทั้งหมดแล้ว แต่ผมไม่อยากให้การเดินทางของคุณ จบอยู่ที่การอ่านสารคดีบทนี้ คุณมีรองเท้าของคุณ ผมมีขาของผม นี่คือการเดินทางของผม ไม่ใช่การเดินทางของคุณ ใส่รองเท้าของคุณซะ ได้เวลาเดินทางของคุณแล้ว
ทุกการเดินทางมีปลายทาง มีเส้นชัย และมีก้าวสุดท้าย สำหรับคนที่รักการเดินทางอย่างผม “ไม่ชอบหรอกครับ ก้าวสุดท้าย” ที่นี่ผมไม่ได้อะไรเลย เพราะสิ่งที่ผมได้รับอยู่ ระหว่างทาง ก้าวสุดท้ายเป็นเพียงแค่การบอกลา กลับบ้าน เฝ้ารอการเดินทางครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น อีกครั้ง
บรรณานุกรม
1. ร้านหนังสือเล็ก ๆ บนโลกใบใหญ่, สานแสงอรุณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2552, กองบรรณาธิการ
2. “ร้านหนังสือเดินทาง” การเดินทางของ “หนุ่ม”, u39’s blog 8 เมษายน 2548, สุเจน กรรพฤทธิ์
3. การเดินทางครั้งที่ ๓ ของร้านหนังสือเดินทาง, นิตยสาร สารคดี ปีที่ 27 ฉบับที่ 313 มีนาคม 2554, สุเจน กรรพฤทธิ์
4. ร้านหนังสือเดินทาง, นิตยสาร สารคดี (ไม่ทราบฉบับที่ตีพิมพ์), สุเจน กรรพฤทธิ์
5. ความทรงจำ อำนาจ ราชดำเนิน, วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2550, ชาตรี ประกิตนนทการ
6. เสาชิงช้า:ย่านเครื่องสังฆภัณฑ์กลางใจเมือง, ย่านเก่าในกรุงเทพ(เล่ม1), ปราณี กล่ำส้ม, วารสารเมืองโบราณ ฉบับพิเศษ
7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดในกรุงเทพ-ธนบุรี สมุดภาพแลพคู่มือเสริมการเรียนการสอน, อเนก นาวิกมูล, สำนักพิมพ์ แสงแดด
8. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์, งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร 2553, กรมศิลปากร
9. 4 ทศวรรณ ศึกษิตสยาม. สถาบันที่เป็นมากกว่าร้านหนังสือของปัญญาชนสยาม, ASTVผู้จัดการรายวัน, รัชตวดี จิตดี
10, สวนสปิริต ผลิตความคิดแห่งร้านศึกษิตสยาม, นิตยาสารผู้จัดการ มีนาคม 2550, สุภัทธา สุขชู
11. ประกาศเกียรติศึกษิตสยาม, Bookmoby Readers’ Café 8 มิถุนายน 2556, วินัย ชาติอนันต์