เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาว่า เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคมมาเยือน ผู้ใหญ่จะต้องพาเด็ก ๆ ไปท่องเที่ยว เด็กที่โตหน่อยก็อาจขอพ่อแม่ไปเที่ยวเองกับเพื่อน ๆ
แม้หลายสถานที่จะจัดงานรื่นเริงให้เด็กเล็กเด็กโตเข้าชมฟรี แต่จะมีสักกี่แห่งที่พวกเขาอยากไปจริง ๆ ยิ่งได้ยินว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์” ด้วยแล้ว ดูเหมือนเป็นสถานที่น่าเบื่อมากกว่า ก็พิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กในบ้านเรามีสักกี่ที่กัน
แต่อย่างน้อยเด็ก ๆ ชาวจังหวัดแพร่ก็ยิ้มกว้าง โดยเฉพาะเด็กหญิงผู้เต็มไปด้วยความรักต่อตุ๊กตาตัวน้อยและโลกแห่งจินตนาการหวานที่อุปโลกน์ให้มีชีวิตได้
เพราะเมืองอันลือชื่อเรื่องผ้าเมืองนี้มีผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของพวกเขา จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โกมลผ้าโบราณ ให้เป็นห้องแสดงตุ๊กตุ่นเท่ ๆ ตุ๊กตาสวย ๆ รองรับความสุขสมวัย
โดยเน้นจัดแสดงผ้าพื้นเมืองของชนชาวแพร่สี่กลุ่มหลัก คือ ชุดไทลื้อ ตำบลบ้านถิ่น, ชุดเงี้ยวและชุดไทใหญ่ ตำบลสวรรค์นิเวศ, ชุดหม้อห้อมของชาวไทพวน ตำบลทุ่งโฮ้ง และชุดไทยวน (ไทยล้านนา) ของชาวพื้นเมืองแพร่ ซึ่งแต่ละกลุ่มแบ่งย่อยลักษณะเฉพาะของแต่ละหมู่บ้านอีก
ขณะคุณพ่อชื่นชมผ้าโบราณอายุ ๒๐๐ ปีที่ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์
คุณแม่ตาวาวกับผ้าโบราณจำลองที่ชั้นล่าง พลางจินตนาการว่าได้สวมผ้าผืนสวยตรงหน้าแล้วกลายเป็นพระนางจิรประภามหาเทวี (ครองล้านนา) ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท หรือหลุดเข้าไปเป็นตัวละครบางตัวในละครเรื่อง รอยไหม และ สาปภูษา
ลูก ๆ ก็ใช้ช่วงเวลานี้สนุกสนานอยู่ชั้นล่าง เพลิดเพลินกับผ้าสวยผ่านตุ๊กตาบาร์บี้และตุ๊กตาหน้าตาคล้ายดาราดังได้ที่ “ห้องตุ๊กตา”
เวลานี้ตุ๊กตาแท้-ปลอมไม่สำคัญ
หัวใจหลักคือการถ่ายทอดสารคดีผ่านเครื่องมือที่เด็ก ๆ ยอมรับให้เข้าถึงจิตใจ
“ผมคิดว่าเด็กส่วนใหญ่รู้จัก ‘อวตาร’ ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการพิทักษ์ทรัพยากรอันมีค่าของโลก ผมจึงจัดให้เขาเชื่อมโยงกับบาร์บี้สาวไทลื้อ ดังนั้นขณะเด็ก ๆ เรียนรู้วิธีนุ่งผ้าของสตรีไทลื้อ ก็จะได้เกร็ดความรู้แฝงด้วยว่าชาวไทลื้อเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีอนุรักษ์ธรรมชาตินะ
หรืออย่าง ‘ซูเปอร์แมน’ ฮีโร่ของคนทั้งโลกที่ปรากฏตัวด้วยชุดสีน้ำเงิน แดง เหลือง จนเด็ก ๆ จำติดตา ผมก็จัดให้เขาเชื่อมโยงกับบาร์บี้สาวไทใหญ่ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายโดดเด่น รู้จักจับคู่ผ้าโทนสีพาสเทลมาสวมใส่อย่างมีเอกลักษณ์”
โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์และนักสะสมผ้าโบราณ พาชมตู้จัดแสดงตุ๊กตาหน้าเหมือนดาราดังทั้งไทยและเทศกว่า ๑๐ ตู้ซึ่งตั้งเรียงรอบห้อง เช่น เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ สวมชุดหนุ่มชาวโยนก (ไทยวน) นำเสนอผ้าซิ่นตีนจกอย่างที่บาร์บี้สาวโยนกนุ่ง, เอลวิส เพรสลีย์ นำเสนอชุดล้านนา ฯลฯ
“ตุ๊กตาบาร์บี้พวกนี้เคยเป็นของหลาน ๆ ที่สะสม พอเยอะจนไม่มีที่เก็บก็เอามาให้ ผมเลยคิดว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์อะไรสักอย่าง ส่วนตัวที่หน้าตาคล้ายดาราผมซื้อเพิ่มทีหลัง”
ชายผู้ให้ความสำคัญแก่ผ้าทอทรงคุณค่าให้เหตุผล ที่เลือกตัวละครตะวันตกและดาราดังทั้งหลายมามิกซ์แอนด์แมตช์นั้นเพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก อย่างน้อยที่สุดก็หวังให้พวกเขาจดจำชื่อผ้าไทยได้มากขึ้น
“เราใส่ใจกระทั่งเครื่องนุ่งห่มที่ตุ๊กตาเหล่านี้สวมใส่ ย่อส่วนในสเกลถูกต้อง ถ้าลองนำไปขยาย ๑๐ เท่าจะได้ผ้านุ่งจริงหนึ่งผืนพอดี พอเด็ก ๆ ได้ยินเราพูดแบบนี้จะตื่นเต้นมาก พลอยดึงดูดให้พวกเขาอยากรู้จักผ้าโบราณด้วย”
หากอายที่จะถามเจ้าของ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีประวัติข้อมูลผ้าโบราณไว้ให้นักเรียนอ่าน-จำอย่างอิสระ
“ผมคิดว่าเด็กเยาวชนวันนี้คือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในอนาคต จึงอยากเน้นให้ความรู้ว่าผ้าไทยแท้เป็นเช่นไร วิธีนุ่งที่ถูกต้องคือแบบไหน เพื่อให้พวกเขารับข้อมูลไปบอกต่ออย่างถูกต้อง”
จากจุดเริ่มต้นที่เด็กชายคนหนึ่งติดตามพ่อซึ่งเป็นช่างภาพไปทำงานถ่ายรูปตามท้องถิ่นต่าง ๆ แล้วพบเห็นกี่ทอผ้าตั้งอยู่ตามใต้ถุนบ้านเหล่านั้นเสมอ ก็ค่อย ๆ ซึมซับเป็นความรักความชอบ เมื่อโตจึงสะสมผ้าเก่าที่มีคนมอบให้บ้าง ซื้อเก็บไว้เองบ้าง กระทั่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ เก็บรักษาผ้าโบราณให้มีอายุยืนยาวพร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสใกล้ชิด รู้รักษ์รากเหง้า ผ่านสถานที่เที่ยวน่ารักอีกแห่งในวันหยุด
บ่อยครั้งห้องตุ๊กตาไม่ได้มีแต่นักท่องเที่ยวตัวเล็กมาตักตวงความสุข ยังมีผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยเด็กมาแล้ว หรือผู้ใหญ่หัวใจเด็กอยู่ร่วมห้องด้วย
ที่นี่จึงน่าจะเป็นสถานที่อีกแห่งซึ่งคนสองวัยเที่ยวร่วมกันได้อย่างลงตัว
ที่สำคัญคือ…ชมฟรีทุกวัน ไม่ต้องรอวันเด็ก
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โกมลผ้าโบราณ๑๕๗/๒ หมู่ ๖ ตำบลห้วยอ้อ |
- เอื้อเฟื้อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ และกลุ่มสห+ภาพ
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 347 มกราคม 2557