เรื่อง : จักรสิน น้อยไร่ภูมิ (ma_lang_phoo@hotmail.com)
Garbage Warrior ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของ ไมเคิล เรย์โนลด์ส และสถาปัตยกรรมสร้างเศษขยะที่เขาสร้างขึ้น
เมื่อตอนที่ โอลิเวอร์ ฮอดจ์ (Oliver Hodge) และ ไมเคิล เรย์โนลด์ส (Michael Reynolds) พบกันครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ทั้งคู่ไม่ต่างจากคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน โอลิเวอร์เป็นชายชาวอังกฤษทำงานด้านภาพยนตร์ ส่วนไมค์เป็นสถาปนิกชาวอเมริกัน สิ่งเดียวที่ยึดโยงบุรุษจากสองซีกโลกผู้มีภูมิหลังต่างกันไว้ได้คืออุดมการณ์ทางสิ่งแวดล้อมซึ่งต่างคนต่างมีอย่างเข้มข้น ผลพวงจากการโคจรมาพบกันถูกที่ถูกเวลาครานั้นก่อให้เกิดผลผลิตอันสร้างคุณูปการมหาศาลต่อสังคมวงกว้าง นั่นคือ Garbage Warrior ภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อมที่กวาดรางวัลมากมาย
แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้สืบย้อนไปได้ราว ค.ศ. ๑๙๙๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โอลิเวอร์ผู้กำกับภาพยนตร์กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย บทความ ๑๐ หน้าในนิตยสารเล่มหนึ่งที่ได้อ่านจุดประกายให้เขาตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อม ประกอบกับขณะทำวิทยานิพนธ์ ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากหนังสือ The Turning Point ของ ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) หล่อหลอมเป็นความสนใจและหันมาศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง
หลังจากเรียนจบโอลิเวอร์เข้าทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอุปกรณ์ประกอบฉาก เคยร่วมงานกับผู้กำกับระดับโลกหลายคน อาทิ ทิม เบอร์ตัน จอร์จ ลูคัส ทว่าตลอด ๑๒ ปีที่ประกอบอาชีพเขาเห็นความฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือยของอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอด ทั้งตระหนักดีว่าการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากและสร้างขยะอย่างมหาศาลอันกลายเป็นภาระแก่โลก ด้วยจิตสำนึกโอลิเวอร์จึงคิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเท่าที่จะทำได้ในฐานะคนทำภาพยนตร์ ซึ่งขณะนั้นเขาเองยังไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร แต่แล้วโชคชะตาก็ชักนำให้ได้รู้จักกับ ไมเคิล เรย์โนลด์ส
“ผมพบไมค์ครั้งแรกเมื่อเขาและทีมงานเดินทางมาก่อสร้างสถาปัตยกรรมให้แก่ชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองไบรตันบ้านเกิดของผม…ตอนนั้นมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างมาก” โอลิเวอร์กล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจ จากนั้นเขาจึงผุดแนวคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเพื่อให้เกิดความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อม ในลักษณะเดียวกับ An Inconvenient Truth ของอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ กลายเป็นที่มาของ Garbage
Warrior ซึ่งฉายครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๐๗ เนื้อหาของภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของไมค์ สถาปนิกชาวอเมริกันผู้ยืนหยัดสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากว่า ๓๐ ปี และด้วยเหตุที่สถาปัตยกรรมฝีมือเขาทุกชิ้นมักประกอบขึ้นจากวัสดุธรรมชาติรวมทั้งเศษวัสดุเหลือใช้ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นขยะ จึงทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า “นักรบขยะ” โดยปริยาย
นอกจากไมค์ซึ่งเป็นตัวละครหลักและศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ยังมีอีกตัวละครหนึ่งซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ “Earthship” สถาปัตยกรรมที่ไมค์คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้นราว ค.ศ. ๑๙๗๐ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายของเมืองทาออส (Taos) ในแถบชนบทของรัฐนิวเม็กซิโกถิ่นพำนักของเขา ผลงานของไมค์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนดาราชื่อดังในยุคนั้นอย่าง เดนนิส วีเวอร์ (Dennis Weaver) และ คีท คาร์ราดีน (Keith Carradine) เคยให้เขาออกแบบอาคารรูปแบบนี้ ก่อนที่แนวคิดดังกล่าวจะแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ตัวอย่างอาคาร Earthship ที่สร้างให้ชุมชนทางเลือกในเมืองไบรตัน สหราชอาณาจักร
โอลิเวอร์ ฮอดจ์ และทีมงานสถาปนิกของ ไมเคิล เรย์โนลด์ส เมื่อคราวไปสร้างสถาปัตยกรรมให้ชาวบ้านในหมู่เกาะอันดามัน
กลุ่มอาคาร Earthship ที่ตั้งอยู่ในเมืองทาออสเมื่อมองจากมุมสูง
Garbage Warrior มีบรรยากาศคล้ายภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ในมุมมองแบบดิสโทเปีย (dystopia) อย่าง Mad Max หรือ The Book of Eli ที่ฉายภาพของโลกอนาคตในยุคขาดแคลนทรัพยากร มุมมองเช่นนี้สะท้อนผ่านงานออกแบบ Earthship ทุกหลังซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการพึ่งพาตนเองเป็นลำดับแรก ใช้ทรัพยากรอันมีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพึ่งพาภายนอกเท่าที่จำเป็น “บ้านหลังนี้ไม่มีทั้งสายไฟฟ้า ท่อแก๊ส และท่อน้ำจากข้างนอก แต่ก็ไม่มีขยะออกไปเช่นกัน …ครอบครัวนี้อยู่รอดได้สบายโดยไม่ต้องพึ่งพาร้านค้าเลยละ” ไมค์กล่าวถึงผลงานหลังหนึ่ง
รูปแบบของ Earthship นั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของแต่ละท้องที่ ทว่าโดยรวมแล้วทุกหลังจะมีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองทั้งจากแสงอาทิตย์และลมตามความเหมาะสมของที่ตั้ง มีระบบกักเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดิน และหมุนเวียนน้ำที่ใช้แล้วเพื่อปลูกพืชสำหรับเป็นอาหาร การก่อสร้างเน้นวัสดุเหลือใช้หาได้ง่าย ทั้งไม้ อะลูมิเนียม ส่วนผนังใช้ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องโลหะ รวมทั้งยางรถยนต์เก่า รวมกับซีเมนต์ผสมดินก่อเป็นอาคาร ทำให้มีความแข็งแรงและเป็นฉนวนอย่างดี นอกจากนี้ยังคำนึงถึงประสิทธิภาพการระบายอากาศ เมื่ออากาศเสียภายในลอยขึ้นผ่านปล่องด้านบนหลังคา อากาศบริสุทธิ์จะลอยเข้าแทนที่ทางช่องเปิดด้านข้าง ช่วงกลางวันที่อากาศภายนอกร้อน ภายในตัวอาคารจะได้รับความเย็นจากพื้นดินซึ่งเย็นกว่า ขณะที่เวลากลางคืนอากาศภายนอกเย็น อาคารจะได้รับความร้อนจากพื้นดิน เป็นระบบควบคุมอุณหภูมิอันก่อให้เกิดภาวะน่าสบายตลอดวันโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
หลังจากไมค์ออกแบบและทดลองก่อสร้าง Earthship ได้ระยะหนึ่ง ค.ศ. ๑๙๙๐ เขาต้องเผชิญบททดสอบครั้งสำคัญเมื่อผู้อาศัยในอาคารที่เขาออกแบบจำนวนหนึ่งเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหลังคารั่วหรือปัญหาด้านความชื้น คนเหล่านี้รวมตัวกันร้องเรียนคณะกรรมการสถาปนิกแห่งรัฐนิวเม็กซิโกว่าอาคารที่ไมค์ออกแบบนั้นไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัย ส่งผลให้เขาโดนเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไมค์พยายามทำทุกอย่างเพื่อต่อสู้ให้ได้กลับมาทำอาชีพที่เขารักอย่างถูกกฎหมายอีกครั้ง เขายอมทำตามกฎระเบียบเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด พยายามชี้แจงสิ่งที่รัฐไม่เข้าใจเพื่อหาทางประนีประนอมและหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย แต่ก็ยังหาบทสรุปอันลงตัวไม่ได้จนกลายเป็นเรื่องราวยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ระหว่างนี้ไมค์ได้ตระเวนไปตามที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จัก กระทั่งได้พบโอลิเวอร์ช่วงกลาง ค.ศ. ๒๐๐๓ ขณะที่เขามีสภาพไม่ต่างจากสถาปนิกนอกกฎหมาย
ค.ศ. ๒๐๐๕ หลังจากเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย (Boxing Day Tsunami) นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไมค์และทีมงานตัดสินใจเดินทางไปยังหมู่เกาะอันดามัน (Andaman Islands) เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ทดแทนของเดิมที่เพิ่งถูกทำลายไป แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อเฮอริเคนแคทรีนาเข้าโจมตีสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของเขาในปีเดียวกัน ไมค์กลับไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลย เนื่องจากใบอนุญาตของเขายังถูกระงับ ต่างจากปีถัดมาที่เขาเข้าไปช่วยเหลือชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนริตาในเม็กซิโกอย่างเต็มที่ ราวกับเป็นมุกในภาพยนตร์ตลกร้ายที่สถาปัตยกรรมของเขาช่วยเหลือใครก็ได้ในโลกเว้นแต่คนในประเทศตัวเอง
กระทั่ง ค.ศ. ๒๐๐๗ สถาบันสถาปนิกแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Architects) เห็นผลงานไมค์ซึ่งสร้างไว้ที่หมู่เกาะอันดามัน จึงเกิดความสนใจและเชิญเขาไปบรรยายที่สำนักงานใหญ่ นับจากนั้น ไมเคิล เรย์โนลด์ส จึงได้รับใบประกอบวิชาชีพคืน ยุติเส้นทางการต่อสู้อันยาวนาน ๑๗ ปีอย่างมีความสุข หากแต่เส้นทางการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของนักรบขยะผู้นี้ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันหยุด ตราบใดที่เขายังไม่สิ้นลมหายใจ .
แหล่งข้อมูล
http://www.garbagewarrior.com
http://earthship.com/I-Want-One/
http://www.youtube.com/watch?v=UNYFlcV9R1w
ภาพจาก
http://www.garbagewarrior.com/downloads
http://en.wikipedia.org/wiki/Garbage_Warrior
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Earthship_inside_greenhouse.JPG
http://www.mongrelmedia.com/data/ftp/Garbage%20Warrior/15.jpg