เรื่องและภาพ : ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์
หลายปีแล้วที่ผมขี่จักรยานไปที่ต่างๆ ทั่วเมือง หลายคนบอกว่า ขี่จักรยานเป็นเรื่องดี แต่ข้อจำกัดคือเดินทางไกลๆ ไม่สะดวก ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ผมแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดียิ่ง ทำให้เดินทางด้วยจักรยานได้ไกลและร่างกายได้พักมากขึ้น
หลายคนอาจบอกว่าจักรยานสามารถไปได้ทั่วโลก ในเมืองไทยเราเริ่มเห็นคนปั่นจักรยานท่องเที่ยวข้ามเมืองกันแทบเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางวิธีนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีอื่นๆ และไม่ใช่ใครก็ทำได้ หากต้องมีร่างกายและใจมุ่งมั่นเท่านั้น
ถ้าอยากปั่นจักรยานที่ต่างจังหวัดสัมผัสธรรมชาติ วิธีหนึ่งซึ่งพบเห็นบ่อยกว่าการปั่นจักรยานไปยังที่หมาย คือการบรรทุกจักรยานไว้ท้ายรถหรือหลังคารถ ขับรถถึงปลายทางก็นำจักรยานลงมาปั่น วิธีนี้ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางและสะดวกที่สุด แต่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวซึ่งไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนัก ผมจึงไม่ค่อยนิยม
อีกวิธีที่เรียบง่ายกว่าและมีความคล่องตัวสูง แถมได้รสชาติอินดี้และความรู้สึกผจญภัยหน่อยๆ คือการใช้จักรยานเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟ รถทัวร์ รถตู้ ฯลฯ คล้ายการปั่นในเมือง แต่การเที่ยวค้างคืนต่างจังหวัดมีเรื่องท้าทายขึ้นนิดหน่อย อาจเป็นเพราะสมัยเรียนมีเงินค่าขนมไม่มากเท่าไหร่ ผมจึงชอบเที่ยวแบบนี้ที่สุด ด้วยค่าใช้จ่ายน้อย ไม่เปลืองเวลา แต่ได้อะไรหลายอย่างซึ่งหาได้ยากจากการเที่ยวด้วยวิธีอื่น
ผมขอเรียกวิธีการเที่ยวดังกล่าวว่า “พกจักรยานเที่ยว”
ครั้งแรกที่คิดจะนำจักรยานขึ้นรถทัวร์ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ผมมีข้อกังวลมากมาย ที่กลัวที่สุดคือ “ถ้าไม่ได้ขี่ มันจะกลายเป็นสัมภาระที่หนักและเทอะทะสุดๆ”
จักรยานพับคันแรกของผมหนักกว่า ๑๕ กิโลกรัม ขณะที่เป้สัมภาระหนักไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัม ภาพจินตนาการในหัวคือ ผมซึ่งมีเป้สะพายหลังใบใหญ่กำลังกึ่งยกกึ่งเข็นจักรยานไปตามทางขรุขระ ดูไม่จืดเลย
อย่างไรก็ดีครั้งแรกก็เกิดขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย พวกเรามีโปรเจกต์สนุกๆ เที่ยวไปขายของหาเงินไปเรื่อยๆ ทั่วภาคใต้ กำหนดเที่ยวอย่างน้อย ๑ เดือน ด้วยแผนการว่าจะขายของหาเงินเที่ยวไปในตัว สัมภาระจึงมีมากเป็นทวีคูณ เราเคยคิดถึงขั้นแบกถังแก๊สปิกนิกไปเร่ทอดไข่เจียวขายตามตลาดนัดต่างจังหวัดเลยทีเดียว ไหนๆ ข้าวของต้องเยอะอยู่แล้ว ผมจึงตัดสินใจพกจักรยานไปด้วยสักคันโดยหวังว่าอย่างน้อยก็ใช้บรรทุกของทุ่นแรงแทนรถเข็นได้บ้างละ
หนึ่งเดือนแห่งการเดินตามฝันผ่านไปรวดเร็ว เหลือเพียงความทรงจำให้เล่าซ้ำได้เป็นปีๆ โปรเจกต์แบกถังแก๊สขายไข่เจียวไม่ได้ทำ เพราะแม่ครัวมือฉมังติดภารกิจมาร่วมทริปไม่ได้ แต่จักรยานที่พกมาเผื่อกลับเป็นพระเอกช่วยอำนวยความสะดวกทุกด้านอย่างไม่คาดคิด
เพียงลงจากรถบัสที่สถานีขนส่งจังหวัด สิ่งที่ทุกคนต้องเจอคือถูกรุมถามจากวินรถนานาชนิด ถ้าไม่มีจักรยาน ไม่มีญาติมารับ ไม่คุ้นเคยกับสถานที่ เราแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมเสียเงินตามแต่จะถูกเรียกเพื่อไปยังที่หมายซึ่งไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน แต่ด้วยจักรยานเรามีอิสระเลือกเดินทางด้วยตัวเอง และไม่น่าเชื่อว่าจักรยานคันเดียวหากจัดแจงดีๆ สามารถบรรทุกข้าวของของคนสองคนที่เตรียมมาเที่ยวและทำการค้าเล็กๆ ตลอด ๑ เดือนได้ อีกทั้งขณะปั่นก็ไม่ต้องแบกน้ำหนักทั้งหมดไว้บนบ่า
ด้วยจักรยานทำให้เราตระเวนสำรวจที่พักถูกใจได้ทั่วเมือง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสียค่ารถเพิ่ม
ด้วยจักรยานทำให้เราเห็นรายละเอียดต่างๆ ของเมืองมากขึ้น หลายที่ที่ผมไปเพื่อนหลายคนนึกไม่ออกว่ามีอะไรน่าสนใจ แต่พอขี่จักรยาน สถานที่ธรรมดาๆ นั้นกลับพบสิ่งน่าสนใจอยู่เสมอ
ด้วยจักรยานทำให้เราจดจำเส้นทางต่างๆ ดีขึ้น หลายเมืองที่ผมได้ปั่นเที่ยว แม้จะผ่านมาหลายปีก็ยังมีภาพเส้นทางรางๆ ในความทรงจำ
สำคัญที่สุดซึ่งอาจจะหาได้ยากหากเราเดินทางด้วยพาหนะอื่น นั่นคือการเปิดรับมิตรภาพจากผู้คนในพื้นที่ จักรยานทำให้เกิดเรื่องราวและความทรงจำดีๆ ที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปผมมองว่าสำคัญกว่าการได้ไปถึงที่เที่ยวสวยๆ ในวันที่บรรยากาศเป็นใจ
อ้อ และด้วยสรรพคุณมากมายของจักรยาน จึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนร่วมทริปของผมจะผูกพันกับจักรยานยิ่งขึ้นนับจากนั้น
จบทริปดังกล่าวผมและเพื่อนเดินทางเจ็ดจังหวัด สองเกาะ สองประเทศ (ไทยและมาเลเซีย) ภายใน ๓๐ วัน โดยมีจักรยานเป็นพาหนะหลักและมีรถสองแถว รถบัส รถกระบะ เรือเฟอร์รี รถแท็กซี่ รถไฟ ฯลฯ เป็นพาหนะเสริม
หลังจากนั้นผมก็ใช้วิธีเดินทางแบบนี้ไปเที่ยวหลวงพระบาง ลาวใต้ เชียงของ แพร่ เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งพบว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้มที่ “พกจักรยานเที่ยว” ตามที่ต่างๆ
ช่วงปีใหม่อากาศเย็นสบายสดชื่นอย่างนี้ ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้สนใจปั่นจักรยานเที่ยว เพราะจะทำให้รู้สึกเหนื่อยน้อยลง และท้องฟ้าใสปุยเมฆสวยก็ชวนปั่นชมทิวทัศน์มากกว่านั่งอยู่ใต้หลังคารถยนต์เป็นไหนๆ
หากใครคิดจะลองพกจักรยานเที่ยวบ้าง นี่เป็นเคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดก่อนออกทริปครับ
- เชือก ยางมัดของ และตะแกรงจักรยานเป็นสิ่งสำคัญ การเที่ยวโดยใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักต้องหาที่ทางผูกสัมภาระกับจักรยานให้มากที่สุด เพื่อร่างกายจะได้ไม่แบกรับน้ำหนักเกินไป
- หากข้าวของมีมาก ควรมุ่งหน้ายังที่พักเพื่อเก็บของก่อนปั่นเที่ยว กรณียังหาที่พักไม่ได้ มีอีกหลายที่ที่จะขอฝากของได้ เช่น สถานีขนส่งตามจังหวัดใหญ่ๆ มักมีจุดบริการรับฝากของ อาจเสียค่าบริการบ้าง แต่แลกกับความอุ่นใจและความเบาสบายยามปั่นก็พอถูไถ ถ้าไม่อยากเสียค่าบริการอาจขอฝากของไว้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของบริษัทรถที่โดยสารมาหรือกำลังจะเดินทางไปก็ได้
- สำนักงาน ททท. จังหวัด (สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในภูมิภาค) เป็นแหล่งข้อมูล เอื้อเฟื้อและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจักรยานอย่างยิ่ง หากไปเที่ยวแล้วไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สอบถามสำนักงาน ททท. ที่ใกล้ที่สุดได้ (สำนักงาน ททท. ไม่ได้มีทุกจังหวัด ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนเดินทาง)
- เวลามีน้อยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพกจักรยานเที่ยว หากรู้จักเลือกการเดินทางแบบผสมผสาน จักรยานจะช่วยให้ใช้เวลาที่มีจำกัดได้คุ้มค่าที่สุด อีกทั้งไม่จำเป็นต้องนำจักรยานไปด้วยทุกแห่ง ดังนั้นที่ล็อกจักรยานดีๆ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
- อุปกรณ์ซ่อม ปะยาง ที่สูบลม และทักษะการปฐมพยาบาลจักรยานเบื้องต้น ช่วยให้การท่องเที่ยวด้วยจักรยานไร้ข้อจำกัดยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่ชำนาญ การที่จักรยานเสียกลางทางก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก คนต่างจังหวัดมักมีน้ำใจและรถกระบะก็วิ่งมากมาย อาจโบกรถขอความช่วยเหลือได้
- หากมีเพื่อนร่วมทริปหลายคน แต่ไม่มีใครพกจักรยานไป คงต้องประเมินกำหนดการให้ดีว่ามีโอกาสได้ขี่หรือไม่ เพราะอาจเกะกะที่เก็บของของเพื่อนร่วมทริป
- สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องเตรียม คือการเปิดใจรับสถานการณ์ต่างๆ จักรยานนอกจากจะเป็นพาหนะพาสู่จุดหมายแล้ว ยังเป็นเครื่องมือให้ได้ใกล้ชิดสภาพแวดล้อมและผู้คนสองข้างทาง หากเดินทางอย่างไม่เปิดใจก็เปล่าประโยชน์ที่จะไปด้วยจักรยาน
หลายปีมานี้ผมใช้จักรยานเดินทางไปยังที่ที่คุ้นเคยรวมทั้งสถานที่ใหม่ๆ และจะยังพกจักรยานเที่ยวไปเรื่อยๆ เมื่อโอกาสอำนวยครับ •