ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com


ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา เรื่องเล่ายอดนิยมแนวตามล่าคว้าความฝันเวียนว่ายในอุตสาหกรรมบันเทิงผ่านรายการเรียลิตีโชว์ดังๆ ในอเมริกาและอังกฤษ อย่าง “American Idol” “Britain’s Got Talent” “The Voice” และรายการแบบเดียวกันถูกผลิตเป็นเวอร์ชันของประเทศไทยเอง ผู้ชมมีความสุขที่เห็นคนมีความฝันและตามไขว่คว้า ผู้เข้าแข่งขันก็ตื่นเต้นกับโอกาสที่ได้รับและกรรมการที่หันเก้าอี้มา คนอย่าง ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) หรือ เคลลี คลาร์กสัน (Kelly Clarkson) กลายเป็นฮีโร่ของใครหลายคน สิ่งเหล่านี้เป็นบริบทอันทำให้หนังเรื่อง Inside Llewyn Davis (คน กีต้าร์ แมว) มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเล่าถึงการตามล่าหาความฝันของนักดนตรีในยุคซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้นยังไม่เกิด

มากกว่านั้น Inside Llewyn Davis ไม่ใช่เรื่องราวของคนชนะ แต่เป็นเรื่องของคนพ่ายแพ้ คนไปไม่ถึงฝัน และที่กลายเป็นความขัดแย้งอย่างงดงามคือ เรื่องราวของคนแพ้กลับได้รับการเล่าใหม่บนจอภาพยนตร์โดยคนชนะ

พี่น้อง โจเอล (Joel) และ อีทาน โคเอน (Ethan Coen) นั้นทำหนังเรื่องแรกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๔ จวบจนปัจจุบันทั้งคู่กลายเป็นปูชนียบุคคลของวงการหนังอิสระด้วยหนังขึ้นหิ้งอย่าง Fargo และ No Country for Old Men พูดอีกอย่างคือ พี่น้องโคเอนเป็นตัวอย่างของ “ผู้ชนะ” ขณะเพื่อนคนทำหนังร่วมรุ่นเดียวกันหลายๆ คนต่างแพ้พ่าย หลายคนอาจได้ทำหนังเพียงเรื่องเดียวแล้วก็ล้มหายตายจากไป ใน Inside Llewyn Davis พี่น้องโคเอนถ่ายทอดเรื่องราวของผู้แพ้ผ่านตัวละครสมมุติชื่อ ลูวิน เดวิส (รับบทโดย ออสการ์ ไอแซ็ก) หนุ่มน้อยนักดนตรีโฟล์กยุค ๖๐ ผู้พยายามหาหนทางดัง เวลาเดวิสเปล่งเสียงนั้นสะกดคนดูอย่างถึงที่สุด แต่ปัญหาคือเขา “มีดีแค่เสียง” นอกนั้นแล้วไร้ทักษะการจัดการชีวิต ไร้โชค ไร้เงิน ไร้บ้าน และทุกทางที่เขาเลือกดูเหมือนจะผิดพลาดไปหมด

การที่พี่น้องโคเอนเล่าเรื่องของเดวิสจึงให้อารมณ์คล้ายๆ คนที่ประสบความสำเร็จเล่าให้คนรุ่นหลังฟังว่า เมื่อหลายทศวรรษก่อนตอนพวกเขายังเป็นหนุ่มน้อย ยุทธจักรนั้นเป็นอย่างไร และมีคนเก่งกาจในยุทธจักรมากขนาดไหน บางคนนั้นเก่งกาจจนหาตัวจับยาก แต่คนเหล่านี้โชคร้ายและก็หายสาบสูญไปแล้ว ด้วยความที่เป็นผู้ชนะเล่าเรื่องของเพื่อนเก่าที่พ่ายแพ้ ภาพของผู้แพ้จึงงดงามวิจิตรและนุ่มนวล ตราตรึงในความทรงจำ และตรงข้ามกับโชคชะตาที่พวกเขาพบเจอ

Inside Llewyn Davis เป็นหนังซึ่งเต็มไปด้วย “มู้ด” หรือบรรยากาศแห่งอารมณ์ โรเบิร์ต ซินเนอร์บริงก์ (Robert Sinnerbrink) นักวิชาการภาพยนตร์อธิบายถึงการทำงานของ “มู้ด” ไว้
หลายรูปแบบ แบบหนึ่งคือ หนังบางเรื่อง การเล่าเรื่องสามารถหยุดชั่วขณะเพื่อให้มู้ดทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น ฉากที่เดวิสเดินทางไกลแสนยากลำบากจนไปถึงบาร์แห่งหนึ่งเพื่อเล่นดนตรีให้เจ้าของบาร์ฟัง เผื่อเขาจะได้งานทำ เดวิสบรรเลงเพลงซึ่งเพราะที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ ตลอดการเล่นดนตรีของเขานั้นเรื่องราว “ไม่ได้” เดินหน้าต่อ สิ่งที่ปรากฏบนจอมีเพียงตัวละครตัวหนึ่งเล่นดนตรี และตัวละครอีกตัวนั่งฟัง แม้จะไม่มีเรื่องราวใดๆ มากกว่าการนั่งเล่นดนตรี แต่มู้ดหรือบรรยากาศแห่งอารมณ์นั้นหล่อเลี้ยงและสะกดคนดูอย่างจัง

เมื่อเพลงหยุด และเรื่องราวดำเนินต่อ หากแต่เป็นการดำเนินเรื่องที่เดวิสคงไม่อยากให้เกิด เพราะเจ้าของบาร์ผู้แทบจะหลั่งน้ำตาขณะฟังเพลงของเขากลับบอกว่า “บอกตรงๆ นะไอ้หนุ่ม ฉันไม่เห็นเม็ดเงินจากแกเลย” ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินทางอันแสนยากลำบากของเดวิสได้จบลง เพราะกรรมการไม่ยอมหันเก้าอี้มาหาเขา

ขณะคนทำหนังน้ำดีนิยมอารมณ์หนักๆ ขยี้สุดๆ ทั้งความทุกข์และอาการจี๊ด แต่ผู้กำกับฯ อเล็กซานเดอร์ เพย์น (Alexander Payne) ไม่นิยมเส้นทางดังกล่าว ดูได้จากหนังที่ผ่านมาอย่าง About Schmidt (๒๐๐๒) ที่ วอร์เรน ชมิดต์ (แจ็ก นิโคลสัน) เดินทางข้ามอเมริกาเพื่อไปงานแต่งงานของลูกสาว, Sideways (๒๐๐๔) สองหนุ่มวัย ๔๐ เดินทางไปเที่ยวจิบไวน์ รวมทั้ง The Descendants (๒๐๑๑) ซึ่ง แมตต์ คิง (จอร์จ คลูนีย์) ใช้การเดินทางไปฮาวายเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกสาว ถึงแม้หนังเหล่านี้จะเล่าปัญหาชีวิตของผู้ชายกับความสัมพันธ์ต่อครอบครัวและคนรัก แต่ก็ไม่ได้ผลักอารมณ์ให้เจ็บปวดรวดร้าว ทว่าเล่าถึงความรื่นรมย์ของชีวิตผ่านบทสนทนาฉลาดเฉลียวและการเดินทางไกล ภูมิทัศน์ของอเมริกาไม่ว่าจะถนนต่างจังหวัด ทะเล หรือทะเลทราย กลายร่างเป็นพยานที่รับรู้อารมณ์ขันและเรื่องปวดหัวของตัวละคร

Nebraska ก็เดินทางอยู่ในอาณาจักรแห่งอารมณ์ดังว่า เพย์นใช้เวลาทำหนังเรื่องนี้ ๑๐ ปี มิใช่ว่าถ่ายทำยาก แต่เพราะไม่มีใครให้ทุนสร้างจนเพย์นต้องเฉไฉไปสร้างหนังเรื่องอื่นๆ ก่อน ก็ใครเล่าจะให้เงินเพื่อสร้างหนังขาว-ดำ ไม่มีดาราดัง ที่เล่าเรื่องคนแก่วัยเฉียด ๘๐ แต่สุดท้ายหนังประสบความสำเร็จ นอกจากได้ทุนคืนแล้วยังคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเข้าชิงรางวัลออสการ์หกสาขาซึ่งยืนยันความดีงามของหนัง ไม่ว่าจะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์, บทภาพยนตร์, นักแสดงนำชาย, นักแสดงสมทบหญิง และรางวัลการกำกับภาพ

Nebraska เล่าเรื่องของวูดดี้ (บรูซ เดิร์น) ชายชราวัยไม้ใกล้ฝั่งที่อาศัยอยู่ในเมืองมอนแทนากับภรรยา (จูน สควิบบ์) วันหนึ่งวูดดี้ได้รับจดหมายธุรกิจบอกว่าเขาได้เงิน ๑ ล้านดอลลาร์ ซึ่งใครๆ ก็ดูออกว่าเป็นจดหมายหลอกๆ เพื่อให้ผู้รับจดหมายไปซื้อสินค้า แต่วูดดี้กลับเชื่อ ไม่ใช่ว่าโง่ แต่เขาเป็นคนดื้อที่บริสุทธิ์ เชื่อสิ่งที่ทุกคนพูดกับเขา เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมคนต้องหลอกกัน วูดดี้จึงต้องการเดินทางไปเนแบรสกาเพื่อรับเงิน ๑ ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ภรรยาและลูกบอกแล้วบอกอีกว่าไม่ใช่เรื่องจริง ครั้นวูดดี้ยังยืนกรานว่าจะไป ถึงขั้นจะเดินทางด้วยเท้าข้ามจังหวัด ลูกชายจึงยอมขับรถไปกับพ่อ แกล้งโง่เล่นตามละครที่พ่อหลงเชื่อ เพื่อหวังว่าเรื่องราวจะได้จบๆ แต่ระหว่างเส้นทางจากบ้านสู่เมืองเนแบรสกานั้นจะต้องผ่านเมืองที่พ่อและแม่เคยอยู่ตอนเป็นหนุ่มสาว การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่พ่อจะได้พบเพื่อนเก่าๆ และลูกชายจะได้รับรู้ชีวิตของพ่อแม่ก่อนเขาเกิด

วูดดี้เป็นชายชราที่เหมือนก้าวเท้าข้างหนึ่งไปในอีกโลกแล้ว เวลาครึ่งหนึ่งในชีวิตประจำวันนั้นเขาจำอะไรไม่ได้และไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ส่วนเวลาอีกครึ่งก็มอบให้การดื่มเหล้า นี่คือหนังที่อุทิศให้แก่การเฝ้ามองคนชรา เพราะนอกจากวูดดี้แล้วก็มีคนชราอีกหลายคนที่หนังจับจ้อง เช่นคนชราแบบที่นำเก้าอี้มาตั้งหน้าบ้านแล้วนั่งมองถนนทั้งวันอย่างไร้สาเหตุ หนังวางให้คนดูอยู่ในฐานะเดียวกับลูกชายซึ่งไม่ค่อยรู้จักพ่อมากนัก เพื่อให้เราค่อยๆ เข้าไปในโลกของชายชรา หนังได้อารมณ์เหมือนเราเกิดที่นครนายกแต่พ่อเกิดที่นครสวรรค์ แล้ววันหนึ่งเรานั่งรถกับพ่อไปนครสวรรค์ พ่อแก่มากแล้ว พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง หูตึง เมาเหล้า และอาจเป็นอัลไซเมอร์ ภายใน ๒-๓ วันเราขับรถพาพ่อไปดูนั่นดูนี่ ไปเจอคนนั้นคนนี้ ซึ่งเราก็รับรู้แค่นิดๆ หน่อยๆ ว่าพ่อเคยเป็นอะไร ส่วนพ่อนั้นคงรับรู้ได้มากกว่าเยอะและอาจจะระลึกความจำเท่าที่จำได้ แต่ก็ไม่พูดออกมา ขณะหนังเรื่องอื่นๆ มักให้ตัวละครคนนอกไปรับรู้ความทรงจำของอีกตัวละครโดยรับรู้ทุกสิ่ง เข้าใจจุดหักเห ปมต่างๆ หมดจด แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีฉากหนึ่งที่ดีเหลือเกินเมื่อพ่อแม่และลูกกลับไปบ้านร้างที่พ่อเคยอยู่สมัยเด็ก แม่และลูกไม่เคยรู้ชีวิตวัยเด็กของพ่อเลย ทั้งหมดเดินไปดูห้องนอนเก่าของพ่อ แม่ถามพ่อว่า จำห้องนอนตัวเองได้หรือเปล่า และจำได้ไหมว่าเคยมีน้องชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ชายชราชำเลืองมองมุมห้องที่คงเคยมีเปลเด็กแล้วตอบสั้นๆ ว่า “ฉันอยู่ที่นี่ในคืนนั้น”เป็นคำตอบที่เขย่าหัวใจทั้งแม่และลูก ลูกชายเห็นร่องรอยว่าพ่อเคยผ่านอะไรมาบ้าง เบื้องหลังพ่อขี้เมา-พูดไม่รู้เรื่อง-เผลอเป็นหลับนั้นมีความทุกข์มากมายที่เขาไม่เคยรับรู้ และประสบการณ์ทุกข์เหล่านี้คือสิ่งที่หล่อหลอมให้พ่อเป็นพ่ออย่างทุกวันนี้

แน่นอนว่าวูดดี้ไม่ได้รางวัลใดๆ เขาไม่ได้โชคดีขนาดนั้น หนำซ้ำการเดินทางกลับบ้านเก่ายังทำให้เขาพบเจอเพื่อนเก่าที่หัวเราะเยาะเย้ยความละเมอเพ้อพกว่าตัวเองจะเป็นเศรษฐี ทำไมวูดดี้ถึงอยากได้เงินก้อนนี้นัก ลูกชายสงสัยกระทั่งวันหนึ่งคะยั้นคะยอจนพ่อขี้เมาเฉลยคำตอบออกมา

“ฉันแค่อยากทิ้งอะไรไว้ให้แกบ้าง”

เป็นประโยคของคนแพ้ที่ชนะหัวใจเหลือเกิน