เรื่อง : ชลธร วงศ์รัศมี
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เพราะอาหารทะเลสดๆ รสอร่อยใช่ว่าจะหากินได้ง่ายๆ หลายคนที่ชื่นชอบอาหารทะเลจึงเฝ้ารอหน้าเฟซบุ๊กของ “เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล” ทุกกลางเดือน เพื่อดูว่าเครือข่ายฯ จะเสาะหาอาหารทะเลชนิดใดบ้างจากมือชาวประมงส่งตรงถึงมือผู้บริโภคที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็จะไปรอซื้อตามวัน เวลา และสถานที่ที่ทางเครือข่ายฯ กำหนด แม้เป็นวิธีซื้อที่ต้องใช้ความพยายามแต่ก็มีคนทำตามไม่น้อย
ปลาอินทรี ปลาโฉมงาม ปลากุเรา ปลาทู ปลาหลังเขียว ปลาสละ ปลาทราย ปลาดุกทะเล ปลาแดง ปลาสาก ปลากะพง ปลากระบอก หมึกกล้วย กุ้งแชบ๊วย กุ้งก้ามกราม กั้ง ปูม้า แมงดาทะเล ฯลฯ อาหารทะเลบางอย่างเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในเมืองกรุงหลายคนไม่มีโอกาสได้เห็น หรือเคยเห็นแต่ก็ไม่สด ทว่าร้านนี้ซึ่งเปิดเฉพาะกิจเดือนละครั้งนำอาหารทะเลมาอวดอย่างคับคั่ง แสดงศักยภาพของท้องทะเลไทยเต็มๆ ! การันตีจากปากผู้บริโภคและผู้ผลิตว่าแต่ละอย่างล้วนสด ปลอดสารเคมีโดยเฉพาะฟอร์มาลินตัวใหญ่เบิ้ม และราคาถูกกว่าในห้างสรรพสินค้า
“ท้องทะเลที่สมบูรณ์ไม่ได้มีความหมายแค่ ‘ปลาตัวใหญ่’ แต่ยังหมายถึงสถาบันครอบครัวที่ไม่ล่มสลาย และสังคมซึ่งเอื้ออารี” คือหนึ่งในคำประกาศของเครือข่ายฯ ที่นอกจากจะขายปลาแล้วยังมีจุดประสงค์อื่นอันสำคัญกว่าแฝงอยู่ นั่นคือการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้กินอาหารทะเลคุณภาพดี ปลอดสารเคมี ยกระดับรายได้ของชาวประมงเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สื่อสารให้สังคมเข้าใจปัญหาท้องทะเลไทย รวมทั้งมีส่วนร่วมดูแลโดยสนับสนุนอาหารทะเลซึ่งผลิตด้วยวิถีประมงที่ไม่ทำลายล้างจากชาวประมงผู้ ที่ต้องการสงวนรักษาทรัพยากรทางทะเลไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เป้าหมายใหญ่ที่สุดของเครือข่ายฯ คือผลักดันการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเชิงนโยบาย โดยดำเนินงานวิจัยและผลงานทางวิชาการไว้รองรับ
“เรามีฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เพียงแต่ต้องการการบริหารจัดการด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีทางเลือกหลากหลาย อันจะทำให้คนไทยมีอาหารการกินที่ดี ไม่ควรใช้ความง่ายเข้าว่า แล้วปล่อยให้เกิดการผูกขาดสินค้า สมัยก่อนนั้นผูกขาดในเชิงสถิติ แต่ตอนนี้ผูกขาดแม้กระทั่งเรื่องรสชาติ เรื่องคุณภาพ” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ หรือพี่นุช ผู้นำเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล และนักวิจัยผู้ศึกษาปัญหาทรัพยากรชายฝั่งมายาวนานกล่าว
ก่อนจะได้อาหารทะเลมาขาย ดูง่ายๆ หน้าร้านมีการเตรียมความพร้อมนานร่วมปี เริ่มด้วยเครือข่ายฯ เขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป จากนั้นจึงดำเนินงานโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และสมาคมรักษ์ทะเลไทย ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้และปัญหาเกี่ยวกับท้องทะเลไทย แล้วเดินหน้าลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านหลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา พังงา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ตั้งแต่วิถีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ การอนุรักษ์ทรัพยากร การขนส่ง การรักษาคุณภาพสินค้าให้สด ปลอดสารเคมี การออมเพื่อความยั่งยืน และการตลาด
“ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของที่นี่สหภาพยุโรปสนับสนุนให้โครงการ เงินที่ขายปลาได้จะแบ่งเป็นสี่ส่วน สองส่วนใหญ่กลับคืนหมู่บ้าน คือให้ชาวประมงและกองกลางของกลุ่มเพื่อการปันผลหรือกิจกรรมอนุรักษ์ สองส่วนที่เหลือให้เครือข่ายฯ ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติเขาขายปลาทูผ่านทางเครือข่ายฯ ได้ ๑๐๐ บาท ๗๐ บาทจะกลับคืนชุมชน ซึ่งเขาจะได้ ๕๐ บาท กองกลางของกลุ่มชาวประมงเก็บไว้ ๒๐ บาท แต่หากเขาไปขายให้พ่อค้าคนกลางโดยตรงจะได้ไม่เกิน ๒๐ บาท ส่วนอีก ๓๐ บาทให้กรุงเทพฯ อาจเป็นค่าใช้จ่าย ๑๕ บาท อีก ๑๕ บาทสำหรับการบริหารจัดการตลาดในอนาคต”
ชาวประมงจะมีส่วนร่วมและเติบโตไปพร้อมๆ กับผู้ดำเนินโครงการทุกขั้นตอน ได้เห็นวงจรทุกอย่างจากต้นทางถึงปลายทาง ทุกครั้งที่เครือข่ายฯ เปิดขายปลา ตัวแทนชาวประมงซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าลอตนั้นๆ จะมาร่วมขายด้วย จากที่เคยวิ่งตามกลไกตลาดและน้อมรับการตัดสินใจของพ่อค้าคนกลาง ชาวประมงกลับกลายเป็นผู้มีส่วนกำหนดระบบการตลาด ทำให้เข้าใจความต้องการแท้จริงของผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็ได้รับรู้ว่ากว่าปลาจะเดินทางมาถึงพวกเขามีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่
“ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ครับ เราเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ออกกฎหมายห้ามเรือคราดหอยไม่ให้เข้ามาใกล้ชายฝั่งจาก ๓,๐๐๐ เมตรเป็น ๕,๔๐๐ เมตรได้ ภูมิใจครับ ถ้าไม่มีทะเล เราก็ไม่มีตังค์ส่งลูกเรียน ทะเลคือบ้าน คือชีวิต คือปัจจัย ๔ ทุกอย่างของเรา” พี่บูช จิระศักดิ์ มีฤทธิ์ ตัวแทนจากสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสมาชิกเครือข่ายฯ เล่าถึงกรณีที่ชาวคั่นกระไดร่วมกันต่อสู้ไม่ให้เรือคราดหอยเข้ามาคราดทุกอย่างบนหน้าดินและทำลายทรัพยากรชายฝั่งได้สำเร็จ เรือคราดหอยเป็นหนึ่งในปัญหาร้อนๆ ที่บีบคั้นวิถีประมงพื้นบ้านนอกจากปัญหาอื่นๆ ซึ่งมากมายราวเม็ดทรายบนชายหาด เช่น ปัญหาหนี้สินและการถูกกดราคาสัตว์น้ำ ปัญหาท้องทะเลเสื่อมโทรมจากการทำประมงเกินขนาด การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เรือประมงรุกล้ำใกล้ชายฝั่งและใช้อุปกรณ์ซึ่งทำลายระบบนิเวศ ตลอดจนอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยสารปนเปื้อนลงสู่ทะเล เป็นต้น ในท้องทะเลที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน หากชาวประมงต้องการดำรงวิถีประมงพื้นบ้านแบบเรียบง่าย ไม่กอบโกย ก็จำเป็นต้องปรับตัว ต่อสู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์
“มนุษย์ที่สมบูรณ์จะอยู่โดยปราศจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้อย่างไร” เป็นอีกคำประกาศที่แสดงจุดยืนของเครือข่ายฯ ซึ่งต่อปลั๊กตัวเองเข้ากับชาวประมง โยงปากอวนกับแป้นคีย์บอร์ด เชื่อมความจริงอันขมขื่นกับความอร่อยยากจะห้ามใจไว้ด้วยกัน
ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ เลือก “ปล่อยปลา” ตามความสะดวกของพื้นที่ โดยค่อนข้างประจำอยู่ที่ Bangkok Farmers’ Market ศูนย์การค้า K Village ซอยสุขุมวิท ๒๖ ทุกวันหยุดสัปดาห์สุดท้ายของปลายเดือน ในระยะยาวเครือข่ายฯ มีความฝันจะสร้างสหกรณ์ประมงอินทรีย์ซึ่งมีร้านค้าของตนเอง เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นทั้งแง่ราคาสินค้าและสถานที่
“ความคิดของพี่ก็คือ อินทรีย์ไม่จำเป็นต้องแพง อินทรีย์น่าจะเป็นมิตรต่อคนกินด้วย เพราะในเมื่อเราบอกมันง่าย เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ก็ไม่น่าจะแพงบนพื้นฐานที่ทำให้คนธรรมดาสามัญเข้าไม่ถึง” พี่นุชกล่าว
เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเลเรียกสิ่งที่กำลังทำและจะทำต่อไปในอนาคตว่า “นวัตกรรม” เพราะขณะที่พวกเขาขายปลาก็ยังขะมักเขม้นสร้างนวัตกรรมล้านแปดรูปแบบใหม่ๆ ไปด้วย เช่น พัฒนาการขนส่ง ระบบตลาด กระบวนการสนับสนุนชาวประมง วิธีให้บริการลูกค้า ฯลฯ เพื่อให้ประมงอินทรีย์เป็นจริงและยั่งยืน •