วายร้ายสีแดง
กะเทาะโลกกีฬา นักกีฬายอดนิยม (ในกระแส) แม้แต่เสียงข้างสนาม
แบบมี “ทางเลือก” ชวนขบคิด ปนขำๆ

ปันจักสีลัด กีฬาพื้นบ้านชนิดแรกๆ ในซีเกมส์

ปันจักสีลัต (อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน) โชรินจิ เคมโป (อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ติมอร์-เลสเต) โววีนัม (เวียดนาม) มวย (ไทย กัมพูชา พม่า ลาว) ตารุง เดราจัต (อินโดนีเซีย) อาร์นิส (ฟิลิปปินส์)  กีฬาที่เรารู้จักบ้างไม่รู้จักบ้างเหล่านี้คือศิลปะการต่อสู้-ป้องกันตัว “พื้นบ้าน” ชั้นแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งสี่ชนิดแรกเราจะได้ชมเป็นขวัญตาในซีเกมส์ครั้งที่ ๒๗ ณ ประเทศพม่า

และหากนำไปรวมกับกีฬาการต่อสู้ “พื้นบ้าน” ของเอเชียและยุโรปที่บรรจุในซีเกมส์ด้วย อย่างยูโด เทควันโด วูซู คาราเตโด มวยปล้ำ และมวยสากล ก็ให้ซาบซึ้งว่าวัฒนธรรมเกี่ยวกับการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งเรียกเก๋ๆ ว่า martial arts ที่คนภูมิภาคนี้มีร่วมกันนั้นหลากหลายน่าทึ่งนัก

แต่…กีฬาประเภทต่อสู้ ๑๐ ชนิดในซีเกมส์มันเยอะไปไหม ? ข้อกังขานี้ขอทดไว้ในใจ…

ย้อนไปดูเจ้าภาพ พม่าหรือเมียนมาร์เคยเป็นเจ้าภาพซีเกมส์สมัยยังใช้ชื่อ “กีฬาแหลมทอง” มาแล้วสองครั้งในปี ๒๕๐๔ และ ๒๕๑๒  เป็นสองครั้งที่พม่าครองตำแหน่งเจ้าแหลมทอง ทำเหรียญทองเป็นอันดับ ๑  เวลาผ่านไป ๔๔ ปีพม่าเปิดบ้านต้อนรับมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียนอีกคำรบ ระหว่าง ๑๑-๒๒ ธันวาคมนี้

สายตาชาติตะวันตกและชาติเอเชียด้วยกันเองมองว่าซีเกมส์ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง

นอกจากเป็นการประเดิมกีฬาระดับนานาชาติครั้งแรกในรอบเกือบครึ่งศตวรรษของเจ้าภาพแล้ว ยังถือเป็นงานใหญ่งานแรกหลังจากเปิดประตูสู่ประชาคมโลก…พร้อมจะก้าวตามครรลองประชาธิปไตย และถือเป็นการฉลองเมืองหลวงใหม่ “เนปิดอว์” ที่ใช้เป็นเมืองหลักในการแข่งขันไปในตัว

ทุกสายตามองพม่าอย่างเอาใจช่วย พร้อมเกื้อหนุนบทบาทใหม่ๆ บนเวทีโลก อันรวมถึงบทบาทประธานอาเซียนของพม่าในปี ๒๕๕๗ อีกด้วย

หากพม่าประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันซีเกมส์ แถมครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในบ้านตัวเองอีกครั้ง มวลรวมความสุข ความมั่นใจที่พุ่งสูงอาจก่อเกิดแรงพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามมาในหลายๆ ด้าน เหมือนเช่นที่เคยเกิดกับประเทศไทยภายหลังเป็นเจ้าภาพ-เจ้าเหรียญทองในปี ๒๕๒๘

อันที่จริงเกจิกีฬาดูโหงวเฮ้งกันไว้แล้ว อย่างไรเสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองเนปิดอว์เกมส์คงไม่พ้นมือพม่า หรืออย่างน้อยๆ ก็รองเจ้าเหรียญทอง (แน่ละ…ไม่ใช่รองจากไทย)

แม้ว่าตามมาตรฐานสากลออกจะเป็นปรากฏการณ์ “เหลือเชื่อมาก” สำหรับชาติที่ได้เพียง ๑๖ เหรียญทองและอยู่อันดับ ๗ ของตารางเหรียญรางวัลในซีเกมส์ครั้งที่ ๒๖ ประเทศอินโดนีเซีย และย้อนหลังจากจุดนั้น ๒ ปี ได้ ๑๒ เหรียญทอง/อันดับ ๘ ในเวียงจันทน์เกมส์ จึงเหลือเชื่อ…หากจะพลิกกลับมาเป็นที่ ๑ ชั่วข้ามคืน

โดยเฉพาะอันดับ ๑ งานนี้คงต้องมีเหรียญทองคล้องคออย่างน้อย ๑๒๐ เหรียญขึ้น !

อะไรจะมาช่วยดลบันดาลนำพาขนาดนั้น ถ้าไม่ใช่กีฬาพื้นบ้าน (folk sports, traditional sports) ซึ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับอันดับผู้ครองเหรียญทองซีเกมส์ตลอดการชิงชัยหกครั้งที่ผ่านมา

ในชั้นแรกพม่าหมายมั่นจะบรรจุกีฬาพื้นบ้านเข้ามามากกว่า ๑๐ ชนิด แต่เพื่อนบ้านช่วยกันทัดทานว่าไม่เหมาะ แล้วอ้างถึงธรรมนูญซีเกมส์ว่าชาติเจ้าภาพบรรจุชนิดกีฬาเข้าแข่งขันได้ โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่ม ๑ กีฬาบังคับสองชนิด ได้แก่ ว่ายน้ำและกรีฑา  กลุ่ม ๒ กีฬาสากลที่มีแข่งขันในเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิก และกลุ่ม ๓
กีฬาพื้นบ้าน บรรจุเข้าแข่งขันได้แปดชนิด (เป็นชนิดกีฬาที่ระบุในธรรมนูญซีเกมส์)

ท้ายที่สุดพม่าจัดแข่งกีฬาพื้นบ้านแปดชนิดเต็มโควตา ได้แก่ เพาะกาย เปตอง เรือประเพณี หมากรุกสากล ปันจักสีลัต มวย โววีนัม และโชรินจิ เคมโป (เรียกง่ายๆ ว่า เคมโป) สำหรับกรณีของมวยจะไม่ได้จัดแข่งขันแบบ “มวยไทย”  ส่วน “ชินลง” ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติพม่า จัดรวมอยู่ในเซปักตะกร้อ ดังนั้นหากจะสรุปว่ากีฬาพื้นบ้านมีจัดแข่งขันกันทั้งสิ้นเก้าชนิดก็ไม่ผิด

พ้นจากเรื่องจำนวนชนิด กีฬาพื้นบ้านยังพ่วงข้อถกเถียงตามมาในเรื่องจำนวนเหรียญรางวัล ซึ่งทางเจ้าภาพกำหนดรายการแข่งขันชิงเหรียญรางวัลให้กีฬาพื้นบ้านประเภท “ต่อสู้” มากถึงชนิดละ ๑๕-๑๘ เหรียญทอง  รวมเบ็ดเสร็จกีฬาพื้นบ้านมีการชิงชัยทั้งสิ้น ๑๔๒ เหรียญทอง หรือตกราวๆ หนึ่งในสามของการแข่งขันทุกรายการ ซึ่งนับว่าจำนวนเหรียญเยอะมาก…เกินหน้าเกินตากีฬาสากลหลายชนิด

และหากมองไปที่กีฬาประเภทต่อสู้โดยเฉพาะจะพบว่าเจ้าภาพบรรจุกีฬาต่อสู้ไว้ ๑๐ ชนิด ในจำนวนกีฬาที่จัดแข่งขันทั้งสิ้น ๓๓ ชนิด  กล่าวอย่างเป็นกลาง ผลแพ้-ชนะของกีฬาประเภทนี้ “ตัดสินด้วยสายตา”(กรรมการ) จึงกลายเป็นจุดอ่อนให้เกิดข้อโต้แย้งถึงความยุติธรรมของทีมชาติต่างๆ เสมอมา

นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่ที่จริงมีความหมาย นั่นคือตามธรรมนูญการแข่งขัน เจ้าภาพต้องจัดส่งหนังสือคู่มือเทคนิคของกีฬาแต่ละชนิดให้สมาชิกทุกชาติก่อนการแข่งขัน ๑ ปี เพื่อให้แต่ละชาติได้ศึกษากฎ กติกา มารยาท  แต่ล่วงเลยถึงกลางปี ๒๕๕๖ ใกล้เวลาเปิดสนามแข่งขัน ทางเจ้าภาพก็ยังไม่มีความคืบหน้า

บิ๊กในคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยบอกว่า หลังจากคณะมนตรีซีเกมส์ชาติต่างๆ แสดงกำลังภายในกันหลายยก ภาคีสมาชิกก็มีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นแกนนำหนุนกีฬาพื้นบ้าน อีกฝ่ายก็คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย อยากให้เน้นกีฬาสากลที่แข่งในเอเชียนเกมส์และโอลิมปิก ซึ่งฝ่ายหลังเห็นว่าความแตกแยกครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้บางชาติบอยคอตต์ ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันก็เป็นได้

ตัวแทนฝ่ายเวียดนามแสดงทัศนะไว้น่าสนใจว่า ในเมื่อเราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เหล่าสมาชิกอาเซียนก็ควรจะแข่งขันกีฬาพื้นบ้านเป็นหลักมากกว่า “โอลิมปิกเป็นกีฬาพื้นบ้านของชาติในยุโรป ซีเกมส์ก็เป็นกีฬาพื้นบ้านของชาติในอาเซียน”

ถึงตรงนี้บางคนอาจนึกสงสัย กีฬาพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของซีเกมส์มาตั้งแต่เริ่มต้นหรืออย่างไร ?

นักโววีนัมเวียดนาม

ปูมหลังของซีเกมส์บอกเราว่า กีฬาพื้นบ้านได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันครั้งแรกในซีเกมส์ครั้งที่ ๑๔ อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ เริ่มต้นจากปันจักสีลัตและกีฬาอีกไม่กี่ชนิด ต่อมาเมื่อประเทศเจ้าภาพเห็น “ผลดี” ของกีฬาพื้นบ้าน เราจึงได้รู้จักกีฬาฟินสวิมมิง ชัตเติลค็อก (เตะลูกขนไก่) ที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศเวียดนาม จนล่าสุดคือโววีนัม ศิลปะป้องกันตัวประจำชาติของเวียดนาม

ยอมรับว่าสมัยที่ได้ยินชื่อปันจักสีลัตและชัตเติลค็อกใหม่ๆ ผู้เขียนก็นึกคัดค้านว่ากีฬาที่เพื่อนบ้านของเราเล่นกันเองภายในประเทศจะเสนอให้เป็นกีฬาที่แข่งกันระดับภูมิภาคได้อย่างไร  ขณะนั้นนึกถึงแต่ความเป็นสากลที่มีมาตรฐานโอลิมปิกรองรับ แต่เมื่อนึกดูดีๆ โดยตัดเรื่องจำนวนเหรียญทองที่ล้นเกินของกีฬาพื้นบ้าน (จนทำให้เจ้าภาพถือโอกาสเล่นเล่ห์ ขอแบ่งโควตาเหรียญทองในกองนี้) ก็ให้รู้สึกเห็นใจนักกีฬาพื้นบ้านซึ่งเล่นกันด้วยใจรักมากกว่าจะเล่นเพราะได้รับค่าตอบแทนสูงๆ แบบกีฬาอาชีพทั้งหลาย

นึกถึงการที่เพื่อนบ้านอยากนำเสนอกีฬาที่เขาเหล่านั้นปลาบปลื้มสักชนิดสองชนิดให้เรารู้จักและยอมรับ ก็คงไม่ต่างจากเวลาเรานำมวยไทยหรือเซปักตะกร้อไปเสนอให้ชาวโลกยอมรับเพื่อบรรจุในกีฬาโอลิมปิก

กีฬาพื้นบ้านอาจมีข้อเสียตรงที่มีคนนิยมเล่นกันไม่แพร่หลาย อาจมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ก็มีข้อดีตรงที่มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ ในระดับหนึ่ง  นอกจากนี้กีฬาพื้นบ้านจำนวนมากเกิดจากการปรับปรุง ผสมผสานกีฬาหลายชนิดจากหลายวัฒนธรรมเพื่อให้เหมาะกับตนเองด้วย

มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า เมื่ออยากให้ความหมายกับกีฬาพื้นบ้านก็ควรแยกกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ออกไปจัดเองต่างหากเสียเลยดีไหม  คำตอบข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับเราชาวอาเซียนว่าจะนิยามกีฬาซีเกมส์อย่างไร จะแข่งขันเพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพการกีฬาสากล หรือส่งเสริมมิตรภาพความเข้าใจอันดีต่อกัน

อันที่จริงการให้ความสำคัญกีฬาพื้นบ้านไม่น่าจะเป็นปัญหา หากพวกเรา (ชาติผู้นำของซีเกมส์) ไม่ยึดติดอยู่กับมายาคติเรื่อง “เจ้าเหรียญทอง” มากจนเกินไป  ตำแหน่งเจ้าเหรียญทองที่ผูกโยงกับเรื่องศักดิ์ศรี ความเป็นชาตินิยมที่ตัวเองต้องเหนือกว่าผู้อื่น

แม้จะมีคนมองไปในแง่ “เจ้าภาพแบ่งเหรียญให้” หรืออย่างไรก็ช่าง  สำหรับชาวติมอร์-เลสเต พวกเขาจำได้ดีว่าในซีเกมส์ครั้งล่าสุดที่อินโดนีเซีย จูเลียนโต เปไรรา และ ดอร์เซยานา บอร์เกส ได้สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองให้แผ่นดินเกิดได้เป็นเหรียญแรก นับแต่ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกที่ประเทศเวียดนามเมื่อปี ๒๕๔๖

เหรียญรางวัลอันน่าภาคภูมิได้มาจากกีฬาเคมโป ประเภทคู่ผสม ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่ “กีฬาพื้นบ้าน”