เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง / ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
อีบุ๊กหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ แนวคิดที่มีมากว่า ๗๐ ปีแล้ว เริ่มสร้างเอกสารหรือจัดเก็บหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาของมาตรฐานไฟล์จัดเก็บและเครื่องอ่าน ส่งผลให้ที่ผ่านมาอีบุ๊กยังเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่การเปิดตัวคินเดิล (Kindle) เครื่องอ่านอีบุ๊กของเว็บไซต์ Amazon ในปี ๒๕๕๑ ตามด้วยไอแพด (iPad) ของบริษัท Apple ในปี ๒๕๕๓ ข่าวคราวเกี่ยวกับอีบุ๊กก็ส่งแรงสั่นสะเทือนวงการหนังสืออย่างไม่อาจมองข้าม
ห้าปีที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์หลายร้อยหัวประกาศหยุดตีพิมพ์ หลายบริษัทหันไปนำเสนอข่าวผ่านทางเว็บไซต์แทน
พฤษภาคม ๒๕๕๔ Amazon ประกาศยอดขายอีบุ๊กในรูปแบบคินเดิลแซงหน้ายอดจำหน่ายหนังสือเล่มทุกประเภท
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ คือฉบับตีพิมพ์สุดท้ายของ Newsweek นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ที่มีอายุเกือบ ๘๐ ปี
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ Borders เครือร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ประกาศล้มละลาย หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าบริษัทปรับตัวสู่การขายออนไลน์และอีบุ๊กไม่ทัน
แม้ตัวเลขโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมหนังสือในสหรัฐอเมริกา อีบุ๊กจะยังคงมีสัดส่วนทั้งหมดเพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ส่งสัญญาณให้เห็นว่านับจากนี้จะกลายเป็นทางเลือก และใช้สำหรับการอ่านในอนาคตอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับในประเทศไทย มีความพยายามบุกเบิกอีบุ๊กมานาน ทั้งแบบแจกฟรีและเชิงพาณิชย์ แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างทำให้สื่อการอ่านชนิดใหม่นี้ไม่ประสบความสำเร็จ มักเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอีบุ๊กในต่างประเทศ ตลาดนี้จึงกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานใหม่ที่ดูทันสมัยและเข้าถึงง่ายขึ้น
Ookbee รังใหญ่แห่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
หากจะนับรูปแบบการขายอีบุ๊กที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบันคงไม่พ้นการขายผ่านแอปพลิเคชันร้านหนังสือ หรือแยกขายตามแอปพลิเคชันของหัวนิตยสารที่วางแข่งกับแอปพลิเคชันความบันเทิงอื่น ๆ ที่เรียงรายบนแท็บเลต-โทรศัพท์สมาร์ตโฟน เนื่องจากสั่งซื้อได้ทันทีและใช้เวลาดาวน์โหลดไม่นานก็เปิดอ่านได้โดยไม่ต้องไปร้านหนังสือ ราคาที่ถูกกว่าหนังสือเล่ม รวมถึงระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ช่วยสนับสนุนให้แก่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ
“ประมาณ ๓ ปีที่แล้วตอน iPad ออกมา ตอนนั้นบริษัทเรา (IT Works) รับจ้างเขียนโปรแกรมบนมือถืออยู่แล้ว ก็เลยดึงทีมโปรแกรมเมอร์ออกมาทำตลาดตรงนี้ห้าคน กลายมาเป็นบริษัทใหม่” ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO และผู้เปิดบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) เล่าที่มาของบริษัทซึ่งผวนชื่อจาก “อีบุ๊ก” กลายเป็น “อุ๊คบี” และกลายเป็นผู้นำการขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์
อุ๊คบีไม่ได้ทำหน้าร้านของตนเอง แต่เป็นผู้ผลิตแอปพลิเคชันให้ร้านหนังสือแหล่งใหญ่อย่าง AIS Bookstore, B2S, Samsung Galaxy Bookstore และแอปฯ ของนิตยสารและสำนักพิมพ์อีกกว่า ๙๐ ราย นอกจากนี้ยังขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งยังมีช่องว่างตลาดที่บริษัทใหญ่อย่าง Amazon และ Apple ที่เน้นขายอีบุ๊กภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ได้เจาะตลาดภาษาอื่น ๆ
นิตยสารประเภทที่ขายดีกลุ่มใหม่ คือกลุ่มเน้นแนวแฟชันเซ็กซี่ ทั้งที่ขายตามแผงและนิตยสารหัวใหม่ที่ผลิตเพื่อขายช่องทางนี้โดยเฉพาะ “ส่วนหนึ่งคงเพราะไม่อยากซื้อนิตยสารเหล่านี้ตามแผง และเป็นส่วนตัวดี” และอีกเหตุผลคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความหวือหวาของดิจิทัล แมกกาซีน ที่ตอบสนองผู้ใช้แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ หรือการแสดงวิดีโอนอกเหนือจากภาพนิ่งและตัวอักษรอีกด้วย
อย่างไรก็ตามณัฐวุฒิตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่เราพบคือนิตยสารที่ขายดีบนกระดาษก็ขายดีบนนี้ ไม่ใช่ทำอินเตอร์แอ็กทีฟแล้วจะขายดีขึ้นมา ลองนึกถึงว่าเราอ่านนิตยสารหัวนี้อยู่ เราคงไม่ไปอ่านหัวอื่นเพราะมีอินเตอร์-แอ็กทีฟ มันเป็นแค่ลูกเล่นเพิ่ม เนื้อหาหรือคนเขียนก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี” เขายกตัวอย่างนิตยสารกลุ่มอื่นที่ขายดีอย่าง แพรว, GM, บ้านและสวน ฯลฯ
นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่ามีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่เคยซื้ออ่านฉบับกระดาษของนิตยสารหัวนั้นเลย โดยประเมินว่ามาจากคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ชอบดาวน์โหลดเกม และอยากลองซื้อหนังสือ เพราะช่องทางที่ง่าย ประหยัดโดยอ่านจากเล่มที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ย้อนกลับมาอ่านได้โดยไม่เปลืองที่เก็บ “นึกถึงคนรุ่นใหม่สมัยนี้ ถ้ายื่นแท็บเลตให้เขา เขาเปิดเอง เล่นเอง โหลดเอง เป็นหมดแล้ว”
ความแตกต่างอีกประการของตลาดอีบุ๊ก คือการเกิดนักเขียนอิสระที่ส่งเรื่องมาจำหน่ายในตลาดนี้โดยตรง ไม่ได้พิมพ์เป็นรูปเล่ม “ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนที่มีผู้ติดตามตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น เด็กดี.คอม และเว็บแต่งนิยายต่าง ๆ แนวเรื่องที่ขายดีหน่อยจะเป็นนิยายรัก นิยายอีโรติก คงเหมือนแนวโน้มตลาดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศจีน กลายเป็นว่านักเขียนชื่อดังเกิดมาจากตลาดดิจิทัลก่อน เนื่องจากไม่มีต้นทุนการพิมพ์เป็นกระดาษ นักเขียนก็เกิดขึ้นมาเยอะ สำนักพิมพ์ก็มาดูว่าเล่มไหนขายดีแล้วค่อยกลับไปพิมพ์ขายเป็นเล่มกระดาษ หน้าปกก็จะพาดว่าจำหน่ายเป็นอีบุ๊กไปแล้วกี่หมื่นเล่ม วิธีนี้ช่วยคัดกรองให้สำนักพิมพ์ จากนักเขียนหลายร้อยคนเลือกให้เหลือแค่ ๑๐ คน มีกี่คนก็โยนขึ้นดิจิทัลไปก่อน ซึ่งน่าจะเป็น business model ที่ดีกว่า” ณัฐวุฒิกล่าว
อนาคตอุ๊คบียังคงจับตลาดการอ่านบนแท็บเลตเป็นหลัก โดยไม่ได้คิดมองตลาดบนเครื่องอ่านอี-รีดเดอร์ “ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีจะค่อย ๆ เปลี่ยนตามแนวโน้มแบบคอนเวอร์เจนซ์ว่าใคร ๆ ก็อยากจะซื้อเครื่องเดียวแล้วเล่นได้ทุกอย่าง ทั้งเช็กเมล เล่นเฟซบุ๊ก ไม่มีใครถือเครื่องออกจากบ้านเพียงเพื่อมานั่งอ่านหนังสือ ต้องยอมรับว่าอ่านอี-รีดเดอร์สบายตากว่า เหมือนกับกระดาษที่อ่านสบายที่สุด แต่ตลาดของอี-รีดเดอร์คงค่อย ๆ เล็กลง เพราะจะถูกกินโดยตลาดของอุปกรณ์ที่ครอบคลุมกว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ”
เครื่องอี-รีดเดอร์ Kindle
E-Reader และตลาดอีบุ๊กรายย่อย
อีกด้านหนึ่งการขายอีบุ๊กยังมีรูปแบบที่ได้รับความนิยมในแวดวงเฉพาะ
ชัยณรงค์ ตั้งสุรกิจ โปรแกรมเมอร์ผู้นำเครื่องอี-รีดเดอร์มาขายเป็นงานเสริมภายหลังจากเขาลองใช้ Kindle แทนการซื้อหนังสือสอนเขียนภาษาคอมพิวเตอร์เล่มหนา น้ำหนักมาก แล้วประทับใจความเบาของตัวเครื่อง ประกอบกับบริการที่ดีของ Amazon โดยเขาชู Kindle เป็นหลักในการขาย รวมถึงเขียนบทความแนะนำข่าวสารเกี่ยวกับอี-รีดเดอร์ และอีบุ๊กอยู่เป็นระยะ
“เป็นอุปกรณ์ที่อุทิศเพื่ออีบุ๊ก ตัดทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออก สี ระบบโทรศัพท์ ไม่ใช่ว่ามีเยอะแล้วยิ่งฉลาด แล้วปรับราคาให้เหมาะสม มีแบตเตอรี่ที่อึด ไม่ต้องพะวงกับการชาร์จทุกวัน ถนอมสายตากว่า ตอนนี้หน้าจอ E-ink* เองก็พยายามพัฒนาไล่สีให้ละเอียดขึ้น”
ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนอ่านนิยาย ตำราเรียน และสารคดีภาษาอังกฤษทางเว็บไซต์ Amazon และมีวัยหลากหลายตั้งแต่เด็กวัยรุ่นจนถึงอายุ ๕๐ ปี บางคนไม่นิยมอ่านบนแท็บเลตจึงให้ความสนใจกับเครื่องอ่านแบบนี้
“เท่าที่เคยคุย หลายคนมองว่าหนังสือแบบอินเตอร์แอ็กทีฟรบกวนสมาธิ ถ้ามีภาพและสื่อ สิ่งที่หายไปก็คือจินตนาการ คล้าย ๆ ดูหนังกับหนังสือ มันให้สัมผัสไม่เหมือนกัน”
อี-รีดเดอร์ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้นำเข้าเครื่องจากต่างประเทศมาจำหน่าย หจก. ฟิวเจอร์ โซลูชั่น ได้ผลิตเครื่อง iReed ออกมาทำตลาดเช่นกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยชูจุดเด่นของเมนูภาษาไทย การอ่านภาษาไทยดีกว่าเครื่องจากต่างประเทศ และมีพจนานุกรมไทย-อังกฤษ โดยมีกลุ่มผู้อ่านที่เน้นอ่านบทความวิชาการและเอกสารซึ่งเป็นอีบุ๊กในคอมพิวเตอร์
รัตนา ปสุตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด หจก. ฟิวเจอร์ โซลูชั่น ชี้ปัญหาที่พบว่า “เพราะเรื่องลิขสิทธิ์ของเจ้าของหนังสือและสำนักพิมพ์ เนื่องจากผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์อาจยังไม่ได้เตรียมการเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เช่นเรื่องส่วนแบ่งรายได้ของอีบุ๊ก ดังนั้นปัจจัยในการประสบความสำเร็จ ภาครัฐบาลต้องมีส่วนสนับสนุน ออกกฎระเบียบเพื่อสร้างมาตรฐาน และสำนักพิมพ์ยังห่วงเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์”
และใช่จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เข้าทำตลาดผลิตอีบุ๊ก มีผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมาก อาทิ eBooks (ebooks.in.th), I Love Library (ilovelibrary.com) Bookmoby (bookmoby.com)
พัฒนา พิลึกฤๅเดช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ.พี.เจ. อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ผู้ขายอีบุ๊กผ่านเว็บไซต์ Hytexts.com ซึ่งเพิ่มช่องทางการดาวน์โหลดไฟล์เพื่ออ่านผ่านเครื่องอี-รีดเดอร์ นอกเหนือจากการอ่านผ่านแอปพลิเคชันบนแท็บเลต มองเห็นการเติบโตของธุรกิจนี้ ส่วนหนึ่งเพราะราคาของเครื่องลดลงมาพอสมควร แม้ผลประกอบการจะยังไม่ได้สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“จำนวนหนังสือยังน้อยอยู่ แต่ก็มีลูกค้าประจำ ปีที่ผ่านมาบางคนซื้อหนังสือจากเราไปแล้วมากกว่า ๕ หมื่นบาท”
พัฒนามองต่างในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ว่า “อาจจะแก้ได้ยาก แต่เราก็ควรปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและทำให้การเข้าถึงอีบุ๊กง่ายที่สุดและอ่านในแพลตฟอร์มที่หลากหลายได้โดยไม่จำกัดเฉพาะแท็บเลตหรือสมาร์ตโฟน และไม่พยายามมีกฎมากมายที่บีบลูกค้าจนเกินไป”
ส่วนปัญหาที่ชัยณรงค์พบ คือการที่เขาสั่งซื้อเครื่องเองโดยไม่มีผู้แทนจำหน่ายโดยตรง ทำให้ราคาขายของอี-รีดเดอร์ไม่ต่างจากแท็บเลต ผิดกับอี-รีดเดอร์ในต่างประเทศจะมีราคาถูกกว่ามาก ระยะหลังจึงมีผู้สนใจน้อยลง แต่เขาก็เชื่อว่า “ในอนาคตอาจจะถูกลง เพราะต้นทุนต้องลดลงตามจำนวนความต้องการที่มากขึ้น”
…………………………………………………
แม้จะเห็นว่ามีผู้ผลิตอีบุ๊กและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย และหลายบริษัทก็เห็นแนวโน้มของยอดขายที่สูงขึ้น แต่สัดส่วนในอุตสาหกรรมหนังสือของไทยก็ยังมีเพียงแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยมียอดรายได้ประจำปีนี้ทั้งหมดไม่เกิน ๓๐๐ ล้านบาท
ณัฐวุฒิมองอุปสรรคว่าปัจจัยหลักคือหนังสือไม่ได้อยู่บนอีบุ๊กทั้งหมด “เรายังอยู่ในช่วงที่สำนักพิมพ์ยังเบรกอยู่ว่าควรจะมาทำอีบุ๊กไหม จะกระทบกับหนังสือกระดาษไหม เรายังตะกุกตะกักอยู่ตรงนั้น คนยังไม่ได้มีมุมมองว่าถ้าตลาดอีบุ๊กใหญ่แล้วจะช่วยตลาดหนังสือไปพร้อมกัน ตลาดอย่างสำนักพิมพ์แจ่มใสซึ่งตรงกับกลุ่มวัยรุ่นที่ซื้ออุปกรณ์พวกนี้ก็เพิ่งเริ่มเข้ามา และสิ่งที่เกิดขึ้นคือรายได้ยังน้อย มีไม่กี่คนที่จะตัดสินใจซื้อแท็บเลตราคาหลายหมื่นบาทกับยังต้องเสียเงินซื้ออีบุ๊กในนั้นอีก เรายังอยู่ในระยะของการพิสูจน์ที่ช่วงแรกคงต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุดก็เหมือนคอมพิวเตอร์ที่แต่ก่อนมีแค่ในมหาวิทยาลัย ถึงตอนนี้ทุกคนก็มีโน้ตบุ๊ก มีแล็บทอปใช้กัน”
ทั้งนี้สัดส่วนการดาวน์โหลดฟรียังเป็นสัดส่วนต่อการซื้อถึงสามต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้ทางอุ๊คบีต้องส่งเสริมการตลาดด้วยการขายแบบบุฟเฟต์จ่ายรายเดือนครั้งเดียว อ่านนิตยสารไทยได้ทุกหัว
รัตนายังมองเห็นข้อดีของอีบุ๊กว่า “อีบุ๊กอาจทำให้คนไทยสนใจหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น เพราะสะดวก หาอ่านได้ในทุกที่ ไม่ต้องออกไปที่ร้านหนังสือ ประหยัดเวลาการเดินทาง ถ้าเราพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้น่าสนใจมากขึ้นก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจอ่านหนังสือกันมากขึ้นก็ได้”
ชัยณรงค์ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงต่อหนังสือและการอ่านที่มาจากอีบุ๊กว่า “มีทั้งบวกและลบ ตัวเลขจากซีเอ็ดบอกว่ามีหนังสือปกใหม่ออกวันละ ๓๐๐ ปก หนังสือที่ขายง่ายจะวางอยู่ข้างหน้าและขายดี ส่วนหนังสือดี ๆ กลับไม่มีที่วาง แต่อีบุ๊กมีพื้นที่วางหนังสือได้ไม่จำกัด หรือถ้าเป็นหนังสือกระแส ขายดี และไม่รู้จะซื้อที่ไหน อีบุ๊กก็สามารถค้นหาและซื้อได้เลย แต่ข้อเสียของอีบุ๊กคือ มืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับหนังสือต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไป นักเขียนสมัครเล่นที่เกิดง่ายขึ้นก็อาจสร้างความไม่น่าประทับใจให้คนอ่านได้เหมือนกัน”
“สำนักพิมพ์ไม่ได้ปิด แต่มีทั้งรวมตัวกัน หาทางดิ้นรน เคลื่อนย้ายไปสู่ออนไลน์ อย่างนิตยสารดิจิทัลก็ไม่ต้องจ่ายเป็นรายปักษ์ รายเดือนแล้ว แต่ถ้าจ่ายเงินเพิ่มจะได้สิทธิ์อ่านข่าวที่เจาะลึกขึ้น”
มุมมองของเขาจึงเห็นว่าการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์บนกระดาษไม่ใช่การหยุดผลิตสื่ออย่างสิ้นเชิง แต่คือการเปลี่ยนไปยังสื่ออื่น และในอนาคตสำนักพิมพ์ก็ต้องปรับตัวจากการมาของอีบุ๊ก
ขอขอบคุณ
- หจก. ฟิวเจอร์ โซลูชั่น
- คุณชัยณรงค์ ตั้งสุรกิจ
- Hytexts.com
- บริษัท Ookbee จำกัด
เชิงอรรถ
* E-ink รูปแบบหน้าจอของเครื่องอ่านแบบอี-รีดเดอร์ ที่สร้าง
เม็ดแคปซูลขนาดเล็กนับล้าน ๆ ทำให้ภาพไม่มีการกะพริบ ให้ผลที่เหมือนการอ่านบนกระดาษมากกว่าจอ LCD