เรื่อง : สุชาดา ลิมป์, ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์


เทเนอร์(Tenor Saxophone)

แว่วเสียงเครื่องเป่าลมไม้เมื่อไรพานนึกถึงสมัยเด็ก…

วันไหนมีวิชาดนตรีต้องพกหลอดไม้ไผ่ท่อนหนึ่งติดกระเป๋าไปโรงเรียนเสมอ ช่วงรอยต่อของคาบเรียน พักกลางวัน หลังเลิกเรียน ไม่มีอะไรทำก็หยิบมาเป่าลมใส่รูให้อากาศภายในหลอดสั่นสะเทือนออกมาเป็นเสียงนุ่มครวญคล้อยลมแข่งกับเพื่อน บางคนเป่าเสียงนุ่มไพเราะ บางคนเป่าเสียงดังกระด้าง พอแข่งประสานกันเข้าก็กลายเป็นสรรพเสียงกระหึ่มเสียดสูง จนครูที่อยู่ใกล้ ๆ ต้องเดินมาบอกให้นักเรียนวางปี่-ขลุ่ย

ระยะเวลายาวนาน วิวัฒนาการเลาจากไม้รวกท่อนเดียวไม่มีข้อเป็น “แซ็กโซโฟน” แล้ว

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าไม้ไผ่ที่ทำเครื่องดนตรีไทยจะเป็นวัสดุทำเครื่องดนตรีสากลอย่างแซ็กโซโฟนได้”

วิบูลย์ ตั้งยืนยง เจ้าของร้านแว่นตาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยึดอาชีพทำแซ็กโซโฟนเป็นรายได้เสริมมา ๑๐ กว่าปี ย้อนถึงแรงบันดาลใจในวันที่เห็นชาวต่างชาติทำแซ็กโซโฟนไม้ไผ่จากรายการโทรทัศน์

“ตอนนั้นผมยังเล่นแซ็กโซโฟนไม่เป็นหรอกแต่ชอบเป่าขลุ่ยอยู่แล้ว พอเห็นลักษณะรูแซ็กโซโฟนที่คล้ายขลุ่ยผมก็สนใจ คิดว่าเราน่าจะทำตามเขาได้”

ถึงอย่างนั้นก็ตระหนักว่าจำนวนรูที่ต่างระหว่างแซ็กโซโฟนแปดรูกับขลุ่ยเจ็ดรู คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ขลุ่ยพื้นบ้านเล่นเพลงที่มีจังหวะครึ่งเสียงไม่ได้ จึงตัดสินใจสั่งซื้อแซ็กโซโฟนไม้ไผ่มาตัวหนึ่งเพื่อถอดแบบทำตาม

วิบูลย์เริ่มจากหาซื้อวัสดุสำคัญอย่างไผ่รวก ไผ่นวล ไผ่ป่า ลำอ่อน-แก่คละขนาดมากองไว้ที่บ้าน แช่น้ำจนเมือกขึ้น เมื่อว่างจากงานประจำจึงทยอยนำมาเผาลนไฟให้ได้ไผ่สีเข้มสวยสไตล์ญี่ปุ่น

“เมื่อ ๑๐ ปีก่อนมีลูกค้าอยากได้แซ็กโซโฟนไม้ไผ่สีเข้ม ๆ ผมนึกถึงกระบอกข้าวหลามบ้านเรา สีที่เผาออกมาจะไหม้แบบไม่สม่ำเสมอ สวยตามธรรมชาติ”

เขาว่าการเผายังช่วยให้ภายในกระบอกแห้งลงเป็นการกำจัดมอดอีกทาง และเนื้อไม้จะโปร่งขึ้นทำให้ได้เครื่องดนตรีที่เสียงดีขึ้นไปด้วย เสร็จขั้นตอนเผาก็จะเลือกขนาดเพื่อเตรียมประดิษฐ์ชิ้นส่วนที่มากถึง ๑๐ กว่าอันต่อแซ็กโซโฟนหนึ่งตัว ยากกว่าการใช้ไผ่ท่อนเดียวมาทะลวงข้อทิ้งแบบปี่หรือขลุ่ย

“ผมจะทำขั้นตอนเดียวกันพร้อมกันครั้งละมาก ๆ เวลาเสร็จจะได้แซ็กโซโฟนพร้อมกันหลายตัว แล้วจะทำไล่ขนาดจากชิ้นส่วนใหญ่ที่สุดไล่มาหาชิ้นเล็กที่สุดจะช่วยให้ประกอบกันง่ายขึ้น”

ชายผู้มีพรสวรรค์ทางศิลปะพอ ๆ กับทักษะงานช่างว่า ถ้ามีเครื่องมือ อุปกรณ์ และไม้ไผ่ครบทุกขนาดที่ต้องการพร้อม ใช้เวลาทำจริงเพียง ๑ สัปดาห์ก็เสร็จ

“มันยากแค่ช่วง ๒-๓ ปีแรกที่ผมหัดเรียนรู้วิธีทำ ซื้อเครื่องมือมาใช้ไม่ตรงกับประเภทงานที่จะทำบ้าง ทำไม้ไผ่เสียเองบ้าง บางครั้งเจาะรูไม่ถูกตำแหน่ง ต่ำหรือสูงไปก็ทำให้ได้ช่องเสียงไม่ถูกต้อง ชิ้นไหนทำเสียผมจะใช้กระดาษปิดช่องที่ผิดไว้แล้วเจาะรูใหม่”

แรก ๆ วิบูลย์ทดลองเป่าโดยเทียบเสียงดนตรีจากคีย์บอร์ด แล้วพัฒนาใช้เครื่องจูนเนอร์เพื่อให้ได้ช่องเสียงที่มาตรฐานแล้วทำแพตเทิร์นเก็บไว้ หากทำครั้งถัดไปก็เพียงนำแพตเทิร์นทาบเจาะ

จากเครื่องดนตรีพื้นฐานง่าย ๆ ใช้ไม้ไผ่กระบอกเดียวเป็นหลายกระบอกซับซ้อนขึ้น ในที่สุดปี ๒๕๔๓ แซ็กโซโฟนไม้ไผ่สัญชาติไทยตัวแรกก็สำเร็จ แม้จะยังไม่สวยนัก ปากลำโพงสั้นดูคล้ายแตรยักษ์มากกว่า แต่คือความภาคภูมิใจยิ่งของคนที่รังสรรค์ลำไผ่ธรรมดาให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสากลแผดเสียงดังได้

โซปราโน(Soprano Saxophone) แบบตรง ไม้ไผ่ดูจะเป็นวัสดุแปลกหน้าสำหรับแซ็กโซโฟน แต่ลำต้นตรง กลวง คล้ายหลอดมีปล้องคั่น กลับเป็นลักษณะพิเศษช่วยให้พลังเสียงนุ่ม ต่างจากแซ็กโซโฟนโลหะที่ให้เสียงแปร๋นกังวาน

ถึงวันนี้วิบูลย์กลายเป็นช่างทำแซ็กโซโฟนมืออาชีพ ที่ประดิษฐ์ได้ทั้งโซปราโน (Soprano Saxophone), อัลโต (Alto Saxophone), เทเนอร์ (Tenor Saxophone) และบาริโทน (Baritone Saxophone) นี่คือสิ่งยืนยันว่าหัตถกรรมของไทยงดงามไม่แพ้ของชาติใดในโลก เมื่อประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมด้วยแล้วก็ทำให้เรามีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก น่าเสียดายที่ยังไร้ผู้สืบทอดภูมิความรู้นี้

“หากผมตายไปวิธีทำแซ็กโซโฟนไม้ไผ่ก็คงตายไปกับผม”

น้ำเสียงของชายวัย ๖๗ ปีสะท้อนความเศร้าลึกมากกว่าจะหวงวิชา

“ผมเข้าใจนะ งานช่างแบบนี้รายละเอียดมันเยอะ และถ้าใจไม่รักจริงแค่เทสต์เสียงอย่างเดียวก็เบื่อจะแย่ แต่ผมถ่ายวิดีโอวิธีทำทุกขั้นตอนเก็บไว้แล้ว ถ้ามีใครอยากมาสานต่อผมก็ยินดีถ่ายทอดให้”

วิบูลย์เล่าว่าเคยมีลูกค้ามาจากจังหวัดลพบุรี ซื้อแซ็กโซโฟนไม้ไผ่จากเขาไปทั้งชุด และลองทำอัลโตที่มีรูปทรงตรงจากท่อ PVC กลับมาให้ดู เขาว่านั่นคือแซ็กโซโฟนที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย

“มันเป็นวัสดุที่ทำได้เหมือนกัน แต่ไม่สวย ไม่มีความงามทางศิลปะ ไม่มีมูลค่าในระยะยาว ต่างจากไม้ไผ่ที่เก็บไว้นานเสียงยิ่งดี เพราะเนื้อไม้จะแห้งลงเรื่อย ๆ ห้องเสียงจะยิ่งโปร่งบาง แซ็กโซโฟนไม้ไผ่ให้เสียงนุ่มต่างจากแซ็กโซโฟนโลหะที่ให้เสียงแปร๋นกังวาน แต่ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่ากัน เป็นทางเลือกให้ผู้เล่นมากกว่า ถึงอย่างนั้นผมก็คิดว่าแซ็กโซโฟนไม้ไผ่มีคุณค่าเทียบเท่าไวโอลินนะ เก็บไว้นานยิ่งมีราคา”

วิบูลย์ยกตัวอย่างไวโอลินอายุ ๕๐ ปีราคานับแสนบาท หรือไวโอลินอายุเกือบ ๓๐๐ ปีของ วาเนสซา เม(Vanessa Mae) ที่ซื้อมาจากออสเตรีย นั่นก็มีราคาถึง ๒ ล้านบาท ขณะที่แซ็กโซโฟนโลหะราคา ๓-๔ หมื่นบาท แซ็กโซโฟนไม้ไผ่ที่ต้นทุนต่ำกว่ามากยังมีราคาถึงหมื่นกว่าบาทได้

“ภูมิปัญญาไทยมีราคามากนะ ฝรั่งเต็มใจซื้องานฝีมือโดยไม่ต่อรองเลย เคยมีคนบอกว่าถ้าผมเก็บแซ็กโซโฟนไม้ไผ่ไว้อีก ๕๐ ปีแล้วเอามาประมูลขายนะ รวยเลย !”

นี่เอง คือคุณค่าที่ทำให้ไม้ไผ่ต่างจากท่อ PVC

ก่อนจากกัน ชายนักสร้างสรรค์ถือเทเนอร์ที่ลูกค้าต่างชาติสั่งทำไว้แต่ยังไม่มารับ เป่าบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ที่เต็มไปด้วยจังหวะครึ่งเสียงมอบแก่เราเป็นที่ระลึก

เวลานั้นหากใครเดินผ่านถนนอัษฎา หลังกระทรวงกลาโหม จะได้ยินเสียงไพเราะกังวานที่ให้ความรู้สึกกระซิบกระซาบ อ่อนหวานนุ่มนวลนี้พร้อมกัน

และบางจังหวะ อาจทำให้ใครบางคนเผลอคิดถึงเครื่องเป่าลมไม้สมัยเด็ก

ดํ   ดํ      ดํ    ท  ล   ซ    ซ  /  ดํ  ดํ  ดํ ท   ล ซ  ร   ม   ซ   ล  ท…

นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย  คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง…