ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง / กมลรัตน์ ไชยรัตนตรัย : ภาพ
ควันไฟจากกองขยะเมื่อมองจากบ้านหลังหนึ่งในตำบลแพรกษาราวบ่าย ๓ ของวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ ที่เกิดเหตุ
ยามสายวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗ หลังผู้เขียนเดินทางกลับจากจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมข่าวไฟไหม้ป่าและหมอกควันที่แผ่ปกคลุมหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน
ระหว่างสัญจรบนถนนมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าพระราม ๙ เมื่อเข้าเขตบ้านทับช้าง (บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์บ้านทับช้าง) เรื่อยมาถึงศรีนครินทร์ พบกลุ่มหมอกควันแผ่ปกคลุมตึกราม บ้านเรือน ท้องถนน ส่งผลต่อทัศนวิสัย จนฉุกคิดอย่างขำๆ ว่าเรายังไม่ได้เดินทางกลับจากเชียงใหม่หรือนี่ ?
เหตุใดใต้ฟ้าเมืองหลวงวันนี้จึงเต็มไปด้วยกลุ่มหมอกควันหนาตา ?
ทันทีที่ก้าวลงจากรถก็พบคำตอบว่ากลิ่นเหม็นไหม้และสัมผัสอันร้อนผ่าวนั้นคือควันไฟ ไม่ใช่หมอก คำถามคือต้นเพลิงของกลุ่มควันที่แผ่ปกคลุมไปทั่วฟ้าคืออะไร เหตุใดจึงเป็นตัวการของควันไฟมากมายขนาดนี้
…
นับตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ ๑๖ มีนาคมแล้วที่เกิดเหตุไฟไหม้บ่อทิ้งขยะบนพื้นที่กว่า ๑๐๐ ไร่ในซอย ๘ ของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ เปลวเพลิงที่คาดว่าเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อันไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ได้ลุกลามบานปลายเผาไหม้เชื้อเพลิงคือเศษขยะในอาณาเขตกว้างขวางโดยไม่มีทีท่าว่าจะหมดสิ้น ยิ่งลมกระโชกแรงยิ่งทำให้กองเพลิงลุกโหมมีพลังลามไปทุกทาง รวมทั้งทิศตะวันออกที่มีขยะพลาสติกและเศษขยะจากยางพารากองใหญ่ เป็นเหตุให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง กลุ่มควันดำทะมึนพวยพุ่งขึ้นที่สูงจนท้องฟ้าบริเวณนั้นเปลี่ยนสี
ภารวิณี ยังเจริญยืนยง ชาวแพรกษาซึ่งอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูไม่ถึง ๒ กิโลเมตร เล่าว่าตนกลับบ้านเมื่อช่วงค่ำ สภาพอากาศเหมือนมีหมอกลง มีควันแสบจมูกเล็ดลอดเข้าในตัวบ้านจนต้องหลบไปห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่กลิ่นก็ยังเข้าไปได้
ผู้ประสบภัยถ่ายทอดถึงการรับมลพิษอันคาดไม่ถึงว่า “แล้วแต่ทิศทางลม เพราะตื่นเช้ามาไม่มีหมอก (ควัน) แต่พอกลางวันลมพัด หมอก (ควัน) ก็มาอีกระลอก เหม็นเป็นระลอกทั้งวัน”
ไม่นานพื้นที่แถบนั้นก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ชาวบ้าน ๑,๐๐๐ กว่าครอบครัวต้องอพยพออกนอกพื้นที่ ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งมีอาการระคายเคืองตา แสบจมูก แสบคอ และมีเด็กต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดติดเชื้อ
หมอกทะมึนและฝุ่นควันยังแผ่เข้าสู่กรุงเทพฯ ผ่านเขตบางนา ประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา บึงกุ่ม เป็นต้น ภาพจากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๔ น. ฉายชัดว่าแนวควันไฟพัดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางไกลถึง ๒๐ กิโลเมตร
http://www.gistda.or.th/gistda_n/index.php/component/content/article/1891
ใต้ที่เกิดเหตุ
การดับไฟเป็นไปด้วยความยากลำบาก รถดับเพลิงจากเทศบาลตำบลแพรกษาและเทศบาลใกล้เคียง ๑๐ กว่าคันทำได้แค่สกัดไม่ให้ไฟลุกลามเร็ว ขณะเจ้าหน้าที่ต้องระดมสรรพกำลังทุกวิถีทาง รวมทั้งนำเฮลิคอปเตอร์บรรทุกน้ำช่วยรดดับไฟทางอากาศด้วย แต่แทบไม่เป็นผล ผ่านไปกว่า ๑ สัปดาห์เปลวเพลิงจึงสงบลง ซึ่งฝนแรกของปีที่ตกตามธรรมชาติเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคมนั้นมีส่วนช่วยไม่น้อย
สาเหตุที่ดับไฟยากเพราะมวลขยะสารพัดชนิดนั้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ซ้ำพื้นที่ ๑๐๐ กว่าไร่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นดินราบเรียบที่มีขยะกองทับถม แต่มีลักษณะเป็น “บ่อขยะ” ที่ขุดลึกลงไปใต้พื้น คาดว่าน่าจะมีความลึกถึง ๔๐-๕๐ เมตร โดยเจ้าของที่ได้ขุดดินขายจนถึงชั้นดินดาน เมื่อไม่สามารถขุดดินขายได้แล้วจึงใช้เป็นที่รับทิ้งขยะ แต่โดนคัดค้านจากชุมชนจึงไม่อาจจดทะเบียนเป็นบ่อขยะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
วันดีคืนดีนอกจากมีขยะเปียกขยะแห้งจากครัวเรือนนำมาทิ้ง ยังมีขยะเคมีจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ จนทำให้บ่อขยะที่แพรกษากลายเป็นศูนย์รวมขยะสารพัดชนิด ตั้งแต่กระดาษ กล่องนม สังกะสี ยาง แก้ว หลอดไฟ แบตเตอรี่ รวมทั้งขยะมีพิษและกากอุตสาหกรรมจากโรงงาน เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สิ่งที่ปะปนอยู่ในม่านควันคือสารพิษทั้งก๊าซคาร์บอน-มอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารก่อมะเร็งอื่นๆ
ไม่นับรวมถึงมวลน้ำเฉอะแฉะนองก้นบ่อ คงสภาพข้ามเดือนข้ามปี ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค
ควันหลง
อันที่จริงเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรก ซ้ำร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงแต่ไม่เป็นข่าว อาจเพราะขนาดของบ่อขยะหรือปริมาณขยะไม่มากเท่าที่แพรกษา
ยกตัวอย่างช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะเก่าที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไฟลุกลามกินพื้นที่ราว ๕ ไร่ในบ่อขยะที่ถูกทิ้งร้างนานร่วม ๖ ปี สันนิษฐานว่าก๊าซมีเทนในกองขยะเกิดสันดาปและติดไฟจากสภาพอากาศร้อนจัด วันเดียวกันเกิดไฟไหม้บ่อขยะเทศบาลตำบลสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ทำให้ควันพิษกระจายทั่วรัศมี ๑๐ กิโลเมตร ช่วงเดียวกันนี้ก็เกิดไฟไหม้บ่อขยะองค์การบริหารส่วนตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ควันไฟแผ่ปกคลุมกินวงกว้างและส่งกลิ่นเหม็นแม้ไฟมอดดับแล้ว
สำหรับอุบัติเหตุครั้งนี้ (ที่แพรกษา) ฉุดสังคมไทยให้ฉุกคิดและคำนึงว่าวันนี้เรามี “ขยะ” ปริมาณมากเท่าไร
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี ๒๕๕๖ ทั่วประเทศไทยมีปริมาณขยะ ๒๖.๗๗ ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๒ ล้านตัน ขยะเหล่านี้ได้รับการเก็บขนและกำจัดอย่างถูกต้องเพียง ๗.๒ ล้านตันเท่านั้น โดยสถานที่กำจัดขยะอย่างถูกต้องมีเพียงร้อยละ ๒๐ จากสถานที่กำจัดขยะทั้งหมด ๒,๔๙๐ แห่ง
ส่วนขยะที่เหลืออีก ๖.๙ ล้านตันนั้นกำจัดแบบไม่ถูกต้องตามหลักการสากล เช่น เทกองกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง ยังมีขยะส่วนที่เหลือไม่ได้เก็บขนหรือตกค้างในพื้นที่ นอกจากนี้ขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีเพียง ๕.๑ ล้านตันเท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมด
เหตุการณ์บ่อขยะแพรกษาในเปลวเพลิงสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการคัดแยกขยะ เมื่อเศษขยะในพื้นที่นับร้อยไร่ปะปนไปหมดทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะมีพิษ การคัดแยกและรีไซเคิลยังไม่ได้รับความเอาใจใส่ให้อยู่ระดับที่ใช้งานได้จริง ผู้คนจำนวนมากยังทิ้งขยะโดยไม่คัดแยก อาจเพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่คงนำไปเทกองรวมกันอยู่ดี
การคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์น่าจะเป็นทางออกของปัญหา ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ ไม่ใช่โยนภาระให้เตาเผา บ่อขยะ หรือวิธีกำจัดขยะอันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ •
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 350 เมษายน 2557