เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์
ที่เชียงใหม่ยังมีชายนักพลิกโฉมไม้ไผ่อีกคนอยู่แถว ๆ ตำบลป่าบง อำเภอสารภี
เขาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของงานหัตถกรรมให้มีความหมายใหม่ หลุดจากความเคยชินของเครื่องจักสานที่หน้าตาคล้ายกันไปหมดและตอบสนองเพียงประโยชน์ใช้สอยมาหลายชั่วอายุคน ด้วยลีลา ขด ขยัก ใส่ความคิดบิดเบี้ยวลงไปในข้าวของให้ลูกค้ามีส่วนร่วมจินตนาการและสุนทรียามใช้สอย
“แต่ก่อนพอว่างจากช่วงทำไร่ทำนา ผมกับชาวบ้านจะไปตัดไผ่มาสานกระบุง ตะกร้า ข้อง เครื่องมือเครื่องใช้ครัวเรือน ทำใช้เองบ้าง เอาไปขายในตลาด ขายหมู่บ้านข้างเคียงบ้าง”
ตั้งแต่จำความได้ น้อม ทิพย์ปัญญา ก็เห็นชาวบ้านปลูกไผ่ไว้ตามข้างทางและหัวไร่ปลายนา เวลานั้นไผ่มีหน้าที่ป้องกันดินบริเวณชายฝั่งแม่น้ำลำคลองไม่ให้พังทลาย พอมีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เข้ามาในชุมชน เกษตรกรจึงเริ่มหันเข้าหางานหัตถกรรมเป็นอาชีพหลัก ไผ่จึงปรับประโยชน์เป็นเครื่องเรือนเครื่องใช้ ของประดับตกแต่งบ้านชิ้นเล็กชิ้นน้อย วันหยุดก็นำไปขายบนถนนคนเดินเชียงใหม่
“ผมเลือกทำไผ่ขดเป็นรูปทรงกลมแบน ใช้ภูมิปัญญาล้านนาที่ทำเครื่องเขิน คนสมัยก่อนเวลาขดสานอะไรเสร็จจะชอบลงรักปิดทองทาสีดำสีแดง แต่ผมไม่รู้จะทาให้ยุ่งทำไม ลายไผ่มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว”
กลายเป็นว่าข้าวของพื้นบ้านที่เผยเนื้อไม้ชัด ๆ กลับเป็นที่ต้องตาต้องใจของลูกค้าต่างชาติเสียอีก
“แรก ๆ ผมแค่เอาไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้นแล้วขดวงเป็นแผ่นเรียบทำจานรองแก้วไปขาย พอลูกค้าเห็นก็ท้วงว่าทรงนี้พอเปียกแล้วน้ำจะไหลลงนะ ยกขอบขึ้นหน่อยสิ เราก็ลองบิดขอบขึ้น ปรากฏว่า เอ้อ ดูดีแฮะ !”
นั่นคือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เปลี่ยน “หัตถกรรม” สู่ “หัตถศิลป์” ให้งานฝีมือของน้อมต่างจากใคร ๆ ในชุมชน
“ทีนี้จานรองแก้วมันชิ้นเล็ก ลูกค้าบางคนก็ถาม ทำใหญ่ขึ้นหน่อยได้ไหมเหมือนจานขนาด ๘-๙ นิ้วน่ะ ผมก็ลอง จากนั้นก็หัดบิดไปบิดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสินค้าแปลกใหม่ได้อีกเยอะเลย”
แต่นั้นมา กล่องใส่ทิชชู่ โคมไฟ แจกัน ถาดผลไม้ พาน ขันโตก ถังขยะ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ก็ขดตามออกมาอีกหลายสิบอย่าง มูลค่าตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลายพันบาท และทุกชิ้นคือหนึ่งเดียวในโลกเพราะไม่มีแม่พิมพ์
“อย่างเก้าอี้ตัวนี้นะ มันเริ่มจากถาดใส่ผลไม้ขนาดเล็กที่นำมาบิดครึ่งตัว พอลูกค้าฝรั่งมาเห็นเขาถามว่าทำใหญ่กว่านี้ได้ไหมจะเอาไปโชว์เป็นเก้าอี้ ผมก็ลองทำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๐ เซนติเมตรออกมา ฝรั่งอีกคนมาเห็นถามว่าทำ ๑ เมตรได้ไหม ผมก็ลองทำ แต่ทำได้แค่ชิ้นนั้นชิ้นเดียวนั่นละ มันยาก”
อันที่จริงความคิดสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นจากความท้าทายสิ่งแปลกกว่ามีอยู่ในหัวของมนุษย์เสมอ ต่างกันเพียงบางคนคิดแล้วปล่อยเลย ขณะที่บางคนรีบฉกฉวยมาขบคิดต่อและลงมือทำให้เป็นเรื่องเป็นราว
พอได้เปิดโลกทรรศน์แล้ว น้อมก็ลองทำเก้าอี้เพิ่มอีก เขาว่าขนาด ๗๕ เซนติเมตรกำลังดี ไม่ยากเกินไป แล้วลองเพิ่มมูลค่าโดยนำไม้สักมาทำเป็นขาตั้งให้ดูเหมือนเก้าอี้มากขึ้น ใช้เวลา ๑ สัปดาห์ก็ได้เก้าอี้หนึ่งตัว
นับแต่เริ่มทำปี ๒๕๔๒ มีลูกค้าที่เคยอุดหนุนสินค้าติดต่อกลับมาตามนามบัตรเสมอ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่หลงใหลงานหัตถศิลป์ไทย ส่งให้น้อมกลายเป็นนักขดมือทองที่มียอดสั่งซื้อไผ่ขดอย่างต่อเนื่อง
วันที่มาเขาต้อนรับเราโดยเตรียมอุปกรณ์สำหรับแสดงการทำตะกร้าไผ่ขดใบเล็ก พร้อมเล่ากระบวนการโดยละเอียด ตั้งแต่เลือกใช้ “ไผ่เฮียะ” ที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนาในหมู่บ้าน ด้วยข้อดีของลำต้นที่อ่อนและมีปล้องยาวกว่าไผ่ชนิดอื่น บางต้นมีปล้องยาวถึง ๑ เมตร เวลาขดจะต่อเนื่องไม่ต้องคอยต่อไม้ไผ่บ่อย ๆ
หลังได้ไม้ไผ่มา เขาจะผ่าออกเป็นท่อน ตากแดดจนแห้งแล้วตัดข้อปล้องเพื่อผ่าแต่ละท่อนอีกครั้งเป็นตอกเส้นเล็กยาว จึงนำไปรมควัน ๑ วัน รีดน้ำตาลออกจากเนื้อไม้ป้องกันมอดก่อนใช้งาน
ปฏิบัติการขึ้นรูปทรงด้วยวิธี “ขด-ทุบ-บิด” เริ่มโดย “ขด” ตอกทีละรอบวง สลับฉีดฟ็อกกี้พรมน้ำบนชิ้นงานเป็นเทคนิคให้ไม้ไผ่ขยายตัวอีกนิด เมื่อถึงจังหวะที่ต้องการเปลี่ยนรูปมือข้างหนึ่งจึงคว้าค้อน “ทุบ” วงที่ขดอยู่ด้านในเบา ๆ ให้ยุบตัว ขณะที่มืออีกข้างก็ “บิด” ยกวงที่ขดอยู่ขอบนอกขึ้นเป็นทรงตามต้องการ (จะบิดด้วยมืออย่างเดียวก็ได้ แต่ใช้ค้อนทุบชิ้นงานจะเรียบเนียนกว่า)
ดูเขาขยับชิ้นงานด้วยความสนุก เป็นหัตถกรรมที่ไม่ได้ผลิตด้วย “มือ” อย่างเดียว ยังใช้ “สมอง” ด้วย
น้อมใช้กระดาษทรายขัดเสี้ยนไม้ออกจากชิ้นงานที่ขึ้นรูปเสร็จ ใช้แปรงทาขี้เลื่อยที่ผสมกับสีฝุ่น (ส่วนใหญ่ที่เขาใช้ คือ เขียว แดง น้ำตาล) อุดช่องว่างระหว่างเส้นไผ่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้ชิ้นงานเกิดสีสัน จากนั้นใช้สว่านขัดขี้เลื่อยตามช่องออกจนปรากฏลายเนื้อไม้ชัดเจน ค่อยนำไปชุบกาวลาเท็กซ์แบบเข้มข้นให้เส้นไผ่ที่ขดไว้คงรูปยิ่งขึ้นก่อนนำไปตากแดดจนกาวแห้งสนิท แล้วนำไปอุดขี้เลื่อยพร้อมขัดให้เรียบเนียนอีกครั้ง ขั้นตอนสุดท้ายจะลงแล็กเกอร์สูตรน้ำเคลือบเงาให้มันวาว ถนอมลวดลายที่สวยงามของไผ่ไว้นาน ๆ
“ผมตั้งใจทำงานทุกชิ้นอย่างละเอียดไม่ให้เป็นหลุมขรุขระ ยกเว้นบางงานที่ลูกค้าฝรั่งเขาชอบแบบดิบ ๆ ก็จะไม่ยอมให้เอากระดาษทรายขัดเสี้ยนออกเลย”
แม้วันนี้ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ขดจะได้รับการยกย่องว่าข้ามพ้นเครื่องใช้จักสานธรรมดาสู่งานศิลป์ร่วมสมัยไปแล้ว ผู้ซื้อนำไปประดับอาคาร โรงแรม รีสอร์ต และเก็บสะสมมากกว่าจะใช้จริงตามครัวเรือน แต่ชายผู้ไม่ยอมจำนนต่อขีดจำกัดทางความคิดก็ยังขวนขวายหาแนวทดลองใหม่ ๆ อยู่เสมอ
“ผมว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ต้องต่อยอดรูปแบบออกไปเรื่อย ๆ น่ะ อย่าหยุดที่เดิม”