คิด เช่น ชาวนา
ทำงานวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด เป็นวลีคุ้นตาจากโลกออนไลน์ของลูกหลานชาวนาในเมืองหลวงที่ดำเนินชีวิตในวันธรรมดาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เดินทางด้วยรถไฟฟ้า ลมหายใจห่างไกลออกจากธรรมชาติบ้านเกิด
ในวันหยุดพวกเขาจะละสายตาจากเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประสานสายตากับทุ่งนา สวมหมวกสาน ใส่เสื้อแขนยาวดูสมบุกสมบัน แล้วลงมือดำนาที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเมือง
แนวคิดการทำนาที่ร่วมสมัย พลิกความเชื่อว่าชาวนาต้องเจ็บ ต้องจน มาเป็นชาวนาต้องอยู่ได้ เดินเล่นในทุ่งนาอย่างมีรอยยิ้มและสุนทรียะ ด้วยหลักคิดที่ต่างออกไป วิธีการทำนาที่ดึงทั้งภูมิปัญญาเก่าและนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยทุ่นแรงและเพิ่มประสิทธิภาพ ชาวนาวันหยุดยังมองไกลไปถึงปลายทางของเมล็ดข้าว ซึ่งก็คือจานอาหารของผู้บริโภค
มาถึง พ.ศ. นี้ ชาวนาไม่ใช่เพียงคนปลูกข้าว แต่คือนักการตลาดบนคันนา สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียด้วยสองมือเดียวกับที่จับรวงข้าว เพื่อบอกเล่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ และเข้าใจชีวิตชาวนา
จึงเป็นที่มาของวลี “คิดเช่นชาวนา” การแก้ปัญหาที่ถกเถียงกันในระดับชาติอาจเริ่มมาจากจุดเล็ก ๆ คือความเข้าใจของคนเมืองต่อคนทำนา ว่าเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าจะให้ใครต้องแบกรับภาระของความจนยากอยู่ฝ่ายเดียว
หากเปรียบนาข้าวเป็นเหมือนครัวของประเทศตามตำราเรียน คนรุ่นใหม่อย่างชาวนาวันหยุดก็เป็นเหมือนตัวแทนที่เดินกลับเข้าครัวไปเรียนรู้ เพิ่มคุณภาพและรสชาติกลมกล่อมให้อาหารที่ทำเลี้ยงคนทั้งประเทศ
ชาวนาวันหยุดจึงเป็นกลุ่มคนเมืองทำงานวันธรรมดาที่คิดเช่นชาวนา และแปลงภาพนากว้างไกลสุดปรายตาให้กลายเป็น “คิตเช่น” (kitchen)