สุชาดา ลิมป์ : รายงาน / ฝ่ายภาพสารคดี : ถ่ายภาพ

และแล้ว…โครงการค่ายสารคดีก็เดินทางอย่างสง่างามมาถึงปีที่ ๑๐

เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ จึงมีพิธีเปิดค่ายแบบพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา โดยเชิญเหล่าผู้มีส่วนร่วมบุกเบิกค่ายสารคดีมาร่วมรำลึกถึง “ก้าวแรก” และชักชวนตัวแทนรุ่นพี่จากค่ายครั้งที่ ๑-๙ มาร่วมวงเสวนาสร้างแรงบันดาลใจ

“ย้อนหลังไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อนจะมีค่ายสารคดี เรากับนิตยสาร สารคดี ตระเวนไปตามค่ายและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดหลักการเขียนสารคดีนาน ๗ ปี  กระทั่งวันหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าน่าจะมีค่ายต่อเนื่องที่สอนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดขบวนทัพของนักสารคดีรุ่นหลังขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ แก่สังคมบ้าง”

อรสม สุทธิสาคร หนึ่งในครูผู้สร้างคนบันทึกสังคมที่สอนงานเขียนมาตั้งแต่ค่ายแรกย้อนเหตุการณ์

“๓๐ ปีก่อน เราเคยระหกระเหินบนถนนสายสารคดี ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ไม่ง่ายเลยกว่าจะผ่านบททดสอบมายืนหยัดได้อย่างเวลานี้  เด็กยุคนี้โชคดีมากที่อยากเขียนสารคดีแล้วมีค่ายฝึกอบรม มีครูสอน  ที่ผ่านมามีนักเรียนหลายคนจากค่าย ๑-๙ นำความรู้ไปประกอบอาชีพในแวดวงสื่อสารมวลชน นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ในฐานะครูจะมีความสุขมากถ้าได้เห็นนักเรียนไปได้ไกลกว่า และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้วงการสารคดีไทย”

แต่ก้าวแรกจะไม่เกิดหากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี  สกล เกษมพันธุ์ บรรณาธิการภาพ และ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ในยุคนั้น รวมถึง นพ. บัณฑิต ศรไพศาล ชายผู้มองเห็นความสำคัญของการสร้างนักเขียนสารคดี และมอบทุนสร้างรากฐานที่มั่นคงกระทั่งเกิดเป็น “โครงการค่ายสารคดีครั้งที่ ๑”

จากนั้นครั้งที่ ๒…๓…๔ จนถึงครั้งที่ ๑๐ ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยการสนับสนุนจากภาคีสำคัญอย่างสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี, บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

ซึ่งไม่เกินจริงเลยที่จะบอกว่าค่ายสารคดีคือสถานฝึกทักษะพื้นฐานงานเขียน-ถ่ายรูปที่ครบเครื่องด้วยวิชาและหลากหลายประสบการณ์ไม่น้อยหน้าค่ายไหนในประเทศหากวัดจากเสียงสะท้อนของนักเรียนรุ่นพี่

“‘ต้นกล้าที่เข้มแข็งแห่งบ้านสร้างสรรค์เด็ก’ คืองานชิ้นแรกในชีวิตที่ผมเขียนเป็นเรื่องเป็นราวสำเร็จ  การพยายามลงมือจนถึงที่สุดนี่ละคือสิ่งสำคัญที่ผมได้จากค่ายนี้  สารคดี เป็นผู้จัดหาแหล่งวัตถุดิบ พาผมไปบ้านสร้างสรรค์เด็ก ที่เหลือคือหน้าที่ผมซึ่งต้องเข้าหาแหล่งข้อมูล พูดคุยกับพวกเขาเพื่อเก็บข้อมูลมาเขียน”

วุฒินันท์ ชัยศรี ตัวแทนรุ่นพี่จากค่ายครั้งที่ ๔ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตนเคยได้รับในวงเสวนาช่วงต้นของการเปิดห้องเรียนค่าย ๑๐ อย่างเป็นทางการ

“หลังจบจากค่ายแล้วผมก็ยังเขียนหนังสือสม่ำเสมอ และได้รับรางวัลด้านการเขียนจากหลายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้น ไม่ใช่สารคดี ถึงอย่างนั้นการเรียนที่ค่ายสารคดีก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเป็นนักเล่าเรื่อง”

มากกว่าความรู้ที่ได้รับ บางคนอาจได้ความสัมพันธ์ไม่รู้จบ

“ตอนสมัครเข้าค่ายเรามาเดี่ยว แต่พอจบค่ายแล้วมีเพื่อนมากมายที่อาจติดต่อขอความช่วยเหลือได้ ความสัมพันธ์ไม่ได้จบแค่ระยะเวลา ๔ เดือนที่เรียนด้วยกัน”

ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ ตัวแทนรุ่นพี่จากค่ายครั้งที่ ๘ เล่าถึงการนำ “มิตรภาพ” ไปเกื้อหนุนวิชาชีพ

“ตอนเข้าไปทำงานที่ a day Bulletin ใหม่ ๆ แล้วได้รู้ว่ามีรุ่นพี่คนหนึ่งเคยเป็นเด็กค่ายสารคดี ก็รู้สึกดีใจมาก ทำให้เรามีเรื่องพูดคุยร่วมกันมากขึ้นและสนิทกันง่ายขึ้น  หรือเวลาทำงานแล้วติดขัดเรื่องหาช่างภาพไปถ่ายงานให้ไม่ได้ เราก็จะโทร.หาเพื่อนช่างภาพที่เคยเข้าค่ายร่วมกัน แม้แต่ครูในค่ายก็เป็นคอนเนกชันที่ดีให้เราในอนาคต  มีครั้งหนึ่งได้รับโจทย์ให้สัมภาษณ์พี่อรสม เราก็ทำงานได้ง่ายขึ้นเพราะคุ้นเคยกันจากในค่าย”

และสำหรับบางคนการเพิ่มพูนทักษะ มิตรภาพ อาจไม่สำคัญเท่ากับได้ “ค้นพบตัวเอง”

“หนูไม่เคยเรียนถ่ายภาพที่ไหนมาก่อน และไม่เคยมีความมั่นใจที่จะเรียกตัวเองว่าช่างภาพด้วยซ้ำ เพราะสมัยนี้แค่มีกล้องใคร ๆ ก็ถ่ายรูปได้แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ได้จากค่ายคือหนูได้เรียนรู้ตัวเอง”

วรรษมน ไตรยศักดา ตัวแทนรุ่นพี่จากค่ายครั้งที่ ๙ ปัจจุบันเป็นช่างภาพสื่อออนไลน์ Coconuts Bangkok ยอมรับว่าฝีมือถ่ายรูปของตนในช่วงก่อนและหลังเข้าค่ายไม่ได้ต่อยอดไปจากเดิมนัก แต่สิ่งที่พัฒนาคือกระบวนคิด

“รูปแบบการเรียนถ่ายภาพในค่ายสารคดีจะมีโจทย์ต่าง ๆ มาเป็นกรอบให้ได้ฝึกคิดมากกว่าเวลาที่เราสะพายกล้องออกไปเที่ยวเล่นเอง  และเมื่อต้องลงพื้นที่คู่กับเพื่อนนักเขียนก็ทำให้ได้ออกจาก comfort zone ไปหัดถ่ายมุมที่ปรกติเราไม่สนใจจะถ่ายบ้าง นี่เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้วิธีทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น”

ผลจากการพาตนลอดประตูค่ายสารคดีสู่สนามเรียนรู้ ฝึกฝนเคี่ยวกรำอย่างลงลึกทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาหลายเดือน โดยมีวิทยากรมืออาชีพอย่าง อรสม สุทธิสาคร, วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และ วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ทำหน้าที่เป็น “ครูเขียน” มี บุญกิจ สุทธิญาณานนท์  ประเวช ตันตราภิรมย์ และ วิจิตต์ แซ่เฮ้ง ทำหน้าที่เป็น “ครูภาพ” ทั้งให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด น้องหลายคนจึงมีโอกาสสร้างงานเด่นจนได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี นักต่อนัก  หลายรุ่นได้รวมเล่มพร้อมรับค่าลิขสิทธิ์เรื่อง-ภาพเช่นเดียวกับนักเขียน-ช่างภาพมืออาชีพเป็นครั้งแรกในชีวิต

จวบจนวันนี้นิตยสาร สารคดี เข้าสู่ขวบปีที่ ๓๐ และโครงการค่ายสารคดีก็ทำหน้าที่ต่อยอดความสามารถให้เหล่าเยาวชนกระทั่งเข้าสู่ ๑ ทศวรรษแล้ว

แต่ละปีมีใบสมัครนับร้อยส่งมาและพลาดหวังไปด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะคณะกรรมการไม่ได้วัดความเก่งจากผลงานที่แนบมาพร้อมใบสมัครเพียงอย่างเดียว ทว่ายังดูความตั้งใจ ความสนใจ และทัศน-คติที่ตรงกับงานสายสารคดีด้วย เพื่อคัดสรรเยาวชนวัย ๑๘-๒๓ ปีที่ฉายแววพัฒนาได้ให้มารับโอกาสดี ๆ ต่อไป

สำหรับผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกในปีนี้ ค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๑…๑๒…๑๓… ยังรอมอบโอกาสแก่ผู้ตั้งใจจริงเสมอ

เพราะถนนสายสารคดีแห่งนี้ยังต้องการคนบันทึกสังคมอีกมาก เพื่อร่วมก้าวสู่ทศ-วรรษที่ ๒ พร้อมกัน