เรื่อง : สุดารา สุจฉายา
ภาพประกอบ : นันทวัน วาตะ
“เอิง (un) เดอ (deux) ตรัว (trois) กาตเตรอะ (quatre) แซง (cinq) …” เสียงนับเลขภาษาฝรั่งเศสดังเจื้อยแจ้วให้ต้องหันมองตาม เจ้าของเสียงเหล่านั้นคือเด็กตัวน้อยที่กำลังอ่านตามครูแหม่ม
ที่นี่คือโรงเรียนเล็กๆ นาม “พิมานวิทย์” ตั้งอยู่บนถนนข้าวสาร ย่านบางลำพู แหล่งที่พักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสาวต่างชาติผมสีน้ำตาลผู้รับหน้าที่ครูอาสาสมัคร
“โรงเรียนของเราอยู่มาก่อนที่เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร แผงขายของจะหนาแน่นเต็มซอย จนแม้แต่ป้ายชื่อโรงเรียนก็แทบมองไม่เห็น” อาจารย์ลลิตา เหล่าพานิช ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกเล่าสภาพการณ์ปัจจุบันก่อนจะย้อนไปยังความเป็นมาของโรงเรียน
โรงเรียนพิมานวิทย์ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๖๒ โดย ฮัจยียอ พิมานแมน ปู่ของเธอซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านใช้บ้านบนถนนข้าวสารเป็นสถานอบรมสั่งสอนวิชาการศาสนาให้แก่พี่น้องมุสลิมย่านบางลำพูและที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดซึ่งเข้ามาทำมาหากินในเมืองกรุง พร้อมทั้งสอนภาษาไทยให้ด้วย ฮัจยียอเล็งเห็นว่าชาวมุสลิมที่มาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะทางใต้ สื่อสารภาษาไทยไม่ค่อยถนัดนัก บ้านของท่านจึงมีสภาพคล้ายโรงเรียนและที่พักอาศัยของพี่น้องมุสลิมจากต่างจังหวัดไปในตัว กระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ปู่จึงขออนุญาตจดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์เมื่อปี ๒๔๘๐ ให้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุเคราะห์อิสลาม”
เมื่ออาจารย์มาโนช พิมานแมน บิดาของเธอเข้าบริหารงานต่อหลังจากปู่ถึงแก่กรรม จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น “พิมานวิทย์” เมื่อปี ๒๔๙๔ ด้วยไม่ต้องการให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นการเรียนการสอนเฉพาะศาสนาอิสลาม ทั้งที่จริงเปิดรับนักเรียนทั่วไปและสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หากแตกต่างบ้างตรงที่บิดาของเธอมองการณ์ไกลเรื่องภาษา จึงว่าจ้างครูพิเศษที่เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมาสอนพิเศษตอนเย็น ทำให้พวกผู้ใหญ่ที่สนใจมาเรียนจำนวนมากจนพิมานวิทย์สมัยนั้นมีชื่อเสียงเรื่องภาษา
สภาพแวดล้อมดั้งเดิมของโรงเรียนพิมานวิทย์คือความสงบเงียบ บ้านใกล้เรือนเคียงหากไม่เป็นบ้านขุนนาง ข้าราชการ ก็เป็นร้านค้าขายของจิปาถะอย่างร้านบัวสอาด หรือร้านสังฆภัณฑ์ใหญ่ ส. ธรรมภักดี ผิดจากทุกวันนี้ที่รอบโรงเรียนเต็มไปด้วยร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายเสื้อผ้า ของที่ระลึก ตลอดจนแสง สี เสียง ซึ่งดังกระหึ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงดึกดื่นค่ำคืน ที่ดินทุกตารางนิ้วมีค่าดั่งทองคำ เป็นเหตุให้บรรดาโรงเรียนที่เคยตั้งอยู่ย่านบางลำพู ได้แก่ โรงเรียนเขียนนิวาสน์ อัมพรไพศาล บำรุงวิชา ดารานุกูล และศรี-สวัสดิ์ ต่างปิดกิจการ บ้างย้ายไปยังที่ใหม่ให้พ้นจากสภาพแวดล้อมอันไม่เหมาะสมต่อการเป็นสถานศึกษา บ้างเปลี่ยนมือที่ดินกลายเป็นร้านอาหารหรือเกสต์เฮาส์ คงเหลือพิมานวิทย์เพียงโรงเรียนเดียวที่ยืนหยัดอยู่ในย่านบางลำพู มิหนำซ้ำยังเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วย
“มีคนมาขอซื้อ หรือขอแลกเปลี่ยนให้เราย้ายออกไปอยู่บนที่ดินใหม่ ซึ่งเขายินดีสร้างอาคารเรียนใหม่ให้ด้วย แต่เมื่อเราปฏิเสธหลายครั้ง ก็เลิกราไปเอง ดิฉันและพี่น้องทุกคนยืนหยัดที่จะดำรงเจตนารมณ์ของคุณปู่ ซึ่งยึดหลักการศาสนาอิสลามที่ต้องมีการให้ทาน และทานที่ดีที่สุดคือการให้การศึกษา”
นอกจากมุ่งมั่นให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาแล้ว อาจารย์ลลิตาซึ่งรับช่วงบริหารโรงเรียนต่อจากบิดา ยังใช้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมซึ่งดูเหมือนจะเลวร้ายต่อสถานศึกษาให้กลับกลายเป็นคุณประโยชน์แก่นักเรียน โดยช่วงแรกให้เด็ก ป. ๖ ที่เรียนวิชาพื้นฐานอาชีพคั้นน้ำส้มขายที่หน้าโรงเรียน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการขายน้ำส้มคั้นบนถนนข้าวสาร
นอกจากจะได้เงินแล้วเด็กยังรู้ด้วยว่าฝรั่งไม่นิยมดื่มน้ำส้มใส่เกลือ ทั้งได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการบัญชีพร้อมฝึกภาษาสื่อสารกับชาวต่างชาติด้วย
หลังจากนักท่องเที่ยวทยอยเข้าพำนักบนถนนข้าวสารมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนเมื่อเห็นว่ามีโรงเรียนอยู่ในพื้นที่มักขอเข้ามาสังเกตการณ์ ขอถ่ายรูป และที่สุดก็อาสาขอสอนภาษาให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียนเพราะเอ็นดู ประกอบกับมีอาชีพเป็นครูอยู่แล้ว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของครูอาสาสมัครที่เข้ามาสอนภาษาต่างประเทศแก่นักเรียนโรงเรียนพิมานวิทย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า
“เราเห็นเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้ภาษาจากเจ้าของภาษา ได้ฟังสำเนียงแท้ๆ จึงยินดีรับครูอาสาสมัคร แต่ก็มีการกลั่นกรองก่อน มีการสัมภาษณ์ เช็กประวัติจนแน่ใจจึงจะรับ และคอยติดตามว่าเขาจริงใจในการสอนหรือไม่ ทุกชั่วโมงที่ครูอาสามาสอน เราจะมีครูประจำชั้นเข้าฟังควบคู่ด้วย หากชั่วโมงใดครูอาสามาไม่ได้ ครูของเราจะสอนต่อได้โดยไม่ขาดตอน สำหรับเรื่องค่าตอบแทนเป็นการตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับตารางสอนก็ทำตามครูแต่ละท่านสะดวก ตอนนี้ที่สอนเป็นหลักมีภาษาอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น ส่วนภาษาฝรั่งเศสเพิ่งเริ่ม ครูอาสาที่มาสอน เราไม่ให้พูดภาษาไทยในชั้นเรียนเลย เด็กจะได้พยายามสื่อสารโต้ตอบกับครู และเราก็อัดวิดีโอการเรียนการสอนของครูเหล่านี้ไว้ เพราะบางคนสอนเก่งมาก มีวิธีสอนให้เด็กๆ สนุกสนาน เพื่อเราจะนำมาใช้เป็นต้นแบบการเรียนการสอนได้ อย่างครูญี่ปุ่นไม่เพียงสอนภาษา แต่ยังสอนขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน โรงเรียนของเรายังเป็นศูนย์กลางครูสอนภาษาอิตาลี เพราะมีโครงการแลกเปลี่ยนกับสถานทูต เราส่งครูไปอบรมทางโน้น เขาก็ส่งคนของเขามา เคยมีผู้ปกครองเด็กบางคนชมลูกของเขาว่าพูดคุยภาษากับฝรั่งได้ดี เพราะเขาทำร้านค้าย่านนี้ เด็กจึงช่วยพ่อแม่ค้าขายได้มาก”
เนื่องจากพิมานวิทย์เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนเพียง ๑๐๐ กว่าคน เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑-๓ แล้วขึ้นเป็นชั้นประถมศึกษาภาคบังคับ คือ ป. ๑-๖ โดยแต่ละชั้นมีห้องเรียนเดียว การสอนภาษาต่างประเทศจึงใช้การคละชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมฯ สอดคล้องกับวิธีจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่แบ่งเด็กเป็นกลุ่มต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มมีทุกชั้นเรียน เพื่อให้เด็กโตเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กเล็ก เนื่องจากถือว่าเด็กทุกคนต้องช่วยเหลือกัน อย่างกินข้าวแล้วต้องล้างถ้วยจานและเก็บวางให้เป็นระเบียบ โดยทางโรงเรียนจะจัดเตรียมน้ำยาและน้ำสะอาดในกะละมังแต่ละใบไว้ ซึ่งเด็กเล็กได้อาศัยพี่ๆ ช่วยสอนและดูแล
นอกจากนี้พี่ๆ จะเป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ คอยตักเตือนว่ากล่าว หากมีใครในกลุ่มทำผิดระเบียบทั้งกลุ่มจะถูกทำโทษ ดังนั้นนักเรียนแต่ละกลุ่มจึงรักและเชื่อฟังกัน เท่ากับช่วยเบาแรงครู เพราะครูประจำมีเพียงครูประจำชั้นซึ่งสามารถสอนได้ทุกวิชา เว้นบางวิชาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ โรงเรียนใช้วิธีจ้างครูผู้ชำนาญการมาสอนเป็นรายๆ ไป ทำให้นักเรียนได้เรียนกับครูที่เก่ง ทั้งโรงเรียนก็ไม่ต้องรับภาระค่าจ้างครูประจำหรือจัดหาที่ทางให้ครูพักหลังคาบสอนด้วย
นอกจากนี้โรงเรียนยังมีส่วนร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดโรงเรียนจะส่งเด็กไปร่วมแสดงในงานเสมอ ดังนั้นหากโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือเรื่องใดจะได้รับการสนับสนุนด้วยดีทุกครั้ง อีกทั้งแผงค้าก็จะเกรงใจโรงเรียน ช่วยดูแลเก็บกวาดพื้นที่ด้านหน้าโรงเรียนให้สะอาดและไม่วางสิ่งกีดขวาง เพื่อสะดวกแก่ผู้ปกครองที่มารับ-ส่งนักเรียน
ด้วยอายุยาวนานเกือบ ๑๐๐ ปี ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนพิมานวิทย์ยืนหยัดต้านลมโต้คลื่นความเปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ขณะเดียวกันก็ใช้ “วิกฤต” ให้เป็น “คุณ” แก่นักเรียน สมดังคำของหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโรงเรียน ซึ่งเขียนไว้คราวฉลองโรงเรียนครบ ๘๖ ปี ว่า
“โรงเรียนเป็นโรงเรียนเล็กๆ ตั้งอยู่ถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมไม่สู้ดีนัก เพราะผู้คนจอแจ หลายชาติหลายภาษา หลากวัฒนธรรม หลายอุดมการณ์และความคิด แต่โรงเรียนก็ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง นิ่งสงบ เปรียบประดุจคนที่ฉลาด สุขุม มีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ ย่อมองอาจ หาญกล้า ยืนหยัดอยู่ได้ในที่ทั้งปวง…
“ผู้ปกครอง ครูสนิทชิดเชื้อกัน เด็กแจ่มใสเบิกบาน ไม่ได้เน้นให้ฉลาดเฉลียวอย่างเคร่งครัด เป็นเลิศทางวิชาการ แต่สนับสนุนให้คิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง นี่แหละกุญแจสำคัญของความสำเร็จทางการศึกษาและการดำเนินชีวิตในสังคมในที่สุด”
ขอขอบคุณ : ครูลลิตา เหล่าพานิช และครูทิพย์ บุณยรัตพันธ์ ที่ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวก