ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์

กะโหลกของมนุษย์ฟลอเรส หรือชื่อเล่น “ฮอบบิท”

ฮอบบิทปรากฏอยู่ในโลกจินตนาการอย่างในมัชฌิมภพของ เจ. อาร์. อาร์.  โทลคีน  แต่ในโลกจริงๆ ที่เราอาศัยอยู่นี้มีโอกาสจะพบฮอบบิทหรือไม่

ในสกุล Homo ของมนุษย์นั้นยังไม่เคยปรากฏมนุษย์จิ๋วที่สูงเฉลี่ย ๑ เมตรแบบฮอบบิท แม้แต่พวกที่เตี้ยมากอย่างพิกมี (pygmy) ก็สูงเฉลี่ยราว ๑๕๐ เซนติเมตร  ทว่าหลายคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์) ต้องประหลาดใจเมื่อทีมนักวิจัยร่วมออสเตรเลียและอินโดนีเซียตีพิมพ์ในนิตยสารดังคับวงการอย่าง Nature ฉบับ ๗๐๑๒  วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๐๐๔ เรื่องการค้นพบมนุษย์อีกสายพันธุ์ซึ่งไม่เคยพบที่ไหนเลย มนุษย์ที่สูงเพียง ๑ เมตร

พวกเขาพบฮอบบิทแล้ว !

โครงกระดูกของ LB1 ต้นแบบที่ใช้ศึกษามนุษย์ฟลอเรส

ถ้ำบนเกาะฟลอเรสที่พบมนุษย์ฮอบบิท

มนุษย์จิ๋วเกาะฟลอเรส

โครงกระดูกมนุษย์จิ๋วที่ขุดพบใน ค.ศ. ๒๐๐๓ นั้นได้รับการขนานนามว่า มนุษย์ฟลอเรส (Flores man) ตามชื่อเกาะในประเทศอินโดนีเซียอันเป็นสถานที่ค้นพบ แต่บางคนมักเรียกชื่อเล่นว่า ฟลอ (Flo) หรือฮอบบิท (Hobbit)

ชื่อวิทยาศาสตร์ของพวกเขานั้นถกเถียงกันตั้งแต่แรกเริ่ม ดังเห็นว่าชื่อแรกที่ได้จากการจัดอนุกรมวิธานคือ Sundanthropus floresianus แปลว่า มนุษย์ซุนดาจากฟลอเรส  ต่อมามีนักวิชาการรายอื่นๆ ช่วยให้ความเห็น ได้ข้อสรุปคือ แม้ขนาดตัวเล็กมาก แต่ด้วยความพิเศษของกระดูกหุ้มสมอง จึงได้ชื่อว่า Homo floresiensis รวมอยู่ในสกุล Homo เช่นเดียวกับมนุษย์ยุคปัจจุบันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Homo sapiens

ที่จริงเคยมีผู้เสนอให้ใช้ชื่อ Homo hobbitus ด้วยซ้ำ !

ประเมินจากหลักฐานต่างๆ อาจเป็นได้ว่ามนุษย์พวกนี้เคยดำรงชีวิตอยู่เมื่อราว ๑๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา อีกนัยคือเคยมีชีวิตร่วมยุคกับบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคใหม่อย่างพวกเราด้วย เพราะมนุษย์ยุคปัจจุบันเข้าไปเกาะนี้ราว ๔๕,๐๐๐ ปีก่อน

อันที่จริงเรื่องราวของมนุษย์จิ๋วยังตกทอดสู่ชนพื้นเมืองบนเกาะในรูปแบบเรื่องเล่าลึกลับเกี่ยวกับพวกอีบูโกโก (ebu gogo) โดยคำอธิบายลักษณะของพวกนี้ในตำนานคือ ตัวเล็ก มีขนรุงรัง ยังสื่อสารและใช้ภาษาได้ไม่ดีนัก และอาศัยอยู่ตามถ้ำ

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า อีบูโกโกอาจยังมีหลงเหลืออยู่ถึงตอนที่เรือโปรตุเกสรุกเข้ามาในบริเวณนี้เมื่อศตวรรษที่ ๑๖ หรือถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙  และมีคนตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ว่า อาจจะยังมีพวกเขาอยู่ในพื้นที่ลึกลับบางแห่งที่ยังสำรวจไม่ถึง !

ทีมวิจัยร่วมออสเตรเลีย-อินโดนีเซียพบโครงกระดูกมนุษย์ฟลอเรสโดยบังเอิญขณะค้นหาหลักฐานร่องรอยการอพยพของมนุษย์ปัจจุบันจากเอเชียไปยังออสเตรเลีย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการจะหาฮอบบิทหรือสปีชีส์ใหม่แต่อย่างใด

กระดูกซึ่งค้นพบในถ้ำเลียงบัว (Liang Bua Cave) มีลักษณะคล้ายกระดูกจากการค้นพบที่อื่น คือมักได้มาเพียงบางส่วน ไม่สมบูรณ์แบบ แต่กรณีนี้ถือว่าโชคดีมีกระดูกหุ้มสมอง (cranium) ครบถ้วนสมบูรณ์

พวกเขาตั้งชื่อโครงกระดูกที่พบแรกสุดเป็นรหัสว่า LB1 (Liang Bua 1)

นอกจากจะมีส่วนกะโหลกสมบูรณ์แล้ว ชิ้นส่วนร่างกายก็ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์  การคาดหมายจากลักษณะกระดูก LB1 น่าจะเป็นผู้หญิงอายุราว ๓๐ ปี เธอมีฉายาและชื่อเล่นด้วยว่า สุภาพสตรีน้อยแห่งฟลอเรส (Little lady of Flores) หรือ ฟลอ (Flo)

แต่อีนุงตุงนังนิดหน่อย เพราะตอนหลังมีคนประเมินใหม่ว่าอาจเป็นผู้ชาย !

การขุดค้นคราวต่อมาพบโครงกระดูกเพิ่มเจ็ดชุด อายุอยู่ในช่วง ๓๘,๐๐๐-๑๓,๐๐๐ ปี แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ฟลอเรสใช้ถ้ำนี้เป็นแหล่งพักพิงตลอดมา

โครงกระดูกเหล่านี้ยังมีผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในฐานะสปีชีส์หนึ่งของมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ยุคใหม่อย่างพวกเรา

กะโหลกศีรษะมนุษย์ฟลอเรส มองจากด้านบน

ฮอบบิทชวา จิ๋วแต่แจ๋ว

ฮอบบิทเหล่านี้มีขนาดตัวและสมองเล็กอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับมนุษย์ปัจจุบัน  ที่จริง LB1 มีความจุสมองราว ๓๘๐ ซีซี ซึ่งอยู่ระหว่างขนาดความจุสมองของชิมแปนซีกับมนุษย์ออสทราโลพิเทคัส (Australopithecus) ที่อาจเป็นบรรพบุรุษแต่ต้นของคน

หากไม่พิจารณาแค่ขนาดหรือความจุของสมอง แต่เทียบเป็นสัดส่วนปริมาณเนื้อสมองกับขนาดร่างกาย LB1 จะอยู่ระหว่างเอปใหญ่ (great ape) กับมนุษย์สปีชีส์ที่สูญพันธุ์แล้วคือโฮโมอีเรกตัส (Homo erectus) ซึ่งเป็นไปได้ว่าสปีชีส์นี้เองเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ฟลอเรส

ฟังดูแปลกๆ นะครับ ทำไมสมองมนุษย์ที่ใหญ่กลับเล็กลงได้ ทั้งๆ ตัวอย่างที่เห็นส่วนใหญ่ในสายวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นสัดส่วนสมองต่อร่างกายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

เรื่องนี้มีคำอธิบายครับ

นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (The Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน พบว่านอกจากขนาดตัวเล็กลงแล้ว ฮิปโปโปเตมัสพิกมีในเกาะมาดากัสการ์ (ซึ่งสูญพันธุ์แล้ว) มีขนาดสมอง “ลดลง” ด้วยเมื่อเทียบกับญาติของมันที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ที่สิ่งมีชีวิตซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะวิวัฒน์ไปจนมีขนาดตัวและอวัยวะอื่นๆ เล็กลงเมื่อเทียบกับพวกที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ มีชื่อเรียกจำเพาะว่า ภาวะแคระจากการติดเกาะ (insular dwarfism)

ด้วยความที่สมองมีขนาดเล็กจึงมีผู้สงสัยว่าฮอบบิทพวกนี้มีระดับสติปัญญาเช่นไร

มีร่องรอยว่าพวกเขาน่าจะใช้อาวุธเป็น แท้จริงมีหินรูปทรงคล้ายเครื่องมือซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า ๑๓,๐๐๐ ปี และอาจย้อนไปถึง ๙๔,๐๐๐ ปี  หินเหล่านี้เหมาะกับขนาดมือของคนที่สูงราว ๑ เมตรทีเดียว

นอกจากนี้ยังพบซากช้างแคระในสกุลสเตโกดอน (Stegodon)ซึ่งเคยกระจายอยู่ทั่วเอเชีย และกรณีนี้คาดว่าจะเป็นอาหารของพวกฮอบบิทชวาดังกล่าว เพราะมีรอยตัดตามกระดูก แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะเป็นนักล่าผู้ทำงานเป็นกลุ่มโดยอาศัยอาวุธหินต่างๆ ที่พบในถ้ำ

สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาจเคยเป็นอาหารของพวกมนุษย์จิ๋วนี้นอกจากช้างแคระสเตโกดอนยังมีมังกรโคโมโด หนูยักษ์ และกิ้งก่าขนาดใหญ่หลายชนิดที่อยู่บนเกาะ

ทั้งนี้หากพิจารณาจากบริเวณบรอดแมนน์ ๑๐ (Brodmann’s area 10) ที่อยู่ในเปลือกสมองส่วนหน้าสุดซึ่งใช้สำหรับการคิดที่ซับซ้อนและมักใช้บ่งชี้ระดับสติปัญญา จะสังเกตได้ว่าฮอบบิทมีบรอดแมนน์ ๑๐ ขนาดใหญ่เท่าๆ กับมนุษย์ปัจจุบัน แม้จะมีขนาดสมองโดยรวมเล็กกว่ามากก็ตาม

จากหลักฐานและข้อสันนิษฐานทั้งหมดจึงอาจสรุปได้ว่า มนุษย์ฟลอเรสข้างต้นน่าจะมีสติปัญญาสูงระดับหนึ่งทีเดียว

 

ฮอบบิท = ผู้ป่วย ?

ไมก์ มอร์วูด (Mike Morwood) หนึ่งในคณะนักสำรวจที่พบโครงกระดูกมนุษย์จิ๋วกล่าวว่า จากลักษณะต่างๆ ทำให้เชื่อว่าพวกเขาน่าจะเป็นมนุษย์อีกสปีชีส์หนึ่งในกลุ่มโฮมินิน (hominin)ซึ่งประกอบด้วยมนุษย์ปัจจุบันคือ H. sapiens พวกลิงโบโนโบ (bonobo) และชิมแปนซี ที่ต่างก็อยู่ในสกุล Pan เหมือนกัน

กลุ่มดังกล่าวรวมถึงบรรพบุรุษทั้งหมดของคนและลิงสองพวกที่ว่า ซึ่งรวมทั้งบรรพบุรุษร่วมสายและพวกที่สูญพันธุ์แล้วทั้งหมดแต่ไม่ใช่ทุกคนเชื่อเช่นนั้น มีงานวิจัยตีพิมพ์ต่อมาโดยหลายกลุ่มในหลายปีติดๆ กัน ชี้ว่านี่อาจไม่ใช่สปีชีส์ใหม่ซึ่งเป็นญาติเรา แต่เป็นแค่มนุษย์ป่วยหรือผิดปรกติอย่างใดอย่างหนึ่ง !

มาดูหลักฐานและการโต้แย้งทางวิชาการอย่างเข้มข้นในตอนหน้าครับ