ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
namchai4sci@gmail.com
เปิดประตูสู่เรื่องลี้ลับ เหนือธรรมชาติ หรือไสยศาสตร์
ที่ท้าทาย และยากพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

รูปร่างหน้าตาของฮอบบิทชวาที่ศิลปินจินตนาการจากหลักฐานโครงกระดูก ภาพโดย ปีเตอร์ ชูเทน (Peter Schouten)ที่มา วารสาร Before Farming ฉบับที่ ๒๐๐๔/๔

ตอนที่แล้วผมเล่าถึงการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์จิ๋ว “ฮอบบิท” หรือมนุษย์ฟลอเรส (Flores Man, Homo floresiensis) ที่สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนทั่วโลก  คณะผู้ค้นพบตั้งทฤษฎีว่าอาจเป็นเผ่าพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดใกล้ชิดกับมนุษย์ปัจจุบันมาก  หากเป็นเช่นนั้นจริงช่วง ๓-๕ หมื่นปีก่อนก็เคยมีมนุษย์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันสี่พวกในโลกใช้ชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์ว่า “Homo” คือ โฮโมนีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) โฮโมอีเรกตัส(Homo erectus) โฮโมฟลอเรสซิเอนซิส (Homo floresiensis) และพวกเรา…มนุษย์ยุคใหม่ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens)

โดยสามในสี่นี้พบในอุษาคเนย์

แต่นักวิจัยหลายกลุ่มก็ไม่ปักใจนักว่าโครงกระดูกดังกล่าวเป็นมนุษย์สปีชีส์ใหม่ ด้วยคิดว่ามนุษย์เหล่านี้อาจแค่ป่วยหรือมีพันธุกรรมผิดปรกติ  ทำให้เกิดวิวาทะใหญ่โต  ฉะนั้นเราจะมาดูหลักฐานการโต้แย้งเรื่องนี้ทางวิชาการครับ (แบบไม่ลงรายละเอียดมาก)

วิทยา (ศาสตร์) วิวาทะ

สำหรับนักวิทยาศาสตร์การถกเถียงโต้แย้งกันเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนการวิทยาศาสตร์” หรือ “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” เพียงแต่ทุกคนจะพยายามหยิบยก “หลักฐานต่างๆ” มาสนับสนุนแนวคิด สมมุติฐาน หรือทฤษฎีของตน  ส่วนคนอื่นที่ติดตามเรื่องนั้นๆ ก็จะประมวลเรื่องราวทั้งหมดและประเมินว่าควรจะเชื่อใคร

การค้นพบบางเรื่องจึงแบ่งฝ่ายชัดเจนตอนแรก แต่ในที่สุดมักจะได้ข้อสรุปเมื่อมีหลักฐานใหม่มากขึ้น ตัวอย่างดังๆ ที่เคยเกิด เช่น กรณีถกเถียงว่าเอดส์เกิดจากไวรัสชนิดเอชไอวีจริงหรือไม่  การค้นพบใหม่อันโด่งดังจึงมักจะเป็นสนามการถกเถียงสำคัญไปโดยปริยาย ยิ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่และเหลือเชื่อมากเท่าใดยิ่งมีการถกเถียงร้อนแรงขึ้นเท่านั้น

เมื่อมีข่าวการค้นพบกระดูกมนุษย์จิ๋วที่ถ้ำเลียงบัวโดยคณะนักวิจัยร่วมออสเตรเลียและอินโดนีเซีย นำโดย ปีเตอร์ บราวน์(Peter Brown) จากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๐๐๔ ก็เกิดเสียงตอบรับอื้ออึงหลายรูปแบบ รวมทั้งข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นไปได้ที่มนุษย์เหล่านี้อาจจะแค่ป่วยเป็นโรคบางอย่าง หาใช่เป็นมนุษย์จิ๋วญาติห่างๆ ของเราแต่อย่างใด

ญาติห่างๆ หรืออาจป่วย

ลาร์รี บาร์แฮม (Larry Barham) บรรณาธิการชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล เปิดเวทีให้ถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจังตอนปลายปี ๒๐๐๔ ในวารสาร Before Farming ฉบับ ๒๐๐๔/๔ ซึ่งในเวทีดังกล่าว คอลิน โกรฟส์ (Colin Groves) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เมืองแคนเบอร์รา วิเคราะห์โครงสร้างกระดูกแล้วชี้ว่า ฮอบบิทเหล่านี้อาจจะไม่ได้แตกสายมาจากโฮโมอีเรกตัส (ซึ่งโด่งดังด้วยฉายา “มนุษย์ชวา”) แต่น่าจะแตกสายมาจาก โฮโมเฮบิลิส (Homo habilis)

หากเป็นเช่นนั้นจริงฮอบบิทพวกนี้มีสายสัมพันธ์ห่างจากมนุษย์ออกไปอีกหน่อย

ส่วน มาเซียจ เฮนเนเบิร์ก (Maciej Henneberg) จากมหาวิทยาลัยอะดีเลด (University of Adelaide) และ อลัน ทอร์น(Alan Thorne) จาก ANU เห็นว่า ขนาดจิ๋วๆ ของฮอบบิทชวาอาจมาจากโรคหัวจิ๋ว (Microcephaly, micro คือ เล็ก, cephalon คือ หัวสมอง) ซึ่งมีสมุฏฐานของโรคจากหลายสาเหตุ ทว่าผลลัพธ์คล้ายกันคือมีรูปทรงใบหน้าปรกติ แต่กะโหลกเล็กมากผิดปรกติ  โรคนี้พบทั่วไปในประชากรเฉพาะบางกลุ่ม บางครั้งพบบ่อยด้วยความถี่ ๑ ใน ๒,๐๐๐ คน

ทั้งคู่กล่าวว่าโครงกระดูกที่พบบางโครงมีลักษณะที่อาจชี้วัดและตีความได้ว่าเป็นโรคนี้ แต่แอบเปิดทางถอยให้ตัวเองว่าต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มจากโครงกระดูกใหม่ๆ ในอนาคต

ในวารสารฉบับเดียวกัน ปีเตอร์ บราวน์ และ ไมก์ มอร์วูด (Mike Morwood) สมาชิกอีกคนในทีมที่ตีพิมพ์งานวิจัยอีกฉบับคู่กับของบราวน์ใน Nature ฉบับดังกล่าว ได้ชี้แจงหลักฐานและแสดงความเห็นหักล้าง…ซึ่งก็ดีมากๆ

แต่หลังจากนั้นยังคงถกเถียงเรื่องนี้กันเรื่อยๆ ไม่หยุดลงโดยง่าย

เปรียบเทียบขนาดกะโหลกของมนุษย์ฟลอเรส (ขวา) กับ โฮโมอีเรกตัส (ซ้าย) ที่มา วารสาร Science ฉบับที่ ๓๑๒

รูปผู้ป่วยเป็น cretinism ภาพนี้พิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Cretinism

หลักฐานเพิ่ม ข้อโต้แย้งก็เพิ่ม

วารสาร Science ฉบับที่ ๓๑๒ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๐๐๖ จากสหรัฐฯ (คู่แข่งสำคัญของวารสาร Nature ของอังกฤษ) ตีพิมพ์หลักฐานงานวิจัยและความคิดเห็นของ โรเบิร์ต มาร์ติน (Robert Martin) นักมานุษยวิทยาจากฟีลด์มิวเซียม (The Field Museum,
Chicago) ที่ศึกษาข้อมูลขนาด โดยเปรียบเทียบสมองและร่างกายมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ จำนวนมาก

มาร์ตินเชื่อว่าซากที่พบอาจไม่ใช่มนุษย์สปีชีส์ใหม่แต่เป็นมนุษย์หัวจิ๋ว  เขายกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน โดยหญิงอายุ ๓๒ ปีที่เป็นโรคดังกล่าวไม่ได้แสดงอาการผิดปรกติมากนัก ยกเว้นมีขนาดตัวเท่าเด็ก ๑๒ ปีเท่านั้น  แต่เขาก็กล่าวว่า “ผมไม่ได้บอกว่ากรณีนี้ต้องเป็นโรคแน่ๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์…แต่ขนาดของกระดูกหุ้มสมองที่พบก็เล็กเกินกว่าจะเป็นสมองปรกติได้”

ทว่าผู้ศึกษาเรื่องโรคสมองแบบเดียวกัน เช่น ราล์ฟ ฮอลโลเวย์(Ralph Holloway) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กลับไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ แม้เขาจะไม่กล้าตัดประเด็นเรื่องป่วยทิ้งไปเช่นกัน

นอกจากโรคหัวจิ๋วแล้วยังมีโรคอื่นๆ ที่คนพูดถึง อาทิ กลุ่มอาการลารอน (Laron syndrome) หรือโรคแคระแบบลารอน ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม ลักษณะคือร่างกายจะไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต (growth hormone) เพราะมีตัวรับบนเซลล์ซึ่งใช้จับฮอร์โมนนี้ผิดปรกติ ผลคือทำให้ตัวเตี้ยและมีความผิดปรกติอีกหลายอย่าง เช่น หน้าผากใหญ่ผิดรูป จมูกแฟบ กรามล่างผิดส่วน เป็นต้น

แต่ผลข้างเคียงดีๆ แบบคาดไม่ถึงก็มี เช่นผู้ป่วยโรคนี้ไม่ค่อยเป็นโรคเบาหวานและมะเร็ง !!!

ทฤษฎีข้างต้นปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขึ้นกับลักษณะทางสรีรวิทยาและชีวเคมีซึ่งยืนยันได้ยาก

โรคสุดท้ายซึ่งผู้ไม่เชื่อเรื่องฮอบบิทเป็นคนปรกตินั้นพยายามโยงว่า มีสาเหตุมาจากความผิดปรกติเกี่ยวกับไทรอยด์แบบหนึ่งที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมอันมีหลายชื่อเรียก เช่น cretinism หรือ congenital hypothyroidism

สาเหตุของโรคนี้คือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำในมารดา ทำให้ลูกมีความผิดปรกติของการเจริญเติบโตทางกายภาพและสมอง ที่แย่กว่านั้นคือถ่ายทอดกันได้ด้วย  แต่หากยังจำได้ตอนที่แล้วพวกมนุษย์ฟลอเรสรวมกลุ่มกันล่าสัตว์ใหญ่กว่า ซึ่งต้องใช้ความสามารถของสมองไม่น้อยทีเดียว

ทฤษฎีนี้จึงไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนักเช่นกัน

ตัวอย่างการเปรียบเทียบกะโหลกในงานวิจัยของบาบในวารสาร PLOS ONE ที่มา PLOS ONE ปีที่ ๘ (ฉบับที่ ๗) กรกฎาคม ๒๐๑๓

ใกล้ได้ข้อสรุปเรื่องฮอบบิท

ข้อถกเถียงเรื่องฮอบบิทชวายังมีมาเรื่อยๆ

ล่าสุดกลางปี ๒๕๕๖ วารสาร PLOS ONE ปีที่ ๘ (ฉบับที่ ๗) เดือนกรกฎาคม ๒๐๑๓ ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ-เยอรมนี นำโดย คาเรน บาบ (Karen Baab) จากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) อาศัยเทคนิคการวิเคราะห์สัณฐานวิทยาด้วยตรีโกณมิติแบบ ๓ มิติของพื้นผิวกะโหลก ร่วมกับเทคนิคการวิเคราะห์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์และการวิเคราะห์ทางสถิติแบบหลายตัวแปร

งานวิจัยนี้ได้ข้อสรุปว่า โครงกระดูกที่พบบนเกาะฟลอเรสแสดงลักษณะของสายพันธุ์มนุษย์ (โฮโม) มากกว่าแสดงลักษณะของผู้ป่วย  ดูเหมือนการโต้แย้งใกล้จะจบลงเต็มทีแล้วครับ ใครที่เชียร์ให้มีฮอบบิทจริงๆ คงสบายใจขึ้น

ผมจึงขอสรุปปิดตรงนี้เลยว่า มนุษย์จิ๋วที่คล้ายกับ “ฮอบบิท” ในมหากาพย์ The Lord of The Rings มีแนวโน้มว่าจะมีตัวตนจริง แถมน่าดีใจด้วยว่าอยู่ใกล้ๆ บ้านเราในอุษาคเนย์นี่เอง !